ต้องหมอบมารับ แล้วกราบแทบเท้า ถึงจะได้ทุนการศึกษา!! เมื่อมีภาพวัฒนธรรมยุคทาสแบบนี้ออกมา จึงหนีไม่พ้นดรามา วิจารณ์เดือดสะท้อนการกดขี่ทางสังคม จากผู้ใหญ่หัวโบราณ
ธรรมเนียม สืบทอดมาตลอด 40 ปี
วิจารณ์สนั่นกรณีภาพที่เด็กนักเรียนก้มกราบรับทุน จาก ท็อป-วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โซเชียลเสียงแตกเป็นสองข้าง มองว่าเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามของไทย สมกับเป็นคนไทย เพราะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ไม่ผิดที่ให้เด็กก้มกราบ และไม่เห็นถึงความเสียหาย อีกทั้งทำด้วยเจตนาดี มอบทุนให้แก่เด็กๆ
ส่วนอีกมุม มองว่าไม่ควรให้เด็กหมอบกราบ เพราะสังคมเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ไม่ได้อยู่ในยุคทาสแล้ว ควรยกเลิกวัฒนธรรมเช่นนี้ได้แล้ว ขนาดรับปริญญายังไม่ต้องถึงขนาดนั้นพร้อมตั้งคำถามว่าเป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม หรือวัฒนธรรมที่กดขี่กันแน่
เมื่อมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้น ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ได้ออกมาชี้แจงถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “TOP Varawut -ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา” ว่า การกราบในพิธีรับมอบทุน เป็นพิธีที่ทำเป็นธรรมเนียมมาตลอด 40 ปี ตั้งแต่สมัย บรรหาร ศิลปอาชา สมัยคุณพ่อของตนยังมีชีวิตอยู่ เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณจากผู้ได้รับทุนการศึกษา จึงเป็นภาพที่ผมชินตามาตั้งแต่เด็ก
“สำหรับกรณีกิจกรรมการมอบทุนการศึกษาของมูลนิธิบรรหาร-แจ่มใส ศิลปอาชา และภาพการกราบรับมอบทุนของนักเรียนที่กำลังถูกพูดถึงอยู่ในขณะนี้ ผมขอเรียนแจ้งให้ทราบครับว่า มีเพียง 1 โรงเรียนจากทั้งหมด 16 โรงเรียนในโครงการฯ ที่นักเรียนจะกราบก่อนรับทุน คือ โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 3 ครับ ซึ่งการกราบในพิธีรับมอบทุนของโรงเรียนนี้ เป็นพิธีที่ทำเป็นธรรมเนียมมาตลอด 40 ปี ตั้งแต่สมัยนายบรรหาร คุณพ่อผมยังมีชีวิตอยู่ เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณจากผู้ได้รับทุนการศึกษา จึงเป็นภาพที่ผมชินตามาตั้งแต่เด็ก
เมื่อวันนี้คุณพ่อไม่อยู่แล้ว ผมมารับหน้าที่ต่อจากคุณพ่อ ทางโรงเรียนจึงตั้งใจรักษาพิธีเดิมไว้ เพื่อเป็นการระลึกถึงพ่อบรรหาร ผู้ก่อตั้งมูลนิธิฯ ด้วย ผมเองต้องขออภัยที่ไม่ทันฉุกคิดว่า ภาพในความทรงจำเดิมๆ ของผม ในเวลาและโอกาสที่เปลี่ยนไปจะกลายเป็นประเด็นดรามาที่ทำให้บางท่านรู้สึกว่าเป็นภาพที่ไม่เหมาะสม
ผมต้องขออภัยอีกครั้ง หากทำให้ผู้พบเห็นบางท่านไม่พอใจครับ เพื่อให้สอดรับกับค่านิยมและสังคมปัจจุบัน ผมได้เรียนแจ้งทางผู้บริหารสถานศึกษา ขอให้ปรับรูปแบบพิธีรับมอบทุนให้เป็นการยืนและเดินแถวเข้ามารับเหมือนกันทุกแห่งครับ”
เห็นต่าง ไม่ควรหมอบกราบ
ขณะเดียวกัน ผศ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ช่วยสะท้อนถึงวัฒนธรรมการหมอบกราบในสังคม กับทีมข่าว MGR Liveไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้แสดงความให้เกียรติกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้การกราบอีกต่อไป
“ฝั่งผมไม่เห็นด้วยอยู่แล้วครับผมว่ายุคสมัยใหม่การแสดงความเคารพมันเปลี่ยนไป เพราะว่าจริงๆ เรื่องนี้มันเป็นเรื่องวัฒนธรรมที่มันสอดคล้องต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม เพราะฉะนั้นถ้าเกิดแนวคิดทางสังคมเปลี่ยนไปแล้ว ระบบชนชั้น มันไม่ได้มีแล้ว มันมีความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนเปลี่ยนไป เรื่องนี้ก็ต้องเปลี่ยนด้วย
เพราะฉะนั้น ผมไม่ได้คิดว่ามันน่ารัก มันดูน่าเกลียดด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แม้จะบอกว่าอีกฝ่ายเป็นผู้ให้ทุน อีกฝ่ายเป็นผู้ที่รับประโยชน์ แต่มันแสดงความเคารพด้วยวิธีอื่นได้ตั้งเยอะตั้งแยะ ที่อื่นเขาก็ทำอย่างอื่น ที่อื่นเขาก็แค่ให้โค้ง แค่ยกมือไหว้อะไรอย่างนี้ก็พอแล้ว
ถ้าพูดถึงเฉพาะกรณีนี้นะ เจ้าตัวเองก็พูดเองใช่ไหมครับว่าเมื่อก่อนเคยทำมาแบบนี้ ตอนนี้ก็เข้าใจแล้วว่ามันเปลี่ยนไป ก็ชัดเจนว่ากรณีนี้เขาก็คิดว่ามันก็ควรจะเปลี่ยนแล้วครับ แม้เจ้าตัวเองก็ยังเห็นแบบนั้น ผมก็คิดว่ามันมีภาพสะท้อนเยอะแยะว่า มันสามารถแสดงความเคารพ แสดงความให้เกียรติกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้การกราบอีกต่อไป”
ไม่เพียงเท่านี้ ยังมองว่าเป็นวัฒนธรรมที่กดขี่ เป็นเรื่องของชนชั้น ที่ยังสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมกัน แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไป ก็ต้องยอมรับ และเปลี่ยนแปลงไปตามด้วย
“ผมคิดว่ามันยังสะท้อนอะไรแบบนั้นอยู่ อย่างที่บอกครับว่าประเพณีดั้งเดิมของอินเดีย เราก็จะเห็นว่ามันเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่พอมาในสังคมไทย มันก็เป็นเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เป็นเรื่องของชนชั้น มันถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางเกินกว่าดั้งเดิม
ในแง่ความหมาย มันก็สะท้อนความไม่เท่าเทียมกัน ความเป็นผู้ใหญ่ผู้น้อย ความเป็นอะไรแบบนี้ ผมคิดว่ามันก็มีนัยแบบนั้น ก็คือการกดขี่นั่นแหละครับ เพียงแต่ว่าอย่างที่บอก ยุคสมัยเปลี่ยนมันก็ต้องเปลี่ยนด้วย”
ทั้งนี้ อาจารย์ยังมองว่าวัฒนธรรมหมอบกราบ ควรปรับปรุงให้สอดรับต่อค่านิยม และความเปลี่ยนไปของสังคม แต่หากว่าใครยังหมอบกราบอยู่ก็เป็นเรื่องส่วนตัวที่ทำได้ แต่หากเป็นพื้นที่สาธารณะมีข้อกำหนดให้ทำตามก็ไม่ควร
“ประเพณีหมอบกราบที่เราใช้กันทั่วๆ ไป คนบางกลุ่ม บางส่วนก็ยังเข้าใจว่าการหมอบกราบมันเป็นเรื่องน่ารัก หรือแสดงความอ่อนน้อม ผมคิดว่ามันไม่จำเป็น เวลาเรารู้สึกว่าเรามีความอ่อนน้อมมีความเคารพต่อกัน มันมีวิธีที่เราจะแสดงความรู้สึกแบบนั้นได้ด้วยวิธีอื่นๆ เยอะแยะไป โดยที่มันไม่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมันด้อยค่า
ผมคิดว่ามันมีการแสดงอย่างสากลก็ได้ เช่น ยืน โค้ง อะไรอย่างนี้ ผมว่าเหมาะสมกับยุคสมัย เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมมากกว่า
แต่สมมติมีคนบอกว่าฉันอยากจะกราบล่ะ หนูอยากจะกราบเอง ผมคิดว่าคุณทำได้ คุณอยากจะกราบได้ แต่ว่าการกราบนั้นต้องอยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคล และก็ไม่ได้ถูกโปรโมตเป็นค่านิยมส่วนใหญ่ของสังคม
อันนี้มันต่างกันนะ คือประเพณีที่โรงเรียนจัด หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้ มันไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัวไงครับ มันเป็นความโปรโมตให้มันกลายเป็นสิ่งที่คุณค่าสาธารณะ ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ใช่ ผมคิดว่าคุณค่าสาธารณะมันต้องไม่ทำอย่างนั้นแล้ว”
นอกจากนี้ อาจารย์ยังเล่าถึงประเพณีการหมอบกราบ ว่าเดิมทีไทยรับมาจากวัฒนธรรมอินเดีย และจะใช้กับคนในครอบครัวเท่านั้น จะไม่ใช้กับคนโดยทั่วไป แต่สังคมไทยก็มีความต่างกับอินเดียตรงที่มีผู้ใหญ่หลายรูปแบบ จึงทำให้นำประเพณีการกราบไปใช้อย่างกว้างขวง จนเกินกว่าประเพณีเดิมที่เคยมีมาในอินเดีย
“จริงๆ แล้วประเพณีการแสดงความเคารพด้วยการหมอบกราบ เรารับจากวัฒนธรรมอื่น รับจากวัฒนธรรมอินเดีย ในวัฒนธรรมอินเดียเวลาการกราบเขาไม่ได้ใช้โดยทั่วไป คือเขามีลักษณะที่ใช้โดยจำเพาะ เช่น ใช้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น เทวรูป หรือสิ่งที่เขาเคารพ คุรุครูบาอาจารย์ ที่เป็นคุรุทางจิตวิญญาณ
แล้วก็ผู้ใหญ่ในครอบครัว เช่น พ่อแม่ หรือคนที่แก่กว่าพ่อแม่ ก็จะใช้ในประมาณนั้น ก็คือจะไม่ใช้ในคนทั่วๆ ไป แม้ว่าคนนั้นจะเป็นผู้ใหญ่มากก็ตามเขาก็จะไม่ทำ อันนี้ก็คือ ประเพณีอินเดียเดิม
ทีนี้ของเราเผอิญเราก็รับวัฒนธรรมนั้นมา แล้วก็สังคมไทยก็จะต่างจากอินเดียตรงที่เรามีผู้ใหญ่หลายแบบ ที่เราพยายามจะไปทั้งแสดงความเคารพ หรือประจบเอาใจก็ตามแต่ มันก็เลยมีภาพแบบนั้นเกิดขึ้น ก็คือเราก็ใช้ประเพณีการกราบไปใช้กว้าง แล้วก็ใช้จนเกินกว่าประเพณีเดิมที่เคยมีในอินเดีย
บางครั้งก็กลายเป็นลักษณะของการที่ไม่ได้เป็นความเคารพอย่างจริงใจ เป็นเรื่องของการประจบเอาใจอย่างนี้ครับ”
ท้ายนี้ อาจารย์ยังฝากอีกว่ามีหลายวิธีที่จะแสดงถึงความเคารพ หรือการแสดงความอ่อนน้อม ไม่ใช่แค่วิธีการหมอบกราบ เมื่อค่านิยมเปลี่ยนแปลง สังคมก็ควรต้องเปลี่ยนด้วย แต่ก็ไม่ได้ห้ามหากใครยังอยากหมอบกราบ เพียงแต่ไม่กำหนดให้คนอื่นทำด้วย
“ผมคิดว่ามันก็ควรเปลี่ยนได้แล้ว เพราะว่าการแสดงความเคารพ การแสดงความอ่อนน้อมมันมีอีกหลายรูปแบบ ที่สอดคล้องต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม สอดคล้องต่อค่านิยม สอดคล้องต่อคุณค่าแบบใหม่ โดยเฉพาะเวลาเราพูดถึงในโลกเสรีนิยมประชาธิปไตย มันมีคุณค่า อันนั้นเป็นคุณค่าหลัก ประเพณีวัฒนธรรมเดิม มันก็ควรจะเปลี่ยนให้เข้ากับคุณค่านี้ ผมคิดว่าเป็นแบบนั้น
แต่ถ้าใครจะยังชอบโดยส่วนตัวนะ ก็ไปทำในพื้นที่ส่วนตัว แล้วก็ต้องไม่ถูกกำหนดให้คนอื่นทำด้วย ไม่ทำให้กลายเป็นงานที่มันอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ผมคิดว่าก็เรื่องของใครก็แบบนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งไป เป็นคนละเรื่องกัน”
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊กแฟนเพจ “TOP Varawut - ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา”
ข่าว : MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **