xs
xsm
sm
md
lg

หมดตัว แต่ไม่หมดใจ!! จาก “วิศวกรเครื่องบิน” ดิ้นสู้โควิด-19 สู่ “ช่างแอร์จำเป็น” [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมดตัวไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ถ้าหมดใจอะไรก็ไม่เหลือ! เจาะใจหนุ่มวิศวกรเครื่องบิน เจอพิษโควิด-19 รายได้เดือนละเกือบแสนหายวับไปกับตา กระทบหนัก ทำสายการบินต้องหยุดบิน ผันตัวเองไปเป็นช่างแอร์ชั่วคราว เครียดท้อ แต่ไม่เคยโทษวิกฤต ฮึดสู้เพื่อครอบครัว เชื่อว่า จะผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้


รายได้หาย รายจ่ายเท่าเดิม

“มันเครียด แต่ว่าผมมานั่งเครียดไปมันไม่มีประโยชน์ ผมก็เลยคิดว่าผมจะทำอะไรดี ที่จะพอจุนเจือครอบครัวในช่วงนี้ ให้มันผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ก่อน”
โฟล์ค-ชุติพงษ์ สดวิไลย์ วิศวกรหนุ่มวัย 32 ปี ของสายการบินแห่งหนึ่ง เปิดใจผ่านปลายสายกับทีมข่าว MGR Live ถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำสายการบินต้องหยุดบิน เงินเดือนที่เคยได้เกือบแสน โดนลดลง จึงต้องผันตัวเองจากวิศวกร สู่การเป็นช่างแอร์ชั่วคราว
“เริ่มต้นก่อนก็คือว่าผมเป็นพนักงานประจำอยู่สายการบินแห่งหนึ่ง แล้วก็เกิดวิกฤตกับโควิด-19 เลยทำให้สายการบินที่ผมทำงานอยู่มันได้รับผลกระทบโดยตรง ก็คือว่าไม่มีผู้โดยสาร พอไม่มีผู้โดยสายก็ต้องลด flight บิน ลดเที่ยวบิน จนสุดท้ายยกเลิกไฟล์บินทั้งหมด
พอยกเลิก flight บินทั้งหมด มันก็มีผลกระทบกับหนักงาน เพราะว่าบริษัทไม่มีรายรับ แต่รายจ่ายยังเท่าเดิมถูกไหมครับ คราวนี้พอมันเกิดผลกระทบกับบริษัท บริษัทเขามาปรับลดเงินเดือนพนักงาน เพื่อคงสภาพคล่องของบริษัทให้อยู่รอด
แต่คราวนี้พนักงาน เช่น ผมรายรับน้อยลง แต่รายจ่ายผมเท่าเดิม ผมก็เลยต้องหาอะไรทำเสริมเพิ่มเติม เพื่อให้รายรับของผมจากเดิมที่ได้เดือนละเกือบแสนให้มันมีเข้ามาจุนเจือครอบครัวมากขึ้น เพราะว่ามันไม่พอใช้ พูดกันตรงๆ ก็คือว่าเงินเดือนผมหายเกือบ 100%”





หนุ่มวิศวกรรายนี้ จึงคิดว่าต้องหางานอะไรสักอย่างทำ เพื่อที่จะมีรายได้เข้ามาจุนเจือในครอบครัว คิดจะทำอยู่หลายอาชีพ แต่ไม่มีความถนัด สุดท้ายจึงเลือกเป็นช่างแอร์ เพราะช่วงนี้หน้าร้อน คนเปิดแอร์เยอะ
“ผมก็คิดอะไรหลายๆ อย่าง เช่น ทำกับข้าวขาย ขับแท็กซี่ ขับ GrabFood แต่คราวนี้ผมไม่ถนัดกับที่ต้องมาขี่มอเตอร์ไซค์ แล้วต้องมาแบบไปโน่นไปนี่ที หรือว่าคอยรับอะไรแบบนี้
มานั่งคิดกับเพื่อนว่าจะทำอะไรดี พอดีว่าบอล เพื่อนผมที่ทำด้วยกัน เขารับจ้างล้างแอร์อยู่ในหมู่บ้านเขาอยู่แล้ว แต่ก็คืออยู่ในวงเล็กๆ นะครับ อยู่ในหมู่บ้านเขาเอง งั้นป่ะเดี๋ยวไปทำด้วยกัน ผมก็เลยชวนเขาไปรับจ้างข้างนอกได้ไหม หมู่บ้านอื่น”



เมื่อเลือกได้แล้วว่าจะทำอะไร เพื่อหารายได้ต่อไป จากนั้นช่างล้างแอร์ชั่วคราว ที่ผันตัวจากวิศวกร จึงคิดราคาค่าจ้างเพียงตัวละ 350 บาท หากล้าง 3 ตัวขึ้นไป คิดตัวละ 300 บาทเท่านั้น อยากให้ลูกค้าเข้าถึง โดยที่ราคาจับต้องได้
อีกทั้งช่วงนี้เป็นช่วงที่โควิด-19 ระบาด แอร์เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค จึงมีบริการเสริม คือ พ่นแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อให้ด้วย โดยคิดค่าบริการเพิ่มตัวละ 100 บาท
“ครั้งแรก ผมโพสต์ไปในไลน์หมู่บ้านตัวเองก่อน แล้วก็ให้เพื่อนๆ พี่ๆ ที่รู้จักกันในกรุ๊ปไลน์เดียวกัน เขาก็ช่วยโพสต์ไปในหมู่บ้านอื่นๆ ที่อยู่ละแวกบ้านเรา ก็คือ ลำลูกกา ครั้งแรกที่โพสต์ไป ผลตอบรับกลับมา วันแรกวันเดียวผมล้างไป 6 เครื่อง มันทำรายได้ได้นี่หว่า จากที่ว่ารับล้างแค่ในหมู่บ้าน แถวๆ บ้าน มันก็กระจายเป็นวงกว้างให้คนหลายๆ หมื่นคนรับรู้เรื่องผม”



รายได้ที่ได้รับก็ตกวันละ 2,800 บาท ล้างได้มากสุดวันละ 7 ตัว เพราะถ้ามากกว่านี้ก็จะไม่ไหว จะเหนื่อยเกินไป
“ตีไปว่าบ้านหลังหนึ่งล้างกับผม 3 เครื่อง เครื่องละ 400 บาท ผมก็จะได้ประมาณ 1,200 บาท วันหนึ่งถ้าผมทำได้ประมาณ 7 เครื่อง กับเพื่อน 2 คน รายได้ก็จะอยู่ที่ 2,800 บาทต่อวัน เพราะว่าถ้าเกินกว่า 7 เครื่องไม่ไหว เหนื่อยเกิน”
เรียกได้ว่าผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ขยายวงกว้าง ไม่เลือกอาชีพ ไม่เลือกคน ไม่เลือกสถานที่ โดนกระทบหนักไปทุกหย่อมหญ้า
“ไม่มีใครคิดว่าเงินเดือนจะหายขนาดนี้ ผมก็ไม่คิดเหมือนกันว่ามันจะเลวร้ายขนาดนี้ ถึงขั้นที่เราโดนลดเงินเดือนไปเยอะเลย เอาจริงๆ ถ้าเราเงินเดือนหาย 100% มันเครียดทุกคนเนอะ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เครียด รายจ่ายผมเดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 50,000-60,000 บาท พูดกันตรงๆ
แล้วรายรับผมหายเกือบ 100% คิดดูว่าผมแบกรับทุกอย่าง ทั้งบ้าน ทั้งรถ ทั้งค่าเทอมลูก ค่ากินค่าอยู่อีกหลายอย่าง สี่ห้าชีวิตในครอบครัวเดือนหนึ่งมันใช้เงินหลายหมื่นบาท”



วิศวกรหนุ่มรายนี้ก็ยอมรับอีกว่า ชีวิตพัง ไม่คิดว่าสถานการณ์จะหนักหนาสาหัสขนาดนี้ แม้จะไม่ใช่การตกงาน แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีชีวิตได้ว่าอนาคตจะไม่ถูกเลิกจ้าง จึงจำเป็นต้องหาทางรอดให้ชีวิตไปก่อน
“ชีวิตมันพัง แต่มันก็ไม่ถึงขั้นกับว่า โดน terminate ตกงาน ยัง แต่มันก็ไม่แน่เนอะ ตราบใดที่สถานการณ์แอร์ไลน์เป็นอย่างนี้อยู่ ผมบอกไม่ได้ว่ามันไม่มีใครมาการันตีชีวิตผมได้ว่าคุณจะได้ทำงานต่อ เพราะฉะนั้นทางรอดของผมก็คือต้องหางานทำ
แต่ถามว่าตอนนี้บริษัทไหนเขาก็ไม่มีใครรับ ไม่มีใครเปิดรับพนักงาน เศรษฐกิจแบบนี้ไม่มีบริษัทไหนที่อยากเพิ่มรายจ่าย ผมก็ต้องหาอย่างอื่นที่ผมเป็นเจ้านายตัวเองได้ ผม manage ตัวเองได้ ผมก็เลยรับล้างแอร์
ตอนแรกไม่คิดเลยว่ามันจะหนักขนาดนี้ แต่คือผมบินไปจีน ผมก็เห็นแล้วแหละว่าจีนเขามีมาตรการที่มันเพิ่มขึ้นทุกวัน หลังจากที่เราเคยเห็นว่าตอนแรกๆ มันไม่เท่าไหร่ หลังๆ มาเขาตรวจเข้มขึ้น หลายๆ เมืองเริ่มปิด ตอนนั้นก็เริ่มคิดแล้วว่าสถานการณ์มันเริ่มไม่ค่อยดีแล้ว เริ่มไม่ค่อยปกติ แต่ก็ไม่ได้คิดเลยว่ามันจะแย่ขนาดนี้”

ไม่โทษวิกฤต ฮึดสู้เพื่อครอบครัว

“ถ้าพูดถึงเรื่องงานที่เราเคยทำมันท้อ ถ้าเรามองย้อนกลับไป แต่ผมมองว่าผมไม่สามารถไปแก้ไขเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นไปแล้วได้ ผมไม่สามารถไปแก้ไขอะไรได้เลย แม้กระทั่งเรื่องบริษัทที่ผมทำงานอยู่ เพราะฉะนั้นชีวิตผมไม่มัวไปโทษบริษัทว่าทำไมมาลดเงินเดือนผม ทำไมถึงมาตัดโน่นตัดนี่ ผมก็ต้องมองในมุมเขาว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอนครับ”
หากมัวแต่โทษวิกฤต ชีวิตก็จะย่ำอยู่กับที่ ต้องรู้จักเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส หากไม่รู้จักปรับเปลี่ยน เมื่อเจอกับสถานการณ์เช่นนี้ก็จะไม่สามารถรับมือ และก้าวผ่านพ้นไป




“บริษัทเคยมีรายรับเดือนเป็นล้านๆ เท่าไหร่ผมไม่รู้ เขาเคยจ่ายเงินเดือนผมได้ทุกเดือน แต่อยู่ดีๆ เดือนที่ผ่านมาเขาจ่ายไม่ได้ จะให้ผมไปมัวโทษเขาชีวิตผมก็คงไม่ต้องทำอะไร
ผมก็เลยคิดว่าอย่ามัวโทษคนอื่น โทษตัวเราเอง ถ้าเราไม่ทำอะไรชีวิตเราก็จะยืนย่ำอยู่กับที่ ไม่เดินไปข้างหน้าสักที เราเดินถอยหลังเราเดินไม่ได้อยู่แล้ว เดินไปสักพักเราจะมึนหัว แล้วเราก็จะล้ม แต่ถ้าเราเดินไปข้างหน้า เราเห็นข้างหน้าอยู่แล้ว ยังไงเราก็เดินหลบหลีกปัญหาที่มันเข้ามาได้แน่นอน
ผมคิดว่ายังไง ผมไม่ท้อหรอกกับเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น เพราะว่ามันยังมีวิธี มีทางที่หารายได้ หรือทำอะไรก็ได้ที่มันได้เงินมาจุนเจือครอบครัวให้มันมีความสุขกลับขึ้นมาเหมือนเดิม”



นอกจากนี้ วิศวกรสู้ชีวิตคนนี้ยังย้ำอีกว่า หมดตัวไม่เป็นไรหาใหม่ได้เสมอ แต่ถ้าหมดใจทั้งชีวิตจะไม่สามารถทำอะไรได้อีกเลย แม้รายจ่ายจะไม่มากเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีรายได้อะไรเลย และทำได้ทุกอย่างเพื่อครอบครัว
“หมดตัวไม่เป็นไรหาใหม่ได้ อันนี้ความคิดผมนะ ผมก็เหมือนหมดตัวนะถ้าพูดตรงๆ เงินเดือนผมหายหมด แต่ผมไม่หมดใจไง ผมก็คิดว่าจะทำอะไรดีให้มันเดินหน้าได้ ทำไปเรื่อยๆ ร้อยหนึ่งก็คือเงิน บาทหนึ่งก็คือเงิน ขอให้มันมีเข้ามา มีเงิน มีข้าว มีนมให้ลูกกิน อันนี้ผมโอเค ผมทำได้หมดทุกอย่าง”



วิศวกรหนุ่มคนนี้ยังบอกอีกว่า วิกฤตในครั้งนี้สอนอะไรหลายๆ อย่าง ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน ต้องรู้จักเก็บเมื่อมี และต้องรู้จักบริหารชีวิตในการรับมือวิกฤตให้ได้
“ชีวิตมันไม่มีอะไรแน่นอน มีทั้งขึ้น มีทั้งลง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเคยมีมันอาจจะ Return To Basic ก็คือ อาจจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม ซึ่งเราไม่มีอยู่แล้วตั้งแต่แรก ทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอน คือ มันก็สอนให้ผมเข้าใจว่า ช่วงที่เรามีก็ควรที่จะเก็บเงิน รู้จักเก็บ บริหารจัดการชีวิตให้มันดีกว่าที่เคยเป็น แล้วก็ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอนในชีวิตนี้จริงๆ
ผมคิดว่าปัญหามีทางออกเสมอ ขึ้นอยู่กับว่า way ของเรา เราจะหาทางออกทางไหน บางคนอาจจะเดินช้าหน่อยแต่มั่นคง บางคนอาจจะเดินไวหน่อย แต่สะเทือนบ้าง ผมว่าแล้วแต่คน แต่ผมว่าทุกคนมี way ของตัวเองว่าเราจะหาทางออกยังไง ให้เราผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้”



ทั้งนี้ ยังฝากเป็นกำลังใจให้คนไทยทุกคนที่กำลังเผชิญปัญหาเช่นเดียวกัน อยากให้ลุกขึ้นมาสู้ และเชื่อว่า เราทุกคนจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ด้วยดี
“ฝากถึงทุกๆ คนที่เขาชื่นชมผมกับเพื่อนนะครับว่าผมสู้ชีวิต ผมก็อยากฝากกำลังใจไปให้กับทุกๆ คน ที่เขาให้กำลังใจผม อยากให้กำลังใจทุกๆ คนให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน
ผมเข้าใจว่าวิกฤตครั้งนี้มันเลวร้าย มันไม่ใช่กระทบแค่เรื่องโรคระบาด มันกระทบถึงเศรษฐกิจ ถึงหลายๆ อย่าง อยากฝากให้กำลังให้ทุกๆ คน ว่า ขอให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ด้วยดี คนไหนที่กำลังล้มอยู่ ณ ตอนนี้ ก็ขอให้ลุกขึ้นมาสู้อีกครั้งหนึ่งครับ
ผมเชื่อว่าใจเราเท่านั้น และตัวเราเท่านั้น ที่จะพาเราผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ด้วยดี ผมฝากถึงเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่ให้กำลังใจผมมาครับ ขอบคุณครับ”











อ่าน “สัมภาษณ์พิเศษ” ฉบับเต็ม>>> หมดตัว แต่ไม่หมดใจ!! จาก “วิศวกรเครื่องบิน” ดิ้นสู้โควิด-19 สู่ “ช่างแอร์จำเป็น”

คลิป: ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก “Folkky Chutiphong”
ตัดต่อ: อิสสริยา อาชวานันทกุล



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น