นอกจากดูแลร่ากาย ต้องดูแลจิตใจด้วย เปิดใจนักจิตวิทยาชื่อดัง คนแพนิกหนัก กักตุนอาหารเพียบ แนะวิธีการรับมือกับโควิด-19 ที่ระบาดหนัก เสพสื่อเท่าที่จำเป็น เปลี่ยนวิธีคิด พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวให้มากขึ้น เชื่อคนไทยจะผ่านพ้นวิกฤต
คนแพนิกหนัก กักตุนอาหารเพียบ
“บางทีอาจจะไม่แค่ล้างมืออย่างเดียว แต่อาจจะล้างความคิดของเราว่าบางทีไม่ได้กลัวโรคไวรัส แต่เรากลัวความไม่แน่นอน กลัวความเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วมากๆ ควรจะตื่นตระหนกในระดับที่พอดีที่ทำให้เราตอบสอง และรับมือกับโรคระบาดที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม ได้อย่างพอดี และก็ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช อาจารย์ประจำสาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live จากกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ในตอนนี้สถานการณ์ในไทยยังคงพบผู้ป่วยต่อเนื่อง
อาจารย์ด้านจิตวิทยาจึงแนะวิธีการรับมือ ลดความวิตกกังวลที่ทำให้บั่นทอนจิตใจ ด้วยการเปลี่ยนความคิด มีสติ อยู่ในหลักเหตุผล เพราะสิ่งที่สำคัญนอกจากดูแลร่างกายแล้วนั้น การดูแลจิตใจก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปได้
ล่าสุดทำทุกคนผวา บนโลกออนไลน์ได้เผยภาพคนกักตุนอาหารกันอย่างหนัก บนชั้นวางสินค้าประเภทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแห้ง ถูกกว้านซื้อไปเกลี้ยง
“ถ้าสมมติเรามีความเครียดที่มากเกิน เราก็จะเหมือนคล้ายๆ จะแพนิกค่ะ แล้วก็อาจจะทำให้เราซื้ออาหารมากักตุน หรือว่ามีการตอบสนองที่มันอาจจะเกินความเป็นจริง ความจำเป็นที่จะต้องทำ ตอนนี้คือมันมีการแชร์ข้อมูลอะไรที่เยอะมากๆ ด้วยความที่เรารู้สึกว่าแบบมันไม่ชัดเจนว่ามันเกิดอะไรขึ้น ตอนนี้ติดกันกี่คนแล้ว เราก็พยายามจะไปหาข้อมูลจากโซเชียลมีเดียกันเยอะ เพราะอาจจะคิดว่าข้อมูลที่ได้จากโซเชียลมีเดียมันเร็ว เป็นการอัปเดตที่รวดเร็วมากกว่าจะไปรอข่าวจากหนังสือพิมพ์ หรือว่ารอให้รัฐบาลมาประกาศแต่ทีนี้เราอาจจะตระหนักนิดหนึ่งว่าข้อมูลที่เราได้จากโซเชียลมีเดียมันยังไม่ได้ถูกคัดกรองมา แล้วบางทีมันอาจจะเป็นข้อมูลที่เพิ่ม เน้นทางด้านอารมณ์มากกว่าความเป็นจริง มากกว่าข้อมูลที่อยู่ในหลักเหตุและผล”
[ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช]
ผู้เชี่ยวชาญรายเดิมยังย้ำอีกว่า ให้หลีกเลี่ยงการเสพโซเชียลมีเดียให้น้อยลง พยายามติดตามแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่เป็นข่าวมากกว่าที่จะไปเสพข้อมูลจากการโพสต์ของเพื่อนๆ หรือข้อมูลต่างๆ ที่เน้นไปถึงอารมณ์ เพราะจะทำให้รู้สึกหวาดกลัว และตื่นตระหนกได้มากเกินความจำเป็น
“คือตอนนี้เราอาจจะเห็นในโซเชียลมีเดีย หรือเห็นในรูปภาพ เพราะคนถ่ายรูปตัว shelf ซูเปอร์มาร์เกต แล้วมันก็ไม่มีของแล้ว แต่ว่าเราลืมไปเลยว่าด้วยความที่เราไม่เห็นคนที่ถ่ายรูปที่มีของเต็มไปหมดเลยแล้วก็เอามาโพสต์ เพราะฉะนั้นพอเราเห็นอย่างนี้เราก็ตีความไปเลยว่าทุกที่มันจะต้องเป็นอย่างนี้แน่นอน แต่จริงๆ แล้วมันอาจจะเป็นที่สองที่เอง ไม่ใช่ทุกที่ที่ของหมด เพราะฉะนั้นเสพสื่อให้น้อยลง รับมือในระดับที่เหมาะสม นั่นก็แปลว่าเราต้องประเมินแล้วว่าบางทีเราไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อทิชชูมาแบบ 20 ลังอะไรแบบนี้ บางทีจำเป็นแค่ลังเดียว หรือว่าอาหารแค่กล่องเดียว เรารู้ว่าทุกคนในโลกนี้ก็กำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องประเมินแล้วว่าเราจำเป็นแค่ไหน แล้วเราต้องการอะไรบ้าง อย่าตื่นตระหนกแล้วก็ลืมคิดไปว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้มันอาจจะไม่ได้จำเป็นกับเราก็ได้”
ในขณะเดียวกัน จำเป็นต้องใช้ชีวิตให้มีความเครียดในระดับที่พอดี เพื่อที่จะรับมือ และตอบสนองต่อการคุกคามต่อโรคระบาดที่เข้ามาในชีวิตได้
“ในมุมจิตวิทยาเลย ความแตกต่างของโควิด-19 และก็ไข้หวัดอาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของความไม่แน่นอน เพราะว่าถ้าเป็นไข้หวัดเราก็จะรู้แล้วว่าจะต้องรับมืออย่างไร เราจะต้องไปหาหมอ เราจะทราบว่าจะมียาอะไรบ้าง หรือว่าเรามีประสบการณ์ในการเป็นไข้อยู่แล้ว แต่ทีนี้โควิด-19 เองมันจะลิงก์เรื่องของโรคระบาด มันก็เลยทำให้เราเกิดความกลัวที่มาจากความไม่แน่นอน เพราะเราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นมากกว่าเดิม หรือว่าพรุ่งนี้เราจะพบยาที่รักษาได้ไหม ทีนี้ความไม่แน่นอนมันก็เลยทำให้เกิดความกลัวขึ้น แต่ถ้ามองในจิตวิทยาเลยค่ะ มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ คล้ายๆ สัญชาตญาณของมนุษย์ที่จะรับมือกับความกลัว โดยสร้างความเครียดขึ้นมา
ความเครียดในระดับที่มากเกินหรือน้อยเกินก็อาจจะส่งผลทางลบให้แก่วิธีการรับมือของเราได้ ถ้าสมมติเราตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 ในระดับที่น้อยเกินไป ก็อาจจะส่งผลให้เราไม่ตระหนักถึงสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้น ทำให้เราอาจจะไม่ได้ป้องกันตัวเราเอง ไม่ได้ล้างมือ หรือว่าไม่ได้อยู่ห่างจากคนที่มีความเสี่ยง อย่างนี้มันก็ทำให้มีความเสี่ยงได้เหมือนกัน แต่ว่าถ้าสมมติมันเป็นการตอบสนองที่มันมากเกินไปยิ่งเป็นผลลบ ก็คือหนึ่งเลยจากความเครียดมันก็จะกลายเป็นความวิตกกังวล พอทีนี้เรามีความวิตกกังวลมันก็จะทำให้สมองเราประเมิน แล้วก็ประมวลผลข้อมูลต่างๆ ได้อย่างผิดเพี้ยน ถ้าเราไม่มีสติ ไม่ได้ประมวลข้อมูลที่อยู่ในเหตุและผล ก็จะทำให้เรารู้สึกว่ามันมากๆ แล้วเราก็ไม่สามารถที่จะรับมือได้ อยู่ในหลักเหตุผลก็ค่อนข้างที่จะสำคัญ อย่าประเมินความสามารถในการรับมือของเราในระดับที่ต่ำเกินไป จริงๆ แล้วเรามีความสามารถในการรับมือกับปัญหาได้ดี”
พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ทุกปัญหามีทางออกเสมอ
“บางทีเราอาจคิดว่าการกักตัวเองน่าเบื่อ ทำให้เราออกไปทำอะไรไม่ได้ แต่ว่าเราอาจจะเปลี่ยนว่าจริงๆ แล้วการกักตัวเอง หรือว่าการอยู่บ้านมากขึ้น ก็อาจจะทำให้เรามีโอกาสพัฒนาตัวเอง หรือว่าบางทีเราอาจจะห่างเหินไม่ได้คุยกับครอบครัวไปนาน ก็ใช้โอกาสนี้ทำในสิ่งที่ไม่มีโอกาส”
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยายังช่วยแนะอีกว่า พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ คนรอบข้างก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคอยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
“ถ้าเรามองว่าตัวเราเองมีจุดแข็ง อาจจะลองคิดว่าที่ผ่านมาเรารับมือกับปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ หรือว่าปัญหาที่มันเข้ามาโดยที่เราไม่ได้ตั้งตัวอย่างไรบ้าง แล้วหยิบตรงนั้นเข้ามาเตรียมความพร้อมให้แก่ตัวเราเองว่าที่ผ่านมาเราทำสิ่งนี้ โดยวิธีนี้ เพราะฉะนั้นในอนาคตเราก็ใช้สิ่งต่างๆ เหล่านี้มารับมือกับความไม่แน่นอนได้ ความกลัวมันเป็นความรู้สึกที่ติดต่อกัน ถ้าตัวเราเองระงับความกลัวไว้ก่อน แล้วออกมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความมั่นใจว่าเราสามารถรับมือได้ คนอื่นที่อยู่รอบข้างเราก็สามารถรับรู้สิ่งนั้นได้เหมือนกัน ถ้าเราใช้ชีวิตด้วยความกลัว คนข้างๆ ก็จะรู้สึกแพนิก รู้สึกหวาดกลัวไปด้วย เพราะฉะนั้นเราอาจจะไม่ต้องรอให้สถานการณ์เบาลง เราก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำให้ตัวเอง เป็นผู้นำให้แก่คนรอบข้างของเรา และเชื่อว่าเดี๋ยวสถานการณ์มันก็จะผ่านพ้นไปจริงๆ แล้วถ้าเรามองข้างๆ เราจะรู้ว่าโซเชียลซัปพอร์ตมีการสนับสนุนจากคนรอบข้าง เราให้กำลังใจกันดีในระดับหนึ่งนะคะ บางทีเราอาจจะเหมือนมองข้ามไปในสถานการณ์ลบๆ มันก็ยังมีสิ่งดีๆ อยู่”
ไม่เพียงเท่านี้ยังฝากทิ้งท้ายไว้อีกว่า อยากให้ทุกคนดูแลตัวเอง และทำตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และเชื่อว่าไทยเราจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ได้อย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมาก็เคยเกิดโรคระบาดมาแล้วเหมือนกัน
“อยากจะให้ทำตามขั้นตอน คำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข หรือว่า WHO ก่อน ก็คือเราต้องดูแลตัวเราเองด้วย ถึงแม้เราคิดว่าเราไม่ได้มีความเสี่ยงอะไร แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ต้องช่วยกัน ที่ผ่านมาเราก็มีโรคระบาด ไม่ว่าจะเป็นซาร์ส หรืออีโบลา เราก็ข้ามผ่านพ้นไปได้ แล้วก็อีกสิ่งหนึ่งเลยต้องยอมรับว่าแพทย์ของเราค่อนข้างที่จะเก่ง ในโลกของเราตอนนี้เทคโนโลยีมันก้าวไปไกล เรามีบุคลากรที่มีความสามารถ เรามีเทคโนโลยีที่ช่วยเหลือทางการแพทย์ค่อนข้างเยอะ เพียงแต่ว่าตอนนี้มันอาจจะเข้าขั้นโรคระบาดอยู่ แต่ทุกอย่างเดี๋ยวมันก็จะดีขึ้น”
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “นารากร ติยายน” อินสตาแกรม “jchavano”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **