xs
xsm
sm
md
lg

โห!! นี่ “ที่กักตัว” หรือ “ที่แพร่เชื้อ”? แฉแหลก ยุงเยอะ-แออัด แพทย์ฉะเทียบจีนไม่ติด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แชร์ประสบการณ์ตรงสถานกักตัว ประเทศเดียวกันยังไม่เหมือนกันเลย อีกฟาก“อัดแน่นไปด้วยผู้คน-ยุงตัวเท่าควาย-กลางคืนร้อน” ส่วนอีกฝั่งเจ้าหน้าที่ “ดูแลดี - ห้องหรู วิวดีติดริมทะเล ปลอดภัย” พร้อมหยิบเทียบมาตรฐานสถานที่กักตัวของ  “จีน” ซึ่งแพทย์แนะให้เอาเป็นแบบอย่าง
 




กักตัวไทย ยิ่งกักยิ่งเสี่ยงโรค!!?
 

“ใครบอกว่าอยู่โรงแรมอย่างหรูไม่ใช่นะคะ ตามที่เห็นเลย อาบน้ำไม่รู้จะอาบยังไง ผ้าขนหนูก็ไม่มี เป็นห้องรวมหมดเลย ไม่รู้จะอาบน้ำยังไง ที่นอนไม่มี ต้องนอนเต็นท์แข็งๆ อย่างนี้ กับผ้าห่มผืนเดียว ตามนี้เลย ไม่อยากจะเอ่ยถึง จะนอนกันยังไง”


นี่คืออีกหนึ่งประสบการณ์ชีวิตสุดยากลำบาก ที่หากใครเจอกับตัวคงพูดไม่ออก เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Kanokwan phuchada” ที่เดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้พร้อมแฟนชาวเกาหลี ได้ไลฟ์รีวิวชีวิตกักตัวเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโควัด-19 ณ สนามกีฬาที่บุรีรีมย์ เต็มไปด้วยความทุลักทุเล พื้นที่ไม่พอ ต้องนอนเต็นท์ ห้องน้ำรวม และสภาพแวดล้อมท่ามกลางอากาศร้อนๆ ที่ต้องอัดแน่นไปด้วยร้อยกว่าชีวิต

“วันนี้ขอพอแค่นี้ก่อนนะคะ หมอนยังมีใบเดียว แต่เราก็ต้องนอนพักเอาแรง #ยุงตัวเท่าควาย #กลางคืนร้อน ขนาดนี้ กลางวันจะอยู่กันได้ไหม”








 



ขณะที่หนึ่งในแรงงานไทยที่กลับจากเกาหลี ที่กักตัวเฝ้าระวังในกองทัพเรือเมืองสัตหีบ ออกมาโพสต์ภาพชีวิต เผยให้เห็นสภาพห้องพัก วิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ การเข้ามาตรวจสอบดูอาการ รวมทั้งการส่งอาหารด้วยวิธีการชักรอก ซึ่งเธอได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าอาศัยรวมกันหลายคน โดยไม่ได้รู้จักกันเลย แต่ทางเจ้าหน้าที่ดูแลทุกคนอย่างดี








 



“(สภาพความเป็นอยู่) โอเคนะคะ แต่มันจะอึดอัดนิดหน่อยคนไม่รู้จักกันมาอยู่ด้วยค่ะ และไม่รู้ใครมาจากไหนมีเชื้อไหมก็ระแวงกันเองค่ะ แต่เจ้าหน้าที่ดูแลดีค่ะ ต้องการสั่งได้”







 



หลังจากโพสต์เหล่านี้ถูกแชร์ออกไป กลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก สำหรับมาตรการการดูแลที่ดูแล้วไม่เท่าเทียมกัน และคุณภาพที่พักไม่มีความปลอดภัยเท่าที่ควร อาจจะทำให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคได้

เพื่อยืนยันคำตอบ“ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา”หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live ถึงประเด็นที่เกิดขึ้นว่า หากไม่มีการกักตัวให้ไปท่องเที่ยวต่างๆ จะเป็นการเผยแพร่เชื้อมากกว่าการกักตัวในสถานที่ที่หน่วยงานจัดไว้

“เป็นมาตรการที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าหากว่าไม่กักเลย ให้ไปท่องเที่ยวในที่ต่างๆ ตรงนั้นเองก็จะยิ่งแพร่ไปเยอะด้วย เพราะว่าถ้ากักอย่างนี้ มันเป็นประโยชน์ของตัวของคนที่ถูกกักเอง เพราะถ้าหากเขาเริ่มมีอาการ ถึงแม้ว่าจะดูเป็นคนหนุ่มสาวก็ตาม ไม่มีโรคประจำตัว







 



แต่ว่าต้องยอมรับว่าในบางรายนั้น พอมีอาการแล้วมันพัฒนาขึ้น เพราะฉะนั้นการที่กักตัวตรงนั้นได้ประโยชน์สำหรับตนเองด้วย และได้ประโยชน์สำหรับการที่เราไม่ได้แพร่เชื้อให้คนอื่น คือถ้าปฏิบัติได้ตามนั้น จะเหมือนกับเราได้ช่วยชีวิตตนเองและช่วยชีวิตคนอื่นด้วย

จริงๆ การที่เรากักตัวขณะนี้ ก็ได้มาตรฐานที่สะอาด ไม่ค่อยกังวลถึงตรงนั้น แต่กังวลถึงเรื่องวินัยที่ถูกกักมากกว่า เพราะเมื่อพื้นที่รวม ก็ต้องรักษากฎระเบียบที่ได้รับคำแนะนำไป เพราะฉะนั้นคำที่ว่าอยู่รวมๆ กันแล้วเดี๋ยวจะกลายเป็นที่เพาะเชื้อง่ายขึ้น ตรงนั้นเป็นความรับผิดชอบของตนเอง”

ถามถึงสถานที่กักตัวเชื้อไวรัสที่ดีจะต้องเป็นอย่างไร รวมทั้งการนอนรวมกัน ไม่ก่อให้เกิดโรคใช่หรือไม่ เขาให้คำตอบว่า ไม่เห็นด้วยกับการอยู่แบบแออัด อยากให้มีระยะห่างต่อกัน

“ถ้าอยู่แออัดอย่างนั้น คงไม่ได้ เพราะอยู่แออัดในลักษณะนั้น คงจะไม่ใช่สถานที่กักตัว เพื่อความปลอดภัยของตนเอง และของคนอื่นที่อยู่ในพื้นที่นั้น

ถึงแม้จะเป็นคนครอบครัวเดียวกัน คือถ้านอนด้วยกันหมายความว่าถ้าคนหนึ่งติดอีกคนก็ติดไปด้วย เพราะฉะนั้นก็ไม่จำเป็นต้องรักกันมากขนาดนั้น เพราะถ้าติดก็ติด 2 คน

พูดถึงในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ อย่างไรก็ตาม ทางการก็เปิดโอกาสไว้ให้ ถ้าหากว่ากักกันตัวเองแล้วในที่บ้าน จะมีที่รวมกันอาจจะไม่สะดวก และอาจจะแพร่เชื้อ ก็ต้องรายงานให้ทางการทราบ ทางการเองจะอำนวยความสะดวก โดยรถมารับ และขณะเดียวกัน คือพอเป็นที่ทางการจัดให้ ก็เป็นที่เป็นสัดเป็นส่วน และจะบอกวิธีการปฏิบัติตัวอะไรต่างๆ”



เทียบสถานที่กักตัว “จีน”มีการจัดการที่ดีกว่า!!







 



ตอบคำถามเรื่องมาตรการเกี่ยวกับสถานที่กักตัว ที่สังคมต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ไปแล้ว เมื่อให้ผู้เชี่ยวชาญลองเปรียบเทียบกับต่างประเทศต่างๆ แบบไหนมีมาตรการที่ดีกว่ากัน

เพราะอย่างประเทศจีนเอง มีการสร้างโรงพยาบาลขึ้นมาเพื่อดูแลประชาชนโดยเฉพาะ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้เขามองว่ามีหลายปัจจัย ซึ่งการจัดการของหลายๆประเทศมีการจัดการแตกต่างออกไป สำหรับประเทศจีนมีความพร้อมมากกว่าไทย จึงมีการจัดสร้างโรงพยาบาล

“แยกคลินิกดีกว่า เพราะหากว่าถ้ามาอยู่ที่โรงพยาบาลรวม ตรงนี้อาจจะลำบาก คือในประเทศไทยเองนั้น ในโรงพยาบาลจัดแบ่งที่เป็นแบบปกติ และไม่ปกติ อยู่ในที่เดียวกัน

แต่ในต่างประเทศนั้นในสิงคโปร์ หรือว่าในจีนคือแยกเป็นที่ต่างหาก คือคลินิกพิเศษ เพราะฉะนั้นคลินิกพิเศษถ้าหากว่าผู้ต้องสงสัย ซึ่งแยกกันอยู่ แต่นาทีที่พบว่าคนนี้ติดเชื้อจริงๆ ตรงนี้ก็เข้าไปสู่พื้นที่ที่ 2 คือเป็นพื้นที่กักตัวในฐานะที่เป็นโรคจริงๆ หลังจากนั้นก็เฝ้าดู 14 วันว่ามีอาการหรือไม่ แต่ถ้าหากว่าเกิดมีอาการมากขึ้นก็จะส่งไปอีกที่หนึ่ง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสำหรับรักษา เพราะฉะนั้นทุกอย่างเป็นเรื่องของการติดเชื้อหมดเลย

ในประเทศจีนเอง และที่สิงคโปร์เอง จะมีลักษณะเป็นคลินิกพิเศษ คำว่าคลินิกพิเศษ คือเขาจะไม่ให้การที่เฝ้าดูคนที่ต้องสงสัย เวลาต้องสงสัยมักจะเข้ามาที่บริเวณนั้น ในของเราอาจจะเป็นโรงพยาบาล แต่จุดประสงค์ของเขาคือต้องการแยกโรงพยาบาลที่รักษาโรคอื่นให้แยกเด็ดขาดออกจากคลินิกพิเศษ ที่มาดูว่าคนนี้จะเป็นหรือไม่เป็น

เพราะฉะนั้นในคลินิกพิเศษตรงนี้ พื้นที่จะต้องปฏิบัติมีการเจาะเลือด มีการเก็บตรวจไปหาเชื้อ ตรงนั้นเองลักษณะก็คือเป็นแยกเป็นสัดส่วน แต่ไม่ถึงขนาดว่าจะต้องแยกมีม่าน มีผนังกั้น หรืออะไร แต่ต้องอยู่ในที่ห่างกันพอสมควรแล้วก็ใส่หน้ากาก”

แม้ระยะเวลา 14 วัน เหมือนเป็นช่วงเวลาไม่นาน แต่การต้องแออัดอยู่ด้วยกันในสถานที่หน่วยงานจัดให้นั้น หมอธีระวัฒน์ ยังแนะนำให้ฟังอีกว่า ในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องอยู่รวมกัน ควรดูแลตัวเองด้วยการทำความสะอาด

“ต้องแยกเป็นสัดส่วน หมายความว่าอาจจะอยู่ที่มุมหนึ่ง ในขณะเดียวกัน ถ้าหากว่าอยู่ที่มุมนั้นก็ต้องห่างจากคนอื่น อย่างน้อยที่สุดแล้วก็คือ ประมาณ 2 เมตร และการกักตัวตรงนั้นเนื่องจากเราไม่ทราบว่าเราติดเชื้อ และเราแพร่เชื้อให้คนอื่นได้รึเปล่า







 



เพราะฉะนั้นเราต้องใส่หน้ากากอนามัย ไม่ใช่หน้ากากผ้า แล้วในขณะเดียวกันเครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์รับประทานอาหารต่างๆ คือต้องมีคนส่งข้าวส่งน้ำให้ ช้อนส้อมอะไรต่างๆ ต้องเป็นของตนเองหมดเลย แต่ว่าไม่มีการจับไม้จับมือกัน และอาจจะมีการพูดคุยกันได้

ในกรณีนี้พื้นผิวในห้องนั้น พูดถึงในห้องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราต้องอยู่รวมกัน พื้นผิวตรงนั้นเองก็ต้องเข้าใจว่า ถ้าหากเราอยู่มุมตรงนั้นเอง เราก็อาจจะต้องเดินผ่านมุมห้องบริเวณที่เรากั้นสัดส่วนที่เป็นที่ของเรา

เราไปเข้าห้องน้ำ แต่ในขณะที่เราไปห้องน้ำ ขณะเราเดินไปตรงนั้นก็อาจจะมีละอองจากตัวเราหล่นอยู่ในพื้นผิวในบริเวณที่เราเดินด้วยในขณะที่เราใช้ห้องน้ำ

ถ้าหากว่าเป็นห้องน้ำรวมก็คงต้องเสียสละ หมายความว่าเราเข้าห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย ให้คนอื่นเข้าไปให้หมดก่อน และเสร็จแล้วเราเข้าไป เมื่อเข้าไปคนสุดท้ายแล้ว ต้องทำความสะอาดในห้องน้ำ

ในห้องน้ำต้องทำความสะอาดทั้งหมดเลย คือในพื้นผิวที่อ่างล้างมือ ลูกบิดประตู และที่ชักโครก หมายความว่าอะไรก็ตามที่เราจับต้อง อะไรก็ตามที่ขณะเราหายใจ อาจจะมีไอ ฝนขณะที่เข้าห้องน้ำนั้นอาจจะมีการบ้วนน้ำลายต่างๆ ซึ่งตรงนั้นมันก็ติดอยู่ที่พื้น เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าไป จะต้องทำความสะอาดให้หมด แล้วก็รวมถึงลูกบิดประตูต่างๆ ด้วย”

ล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ออกมาแจ้งปมดรามาในโซเชียลฯ ปมห้องพักแออัด เป็นเพราะมีคนจังหวัดอื่นด้วย ซึ่งหลังจากนี้จะมีมาตรการคัดแยก และส่งไปภูมิสำเนาเดิม




ข่าวโดยทีมข่าว MGRLive
ขอบคุณภาพ :Rivilaiphon Did,Kanokwan Phuchada


 




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **

กำลังโหลดความคิดเห็น