xs
xsm
sm
md
lg

ชู 3 นิ้วด้วยความภาคภูมิใจ!! เจาะเบื้องหลังครูลูกเสือ เจ้าของคลิปฮอตต้นตำรับ “เมาคลีล่าสัตว์” [มีคลิป]

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไม่เคยคิดเลยว่าจะดัง! 3 ครูลูกเสือหน้านิ่งกับบทเพลง “เมาคลีล่าสัตว์” สื่อการสอนที่ฮอตที่สุดในตอนนี้ มือขวาถือมีดกำไว้-ซ้ายป้อง-ขวาป้อง-จ้วงแทง-ถลกหนัง จนคนดังแห่เต้นตามกันเพียบ เผยดีใจที่เด็กยุคใหม่รู้จักวิชาลูกเสือสำรอง เพราะผู้ให้กำเนิดลูกเสือโลกเคยกล่าวไว้ว่า ‘การลูกเสือเป็นเรื่องของเด็กๆ ที่ผู้ใหญ่ต้องทำ’



ดังข้ามปี “เมาคลีล่าสัตว์”

“เมาคลีล่าสัตว์ เมาคลีล่าสัตว์ ฆ่าแชร์คาน ฆ่าแชร์คาน ถลกหนังมันออกให้หมด ถลกหนังมันออกให้หมด มันฆ่าวัว มันฆ่าควาย”

กลายเป็นอีกหนึ่งไวรัลที่ฮอตไปทั่วบ้านทั่วเมืองเมื่อปีที่แล้ว สำหรับบทเพลง “เมาคลีล่าสัตว์” ที่เมื่อได้ยินเพลงนี้ทีไร เป็นอันต้องนึกถึงภาพของแก๊งครูในเครื่องแบบลูกเสือรุ่นใหญ่ทั้ง 3 คน ด้วยหน้านิ่งๆ และการแสดงประกอบเพลงทั้งน่ารักและขึงขังนี้เอง ที่เรียกรอยยิ้มได้จากชาวโซเชียลฯ จนพากันแห่แชร์คลิปวิดีโอการแสดงนี้ไปหลายหมื่นครั้ง!


[ ต้นฉบับสื่อการเรียนลูกเสือสำรองที่ดังสนั่นไปทั้งโซเชียลฯ]

ล่าสุด กระแสเพลงลูกเสือดังกล่าวได้กลับมาดังเปรี้ยงอีกหน จากการถูกนำมารีมิกซ์ดนตรีใหม่ ใส่จังหวะมันๆ ในแอปพลิเคชัน Tiktok ทำเอาบรรดาคนดังทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น นุ้ย สุจิรา, น้องพายุ ลูกชายของชมพู่ อารยา, แก๊งเฟอร์บี้ของนางเอกช่อง 3 และอื่นๆ อีกมายมาก ต้องลุกขึ้นมาโชว์สเตปแดนซ์ประกอบเพลง นี่ยังไม่รวมผู้มากไอเดียคนอื่นๆ ที่ออกมาคัฟเวอร์ในเวอร์ชันต่างๆ กันอีกเพียบ

ไม่รอช้า ทีมข่าว MGR Live จึงคว้าตัวคุณครูหน้านิ่งเจ้าของผลงานต้นฉบับ คุณครูโสภณ ศรีจั่นเพชร จากโรงเรียนบางมด (ตันเปาว์วิทยาคาร) คุณครูอุทิศ ดีเฉยจากโรงเรียนวัดแสมดำ และ คุณครูบัญชา เอกธรรม โรงเรียนการเคหะท่าทราย มาพูดคุยถึงปรากฏการณ์ “เมาคลีล่าสัตว์” ที่กลับฮิตติดกระแสพูดถึงอีกครั้ง

ก็ต้องขอขอบคุณที่ไป Cover เป็นจังหวะโจ๊ะๆ นะครับ เขาก็สนุกสนานกัน มันก็เลยติดกระแส วัยรุ่นมันต้องแบบนี้ ทั้ง 3 คนใจมาแล้ว เพลงลูกเสือบางครั้งเราเคยได้ยินตั้งแต่เด็ก แต่เราไม่ทราบว่าเขาร้องกันทำไม ร้องเพื่ออะไร มันจะมีที่มาที่ไปอีกหลายเรื่อง พร้อมกับตัวประกอบในบทเพลงนั้นๆ เพลงมันแบ่งแยกเอาไว้สำหรับลูกเสือสำรอง สามัญ สามัญรุ่นใหญ่ ก็ดีใจสำหรับกระแสในสังคมปัจจุบันครับ” ครูอุทิศกล่าว


[ เมาคลีล่าสัตว์ เวอร์ชัน “นุ้ย สุจิรา” ฮอตไม่แพ้ต้นฉบับ ]
ด้านครูบัญชาก็เสริมว่า ไม่คาดคิดเหมือนกันว่าเพลงนี้จะกลับมาโด่งดังบนโลกโซเชียลฯอีกครั้ง

“กระแสก็ค่อนข้างที่จะแรงเพราะว่า Tiktok เด็กก็จะให้ความสนใจ โรงเรียนเรา 3 คน เด็กรู้จักเพลงเมาคลีแล้วล่ะ หลังๆ ก็ได้ออกทีวี เด็กเห็นก็เกิดความตื่นเต้นเข้าไปอีก ก็เป็นกระแสที่ดี ไม่คิดว่าจะกลับมาอีกขนาดหมดปีไปแล้ว ทำให้ลูกเสือและเพลงนี้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งหนึ่ง ทำให้เด็กสมัยใหม่ได้รู้จักเมาคลี ได้รู้จักวิชาลูกเสือสำรอง แต่จริงๆ วันที่ทำสื่อคือพวกเรา 3 คน แต่วันนั้นผมป่วย เลยให้น้องคนที่ตีกลองไปแทน เราเลยไม่ได้โด่งดังไปกับเขาด้วย (หัวเราะ)

แต่เดิมลูกเสือ ไม่ได้มีวงดนตรีอะไร กลองใบเดียว เพื่อให้เด็กจำง่าย ครูสามารถเอาไปใช้สอนได้ง่าย แต่ในปัจจุบันโดยเฉพาะลูกเสือ ถ้าเรายังจัดแบบเดิมกับเด็กยุคใหม่ บางทีมันก็ไม่สอดคล้องกัน พอเอาเมาคลีไปใส่ดนตรีที่มีจังหวะที่คุ้นหูมากขึ้น เด็กก็เกิดความสนใจแล้วก็ไม่น่าเบื่อ พอเราได้ดูเขาใส่ดนตรี เนื้อหาก็ยังเหมือนเดิมแต่จังหวะมันเปลี่ยนไป ในเด็กบางกลุ่มก็ดูน่ารักดี ผมว่าก็เป็นทิศทางที่ดีที่สื่อการเรียนการสอนตัวนี้จะมีอยู่และพัฒนาต่อไป”


[ ครูอุทิศ – ครูโสภณ - ครูบัญชา ]
ส่วนคุณครูผู้ทำหน้าที่ร้องเพลงและทำท่าทางประกอบในคลิป อย่างครูโสภณและครูอุทิศนั้น ได้บอกอีกว่า หลังจากที่เพลงถูกแชร์ออกไปก็กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่ลูกศิษย์ของตน

“ของผมเขาก็ชื่นชม ทั้งโรงเรียนร้องและทำท่ากัน เช้าๆ หลังเคารพธงชาติก็ร้องกันเลย ยิ่งห้องผม เข้า 1 ชั่วโมงต้องร้องก่อนแล้วค่อยสอนเนื้อหาต่อ” ครูโสภณกล่าว

“แสมดำก็เป็นที่น่ายินดี ไม่ว่าผมจะย่างเท้าไปตรงไหน ไม่ว่าจะเดินไปพูดไมค์ประจำวันหรือเดินไปตักอาหารตอนกลางวัน ก็เมาคลีล่าสัตว์ๆ เป็นเหมือนเพลงต้อนรับ แม้กระทั่งเมื่อวันที่ผ่านมา กางร่มเอาเด็กๆ กลับบ้าน ก็จะมีลูกศิษย์แซว ‘เมาคลีของฉันพักการเต้น ตอนนี้เอาเด็กๆ กลับบ้าน’ บางทีภาระหน้าที่ ลูกศิษย์ของเราอยู่ในมือเราแล้ว เราก็ต้องดูแลให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหนครับ” ครูอุทิศเสริม

เปิดเบื้องหลัง สื่อการเรียนสุดปัง!

ถึงแม้ “เมาคลีล่าสัตว์”จะถูกร้องและเต้นกันอย่างสนุกสนานอยู่ในสื่อโซเชียลฯ แต่ครูโสภณได้เปิดเผยว่า ความจริงแล้วคือผลงานนี้ คือสื่อพัฒนาผู้เรียนในปี 2562 ที่ตนเองได้รับมอบหมายจากสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร สำหรับประกอบการเรียนการสอนวิชาลูกเสือสำรองและเนตรนารี ระดับชั้นประถมศึกษาที่ 1-3

“ลูกเสือสำรองด๊านซ์” ในชุด “ป่าดงพงพี” ที่มีทั้งหมด 8 เพลง ประกอบไปด้วย ผึ้งด๊านซ์, หมาป่าด๊านซ์, เมาคลีด๊านซ์, คาด๊านซ์, จิลด๊านซ์, บาเคียร่าด๊านซ์, บาลูด๊านซ์ และบันดาโล๊กด๊านซ์

“มันเป็นงบประมาณประจำปีของสำนักการศึกษา โดยผู้อำนวยการศึกษา ท่านณัฐพงศ์ ดิษยบุตร มอบให้กองเทคโนโลยีผลิตสื่อการสอนทั้ง 8 กลุ่มสาระ รวมทั้งกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้วย แต่ลูกเสือจะ 5 ปีครั้ง ผมเลยเสนอ ปีนี้เรามาทำสื่อการสอนลูกเสือสำรอง โดยมีการด๊านซ์ต่างๆ และนิทานเมาคลีลูกหมาป่า



ผมเป็นหัวหน้าหาทีมงาน ผมก็เจาะคนที่ถนัดในด้านลูกเสือสำรองที่รู้จักกัน ครูบัญชา ครูอุทิศ แล้วมีครูฝ่ายโสต ฝ่ายถ่ายวิดีโออีก ส่วนเนื้อหาผม 3 คนรับผิดชอบ ซึ่ง 10 ปีที่แล้วเคยทำแต่เป็นร้องเพลง 55 นาที ผมร้องอยู่คนเดียว ใส่ท่าทางประกอบเพลง เป็นเมาคลีชุดแรก ด๊านซ์เป็นชุดที่ 2”

สำหรับ “ลูกเสือสำรองด๊านซ์” แต่ละเพลงมีเรื่องราวและใช้ตัวละครในนิทาน “เมาคลี ลูกหมาป่า” เป็นบทเพลงสั้นๆ ที่ใส่จังหวะให้ร้องตามกันได้ง่ายๆ

ยกตัวอย่าง จิลด๊านซ์“ บาลู บาเคียร่า อยู่ไหน รีบเร็วไวไปช่วยเมาคลี ทโมนป่ามันลักพาไป ทโมนป่ามันลักพาไป รีบเร็วไวไปช่วยเมาคลี รีบเร็วไวไปช่วยเมาคลี” 

บาลูด๊านซ์ “บาลู บาลู บาลู บาลูหมีสีน้ำตาล สอนเมาคลีทุกวี่ทุกวัน สอนเมาคลีทุกวี่ทุกวัน ทั้งกฎเกณฑ์สารพัน ทั่วทั้งป่าพนาไพร (ซ้ำ)” 



ครูอุทิศได้กล่าวว่า “ลูกเสือสำรองด๊านซ์” ไม่เพียงแค่ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนเท่านั้น หากแต่ยังใช้สำหรับครู เพื่อเข้ารับการตรวจขั้นที่ 5 เลื่อนวิทยฐานะวุฒิลูกเสืออีกด้วย

“ถ้าพูดกันตามวัตถุประสงค์แล้ว คลิปเมาคลีล่าสัตว์ เรามอบให้ครูในการที่จะไปรับการตรวจขั้นที่ 5 เพื่อให้ครูได้เลื่อนวิทยฐานะทางวุฒิลูกเสือ ได้รับการประเมิน ได้รับเครื่องหมายวูดแบดจ์ 2 ท่อน จะมีผู้ทรงคุณวุฒิไปตรวจ ซึ่งมีทั้งหมด 8 ด๊านซ์ ถึงเวลาด๊านซ์ เด็กด๊านซ์ได้มั้ย ไม่จำเป็นต้องเป็นเมาคลีด๊านซ์ก็ได้

การตรวจขั้นที่ 5 ถ้าเป็นสามัญกับสามัญรุ่นใหญ่ จะมีการสวนสนาม แต่ลูกเสือสำรองสวนสนามไม่ได้ ประชุมนายหมู่ไม่ได้ เขายังเด็ก ก็เลยเอานิทานเมาคลีมาจับ เพราะว่าอุปนิสัยตัวละคร อุปนิสัยของเด็กที่จะสังเกตและจำในวัยนี้ เขาจะคลุกคลีกับนิทาน



จริงๆ แล้วครูในสังกัดกรุงเทพมหานครที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการ กทม. เขาจะมีงบประมาณในการฝึกอบรมยุวกาชาดหรือลูกเสือก็ได้ ครูบางคนเลือกลูกเสือสำรอง รับผิดชอบสอน ป.1-3 เขาก็จะมาเจอพวกเราเพราะเราเป็นผู้ให้การอบรมเขา เขาก็จะดีใจมาก ครูคนนี้เคยอบรมเรานี่หว่า มันก็เลยเป็นกระแสออกไป

โดยเฉพาะครูโสภณ ครูใน กทม.รู้จักหมด 437 โรงเรียน 50 เขต แกเหยียบมาทั้งหมดแล้ว ตอนที่ผมเข้ามาเป็นครูใหม่ อบรมลูกเสือสำรอง แกก็เป็นครูผม มาเต้นด๊านซ์ให้ผมดู ผมก็เอาไปถ่ายทอดให้เด็กๆ มีความสามารถ กล้าแสดงออก ก็ดึงกันเข้ามา เพื่อจะให้ความรู้ขยายออกไป ให้กิจการลูกเสืองอกงาม โดยสำนักการศึกษากรุงเทพให้การสนับสนุนครับ”



อีกทั้ง ภายหลังสื่อการเรียนการสอนลูกเสือสำรองของปี 2562 ถูกเผยแพร่ออกไป ก็ประจวบเหมาะกับโอกาสงานชุมนุมลูกเสือสำรองแห่งชาติ ครั้งที่ 1 พอดี

“มันก็ต่อเนื่องกันก่อนที่จะมีงานชุมนุม ในแต่ละจังหวัดเขาจะมอบหมายว่าให้จัดงานชุมนุมลูกเสือสำรองแห่งชาติครั้งที่ 1 หลังจากที่เราทำสื่อตัวนี้ไปแล้ว จังหวัดมหาสารคามโทร.มา ให้เราไปขยายผลของลูกเสือสำรองให้หน่อย พอกระแสเราดังออกไป ครูโสภณ ผม แล้วก็มีครูลูกเสืออีกท่านหนึ่งเดินทางไป จังหวัดภาคอีสานทั้งหมด มาเรียนรู้ด๊านซ์อย่างเดียว แล้วเขาก็เอาไปให้กับครูแต่ละโรงเรียน แต่ละพื้นที่ เพื่อรองรับการเข้าชุมนุมลูกเสือสำรองแห่งชาติ



[ บรรยากาศงานชุมนุมลูกเสือสำรองแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ของกรุงเทพมหานคร ]
การชุมนุมลูกเสือสำรองแห่งชาติครั้งที่ 1 เกิดขึ้นเมื่อ 5 สิงหาคมปีที่แล้ว เป็นวันที่ก่อตั้งลูกเสือสำรองทุกจังหวัดทั่วประเทศได้รับนโยบายจากสำนักงานลูกเสือแห่งชาติให้ดำเนินการจัด เพื่อเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ของในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ด้วย

ตั้งแต่มีลูกเสือสำรองมายังไม่เคยมีงานชุมนุมเลย เนื่องจากเด็กเล็ก ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ส่วนใหญ่จะเป็นสามัญ สามัญรุ่นใหญ่ที่มีการชุมนุม แต่ละจังหวัดทำการจัดเอง กิจกรรมในวันนั้น มีงานฝีมือ มีทักษะลูกเสือสำรอง นิทานป่าดงพงพีและการด๊านซ์ต่างๆ จะเอามากินนอน พักผ่อนนอนรวมกัน กิจกรรมกลางคืน พ่อแม่เป็นห่วง แต่อยู่ในความดูแลของพวกเราหมด ครูจะต้องใกล้ชิดตลอด”

เห็นหน้านิ่งๆ ความจริงมีที่มา

นอกจากเนื้อเพลงที่คุ้นหูมาตั้งแต่สมัยเด็กแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ เมาคลีด๊านซ์ ในเวอร์ชันต้นฉบับดังเปรี้ยง ก็คงหนีไม่พ้นหน้านิ่งๆ ของคุณครูในคลิป โดยครูอุทิศเผยถึงความเหตุผลที่แสดงสีหน้าแบบนั้นออกมานั้น เพื่อสวมบทบาทการเป็นเมาคลีให้ได้อย่างสมบูรณ์แบบให้ได้มากที่สุด

“ต้องขอบคุณเลยครับ หน้านิ่งกลายเป็นเอกลักษณ์ไปเลย จริงๆ แล้วผมไม่ใช่คนแบบนั้น เป็นคนเฮฮาสนุกสนาน แต่เพื่อความเหมาะสมกับเนื้อหาและบทเพลงเมาคลีล่าสัตว์ เราจะออกไปหัวเราะก็ไม่ได้ เสียงดังก็ไม่ได้ เดี๋ยวแชร์คานมันตื่น เราก็ต้องสมมติโยงเรื่องไป เพราะว่าลูกเสือสำรองกับบทบาทสมมติมันจะมีอยู่ในหลักสูตร

หน้านิ่งมันไม่มีอะไรหรอกครับ ผมก็ไม่รู้จะยิ้มกับใครตอนนั้น ก็มีกันอยู่ 2 คน (หัวเราะ) การเต้น ด๊านซ์ต่างๆ วงกลมต่างๆ พื้นที่มันจำกัด ห้องเทคโนโลยีมันแคบ โดยปกติเราจะใช้ในการอบรมอยู่แล้ว แต่ก็มีซ้อมบ้างอะไรบ้าง เจอกันบ่อยๆ มองตาก็รู้ใจ ครูโสภณมีเพลงอยู่ในสายเลือด”



ส่วนท่าทางประกอบเพลงนั้น ครูโสภณเล่าว่า ไม่ได้คิดขึ้นมาเองใหม่ หากแต่มีประวัติความเป็นมามาอย่างยาวนานหลายสิบแล้ว

“บทเพลงมาจาก หม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ รัชนี เมื่อปี พ.ศ. 2497 ตอนนั้นยังเขียน เมาคลี ว่า โมวกลี แล้วท่านอาจารย์อภัย จันทวิมล ได้แปล Wolf cub's hand book คู่มือลูกเสือสำรอง เมื่อปี พ.ศ. 2515 แกแปลใส่ท่ามาเลย มือขวาถือมีดกำไว้ ซ้ายป้อง ขวาป้อง จ้วงแทง ถลกหนัง ท่าอยู่ในคู่มือลูกเสือสำรองครับ มีที่มาที่ไป

ใน Wolf cub's hand book จะมีตาบากิ คือหมาจิ้งจอก หมาเจ้าเล่ห์ นิสัยไม่ดี แล้วก็มาบาลู เป็นครูของเมาคลี ตอนแรกเมาคลีไปอยู่ในฝูงหมาป่าก่อน เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน โดยเจ้าแชร์คานมาบอก เจ้าเด็กน้อยมาเป็นอาหารของข้า เกิดการโต้เถียงกัน กฎของหมาป่าบอกว่า ถ้ามีการโต้เถียงกันต้องมีสัตว์อย่างน้อย 2 ตัวที่ไม่ใช่หมาป่ามารองรับ

ข้าเอง บาลู เป็นครูของฝูงหมาป่า ข้าขอรองรับเจ้าเอง เจ้าเด็กน้อยเมาคลีไม่เป็นพิษภัยต่อใคร และบาลูก็สอนเมาคลีถึงการล่าอาหาร การพูดกับสัตว์ ผลไม้อย่างไหนกินได้ ซักพักเสือดำมาเลย เจ้าบาเคียร่า ข้าขอซื้อชีวิตเมาคลีด้วยวัวป่าที่ข้าล่าได้ แล้วเมาคลีก็อยู่ในฝูงหมาป่า โดยมีบาลู บาเคียร่าเป็นครู ในนี้เป็นด๊านซ์ทั้งหมด”



และครูอุทิศ ได้เสริมในประเด็นเดียวกันว่า “ถ้าพูดกันตามตรง นิทานเมาคลีลูกหมาป่า มันมีมาตั้งนานแล้ว อดีตจนถึงปัจจุบัน มาจากอินเดีย โดย Rudyard Kipling ที่เป็นเพื่อนกับ B.P.(โรเบิร์ต สตีเฟนสัน สไมธ์ เบเดน โพเอลล์ (Robert Stephenson Smyth Baden - Powell) เรียกโดยย่อว่า B.P. เป็นผู้ให้กำเนิดลูกเสือโลก)

วัตถุประสงค์กิจการลูกเสือ B.P.เพียงคิดว่า จะทำยังไงให้เยาวชนของเขาในประเทศอังกฤษ ได้หลุดพ้นจากอบายมุข มัวแต่ติดพนัน เกเร ไม่สนใจ แต่ด้วยความคิดอันชาญฉลาด เอานิทานเมาคลีของ Rudyard Kipling มาสอนเป็นตอนๆ เด็กๆ ให้ความสนใจ ในนิทานมันแฝงด้วยคุณธรรม ยอมรับว่านิทานเรื่องนี้มันดีจริงๆ ครูสามารถที่จะเล่าให้เด็กฟังได้ตลอด มันมีอะไรแอบแฝงอยู่เยอะ

B.P.กล่าวเอาไว้ ‘การลูกเสือเป็นเรื่องของเด็กๆ ที่ผู้ใหญ่ต้องทำ’ ให้เด็กเข้าค่าย เขาเข้าเองไม่ได้ จัดฐานเองไม่ได้ ผู้ใหญ่ต้องทำ แต่เด็กๆ ได้รับความสนุก”



เมื่อถามว่า อยากทำสื่อ “ลูกเสือสำรองด๊านซ์” ในเวอร์ชันใหม่ให้ทันยุคสมัยมากขึ้นหรือไม่ ครูบัญชาก็ตอบว่า ทางทีมอยากทำและมีความพร้อมเสมอ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับโอกาสที่ได้รับ

“ถ้าพูดถึงแล้ว กทม.ค่อนข้างพร้อมมาก ถ้าเราทำแล้วมีการพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นครูก็ครบทุกอย่าง ทีนี้เรายังอยู่กับระบบเดิม ต้องรองบประมาณ แต่ตัวบุคคลพร้อมที่จะพัฒนาขึ้นไปตามกระแส เพราะดนตรีก็เป็นส่วนนึงที่จะดึงดูดเด็กให้มีความสนใจในกระบวนการการเรียนการสอน”

ศรัทธาแรงกล้า กิจการลูกเสือไทย

ตลอดเวลาการพูดคุยนั้น ทีมข่าวสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนจากแววตาของครูทั้ง 3 คน ที่สะท้อนถึงความรักและความศรัทธาต่องานด้านลูกเสือ โดยครูอุทิศเล่าว่า ภูมิใจในงานลูกเสือที่ทำอยู่ เพราะเป็นพระราชมรดก จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 โดยปัจจุบันมีอายุ 109 ปีแล้ว

“เราภูมิใจในสิ่งที่ทำอยู่ตรงนี้ มันคือพระราชมรดกจากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ซึ่งพระราชทานกิจการงานลูกเสือให้แก่เยาวชนไทย แล้วเราก็ภูมิใจที่เราได้สานต่อในงานพระราชมรดกของท่าน ถ้าไม่ดีจริงก็คงไม่ยืนยงมาทุกวันนี้

ประเทศไทยถ้าไม่รวมอังกฤษ โดย B.P.ให้กำเนิดลูกเสือ เราเป็นประเทศที่ 3 ของโลก ปัจจุบันก็ยังมีองค์กรสมาชิกหลายประเทศเข้าร่วมองค์กรลูกเสือโลกอยู่เรื่อยๆ มีงานชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งหนึ่งเคยมีงานที่ประเทศไทย ที่หาดยาว ปี 2003 ซึ่งไม่ได้รับโอกาสง่ายๆ กษัตริย์สวีเดนท่านก็มาที่นี่ นอนหาดยาว ลูกเสือเราไม่มีชนชั้นวรรณะ เรามีกันแต่พี่น้อง ยศถาบรรดาศักดิ์ก่อนเข้าค่ายคุณถอดไว้ข้างนอก



จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ถ้ามาอยู่ในค่ายลูกเสือแล้ว มาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันแล้ว เราคือพี่น้องกัน สื่อสารด้วยสัญลักษณ์ของเรา ก็คือการแสดงรหัส 3 นิ้วตั้งมือ ออกไปนอกประเทศเจอคนทำสัญลักษณ์แบบนี้ นั่นหมายความว่าเราคือพี่น้องกัน มีมานานแล้ว การให้คำปฏิญาณ กฎข้อ 4 ลูกเสือเป็นมิตรกับคนทุกคนและเป็นพี่น้องลูกเสืออื่นทั่วโลก”

เมื่อถามว่า งานด้านลูกเสือได้ให้อะไรกลับมาบ้าง ครูแต่ละท่านให้คำตอบในลักษณะเดียวกัน คือการช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กๆ ได้จริง โดยเฉพาะเรื่องระเบียบวินัย

“โดยส่วนตัวผม กิจการลูกเสือ ถ้าเราเข้าไปสัมผัสในตัวเนื้อหาจริงๆ มันสามารถที่จะมาพัฒนาศักยภาพเด็กได้ในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของระเบียบวินัย จุดเริ่มต้นเมื่อเรามาเป็นครู แล้วเราสอนลูกเสือเด็ก เรามีความรู้สึกว่า วิชานี้สร้างเด็กได้จริงๆ ก็เลยมีความศรัทธาและพัฒนาลูกเสือมีการเรียนรู้ตลอดเวลา เหมือนวิชาอื่นที่ไม่มีจบ ต้องต่อยอดเรื่อยๆ เรียนรู้กับครูบาอาจารย์ เรียนรู้กับสถานการณ์จริง ได้เพื่อน และมันสามารถสร้างเด็กได้จริงๆ” ครูบัญชาตอบ

ด้านครูอุทิศช่วยเสริมว่า “สำหรับผม วิชาลูกเสือมันสามารถที่จะไปบูรณาการเข้ากับวิชาอีกหลายวิชา 8 กลุ่มสาระ ถ้าเด็กไม่ชอบเรียนคณิตศาสตร์ แต่มาเรียนลูกเสือ เดินไปถึงเสากี่ก้าว 10 ก้าว แล้วเดินกลับมากี่ก้าว 10 ก้าว บวกกันเป็น 20 ลูกเสือเรียนรู้ด้วยการกระทำ ลูกเสือสำรองมีทำใบพัด ทำเครื่องบิน นั่นคือแรงลมวิทยาศาสตร์ ศิลปะงานฝีมือ เด็กได้วาดภาพ ร้องเพลงเป็นภาษาอังกฤษ เราเอาตรงนี้มาจับ ผมคิดว่ามันสามารถที่จะบูรณาการได้หลายๆ วิชา




เราเป็นครู เราต้องเชื่อว่าเด็กทำได้ ด้วยบทเพลง ด้วยนิทานที่แฝงด้วยคุณธรรม วินัยภายใน เด็กมีจิตสำนึก วินัยภายนอกจะตามมา เขาจะศรัทธาเครื่องแบบลูกเสือ สังเกตได้ทุกวันพฤหัสฯ หรือวันไหนก็แล้วแต่ที่มีการเรียนการสอนลูกเสือ เขาจะเข้มแข็ง ซ้ายหัน ขวาหัน มีความรับผิดชอบต่อสังคม ปฏิบัติได้ตามกฎของลูกเสือ ของโรงเรียน ของบ้านเมืองได้ ตรงนี้ที่เราปลูกฝังมาตั้งแต่เริ่มแรกเลย เพราะเราจะต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในกองลูกเสือหรือแม้กระทั่งในสังคม

ลองเปิดประตูเข้าไปดูแล้วจะรู้ว่ามีอะไรอยู่ข้างใน ถ้าไม่ชอบลูกเสือ เดินออกมา ไม่ชอบไม่เป็นไร ขออย่าเกลียดลูกเสือ บางคนเกลียดลูกเสือ ว่าเป็นพวกบ้า พวกลูกเสือเข้าเส้น หลายคนพูดแบบนี้ เราไม่ได้บ้า เราสานต่องานของพระมหากษัตริย์ครับ เราภูมิใจที่เราได้ทำงานตรงนี้ ถวายงานให้พระองค์ท่าน เราภูมิใจมาก

ส่วนครูโสภณกล่าวปิดท้ายว่า “สวมหมวกให้เหมาะสม ผมเผ้าต้องเข้าท่า เสื้อผ้าต้องรัดกุม กระดุมต้องติด สายบีทสายนกหวีดต้องจัด เข็มขัดต้องเงา ถุงเท้าต้องยาว ลายไม่ปัด รองเท้าต้องผูกและขัดให้เรียบร้อย เป็นกลอนของลูกเสือ เราเป็นวิทยากรต้องดูให้ดี”

“อย่ามองข้ามวิชาลูกเสือ”

สำหรับการสอนนอกเหนือจากวิชาลูกเสือสำรองแล้ว ครูแต่ละคนรับผิดสอนการสอนในโรงเรียนที่ตนเองสังกัดหลักแตกต่างกันไป โดยครูโสภณสอนวิชาพลศึกษา ระดับชั้นอนุบาลถึงประถม 6 และหลังจากที่เกิดวิกฤตโรคโควิด-19 ระบาดก็มาเป็นครูประจำชั้น ป.1/3 เพิ่มเติม ด้านครูบัญชาสอนวิชาดนตรี ศิลปะ ตั้งแต่ประถม 1-6 และครูอุทิศสอนวิชาพลศึกษา ตั้งแต่ระดับชั้นประถม 4 ไปจนถึงมัธยม 3

และด้วยความสามารถด้านการสันทนาการ ทำให้คุณครูแต่ละคน โดยเฉพาะครูโสภณ ใช้เนื้อหาในกลุ่มสาระการเรียนมาแต่งเพลงเพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนอีกด้วย



ในส่วนของผมจะมีร้องเป็นเพลงนำบทเรียนก่อน สนุกกันก่อนเพื่อดึงความสนใจของเด็ก บวกลบมีหมด ภาษาไทยต่างๆ มีหมด ไม่ใช่แค่ลูกเสือเพียงอย่างเดียว ของผมถนัดไปทางร้องและมีท่าทางทั้งหมดเลย หลายกลุ่มสาระ”

เมื่อถามถึงการเรียนการสอนช่วงโควิด-19 ระบาดที่ผ่านมา ต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่ ทั้งครูผู้สอนและเด็กนักเรียน ซึ่งครูบัญชาเป็นตัวแทนตอบว่า ทางกรุงเทพมหานครมีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี ในส่วนการเรียนอาจไม่ได้มีผลกระทบมากเนื่องจากเป็นวิชาเสริม

“ใน กทม.มีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์อยู่แล้ว แต่ในส่วนของโรงเรียนผม วิชาที่เป็นการสอนออนไลน์จะเป็นในวิชาหลัก เอาจริงๆ ก็ไม่นานเท่าไหร่ ตอนนี้เรียนเต็มรูปแบบแล้วครับ มันจะมีผลกระทบสำหรับลูกเสือต่อการจัดฝึกอบรม ช่วงเมษาจะเป็นช่วงฝึกอบรมครูบรรจุใหม่ แล้วครูต้องการจะเพิ่มวุฒิทางลูกเสือ ก็เลยไม่ได้มีการรวมตัว

แต่ส่วนของโรงเรียนก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไร ทางสำนักการศึกษาวางแผนตั้งแต่ที่โรงเรียนปิด มีการจัดการเรียนออนไลน์ ก็เลยไม่มีผลกระทบกับเรื่องการจัดการเรียนการสอนของครูเท่าไหร่ แล้วก็จะมีทั่วประเทศ ตามค่ายเอกชน ค่ายลูกเสือ ไม่สามารถจัดฝึกอบรม ทั้งเด็กและคุณครูได้”



แม้ทุกวันนี้การเรียนลูกเสือจะยังมีอยู่ตามหลักสูตร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันวิชานี้ถูกลดความสำคัญลงไป โดยครูอุทิศก็ได้สะท้อนว่าวงการลูกเสือไทยซบเซาลงไปจริงๆ

“ในกรุงเทพมหานคร 437 โรงเรียน วิชาลูกเสือเป็นวิชาหนึ่งที่เด็กต้องได้รับการเรียน แต่บางครั้งเราขาดบุคลากร อย่างโรงเรียนเล็กๆ ยกตัวอย่างโรงเรียนบางมด ถ้าไม่มีครูโสภณ อาจจะมีครูลูกเสือก็จริง แต่อาจจะไม่ได้จบสำรองโดยตรง ตอนนี้โรงเรียนจะขาดบุคลากรตรงนี้ ไม่ตรงกับสายที่รับผิดชอบ

ก็อยากจะนำเรียนด้วยความเคารพว่า อย่ามองข้ามวิชาลูกเสือ นี่คือความรู้สึกเรา บางครั้งเราไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร อย่างที่บอกมันเริ่มซบเซาและเงียบไป ทุกวันพฤหัสฯ บางโรงเรียนแทนที่เด็กจะได้มาเรียนรู้ด้วยการกระทำ กลับเอาเด็กไปทำนู่นนี่นั่น ผู้บริหารบางคนไม่สนับสนุน แต่ถ้าเข้าไปสัมผัสลึกๆ จริงๆ เราได้อะไรเยอะจากวิชาลูกเสือ อยู่ที่ว่าคุณจะทำรึเปล่า ลงมือทำแล้วรึยัง

รวมทั้งครูด้วยหลายๆ คน ครูทุกกลุ่มสาระ อันนี้คือวิชาเสริม หลังจากที่คุณมีวิชาหลักอยู่แล้ว ลูกเสือเป็นการพัฒนาตัวเอง เพราะการฝึกอบรมลูกเสือคือการอบรมแบบก้าวหน้า เราจะมีสิ่งดึงดูดใจหลายๆ อย่าง ในกิจการลูกเสือ ลองมาสัมผัสก่อนแล้วค่อยบอกว่าลูกเสือดีหรือไม่ดีนะครับ และเขาจะมีการเรียนการสอนหรือเลื่อนวิทยฐานะ เป็นชำนาญการพิเศษ เรากลุ่มพัฒนาผู้เรียนครูลูกเสือก็มีเหมือนกัน มันเป็นเชิงประจักษ์ที่เห็นเลย



ครูโสภณช่วยเสริมในประเด็นผู้สอนว่า “ในส่วนของผม ใจผมชอบทางนี้อยู่แล้ว ไม่ใช่แค่เพลง เกม เงื่อนเชือก ได้เข็มทิศ ระเบียบวินัย มันอยู่ในนี้หมดเลย และส่วนนึงผมได้วิทยฐานะเป็นครูชำนาญการพิเศษ ก็มาจากลูกเสือ”

และเมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย ครูบัญชาได้ฝากถึงสังคมว่า การที่เพลงลูกเสือกลายเป็นกระแสก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่สังคมจะหันมาให้ความสำคัญกับกิจการลูกเสือไทย โดยเฉพาะกิจการงานลูกเสือสำรอง และอยากให้วิชาเสริมนี้อยู่คู่สังคมไทยตลอดไป

“กระแสคลิปก็เป็นไปในทิศทางที่ดี มันทำให้เด็กเข้ามาสนใจในเรื่องเมาคลีมาจากไหน ลูกเสือสำรองคืออะไร พ่อเคยร้อง แม่เคยร้อง เพลงเป็นแบบนี้เหรอ มันก็จะทำให้สิ่งนี้ยังคงอยู่และกลับมาอีกครั้ง และทำให้วิชาลูกเสือเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะในปัจจุบันวิชานี้ เอาจริงๆ ก็เริ่มเลือนๆ




ลูกเสือไม่ได้เป็นเรื่องของการบังคับ ไม่ได้เป็นเรื่องของเผด็จการ แต่มันเป็นรากฐานของการมีระเบียบวินัยในการที่จะสอนเด็ก สอนลูกหลาน ให้โตขึ้นมาเป็นเด็กที่มีความพร้อมเรื่องของระเบียบวินัย อยู่ในสังคมวันข้างหน้าได้ ก็อยากจะฝากไว้ว่า ลูกเสือสำรองหรือลูกเสือทั้งหมด เป็นวิชาหนึ่งที่ยังอยู่ในหลักสูตร ที่เราจะต้องช่วยกันดูแล ช่วยกันถ่ายทอดในสิ่งดีๆ ในมุมมองดีๆ ของวิชานี้ ให้อยู่ตลอดไป”

และครูโสภณกล่าวทิ้งท้ายว่า “สำหรับผมขอฝากไว้ เพียงแค่ “ทำดีที่สุด” คติพจน์ของลูกเสือสำรอง, “จงเตรียมพร้อม” ของลูกเสือสามัญ, “มองไกล” ของลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และ “บริการ” ของลูกเสือวิสามัญ เสียชีพอย่าเสียสัตย์ครับ”






ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official) เมื่อ



สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพเคลื่อนไหว: ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ภาพ: พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม: แฟนเพจ "1st National Cuboree 2019 Bangkok Thailand" และ “สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร”
ขอบคุณสถานที่: รร.บางมด (ตันเปาว์วิทยาคาร) สำนักงานเขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **





กำลังโหลดความคิดเห็น