เปิดใจนักจิตวิทยาชื่อดัง “ดร.เจนนิเฟอร์” แนะเตรียมความพร้อมด้านสภาพจิตใจควบคู่กับการดูแลร่างกาย ให้ผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาด “โควิด-19” ให้กำลังใจคนรอบข้าง ล้มแล้วลุกขึ้นใหม่ได้ ทุกปัญหาย่อมมีทางออก พร้อมพูดคุยเรื่อง “แมทธิว ดีน” ในฐานะน้องสาว เล่าเส้นทางจากเกิร์ลกรุ๊ปยุค 90 สู่เส้นทางนักจิตวิทยา
เสพข่าวให้น้อย ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
“สิ่งหนึ่งที่ช่วยป้องกันในการตื่นตระหนกได้ก็คือการเสพข่าว เสพข่าวให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ จำนวนเวลาที่เราเสพมันมากเกินไปหรือเปล่า พยามยามเอาความสามารถของเรามารับมือ แล้วก็ก้าวข้ามผ่านปัญหาไปได้ค่ะ”
ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช อาจารย์ประจำสาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดใจในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา พร้อมให้ความรู้เรื่องการรับมือ เตรียมความพร้อมด้านสภาพจิตใจ จากกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก ที่ในตอนนี้สถานการณ์ในไทยยังคงพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงแนะวิธีการรับมือ ลดความวิตกกังวลที่ทำให้บั่นทอนจิตใจ ด้วยการเปลี่ยนความคิด มีสติ อยู่ในหลักเหตุผล เพราะสิ่งที่สำคัญนอกจากดูแลร่างกายแล้วนั้น การดูแลจิตใจก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปได้
“บางทีถ้าเราเสพข่าวมากเกินไป ยิ่งทำให้เราเหมือนประมวลข้อมูลได้ไม่ทัน บางทีข้อมูลมันเต็มไปหมดเลย แล้วเราไม่รู้ว่าจะเชื่อข้อมูลที่หนึ่ง หรือข้อมูลที่สองดี แล้วยิ่งข้อมูลเหล่านั้นมันตรงกันข้าม บางคนอาจจะบอกว่าอาการเป็นอย่างนี้ แต่พอเราไปอ่านข้อมูลอีกอันหนึ่งบอกว่าอาการเป็นแบบนี้ แล้วเราจะตั้งคำถามแล้วว่าเราจะเชื่ออันไหนดี หรือว่าเราจะต้องเชื่อทั้งสองอัน มันก็ทำให้เราตื่นตระหนกขึ้นไปมากกว่าเดิม กับอันที่สองเลยก็คือ อาจจะลิมิตข้อมูลให้เป็นแต่ข้อมูลน่าเชื่อถือได้ อาจจะเป็นข้อมูลที่ผ่านการคัดกรองมาแล้ว
เพราะฉะนั้น อาจจะลดการเสพข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย อย่างที่เจนเคยพูดไปว่าข้อมูลที่มาจากโซเชียลมีเดียบางทีมันเป็นข้อมูลที่เพิ่มเติมจากความคิดของคน แล้วมันก็รวมไปถึงอารมณ์ที่มันเพิ่มเข้ามาด้วย เพราะฉะนั้น ข้อมูลเหล่านี้มันจะทำให้เรากระตุ้นความรู้สึกทางอารมณ์ได้มากขึ้น”
หลีกเลี่ยงการเสพโซเชียลมีเดียให้น้อยลง พยายามติดตามแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่เป็นข่าวมากกว่าที่จะไปเสพข้อมูลจากการโพสต์ของเพื่อนๆ หรือข้อมูลต่างๆ ที่เน้นไปถึงอารมณ์ เพราะจะทำให้รู้สึกหวาดกลัว และตื่นตระหนกได้มากเกินความจำเป็น
“คิดว่าเราอาจจะย้อนกลับมาแล้วก็ถามดูว่าตอนนี้เรารู้สึกตึงเครียดไปแล้วหรือยัง เรารู้สึกว่าเข้าใจข้อมูลได้อย่างครบถ้วนแล้วหรือยัง ถ้าตราบใดที่เรารู้สึกไม่เข้าใจข้อมูล เรารู้สึกงงไปหมดเลย ก็อาจจะหยุด แล้วก็หันมาลองค่อยๆ อ่านข้อมูลหนึ่ง ข้อมูลสอง ข้อมูลสาม แล้วมันมีอะไรแตกต่างกัน มีอะไรเหมือนกัน แล้วเราคิดว่าข้อมูลไหนที่มันอาจจะยังไม่ได้ผ่านการคัดกรอง หรือว่าข้อมูลไหนยังไม่แน่ใจ แล้วก็อาจจะลองมาประเมินข้อมูลให้ดีขึ้น
อย่างแรกตอนนี้ก็อาจจะมีการปรับตัวค่อนข้างเยอะ อย่างเช่นการทำงาน ตอนนี้ทุกคนก็หันมาทำงานกันที่บ้านมากขึ้น แต่คิดวิธีการับมืออย่างหนึ่งก็คือ พยายามทำตามกิจวัตรประจำวันให้ได้มากที่สุด เพราะว่าตอนนี้คือทุกอย่างมันไม่มีอะไรที่แน่นอน เราไม่รู้ว่าตอนนี้ไวรัสมันจะปรับตัว หรือว่ามันจะระบาดไปขนาดไหน หรือว่าพรุ่งนี้เราจะเจอยาหรือเปล่า หรือจะมีคนติดมากขนาดไหน”
ในขณะเดียวกัน เราก็จำเป็นต้องใช้ชีวิตให้มีความเครียดในระดับที่พอดีเพื่อที่จะรับมือ และตอบสนองต่อการคุกคามต่อโรคระบาดที่เข้ามาในชีวิตได้
“สิ่งหนึ่งที่เราสามารถควบคุมได้ก็คือ กิจวัตรประจำวันของเรา ถึงแม้ว่าเราจะต้องทำงานที่บ้าน ก็อยากจะให้คงกิจวัตรประจำวันตัวเองเอาไว้ เช่น สมมติว่าปกติเราตื่น 6 โมง เราก็ยังตื่น 6 โมงเป็นปกติอยู่ แต่ว่าเราอาจจะใช้เวลาที่จะต้องเดินทางไปที่ทำงาน ลองเอาเวลานั้นมาทำอย่างอื่น อย่างเช่นเปิดฟังเพลงให้รู้สึกผ่อนคลาย หรือว่าอ่านหนังสือเล่น หรือว่ารดน้ำต้นไม้อะไรไปก็ได้แทนที่จะเอาเวลาไปทำงานมากขึ้นกว่าเดิม เพราะว่าการทำงานมากกว่าเดิมความตึงเครียดมันก็อาจจะเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นก็พยายามใช้ หมายถึงว่าทำกิจวัตรประจำวันให้ปกติ แล้วก็อย่าทำงานหนักเกินไป คือถ้าสมติว่าเราทำงาน 8 ชั่วโมง เราก็ทำงาน 8 ชั่วโมงเหมือนเดิม ไม่ใช่ว่าเราอยู่บ้าน 12 ชั่วโมง เราก็แบบฝืนทำ 12 ชั่วโมงเลย มันจะทำให้เราตึงเครียดมากเกินไป
เราอยู่บ้านมากขึ้น คิดว่ามันเป็นโอกาสที่ดี ทำให้เราได้ทำอะไรหลายๆ อย่างที่เราไม่ได้ทำในก่อนหน้านี้ได้ อาจจะแบบว่าโทร.ไปพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ โทร.ไปพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัว ถามไถ่เขาว่าเป็นยังไงบ้าง มันก็เปิดโอกาสให้เราได้ติดต่อสื่อสารกับคนที่เราควรจะติดต่อสื่อสารมากยิ่งขึ้น
หรือว่าบางทีการที่เราอยู่บ้านเป็นระยะเวลานาน ได้อยู่บ้านเยอะขึ้นก็ทำให้เราได้พัฒนาตัวเอง ได้อ่านหนังสือที่เราอยากจะอ่าน ได้ฟังเพลง หรือว่าได้ทำอะไรในสิ่งที่เราอยากจะทำมากยิ่งขึ้น ก็อาจจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส อยากให้ทุกคนดูแลตัวเอง และทำตามคำแนะของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และเชื่อว่าไทยเราจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ได้อย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมาก็เคยเกิดโรคระบาดมาแล้วเหมือนกัน
“ถ้าสมมติเรานึกถึงไปข้างหน้ามากเกินไป บางทีเราก็อาจจะนึกถึงอะไรที่เราไม่สามารถควบคุมได้ สิ่งหนึ่งเลยค่ะอาจจะลองคิดดูว่ามันมีอะไรบ้างที่เราจะควบคุมได้ เรามีคอนโทรล เราสามารถที่จะจัดการบริหารได้ อย่างแรกเลยก็คือเราสามารถล้างมือได้ เราสามารถนอนหลับพักผ่อน เราสามารถที่จะออกกำลังกายได้ แต่เราไม่สามารถที่จะไปควบคุมได้ว่าโรคมันจะมาเมื่อไหร่ เราไม่สามารถควบคุมว่าเราจะไปหายารักษาโรคนี้ได้ยังไง เพราะมันไม่ใช่ความรับผิดชอบของเรา อันนั้นก็อาจจะให้แพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญที่เขารับมือกับโรคภัยพิบัตินั้นรับผิดชอบไป แต่ว่าลองคิดว่าเราสามารถควบคุมอะไรได้บ้าง แล้วพยายามที่จะควบคุมมันให้มากขึ้น”
ให้กำลังใจคนรอบข้าง ทุกปัญหาย่อมมีทางออก
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยายังช่วยแนะอีกว่า พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ คนรอบข้างก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคอยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
“มันเหมือนกับว่าพอเวลาเราเจออุปสรรคอะไร หรือว่าเจอความผิดหวัง หรือว่าเจอกับสถานการณ์ที่มันแย่ๆ แล้วเรารู้สึกล้ม เราสามารถที่จะลุกขึ้นมาได้ บางคนอาจจะลุกได้เร็ว บางคนอาจจะลุกได้ช้าหน่อย แต่เรามีสิ่งนี้ เขาเรียกว่าเป็นทุนทางจิตใจของเราที่อยู่ในตัวทุกๆ คน เพราะฉะนั้น ลองประเมินดูว่าเราจะสามารถดึงตรงนั้นขึ้นมาได้ยังไงบ้าง เชื่อว่าทุกคนมีความสมารถตรงนี้ และก็สามารถที่จะลุกขึ้นมาอีกครั้ง
แต่ว่าบางคนอาจจะช้าหน่อยก็อย่ารู้สึกว่าแบบทำไมคนอื่นเขากลับมาใช้ชีวิตได้ปกติเลย ทำไมเรายังรู้สึกว่าเรายังลุกขึ้นมา และตั้งหลักยังไม่ได้ อาจจะให้เวลากับตัวเอง เหมือนแบบแต่ละคนก็มีเวลาที่จะลุกขึ้นที่แตกต่างกันออกไป อย่าฝืนตัวเอง และก็อย่ากดดันตัวเองมากเกินไปค่ะ”
ความกลัวเป็นความรู้สึกที่ติดต่อกัน ถ้าตัวเราเองระงับความกลัวไว้ก่อน แล้วออกมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความมั่นใจว่าเราสามารถรับมือได้ คนอื่นที่อยู่รอบข้างเราก็สามารถรับรู้สิ่งนั้นได้เหมือนกัน
“เรามักจะคิดว่าแบบความสามารถในการรับมือของเรามีไม่เพียงพอ แต่จริงๆ เรามีอยู่ เพียงแต่ว่าบางครั้งมันอาจจะมีอุปสรรคที่แบบว่าเข้ามาแล้วทำให้เราไม่เห็นว่าจริงๆ แล้วความสามารถในการรับมือของเรามีอะไรบ้าง แล้วก็หยิบมาใช้ได้ในช่วงไหนบ้าง
สิ่งหนึ่งเลยก็คือว่าเราไม่ได้พบกับปัญหาตรงนี้เพียงคนเดียว ตอนนี้เราทุกคนก็พบกับสถานการณ์อย่างนี้ด้วยกันทุกๆ คน เพราะฉะนั้น อยากจะฝากให้ทุกคนเป็นกำลังใจให้กันคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เรามีคนรอบข้างของเราอยู่เยอะแยะเลย แล้วก็คิดว่าปัญหามันก็จะผ่านพ้นไปถ้าเรามีสติ แต่ว่าในสตินั้นก็ไม่ตื่นตระหนกมากเกินไป แล้วก็สามารถที่จะเข้าใจตัวเองว่าเรารู้สึกตึงเครียดขนาดไหน เรารู้สึกผิดหวัง หรือเรารู้สึกท้อแท้ แล้วก็พยายาม”
การดูแลทั้งด้านจิตใจ และร่างกายเป็น 2 สิ่งที่ควรทำควบคู่กัน เพราะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกัน หากดูแลเพียงด้านใดด้านหนึ่งก็อาจจะได้รับผลกระทบที่ไม่ดีได้
“ทั้งสองสิ่งนี้มันก็ผูกกัน อย่างส่วนตัวมันก็มีบางวันที่เรารู้สึกว่าแบบเรามีอะไรที่ต้องคิด เรามีอะไรที่จะต้องจัดการเต็มไปหมดเลย มันก็ทำให้เรานอนหลับไม่สบาย แล้วเราก็รู้เลยว่าพอเรานอนหลับไม่ค่อยสบาย ตื่นขึ้นมาเราก็รู้สึกอึนๆ เครียดๆ เพราฉะนั้นทั้งจิตใจและก็ร่างกายมันก็ผูกแล้วก็เชื่อมโยงกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ได้ดูแลร่างกายของเราเอง จิตใจของเราก็อาจจะมีผลกระทบไปด้วย ต้องดูแล 2 สิ่งควบคู่กันไปค่ะ
ดูแลร่างกายของเรา เราจะต้องดูแลจิตใจ และในเวลาเดียวกันเราก็มีงานที่ต้องทำ เหมือนชีวิตมันจะต้องดำเนินต่อไป เพราะฉะนั้น ในเรื่องของงานก็พยายามที่จะรับมือให้ดีที่สุด คือจริงๆ แล้วมีความรู้สึกว่าเมื่อก่อนเราอาจจะทำงาน 100% ในสถานการณ์ที่ปกติ แต่ตอนนี้สถานการณ์มันไม่ปกติ ถ้าเรารู้สึกว่าเราไม่ไหว เราก็อาจจะลด 100% ให้เหลือ 70% แล้วเอา 30% ที่เหลือไปดูแลจิตใจของเรา ไปดูแลร่างกาย หรือว่าไปดูแลคนรอบข้างของเราที่เขาอาจจะต้องที่ได้รับการสนับสนุนทางด้านจิตใจ หรืออาจจะต้องการกำลังใจจากเรา
อย่าฝืนตัวเองมากเกินไป อะไรไม่ไหวก็ลดลงมาบ้าง คือตอนนี้เราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ปกติ อย่าคาดหวังตัวเอง อย่ากดดันตัวเองที่จะทำทุกอย่างให้ได้ 100% เหมือนเมื่อก่อน”
ถ้าใช้ชีวิตด้วยความกลัว คนข้างๆ ก็จะรู้สึกแพนิก รู้สึกหวาดกลัวไปด้วย เพราะฉะนั้นอาจจะไม่ต้องรอให้สถานการณ์เบาลง ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำให้ตัวเอง เป็นผู้นำให้กับคนรอบข้าง และเชื่อว่าเดี๋ยวสถานการณ์มันก็จะผ่านพ้นไป
“บางคนอาจจะบอกว่าเราสามารถที่จะหลีกเลี่ยงการคิดที่มันเยอะ คิดแบบ คิดวิตกกังวลมากเกินไป ลองย้อนกลับไปว่าเราสามารถที่จะตั้งเป้าหมายอะไรได้ เพื่อที่จะให้เรามองข้ามสถานการณ์ที่มันลบๆ อยู่ตอนนี้ อาจจะลองคิดดูว่าตอนนี้เราให้สังคมยังไงได้บ้าง หรือว่าให้คนรอบข้างยังไงได้บ้าง บางทีเราอาจจะแค่โทร.ไปพูดคุยกับเพื่อเรา ถามไถ่เขาว่าเขาเป็นยังไงบ้าง ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง ต้องการกำลังใจหรือเปล่า อันนี้ก็เรียกได้ว่าก็เป็นการให้ในรูปแบบหนึ่ง
ถ้าสมมติว่าเรายิ่งให้เยอะ เราก็จะรู้สึกว่าชีวิตของเรามีความหมายมากยิ่งขึ้น แล้วก็อีกอย่างหนึ่งก็จะทำให้เราแบบเอาความวิตกกังวลอันนี้ไปคิดในสิ่งอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ให้แก่คนอื่นๆ ด้วย หรือบางทีเราอาจจะมีเป้าหมายที่เราอยากทำ เช่น เราอยากจะพัฒนาตัวเอง อาจจะอยากเรียนภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีนมาตั้งนานแล้ว แต่ถึงตอนนี้ก็เป็นโอกาสที่ดี ที่แบบว่าเอาเวลาว่างที่ไม่ต้องเดินทางไปทำงาน หรือว่าอะไรก็ตาม เอามาเรียนที่เราต้องการพัฒนาตัวเองก็ได้”
ช่องว่างการสื่อสารของรัฐ หรือมาตรการที่ไม่ชัดเจน ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก และทำให้คนตึงเครียด
“สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกความไม่แน่ใจ มันก็คือความไม่ชัดเจน เพราะตราบใดถ้าสมมติว่าสถานการณ์มันไม่มีความชัดเจน เราไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วในอนาคตมันจะเกิดอะไรขึ้น มันก็จะทำให้รู้สึกวิตกกังวล รู้สึกไม่แน่นอน แล้วก็รู้สึกตึงเครียดได้ เพราะฉะนั้นมาตรการอะไรต่างๆ ที่ไม่ชัดเจนก็ทำให้เราเกิดความตึงเครียดได้เหมือนกัน
สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ชัดเจนได้ก็คือว่า อาจจะลองมาถามตัวเองว่าเราสามารถควบคุมอะไรได้บ้าง ถึงแม้ว่าเราจะไม่เข้าใจว่าโรคมันแพร่ระบาดได้อย่างไร แต่ว่าเราสารถคบคุมตัวเองได้ ก็คือว่าหนึ่งล้างมือบ่อยๆ สองเวลาขึ้นลิฟต์ก็พยายามอยู่ห่างผู้คนขึ้น พักผ่อนให้เต็มที่
ถ้าคิดให้สบายใจมากขึ้นก็คือว่า ผู้เชี่ยวชาญที่เขาเหมือนทำงานในเรื่องสุขภาพหรือว่าโรคระบาด เขาก็ไม่คุ้นเคยกับโรคนี้เหมือนกัน คือถ้าเราคิดว่ามันเป็นโรคที่ใหม่มาก และทุกคนก็ทำงานอย่างเต็มที่ เขาก็ไม่ได้คุ้นเคยกับโรค เพราะฉะนั้นอาจจะให้เวลาเขานิดหนึ่ง เขาก็ทำงานของเขาเต็มทื่ เขาก็พยายามที่จะหาข้อมูล เพราะว่าถ้าสมมติตอนนี้ข้อมูลมันไม่แน่นอน แล้วเขาสื่อสารออกมา มันก็อาจจะทำให้คนตื่นตระหนกได้”
ตระหนัก แต่ไม่ตื่นตระหนก
“อย่างหนึ่งเลยเราต้องมีสติ คิดว่าตอนนี้เป็นคำที่ได้ยินกันมากๆ ก็คือว่าแบบมีสติ หรือว่าตระหนัก แต่ไม่ตระหนกนั้นก็คือว่า คือเราจะต้องมีสติจริงๆ คือพยายามอย่าให้อารมณ์มันอยู่เหนือกว่าข้อมูลที่อยู่ในหลักความจริง อย่าให้อารมณ์มันนำเราในการใช้ชีวิตค่ะ”
ตระหนัก แต่ไม่ตื่นตระหนก เป็นคำที่เราทุกคนได้ยินบ่อยในภาวะสถานการณ์บ้านเมืองกำลังต่อสู้กับโรคระบาดในครั้งนี้ ซึ่งในช่วงนี้ทำให้ทุกคนต้องปรับการใช้ชีวิต บางคนต้องหันมาทำงานอยู่บ้าน แต่บางคนก็ต้องตกงาน ทำให้หลายแค่แห่กลับบ้านไปตายเอาดาบหน้า
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาก็ได้แนะว่า นอกจากการเปลี่ยนความคิดแล้วนั้น เราทุกคนต้องค่อยๆ ปรับตัวทั้งเรื่องการใช้ชีวิต ทั้งความคิด จัดการกับอารมณ์ตัวเองไม่ให้เครียดจนเกินไป ถึงจะข้ามผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้
“นอกจากเปลี่ยนความคิดแล้ว ก็อย่างที่บอกเลยตอนนี้เป็นช่วงปรับตัวค่อนข้างเยอะ คือเราต้องปรับทั้งความคิด ปรับทั้งการใช้ชีวิต ในส่วนของความคิดก็อยากจะให้ลองคิดไว้ว่า จริงๆ แล้วเราอาจจะต้องตั้งคำถามก่อนว่าตอนนี้เรารู้สึกอะไร มันคือความรู้สึกกลัว หรือว่าเป็นความรู้สึกตึงเครียดกับสิ่งที่มันปรับเปลี่ยนไปซะหมด อาจจะต้องลองถามตัวเองว่า สิ่งที่เราเป็นอยู่ตอนนี้ เรารู้สึกยังไงบ้าง ถ้าสมมติเรารู้สึกแยกแยะออกได้ตอนนี้ว่ามันเป็นความกลัว กลัวเชื้อไวรัส หรือว่ามันเป็นความวิตกกังวลว่าคนรอบข้างจะติด บางทีเราอาจจะมีลูก มีพ่อแม่ที่เป็นวัยสูงอายุ หรือว่าจริงๆ แล้วเรารู้สึกตึงเครียดกับอะไรที่ไม่สามารถจัดการได้เลย พอเราเข้าใจอารมณ์ของเราแล้ว ก็อาจจะถามว่า แล้วมันมีสาเหตุหรือมันมีอะไรที่ทำให้เรารู้สึกแบบนั้น แล้วเราสามารถที่จะจัดการมันยังไงได้บ้าง
แล้วบางทีที่เราเข้าใจความรู้สึกตัวเองว่าเรารู้สึกยังไง บางทีมันก็จะทำให้ทุกอย่างมันผ่อนคลายได้นิดหนึ่งค่ะ”
ไม่เพียงเท่านี้ หากเราจัดการกับภาวะความตึงเครียดที่เราเผชิญอยู่ไม่ได้ ความเครียดก็สะสมไปเรื่อยๆ จนอาจจะเกิดความเสี่ยงด้านภาวะซึมเศร้า หรืออาจจะเกิดโรคภาวะทางจิตได้ จึงอยากเตือนทุกคนให้รับมือให้ได้
“จริงๆ แล้วถ้าพูดโดยทั่วไปในเรื่องของความเครียด ความกดดัน หรือว่าที่มันปรับตัวอย่างรวดเร็วมันก็จะทำให้ คนเราเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวลได้เยอะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับคนด้วย บางคนอาจจะมีแนวโน้มในการรับมือที่ดีกว่า หรือบางคนอาจจะมีแนวโน้มในการรับมือ จัดการบริหารความเครียดได้น้อยกว่า แต่ว่าถ้าสมติว่าเรามองถึงโรคอย่างเดียวมันก็ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า หรือว่าโรควิตกกังวล แต่ว่ามันผนวกหลายๆ อย่าง หลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยรอบข้าง หรือว่าปัจจัยภายในบุคคล และก็ความสามารถในการจัดการบริหารด้วย
ถ้าสมมติมองเรื่องของทางจิตที่ไม่ปกติ อันนั้นเราก็อาจจะเป็นอะไรที่ลองถามตัวเองว่ามันมากเกินกว่าความสามารถของเราที่จะรับมือหรือเปล่า คิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ แล้วก็เป็นเรื่องทั่วไปเลยที่เราอาจจะต้องหาผู้เชี่ยวชาญ ลองคุยกับนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา หรือว่าพบจิตแพทย์ เพื่อสอบถาม หรือเพื่อขอความช่วยเหลือ หรือพูดคุยเบื้องต้น ถ้าเกิดว่ามันยังไม่รุนแรงพอที่จะเป็นโรคทางจิตก็อาจจะต้องให้เวลาจัดการอารมณ์ของเรามากยิ่งขึ้น เพราะว่าตอนนี้มันมีอารมณ์ทางลบค่อนข้างเยอะเลย ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกหวาดกลัว ความรู้สึกผิด
สำหรับคนที่เหมือนตรวจพบว่าตัวเองเป็นโรค แล้วก็อาจจะรู้สึกผิดว่าแล้วเราไปแพร่กระจายโรคหรือเปล่า หรืออาจจะแค่บางทีเป็นความรู้สึกแบบตึงเครียด มันตึงเครียดไปหมดเลย ก็อาจจะไม่ใช่โรคซึมเศร้า อาจจะเป็นภาวะซึมเศร้าแบบเบาๆ ก็ได้ เพราฉะนั้น ถ้ารู้สึกว่ามันมากเกินความสามารถของเรา ก็คิดว่าเราอาจจะต้องไปหาผู้เชี่ยวชาญ อาจจะเป็นจิตปรึกษา หรือจิตแพทย์ เพื่อที่จะได้รับ และการช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นค่ะ”
เชื่อว่าทุกคนมีความสามารถในการรับมือกับโรคระบาด ที่ผ่านมาก็มีโรคระบาด ไม่ว่าจะเป็นซาร์ส หรืออีโบลา ก็ข้ามผ่านพ้นไปได้ แล้วก็อีกสิ่งหนึ่งเลยต้องยอมรับว่าแพทย์ของเราค่อนข้างที่จะเก่ง ในโลกตอนนี้เทคโนโลยีมันก้าวไปไกล มีบุคลากรที่มีความสามารถ มีเทคโนโลยีที่ช่วยเหลือทางการแพทย์ค่อนข้างเยอะ เพียงแต่ว่าตอนนี้มันอาจจะเข้าขั้นโรคระบาดอยู่ แต่ทุกอย่างเดี๋ยวมันก็จะดีขึ้นแน่นอน
ส่งกำลังใจให้ “แมทธิว ดีน” ในฐานะน้องสาว
“ก็เป็นกำลังใจให้ค่ะ คือเราไม่ได้ส่งกำลังใจให้พี่แมทอย่างเดียว แต่คิดว่าพี่แมทเป็นกำลังใจให้กับทุกๆ คนด้วย เป็นตัวอย่างในการปรับสู้กับโรคอย่างมีสติ และก็ชื่นชมในการรับมือของพี่แมทมากๆ เลยค่ะ มีความรับผิดชอบต่อสังคม ก็คิดว่าพี่แมทรับมือกับปัญหาได้อย่างดีค่ะ”
หลังจากที่นักแสดง และพิธีกรชื่อดังอย่าง “แมทธิว ดีน” โพสต์คลิปวิดีโอในไอจีตัวเองประกาศว่าตนติดเชื้อโควิด-19 และเตือนให้ผู้คนที่ได้ใกล้ชิดหรือได้สัมผัสตัวก่อนหน้านี้ให้ติดตามดูอาการตัวเอง ซึ่งตอนนี้ก็เข้าทำการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล
ในฐานะน้องสาวที่เคยเล่นด้วยกัน คลุกคลีกันมาตั้งแต่เด็กๆ เมื่อรู้ว่าพี่ชายติดเชื้อไวรัสก็ได้ส่งกำลังผ่านข้อความไปให้ พร้อมชื่นชมว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีของสังคมในการตั้งรับกับปัญหาอย่างมีสติ
“เป็นญาติค่ะ ลูกพี่ลูกน้อง ส่วนใหญ่ก็จะเจอพี่แมทธิวในงานสำคัญ โตแล้วก็อาจจะไม่ค่อยได้เจอกันบ้าง แต่ว่าช่วงเด็กๆ ก็จะเห็นกันมาในช่วงพี่แมทวัยรุ่น
[พี่แมท-น้องเจนวัยเด็ก]
ก็ส่งกำลังใจไปทั้งทางเฟซบุ๊ก ทั้งทางไลน์ เป็นข้อความ เพราะว่าตอนนี้เขาอาจจะอยากพักผ่อนให้เต็มที่ แล้วก็คงอาจมีหลายคนที่แบบว่าส่งข้อความไป แล้วก็รวมไปถึงคนที่พี่แมทได้พบเจอด้วย คิดว่าพี่แมทธิวกับลีเดียก็น่าจะยุ่งๆ ตอบคำถามอะไรตรงนี้ ก็คิดว่าอยากให้เขาพักผ่อนให้เต็มทื ก็คิดว่าได้แต่ส่งกำลังใจไป
ไม่ได้เจอเลยเพราะคิดว่าพี่แมทธิวก็น่าจะยุ่งๆ อยู่ ในปีนี้ยังไม่ได้เจอกันค่ะ ก็ได้ส่งข้อความไปให้กำลังใจ พี่แมทเพิ่งตอบกลับมา ก็แบบขอบคุณ เขาก็คงนั่งไล่ตอบทุกกำลังใจกันอยู่ แล้วก็เห็นว่าแบบพี่แมทตอบขอบคุณทุกำลังใจเลยจริงๆ”
นอกจากนี้ก็ได้แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้อีกว่า การแมทธิวได้ออกมาชี้แจงกับทุกคน นับว่าเป็นจ้อดีอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือทำให้คนตระหนักขึ้นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว และทำให้คนเข้าใจโรคนี้มากยิ่งขึ้น
“คิดว่าอาจจะไม่ใช่ตัวเจนคนเดียว อาจจะทุกคนเลยที่รู้จักพี่แมทธิว หรือว่ารู้จักลิเดีย ครั้งแรกที่ได้รับข่าวก็อาจจะรู้สึกว่ามันใกล้ตัวเองเข้ามาเรื่อยๆ อาจจะเป็นคนที่เรารู้จัก คือก่อนหน้าที่ไม่ใช่พี่แมท หรือว่ากับลีเดีย คนอาจจะคิดว่าอยู่ไกลตัวเรา เพราะว่าคนที่ติดเชื้อ เราไม่ได้รู้จัก หรือว่าเป็นคนรอบข้างเรา แต่พอเป็นพี่แมทธิวเป็นลิเดียแล้ว เราอาจจะรู้สึกว่าเข้ามาใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น
แต่ว่าอันนี้อาจจะต้องขอชื่นชม ไม่ใช่ในฐานะพี่ตัวเอง แต่เจนคิดว่าพี่แมทธิวเหมือนเป็นตัวอย่างในการรับมือกับปัญหาได้ดีมากๆ พี่แมทธิวสามารถที่จะเก็บอารมณ์ตัวเอง เพราะเชื่อว่าพี่แมทคงจะแบบรู้สึกกดดัน แล้วก็รู้สึกตึงเครียดมากๆ แต่ว่าพี่แมทธิวออกมาให้ข้อมูล แล้วก็สื่อสารด้วยข้อมูลที่ไม่ได้เอาอารมณ์หรืออะไรมาใช้เลย แล้วก็ทำให้ทุกคน รู้สึกเข้าใจในโรคนี้มากยิ่งขึ้น แล้วก็เห็นว่าเมื่อวันก่อนก็ออกมาเหมือนอัพเดตอาการ ก็จะทำให้ทุกคนเข้าใจว่าจริงๆ แล้วอาการของโรคนี้เป็นยังไง อย่างที่พี่แมทธิวบอกค่ะว่ามันก็ไม่ได้ต่างอะไรจากโรคไข้หวัดที่เราเคยพบเจอกัน คือมันไม่ได้มีอาการที่มันรุนแรงอะไร แต่เพียงว่าอาจจะเป็นในเรื่องของจิตใจ ที่อาจจะต้องจัดการแล้วก็รับมือกันมากหน่อย”
ในส่วนของที่บ้านยอมรับว่ารู้สึกตื่นตระหนกกันอยู่แล้ว แต่เมื่อมีข่าวว่าคนในครอบครัวอย่างแมทธิวดีนติดเชื้อไวรัสกลับยิ่งทำให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เพราะต้องการเป็นกำลังใจให้ซึ่งกันและกันให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปให้ได้
“คิดว่าในเรื่องของการตื่นตระหนก ถ้าที่บ้าน ในส่วนของที่บ้านก็จะรู้สึกตื่นตระหนกอยู่แล้ว เพราะว่าเขาก็เป็นผู้ใหญ่กัน เพราะฉะนั้นตั้งแต่ข่าวออกมาเขาอาจจะเป็นกลุ่มเสี่ยงมากยิ่งขึ้น แต่ว่าพอพี่แมทติดก็ไม่ได้ทำให้ตื่นตระหนกมากกว่าเดิม แต่รู้สึกว่าแบบเราอยากจะให้กำลังใจเขามากกว่า แล้วก็รู้สึกเพิ่มความเข้มแข็งขึ้นมานิดหนึ่งด้วยค่ะ รู้สึกว่าเราก็ต้องเป็นกำลังใจให้กันและกัน เพราะว่าถ้าเรารู้สึกว่าตื่นตระหนก คนที่เป็นเขาก็จะรู้สึกเหมือนเข้มแข็งน้อยลง ก็เลยรู้สึกว่าคนรอบข้างตอนนี้กลับมาเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เข้มแข็งทางจิตใจมากยิ่งขึ้น ให้กำลังใจกันมากยิ่งขึ้น ดูความวิตกกังวลลดน้อยลง แล้วก็พยายามมีสติมากยิ่งขึ้น”
จากเกิร์ลกรุ๊ป สู่นักจิตวิทยา
หากพูดถึงเกิร์ลกรุ๊ปวัยเด็กในช่วงปลายๆ ยุค 90 คงต้องมีชื่อเกิร์ลกรุ๊ปวงนี้ให้หลายๆ คนนึกถึงแน่นอน นั่นก็คือวง “บั๊ก บันจี้ (Bug Bunji)” สี่แมลงน้อยกระโดห้อยหัว ภายใต้สังกัดบาแรมยู ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มีสมาชิก 4 คนด้วยกัน ซึ่งเธอคือหนึ่งในสมาชิกวงด้วย แถมวงนี้ยังมีผลงานเพลงฮิตมากมาย เช่น O-YA-O, รู้ป่ะ, อยากมีแค่เธอ, ไม่อยากยืนข้างเธอ และเพลง ขอบคุณดาว
[เกิร์ลกรุ๊ปยุค 90 “บั๊ก บันจี้ (Bug Bunji)” ]
“ประมาณ 20 ปีที่แล้วก็มีโอกาสได้ออกเทป พอคนพูดมาว่าเทปปุ๊บก็จะรู้วัย (หัวเราะ) ก็มีโอกาสได้ออกเทป แต่ว่าพอเป็นช่วงโปรโมตเสร็จก็ไปเรียนต่อต่างประเทศ ก็เลยทำให้ห่างหายจากวงการไปเลยค่ะ
ย้อนกลับไปใครเป็นรุ่นเดียวกันก็อาจจะคุ้นเคยคำว่าแมวมอง ตอนนั้นไปเดินอิเซตัน ยังไม่ใช่เซ็นทรัลเวิลด์ก็ไปเดินปุ๊บก็มีแมวมองเข้ามาขอถ่ายรูป แล้วก็ไปแคสต์งาน ช่วงนั้นเข้าวงการบันเทิงก็จะเริ่มจากการไปแคสต์งาน
แล้วก็ได้งานโฆษณา พองานโฆษณาก็จะมีมิวสิกวิดีโอ เอเยนซีก็จะส่งรูปไปตามแกรมมี่ ไปอาร์เอสอะไรอย่างนี้ค่ะ มันก็เลยเริ่มมาจากโฆษณา ถ่ายมิวสิกวิดีโอ แล้วก็เริ่มเข้ามาแกรมมี่มาออกเทปค่ะ”
ยอมรับว่างานในวงการบันเทิงนับว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ทำให้เติบโตขึ้น แต่หากจะให้หวนกลับคืนสู่วงการอีกครั้งคงเป็นไปได้ยาก “(หัวเราะ) ช่วงนี้มีหน้าใหม่เยอะ ก็ไม่ได้คิดถึงอย่างนั้นนะคะ แต่ว่าเป็นความทรงจำที่ดี พอเวลาใครถามก็รู้สึกว่ามันเป็นโอกาสที่ดีมาก ไม่น่าจะสู้ดาราในปัจจุบันได้มีแต่คนสวยๆ ก็ยินดีถ้ามีรียูเนี่ยน แต่ก็จะมีจ๋าที่อยู่ในวงมีลูกสองไปแล้ว มีได้พูดคุยกันบ้าง ก็จะมีแบบรียูเนียนประมาณสอง 2 ปีที่แล้ว ถ้าสมมติว่าเป็นละครเป็นหนังอาจจะไม่ถนัด แล้วก็ร้องเพลงอาจจะไม่ถนัดด้วย แต่ว่าถ้าเป็นอย่างอื่นก็โอเค
ตอนนั้นอายุ 12-13 ปี มีโอกาสได้ทำงานไปด้วย มีโอกาสได้เข้าวงการบันเทิง ได้ทำในสิ่งที่หลายๆ คนอาจจะไม่ได้รับโอกาสตรงนั้น มันก็เป็นประสบการณ์ชีวิตเลยจริงๆ ทำให้เราโตขึ้นด้วย แล้วมันก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เครียดค่ะ ตอนนั้นเราก็สนุกไปกับมัน แล้วมีความสุข”
ผันตัวเองจากถึงเกิร์ลกรุ๊ปวัยเด็ก สู่นักจิตวิทยาเต็มตัว ตัดสินใจไปเรียนต่อเมืองนอก ใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศนาน 15 ปี ก่อนกลับมาพร้อมดีกรีดอกเตอร์ด้านจิตวิทยาจาก “Brunel University” ประเทศอังกฤษ
“ตอนนั้นน่าจะ 12-13 ปีค่ะ ประมาณ 15 ปี ก็ไปเรียนต่อค่ะ ก็จะอยู่ที่นั่นตลอด ได้กลับมาเที่ยว มาเยี่ยมครอบครัวสองปีครั้งค่ะ
ตอนตรีกับโทเรียนที่อเมริกา แล้วก็ไปจบเอกที่อังกฤษค่ะ ก็คือเป็นจิตวิทยาตรี โท เอกเลย แต่ว่าถ้าเอกจะเป็นจิตวิทยาข้ามวัฒนธรรม คือสนใจเรื่องวัฒนธรรมแล้วก็ความแตกต่าง ความหลากหลาย”
ที่จริงแล้วดีกรีดอกเตอร์ด้านจิตวิทยาคนนี้ ความตั้งใจแรกของเธอหลังจากไปเรียนต่อต่างประเทศ ไม่ใช่นักจิตวิทยา แต่เธอมีความฝันว่าอยากจะเป็นเหมือนกับ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์
“ตอนนั้นจริงๆ แล้วสนใจอยากจะเป็นแพทย์ อยากเป็นคล้ายๆ คุณหญิงหมอพรทิพย์ เขาจะชันสูตรศพ ศึกษาเรื่องคดีฆาตกรรมต่างๆ เรารู้สึกแบบสนใจในตรงนั้น แต่ว่าพอมาตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่า หมอแบบหมอพรทิพย์เขาทำอาชีพอะไรบ้าง แล้วจิตวิทยาเป็นยังไงบ้าง เราก็เรียนชีววิทยาไป 2 ปี มีความรู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวเราสักเท่าไหร่ แต่ในระหว่างที่เรียนชีววิทยาไปด้วย ก็มีโอกาสได้เรียนจิตวิทยา
จริงๆ ได้เรียนตั้งแต่ ม.6 แล้ว เราก็รู้สึกชอบความเป็นจิตวิทยา คือมันไม่มีคำตอบที่ชัดเจน บางทีเราต้องคิดวิเคราะห์ คือถ้าถามว่าทำไมเรามีนิสัยแบบนี้ เราก็อาจจะตอบได้ว่าด้วยความที่เราถูกเลี้ยงมาอย่างนี้ ด้วยความคิดเราเป็นแบบนี้ บุคลิกของเราเป็นแบบนี้ คือคำตอบมันไม่ได้มีคำตอบเพียงแค่หนึ่งเดียว เหมือนแบบมันมีอะไรที่จะต้องค้นหาเยอะ ก็เลยเปลี่ยนจากสายหมอ มาเป็นจิตวิทยา ตอนนี้ก็มีความสุขกับการเป็นนักจิตวิทยาอุตสาหกรรมองค์การอยู่ แล้วก็ได้เป็นอาจารย์ ก็คิดว่าคงไม่ได้เปลี่ยนอาชีพไปจากนี้”
ในอาชีพอาจารย์เอง ความรับผิดชอบก็ไม่ได้แค่เพียงสอนอย่างเดียว แต่ว่าจะต้องทำงานวิจัยด้วย แล้วงานวิจัยก็เปิดโอกาสให้ได้ทำโครงการต่างๆ ได้ไปจัดหัวข้อที่เราสนใจ
“อย่างตอนนี้ที่เจนทำอยู่ก็จะมีแบบเรื่องของคนไร้บ้าน หรือว่าจะเป็นเรื่องการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน มันก็เปิดโอกาสให้เราได้ทำงานวิจัยที่มันเป็นเกี่ยวข้องกับปัญหาสังคม เพราะฉะนั้นมันก็ไมได้เกี่ยวกับการสอนอย่างเดียว แต่มันก็ได้ศึกษาด้านปัญหาสังคมด้วย”
...อดีต “นักร้องดัง” ปัจจุบัน “ด็อกเตอร์จิตวิทยา” ฝากวิธีดูแลใจ ในภาวะ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”....
— livestyle.official (@livestyletweet) March 30, 2020
>>> https://t.co/UDNJv2bkIU
.#LIVEstyle #LIVEstyleofficial #โควิด19 #covid19 #โควิด_19 #Covid_19 #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ #bangkok #พรกฉุกเฉิน #พรกฉุกเฉินฯ #wfh #workfromhome pic.twitter.com/TA2rW0Z3NK
แนะทริก work from home อย่างมีความสุข หลายคนต้องหันมาทำงานที่บ้านกันจริงจังมากขึ้น รวมทั้งตัวเองด้วย เจนจึงลอง list เทคนิคที่ช่วยให้การทำงานจากบ้านเป็นเรื่องที่ไม่เครียดมากเกินไป 1) wake up : ตื่นนอนตามเวลาปกติที่เราตื่นไปทำงาน จะเป็นการเริ่ม mindset ว่าเป็นวันทำงาน และทำให้เราคงกิจวัตรในชีวิตประจำวันทำงานได้ ถ้าปรับทุกอย่างพร้อมกันในเวลาเดียว จะทำให้เราเครียดมากเกิน 2) extra time : การทำงานที่บ้านอาจจะทำให้เราแต่งตัวน้อยลง และเหลือเวลาจากการเดินทาง พยายามอย่าเอาเวลาที่เหลือนี้มาเริ่มงานเลย เพราะแปลว่าเราจะทำงานมากขึ้นกว่าเดิม ลองเอาเวลาที่เหลือนี้มาเติมความสุขให้ตัวเอง เช่น ใช้เวลาทดื่มกาแฟนานขึ้น enjoy อาหารเช้ามากขึ้น หรือหันมาออกกำลังกาย อ่านหนังสือเติมพลังให้ตัวเอง 3) work space : คิดว่าเราจะต้องปรับรูปแบบการทำงานกันไปสักพัก ลองหามุมทำงานประจำ แล้วทำพื้นที่ให้สะดวก นั่งสบาย ทำงานได้ง่ายขึ้น แต่ก็ควรเปลี่ยนมุมทำงานบ่อยๆ นะคะ แต่ทำงานบนเตียงหรือโซฟาที่เรานอนเล่นเป็นประจำนี้ไม่โอเคเลย เพราะเราเรียนรู้ว่าเตียงและโซฟาเป็นที่พักผ่อนจากงานไปแล้ว 4) minimize pressure : ลดความกดดัน อย่าคาดหวังว่าเราต้องทำงานได้เต็ม 100% เหมือนเดิม บางคนคิดว่าต้องทำมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะทำที่บ้านแล้ว แต่เราต้องเข้าใจว่าสถานการณ์ที่เรากำลังผ่านไปไม่ได้เป็นสถานการณ์ปกติที่เราคุ้นเคย อย่ารู้สึกผิดถ้าไม่สามารถทำงานเต็ม 100% ลองตั้งเป้าหมายที่อยู่บนพื้นฐานของความจริง จากเดิมทำได้ 5 tasks อาจเปลี่ยนเป็น 3 หรือ 4 tasks ต่อวัน และที่สำคัญเก็บพลังบางส่วนไว้ดูแลตัวเองด้วยค่ะ 5) ask yourself : คอยถามความรู้สึกของตัวเอง ตอนนี้เราเครียดมากเกินไปแล้วหรือยัง เรารู้สึกหดหู่เกินไปไหม หรือเรารับมือกับสิ่งที่เข้ามาได้อยู่ไหม อย่าฝืนตัวเองถ้าไม่ไหว ถ้ารู้สึกเหนื่อย พัก take break เบรกระหว่างการทำงาน แต่ต้องเป็นเบรกที่เติมพลังบวกนะคะ อย่าเบรกแล้วไปเสพข่าวที่เครียดเพิ่มอีก 6) stay connected (positively) : อย่าลืมว่าเราต้องการมนุษย์คนอื่น อย่าจมกับงานเกินไป อย่าแยกตัวเอง (self isolated) จนขาดการติดต่อกับคนอื่น โทรหาครอบครัว โทรหาเพื่อน ให้กำลังใจและช่วยเหลือเติมพลังให้กันและกัน แต่เน้นพลังบวก ใครที่เติมพลังลบให้เรา ก็เลี่ยงได้ก็เลี่ยงไปก่อนนะคะ สุดท้าย เหตุการณ์นี้เป็นแบบชั่วคราว ไม่อยู่กับเราไปถาวร เดี๋ยวเราทุกคนจะข้ามผ่านไปได้ ดูแลจิตใจ ดูแลร่างกาย เราจะผ่านสิ่งนี้ไปด้วยกัน. |
สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: พัชรินทร์ ชัยสิงห์
คลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพเคลื่อนไหว: ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ภาพ: ธัชกร กิจไชยภณ
ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @jchavano
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **