เจาะใจ “โซฟี่” นักแสดงสาวเท้าไฟ กับการออกมาประกาศตัวว่าเป็น Queer รักได้ทุกเพศ ไม่ว่าจะเป็น ชาย, หญิง, เกย์, ตุ๊ด, ทอม มองเป็นแค่มนุษย์คนหนึ่ง ชอบก็คือชอบ อยากให้สังคมมองถึงความเท่าเทียม อีกทั้งเคยโดนบูลลี่-คุกคาม พร้อมเปิดมุมมองครูสอนเต้น จากที่เล่นๆ จนยึดเป็นอาชีพหลัก
ประกาศตัวเป็น Queer รักได้ทุกเพศ
“ถ้าชอบก็คือชอบค่ะ ไม่ว่าจะเพศอะไรก็ตาม โซฟี่ไม่มองที่เพศแล้ว คือถ้าเราชอบคนนั้นก็คือชอบ แค่มองในความมนุษย์ของเขา เพราะว่าคือยังไงเรามองที่หน้าคน เรามองไม่เห็นอวัยวะเพศของเขาอยู่แล้ว เราไม่รู้หรอกว่าเขาเป็นเพศอะไรก็ตาม”
โซฟี่-สิริอัปสร อินทรคูสิน นักแสดงสาวเท้าไฟ วัย 22 ปี ที่ออกมาประกาศว่าตัวเองนั้นเป็น Queer รักได้ทุกเพศ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง และสามารถตกหลุมรักคนคนนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นตุ๊ด เกย์ หรือทอม
เพียงแต่ชอบคนมีความสามารถ หวานๆ น่ารักๆ อาจจะชอบผู้หญิงมากกว่า แต่ถ้าเป็นผู้ชายก็ชอบผู้ชายหวานๆ มีความละมุน เพราะรู้สึกว่าตัวเองมีความแมนกว่า
ขึ้นชื่อว่าเป็นคนมีชื่อเสียงเลยไม่ค่อยจะมีใครกล้าเปิดเผยเรื่องรสนิยมทางเพศสักเท่าไหร่ ผิดกับเธอคนนี้ นักแสดงสาวหน้าสวยที่กล้าออกมาเปิดอกยอมรับในเรื่องนี้ตรงๆ ว่าเธอนั้นรักได้ทุกเพศไม่มีเกี่ยง
“ที่จริงส่วนตัวโซฟี่ไม่ได้ปิดบังเรื่องนี้ในสังคมรอบตัวเราอยู่แล้ว อย่างเช่นครอบครัวก็รู้ เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงานที่กองเมื่อก่อนก็คือรู้หมด เพียงแต่เราไม่ได้ออกมาพูด เพราะว่าไม่ได้มีเหตุผลที่ออกมาพูดสักเท่าไหร่ คือไม่ได้มีอะไรที่บังคับให้เราต้องออกมาพูด
แต่ว่าเรารู้สึกว่าตอนที่โซฟี่กำลังโตขึ้น แล้วเราเห็นคนที่ออกมาพูดเรื่องเพศตัวเองว่าเราเป็นแบบนี้นะ เหตุผลที่เราเป็นแบบนี้ เราโตมาแล้วเราคิดแบบนี้ แล้วมันทำให้เรารู้ตัว มันทำให้เรา inspire แล้วแบบเราก็คิดแบบนี้เหมือนกัน เราเลยรู้สึกว่าการที่เราเปิดเผยเรื่องเพศตัวเอง อาจจะทำให้วัยรุ่นหลายๆ คน หรือคนที่กำลังโตขึ้น ที่กำลังสับสนเรื่องตัวเอง อาจจะรู้ตัวได้ด้วย หรือว่าอาจจะรู้สึก inspire แล้วทำให้เขายอมรับตัวเองมากขึ้นได้ด้วยอะไรอย่างนี้ค่ะ
แล้วเราก็รู้สึกว่าคือมันเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นโซฟี่ มันเป็นส่วนหนึ่งของ identity เรา ก็เลยรู้สึกว่าก็พูดไป พอเราเปิดเผย มันก็ทำให้รู้สึกว่าเราเป็นตัวเองได้ 100% ทั้งกับคนรอบข้าง แล้วก็กับทุกๆ คน คือเรารู้สึกว่าไม่ได้มีอะไรที่จะต้องปิดบัง หรือเป็นความลับแล้ว”
โดยจุดเริ่มต้นมาจากที่เธอได้ระบุข้อมูลหน้าโปรไฟล์ในโซเชียลมีเดียไว้ชัดเจนว่า เป็น Queer ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มรักร่วมเพศทั้งหมด จนทำเอาหลายคนเข้าไปสอบถามว่า สรุปแล้ว โซฟี่ มีรสนิยมชอบเพศไหนกันแน่
“มีถามมาอยู่แล้ว แต่ว่าเราไม่ค่อยซีเรียส คือทุกคนรู้อยู่แล้ว หมายความว่าคนที่รู้ก็คือรู้ เพราะว่าในจังหวะที่โซฟี่เคยคบกับผู้หญิงก็เปิดเผย เราก็ลงรูปอะไรตามอัธยาศัย ไปกินข้าว โซฟี่ก็เลยแค่รู้สึกว่าเรามั่นใจในตัวเองพอ แล้วก็สังคมพอที่จะพูด เพราะเรารู้สึกว่ามัน 2020 แล้ว ใครจะเป็นอะไรก็เป็นไปเถอะ เราไม่ได้ทำร้ายใครในสิ่งที่เราเป็น เราไม่ได้เป็นฆาตกร เพราะฉะนั้นเรื่องการพูด มันไม่ใช่เรื่องที่ผิด
เราก็เลยรู้สึกว่าเราอยากพูด เพราะว่าจากที่เราเห็นหลายๆ คน จากการตอบรับ จากการออกมาพูดตรงนั้น ทำให้หลายๆ คนออกมาพูดมาว่า พี่ทำให้หนูรู้ตัว หรือหนูดีใจที่มีคนในวงการ หรือว่าคนที่แบบมี Followers เยอะอะไรอย่างนี้ออกมาพูดเรื่องนี้ ทำให้เขามั่นใจขึ้นว่ามันไม่ใช่อะไรที่เรากลัวที่จะเปิดเผย”
นักแสดงสาวเท้าไฟคนนี้ เธอยังบอกอีกว่ารู้ตัวมาตั้งแต่เด็กว่าไม่ได้ชอบแค่ผู้ชาย ตอนแรกก็ใช้คำจำกัดความตัวเองว่าเป็น Bisexual และพยายามศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ เพราะรู้สึกสับสนกับตัวเองว่าต้องใช้คำว่าอะไรถึงจะเหมาะสมกับตัวเอง
“คือตอนเด็กเรารู้ตัวมาตั้งแต่เด็ก ก่อนวัยรุ่นอีก ประมาณ 12-13 ปี แต่ว่าไม่ได้คิดอะไร คือตอนนั้นเราไม่ได้มองว่าเราเป็นผู้หญิง เพราะฉะนั้นเราจำเป็นจะต้องชอบผู้ชาย คือไม่ได้มี Mindset แบบนั้น เพราะที่บ้านไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ คือไม่ได้บอกว่าแบบ you เป็นผู้หญิงนะ you ต้องห้ามชอบผู้หญิง แต่แค่มันเป็นเรื่องที่ไม่ได้พูดถึง
เราก็เลยแบบอ๋อโอเค ผู้หญิงคนนี้น่ารักจัง ชอบคนนี้ ชอบคนนั้น ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ว่าพอโตขึ้นเราก็เรียนรู้ว่าสังคมมันมองว่าแบบนี้มันไม่ใช่แบบดั้งเดิมนะ เราไม่ได้ถูกเหรอ ก็เลยไปอ่านข้อมูลว่าสรุปเราเป็นอะไร มันเกี่ยวกับอะไร แล้วก็เข้าไปดูคนพูดถึงเกี่ยวกับประสบการณ์ตัวเองว่าเรามารู้ตัวว่าเราเป็น Bisexual ตั้งแต่อายุตอนนี้ แล้วเราผ่านประสบการณ์พวกนี้เลยทำให้เรารู้ เราก็มีความคิดแบบนั้นนะ เราอาจจะเป็นแบบนั้นก็ได้ ก็เข้าไปอ่านมากขึ้น เพราะว่าเราเหมือนหาคำที่ไม่ตรงกับตัวเองได้สักที เราก็เลยเข้าไปศึกษามากขึ้น เข้าไปอ่านมากขึ้น มันมีอะไรบ้าง มีคำไหนบ้าง มันต่างกันยังไง
ก็เลยศึกษาเพื่อตัวเอง แล้วก็หลังจากนั้นก็เหมือนแบบเราก็สนใจเรื่องนี้มากขึ้น เรารู้ตัวว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้แล้ว แล้วเราควรจะรู้ข้อมูลอะไรอีกบ้าง เพื่อที่เราจะช่วยใคร เผื่อจะให้ใครเข้าใจด้วย
เพราะเรารู้สึกว่าเราควรจะทำความเข้าใจกับมัน เพราะมันสิ่งที่ปกติในโลกตอนนี้ คือมันปกติมานานแล้ว แต่ว่ายิ่งตอนนี้ทุกคนควรพยายามทำความเข้าใจกับมัน เพราะว่าเราควรจะรู้ในสิ่งที่โลกเป็นตอนนี้แล้ว โซฟี่เลยคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของเราแล้วที่เราจะพยายามให้ข้อมูลตรงนี้ เพราะว่าไหนๆ ไม่มีใครทำ เราก็เลยโอเคเดี๋ยวเราทำ”
มีช่วงหนึ่งในชีวิตก็ยังเคยจำกัดความตัวเองว่าเป็น Lesbian คือผู้หญิงที่รักหรือชอบพอกับผู้หญิงด้วยกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีประสบการณ์มากขึ้น ทำให้รู้ว่าก็ยังชอบผู้ชายอยู่ ทำให้ ณ ตอนนี้ คำว่า Queer ที่ออกมาเปิดเผยให้คนได้รู้ เหมาะกับตัวเองที่สุดในตอนนี้
และเหตุผลที่ใช้คำว่า Queer แทนที่จะใช้ Pansexual, Bisexual, Lesbian ฯลฯ เป็นเพราะจะสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ตลอดเวลา บางคนอาจจะยังไม่มั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าตัวเองเป็นลักษณะนี้ แต่รู้แน่ๆ ว่าไม่ได้ชอบแค่เพศตรงข้าม ก็เลยจะใช้คำว่า Queer แทน
“พอเวลาผ่านไปมากขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น มีช่วงหนึ่งในชีวิตเราใช้คำว่า Lesbian เพราะว่า ณ ตอนนั้นคำนั้นเหมาะที่สุดสำหรับสิ่งที่เราเป็น แล้ว ณ ตอนนั้นเราก็ไม่ได้มีแรงดึงดูดผู้ชายสักเท่าไหร่ โอเคนี่เป็นคำเหมาะสมสำหรับเรา พอเวลาผ่านไปมากขึ้น ประสบการณ์ผ่านไปมากขึ้น หรือว่าเราเจอคนมากขึ้น ก็ทำให้เรารู้ว่าเราก็ยังชอบผู้ชาย
คือเราไม่ได้มองที่เพศว่าเราชอบใคร ชอบก็คือชอบ เราชอบคนที่เป็น Non-binary ก็ชอบ คนที่เป็นผู้หญิงก็ชอบ คือเราไม่ได้มองว่าคุณเป็นเพศนี้เราถึงชอบคุณ เราแค่เห็นว่าเราชอบ you เป็นเพศอะไรเราก็ชอบ เราก็เลยอ๋อโอเค คำว่า Queer น่าจะเหมาะที่สุด
แต่ถามว่าในอนาคตคำมันเปลี่ยนแปลงได้ไหม ได้ เพราะว่าเรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะเปลี่ยนแปลงได้ มันไม่จำเป็นจะต้อง 100% ตั้งแต่แรก สำหรับคนที่รู้ตั้งแต่เด็กแล้วมันไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็ปกติ แต่สำหรับบางคนมันเป็นเรื่องที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเพราะว่าประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เรารู้ตัวมากขึ้น จู่ๆ วันหนึ่ง เราแค่ไม่ได้ชอบแบบนั้นแล้วมันก็เป็นไปได้ สำหรับตอนนี้นี่คือคำที่โซฟี่ใช้ แต่สำหรับในอนาคตมันก็อาจจะเปลี่ยนแปลงก็ได้”
ความแตกต่าง คำจำกัดความ “Queer”
นักแสดงสาวเท้าไฟ เธอเล่าถึงความแตกต่างของของคนที่ไร้กฎเกณฑ์เกี่ยวกับเพศในด้านความรักว่า ไม่ได้มีกรอบว่าจะต้องชอบเพศไหน เพราะไม่ได้มองที่เพศ มองเพียงเป็นมนุษย์คนหนึ่งเท่านั้น
“ในความหมายของที่โซฟี่เข้าใจ และที่โซฟี่ใช้คือ เป็นคนที่ไร้กฎเกณฑ์เกี่ยวกับเพศในทางด้านความรัก นั่นก็คือโซฟี่ไม่ได้มีกรอบว่าจะต้องชอบคนเพศนี้ เพศนั้นๆ คือโซฟี่ไม่ได้มองที่เพศใครเลย ถ้าชอบก็คือชอบ ง่ายๆ มันคือคำที่ตรงกันข้ามว่า Straight หรือตรงกันข้ามกับเพศที่ชอบเพศตรงข้ามเท่านั้น เพราะฉะนั้นจะชอบเพศเดียวกันก็ได้ จะชอบมากกว่าหนึ่งเพศก็ได้ จะชอบหลายๆ เพศก็ได้ มันคือทุกๆ อย่างที่ตรงกันข้ามกับเพศดั้งเดิมที่เรารู้”
สำหรับคำว่า Queer นั้นเป็นกรอบใหญ่ๆ ซึ่งแตกต่างจากคำอื่นตรงที่ ไม่ว่าจะชอบเพศไหน หรือรสนิยมทางเพศเราจะเปลี่ยนไปยังไง ก็สามารถตกอยู่ภายใต้คำว่า Queer ได้
“สำหรับโซฟี่คิดว่าคำว่า Queer มันแบบเป็นกรอบใหญ่ๆ ที่เราไม่จำเป็นต้องเลือกคำที่เจาะจงมากคืออย่างเช่นคำว่า Bisexual, Lesbian, Pansexua, Demisexual คือมันเป็นคำที่ค่อนข้างจะเจาะจง แล้วความหมายมันค่อนข้างมีกรอบของมัน ทีนี้โซฟี่เคยที่จะโอเคเราเลือกคำเจาะจงเอง เช่น บางทีโซฟี่จะใช้คำว่า Pansexua แต่ในบางกรณีเรารู้สึกว่ามันเจาะจงไปหรือเปล่า ถ้าสมมติว่าเราแบบมีเปลี่ยนแปลงบ้าง ก็เลยรู้สึก Queer มันง่ายที่สุด เพราะมันเป็นเหมือนคำที่ครอบคลุมทุกๆ อย่าง
เพราะว่าทุกๆ อย่างสามารถตกภายใต้คำว่า Queer ได้ ทุกๆ อย่างที่ไม่ใช่ Straight สามารถเป็น Queer ได้ คือถ้าคุณเป็น Lesbian คุณสามารถที่จะใช้คำว่า Queer ก็ได้ เพราะมันแค่คนที่ไม่ได้ชอบแค่เพศตรงข้าม เพราะฉะนั้นถ้าคุณชอบเพศเดียวกัน ก็สามารถเป็น Queer เหมือนกัน
โซฟี่เลยคิดว่า Queer เป็นคำที่เหมาะกับเราสุด เพราะว่าไม่ว่าเราจะเปลี่ยนแปลงในเทสต์ว่าเราชอบเพศไหนมากแค่ไหนกี่เพศ เราก็ยังตกอยู่ภายใต้ Queer เพราะว่าเราไม่ได้ชอบแค่ผู้ชาย มันก็เปลี่ยนไปได้ค่ะ ไม่รู้ถ้าอะไรเกิดขึ้นมันก็เปลี่ยนไปได้ เป็นเรื่องปกติ”
เธอยังอธิบายถึงกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ในภาษาอังกฤษย่อว่า LGBTQ ซึ่งตัวอักษรเหล่านี้จะเป็นคำของชื่อกลุ่ม “เพศทางเลือก” ไม่ว่าจะเป็นเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล ทรานเจนเดอร์ เควียร์ ที่ไม่ใช่กลุ่มเพศตามเพศสภาพ
“คำว่า LGBT มันคือสังคมของความหลากหลายทางเพศ นั่นก็คือจะรวมไปถึง Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender ก็มีอีกหลายๆ อย่างเช่น Queer, Androsexual และอื่นๆ ตัวบวกก็คือและอื่นๆ อย่างเช่น Pansexua มันมีหลาย Label มาก
เพราะฉะนั้นมันคือสังคมของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับเพศวิถี นั่นคือสิ่งที่เราชอบ คนที่เราชอบ หรือว่าเพศทางจิตใจ สิ่งที่เราเป็น อย่างเช่นคนที่เป็น Transgender เพศทางจิตใจไม่ได้คล้องจองกับเพศโดยกำเนิด คำนี้ที่จริงมันเริ่มในยุค 90 แล้วสังคมมันเริ่มใหญ่ขึ้นจากตรงนั้น แล้วตอนนี้มันกลายเป็นคำที่ทุกคนติดปากว่าคอนเทนต์ LGBT หรือว่าสังคม LGBT หรือว่ายูทูปเบอร์ LGBT คือเรารู้เลยว่าถ้าเราเห็นคำนี้ โอเคมันเกี่ยวกับสังคมของคนที่มีความหลายหลากทางเพศ”
เธอเล่าว่าเคยคบมาทั้งผู้ชาย และผู้หญิง และมีความต่างกันตรงที่ผู้หญิงอาจจะมีความเข้าใจกันได้มากกว่าผู้ชาย แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะคบเพศอะไรก็เหมือนกัน ถ้ามีความเข้าใจซึ่งกันและกัน
“เคยคบมาทั้งคู่เลย สำหรับตัวโซฟี่ เนื่องจากว่าโซฟี่เป็นผู้หญิงที่ค่อนข้างจะมีความ masculine กว่าผู้หญิงที่แบบสาว คือเรามีความสาวนะ แต่ว่าคือเรามีความผัวๆ นิดหนึ่ง คือเป็นคนที่ชอบดูแลคน เป็นคนที่ชอบปกป้อง ตอนที่คบกับผู้ชายก็ดูแลได้ ตอนที่เราคบกับผู้หญิง แฟนเราก็จะตัวเล็กกว่าเรา
ในการคบชายๆ กับหญิงๆ มันไม่ได้มีแบบคนหนึ่งต้องเป็นผู้ชาย คนหนึ่งต้องเป็นผู้หญิง แต่ว่าเราแค่อาจจะมีมุมเป็นคนดูแลมากกว่า เป็นคนเทกแคร์ เป็นคนพาไปนี่ไปนู่นมากกว่า เอาใจเขาอะไรอย่างนี้
มันก็ต่างกันตรงที่ โซฟี่รู้สึกว่ากับผู้หญิงมันก็เข้าใจกันกว่าแหละในประมาณหนึ่ง เพราะเราเข้าใจในอุปสรรคที่เขาต้องผ่านมาในชีวิต ไม่ว่าจะเรื่องฮอร์โมน หรือเป็นประจำเดือน คือเราผ่านอะไรมาเหมือนกัน
แต่ว่าแน่ๆ มันก็จะมีมุมที่แบบผู้หญิงส่วนใหญ่จะ emotional หรือมีความแบบอารมณ์แปรปรวน เครียดง่ายอะไรอย่างนี้ค่ะ แต่ว่ามันก็ดีตรงที่เราเข้าใจกัน
แต่ว่าท้ายสุดแล้วโซฟี่คิดว่า ไม่ว่าจะคบเพศอะไร มันก็เหมือนกัน ถ้าเรามีความเข้าใจเหมือนกัน ถ้าเราคุยกัน โซฟี่ว่าไม่ได้ต่างกันมาก
แต่โซฟี่ชอบคนที่ feminine กว่า เพราะฉะนั้นจะไม่ได้มองว่าคุณเป็นเพศอะไร แต่ถ้าคุณมีความละมุน ความสาว ความหวานเราชอบ เพราะฉะนั้นสำหรับเราเสน่ห์ของคนสำหรับเราเราชอบคนที่ feminine แต่มันไม่ได้แบ่งแยกว่าชอบผู้ชาย หรือผู้หญิง แต่อาจจะเอียงไปทางผู้หญิงมากกว่า เนื่องจากว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ก็จะมีความ feminine ใช่ไหมถ้าเทียบกับผู้ชาย แต่ว่าไม่ได้แปลว่าเราไม่ได้ชอบผู้ชายที่ feminine เราก็ชอบผู้ชายที่ feminine เช่นกัน”
นอกจากออกมาเปิดเผยตัวตนให้สังคมได้รับรู้แล้ว เธอยังออกมาแชร์ประสบการณ์ และให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศอีกด้วย
“โซฟี่รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ดีในการที่เราออกมาแชร์ เพราะว่าการที่เราออกมาแชร์มันทำให้หลายๆ คนรู้ตัว หรือรู้ข้อมูลที่ไม่เคยรู้มาก่อน โซฟี่คิดว่าหลายคนอาจจะอคติ หรือ Anti เพราะแค่ไม่เข้าใจ
แล้วการที่โซฟี่ออกมาอธิบาย เราว่ามันอาจจะทำให้คนเข้าใจมากขึ้น และเปิดโลกเขามากขึ้น แล้วทำให้คนได้รู้ว่าที่จริงมันไม่ใช่อะไรที่ผิด หรือไม่ใช่อะไรที่ผิดปกติ แต่ว่าแค่เราไม่รู้ แล้วโซฟี่ก็อยากมาเติมข้อมูลตรงนี้ เพราะรู้สึกว่าในเมืองไทยยังไม่มีใครพูดเรื่องนี้มากสักเท่าไหร่ คือเป็นประเทศที่ค่อนข้างจะเปิดเผยเรื่องนี้ แต่ว่าเราไม่พูดถึง
คือทุกคนโอเค แต่เราไม่พูดถึง โซฟี่เลยคิดว่าทำไมเราไม่พูดถึงละ ในเมื่อทุกคนโอเคแล้ว ทำไมเราไม่ให้ข้อมูล เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่คนไม่ได้พูดถึงในโรงเรียน คนไม่ได้มีในระบบการสอนหรืออะไรอย่างนี้
โซฟี่ก็เลยคิดว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะรู้เพราะว่าหลายๆ คนอาจจะไม่รู้ตัวเอง เพราะว่าขาดข้อมูลตรงนี้ เลยคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดีในการแชร์ค่ะ”
ไม่ได้เรียกร้องความสนใจ แต่เรียกร้องความเท่าเทียม
เธอเปิดใจว่าที่ออกมาประกาศให้สังคมได้รับรู้ถึงตัวตนที่แท้จริงนั้น ไม่ได้ต้องการเรียกร้องความสนใจจากสังคม เพียงแค่ต้องการเรียกร้องความเท่าเทียมให้กับทุกๆ เพศ และไม่ได้คิดว่าตัวเองนั้นพิเศษกว่าคนอื่น ทุกคนควรมองเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งปกติ ส่วนที่หลายคนตั้งคำถามว่าเป็นการตัวเพื่อที่จะให้หลายๆ เพศเขาหาหรือเปล่า แต่เธอตอบว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะทุกครั้งที่มีแฟน ส่วนใหญ่จะเป็นคนจีบก่อน
“โซฟี่เป็นคนจีบคนอื่น ไม่มีใครมาจีบโซฟี่เลย แฟนที่ผ่านมาในชีวิตของเรา เราเข้าหาเขาหมด เราเป็นคบจีบเขาหมด เราสนใจคุณ เราจะจีบคุณ มันไม่ใช่ใครที่เข้ามาหาเรา แล้วการที่เราออกมาพูด เราไม่ได้มาเรียกร้องความสนใจจากใคร เพราะถ้าเราอยากจะเรียกร้อง เราควรที่จะพูดตอนที่เรากำลังเล่นละคร เรตติ้งจะได้ขึ้น แต่ไม่ เราเลือกพูดตอนที่เราออกมาเป็นครูสอนเต้น ฟรีแลนซ์ที่แบบเราทำอะไรของเรา ชีวิตเรา ไม่ได้มีใครจำเราได้แล้ว ก็ออกมาพูดตอนนี้
เพราะเรารู้สึกว่าก็เราเป็นตัวเองได้แล้ว เรารู้ตัวดีว่านี่คือสิ่งที่เราเป็น เราไม่ได้ต้องการความสนใจจากใคร มันไม่ได้อะไรที่พิเศษกว่าอย่างอื่น การมีเพศวิถีจากดั้งเดิม มันไม่ใช่อะไรที่พิเศษ มันคือปกติ แล้วเรารู้สึกว่าคนควรจะมองว่ามันปกติ แล้วคนไม่ควรจะมองว่ามันแยก
โซฟี่เลยคิดว่า ไม่ต้องการความสนใจหรอก เราแค่อยากมาเป็นกระบอกเสียงให้คน หรือว่ามาช่วยให้คนรู้ตัวมากขึ้น หรือว่าทำให้คนสบายใจมากขึ้นด้วย”
ใครไม่ยอมรับก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเธอได้ เพราะเธอมั่นใจแล้วว่านั่นคือตัวตนที่แท้จริงของเธอ สำหรับใครที่ยังอคติอยู่ นั่นไม่ใช่ปัญหาของเรา เธอย้ำว่านั่นเป็นปัญหาของคุณเองมากกว่า
“โซฟี่ถึงจุดที่แบบใครจะยอมรับไม่ยอมรับมันก็ไม่เปลี่ยนแปลงตัวเราอยู่แล้ว คือเรามั่นใจแล้วว่านี่คือเรา ใครจะพูดอะไร มันไม่มีน้ำหนักต่อสิ่งที่เราเป็น เพราะท้ายสุดแล้วเรารู้ตัวเองดีที่สุด ใครที่ยังอคติ หรือไม่โอเคกับตรงนี้ มันเป็นปัญหาของเขา เราทำได้แค่ให้ข้อมูลเขา พยายามอธิบายให้ดีที่สุด แต่ท้ายสุดเขาจะรับหรือไม่ก็เป็นสิ่งของเขาเหมือนกัน
ตอนนี้โซฟี่แค่รู้สึกว่า เราออกมาพูดแล้ว เราออกมาเปิดเผยแล้วว่านี่คือสิ่งที่เราเป็น แล้วเราแฮปปี้ในสิ่งที่เราออกมาพูด การที่เราเป็นQueer ไม่ได้แปลว่าเราไม่คบผู้ชาย เราสามารถคบได้หมด
แต่ว่าคนก็ยังมีความหมาย มุมมองเก่าๆ ว่าผู้หญิงต้องคบกับผู้ชายเพื่อมีลูก เพื่อที่จะมีบ้านที่สมบูรณ์แบบอะไรอย่างนี้ แต่ว่าเอาจริงๆ
ผู้หญิงไม่ได้ต้องมีผู้ชายแล้ว ผู้หญิงทำงานเองได้ ดูแลที่บ้านได้ เป็น single mom ได้ เราคิดว่ามันอาจจะมาจากมุมมองที่คนมีกรอบมาจากเมื่อก่อน แต่ว่าเดี๋ยวสักพักหนึ่งมันก็จะหายไปเองแหละค่ะ”
ไม่เพียงเท่านี้ ยังฝากถึงคนที่ยังไม่กล้าออกมาเปิดเผย ไม่ต้องเร่งรีบ ออกมาพูดในตอนที่ตัวเองพร้อม เพราะแต่ละคนเติบโต และเจอสถานการณ์ในสังคมที่แตกต่างกันออกไป รอให้พร้อม รอให้ครอบครัวเข้าใจก่อน แต่ถ้าใครที่พร้อมแล้ว แนะนำให้ออกมาเปิดเผยตัวตน เพราะจะทำให้รู้สึกมีความสุขมากขึ้น ก็อยากฝากว่า ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งในสังคม LGBT ที่ยังไม่ได้เปิดเผยออกมา ไม่เป็นไร เราเข้าใจว่าแต่ละคนเติบโตไม่เหมือนกัน แต่ละคนมีสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าคุณยังไม่พร้อม ที่บ้านยังไม่โอเค รอให้ตัวเองพร้อมก่อนที่จะพูด
แต่ถ้าเรารู้สึกว่าพร้อมก็พูดเลย คือเชื่อเลยการพูด ถึงแม้มันอาจจะมีบางคนไม่โอเค หรือไม่ยอมรับ แต่มันจะมีคนที่รู้สึกว่าเราแฮปปี้สำหรับ you นะ การที่ you พูด มันทำให้เรากล้าพูดด้วย อะไรอย่างนี้
โซฟี่คิดว่า ถ้าเราสามารถที่จะพูดได้ก็แนะนำให้พูด เพราะมันจะทำให้รู้สึกโล่งขึ้นมากๆ โซฟี่รู้สึกโล่งขึ้นมาก แฮปปี้มาก ตอนนี้คือแบบเป็นตัวเองได้แล้ว กับทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นคนรอบข้าง หรือในโซเชียลมีเดีย คือโซฟี่เป็นตัวเองได้ 100% จริงๆ แล้วมันรู้สึกโล่ง มันรู้สึกแฮปปี้ไมได้มีอะไรที่บิดบังแล้ว”
ฝากถึงสังคมว่า อยากให้มองว่าทุกคนเป็นคนเหมือนกัน ไม่ควรที่จะเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่แล้ว ความหลากหลายทางเพศก็เป็นเพียงคนหนึ่งในสังคม อยากให้มองเป็นเรื่องปกติในสังคมเท่านั้น
“สำหรับใครที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม แล้วพร้อมที่จะเปิด ก็เปิด แต่ถ้ายังไม่พร้อมก็ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป อย่าคิดว่าเราจำเป็นต้องออกมาให้คนอื่น เพราะท้ายสุดแล้ว ตรงนี้เกี่ยวกับตัวเราเอง เพราฉะนั้นมันเป็นสิทธิของเราว่า เราจะออกมาเมื่อไหร่ก็ได้ สำหรับสำหรับสังคม
โซฟี่อยากฝากว่า เราไม่ควรมองว่ามันคือคนปกติ หรือคนดั้งเดิม กับLGBT เราเป็นคนเหมือนกัน มีอวัยวะเหมืนกัน มีโครงกระดูกเหมือนกัน เราตายไปโดนเผาก็เหมือนกัน ทุกคนก็จะกลับไปเป็นฝุ่นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น โซฟี่มองว่ามันไม่ควรที่จะเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่แล้ว
โซฟี่มองว่า เราไม่ควรมองคนแค่ว่าเขาเป็นแค่เพศวิถีเขา ว่าแบบอ๋อพี่คนนั้นเหรอเขาเป็นเกย์ ทำไม you ไม่บอกว่า อ๋อพี่คนนั้นเหรอเขาชอบสีฟ้า มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของตัวเรา แต่มันไม่ใช่ทุกๆ อย่าง ที่เป็นตัวเรา
เพราฉะนั้นสิ่งที่อยากฝากสังคม คือ มันคือเรื่องปกติ เราควรที่จะทำให้เรื่องปกติ มันเป็นปกติ แทนที่จะเอาเรื่องที่มันเป็นปกติไปวางไว้บนชั้นแล้วบอกว่า นี่นะ LGBT นี่นะ คนนี้เป็นเกย์ นี่นะคนนี้เป็น Queer คือเข้าใจว่าสังคมมันต้องพูดตอนนี้ เพราว่ามันทำให้คนรู้ตัวมากขึ้น แต่อยากให้อนาคตมันเป็นแค่หนึ่งส่วนของชีวิต แต่ไม่ใช่ทุกๆ อย่าง”
อยากให้สังคมเปิดกว้าง มองเรื่อง “เพศ” เป็นเรื่องปกติ
ยอมรับว่าเมื่อก่อนรู้สึกโกรธมาก ที่คนมองว่าคนหลากหลายทางเพศเป็นคนที่ผิดปกติ แต่พอโตขึ้น เข้าใจอะไรมากขึ้น ได้เรียนรู้ว่าบางส่วนคนในสังคมยังขาดข้อมูลการรับรู้เรื่องเหล่านี้ จึงทำให้หลายคนอคติ ตอนนี้จึงพยายามค้นคว้าข้อมูล อธิบายให้กับคนที่ไม่รู้ หรือให้คำปรึกษาสำหรับเพื่อนๆ คนรอบตัว หรือคนที่เข้ามาปรึกษาให้ได้มากที่สุด
“เมื่อก่อนโกรธ ทำไมเราก็มนุษย์เหมือนกัน ทำไมต้องมามองเราแบบนี้ละ คุณมีเมียเป็นพันเป็นร้อยฉันไม่เคยว่าคุณเลย ทำไมคุณมาบอกว่าฉันแค่ชอบผู้หญิงฉันผิด แต่ว่าอย่างที่บอกไปพอโตขึ้น หลายๆ คนแอนตี้หรืออคติแค่เพราะขาดความรู้ หรือขาดข้อมูลตรงนี้ เพราะหลายๆ คนมองว่า มันเยอะแยะมากมายเลย ทำไมคำมันเยอะแยะ ทำไมyou ต้องมีคำสำหรับสังคมนี้ มันพิเศษกว่าเราเหรอ you พยายามจะดีกว่าเราเหรอ เราว่าคนแค่ขาดความเข้าใจ
โซฟี่ก็เลยคิดว่า หน้าที่ของโซฟี่คือแค่ให้ข้อมูลตรงนั้น ให้มากที่สุดที่สามารถทำได้ ให้คนหนึ่งเข้าใจได้ แต่อย่างที่บอกมันอยู่ที่เขาว่าเขาเลือกที่จะฟังหรือไม่ ถ้าเขาไม่เลือกที่จะฟัง ก็ให้เขาอยู่ในโลกของเขาไป เราทำอะไรไม่ได้ เอาเป็นว่าเราก็ปล่อยผ่าน เราก็อยู่ของเราไป แค่นั้นเองค่ะ
เรื่องผิดธรรมชาติมันเป็นเรื่องที่ตลก โซฟี่คิดว่ามันเป็นสิทธิของเราว่าเราจะทำอะไร และเราไม่ได้ทำร้ายใคร เราไม่ได้แบบฉันชอบผู้หญิงและผู้ชาย เพราะฉะนั้นการที่คุณเป็นผู้หญิงที่แต่งงานกับผู้ชายมันผิด ไม่ เราแค่ขอที่จะมีสิทธิเท่ากับคุณแค่นั้นเอง”
ทุกวันนี้ทั่วโลกกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมีการขับเคลื่อนความเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยเองก็เช่นเดียวกัน เธอเองก็ยอมรับว่าอยากเป็นอีกนึ่งกระบอกเสียง และเป็นแรงบันดาลใจให้กับอีกหลายคนไม่ไม่กล้าออกมาเปิดเผยตัวตน
“ตอนที่โซฟี่กำลังรู้ตัว กำลังเข้าใจตัวเอง ก็ต้องมีคนแบบนี้ ที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันโอเค มันไม่ใช่อะไรที่เราควรจะกลัว แล้วตอนเราเห็นคนพวกนี้ ที่เป็นคนในวงการที่ออกมาพูด อย่างเช่นแบบในอเมริกาก็จะมีพวกแบบเลดี้กาก้า อะไรอย่างนี้ที่ออกมาพูด แล้วเราเห็นแล้วเราแบบมัน inspire แล้วเรารู้สึกว่า การที่เราเป็นตรงนั้นให้วัยรุ่นตอนนี้ได้ หรือว่าให้ใครก็ตาม ไม่จำเป็นจะต้องเป็นวัยรุ่น ใครก็ตาม คือการที่เราเป็นกระบอกเสียงตรงนี้ให้ได้ แล้วก็เป็นคนที่ให้ข้อมูลตรงนี้ให้ได้ มันเป็นเรื่องที่เราแฮปปี้มาก เพราะว่าเรา Passion กับมันมาตั้งแต่เรารู้ตัวเลย
คือเรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เราไม่พูดถึงมากพอ คนยอมรับ คนโอเค แต่คนไม่พูดถึง คนแค่แบบโอเคเราเข้าใจนะ แต่ไม่ต้องพูดถึงหรอก โซฟี่รู้สึกว่า ถ้าคุณยอมรับจริงๆ คุณต้องกล้าที่จะพูด โซฟี่เลยคิดว่าโอเคเราจะเป็นตรงนั้นให้ ว่าเราที่จะกล้าที่จะออกมาพูด
แล้วไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ว่าคนจะมองว่าดี ไม่ดี คนจะมองว่าเราผิด หรือเราไม่ธรรมชาติ หรืออะไรก็ตาม ท้ายสุดแล้วไอ้คนอื่นๆ ที่มองเห็นว่าพี่เป็น inspire ให้เรา พี่ทำให้เรารู้ตัว พี่ทำให้ครอบครัวเข้าใจหนูมากขึ้น ตรงนั้นนั่นคือสิ่งที่เราต้องการในการที่เราพูดตรงนี้ นั่นคือคนที่ให้เราทำไปต่อ โซฟี่เลยคิดว่ามันสำคัญที่ต้องมีคนแบบนี้ให้เขา”
ครอบครัวสำคัญในการยอมรับ
เธอย้ำว่าก่อนที่จะให้คนอื่นยอมรับในตัวเอง ตัวเราเองต้องยอมรับตัวเองเสียก่อน และต่อมาก็เป็นครอบครัว เพราะครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญมากในการเปิดใจยอมรับ ถ้าคนในครอบครัวไม่ยอมรับ ก็อย่าหวังสังคมยังเปิดใจยอมรับได้
“โซฟี่รู้สึกว่าผู้ใหญ่สำคัญมากๆ ถึงแม้เขาจะไม่รู้ตัวว่าเขาสำคัญ โซฟี่โชคดีมากที่บ้าน ครอบครัวค่อนข้างที่จะซับพอร์ตในทุกๆ อย่าง ไม่ว่าจะเรื่องการเต้น การร้อง การทำงาน กระทั่งเรื่อง LGBT ที่โซฟี่ออกมาเปิดเผย
หลายๆ ครั้ง ครอบครัวเป็นคนที่จัดกรอบให้เรา เพราะฉะนั้นความคิดของเราที่โตมา เราอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเรามีความคิดพวกนี้ หรือเราอคติอะไร แต่มันมาจากการเลี้ยงดูของเราแน่ๆ การเลี้ยงดู และสังคมรอบตัวเรา เพราฉะนั้นครอบครัวมีปฏิกิริยา หรือ Effect ที่ใหญ่ๆ มากต่อตัวเรา
โซฟี่ไม่ได้เป็นพ่อแม่ เราไม่สามารถที่จะตอบตรงนี้ได้ แต่ว่าเราก็คิดว่า ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ของใคร ลูกคุณจะ Look up ถึงคุณอยู่แล้ว ลูกคุณจะมองคุณตลอด ลูกคุณจะอยากได้ความรักจากคุณ อยากจะรู้ว่า ยอมรับในตัวเราไหม โอเคกับเราไหม แล้วการที่คุณบอกว่าไม่ มัน Effect เขามากๆ”
ส่วนที่ออกมาเปิดเผยตัวตนของตัวเองนั้น ที่บ้านไม่ได้ต่อต้านอะไร แต่ตอนแรกยอมรับว่าค่อนข้างที่จะอึกอัดกับตัวเองในเรื่องนี้ เพราะหลายๆ คนยังมีมุมมองเก่าๆ ว่าไม่ใช่อะไรที่ปกติ
“ตอนแรกๆ อึดอัดนิดหนึ่ง ช่วงที่ยังเล่นละครบ่อยๆ เพราะว่าแน่ๆ ในการเล่นละครมันมีความนางเอก-พระเอก แล้วทุกคนก็จะมีความจิ้น มันมีกรอบของผู้ชายผู้หญิง เพราะฉะนั้น ณ ตอนนั้นเราไม่ได้อึดอัดเรื่องตัวเอง แต่แค่เรารู้สึกว่ามันเหมาะสมไหม ที่จะออกมาพูด คนจะคิดยังไง
ละครที่เราเล่นยังมีกรอบมากๆ มันไม่ใช่ซีรีส์หรือเรื่องที่จะเปิดเผยเรื่องนี้สักเท่าไหร่ มันมีกรอบของมันมากๆ โซฟี่เลยคิดว่ายังดีกว่า รอให้โลกมันพร้อมกว่านี้นิดหนึ่ง โดยเฉพาะในเมืองไทย
แต่คือถามว่าคนรอบตัวรู้หมดไหม รู้หมด ที่กองก็รู้หมด คือพี่ๆ ผู้กำกับ นักแสดงคือรู้หมด แต่แค่เราไม่ได้ออกมาพูด public เพราะเรารู้สึกว่ามันยังไม่ใช่เวลาของเรา แต่ว่า ณ ตอนนี้พอโซฟี่เริ่มมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เรามั่นใจในสังคมที่กำลังเปิดกว้างมากขึ้น เราก็เลยแบบโอเคเราว่าได้แล้วแหละแล้วโซฟี่โตพอแล้วที่จะโอเคกับสิ่งที่เราเป็น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่ ก็เลยคิดว่าโอเคตอนนี้แหละ
ครอบครัวโอเคค่ะ คือตั้งแต่เรารู้ตัวว่าเราชอบผู้หญิงด้วย เราก็บอกครอบครัว คือทางที่บ้านไม่ได้มีปฏิกิริยาว่าจะแอนตี้เรื่องพวกนี้ คือไม่ได้มีคำพูดพวกนี้มาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
แต่แค่มันก็ต้องมีอึดอัดหน่อยแหละว่าเขาจะโอเคไหม เป็นปกติแหละคือถ้าเราบอกความลับอะไรกับพ่อแม่ กับพี่ จะโอเคไหม เขาจะคิดอะไรกับเราหรือเปล่า เพราะว่าหลายๆ คนยังมีมุมมองว่า มันไม่ใช่อะไรที่ปกติ ซึ่งที่จริงมันเป็นอะไรที่ปกติแหละ แต่ว่าแน่นอนเรากำลังโตขึ้นเราไม่รู้ เกร็ง เราก็เครียดจะบอกได้ไหม แต่ว่าเราก็บอกไปตั้งแต่เรารู้ตัว คือที่บ้านค่อนข้างสนิทกัน โดยเฉพาะคุณแม่ก็เลยจะบอก แม่หนูชอบผู้หญิงด้วยนะ
แล้วตอนที่เราเด็กๆ ก็ยังไม่แน่ใจว่าเราจะใช้คำอะไร เราแค่บอกว่าเราชอบผู้หญิงด้วย แล้วที่บ้านก็ค่อยข้างที่จะซับพอร์ต แล้วตอนแรกก็อาจจะมี ไม่ใช่ปัญหาหรอกค่ะ แต่ว่าอาจจะมีเข้าใจผิดกันบ้าง เพราะว่าเรามีข้อมูลเรื่องนี้เยอะ แต่ทางครอบครัวไม่ได้เข้าใจเยอะเท่าเรา
เพราะฉะนั้นเราก็แค่ทำความเข้าใจให้เขาว่าโอเคความหมายมันคืออย่างนี้นะ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น นี่คือเรื่องราว แล้วพอ แล้วพอครอบครัวเข้าใจ แล้วก็เปิดรับ ก็โอเคมากค่ะ”
การที่เป็นตัวของตัวเองแบบนี้ เธอเล่าว่าที่บ้านไม่ได้ตีกรอบว่าต้องเป็นยังไง ให้พื้นที่เต็มที่ในการเป็นตัวเอง จึงรู้สึกว่าโชคดีมากที่มีครอบครัวคอยซัปพอร์ต
“ที่บ้านไม่ได้ตีกรอบค่ะ แต่ที่บ้านสอนมาดี เอาอย่างนี้แล้วกัน ที่บ้านให้พื้นที่ในการเป็นตัวเอง แต่ก็มีเตือนว่าแบบ ถ้าเราทำแบบนี้จะมีผลตอบรับแบบนี้นะ เราก็ต้องระวังไว้ แต่ว่าส่วนใหญ่ก็จะเป็นการเตือนภัยมากกว่า ไม่ได้เป็นแบบห้ามทำอันนี้ ห้ามทำอันนั้น
โอเคถ้ามันผิดต่อคน มันทำร้ายจิตใจคน แน่ๆ พ่อแม่ก็จะบอกว่าโน อย่าทำเลยใช่ไหม แต่ว่าถ้าเป็นเรื่องแบบการเป็นตัวเอง หรือสิ่งที่เราอยากทำ อย่างเช่นงาน หรือการเรียนอะไรอย่างนี้ค่ะ ที่บ้านไมได้บังคับว่าคุณต้องเรียนหมอ คุณต้องเรียนกฎหมาย แต่แค่บอกว่าคิดดีแล้วใช่ไหม ลองมองมุมนี้สิ คือจะเป็นการเสนอความคิดเห็นมากกว่าค่ะ
แล้วเรารู้สึกว่าตรงนี้มันดี เพราะมันทำให้เราสามารถที่จะมีเสียงของเราได้ แต่รับฟังในสิ่งที่ทางครอบครัวเสนอมาด้วยค่ะ”
เมื่อถามว่า ได้มีปรึกษาเรื่องนี้กับพี่ชายอย่าง ชิน-ชินวุฒ อินทรคูสิน หรือพี่ชินมีให้คำปรึกษาบ้างไหม เธอเล่าว่า พี่ชินบอกแค่ให้เป็นตัวของตัวเองดีที่สุด
“ไม่มีนะ คือเรามีแค่บอกพี่ชายตอนที่เรารู้ตัวว่าโอเคเราชอบผู้หญิงด้วย ก็นั่งบนเตียงตัวเอง โอเคเราเดินไปบอกพี่ชายว่าหนูมีอะไรจะบอกพี่ คือมันดูตื่นเต้นมาก ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่อะไรที่แบบจะต้องตื่นเต้น หรือเครียดอะไรเลย
พี่หนูมีอะไรจะบอก ว่างก็มาหานะ นี่ก็นั่งบนเตียง ตัวสั่น ตัวร้อน ตื่นเต้น แล้วก็แบบคำมันติดอยู่ในคอนานมาก พูดไม่ออก สะอึกจะร้องไห้ พี่ชินก็แบบเป็นไรเนี่ย นี่ก็แบบอ๋อพี่คือแบบหนูว่าหนูชอบผู้หญิงด้วยอะพี่ แล้วร้องไห้ เครียดมาก พี่ชินก็แบบอ๋อเหรอ โอเค อ้าวเครียดทำไม คือพี่ชินเขาโอเคอยู่แล้ว
แล้วเรื่องพวกนี้เรารู้สึกว่าเขาไม่ได้มีประสบการณ์ในด้านนี้ เราว่าเราไม่ต้องปรึกษาเรื่องนี้ เพราะว่าอันนี้มันเป็นเรื่องที่แบบ ถ้าเราไม่ได้ผ่านตรงนี้มา เราอาจจะไม่สามารถให้คำปรึกษาได้ ในส่วนตัวที่โซฟี่คิดนะ
การที่เราฟังประสบการณ์จากคนที่มีประสบการณ์ตรงนี้มันดี แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่ได้มีประสบการณ์ทางด้านนี้ ไมได้ผ่านอุปสรรคพวกนี้มา อาจจะไม่สามารถให้คำปรึกษาได้
แต่พี่ชินก็จะให้คำปรึกษาในกรณีว่าแบบการเปิดเผยให้แบบสังคมรู้ ให้วงการรู้ แต่ท้ายสุดพี่ชินก็แบบ you ก็เป็นตัวเองไป ถ้าไม่ได้ทำร้ายใครก็เป็นตัวเองไป ไม่มีปัญหา”
โดนบูลลี่ คุกคามด้วยคำพูด “เคยโดน แต่ว่าไม่ได้โดนในเชิงแรงในทางแบบ คุณผิดปกติ คุณผิดต่อศาสนา คุณควรตาย ไม่ได้โดนแบบนี้ เราว่าคนไม่กล้าพูดกับเรา ดูหน้าเราสิ (หัวเราะ) คือเราค่อนข้างจะเป็นคนพูดตรงๆ เพราะฉะนั้นคนจะไม่กล้าพูดตรงๆ แบบนั้นกับเรา เพราะรู้ว่าเราสามารถซัดกลับได้ แต่จะมาในเชิงแบบ หลายๆ คนจะคิดว่ามันไม่ใช่การเหยียดหยาม หรือการคุกคาม แต่ว่าอย่างเช่นพูดคำว่า ไม่น่าคบผู้หญิงเลยอะ น่าจะคบผู้ชาย สวยอะ ทำไมต้องคบผู้หญิงอะ คุณไม่ได้จะคบกับฉันซะหน่อย ทำไมคุณจะต้องมาเสียดายแทนฉัน หรือว่าเจออารมณ์แบบ อ๋อไม่ได้เจอผู้ชายที่แบบเด็ดๆ ก็เลยไม่ได้คบกับผู้ชาย เรารู้สึกว่ามันเหมือนการมองว่าแบบผู้หญิงไม่มีสิทธิในการเลือกเพราะผู้ชายดีกว่า เพราะว่ามองว่ายังไงเราก็ต้องคู่กับผู้ชาย ส่วนใหญ่เราจะเจอแบบนี้ว่ายังไงๆ ชีวิตคุณก็จบที่ผู้ชาย ถ้าสมมติว่าโซฟี่แต่งงานกับผู้ชายในอนาคต ก็โอเคก็ปกติ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าในอนาคตโซฟี่จะไม่ได้แต่งงานกับผู้หญิง แต่ส่วนใหญ่คำคุกคามที่โซฟี่เจอจะเกี่ยวกับแบบ พวกคำเล็กๆ แบบนี้ว่าทำไมต้องคบกับผู้หญิง คบกับผู้หญิงไม่นับหรอก เราจีบได้ ทำไมอะก็เราคบกับเขา เขาเป็นแฟนเรา คุณไม่ควรที่จะเข้าหา แค่เพราะเขาไม่ใช่เพศชาย คุณกลัวเพศชายมากกว่าเหรอ แค่นั้นเหรอ ชอบหลายเพศเหรอ เจ้าชู้ปะ การที่เราชอบหลายเพศ ไม่ได้หมายความว่าเราจะชอบทุกคน เราสามารถที่จะตกหลุมรัก หรือมีแรงดึงดูดทางเพศได้กับหลายเพศ แต่ไม่ได้แปลว่าเราเอาไปทั่ว ถูกไหม เพราฉะนั้นส่วนใหญ่จะเป็นคำในเชิงแบบนี้มากกว่ามากกว่าพวกคำตรงๆ มันก็หงุดหงิดนะ คือถ้ามาในเชิงก้าวร้าว หรือว่าเขามองว่าเราต่ำกว่า เราก็จะหงุดหงิด เราก็จะตอบกลับ โซฟี่เป็นคนไม่เงียบแล้ว เมื่อก่อนโซฟี่เป็นคนไม่กล้าพูด เพราะว่าแค่ไม่ชอบมีเรื่อง ไม่ชอบมีปัญหา ก็เลยขี้เกียจพูด แต่ตอนนี้โซฟี่รู้สึกว่าเป็นสิทธิเราที่จะพูด ถ้าใครมาพูด ใครมาถามอะไรแบบนี้ เราก็ตอบกลับไปตรงๆ ว่า สมมติไม่ได้เจอผู้ชายที่ได้ใจก็เลยต้องคบผู้หญิง เราก็ตอบกลับไปว่า เราแค่เลือกเพราะว่าเราชอบคนนี้ เราชอบคนนี้ก็เรื่องของเรา เราไม่ได้ต้องการผู้ชาย เราไม่ได้แบบต้องการเครื่องมือของคุณ ไม่จำเป็นจะต้องมีผู้ชายในชีวิต โซฟี่รู้สึกว่าคำพวกนี้ คนพูดโดยไม่คิด คนพูดเพราะคิดว่าพูดได้ เพราะมันเป็นเรื่องเพศเลยไม่สำคัญ แต่มันก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเรา คุณควรจะให้เกียรติ คนมองว่าเรื่องเพศมันพูดได้ เพราะมันเป็นแค่เรื่องเพศ มันเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญหรอก แต่เอาจริงๆ เรื่องพวกนี้มันมี Effect ต่อตัวคนค่ะ” |
“พ.ร.บ.คู่ชีวิต” กับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียม “รู้แค่ว่าเขาทำกฎหมายขึ้นมาเพื่อที่จะให้คนอาจจะสามารถแต่งงานด้วยกันได้ ที่เป็นชาย-ชาย หรือคู่หญิง-หญิง มันเป็นสิทธิมนุษยชน คือเรารู้สึกว่าทำไมถึงต้องมองว่าคู่ชายหญิงแต่งงานกันได้ ทั้งที่คู่หญิง-หญิงแต่งงานกันได้ คู่ชาย-ชาย แต่งงานกันได้ มันต่างกันยังไง มันคือแค่เซ็นเอกสาร ใส่แหวนจบ โอเคแน่ๆ มันมีเรื่องกฎหมายภายหลังเกี่ยวกับสินสอด เกี่ยวกับการมีลูกอะไรอย่างนี้ แต่ถ้ามองที่ภายหน้า มันไม่ได้ต่างอะไรกันเลย มันเหมือนการที่แบบ ถ้าผู้ชายกับผู้หญิงคบกันเป็นแฟน ผู้หญิงกับผู้หญิงคบกันเป็นแฟน ไม่ได้ต่างอะไรกันเลย มันคือสองมนุษย์ที่กำลังรักกัน ทำไมเราถึงมาต้องจำกัดว่าคุณต้องเป็นเพศตรงข้ามเท่านั้นที่จะต้องแต่งงานกันได้ มันต่างกันยังไง ถ้าสมมติว่าผู้ชาย-ผู้ชายแต่งงานกันแล้วมีลูก ไม่ดีเหรอ ดีออกจะได้มีเด็กคนหนึ่งที่สามารถมีพ่อแม่ได้แล้ว หรือมีพ่อได้แล้ว หรือมีครอบครัวได้แล้ว แทนที่คุณมาจำกัดว่าคุณผู้ชาย คุณแต่งงานกับแฟนคุณไม่ได้ที่เป็นผู้ชาย แล้วคุณไม่สามารถที่จะมีลูกได้ แล้วมันก็กลายเป็นว่า เด็กๆ หลายคนก็ติดอยู่ใน System เราไม่สามารถมีพ่อมีแม่ได้ เรารู้สึกว่า มันควรจะเท่าเทียมกัน มันควรจะเท่าเทียมกันในทุกมุมแล้ว ไม่รู้ทำไมโลกมันช้าขนาดนี้ แต่ว่าก็เข้าใจแหละมันเรื่องกฎหมาย มันก็อาจจะช้าในการปรับปรุงในการเปลี่ยนแต่ละข้อ แต่ว่าเราควรจะเริ่มทำแล้ว เพราะโซฟี่คิดว่าในเมืองไทย ประเทศเราค่อนข้างจะยอมรับ สังคมไม่ได้เหยียดหยาม คุกคามขนาดนั้น แต่ว่าเราโอเคแต่เราไม่ทำอะไร เราโอเคแต่เราไม่ซับพอร์ต รับรู้นะ แต่เราจะไม่ทำอะไร เหมือนแบบเรารู้สึกว่า เราควรจะช่วยละ เราควรจะซัปพอร์ต ถ้าเราโอเคกับเรื่องนี้จริงๆ เราควรจะซับพอร์ต เราควรจะมีพวก foundation ที่ช่วยดูแล LGBT เราควรจะมีกฎหมายที่ช่วยป้องกันคนที่เป็น LGBT ที่อยู่ในที่ทำงาน อย่างเช่นวันก่อนคุยกับคุณแม่อยู่ว่าในบางประเทศถ้าทำงานอยู่ แล้วเขารู้ว่าคุณเป็น LGBT เขาไล่คุณออกได้ ทำไมฉันจะมีอะไรกับใครมันไม่ใช่เรื่องของบริษัท เราคิดว่าเมืองไทยมันไม่มีตรงนี้พอ ไม่มีเรื่องที่การ protect คนที่เป็น LGBT แน่ๆ เราไม่ได้มองว่า LGBT พิเศษกว่า แต่เราต้องเห็นด้วยกันว่าคนที่เป็น LGBT มีสิทธิน้อยกว่าคนที่ไม่ได้เป็น เราถูกมองว่าเราต่างกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราต้องการคือแค่เท่าเทียมกัน ถ้าคุณปกป้องผู้หญิงจากผู้ชายได้ คุณก็ต้องปกป้องผู้หญิงที่ชอบผู้หญิงเหมือนกัน ถูกไหม มันคือแค่การเรียกร้องการเท่าเทียมแค่นั้นเอง” |
สาวเท้าไฟ กับใจรักการเต้นตั้งแต่เด็ก “ตอนเด็กแม่ให้ไปเรียนบัลเลต์ ตอนประมาณ 6-7 ขวบ ก็เริ่มจากบัลเลต์ หลังเลิกเรียนไปเรียนบัลเลต์ประมาณ 4-5 ปี แล้วเราก็ชอบนะ แล้วก็เริ่มเรียนสไตล์อื่นมากขึ้น พวก Jazz, HipHop หลังเลิกเรียนเสาร์-อาทิตย์ก็ไปเรียนเรื่อยๆ จนอายุประมาณ 13-14 ปี เรารู้สึกว่าแบบมันมี Something อะไรที่ทำหลังเลิกเรียน มันไม่ใช่แค่เหมือนเล่นเกม สำหรับเรานะ สำหรับเรามันมากกว่านั้น เรารู้สึกมันเป็นส่วนหนึ่งของเราเหมือนกัน เราก็ทำมาเรื่อยๆ แล้วหลังจากนั้นเรามีโฟกัสว่าเราไม่ได้มาแค่เรียนเต้นเพราะมันเป็นงานอดิเรก แต่เรามาเรียนเต้นเพราะเราอยากเก่งขึ้น เราอยากทำได้ เราอยากที่จะเก่งกว่าที่เราเป็นอาทิตย์ที่แล้ว เราก็มีโฟกัสแบบนั้นมาเรื่อยๆ จนประมาณ 15-16 ปี เราอยากทำตรงนี้เป็นงาน ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตาม อาจจะเป็นแดนเซอร์ อาจจะเป็นครูสอนเต้น เมื่อก่อนไม่ได้คิดเลยว่าตัวเองจะเป็นครูสอนเต้น รู้แค่ว่าชอบเต้น แล้วก็ทำมาเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งมีพี่คนหนึ่งในสตูฯ สอนเต้นถามว่าอยากลองสอนไหม นี่ก็แบบก็ได้นะลองดู เป็นแบบ Workshop แล้วพอเราได้ลองตรงนั้นมา เราชอบมากเลย เพราะเราเป็นคนชอบแชร์ประสบการณ์ เหมือนเรื่อง LGBT เหมือนกัน คือเราชอบแชร์ประสบการณ์ ชอบทำให้คนรู้อะไรมากขึ้น แล้วมาเรียนรู้อะไรด้วยกัน พอโซฟี่ได้ลองสอนเต้นตอนนั้นอายุประมาณ 17-18 ปี หรือว่ามันเหมาะกับเรา ก็เลยพยายามมากขึ้นที่จะไปเข้าคลาส ไปเรียน แล้วก็เทรนด์ตัวเอง แล้วก็หาโอกาสสอนมากขึ้น จนกระทั่งได้เป็นครูสอนประจำในที่หนึ่ง แล้วหลังจากนั้นเราก็สอนประจำมาเรื่อยๆ เลย ตอนนี้โซฟี่สอนได้ประมาณ 3 ปีได้ค่ะ ตอนนี้ก็เริ่มสอนเต็มตารางเลย สอนแบบเป็นงานประจำทุกวันเลย ก่อนหน้านั้นเรายังเล่นละครอยู่ เพราฉะนั้นก็สอนอาทิตย์ละ 1 วัน ทุกอาทิตย์ แต่หลังจากนั้นก็คือสอนหลายที่แล้ว ก็เลยสอนมากขึ้นๆ แล้วก็ทำรายการบ้าง คิดโชว์บ้าง ก็ทำทางด้านเต้นแบบเต็มตัว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่รับงานในวงการนะ คือถ้ามีละคร หรือถ้ามีอะไรอย่างนี้เราก็รับ เพียงแต่ว่า ณ ตอนนี้มันยังไมได้มี ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม เรื่องไวรัส ไหนๆ เรามีโอกาส เราก็เต็มที่กับตรงนี้ไป โซฟี่เต้นมา 15 ปี คือมันมีช่วงหยุดบ้างแหละ แต่ว่าก็ประมาณ15 ปีได้ แล้วคือทุกคนก็จะมีการเติบโตที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นไม่ได้แปลว่าคุณต้องเรียนเต้น 15 ปี ถึงจะเต้นแบบเรา สิ่งสำคัญคือสังคมรอบๆ มันซัปพอร์ตเราไหม ถ้าเรามีสังคมที่ซัปพอร์ตเรา กับเรื่องอะไรก็ตาม เราจะดีขึ้น เราจะเก่งขึ้น โซฟี่มีสังคมที่ซัปพอร์ต ไม่ว่าจะเพื่อน ครอบครัว ที่ช่วยเรามาตั้งแต่เด็ก อยากเต้นแล้วโอเคไปเต้น แล้วมันทำให้เราเก่งขึ้นมากขึ้น อย่างเช่น เราอยู่กับคนเก่งๆ เราก็จะเก่ง ถูกไหม ถ้าเราอยู่กับคนที่เก่งกว่าเรา เราอยากจะเก่งแบบเขา เราก็จะไฟว์ เราก็จะสู้ เราก็จะเก่งขึ้น โซฟี่เลยมี Mindset แบบนั้นตลอด คือจะแบบเต้นอยู่ข้างๆ คนที่เก่ง จะอยู่หน้าแถว พยายามเต้นแบบครูมากที่สุด โซฟี่พยายามมากๆ ที่จะเก่งขึ้น แล้วก็การสอน โซฟี่มันมาจากประสบการณ์ ถ้าเราสอนไปเรื่อยๆ เราก็จะเก่งขึ้นในการสอน การที่เราเป็นนักเต้นที่ดี ไม่ได้แปลว่าเราจะสอนดี การที่เราเก่งเลข ไม่ได้แปลว่าเราจะเป็นครูคณิตศาสตร์ที่ดี เราต้องเข้าใจนักเรียนว่า เราสอนได้ประมาณไหน วันนี้เราสอนได้เยอะไหม น้อยไหม นักเรียน Level ประมาณไหน คือมันมีหลายอย่างในการเป็นครู โซฟี่ไม่ได้เก่งขนาดนั้นนะ คือมันมีคนแบบระดับโลกที่เก่งกว่าเราเยอะ แต่ว่าเรารู้แค่ว่าเราเป็นคนพยายาม โซฟี่รู้ว่าตัวเองทุ่มเทมากๆ ไม่ได้ยอมแพ้ง่ายๆ ไม่ว่าจะกับอะไรก็ตาม กับมหาวิทยาลัย เรื่องเต้น เรื่องตัวเอง คือโซฟี่พยายาม ถึงแม้จะไม่ได้เก่งเท่าคนอื่น หรือไม่ได้มีพรสวรรค์มาเท่าคนอื่น แต่โซฟี่มีความพยายาม มีพรแสวงว่าเราอยากจะได้แบบนั้น วันนี้ยังไมได้ไม่เป็นไร พรุ่งนี้ทำใหม่ แล้วก็มี Mindset แบบนั้นเรื่อยๆ ตอนนี้เป็นครูก็ยังพยายามหาเวลาในการเทรนด์ตัวเอง ในการสอน เพราะการที่เป็นครูไม่ได้แปลว่าเราเก่งที่สุด การที่เป็นครูเรายังเรียนรู้ใหม่ๆ ได้เรื่อยๆ เพราะว่าเราอาจจะเก่งในมุมหนึ่ง อย่างเช่น เราอาจจะเก่งวิชาวิทยาศาสตร์ ไม่ได้แปลว่าเราจะสอนคณิตศาสตร์ได้ เหมือนกันโซฟี่สอนสไตล์หนึ่ง หรือสอนแบบนี้ แต่เราไปเรียนของคนอื่น ไม่ได้แปลว่าเราจะทำได้ หรือเราจะทำดีเท่าเขา รู้สึกว่าการที่โซฟี่เป็นครู มันไม่ได้หยุดในการเป็นนักเรียนของเราด้วย เรายังคงเป็นนักเรียนเรื่อยๆ แล้วการที่โซฟี่สอน โซฟี่ก็เรียนรู้จากการสอนด้วย การสอนนักเรียน เราก็เรียนรู้จากการสอนของเราว่า เราสอนแบบนี้เวิร์กไหม เราควรจะเพิ่มเติมอะไรไหม เราขาดอะไรบ้าง นักเรียนรู้สึกยังไงบ้าง เรากะจากนักเรียนว่าเขาขาดอะไร เราต้องเพิ่มเติมอะไรให้เขาอะไรอย่างนี้ค่ะ ชอบเต้นอาจจะไม่ได้มาจากพี่ชายที่เต้นด้วย แต่ว่ามาจากการที่แม่ซัปพอร์ตทั้งคู่ ก็เลยเหมือนแบบเราเห็นพี่ชายเต้น เราก็เต้นด้วย มันก็เหมือนแบบมันมาพร้อมๆ กัน แต่ว่าเราว่ามันไม่ได้มาในเชิงแบบเห็นพี่ชายเต้น แล้วเดินตาม แล้วเต้นด้วย แต่ว่ามันมาในเชิงแบบพี่ชายเต้น เราก็เต้น แล้วมันก็แบบควบคู่ไปด้วยกันว่าแบบ เรามีคนที่ชอบอะไรคล้ายๆ เรา ชอบเพลงคล้ายๆ กัน ชอบเต้นเหมือนกัน มันก็เลยแบบควบคู่ไปด้วยกันค่ะ มีแพลนไว้ว่าอยากอยากเปิดสตูฯ สอนเต้น ที่ไม่ได้เป็นแค่ที่สอนเต้น แต่เป็นการสร้างศิลปิน เป็นการเทรนด์ด้วย เพราะพี่ชายก็อยากทำ เกี่ยวกับทางด้านแบบสร้างเด็ก เทรนนี่ สร้างศิลปินอะไรอย่างนี้ ก็หวังว่าจะได้ทำในอนาคต แต่ว่ารอให้สถานการณ์ดีกว่านี้ก่อน ตอนแรกมีแพลนไว้กับพี่ชายไม่ปีนี้ก็ปีหน้า แบบมีแพลนไว้ว่าอยากลองทำแบบจริงจัง เพราะว่ามีสตูดิโอเยอะขึ้นมากๆ แต่มีครูสอนเต้นที่เก่งขึ้นทุกวัน ที่เยอะขึ้นทุกวัน แต่ ณ ตอนนี้ก็หาเงินก่อน เพราะเรื่องโควิดมันก็ทำให้หลายๆ อย่างดรอปลง โดยเฉพาะเรื่องการเต้น เรื่องการออกกำลังกาย ทุกอย่างมันต้องปิดไป โซฟี่ก็ต้องหยุดทำงาน 3-4 เดือนเหมือนกัน เพราะว่าสตูฯ ก็ต้องปิดหมด ก็เลยคิดว่าตอนนี้รอให้สถานการณ์มันกลับมา 100% ก่อน จะได้รู้ว่าเราเปิดดีไหม” |
สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: พัชรินทร์ ชัยสิงห์
คลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพเคลื่อนไหว: ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ภาพ: กัมพล เสนสอน
ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @stothesophie
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **