วันนี้ (26 ก.ค.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ในฐานะผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 62 กล่าวว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นกฎหมายด้านป่าไม้ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐในการดูแลรักษา บริหารจัดการป่าไม้ใกล้หมู่บ้าน รวมไปถึงสามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ภายใต้ระเบียบและกฎหมายที่กำหนด
นายวราวุธกล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า วันนี้ที่มาทำงานในฐานะ รมว.ทส.ได้มาสานต่องานที่คุณพ่อตนเองได้ริเริ่มเอาไว้ คือ เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2538 ในครั้งนั้นนายกรัฐมนตรีที่ชื่อนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยมีนโยบายเร่งรัดการออกกฎหมายว่าด้วยป่าชุมชน นับว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่นายกรัฐมนตรีได้มีการแถลงนโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการส่งเสริมให้ประชาชน องค์กรประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในรูปแบบของป่าชุมชน และในวันนี้สิ่งที่ตนได้รับมรดกจากพ่อมา คือการได้มาบริหารจัดการนโยบายป่าชุมชน ต่อจากพ่อของตนและได้มาเป็นรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562
“ผมจะทำหน้าที่เร่งรัดให้มีการออกกฎหมายอนุบัญญัติซึ่งมีจำนวน 32 ฉบับ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน (คนช.) ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 63 ที่ผ่านมา มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในการนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอกฎกระทรวงจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ 1. กฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตป่าอนุรักษ์ พ.ศ. ... 2. กฎกระทรวงกำหนดไม้ทรงคุณค่า พ.ศ. ... เพื่อให้ คนช.ให้ข้อเสนอแนะประกอบการพิจารณา ตราเป็นกฎกระทรวงต่อไป” นายวราวุธกล่าว
ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กฎหมายอนุบัญญัติที่ได้ประกาศ มีผลบังคับใช้แล้วจำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ (1. ระเบียบกรมป่าไม้ ว่าด้วยการจดแจ้งเป็นเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัด พ.ศ. 2562 (2. ระเบียบกรมป่าไม้ ว่าด้วยการจดแจ้งเป็นองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. 2562 (3. ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ (4. ระเบียบคณะกรรมการสรรหา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการสรรหา และการเสนอรายชื่อบุคคลเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน พ.ศ. 2563
นายอรรถพลกล่าวอีกว่า คนช.มีมติเห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนจำนวน 7 ฉบับ ได้แก่ 1. ระเบียบฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการได้มา และการแต่งตั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐเป็นกรรมการในคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด 2. ระเบียบฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดตั้งและขยายเขตป่าชุมชน 3. ระเบียบฯ ว่าด้วยการกำหนดขนาดของพื้นที่ป่าชุมชนและสัดส่วนการใช้ประโยชน์ภายในพื้นที่ป่าชุมชน 4. ระเบียบฯ ว่าด้วยสมาชิกป่าชุมชนและกรรมการจัดการป่าชุมชน พ.ศ. ... 5. ระเบียบฯ ว่าด้วยการจัดทำแผนจัดการป่าชุมชน พ.ศ. ... 6. ระเบียบฯ ว่าด้วยการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของเจ้าหน้าที่ป่าชุมชน 7. ระเบียบฯ ว่าด้วยเบี้ยประชุม ค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอย่างอื่นของคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด และคณะอนุกรรมการ
รมว.ทส.กล่าวทิ้งท้ายว่า ภายหลังจากที่อนุบัญญัติเหล่านี้ได้ประกาศใช้แล้วจะทำให้ชุมชนสามารถจัดตั้งป่าชุมชนและได้รับประโยชน์จากป่าชุมชน จะเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นให้มีส่วนในการจัดการป่าชุมชน ส่งผลให้ทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมของประเทศมีความสมบูรณ์และยั่งยืน ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่อยากจะเป็นเครื่องเตือนใจให้กับพี่น้องประชาชนทราบว่า เรากำลังพิทักษ์ป่า กำลังดูแลทรัพยากรธรรมชาติเพื่อลูกหลานของเรา และจะส่งต่อโลกใบนี้ เราจะส่งต่อพื้นที่ของประเทศไทย 300 กว่าล้านไร่ ในสภาพที่ดีให้กับลูกหลานของเรา เหมือนอย่างวันนี้ตนรับมอบหมายจากพ่อแล้วก็ต้องทำให้ดีที่สุดเพื่อที่จะส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป จึงขอฝากพี่น้องประชาชนทุกคนว่าถ้าเราไม่เริ่มดูแลป่าของเราวันนี้ ถ้าเราไม่เริ่มที่จะฟื้นฟูป่าของเราวันนี้ แล้วเราจะเริ่มกันวันไหน แล้วใครจะเป็นคนทำ