xs
xsm
sm
md
lg

คำว่าแก่เป็นเพียงอายุ!! “บาริสป้า” วัยเก๋า คั่ว-บด-ชง-ดริป ช่วยคนวัยเกษียณ [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดใจป้าพิม “บาริสป้า” วัยเก๋า กับร้านกาแฟลึกลับที่อยู่ในซอยลึก คั่วเอง บดเอง ชงเอง ใส่ใจทุกขั้นตอน รังสรรค์ความอร่อยด้วยสองมือ มีเอกลักษณ์เด่นชัดไม่ใส่น้ำตาล แม้ร้านจะโด่งดังก็ไม่ลืมแบ่งปัน สอนฟรีให้วัยเดียวกันที่อยากมีร้านกาแฟเหมือนกัน พร้อมสู้ทุกคำดูถูก ว่าจะไปไม่รอด


แก่อย่างมีคุณภาพ! เปิดร้านกาแฟในวัย 70 ปี

“ก่อนจะมานึกก่อนเลยค่ะว่ากาแฟร้านนี้มีแต่กาแฟ ไม่มีชาเชียว ไม่มีโกโก้ อย่ามาถามหา ตั้งใจมาเลย แล้วที่สำคัญกาแฟทำช้า กาแฟไม่มีน้ำตาล ถ้ารับได้ค่อยมา”
หญิงในวัยอายุย่าง 71 ปี ที่สวมเสื้อยืดสีดำ กางเกงขาสามส่วน เส้นผมที่ดกดำปนสีขาวเล็กน้อย กำลังก้มๆ เงยๆ ท่าทางทะมัดทะแมง จัดเก้าอี้เพื่อเตรียมเปิดร้าน ป้าพิม-เพลินพิศ เรียนเมฆ เจ้าของร้านกาแฟ “Mother Roaster”
ในวันที่อายุ 70 ปี หลายคนคงอยากจะพักผ่อน ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวอย่างเต็มที่ แต่สำหรับผู้หญิงคนนี้ กลับเลือกที่อยากเปิดร้านกาแฟเป็นของตัวเองในวัยเกษียณ



“ก็ใช้ชีวิตปกติ เกษียณก็อยู่บ้างมั่ง เที่ยวมั่ง เราเป็นคนกินกาแฟกันทั้งบ้าน วันหนึ่งลูกเขาก็ชวนไปออกบูธขำๆ กันไหม ขายกาแฟกันดีกว่า เราเริ่มกินกาแฟรุ่นใหม่กัน ก็คือกาแฟไม่ใส่น้ำตาล เป็นกาแฟดำอย่างเดียว ก็เลยเริ่มสนุกกัน 
เราปลดจากภาระทั้งหลายทั้งปวง ไม่ต้องเลี้ยงลูก ไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องผ่อนบ้าน ไม่ต้องมีอะไรๆ มันถึงเวลาที่เราควรจะพักผ่อน แต่ในความพักผ่อนนั้น คุณพักผ่อนแบบไหน ความสุขของคนเรามันต่างกันอยากเที่ยวได้เที่ยว ป้าอยากทำกาแฟก็ทำ”
จุดเริ่มต้นมาจากการที่ชื่นชอบการกินกาแฟกันทั้งบ้าน รวมถึงลูกชายพาออกบูทขายกาแฟบ้างบางครั้ง ทำให้เมื่อถึงวัยเกษียณก็เริ่มแสดงหาในสิ่งที่ชอบ ตะลอนไปตามร้านต่างๆ อยากรู้ว่ากาแฟร้านไหนเป็นยังไง ร้านไหนถูกใจ ร้านไหนไม่ถูกใจ ไปจนมีความรู้สึกว่าไม่ได้รสชาติอย่างที่ต้องการ จึงอยากเปิดเป็นของตัวเอง



“มันเริ่มมาจากงานโฟล์ค คือลูกเขาเล่นรถโฟล์ค แล้วก็จะมีงานโฟล์ค เราก็ไปออกในงานอย่างนั้น ก็เออสนุกดี ไปๆ มาก็มีคนชวนให้ไปที่ K-village มันจะมีอีเวนต์บ่อยๆ เราก็ไปออก เดือนหนึ่งครั้งหนึ่ง ของใครจัดก็แล้วแต่ที่อยากไป ก็คือไป
พอไปแล้วก็คือสนุก มันได้ออกเดือนละครั้ง เดือนละ 2 ครั้ง แต่หลังๆ มาก็ไปแค่เสาร์-อาทิตย์ รู้สึกยังสนุกไม่พอ ก็เลยคุยกับลูกว่าถ้าเราได้เปิดร้านเล็กๆ สักร้านหนึ่ง วันธรรมดาได้ออกมานอกบ้านด้วย ก็น่าจะดีกว่าอยู่บ้านเฉยๆ เพราะวันธรรมดาเราก็อยู่บ้านไง ออกเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ และเดือนละครั้ง หรือ 2 ครั้งแค่นั้นเอง


[ลูกชายทั้ง 4 คนที่ช่วยซัปพอร์ตคุณแม่ตลอด]

รู้สึกว่าเราอยากใช้เวลาให้สนุกกว่านี้ ยังคิดว่าเรายังทำอะไรได้ เพราะว่าเราก็มั่นใจว่า มีคนยอมรับในสิ่งที่เราทำ คนชอบเหมือนเรา มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งซึ่งจะไม่ได้ขาดเวลาเราไป
ก็เริ่มสรรหาที่กัน สนุกมาก ขายคนเดียว ทำทุกอย่าง ไม่ได้เข้าห้องน้ำ ไม่ได้กินข้าว แม้กระทั่งจะดื่มน้ำไม่มีเวลา คนมาเยอะมากตั้งแต่วันแรก”
เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ในด้านกาแฟมาทั้งชีวิต เรียนรู้ ลองผิด ลองถูก ค้นคว้าด้วยตัวเอง
“ป้าค้นคว้ามา เช่น แอโร่เพรส (เครื่องชงกาแฟ) ทำไมมันถึงจะได้รสที่ดี เพราะแอโร่เพรสมันก็คือการกดกาแฟลงไป กาแฟมันถูกบีบคั้นอยู่แล้ว ทำยังไงให้มันได้เต็มรสของมันมากที่สุด เราก็ไปดูของเขา แล้วก็หัด เราฝึกฝนด้วยตัวของเราเอง
ตอนที่ป้าอายุ 20 กว่าๆ ป้าเคยทำทัวร์ สมัยก่อนพาคนไปวัด ไปฟังธรรม ไปแต่ละครั้งเราก็ไปนอนวัด แล้วตื่นเช้ามันก็มีทำอาหารให้เขากิน ชงกาแฟให้เขากิน
กาแฟที่ป้าชงก็เป็นกาแฟโบราณรุ่นเก่า แต่แทนที่เราจะใช้ถุงมันช้า เราก็ใช้หมู่เลยค่ะ ซึ่งวิธีการอย่างนั้นเขาเรียกว่าดริป แต่เราไม่รู้ คือสมัยนี้ที่เราทำ ทีละแก้วมีริปเปอร์ วิธีการอันนั้นป้าทำมาเมื่อสมัย 40 กว่าปีที่แล้ว แต่ป้าใช้กระชอนอันใหญ่วาง ใช้ผ้าขาวบางวาง ใช้กาแฟใส่ ตักน้ำร้อนราดให้มันเป็นกาแฟ”
ในซอยลึก ตรอกศาลเจ้าโรงเกือก มีบ้านไม้สองชั้น เก่าๆ ถูกปิดตายมานานกว่า 40 ปี โดยชั้นล่างเต็มไปด้วยที่เก็บอะไหล่เชียงกง ใครจะไปคิดว่าจะมีร้านกาแฟน่ารักๆ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตอนนี้



“คนแถวนี้ทุกคนปรามาสหน้าเราหมด เข้ามาอยู่ข้างใน ลึกขนาดนี้ใครจะมา เขาพูดใส่หูเราค่ะ ให้เราได้ยิน เขาพูดกันเองนั่นแหละ แต่บังเอิญเราเป็นคนมีสาระได้ยินเขา เขาก็พูดได้ยินตลอดเวลา
แต่หลังจากนั้นได้สักอาทิตย์หนึ่งมั้ง คำพูดนั้นหายไปแล้ว เพราะลูกค้ามาไม่ได้หยุดเลย เดินขึ้นมาทุกคนจะเซอร์ไพรส์มาก ร้านกาแฟจริงเหรอ เพราะเขาต้องเดินผ่านข้างล่าง ซึ่งเราเก็บไม่ได้ เพราะว่าข้างล่างมันเป็นของเขา และเขาก็ยังใช้งานอยู่ ยังมายกของ ยังมาอะไรอย่างนี้ มันก็เลยกลายเป็นอย่างนั้น”





ทัศนคติไม่เคยแก่ตามวัย ยุคสมัยเปลี่ยนไป จึงต้องมีมุมมองพร้อมที่จะรับมือการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถึงจะอยู่รอดได้
“อาจจะเป็นเพราะว่าเราอยู่กับลูกมั้งคะ เราอย่าคิดว่าเราแก่แล้วเรารู้ทุกเรื่อง เป็นไปไม่ได้หรอก คนจีนเขาสอนถ้าคุณไม่รู้จักโง่คุณจะไม่ได้เป็นใหญ่ ฉะนั้นโง่บ้างก็ได้ อันไหนที่ไม่รู้ก็ถาม อย่าอายที่จะถามเด็ก เพราะว่าบางอย่างเราก็ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง เด็กเขารู้มากกว่าเราเยอะแยะ
ป้าค่อนข้างที่จะทันสมัย ก็คือเสพสิ่งต่างๆ ที่มันผ่านเข้ามาในชีวิต ป้าเคยพูดเสมอว่าชีวิตมันคือการเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนแปลงทุกวัน พระอาทิตย์มีขึ้นมีตกทุกวัน ใช่ไหมมันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกวัน
ถ้าเราไม่รู้จักเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่รู้จักเปลี่ยนทัศนคติของตัวเอง ไม่รู้จักมองอะไรๆ ที่มันกว้างขึ้น เราก็จะเป็นคนแคบอยู่อย่างนั้น อยู่ใต้กะลา ถ้าเราไม่ปล่อยตัวให้มันเปิดกะลาออกไปเราก็ไม่เห็นโลกกว้าง”

คั่วเอง ชงเอง ดริปเอง

“สิ่งหนึ่งที่เราไม่เหมือนที่อื่นก็คือ ทั้งร้านมีแต่manual เป็นกาแฟmanualทั้งหมด แตกต่างตรงที่เราคั่วกาแฟเอง แตกต่างตรงที่เมล็ดกาแฟมีให้เลือกเยอะ และแตกต่างตรงที่เรามีเมนูน้อยมาก เราไม่ได้ขายอย่างอื่นๆ ยกเว้นกาแฟดำอย่างเดียว เพียงแต่กาแฟดำผสมนม กาแฟดำผสมน้ำผลไม้ เท่านี้เองค่ะ ไม่ได้มีอะไรมากซับซ้อนเลย”



ที่ร้านนี้มีขายเฉพาะเมนูกาแฟเท่านั้น และกาแฟของที่ร้านจะไม่ใส่น้ำตาลหรือไซรัป และไม่มีให้เติม เพราะอยากให้ทุกคนได้ลิ้มรสชาติของกาแฟที่แท้จริง โดยไม่ต้องปรุงแต่ง
นอกจากจะเป็นร้านกาแฟที่ไม่มีน้ำตาลแล้วนั้น เสน่ห์ของร้านอีกอย่างเลยคือ เครื่องชงกาแฟที่เป็นแบบแมนนวล พร้อมทั้งมีเมล็ดกาแฟให้เลือกทั้งไทย และนอกอีกด้วย
“อันหนึ่งเลยเราอยากเซฟต้นทุน อันที่สองเลยเสน่ห์ของมัน เราอยากเป็นร้านกาแฟที่แตกต่าง เพราะว่าด้วยความเป็นอย่างนี้มั้งคะ มันเลยทำให้เรายังยืนได้อยู่ทุกวันนี้ เพราะเรามีตัวตนชัดเจน เราชัดเจนในตัวตนของเรา เราขายแต่กาแฟดำ ขายแต่กาแฟอย่างเดียวไม่ขายอย่างอื่น คนที่กินกาแฟดริปจะชอบ เพราะเรามีเมล็ดให้เลือกเยอะ ทั้งเมล็ดไทยและเมล็ดนอก
พูดถึงสูตร ป้าไม่ได้มีสูตรตายตัวนะ ถึงบอกไม่ค่อยเหมือนคนอื่นหรอกค่ะ ไม่ได้ต้องเป๊ะอะไรขนาดนั้น แต่ที่เราช่างทุกอย่างเพื่อว่าให้มันคงที่เท่านั้นเอง อย่างเช่นเราอยากได้น้ำ 120 ถ้าไม่ช่างเราจะไม่รู้เลยว่าน้ำมันจะออกมา 120 ไหม มันอาจจะเกินไป 150 แล้วมันทำให้กาแฟจืด หรือน้อยกว่า 120 ทำให้กาแฟเข้มเกินก็ได้

center>

เมื่อก่อนป้าคั่วด้วยกระทะนะ เดินอยู่อย่างนั้นไม่ได้หยุด 2-3 ชม. เพื่อคั่วกาแฟ ตอนเปิดร้านใหม่ๆ เพราะวอลลุ่มมันยังไม่เยอะ พอถึงวันหนึ่งอย่างที่บอกค่ะ ลูกกลัวตายในหน้าที่ แม่คั่วเครื่องเถอะ ก็กลายเป็นเครื่องแล้ว มันไม่ได้เหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่บางตัวมันออริจินอลจริงๆ เราอยากให้มันดี เราก็ยังคั่วมืออยู่ อย่างเช่นตัวพิเศษๆ อย่างเกชาบางตัวที่เราอยากให้มันเป็นอย่างที่เราอยากได้ เราก็คั่วมือ
แต่ทุกสิ่งอย่าง แม้กระทั่งการคั่วมือ มันก็ต้องมีโปรไฟล์เหมือนกัน เราก็ต้องจำ เวลาเราคั่วเราก็ต้องจำให้ได้ด้วยว่าตัวนี้ควรเริ่มไฟที่เท่าไหร่ มันต้องมีโปรไฟล์ เพราะฉะนั้นเราต้องจำให้ได้
อย่าลืมว่าคอมพิวเตอร์เกิดมาจากอะไร เกิดมาจากคนถูกไหม ใครเป็นคนป้อนข้อมูลคอมพิวเตอร์ก็คนนั่นแหละ เครื่องคั่วก็เหมือนกัน เราจะใช้เขาทำงาน เราต้องทำเป็นก่อนถูกป่ะ ทุกสิ่งมันต้องเริ่มจากตัวเรา เราต้องเรียนรู้ แล้วก็พัฒนาตัวเราด้วย ทุกขั้นตอน”
ต้องยอมรับว่าร้านนี้ใส่ใจทุกรายละเอียดจริงๆ แม้กระทั่งแก้วกาแฟก็เลือกมาแล้วว่าต้องเป็นแก้วแบบไหน และแต่ละเมนูแก้วที่ใช้ก็ไม่เหมือนกัน
“แม้กระทั่งแก้วดื่ม แก้วกาแฟที่จะเสิร์ฟให้ลูกค้า ถ้าเห็นแก้วกาแฟที่มันเป็นแก้วเย็นจะเข้าใจ มันเหมือนแก้วไวน์ที่ไม่มีขา เพราะว่าเวลาคุณจับแก้ว กระดกเข้า ปากมันจะพอดีจมูก คุณจะได้กลิ่นของกาแฟเต็มที่
เราเลือกมาหมดทุกอย่างค่ะ ทำไมเราถึงใช้น้ำแข็งกลมทำลาเต้ เพราะน้ำแข็งกลมมันมีความหนาแน่นสูง มันละลายช้า กาแฟจะยังรสชาติคงเดิมอยู่


[ Costa Rica Bach]

เราเลือกมาทุกอย่าว่าลาเต้จะใช้แก้วไหน ดริปใช้แก้วไหน ดริปร้อนใช้แก้วไหน ดริปเย็นใช้แก้วไหน เชคการาโต้ใช้แก้วไหน สโนไวท์ใช้แก้วไหน สโนไวท์ที่เช็กแล้วควรจะเป็นแก้วมีขาสวยๆ มีโฟมครีมข้างหน้า โฟมนม เวลาดื่มค่อยๆ จิบ ทุกอย่างแม้แต่แก้ว ความสวยงามของกาแฟ หลายอย่างค่ะ มันเป็นองค์ประกอบที่แบบจุกจิกมาก”



ป้าพิมเล่าถึงความละเอียดของกาแฟที่กว่าจะได้หนึ่งแก้ว สำคัญตั้งแต่เมล็ดกาแฟ จะใช้เมล็ดกาแฟอะไรดี ใช้ความร้อนเท่าไหร่ในการดริป น้ำร้อนที่ใช้มีค่า TDS (Total Dissolved Solids) เท่าไหร่ อุณหภูมิควรอยู่ที่เท่าไหร่ ควรใช้ดริปเปอร์ตัวไหนเพื่อดึงรสชาติกาแฟ
“เราอยากได้กาแฟเข้มเราใช้ดริปเปอร์ตัวไหน เราอยากได้กาแฟอ่อนเราใช้ดริปเปอร์ตัวไหน หรือเราอยากได้กาแฟที่มันครบรสใช้ดริปเปอร์ตัวไหน ทุกอย่างมีส่วนหมดเลยค่ะ มีผลหมด
เราเลือกให้เขาแล้ว ฉะนั้นลูกค้าจะเป็นตัวสกรีนเขาเองว่าเขาอยากได้อะไร แต่ถ้าเขาบอกไม่ถูกว่าอยากกินอะไร เราก็จะจัดให้ในส่วนที่เราสามารถทำได้ คือต้องคุยกันก่อน ไม่ใช่อยู่ดีๆ มาแล้วทำให้เขากิน
เอาอะไรก็ได้ที่ป้าคิดว่าดี คนนั้นจะไม่ได้กินกาแฟป้า เพราะว่าถ้าอะไรที่ป้าคิดว่าดีของป้าดีทั้งร้านค่ะ เอาตัวไหนก็ได้ที่อร่อยที่สุด อร่อยทั้งร้านค่ะ เมนูไหนขายดี ดีทั้งร้านค่ะ ป้าจะกวนประมาณหนึ่ง”
เมื่อถามถึงเมนูที่เป็นซิกเนเจอร์ของร้านเวลาลูกค้ามาเยือนและสั่งบ่อยที่สุด กลับได้รับคำตอบว่า ทุกเมนูขายดีหมด ไม่มีเมนูไหนที่โดดเด่นไปกว่ากันแม้แต่น้อย



“มันไม่ได้ว่าขายดีที่สุดหรอกค่ะ ทุกอย่างมันคือเฉลี่ยเนาะ ป้าไม่ได้คิดว่าอะไรขายดีกว่าอะไร เกือบทุกเมนูค่ะ เพราะมันมี 9 เมนู ไม่โดดมาสักเมนูหนึ่ง
นมก็มีลาเต้อย่างเดียว ฉะนั้นคนกินนมเขาก็สั่งแต่ลาเต้ถูกไหม น้ำผลไม้ก็มีแค่มะนาว ส้ม แล้วก็ส้มจี๊ดก็แค่นั้น5 ก็คือ เชคการาโต้ ก็ช็อตเอสเพรสโซ่ที่ช่างภาพกิน แล้วเอาไปเช็กก็เป็นเชคการาโต้ กาแฟนมเอาไปเช็กก็เป็น สโนไวน์เท่านั้นเองค่ะ แล้วก็มีดริปร้อนกับดริบเย็นจบแค่นี้
เบสท์ของเราเลยคือกาแฟ ทั้งร้านมีแต่กาแฟนะคะ ไม่มีชา ไม่มีอะไรทั้งนั้น ขนมพึ่งมาเพิ่มตอนที่มาขยายร้านนี่เองนะ มีสแน็กนิดหน่อยค่ะ เป็นพาย เป็นบราวน์นี่ เป็นครัวซองต์นิดหน่อย ให้กินกับกาแฟนม ไม่ได้ให้กินกับกาแฟดำนะ เพราะว่าบางคนกินกาแฟนมมา เช้ามาเขาก็อยากได้อะไรใส่ปากระหว่างกินกาแฟ
คนไทยยังติดสแน็กอยู่ เวลากินกาแฟต้องกินกับเค้ก กินกับอะไรอย่างนี้ค่ะ แต่ของเราจะเน้นเฉพาะกาแฟนมที่ยังกินคู่กับสแน็กอยู่นิดหน่อยค่ะ
เรียกได้ว่าใส่ใจ และลงมือทำเองทุกขั้นตอน ป้าพิมเล่าว่าถ้าปลูกกาแฟได้เองคงปลูกไปนานแล้ว เพราะอีกหนึ่งความฝันของป้านั้นอยากมีสวนกาแฟเป็นของตัวเอง
“กาแฟมันปลูกมันต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเก็บเกี่ยว ถึงตอนนั้นแรงป้าคงไม่ไหวที่จะเดินไปถ่อมๆ เก็บเมล็ดกาแฟแล้วแหละ แต่ก็ยังอยากปลูกอยู่ ยังอยากมีสวนกาแฟของตัวเองก็คงไม่นานนี้หรอกค่ะ
เพราะว่าลูกเขาอยู่บ้านนอก ครอบครัวเขาอยู่บ้านนอกมันมีพื้นที่ หรือมันมีไร่เล็กๆ อยู่ ไร่กาแฟอยู่ ป้าไม่อยากพูดมาก เพราะว่ามันยังอยู่ในขั้นตอนการพูดคุยกันอยู่ ลูกเขาปลูกมานานแล้วค่ะ เก็บเกี่ยวได้แล้ว แต่ว่ามันไม่ได้เยอะ คือบ้านเรากินกาแฟกันทั้งบ้าน ก็คือเขาก็เก็บมาให้ไว้กิน ไม่ได้อะไรมากมาย”

ร้านกาแฟคือความสุข แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต

“ร้านกาแฟคือความสุข แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต ชีวิตมันยังมีความสุขข้างหน้าตั้งเยอะแยะ ไม่ใช่กาแฟอย่างเดียว คำตอบคือไม่ใช่กาแฟ มันคือสิ่งที่เราพอใจต่างหาก”



ความสุขเกิดขึ้นได้ทุกวัน อยู่ที่ว่าจะหาเจอหรือเปล่า ความสุขของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ความสุขของป้าพิมคือการได้มีชีวิตอยู่ในทุกๆ วัน
“ความสุขมันอยู่กับเราทุกวันค่ะ อยู่ที่ว่าเราจะหามันเจอหรือเปล่า ความสุขของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ความสุขของป้าก็คือได้มีชีวิตอยู่ทุกวัน ได้ตื่นขึ้นทุกวัน ได้ทำอย่างที่อยากทำ ที่มันไม่เกินกำลังสำหรับเรา ทำอะไรก็ได้ที่ไม่เกินลิมิตตัวเอง ไม่เกินแรง ไม่เกินเงิน ไม่เกินความรู้ความสามารถของตัวเองนั่นคือความสุขแล้ว
เราไม่ได้คิดว่าเราเปิดร้านกาแฟนะ เราไม่ได้คิดว่าเราทำธุรกิจน ยังคิดอยู่ว่าเราทำอะไรสนุกๆ อย่างที่เราอยากทำ มันไม่ใช่ธุรกิจ ถ้ามันจะเป็นธุรกิจก็คือมันจะเป็นธุรกิจของลูกๆ เท่านั้นเอง สำหรับป้าไม่ใช่ สำหรับป้ามันช่วยเติมเต็มอะไรหลายๆ อย่างที่เรายังไม่ได้ทำ”
เปิดร้านวันแรกก็ได้รับผลตอบรับที่ดีสำหรับป้าวัยเกษียณที่ตั้งใจเปิดเพื่อความสนุก และไม่ได้คิดว่าเปิดเพื่อเป็นธุรกิจ ไม่ได้คิดถึงกำไรที่จะต้องได้รับ ไม่ได้คิดว่าตัวเองต้องประสบความสำเร็จ เพียงแต่คิดว่าสามารถทำอะไรได้อีกตั้งมากมายตราบใดที่มีลมหายใจ
“ถึงวันหนึ่งมันไม่ประสบความสำเร็จก็คือไม่ประสบความสำเร็จ หมดตัวก็คือหมดตัว เริ่มใหม่ได้ทุกวัน ถึงบอกคุณจะล้มสักกี่ครั้งคุณลุกให้ได้แล้วกัน อย่าล้มนาน อย่านั่งแช่กับมัน ลุกขึ้นมา
ป้าไม่เข้าใจคำว่าประสบความสำเร็จ ความประสบของแต่ละคนไม่เท่ากัน ถ้าป้าประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจป้าว่าป้ายัง แต่ถ้าประสบความสำเร็จในแง่ความตั้งใจ ในแง่ของการตั้งใจว่าเราอยากทำกาแฟ เรามีความสุขในการทำ เราออกมาหาความสุขนอกบ้านตรงนั้นเราประสบความสำเร็จแล้ว แต่ในแง่ธุรกิจยังค่ะ
ถ้ามันยังมีคนอยู่ หรือพรุ่งนี้ป้ายังลุกขึ้นตื่นได้อยู่ ก็นั่นแหละค่ะ ถ้าไม่มีป้า ร้านนี้ก็อาจจะไม่มีต่อไปก็ได้ เพราะลูกเขาก็ไม่ได้คิดว่ามันคือธุรกิจ เขาเข้ามาช่วยแม่เท่านั้นเอง ถึงบอกว่าเราไม่ได้คิดว่าเราทำธุรกิจนะ แต่เราได้เจอลุกทุกวัน เสาร์-อาทิตย์เราเจอลูกทุกคน เจอหลานได้กินข้าวกันเย็นวันเสาร์ เย็นวันอาทิตย์ นั่นคือความสุขของเราแล้ว
อย่างน้อยเราก็มีประโยชน์ เพราะว่าการที่เราทำอะไรแล้วสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนได้ มันเป็นอะไรที่ดีมากๆ รู้สึกดีแล้วมันทำให้เรามีกำลังที่จะทำอะไรที่ดีๆ ต่อไป สังคมมันจะได้ดีๆ คนดีๆ จะได้เกิดขึ้นเยอะๆ”
รอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่ผู้ที่มาเยือนที่ร้านจะได้เห็นกันบ่อยๆ นั้น ป้าพิมก็ยอมรับว่าไม่ได้เป็นคนหัวเราะเฮฮาตลอดเวลา เพราะก็มีค่อนข้างบ่อยที่เจอกับลูกค้าที่เป็นขาวีน ทำให้รู้สึกไม่ดีอยู่บ้าง แต่ก็พยายามควบคุมสติอารมณ์ตัวเองให้ได้
“เราได้พบปะเจอะเจอกัน ได้เจอคนหลายหลายรูปแบบ วีนแตกก็เยอะ มันมีคนหลายจำพวกค่ะ อย่างบางคนมาแล้วก็เอากลับไปเขียนป้าขาวีน คนเรามันต้องมีอารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง มีเป็นธรรมชาติอยู่แล้วค่ะ วันนี้อารมณ์ไม่ดี หรือบางทีเจอคำพูดอะไรหลายๆ อย่างที่แบบมันทำให้เรารู้สึกไม่ดี
คนโบราณเขาบอกน้ำขุ่นไว้ข้างใน น้ำใสไว้ข้างนอก แต่บางทีมันขุ่นมากจนน้ำใสก็เอาไม่อยู่มันก็มีเหมือนกัน บางคนกวนประสาท คนมันเยอะไง พูดรู้เรื่องก็มี พูดไม่รู้เรื่องก็มี ก็นิ่งๆ ไป ถ้ามันมากนักก็เดินหนี คือถ้าพูดไม่รู้เรื่องป้าวางปากกาแล้วก็เดินไป
พยายามคุมสติตัวเองให้อยู่ ฝรั่งถือว่าลูกค้าคือพระเจ้า แต่ป้าไม่ได้คิดแบบนั้น ป้าคิดอย่างเดียวว่า เรารับเงินเขาก็จริง แต่เราต้องมีศักดิ์ศรีในการรับ เราต้องสง่างามค่ะ เราไม่ได้ไปขอเขา
ถ้าเป็นไปได้นะ พยายามที่จะสงบสติอารมณ์ ยกเว้นไม่ไหวจริงๆ กวนจริงๆ ทำไมไม่มีปั่น อ้าวขอโทษนะกูไม่ขายของปั่น จะเอาอะไรอ่ะ ทำไมไม่มีโกโก้ ร้านอื่นเขาขายโกโก้เยอะแยะ ก่อนหนูจะเดินเข้ามาถึงร้านป้า 11 ร้าน แถวนั้นมีโกโก้ทั้งหมด ร้านเรามีแต่กาแฟ อันนั้นคือสุดแล้ว
ป้าไม่ได้เอาลูกค้าเป็นที่ตั้งนะคะ ค่อนข้างแปลกกว่าคนอื่น คือถ้าเขากินแล้วถูกใจโอเค ก่อนหน้าที่เราจะชงให้เขา เราถามเขาก่อน หนูชอบกาแฟเข้มไหม กาแฟเปรี้ยวได้หรือปล่า เอาเข้มมาก เข้มกลาง เข้มน้อย มีเปรี้ยวไหม เอาหวานนำ เอาหวานตาม อะไรอย่างนี้ค่ะ หวานในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าหวานน้ำตาลนะคะ หวานตัวกาแฟของมัน มันจะมีกาแฟบางตัวที่มีความหวานของมันอยู่”



ต้องเรียนรู้ลูกค้า ในขณะเดียวกันลูกค้าก็ต้องเรียนรู้สไตล์ของที่ร้านด้วย เพราะกาแฟร้านนี้ไม่ใช้เครื่องในการชง เป็นแบบแมนนวลทั้งหมด ใช้เวลาทำพอสมควร หากรอได้ก็ได้กิน ถ้ารอไม่ได้ก็ไม่ได้กิน
“ไม่ใช่ไม่แคร์ค่ะ แคร์ค่ะ เราแคร์ทุกความรู้สึก เราอยากให้ทุกคนที่เข้าหาเรา ที่ตั้งใจมาหาเรา ฟังให้ดีนะคะ ที่ตั้งใจมาหาเรา กลับไปด้วยความสุข นั่นคือสิ่งที่เราอยากทำ คนที่แค่ผ่านมาก็คือผ่านมา มันคือกระแส เขามาตามกระแส มาแค่หนสองหนแล้วเขาก็ไป
แต่ถ้ากระแสมันหมดไปก็คือหายไป คนที่อยู่จริงๆ ก็คือลูกค้าตัวจริง คนที่ชอบเหมือนเรา คนที่กินกาแฟเหมือนเรา กินกาแฟไม่ใส่น้ำตาล ไม่แคร์เลยว่ามันจะขมหรือมันจะหวาน”

ไม่ใช่ว่าแค่มีตังค์ ก็เปิดร้านกาแฟได้
“มันก็ง่ายค่ะถ้าคุณมีตังค์ ถ้าคุณคิดว่าการเปิดร้านกาแฟคือการมีตังค์แล้วเปิด อยู่ที่ว่าคุณสนใจแค่ไหนต่างหาก ถ้าคุณเปิดคิดว่ามันเป็นกระแส เปิดแล้วดีมีคนเข้าร้านเยอะๆ ขายดีก็แล้วแต่คุณ”
อย่าคิดว่ามีเงินแล้วเปิดร้านกาแฟได้ หากว่าอยากจะเปิดจริงๆ ต้องมีความสนใจ เรียนรู้เรื่องกาแฟแบบจริงจัง ถ้าคิดว่าแค่ซื้อเครื่องมา แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาสอนแล้วก็จบไป นั่นเป็นความคิดที่ไม่ใช่ เพราะทุกวันนี้ร้านกาแฟเปิดเยอะก็จริง แต่ก็ปิดตัวลงไปเยอะเช่นเดียวกัน
“อันที่หนึ่งเลยค่ะถ้าคุณอยากจะเปิดร้านจริงๆ คุณต้องสนใจมันจริงๆ เอาใจใส่จริงๆ เรียนรู้เรื่องกาแฟจริงๆ อย่าคิดว่าคุณมีเงินเปิด คุณซื้อเครื่องมา เขาสอนคนชงจบ ไม่ใช่
จะบอกว่าร้านกาแฟเปิดวันละ 5 ร้าน ปิดวันละ 10 ร้าน เป็นอะไรที่แบบเปิดง่ายมากเลยค่ะ มีเงินซื้อเครื่องชงกาแฟ เขามาสอนคุณเสร็จ ทำยังไง ชงยังไง ให้สูตรมาเสร็จ ลาเต้ใส่อะไร คาปูชิโน่ใส่อะไร ตีโฟมนมยังไง เขาสอนคุณเสร็จวันเดียวจบคุณก็เปิดร้านได้แล้ว
แต่ถ้าคุณไม่มีทริก หรือความรู้เฉพาะตัวกาแฟ คุณก็เหมือนร้านทั่วไปที่เปิดอยู่ นั่นคือ 5 ร้านที่เปิดอยู่ 10 ร้านปิด เพราะกาแฟมันก็เหมือนกันหมด รสชาติใกล้เคียงกันหมด ประโคมเข้าไป น้ำตาลเอย คอฟฟี่เมตเอย นมข้นหวานเอย หวานจับจิตจับใจ มันไม่เหลือกาแฟให้กินแล้ว



คุณต้องเรียนรู้ด้วยว่ากระบวนการกาแฟ อย่างของป้า ป้าจะบอกเลยว่ากาแฟมีกี่ประเภท กระบวนการหลังการเก็บเกี่ยวมีอะไรบ้าง กาแฟต้นหนึ่งปลูกใช้เวลาเท่าไหร่ เก็บเกี่ยวยังไง เวลาเก็บให้เก็บแต่เมล็ดสีแดง อย่าเก็บเมล็ดสีเขียว เก็บเสร็จแล้วกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยวมีอะไร มี Natural Process มี Honey Process มี Wet Process”
สำหรับหัวใจสำคัญของร้าน Mother Roaster การเอาใจใส่เป็นสิ่งสำคัญที่ป้าพิมย้ำกับเราเสมอ ที่ทำให้ร้านมีลูกค้ามีเข้ามาไม่ขาดสาย
“ถ้าคุณมีใจคุณทำได้ทุกอย่าง ใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด คนเราถ้าเราเอาใจใส่มันจะดีทุกอย่างค่ะ มันเริ่มตั้งแต่เอาใจใส่ร้านตัวเอง เอาใจใส่งานที่คุณทำ เอาใจใส่ลูกค้า ทุกอย่างมันออกมาดีหมดค่ะ อยู่ที่ใจอย่างเดียวเลย
ถ้าคุณจะเปิดร้านกาแฟ คุณศึกษาเรื่องกาแฟ สิ่งหนึ่งที่คุณต้องไปทำคือต้องไปเรียนคัปปิ้งมาก่อน ต้องรู้จักแยกแยะกาแฟให้ได้ก่อน ไม่งั้นจะบอกลูกค้าไม่ได้
ทำยังไงให้ได้เข้มกลาง ทำยังไงถึงจะตัวไหนไม่เปรี้ยว แล้วคุณจะได้เลือกให้เขาได้ถูก เหมือนหมอที่ต้องเลือกยาให้ถูกกับคนไข้ เหมือนกัน มันเรื่องละเอียดอ่อน ไม่ใช่ก็แค่กาแฟ ใช่ ไอ้ก็แค่กาแฟแต่กาแฟมันมีอะไรมากกว่านั้นเยอะแยะ มันไม่เหมือนกาแฟทั่วไป”
ทำร้านกาแฟให้เหมือนเป็นบ้านอีกหลังของลูกค้า สร้างความอบอุ่น ความคุ้นเคย คอยถามสารทุกข์สุกดิบกันเสมอมา



“ร้านที่นี่ลูกค้าจะมีความรู้สึกเหมือนมาหาคนคุ้นเคย มาหาญาติ มาหาเพื่อน มาหาผู้หลักผู้ใหญ่ กินกาแฟกันคุยกัน คนไทยมันมีลักษณะของความเป็นครอบครัวสูง เราไปบ้านใครก็แล้วแต่ สรรพนามเราใช้เรียก พี่ ป้า น้า อา เลยนับเป็นญาติหมด เด็กวัยรุ่นเรียนอยู่มาเรียกพี่ จะหันไปถามอยู่เหมือนกันว่าพี่คนไหน พี่ของพ่อหนูไหม (ยิ้ม)
มันก็เหมือนกันค่ะ มาที่นี่สิ่งที่ได้น่าจะเป็นความอบอุ่นมากกว่า เพราะเราคุยกับลูกค้าเกือบทุกคน ยกเว้นคนที่ไม่อยากคุยกับเรา
ที่ลูกค้ากลับมาเสมอๆ อันหนึ่งที่ดึงดูดเขาไว้ก็คือกาแฟค่ะ ถ้ากาแฟไม่ถูกปากเขา เขาคงไม่กลับมา มันมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างเป็นองค์ประกอบ มันไม่ใช่ว่ามันจะประสบความสำเร็จซะทีเดียวนะ ทุกอย่างมันต้องใช้เวลา เราต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
เหมือนกฎของแรงดึงดูดของโลกเลยค่ะ คนจำพวกเดียวกันจะดึงดูดคนจำพวกเดียวกันเข้าหา คนกินกาแฟเหมือนเราก็จะดึงคนที่กินกาแฟเหมือนเราเข้ามาหาเรา อันที่มันผ่านพ้นวงโคจรไปมันก็ไม่ใช่ ทุกวันนี้ที่ยังแฮปปี้อยู่ มันยังมีคนอย่างนี้เข้ามาหาเราเรื่อยๆ”

สอนฟรี สร้างอาชีพให้วัยเกษียณ
ทราบกันดีว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว นอกจากเปิดร้านกาแฟหลังเกษียณอายุ คุณป้าวัยเก๋ายังมีใจเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่นด้วยการเปิดสอนความรู้ในเรื่องกาแฟให้กับวัยเกษียณ ที่รู้สึกว่าตัวเองสามารถทำอะไรได้อีกเยอะ ด้วยการสอนฟรีอีกด้วย



“จริงๆ ที่จะทำเวิร์กช็อป ก่อนหน้านั้นมีน้องเขามาเล่าให้ฟังว่า ก็เข้ามาคุย ป้าดีนะมีอะไรทำ ญาติเขาทำงานบริษัทใหญ่ถอดหัวโขนไม่เป็น ถึงเวลาวันหนึ่งอยู่บ้านเฉยๆ มันมีความรู้สึกไร้ค่า เขาฆ่าตัวตายนะคะ มันก็เลยเป็นอะไรที่รู้สึกได้ฟังแล้วเศร้าใจมาก ก็เลยคิดว่า มันยังมีคนอีกเยอะที่เป็นแบบนี้ เป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งเขาไม่ได้มีโอกาสอย่างเรา
ก็เลยคิดว่าถ้าเราแชร์โอกาสให้พวกเขา สำหรับคนที่สนใจด้านกาแฟ จริงๆ ไม่ได้คิดว่าจะเอากาแฟมาเป็นพอตย์หลัก ใจอยากให้คนที่อยู่บ้านเฉยๆ ได้ออกมาข้างนอก อาทิตย์ละวันก็ยังดี มาเจอเพื่อน มากินข้าวกัน มาคุยภาษาเดียวกัน มาทำอะไรสนุกๆ กัน แต่ก็ไม่รู้จะทำอะไร เราก็เริ่มต้นจากกาแฟ”



ตั้งใจสอนเองทุกอย่าง ทุกขั้นตอน สอนวิธีชิมกาแฟ ดมกาแฟ ที่สำคัญความตั้งใจอีกอย่างคือเพื่ออยากให้กินกาแฟโดยที่ไม่ใส่น้ำตาลเพื่อสุขภาพที่ดี
สอนวิธีชิมกาแฟที่เขาเรียกคัปปิ้ง คนอื่นเขาสอนเสียตังค์นะ ของป้าไม่ เลือกกาแฟเลย เลือกแล้วก็จดเอาว่าอันนี้เขาเจออะไรบ้าง คนแก่ลิ้นมันก็ไม่ค่อยไปเท่าไหร่แล้วแหละ แต่ว่ามันคือความสนุก เขามีความรู้สึกสนุก
ป้าเปิดฟรีสำหรับลูกเพจคนที่ติดตาม ลูกหลานเขาติดตามเพจ ส่งแม่มาน่ารักจะตาย ต้องมาดู มันไม่ได้เป็นการสอน เป็นการแบ่งปันซึ่งกันและกัน ป้าก็จะบอกวิธีการหลายๆ อย่าง หัดให้เขารู้จักดมกาแฟ ที่สำคัญคือเราอยากให้เขากลับไปกินกาแฟโดยไม่ใส่น้ำตาล ไม่ใส่คอฟฟี่เมต ไม่กินทรีอินวัน เพื่อสุขภาพของเขา เขาจะได้อยู่กับลูกกับหลานนานๆ แค่นั้น

เปิดสอนมาแล้วทั้งหมด 2 รุ่น โดยรุ่นที่ 3 กำลังจะเปิดสอนในเร็วๆ นี้ ผลตอบรับก็ค่อนข้างดี คนที่เคยมาเรียนก็อยากจะกลับมาอีกแล้ว
“เพิ่งจะรุ่นที่ 2 เองค่ะ โอเคเลยค่ะ คนถามมาทุกวันว่าเมื่อไหร่จะเปิดสักที รุ่นแรกรับ 8 คน รุ่นสองรับ 6 คน แล้วตอนนี้ก็จะรับ 8 คน เขาก็อยากมาซ้ำนะ เพราะเขามีความรู้สึกว่าเขายังได้ไปไม่หมด ยังอยากมาซ้ำอยู่ ยังอยากมาเจอเพื่อน ยังอยากมาคุย มันดีอ่ะ
เมื่อก่อนป้าทำวันพุธ เดี๋ยวไปเจอคนนั้น เขาแลกไลน์ แลกเบอร์โทรศัพท์กันเลยนะคะ เพื่อนในกลุ่มด้วยกัน ซึ่งเขาอาจจะนัดเจอกันกินข้าวก็ได้เราไม่รู้ แต่มันเป็นความน่ารัก คนแก่วัยเดียวกัน คุยภาษาเดียวกัน
เพราะบางทีเขาไปคุยกับลูกกับหลานเขาก็ทะเลาะกัน คุยกันไม่รู้เรื่อง บางคนยังไม่รู้จักเปิดอะไรใหม่ๆ ก็มีความรู้สึกคุยไม่รู้เรื่อง ไอ้อย่างนี้มันคุยวัยเดียวกัน”
"ลองคิดอยู่ซิว่ามันจะน่ารักไหม คุณป้าใส่ชุดแมรี่ป็อปปิ้นส์ยืนอยู่ในร้าน 6 คนดูแลลูกค้า ตั้งแต่ก่อนเปิดร้านกาแฟ คิดว่าอยากทำอะไรสนุกๆ เพราะสาเหตุว่าวันหนึ่งที่ญี่ปุ่นเดินหลงเข้าไป เปิดประตูเข้าไปตกใจ ทั้งร้านชุดแมรี่ป็อปปิ้นส์ มีแต่คนแก่ทั้งร้านอยู่ในร้านที่ญี่ปุ่น เป็นร้านอยู่ในซอกเหลือบ
ก็เลยคิดว่าเดี๋ยวพอเราทำเวิร์กช็อปไปสักระยะหนึ่ง มีคนแก่อยู่กลุ่มหนึ่ง จะถามเลยว่าใครว่าง ผลัดเปลี่ยนกันมา คนนี้มาอยู่ร้าน ทุกคนมีรายได้นะคะ เพราะร้านจะต้องเลี้ยงตัวเองให้ได้ และป้าเชื่อมั่นว่าป้าจะทำให้ร้านเลี้ยงตัวเองได้ คนแก่เขาจะได้มีงานทำ เขาไม่เหงา
แต่ป้าไม่ได้ขายกาแฟนะคะ ป้าจะเปิดร้านชา ชาที่ทำเอง ชาผลไม้ ชาดอกไม้ อะไรแบบนี้ ชาทำเองค่ะ จะสอนคนแก่ทำชา สำหรับร้านหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับตรงนี้ อันนี้ป้าก็อาจจะดูอยู่ก็ได้ แล้วไปทำตรงนั้น ดูอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ ให้คนแก่เขาทำ เพราะวันใดวันหนึ่ง ถ้าทำๆ ไป แล้วเขาอยากกลับไปเปิดอย่างนี้ที่หน้าบ้านเขา เขาจะได้มีความรู้ในการทำจากชีวิตจริง
จริงๆ ป้าไม่ได้คิดเรื่องสังคมสูงวัยว่ามันจะมาถึงเวลานะ อย่างที่บอก พอได้ฟังจากคนอื่นแล้วรู้สึกว่า เขาไม่ได้มีโอกาสอย่างเรา ถ้าเราสามารถทำอะไรให้เขามีโอกาส
อย่างน้อยเขาทำกาแฟเป็น หรือทำชากินเองได้ ทำอะไรได้ ไปเปิดหน้าร้านเล็กๆ ขายแก้วหนึ่ง 30-40 บาท เขามีรายได้วันหนึ่ง 300-400 บาท พอใจแล้ว เขาก็มีความสุข แล้วเราก็มีความสุขที่เราช่วยเขาได้”


“บาริสป้า” ฉายาที่ถูกขนานนาม



“ก็คนแก่ชงไงคะ เขาก็เอาบาริสต้ากับป้ามารวมกัน เลยกลายเป็นบาริสป้าก็แค่นี้ ก็ไม่อะไรค่ะ ขำๆ จริงๆ คนยังไม่เข้าใจความหมายบาริสต้านะ บาริสต้าไม่ใช่แค่คนชงกาแฟนะคะ คุณต้องดูแลทุกอย่างในร้าน คุณต้องโฮร้านให้ได้ คุณจะต้องทำงานทุกอย่างในร้านด้วยความรับผิดชอบของตัวเอง
สังเกตบาริสต้าที่ไปทำงานในร้าน คุณต้องทำหน้าที่แม้กระทั่งเก็บขยะในร้าน มันไม่ใช่หน้าที่แค่ชงกาแฟสวยๆ อย่างเดียว ไม่ใช่เลยค่ะ งานหนักมาก ถูพื้น เก็บกาแฟ ดูกาแฟ เลือกกาแฟ ทุกอย่างงานจุกจิกในร้านกาแฟหน้าที่ของบาริสต้า”
เมื่อให้เปรียบเทียบตัวเองกับกาแฟ ป้าวัยเก๋าก็ตอบได้ทันทีว่าไม่มีสักเมนู ก่อนที่จะอมยิ้มออกมาพร้อมกับนิ่งคิดว่าถ้าให้เปรียบจริงๆ คงเป็นดริปเย็น
“ไม่มีสักเมนูหนึ่ง ดีดขนาดนี้ กาแฟก็สู้ไม่ได้ (อมยิ้ม) ป้าไม่นุ่มนวลเหมือนลาเต้ แล้วก็ไม่ฮาร์ดเหมือนเอสเปรสโซ่
ถ้าจะเปรียบกับกาแฟนะ น่าจะเป็นดริปเย็น มีความใกล้เคียงเราที่สุด ดริปที่มีรสเปรี้ยว มันมีความครบรสอยู่ในนั้น กาแฟดริปที่ดีมันเหมือนกินชาดีๆ แก้วหนึ่ง ที่มันมีความหอม มีความหวาน มีความฉ่ำ มีความเย็น กินแล้วรู้สึกสดชื่น สบายใจ ป้าเป็นคนกระชุ่มกระชวย ป้าเป็นคนมองโลกในแง่บวก”










สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
คลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพเคลื่อนไหว: กีรติ เอี่ยมโสภณ
ขอบคุณสถานที่: ร้านกาแฟ “Mother Roaster” (ตรอกศาลเจ้าโรงเกือก ตลาดน้อย)



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น