xs
xsm
sm
md
lg

โควิดซ้ำชะตา “น้องการ์ตูน” เหยื่อตีนผี แม่กัดฟันสู้ หาครึ่งแสนต่อเดือนมาต่อชีวิต [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดใจ “แม่น้องการ์ตูน” เหยื่อกระบะตีนผี กับมรสุมชีวิตในยุคโควิด-19 ขายน้ำพริกออนไลน์ดูแล 4 ชีวิต ส่วนร้านสเต็กซบเซาหนัก บางวันขายได้เพียง 1 จาน ด้านสุขภาพลูกสาวโตตามวัย แต่ก็เสี่ยงติดเชื้อง่าย ต้องเลื่อนผ่าตัดสะโพกไปถึงสิ้นปี ด้านคู่กรณี แม้อุบัติเหตุผ่านมา 6 ปี แต่ก็ไร้วี่แววรับผิดชอบ!
พิษโควิดกระทบหนัก ขายได้วันละจาน!

บางครั้งเหตุการณ์ไม่คาดคิด สามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกครอบครัวได้แบบไม่ทันตั้งตัว แต่สำหรับ ศรัญญา ชำนิ หรือ แม่น้องการ์ตูน ที่ชีวิตครอบครัวเคยมีความสุขกับสามีและลูกสาวที่น่ารักวัย 6 ขวบ

แต่แล้ว ความสุขได้พังทลายลง จากคนตีนผีที่ซิ่งรถแข่งกันมา ก่อนเสียหลักพุ่งเข้าร้านสเต็กของครอบครัวนี้อย่างจัง เมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เธอไม่เพียงแต่สูญเสียสามีผู้เป็นเสาหลักของครอบครัว ตัวลูกสาวยังต้องกลายเป็นคนพิการติดเตียงจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผู้ก่อเหตุไม่รับผิดชอบและไม่ยอมชดเชยต่อความสูญเสียแม้แต่น้อย



สำหรับผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องเป็นเสาหลัก หารายได้ดูแลครอบครัวที่มีอยู่ 4 ชีวิต และหาเงินดูแลลูกสาวเพียงคนเดียวที่ยังต้องพบหมออย่างต่อเนื่อง เธอเปิดใจกับผู้สัมภาษณ์ว่า วิกฤตชีวิตที่ผ่านมาว่าหนักแล้ว ยังต้องมาเจอวิกฤตโควิด-19 ระบาด ก็ยิ่งเป็นเรื่องลำบากในการหารายได้มากขึ้น หนักสุดถึงขั้นขายอาหารได้เพียงแค่วันละ 1 จานเท่านั้น!

“ตอนนั้น (ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19) ขายสเต็ก ขายน้ำพริก ร้านสเต็กรายได้มันเริ่มน้อยลง ก็เลยมาขายข้าวแกงที่ถัดไปจากร้านสเต็กอีก 2 ห้อง พออยู่ได้ค่ะ เพราะร้านข้าวแกงตอนกลางวันจะได้พนักงานและลูกค้าประจำค่อนข้างเยอะ เต็มทุกวัน



พอมาถึงช่วงสถานการณ์โควิด ร้านข้าวแกงหยุดขายไปเลย 2 เดือนแล้ว ค่อนข้างจะลำบาก ร้านสเต็กขายแต่ขายกลับบ้านอย่างเดียว แล้วเราก็จะทำน้ำพริกออนไลน์ขายแทน เราขายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ช่วงนี้เราคิดว่ามันเป็นสิ่งเดียวที่ทำรายได้ให้ครอบครัว ก็เลยทำน้ำพริกออนไลน์

(ขายได้วันละจานเดียว) ตกใจมาก ไม่เคยขายได้วันละ 59 บาท อีกวันได้ 178 บาท ขายได้เยอะสุดอยู่ประมาณ 1,700 บาท บางวัน ถ้ายืดระยะยาวกว่านี้ ตอนนี้เหมือนกับว่าเขาให้ลูกค้าทานที่ร้านได้ แต่ถามตามความเป็นจริง รู้สึกว่าถ้ามาเป็นครอบครัว จะให้นั่งโต๊ะละคน ก็อยากแนะนำให้เขาซื้อกลับบ้านดีกว่า เอาอะไรแน่นอนไม่ได้ตอนนี้ ดูวันต่อวัน”



เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรกับสภาวะที่เกิดขึ้น ศรัญญา ตอบว่า แม้จะเครียด แต่ก็ได้กำลังใจจากคุณพ่อคุณแม่ของตนเอง ซึ่งท่านทั้งสองก็เป็นคนที่คอยดูแลน้องการ์ตูนในยามที่เธอต้องออกมาขายอาหาร ทุกคนในครอบครัวจึงอยู่ในสภาพ ไม่มีใครได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ

“ต้องรีบกินข้าว รีบทำอะไรให้เสร็จ บางทีก็สลับกันกินข้าว แทบจะไม่เคยกินข้าวเป็นเวลาเลยดีกว่า ข้าวเช้าไม่ต้องพูดถึง เพราะต้องดูแลน้อง บางทีถ้าน้องตื่นตี 3 ก็ไม่ได้นอนแล้ว ก็ต้องตื่นมาทำความสะอาดเขา กว่าจะเสร็จ ทุกคนเครียดหมด แต่คุณพ่อคุณแม่จะบอกว่า ขายได้เท่าไหร่ เดี๋ยวก็ดีขึ้น ค่อยๆ สู้ไป ตอนหลังเราเลยคุยกันว่าเดี๋ยวลองลงน้ำพริกดู เอาตรงนี้ไปก่อน แต่รายได้มันก็ไม่ได้เยอะมากมาย แต่อย่างน้อยก็เป็นรายได้ที่มาจุนเจือได้”
ไม่เจอหน้าลูกกว่า 2 เดือน หวั่นทำ “น้องการ์ตูน” ติดเชื้อ

ตั้งแต่มีเรื่องโควิดมา ก็ไม่ได้หาน้องเลย คิดถึงมาก ดูในกล้องบ้าง VDO Call หาบ้าง เพราะตัวแม่เองเจอคนค่อนข้างเยอะข้างนอก น้องติดเชื้อค่อนข้างง่ายมาก คุยกับคุณตาคุณยาย ก็เลยคิดว่าขอนอนร้าน เราเลี่ยงที่จะเข้าบ้านเพราะกลัวว่าจะเป็นพาหะทำให้น้องติดเชื้อได้ ร่างกายเขาไม่แข็งแรงอยู่แล้ว ภูมิคุ้มกันเขาน้อย เพิ่งได้เจอหน้าน้องครั้งแรกเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เข้าไปตัดผม เกือบ 2 เดือนได้ เพื่อความปลอดภัยของลูก ถ้าเราอดใจได้ มันดีกว่าถ้าให้ลูกเราป่วย

ผลจากอุบัติเหตุในอดีต ส่งผลให้น้องการ์ตูนกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง สุขภาพไม่แข็งแรง และดวงตามองไม่เห็น อีกทั้งยังต้องพบแพทย์ทุกเดือน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายอย่างต่ำเดือนละ 50,000 บาท ประกอบกับพิษโควิด-19 ทำให้แผนการผ่าตัดสะโพกที่ต้องมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมถูกเลื่อนออกไปอีก



“(พบแพทย์) น้อยสุด 2 ครั้งต่อเดือน เราต้องใช้รถ ambulance อย่างเดียว ไม่สามารถออกไปเองได้ ค่ารถไปโรงพยาบาล ตก 3,000-4,000 บาทต่อครั้ง เพราะน้องร่างกายไม่สมบูรณ์ เป็นผู้ป่วยติดเตียง สะโพกก็เคลื่อนแทบจะหลุดอยู่แล้ว ถ้าเดือนนึงเจอหมอ 5 วันก็ 5 ครั้งต่อเดือน

มีหมอสมอง หมอฟัน หมอกระดูก หมอตา หมอกายภาพ หมอคอ หมอท้อง ไม่ใช่หมอคนเดียวดูทุกอย่าง คุณหมอสมองพูดเลยว่า อะไรที่เกิดขึ้นในสมอง ไม่สามารถบอกได้ มันอยู่ที่การฟื้นฟูของเขาเองว่าจะกลับมาได้แค่ไหน น้องการ์ตูน ต้องผ่าตัดสะโพกวันที่ 19 พ.ค.แต่คุยกับคุณหมอขอเลื่อนกันไปก่อน ได้คิวมา 3 ครั้ง นี่ครั้งที่ 4 เกิดเรื่องโควิดพอดี เลยเลื่อนไปเป็นสิ้นปีก่อน ให้สถานการณ์มันดีขึ้นก่อน



น้องเหมือนสะโพกน้องเคลื่อน ตอนเคลื่อน หมอแนะนำว่า จริงๆ ไม่ต้องผ่าก็ได้ เพราะน้องยังคงเดินไม่ได้หรอก แต่พอน้องเริ่มโตขึ้นเร็วเกินวัย กลายเป็นว่าจากเคลื่อนมันหลุด พอหลุดปุ๊บ ตอนแรกเราไม่รู้ พอไปหาคุณหมอจับขาเขา เจอหมออีกท่านหนึ่งบอกว่า ไม่ได้แล้วนะ มันหลุด ต้องผ่า เพราะน้องเขาเจ็บมาก แต่เขาบอกเราไม่ได้ เราเข้าใจว่า เราจับขาแล้ว เขาชักออกคือ นึกว่าเขารู้สึก แต่จริงๆ ไม่ใช่ หมอบอกว่านั่นคืออาการเจ็บของเขา”

สำหรับสุขภาพของสาวน้อย โดยรวมแล้วมีพัฒนาการที่ดีตามวัย ก็มีการรับรู้ที่ดีขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ต้องระวังเรื่องการติดเชื้อ รวมถึงผลลัพธ์ที่จะตามมาหลังผ่าตัดสะโพกแล้ว



“2 ปีที่ผ่านมา น้องโตขึ้นมาก ตอนนี้หนักประมาน 34 กิโล แต่ค่อนข้างสูง ทุกอย่างเหมือนเดิมเปลี่ยนแค่น้องโตขึ้น ประสาทสัมผัส ประสาทการรับรู้ คือน้องตามองไม่เห็นอยู่แล้ว แต่เหมือนจะพยายามมองซ้ายมองขวาตามเสียง แต่หูน่าจะได้ยิ่ง มียิ้มมีหัวเราะ เราคุย เราเล่น เราหยอกล้อ ถามว่าดีขึ้นมั้ย ก็โตขึ้นตามวัย เวลาเราดุหน้าเขาก็จะบึ้งๆ เราจะเดาได้

ถ้าไปผ่าตัดสะโพก ความเสี่ยงก็มีเหมือนกัน เพราะว่าต้องดมยาสลบ คนป่วยลักษณะนี้ถ้าดมยาไปแล้วอาจจะไม่ฟื้นกลับมาเหมือนปกติ อาจจะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เกิดผิดพลาดอะไรเราต้องมีเครื่องช่วยหายใจที่บ้าน เพื่อพร้อมรับมือน้องตอนกลับมาอยู่ที่บ้าน เพราะโรงพยาบาลไม่มีรองรับให้เราอยู่ยาว ต้องหาซื้อเอง ซึ่งราคาค่อนข้างสูงมาก ค่าใช้จ่ายเราใช้สิทธิของคนพิการได้บางส่วน ถ้าเป็นอุปกรณ์พิเศษหรือยานอกต้องจ่ายเอง ค่าผ่าตัดจริงๆ ก็สูงอยู่

ทุกวันนี้ก็ห่วงอยู่แล้วนะคะ ปอดข้างนึงของน้องแฟบอยู่แล้ว และมีช่วงนึงเราต้องให้ออกซิเจน โชคดีที่เรามีเครื่องผลิตออกซิเจนเองในบ้าน แต่ค่าไฟก็ขึ้นพอๆ กับค่าออกซิเจนนะคะ ก็ห่วงเรื่องปอดเขาอย่างเดียว เป็นสิ่งที่ติดเชื้อง่ายที่สุด”
“ครอบครัว” กำลังใจที่ดีที่สุด

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว ที่เธอต้องสูญเสียสามีไปอย่างไม่มีวันกลับ ซ้ำร้ายลูกสาวต้องพิการติดเตียง ลำพังเรื่องที่เกิดขึ้นก็ยากที่จะทำใจแล้ว แต่สิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่า คือ การไม่รับผิดชอบใดๆ ของทางผู้ก่อเหตุ แม้จำเลยถูกตัดสินจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา และให้ชดใช้ผู้เสียหาย 6,000,000 บาท แต่ศรัญญากลับไม่ได้รับการชดเชยใดๆ

ถึงวันนี้ ผู้ก่อเหตุพ้นโทษออกมาเสวยสุขนานแล้ว ก็ไม่เคยสำนึกในสิ่งตนเองได้กระทำ ไม่เคยคิดที่จะรับผิดชอบใดๆ กับความเสียหายที่ตนเองได้ก่อ ขณะที่ฝ่ายผู้สูญเสียอย่างคุณแม่น้องการ์ตูน ทำได้เพียงให้ทนายสืบทรัพย์ แต่ดูเหมือนจะไม่มีประโยชน์ เพราะผ่านมา 6 ปี ยังไร้วี่แววจะเจอทรัพย์ จนทนายแนะนำว่า เก็บเงินไว้รักษาลูกดีกว่า



“ได้ทนายจากกระทรวงยุติธรรม ไม่เสียค่าใช้จ่าย ไปสืบทรัพย์ให้แล้ว ลองสืบมา 6 เดือน เขาไม่มีทรัพย์ให้สืบ พี่ทนายก็แนะนำว่า ไม่ต้องไปจ้างทนายสืบหรอก เพราะสืบแล้วไมมีอะไร เก็บเงินไว้รักษาลูกดีกว่า เราก็ลองปรึกษากับทนายอีกหลายๆ ท่าน ก็แนะนำคล้ายๆ กัน ถ้าไม่มีทรัพย์สืบ ก็ต้องรอ อย่างน้อยเรามีโอกาสฟ้องใน 10 ปี ระหว่าง 10 ปี เราฟ้องล้มละลายเขาได้ ตอนนี้เรายังไม่ได้ฟ้องล้มละลายนะ เหลือประมาณ 3-4 ปี

เราไม่มีความหวังมาตั้งนานแล้ว แต่เราหวังนิดๆ ว่า สักวันหนึ่ง เราอาจจะได้จากเขาบ้างก็ได้ ไม่มากก็น้อย หรือได้แค่ความสำนึกของเขาก็พอ เราก็ยังรู้สึกโอเคมากกว่า ถ้าจะได้ คงได้มาตั้งนานแล้ว ไม่จำเป็นต้องได้เยอะตามที่ศาลสั่งหรอก ได้แค่ความเห็นใจ ได้แค่แพมเพิร์สหรือนมต่อเดือน ก็ถือว่านั่นคือสิ่งที่เขาพยายามหาให้เราแล้ว แต่อย่างนี้เขาไม่ได้พยายามหาหรือพยายามอะไรให้เราเลย เลยมองว่า ไม่ต้องหวังที่จะได้ของคนแบบนี้หรอก

เขารับรู้มาตลอดนะคะ ข่าวก็ออก แต่ถามว่าเขารับรู้แล้วเขาทำอะไรบ้าง ก็เฉย ไม่รู้สึกผิด บอกว่าแล้วแต่เวรแต่กรรมแล้วกัน เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องเวรกรรมแต่เป็นเรื่องความประสาทของคน อยู่ที่จิตใต้สำนึกของคนดีกว่า”



สุดท้าย เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามว่า มรสุมชีวิตหนักหนาสาหัสขนาดนี้ แล้วสิ่งใดคือสิ่งที่ทำให้เธอมีความสุข แม่น้องการ์ตูนก็ให้คำตอบว่า ครอบครัวที่เหลืออยู่ทั้งคุณพ่อคุณแม่ และลูกสาว ตลอดจนกำลังใจจากทางโซเชียลเป็นสิ่งที่ทำให้เธอมีแรงสู้ต่อไปในทุกๆ วัน

แรงจูงใจสิ่งเดียว คือ ครอบครัว น้องการ์ตูน คุณตาคุณยาย เป็นสิ่งเดียวที่เรารู้สึกว่า เราจะทำได้ทุกอย่างเพื่อเขา เพื่อคนที่เรารัก จริงๆ น้องต้องเป็นเด็กที่เติบโตเหมือนคนปกติ แต่วันนี้เขาไม่ได้ใช้ชีวิตแบบเด็กปกติทั่วไป เราเลยรู้สึกว่า เราเป็นแม่ เราทำอะไรให้เขาได้ ถ้าเราไม่เหนื่อยมากจนเกินความสามารถเรา เราก็อยากทำให้เขามากที่สุดเขาเป็นแรงจูงใจที่ดีที่สุดในครอบครัว ทั้งคุณตายาย ทั้งเราเลย



มีงานให้ทำ มีลูกค้าสั่งของ นั่นคือความสุข เพราะมันเป็นการทำให้เพื่อคนที่เรารักอีกที ถ้าไม่ได้ขายของก็เครียดนะ มันต้องมีอยู่แล้วค่ะทุกคน ความรู้สึกที่มันไม่ไหว หรือจะไปพร้อมกันเลย แต่มันเป็นสิ่งที่เราทำไม่ได้ในเรื่องจริง พอเรามานั่งนึก เราสบายคนเดียวแล้วให้คนข้างหลังลำบาก มันไม่ใช่สิ่งที่ดี ก็เลยรู้สึกว่า ต้องลองก้าวข้ามสิ่งที่ยากที่สุดไปให้ได้ ถ้าเราก้าวข้ามไปได้ อะไรที่มันยากกว่านี้ก็ทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว พยายามช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด

ต้องขอบคุณกำลังใจทุกส่วนที่ส่งมาให้แม่และน้องการ์ตูนเสมอมา ทุกครั้งที่น้องต้องผ่าตัดหรือเกิดเรื่อง ทุกคนจะช่วยสนับสนุนสินค้าที่เราขายเสมอ อันนี้คือกำลังใจที่ดีที่สุด เราอ่านทุกคอมเมนต์ กำลังใจที่ทุกคนส่งมาให้แม่กับน้องคือที่สุดแล้ว เราไม่ได้คิดว่าเราต้องเดียวดาย เรามีคนที่เข้าใจและเคียงข้างและคอยช่วยเหลือเสมอมา ขอบคุณมากเลยค่ะ”

ท่านใดต้องการบริจาคของใช้ที่จำเป็นสำหรับน้องการ์ตูน ได้แก่ นมผงพีเดียชัวร์ รสวานิลลา, แผ่นรองซับ, สายซักชั่นเบอร์ 12, แพมเพิร์สผู้ใหญ่แบบเทปกาว ไซส์ M, เดทตอล, น้ำเกลือล้างสายซักชั่น, ถุงมืออนามัยไซส์ S/M, สำลีก้อน, แอลกอฮอล์ล้างแผล สามารถส่งไปได้ที่ร้านสเต็กแม่น้องการ์ตูน 164 ถนนราษฎร์บูรณะ แขวงเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ 10140 หากสนใจอุดหนุนน้ำพริก สามารถสอบถามได้ที่ เพจเฟซบุ๊กร้านสเต็กคุณแม่การ์ตูน หรือ โทร. 02-871-4784



[ หากใครต้องการมอบความช่วยเหลือ สามารถส่งต่อได้ตามรายการเหล่านี้ ]


สัมภาษณ์ : รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”

เรียบเรียง : MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ขอบคุณภาพ : เพจเฟซบุ๊ก ร้านสเต็กคุณแม่การ์ตูน Mother's Grill Steak House "ย่างด้วยรัก หมักด้วยใจ"


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น