xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียน "เหยื่อโควิดไทยตายรายแรก" แพทย์เตือนอย่าโทษ "ไข้เลือดออก" ให้ยอมรับความร้ายแรงของโรค!!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แข็งแรง-หนุ่มแน่น-ไร้โรค ยังไม่รอด! “โควิด-19” คร่าชีวิตคนไทยคนแรกแล้ว! กูรูโรคอุบัติใหม่ย้ำ เกิดจากไวรัสล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับไข้เลือดออกตามที่ สธ.วินิจฉัย วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าเบี่ยงประเด็นไปโรคอื่น หากชะล่าใจ ไทยเป็นพื้นที่สีแดงแน่นอน!!

ฆาตกรตัวจริง ไม่ใช่ไข้เลือดออก?!

"ตอนนั้นจริงๆ ทราบว่าเป็น โควิด-19 ตั้งแต่ก่อนส่งมาที่บำราศฯ ด้วยซ้ำ แล้วก็ได้รับยาอยู่อย่างที่เคยได้รับที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ผล พอมาถึงบำราศฯ ตอนนั้นอาการก็มากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดก็ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ

ในขณะเดียวกัน ยาที่เราพยายามที่จะสั่งมาจากต่างประเทศนั้นยังไม่มี เพิ่งมาได้รับยาในตอนหลัง ซึ่งพอได้รับยาเรียบร้อยก็พบว่าไวรัสมันหายหมดเลย แต่เนื่องจากว่าการอักเสบในเนื้อปอดนั้นมันรุนแรงมาก ก็ทำให้เนื้อปอดนั้นเสียหาย ถึงแม้ว่าตัวไวรัสนั้นจะหายไปแล้วก็ตาม ยังทำให้คนไข้เสียชีวิตได้"


ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยแก่ทีมข่าว MGR Live หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงความคืบหน้าของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19

ที่ล่าสุด มีผู้เสียชีวิตในประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังเข้ารับการรักษา ณ สถาบันบำราศนราดูร โดยเป็นผู้ป่วยเป็นชายไทยวัย 35 ปี ไม่มีโรคประจำตัว แต่มีประวัติใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวจีน จากการทำงานเป็นพนักงานขายสินค้าในร้านค้าปลอดภาษี



แม้ทาง สธ. จะมีการระบุว่าผู้เสียชีวิตมีอาการป่วยด้วยไข้เลือกออกมาก่อน แต่ทางด้านของหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่กลับแย้งว่า สาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยรายนี้นั้น เกิดขึ้นจากการติดเชื้อ Covid-19 ล้วนๆ ตั้งแต่แรก?!

"ผู้ป่วยรายนี้เป็นพนักงานที่ทำงานในร้าน Duty Free ซึ่งไม่ได้มีโรคประจำตัวใดๆ ทั้งสิ้น อายุ 35 ปี แล้วก็ตอนที่ไม่สบาย ตอนนั้นก็ได้รับการวินิจฉัยตอนต้นเลยว่าเป็นไข้เลือดออก แต่ไม่ได้เจอเชื้อไข้เลือดออก

ขณะเดียวกัน อาการขั้นต้นตอนแรกซึ่งมีอาการไข้ จากการที่มีผลทางห้องปฏิบัติการที่ว่าเป็นไข้เลือดออก ก็ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข คือคุณพยาบาลท่านหนึ่งเข้าไปดูแล ติดโควิด-19 ไป ซึ่งในที่สุดก็เป็นปอดบวม แต่ว่าก็ได้รับการรักษาด้วยยา เมื่อได้รับการรักษาเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ก็กลับบ้านไปได้ แต่ว่ายังไงก็ตามก็มีเนื้อปอดเสียหายอยู่ระดับหนึ่ง



กลับมาที่คนไข้รายนี้ หลังจากที่พบว่า ไม่น่าจะเป็นไข้เลือดออก ก็มีการส่งต่อ และในที่สุดก็พิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเป็นไวรัส โควิด-19 นะครับ แล้วการดำเนินโรค ไม่ใช่เป็นลักษณะการดำเนินโรคของไข้เลือดออก เป็นลักษณะของตัว โควิด-19 ทั้งหมดเลย"

หมอธีระวัฒน์ กล่าวอย่างชัดเจนอีกว่า “ไข้เลือดออกไม่ใช่เรื่องทั้งหมดในคนไข้คนนี้เลย ไม่เกี่ยวข้องกันเลย โควิด-19 ล้วนๆ เลยตั้งแต่วันแรก ไข้เลือดออกไม่ทำให้ปอดเสียหายนะครับ”

ส่วนอีกประเด็นที่สร้างความกังวลให้ประชาชน คือการดำเนินการกับศพผู้ป่วย เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางด้านของกระทรวงสาธารณะสุขยืนยันว่า “ศพไอไม่ได้ ไม่แพร่เชื้อ” อย่าตื่นตระหนก

ยิ่งเบี่ยงประเด็น ยิ่งอันตราย

“ขณะนี้นะครับ ข้อสำคัญก็คือว่า ต้องไม่เบี่ยงเบนประเด็นว่าคนไข้เป็นโรคนั้นโรคนี้ ต้องยอมรับว่าจริงๆ แล้วโรคมันแพร่กระจายได้ง่าย ได้เร็ว เพราะฉะนั้นการพยายามที่จะทำให้รู้สึกว่าโรคนี้มันไม่รุนแรง เพราะมันมีโรคอื่นอยู่ เรื่องตรงนี้คงต้องยอมรับสภาพความเป็นจริงว่าเกิดอะไรต้องว่ากันไปตามนั้น”

ไม่เพียงแค่อันตรายจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เองแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอุบัติใหม่ ยังย้ำเพิ่มเติมอีกว่า อีกความอันตรายคือการไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยว่ายังไม่วิกฤติ



และเมื่อถามถึงสถานการณ์ของประเทศไทย ที่ขณะนี้อยู่ในระยะของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 2 คือมีผู้ติดเชื้อจากคนสู่คนภายในประเทศ จะมีโอกาสเข้าสู่การเป็นพื้นที่การระบาดในระดับ 3 คือมีการแพร่ระบาดของเชื้ออย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง ได้หรือไม่ ทางด้านอาจารย์หมอให้คำตอบว่า ไปถึงแน่นอน

“แน่นอน ถ้ายังไม่ยอมรับสถานการณ์ที่เป็นจริงอยู่ ณ ขณะนี้ ถ้าเราบอกว่ามันไม่น่ากลัว ไม่อันตราย เนี่ยก็คงไม่นานหรอก”

สำหรับภาพรวมผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ยืนยันจำนวนอยู่ที่ 85,983 ราย เสียชีวิต 2,941 ราย ประเทศจีนพบผู้ป่วย 79,257 ราย เสียชีวิต 2,835 ราย



ขณะที่ประเทศไทย พบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. - 29 ก.พ. 63 ทั้งหมด 2,953 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 92 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 2,861 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว และอยู่ระหว่างติดตามอาการ 1,748 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 1,205 ราย

ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อที่รักษาหายแล้วมีจำนวน 30 ราย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 11 ราย เสียชีวิต 1 ราย ยอดรวมผู้ติดเชื้อสะสมทั้งสิ้น 42 ราย
สุดท้าย อาจารย์หมอ ได้ฝากคำแนะนำไปถึงประชาชนในการดูแลตัวเอง หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ และพยายามเกาะติดสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด

"ตอนนี้นะครับ ตนเองเป็นที่พึ่งแห่งตน เราต้องล้างมือบ่อยๆ กันไม่ให้ละอองฝอยมาเข้าเยื่อบุตา เยื่อบุปาก เยื่อบุจมูกเรา ดูสถานการณ์รอบบ้านเราในต่างประเทศ อันนั้นคือสถานการณ์จริง ที่ประเทศไทยถ้าไม่ป้องกันตัวเองอย่างดีที่สุด ก็จะเป็นแบบที่เราเห็นในต่างประเทศ ในอิหร่าน ในเกาหลี ในญี่ปุ่น"

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha”




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น