xs
xsm
sm
md
lg

ถอดชุดสจ๊วต สวมผ้ากันเปื้อน!! ปรับทัศนคติ-อยู่รอดท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากหัวหน้าพนักงานต้อนรับสายการบิน สู่การเป็นพ่อค้าข้าวแกง หลังชีวิตประสบวิกฤตหนัก เพราะพิษโควิด-19 หยุดบินนาน 2 เดือน สายการบินปรับลดค่าจ้าง “รายได้จากที่มี 100 เหลือ 20-30” เจ้าตัวเปิดใจ หันมาเป็นพ่อค้าสร้างรายได้เสริม เลี้ยงครอบครัว ปรับทัศนคติ-ไม่จมกับอดีต สู้!!



สลัดชุดหล่อ ห่อข้าวแกงฝ่าโควิด-19!!



“เมื่อไหร่ที่แต่งยูนิฟอร์ม แล้วออกไปทำงาน เงินก็เข้าบัญชีทันที แต่ถามว่ารวยไหม ไม่รวย คือ ไม่ขาด ไม่อด แค่นั้นเอง
คือ ถ้าคนรู้สึกว่าพอใจกับอาชีพตรงนี้ แล้วได้ไปเปิดหูเปิดตา ได้กำไรชีวิตในส่วนนี้ ก็อยู่ได้สบายๆ ผมเป็นคนแบบนั้น และไม่ได้วางแผนอะไรมากมาย ที่ว่าเดี๋ยวเกษียณปุ๊บจะมีเงินก้อนจากบริษัท หลังเกษียณตรงนั้นก็น่าจะเพียงพอ เราก็เลยเฉยๆ แต่พอมีโควิด-19 ทำให้เราต้องหยุดบิน 2 เดือนเต็ม”

โอ๊ต-จีรวุฒิ จันทร์ฉายแสง หัวหน้าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ของสายการบินไทย บอกเล่าถึง
การเปลี่ยนแปลงของชีวิต พลิกผันจากสจ๊วตหนุ่ม หลังเจอพิษโควิด-19 ส่งให้ต้องหยุดบิน ซึ่งล่าสุดหันมาเป็นพ่อค้าขายข้าวแกง หารายได้เลี้ยงครอบครัว


“แทบจะไม่เคยคิด (ต้องมีอาชีพเสริม) แต่ก่อนช่วงบินใหม่ๆ ก็ยังมีอาชีพเสริมเหมือนกัน แต่เป็นรับ Event แต่สักพักเราก็รู้สึกเหนื่อย เราก็อยากบินอย่างเดียวแล้ว เราจะได้ใช้ชีวิตให้มันสบายๆ

คือ เป็นคนที่ไม่ได้ต้องการอะไรมาก อยู่ง่ายๆ สบายๆ ไม่ได้ต้องการจะร่ำรวย เพียงแต่ว่ามีกิน มีใช้ เงินไม่เคยมือ ซึ่งอาชีพลูกเรือเงินไม่ขาดมือนะ

เงินเดือนก็ไม่ได้เงินเดือนเต็มด้วย ก็อย่างที่ทราบๆ อยู่ เพราะว่าสถานการณ์บริษัท คือ ทุกคนโดนหมด ไม่เฉพาะที่การบินไทย มันเป็นทั้งโลกจริงๆ มันกระทบคนทั้งโลก


เรารู้สึกว่าเราไม่ใช่คนเดียว หรือว่าไม่ใช่บริษัทเดียวที่โดนอย่างนี้ คือ ทุกที่โดนเหมือนกันหมด ฉะนั้น เราจะไปรู้สึกเดือดร้อน ดิ้นรนไปทำไม เราก็จะทุกข์ใจเปล่าๆ และมันก็ทำให้เราคิดอะไรไม่ออก พอเรารู้สึกว่าต้องหยุดบินแล้ว ก็รายได้จากที่มี 100 จะได้ 100 เหลือ 20 เหลือ 30 เราก็รู้สึกว่าจะทำยังไงดี ก็มานั่งนึก โชคดีที่ก่อนหน้านี้เคยได้เปิดแผงขายข้าวแกงอยู่ในตลาดอยู่แล้ว ในซอยบ้าน


แต่เปิดมาไม่ถึงปี คือ คุณแม่เกษียณงานมา 10 ปี แต่หลังเกษียณมาคุณแม่ก็รู้สึกว่าไม่อยากอยู่เฉยๆ อยากทำอะไรให้มันมีรายได้เข้าเรื่อยๆ รายได้เสริม ผมก็คิดว่าโอเค คือ ก่อนหน้านี้ไกลไป ด้วยญาติๆ ขายข้าวแกง แต่จะไกลจากบ้านหน่อย พอได้ที่ใกล้บ้าน ผมก็เลยบอกให้ย้ายมาขายใกล้บ้านดีกว่า

แม่จะได้สะดวกขึ้น แต่ก็บอกแม่ว่าอยากหยุดเมื่อไหร่ก็บอก แม่ก็บอกว่าไม่เป็นไร ทำได้ แต่พอเปิดร้านให้แม่ ผมก็ไม่ได้ไปยุ่งอะไรเลยนะ ลงทุนให้อย่างเดียว เราก็ไปใช้ชีวิตของเราปกติ”

ระยะเวลากว่า 18 ปี ที่โลดแล่นในเส้นทางการเป็นสจ๊วตนั้น เป็นอาชีพในฝันที่หลายคนคิดว่ามั่นคงแน่นอน แต่ใครจะคิดล่ะว่า ท้ายที่สุดแล้ว อาชีพนี้ก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่โดนพิษโควิด-19 เหมือนอีกหลายๆ อาชีพ

“เมื่อมีโควิด-19 เราก็กลับมาดูว่าร้านนี้ จากเป็นรายได้เสริมเข้าครอบครัว ไม่ได้คิดอะไรมาก อย่างน้อยก็มีข้าวกินฟรี แต่ตอนนี้กลับมาต้องมาคิดแล้วล่ะ…แล้วถ้าเกิดจับพลัดจับผลูไม่ได้ไปบินต่อ หรือว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลง ที่โรคมันระบาดมากกว่านี้ทำให้เราต้องหยุดยาวกว่านี้ หลังจากนี้จะทำยังไง

[แม่ขวัญ เจ้าของตำรับ ร้านแกงแม่ขวัญ]
ภาระหนี้บ้านยังมีอยู่ เราจะส่งแบงก์ไหวไหม ขอผ่อนเขาไป 3 เดือน แต่หลังจากนี้ล่ะ ถ้ามันเกิด extend (ต่ออายุ) ยาวไปนานกว่า 3 เดือนทำไง

เรากลับมาดูแล้ว เราจะไปช่องทางไหนดี ใกล้ที่สุด คือ ข้าวแกงนี่แหละ อีกอย่าง คือ ไม่ห่างจากอาชีพเราเท่าไหร่ เพราะว่าเป็นงานบริการเหมือนกัน อยู่บนเครื่องเราเสิร์ฟอาหาร เพียงแต่ว่าเราไม่ได้คลุกเอง ทำเอง แต่พอมาที่ร้านก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ ผมก็ไปเสิร์ฟลูกค้าได้สบายๆ ประสบการณ์บนเครื่อง เราเอามาใช้ ปรับใช้ที่ร้านได้ ก็ไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก

“ร้านแกง แม่ขวัญ” นั้น เจ้าตัวเชื่อเสมอว่าทุกอาชีพล้วนให้ประสบการณ์ดีๆ ที่ไม่คาดคิด แม้รายได้จะแตกต่าง แต่การปรับตัวให้เท่าทัน ถือเป็นเรื่องสำคัญของการฝ่าฟันวิกฤตในครั้งนี้

“คือ ปกติที่ร้านจะตักราดข้าว แล้วลูกค้าก็ไปนั่งทานได้ แต่พอโควิด-19 มาใหม่ๆ มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามทานอาหารที่ร้าน ยอดจากทานหน้าร้านมันหายวูบไปเลย ผมหยุดบินพอดี คิดว่าทำไงดี หยุดบินรายได้ก็หายแล้ว ที่หน้าร้านมาหายอีก แย่แล้ว ก็เลยต้องลงมาช่วยเต็มตัว

คิดการตลาดให้ เอาแบบนี้ไหม ไปรับออเดอร์ในหมู่บ้านดีกว่า เพราะช่วงนั้น work from home พอดี ได้ช่องทาง เราก็เข้าไลน์หมู่บ้าน อาหารวันนี้มีอย่างนี้นะครับ ใครอยู่หมู่บ้านไม่สะดวกออกไปไหน สามารถสั่งได้เลย ก็จะมี order มา ทำให้ยอดขึ้นมาเท่าเดิม แต่หลังจากนั้น ก็พยายามเอาตัวเข้าไปในกรุ๊ปนั้นกรุ๊ปนี้ ช่วยกันแชร์ แล้วมีลูกค้าตามเรื่อยๆ ตอนนี้ยอดก็เพิ่มขึ้น”
ถามว่ามีหมดกำลังใจ หรืออายไหม เมื่อต้องหยุดบิน และผันตัวมาขายข้าวแกงในตลาด สำหรับเขาแล้ว ไม่เคยมีความคิดนั้น มองเป็นเรื่องที่รับมือให้ได้


“จะอายเรื่องอะไร เราไม่ได้ไปปล้นไปจี้ ไปฆ่าใคร และอีกอย่างหนึ่งของที่เราขายเป็นของดี คือ นำเสนอแล้วลูกค้าชอบ ลูกค้าชม เอาตรงไหนมาอาย ได้เงินอีกต่างหาก มีข้าวกินฟรีทุกวัน ไม่ต้องไปอาย


ผมไม่ค่อยวูบนะ คือ ผมคิดว่าถ้าค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำ มันจะดีขึ้นเอง เราค่อยๆ อย่าไปจมกับมัน ไม่เช่นนั้นมันจะยิ่งดิ่งลง เป็นคนมองโลกสวย

อย่างน้อยมันทำให้เรานอนหลับ หลับสบาย กินอิ่ม อยู่เป็นปกติสุข บางคนเครียดมาก นอนไม่หลับ คิดอะไรไม่ออก มันก็ยิ่งไปกันใหญ่ อย่างหนึ่งผมเป็นคนไม่ยึดติด อะไรเกิดขึ้นเราก็ต้องพร้อมรับความจริง เตรียมรับกับมันให้ได้ และต้องปรับตัวให้ได้ในทุกสถานการณ์”


มองทันโลก เพราะประสบการณ์บิน!!


ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ และอัตราการเจริญเติบโตของสายการบิน เขามองภาพย้อน ถึงจุดเริ่มต้นอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินให้ฟังว่า เป็นอาชีพที่ไม่ได้สุขสบาย เหมือนที่ตาเห็น ตลอดการบินมีเรื่องให้เรียนรู้เสมอ


“ก่อนที่จะได้ที่การบินไทย มีเพื่อนมาสะกิดต่อม เพื่อนลองมาชวนไปสมัคร คือ ก่อนหน้านี้ ก็เคยขึ้นเครื่องบิน แล้วเราเห็นว่าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เขาทำอย่างนี้ เขาดูดีจังเลย แล้วเราก็ไม่เคยคิดจะมาทำอาชีพนี้ แต่ก็แอบชื่นชมพวกพี่ๆ ที่เขาบินอยู่




แต่ไม่เคยรู้หรอกว่าเนื้องานของเขาจริงๆ มันเป็นอะไร เห็นแต่ว่าเขามาเสิร์ฟเราตอนอยู่บนเครื่อง เราก็ไม่ได้คิดอะไร
พอเพื่อนชวนเราก็ตามเพื่อนไป ก็ไปสมัครที่แรกเป็นสายการบินต่างชาติ ก็เข้าถึงรอบสุดท้าย แต่ไม่ได้ ก็ไม่ได้คิดอะไรอีก เพราะตอนนั้นภาษาอังกฤษไม่ค่อยแข็งแรง เพราะเราไม่ได้มุ่งมั่นที่จะมาทางนี้ เราก็ไม่ได้เตรียมตัวอะไรมากมาย


เมื่อมันว่างงานนานเกินไป และ อยากทำงานบริษัทที่มั่นคง เราก็คิดว่าบริษัทนี้ (การบินไทย) ตอนนั้นเป็นสายการบินอันดับต้นๆ ของโลก เรารู้สึกว่างานนี้มั่นคง และบริษัทนี้ก็มั่นคง แล้วเราก็ (คิดว่า) ลองดูก็ได้ ก็โชคดีได้ที่การบินไทยเลย

สมัย 10 กว่าปีที่แล้ว เป็นที่ใฝ่ฝันของวัยรุ่น และก็หลายๆ คน แต่ตอนนั้นเราก็จับพลัดจับผลูตามเขาไป ตกกระไดพลอยโจร แต่เพื่อนไม่ได้นะ”

มันมีความละเอียดของงานที่ต้องใส่ใจมากกว่าที่เราคิดไว้ (เน้นว่ามากจริงๆ) คือ สมัยเราขึ้นเครื่องตอนเด็กๆ เราก็เห็นเขามาเสิร์ฟนู้นเสิร์ฟนี่ มาให้บริการเรา เราก็คิดว่างานเขาแค่ตรงนั้น มาให้บริการผู้โดยสาร ให้มีความสุข สะดวกสบาย

แต่จริงๆ แล้ว มันต้องดูแลหลายอย่างมาก ที่สำคัญ คือ เรื่องความปลอดภัย ที่จะต้องเรียนรู้เยอะๆ มันมี detail มากมายเลย ตำราเล่มหนาปึก เป็นภาษาอังกฤษทั้งนั้นเลย จำกันแทบไม่หวาดไม่ไหว แถมยังจำเรื่องการบริการงาน service อีก ทุกสิ่งทุกอย่าง ภาษาก็ต้องเป๊ะ ก็ต้องเรียนรู้ คือ มีการฝึกอบรมตลอดเวลาในระหว่างปี

คือ ผมบินมา 18 ปี ตลอดปีมีการฝึกอบรม เดี๋ยวก็ไปอบรมวิชานั้น วิชานี้ คือ มันต้องมีการเรียนรู้เยอะตลอดเวลา ไม่ใช่แค่เรียนรู้บริการเสิร์ฟเป็นอย่างเดียว แล้วก็จบ มันไม่ใช่ มันมีเนื้องานที่ละเอียดกว่านั้นเยอะ”

ขณะเดียวกัน แรกเริ่มเขาตั้งใจจะทำแค่เพียง 2 ปี แล้วลาออก เพราะไม่ใช่อาชีพที่ใฝ่ฝันด้วย แต่เมื่อได้ซึมซับ ปรับตัว ทำให้เขาสนุก และอยู่กับอาชีพ “พนักงานต้อนรับ” นี้มานานถึง 18 ปี


“มันซึมเข้าไปในสายเลือดแล้ว เราก็มีความรู้สึกว่าเราขาดมันไม่ได้แล้ว เรารักอาชีพนี้ จากแต่ก่อนไม่เคยทำงานบริการจริงจัง เรารู้สึกว่าเราจะทำได้ไหม… มันจะใช่ไหม แต่พอทำไปเรื่อยๆ ปีแรกก็รู้สึก suffer นะ เพราะเป็นช่วงปรับตัว เรายังไม่เคยเข้าระบบ



เมื่อผ่านตรงนั้นไปได้แล้ว เราก็เริ่มรู้สึกสนุกกับมัน แล้วก็อย่างที่บอก คือ เราอยู่ตรงไหน ถ้าเรารู้จักหัดมองในสิ่งดีๆ ของมัน เราก็จะเห็นสิ่งดีๆ เราก็จะเริ่มมีความสุขกับมัน ตอนแรกจะอยู่แค่ 2 ปี แล้วออก

คือ ประสบการณ์มันสั่งสมมาเรื่อยๆ แต่สิ่งดีที่ผมมองเห็น คือ การเป็นลูกเรือ มันทำให้เราเห็นโลกกว้างขึ้น มันได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง มันได้เห็นคนจากทุกมุมโลกเลยนะ

รู้จักวัฒนธรรม รู้จักลักษณะของคน ไปไหนต่อไหนเราก็เห็นโลกเขาเป็นอย่างนี้ ที่นั่นเป็นอย่างนี้ ที่นี่เป็นอย่างนี้ คือ มันทำให้โลกทัศน์เรากว้าง มันก็ทำให้ทันโลก” ไม่เพียงเท่านี้ จากการที่ไปสู่โลกกว้าง แต่กลับกลายเป็นว่าต้องกลับมาอยู่แต่ในตลาด ขายข้าวแกง เป็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน ถามถึงสิ่งที่ได้รับนั้น เขามองถึงการไม่ประมาทของชีวิต ปรับทัศนคติของตนเอง

พ่อกับแม่ก็บอกว่าเมื่อไหร่จะกลับไปบิน (หัวเราะ) ที่บ้านไม่ได้มาถกเรื่องนี้มากมาย คือ ที่บ้านก็พร้อมรับสถานการณ์ใหม่ๆ ที่มันจะเกิดขึ้น แล้วเราก็มีการวางแผนว่า หลังจากนี้ เราอาจจะต้องมีการขยับขยายร้าน เพื่อที่จะเพิ่มยอดขาย เพราะว่าถ้าเกิดอะไรที่ไม่เป็นใจเกิดขึ้น เราจะได้รับมือกับมันได้


คือ ทุกสิ่งทุกอย่าง เราก็อย่าไปประมาทกับชีวิตแล้วกัน เราอย่าไปคิดว่าเราจะได้กลับไปบินแน่ๆ 100% ซึ่ง 100% ไหม เราก็ยังคาดไม่ได้ เพราะว่าโรคระบาดมันอาจจะกลับมาระบาดหนักๆ รอบ 2 รอบ 3 อีกรึเปล่า ก็ไม่รู้ หรือไม่ก็ถ้ากลับไปคราวนี้ แล้วตารางบินเราจะแน่นเหมือนเดิมไหม


หรือว่าไฟลต์บินเราจะลดลงไหม เพราะว่าอย่างที่บอก ถึงแม้จะได้กลับไปบิน หลายๆ ประเทศที่เขายังระบาดอยู่เยอะๆ เราก็ยังไปบินลงไม่ได้ เพราะฉะนั้นเที่ยวบินเราจะต้องหายไปส่วนหนึ่งอยู่แล้ว

และบางเส้นทางที่มันไม่ได้ทำกำไร เราจะไม่กลับไปบินอีก ฉะนั้น ตารางบินเราต้องน่าจะน้อยลงรึเปล่า เราก็ต้องคิดเผื่อไว้ ถ้าเรากลับไปบินเต็มตัว รายได้เราอาจจะไม่ได้เท่าเก่า เราก็ต้องมีก๊อก 2 ของเรา คือ เราต้องมาพัฒนาร้านนี้ จากเป็นรายได้เสริม อาจจะเป็นรายได้หลักอีกทางหนึ่งก็ได้”



มองโลกในแง่ดี ปรับใช้ฝ่าวิกฤตโควิด-19



“ถ้าเทียบความเหนื่อย ที่ร้านมันต้องเหนื่อยกว่าอยู่แล้ว เพราะทำไม่หยุด มันขายทุกวันใช่ไหม เมื่อก่อนไปบิน บินไฟลต์หนึ่งแล้วกลับมาหยุด บินสลับหยุด เราก็มีช่วงว่าง แต่ตอนนี้เราต้องมาดูแลร้าน เราต้องมาส่งอาหารให้ลูกค้าในหมู่บ้านทุกวัน

แต่ถามว่าเหนื่อยไหม คุ้มไหม ผมว่ามันก็โอเคในรูปแบบหนึ่ง เราเป็นลูกเรือ สิ่งที่เสียสุดๆ ของการเป็นลูกเรือ คือ สุขภาพ มันกินนอนไม่ตรงเวลา เดี๋ยวบินเช้า เดี๋ยวบินดึก ปรับเวลายากมาก คือ ข้างในมันจะรวนไปหมดระบบ ร่างกายภายในนะครับ”

ย้อนไปชีวิตก่อนหน้าที่จะมาเป็นพ่อค้าขายข้าวแกง เขาใช้ชีวิตอยู่บนเครื่องเป็นส่วนใหญ่มาตลอด สิ่งที่เสียไป คือ สุขภาพ เพราะการกินนอนไม่ตรงเวลา

“คือ ถ้าเป็นหนุ่มเป็นสาวอาจจะไม่รู้สึกเท่าไหร่ แต่พออายุเริ่มเยอะๆ อย่างผมแล้ว คือ เลยหลัก 4 จะ 5 แยกปากเกร็ดแล้ว มันก็เริ่มรู้สึกแล้วว่าข้างในมันรวน แต่พอเราได้หยุดพักยาวๆ เรากินนอนเป็นเวลา ร่างกายมันเหมือนได้กลับมารีเซตระบบใหม่

เราก็รู้สึกว่าโอเค มีเรี่ยวมีแรง แต่ถามว่าเหนื่อยไหม ก็เหนื่อย เพราะว่าเราเพิ่งทำตรงนี้ได้ 2 เดือน เรายังไม่รู้สึกชินกับมัน ถ้าเทียบกับ 18 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ว่าเราจะปรับตัวให้ดีขึ้นมากขึ้นยังไง มันอยู่ที่ระบบการวางแผน การจัดการของเราเอง แต่ถามว่าสนุกไหม ก็ยังสนุกกับมันอยู่ เพราะว่าเวลาเราเห็นเงินเข้าเรื่อยๆ


เมื่อก่อนไม่เคยทำบัญชี เดี๋ยวนี้ต้องมานั่งทำบัญชี ขายได้เท่าไหร่ เข้าเท่าไหร่ มันเห็นยอดเงินขยับขึ้นๆ เรารู้สึกสนุก ใจมันฟู เราก็เลยสนุกกับมัน แล้วมีความสุขกับมัน”

ไม่ว่าสถานการณ์จะวิกฤตแค่ไหน สจ๊วตคนนี้ก็เชื่อว่า “การมองโลกในแง่บวก” เป็นอีกทางรอดอย่างแท้จริง และยังเชื่ออีกว่าการปรับตัว มองเป็นเพียงแค่เราเปลี่ยนตำแหน่ง หรือสถานะของเราให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง

“เรามีความรู้สึกว่าอยากจะพัฒนาให้มันไปไกลได้มากกว่านี้ ส่วนหนึ่งถ้าเราทำได้ มันก็เป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งของเรา จากร้านข้าวแกงเล็กๆ ทำให้คนรู้จัก แล้วมันขยับขยายกิจการได้มากขึ้น จนวันหนึ่งมันเป็นรายได้หลักของเราจริงๆ ขึ้นมาเต็มตัว เรารู้สึกว่ามันด้วยมือของเรา

จะภูมิใจมาก มันก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งในชีวิต จากที่เคยเป็นลูกจ้าง ตอนนี้ก็มาเป็นเจ้าของกิจการเอง เราจะได้เห็นมุมมองที่มันเปลี่ยนไป เราจะได้เข้าใจอะไรให้มันรอบคอบรอบด้านมากขึ้น แต่มันก็อยู่ที่ว่าเราแยกบทบาท ณ ตอนนั้นได้ไหม
ถ้าเกิดผมกลับไปบิน บทบาทนั้นเราก็เป็นบทบาทของลูกจ้าง เราก็ต้องทำงาน แต่ว่าในการเป็นเจ้าของกิจการที่ร้าน เราก็จะมองภาพออกว่า ทำไมบริษัทถึงอยากให้เราทำอย่างนี้ เราก็จะเข้าใจนายจ้าง

แต่กลับมาที่ร้าน เราก็จะมองว่าทำไมลูกจ้างเป็นอย่างนี้ เพราะว่าเราก็เคยเป็นลูกจ้างจากที่บริษัท คือ มันมองได้รอบด้านเลย เข้าใจความรู้สึกทุกคน ผมว่ามันก็เป็นสิ่งที่ดี”

สำหรับ “ร้านแกงแม่ขวัญ” แม้เขาเพิ่งได้เข้ามาช่วยแม่ และเป็นอีกช่องในการฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ แต่ลูกค้าก็เข้าร้านอย่างหนาแน่น เจ้าตัวบอกว่าไม่ยึดติดความสำเร็จในอดีตมาบั่นทอนตัวเอง เพราะอาชีพที่ทำอยู่ถือว่ามีความสุขดี

สุดท้าย ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงผู้ที่ว่างงาน หรือประสบปัญหาในชีวิตขณะนี้ด้วยว่า ให้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการเรียนรู้ ทบทวน และอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้

“คือ หลักจริงๆ ผมคิดว่าคนเราจะสามารถฟันฝ่าในทุกสถานการณ์ ทุกเหตุการณ์ หรืออยู่รอดกับมันได้ ต้องเป็นคนที่รู้จักปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์

อย่าไปยึดติด อะไรเกิดขึ้น ที่มันเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปในทางที่ดี หรือเปลี่ยนไปในทางที่ไม่คาดคิด ที่มันแย่ลง หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราไปยึดติดเราจะรู้สึกว่าเราไม่อยากเปลี่ยนอะไรเลย แล้วมันเป็นความทุกข์

แต่ถ้าเราไม่ยึดติด เรารู้สึกว่าเราจะพยายามปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ นั่นแหละมันเป็นสิ่งที่ทำให้เราอยู่รอด คนที่จะอยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์ คือ คนที่รู้จักการปรับตัว

อย่าไปท้อนะครับ และอย่ารู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง คือ ปัญหา เราต้องมองในสิ่งดีๆ ที่มันเกิดขึ้น ณ สถานการณ์นั้นๆ ณ เวลานั้น

แล้วต้องอยู่กับปัจจุบัน อย่าไปจมอยู่กับอดีต หรืออย่าไปกังวลกับอนาคตให้มากนัก เพียงแต่ว่าเราต้องรู้จักเตรียมพร้อม และมองบวก ผมเป็นคนเชื่อว่าพลังบวกจะช่วยเยียวยาทุกสิ่งทุกอย่าง

คือ มันอยู่ที่สายตาเรา ถ้าเรามองสิ่งดี เราก็จะเห็นสิ่งดี ไม่ได้หลอกตัวเอง เพียงแต่ว่ามันอยู่ที่เราเลือกมอง ถ้าเรามองมันแย่ มันก็จะแย่ ฉะนั้น คือ พยายามสร้างพลังบวกให้กับตัวเองไว้เยอะๆ แล้วก็เราจะมีกำลังใจ และสามารถฟันฝ่าอุปสรรคไปในทุกปัญหาได้”




สัมภาษณ์ รายการ "พระอาทิตย์ Live"
เรียบเรียง : ผู้จัดการ Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์





** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **





** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น