xs
xsm
sm
md
lg

“ฝันร้ายกลายเป็นดี!!” มีสิทธิ์ประสบความสำเร็จมากกว่าคนไม่ฝัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เคยสะดุ้งตื่นเพราะฝันว่าไปสอบไม่ทัน หรือพลาดประชุมนัดสำคัญกันบ้างไหม สิ่งที่เราคิดว่าเป็น “ฝันร้าย” สุดๆ นั่นน่ะ แท้จริงแล้วมันเป็นวิธีที่ “สมองเตือนเรา” ให้ได้เตรียมความพร้อมในโลกความเป็นจริงนั่นเอง



ฝันร้ายวันละนิด ชีวิตปลอดภัย



เวลาที่คุณฝันว่าหลับจนไม่ได้ไปเรียน ทะเลาะกับคนรัก หรือแม้แต่โดนตัวประหลาดวิ่งไล่ ให้รู้ไว้ว่านั่นเป็นวิธีผ่อนคลายความเครียด ในสภาพแวดล้อมที่ไร้ความเสี่ยงที่สุด เหมือนเป็นการเตรียมตัวเราให้พร้อม ก่อนเผชิญหน้ากับความกลัวในชีวิตจริง
บรรพบุรุษของเราก็มีฝันร้ายในแบบของพวกเขาเอง ฝันร้ายของพวกเขาอาจจะเกี่ยวข้องกับเสือและสิงโต แทนที่จะเป็นเรื่องเรียนหรือนาฬิกาปลุก ที่พร้อมจะแผดเสียงทุกเช้า


นักประสาทวิทยาชาวฟินแลนด์สังเกตว่า ความฝันส่วนใหญ่มักจะส่งผลเสียทางอารมณ์มากกว่าผลดี จึงตั้งสมมติฐานขึ้นมา เพื่อพยายามทำความเข้าใจถึงวิวัฒนาการของฝันร้าย โดยตั้งชื่อมันว่า ทฤษฎีจำลองความเสี่ยง


ทฤษฎีนี้กล่าวไว้ว่า ความฝันนั้นมักจะพาเราไปพบเจอกับสถานการณ์ตึงเครียดและน่ากลัว เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับเราก่อนเจอสถานการณ์จริง ถือเป็นการซ้อมการรับมือ และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงระหว่างหลับ


เมื่อได้ฝึกซ้อมแล้ว เราก็น่าจะรับมือกับความเสี่ยงได้ดีขึ้นในชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งหนีสัตว์ป่าที่หิวโหย หรือการไปเข้าเรียนวิชาชีววิทยาตอน 9 โมงเช้าให้ทัน

ทฤษฎีจำลองความเสี่ยงยังอธิบายด้วยว่า ทำไมคนเมืองอย่างเราๆ ยังฝันว่าโดนไล่ล่าในป่าได้อีก ก็เพราะมนุษย์เราเรียนรู้ถึงอันตรายของสัตว์ร้าย (รวมถึงคนร้ายๆ) อากาศแปรปรวน และการถูกตัดขาดทางสังคม

พูดง่ายๆ ก็คือทุกอย่างที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการมีชีวิตรอด ระบบความกลัวของเราถูกวิวัฒนาการมาให้ไวต่อความเสี่ยงดังกล่าว และมันฝังรากลึกจนมาโผล่ในความฝันของเรานั่นเอง



“ความรุนแรงของความฝัน” สะท้อนการเอาตัวรอด



ไม่ใช่แค่ยามหลับ แต่ฝันร้ายมีผลแม้ในยามที่เราตื่น แต่บรรพบุรุษของเราคงไม่เคยฝันว่าสอบตกแน่ๆ ในปี 2005 นักประสาทวิทยาจึงทำการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อดูว่าเหตุการณ์ที่เกิดในชีวิตจริงนั้น ส่งผลกับความถี่และความรุนแรงของเรื่องราวในฝันหรือเปล่า


พวกเขาวิเคราะห์ความฝันของเด็กๆ และพบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงนั้น ส่งผลไปถึงความฝันด้วย โดยการทดลองในครั้งนี้คือ การเปรียบเทียบ “ความฝันของเด็กฟินแลนด์” ที่ถูกเลี้ยงดูมาในสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างปลอดภัย กับ “ความฝันของเด็กอิรัก” ที่ต้องพบเจอกับความรุนแรงรายวัน



สิ่งที่เด็กกลุ่มหลังประสบในชีวิตจริง ไม่เพียงแต่ทำให้เรื่องราวในฝันรุนแรงขึ้น แต่เด็กๆ ยังจำเรื่องราวในฝันแต่ละคืนได้มากกว่าด้วย เรื่องนี้สรุปได้ว่าบาดแผลในชีวิตจริง เป็นการเพิ่มแรงกระตุ้นระบบจำลองความเสี่ยงในตัวเด็กพวกนี้ เพื่อเป็นสร้างระบบป้องกันตัวเอง จากสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงมากกว่าปกติที่ต้องเผชิญอยู่ทุกวัน


นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ศึกษากับสัตว์ พบว่าความฝันช่วยพัฒนาสัญชาตญาณการเอาตัวรอดในหลายด้านๆ ผลการวิจัยปี 2004 พบว่า หนูทดลองที่ไม่ฝันระหว่างหลับนั้น มักจะผ่านการทดสอบต่างๆ เช่น การออกจากเขาวงกต หรือการเอาตัวรอดผ่านพื้นที่อันตราย ได้ยากกว่าหนูที่ฝัน



แต่นั่นมันเป็นเรื่องของหนู ถามว่ามันเกี่ยวอะไรกับคนล่ะ? งานวิจัยปี 2014 พบว่า นักเรียนแพทย์มักจะฝันถึงการสอบเข้าก่อนวันสอบจริง ซึ่งถือเป็นฝันร้ายของหลายคน สื่อถึงความกลัวการสอบตก การเข้าสอบสายหรือลืมคำตอบ


แต่ผลปรากฏว่านักศึกษาที่ฝันแบบนั้น มักจะทำข้อสอบออกมาได้ดีในวันสอบจริง อาจเพราะความฝันทำให้พวกเขาตั้งสติ เผชิญหน้ากับข้อสอบได้ดีกว่าเดิม ไม่ว่าข้อสอบนั้น จะออกมาเป็นอัตนัยหรือปรนัยก็ไม่หวั่น!!




แปลและเรียบเรียง: ทีมข่าว MGR Live
ข้อมูล: curiosity.com


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **


กำลังโหลดความคิดเห็น