ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัย พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินดูจะเป็นหนึ่งในอาชีพที่คนรุ่นใหม่ต่างใฝ่ฝัน จะด้วยภาพลักษณ์ที่สวยหรู รายได้ที่งดงามมั่นคง ซึ่งมาพร้อมกับอิสระในการเดินทางท่องโลกกว้าง แต่ในวันที่วิกฤตการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ Covid-19 ก่อตัวและแผ่ขยายสู่ทั่วทุกมุมโลกจนส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ กลับปฏิเสธไม่ได้ว่า การเป็นแอร์โฮสเตส หรือสจ๊วต ก็ไม่ได้ราบรื่นมั่นคงเสมอไป อันเนื่องมาจากมาตรการในระดับสากลที่รัฐบาลทั่วโลกพร้อมใจตั้งรับด้วยการปิดประเทศ ปิดน่านฟ้า ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 นำไปสู่ข้อจำกัดในการเดินทางของผู้โดยสาร
เพราะฉะนั้น ธุรกิจสายการบินย่อมได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง โดยเครื่องบินพาณิชย์ 2 ใน 3 ของทั่วโลก ต้องยุติการบินอย่างไม่มีกำหนด สร้างความเสียหายครอบคลุมต่อธุรกิจการบินถึงร้อยละ 98 จนสายการบินที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจฝ่าวิกฤตดังกล่าวได้ก็จำเป็นต้องประกาศตัวล้มละลาย โดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้ประเมินสถานการณ์ว่าหากมาตรการการจำกัดการเดินทางทั่วโลกยังดำเนินต่อไปอีก 3 เดือนข้างหน้า ยอดจำหน่ายตั๋วเดินทางอาจลดลงถึงร้อยละ 55 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ผลกระทบที่ตามมาย่อมส่งต่อถึงพนักงานของสายการบินจำนวนถึง 2.7 ล้านคนทั่วโลก
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) คือหนึ่งในบริษัทสายการบินที่ประสบปัญหาการขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาตลอดหลายปี จนกระทั่งต้องหยุดการบินชั่วคราวจากวิกฤต Covid-19 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ซึ่งสร้างผลกระทบต่อพนักงานทุกคนรวมถึงพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่ต้องเผชิญกับความรู้สึกไม่มั่นคงทางอาชีพและความวิตกกังวลที่จะต้องกลับไปให้บริการอีกครั้ง ภายใต้มาตรการการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ซึ่งจะต้องเข้มงวดมากขึ้นตามคำสั่งของสำงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย นับตั้งแต่การบินไทยประกาศหยุดทำการบินชั่วคราวก็ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินโดยตรง เนื่องจากขาดรายได้ และไม่ได้รับค่าเบี้ยเลี้ยง (per diem) ซึ่งเป็นรายได้หลักของสายอาชีพ ทั้งยังถูกลดทอนเงินเดือนถึงร้อยละ 30 เพื่อประคองสถานการณ์ทางการเงินของบริษัท
จากผลสำรวจแนวทางการรับมือกับการยอมรับต่อเงื่อนไขการทำงานในรูปแบบใหม่ พร้อมการดูแลสุขภาพจิตของพนักงานกลุ่มตัวอย่างจากพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินทั้งหมด ซึ่งปฏิบัติงานในสายการบินไทยมาเป็นระยะเวลา 15-20 ปี จำนวน 10 คน โดยวิธีการสัมภาษณ์กลุ่ม พบว่า สภาพจิตใจโดยรวมของพนักงานเหล่านี้ต่างได้รับผลกระทบ ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจและแสดงออกมาเป็นพฤติกรรม โดยจำแนกออกมาได้ 7 ลักษณะ ได้แก่ 1.สับสนจากการไม่ยอมรับความจริง 2.เครียด 3.กังวล 4.หดหู่ซึมเศร้า 5.โหยหา 6.โกรธ และ 7.สงบจากการยอมรับความจริง
แน่นอนว่าการยอมรับความจริงของพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่มาไม่ต่ำกว่า 15 ปี เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ด้วยไร้ทิศทางและกังวลต่อสภาพทางธุรกิจของบริษัทที่ไม่แน่นอน ความกังวลใจเกิดขึ้นจากการตั้งคำถามแต่กลับไม่ได้รับคำตอบ นำไปสู่ความเครียดสะสม โดยเฉพาะพนักงานที่มีภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินรายเดือน ในจำนวนนี้มีพนักงานที่มีความฝังใจกับอดีตด้านการงานที่เคยสดใส อิสระในการเดินทางและรายได้ที่จัดอยู่ในระดับสูง ขณะที่ร้อยละ 40 รู้สึกโกรธและเคียดแค้นต่อประเด็นที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อสภาพจิตใจแต่อย่างใด ในทางกลับกัน การยอมรับต่อสภาพความเป็นจริงคือหนทางที่จะทำให้พวกเขาระงับความรู้สึกเหล่านั้น และสามารถรับมือกับเงื่อนไขการทำงานครั้งใหม่ภายใต้อุปสรรคและปัญหาที่ต้องแก้ไขกันต่อไป
โดยแนวทางที่กลุ่มตัวอย่างนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันในขณะที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่บนเครื่องบินตามวิถีชีวิตปกติ สามารถสรุปได้ 4 แนวทาง ได้แก่ 1.กิจกรรมบำบัด เช่น การดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ พูดคุยทางโทรศัพท์เพื่อระบายความอัดอั้น หรือแม้กระทั่งการนอนหลับ 2.กิจกรรมทำความสะอาดและการจัดบ้าน ซึ่งร้อยละ 90 ต่างเห็นตรงกันว่าเป็นกิจกรรมที่สามารถรวบรวมสติให้หลุดพ้นจากความกังวลใจและกลับมามีสมาธิกับกิจกรรมที่อยู่ตรงหน้า ช่วยให้เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว 3.การพัฒนากิจวัตรประจำวัน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ไม่เคยทำก่อนวิกฤตการระบาดของ Covid-19 เช่น การนอนเร็วตื่นเช้า การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ การตั้งเป้าหมายการออกกำลังกาย การวางแผนการเงิน รวมถึงการทำสมาธิเพื่อสร้างความสงบและความมีสติ
และ 4.การเสริมทักษะใหม่ให้กับตนเองผ่านแหล่งข้อมูลออนไลน์เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพเสริมในอนาคต เพื่อสร้างรายได้ควบคู่กับงานประจำที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง เช่นการหัดทำอาหารคาว-หวาน การหัดใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ การหัดใช้เทคโนโลยีจากแอพพลิเคชั่นบนแพลตฟอร์มสาธารณะเพื่อการทำธุรกิจออนไลน์ การหัดเขียน Blog สู่การเป็น Blogger มืออาชีพ การเรียนภาษาต่างประเทศ
กลุ่มตัวอย่างทุกคนต่างเห็นตรงกันว่าทุกกิจกรรมที่กล่าวมาจะสนับสนุนให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองอย่างมีเป้าหมาย และช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในการทำสิ่งที่แตกต่างจากเดิม กล่าวได้ว่า เป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยร้อยละ 80 ของกลุ่มตัวอย่างได้นำความรู้และทักษะใหม่ๆ ที่ผ่านการฝึกฝน มาปรับใช้กับชีวิตในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจและทำให้มีความมั่นใจว่า จะสามารถพัฒนาไปสู่การมีอาชีพเสริมและสร้างรายได้พิเศษในอนาคต เนื่องจากตารางการปฏิบัติงานของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินในอนาคตจะไม่สามารถกลับมาเป็นปกติอย่างแน่นอน ในช่วง 1-2 ปีหลังจากนี้ รายได้ที่อาจลดลงจนกว่าเศรษฐกิจโลกจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และกว่าที่ความเชื่อมั่นของผู้โดยสารจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม รวมถึงการผลิตยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพและการคิดค้นวัคซีนป้องกันจะประสบผลสำเร็จ
โดย - วงศา เหล่าวรวิทย์ วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน และ RDI มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์