xs
xsm
sm
md
lg

ไขคำตอบ “จุดจับร่วม” สาธารณะ เช็ดถี่แค่ไหน ลดเสี่ยงสัมผัสเชื้อ COVID-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ขณะนี้แม้จะยังไม่เข้าสู่การระบาดเป็นวงกว้างหรือการระบาดในระยะ 3 แต่สิ่งสำคัญที่จะช่วยลดการติดเชื้อ แพร่เชื้อได้ มี 2 ส่วนด้วยกัน

1. คนป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็นโรคใดก็ตาม ไม่ควรออกมาสู่ที่สาธารณะ หรือหากจำเป็นต้องออกมาก็ต้องสวมหน้ากากอนามัย เพื่อลดการแพร่เชื้อสู่ที่สาธารณะ หรือตามพื้นผิวสัมผัสต่างๆ

2. การลดสัมผัสเชื้อ ตรงนี้ต้องอาศัย 2 ส่วน คือ การทำความสะอาดพื้นผิวสาธารณะและจุดจับร่วมสาธารณะบ่อยๆ เช่น ลูกบิดประตู ที่จับ ราว ปุ่มกดลิฟต์ เป็นต้น และการล้างมือหลังสัมผัสจุดจับร่วมต่างๆ เหล่านี้ เพราะหากมีเชื้อติดที่มือจะได้กำจัดออกไป เพราะอาจเผลเอามือมาสัมผัสใบหน้า และทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

ประเด็นสำคัญ คือ แล้วสถานที่สาธาณะที่มีคนใช้ร่วมกันเหล่านี้ ควรทำความสะอาดมากน้อย บ่อย หรือถี่แค่ไหน ถึงจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อลงได้


เรื่องนี้ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธาณสุข (สธ.) ไขคำตอบว่า พื้นผิวต่างๆ ที่มีโอกาสเสี่ยงสัมผัส เช่น ลูกบิดประตู เคาน์เตอร์ที่มีการวางมือเท้าแขน กระจกที่อาจสัมผัสเชื้อจากการไอจาม ปุ่มกดลิฟต์ ราวจับห่วงจับ ปุ่มกดชักโครก เป็นต้น ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลทำความะสอาด อาจจะเป็นพนักงานทำความสะอาด หรือแม่บ้านที่มีหน้าที่รับผิดชอบก็อาจต้องเช็ดทำความสะอาดมากขึ้นในสถานการณ์ขณะนี้ ซึ่งอุปกรณ์ทำความสะอาดนั้น เชื้อไวรัสตัวนี้เพียงแค่น้ำผงซักฟอกก็ตายแล้ว ดังนั้น น้ำยาทำความสะอาดที่ใช้อยู่สามารถทำลายเชื้อได้อยู่แล้ว ก้สามารถใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ได้ ส่วนต้องทำบ่อยแค่ไหน จากเดิมอาจมีการทำความสะอาดรอบเดียว หรือ 2 รอบต่อวัน ก่อนหน้านี้เราเคยแนะนำว่า อาจจะต้อง 2-3 ชั่วโมงควรทำความสะอาด แต่ตอนนี้กลุ่มความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น จึงอยากให้ทำความสะอาดจุดเหล่านี้ทุก 1 ชั่วโมง โดยเฉพาะที่ที่มีคนใช้บริการตลอด

แล้วพื้นที่ไหนที่ควรทำบ้าง พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า พื้นที่ที่มีคนมาอยู่รวมกันและควรทำความสะอาดทุก 1 ชั่วโมงในจุดสัมผัสร่วม อาจแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มพื้นที่ปิด เช่น รถสาธารณะ อย่างรถแท็กซี่ รถตู้ รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ รถไฟฟ้า ที่มีลักษณะปิดอยู่ภายในและมีคนใช้ร่วมกันหลายคน เป็นจุดที่ต้องมีการทำความสะอาดสม่ำเสมอ ซึ่งการล้างทั้งคันอาจวันละรอบได้ แต่จุดสัมผัสร่วมกันบ่อยๆ อยากให้เช็ดถูทำความสะอาดบ่อยๆ ทุกชั่วโมง เช่น แท็กซี่ก็อาจเช็ดถูบริเวณที่เปิดปิดประตู รถไฟฟ้าอาจเช็ดบริเณห่วง เสาจับต่างๆ เป็นต้น ผู้มาสัมผัสก็จะลดความเสี่ยงไม่ต้องไปแตะสัมผัสตัวเชื้อ


2. อาคารสถานที่ที่มีคนมาใช้ร่วมกันจำนวนมาก และมีลักษณะปิด เช่น ห้างสรรพสินค้า ที่จะมีร้านอยู่ภายในและเป็นสถานที่ปิด ห้องพักห้องประชุมในโรงแรม เป็นพื้นที่ปิดแต่มีคนใช้ร่วมในที่นั้นหลายคน หลากหลาย หรือมีคนหมุนเวียนเข้ามาใช้พื้นที่ หรืออย่างร้านเสริมสวย สปา บริการต่างๆ สระว่ายน้ำ ส่วนใหญ่สระอาจไม่ได้เป็นที่ปิด และในสระน้ำถ้าเป็นระบบเกือบำบัดหรือคลอรีนเชื้อก็ถูกฆ่าอยู่แล้วนั้นไม่น่ากังวล แต่จุดที่ต้องไปอาบน้ำ แต่งตัว ถือเป็นสถานที่ปิดที่มีคนใช้ร่วมกัน ดังนั้น บริเวณเหล่านี้ต้องดูแลด้วย ก็แนะนำให้ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมต่างๆ ทุกชั่วโมง

3. พื้นที่เปิด แต่มีคนมาอยู่รวมกันหนาแน่นจำนวนมาก เช่น ตลาด ตลาดนัด ศาสนสถานที่คนเข้ามารวมกันในพื้นที่ทำกิจกรรมทางศาสนา ที่พักอาศัย ห้องชุด คอนโดมิเนียม แฟลต ซึ่งแม้มีพื้นที่ส่วนตัวที่ดูแลภายในได้ แต่ยังต้องมีพื้นที่ส่วนกลางหรือส่วนรวมร่วมกันกับคนอื่น เช่น ที่ทิ้งขยะ ลิฟต์ ที่ซักผ้า พื้นที่ส่วนกลาง ก็ต้องทำความสะอาดบ่อยทุกชั่วโมงเช่นกัน

“ช่วงนี้คนทำความสะอาดอาจจะต้องทำงานหนัก หากมีการเพิ่มค่าจ้างค่าแรงก็จะเป็นขวัญกำลังใจที่ต้องทำความสะอาดบ่อยครั้งขึ้น เพราะทุกคนก็ทำงานหนัก ทุกคนก็ต้องช่วยกันป้องกันตนเอง อัตราการแพร่เชื้อก็จะลดลง ก็เริ่มชวนคลีนนิ่งทำความสะอาด แม้บ้านเราจะยังไม่ระบาดเป็นวงกว้างก็ตาม” พญ.พรรณพิมล กล่าว


ส่วนสถานที่ที่มีคนใช้อุปกรณ์ร่วมกันจำนวนมาก เช่น ฟิตเนส ที่คนมาใช้เครื่องเล่นต่อๆ กัน ต้องทำความสะอาดบ่อยแค่ไหน ทุกครั้งหลังใช้งานเสร็จเลยหรือไม่ พญ.พรรณพิมล บอกว่า ก็ยังแนะนำว่าให้ทำความสะอาดทุกชั่วโมง หากคนที่มาใช้บริการมีสุขภาพที่ดี ไม่ได้มีอาการไข้ไอจามอะไร แต่หากพบคนไอจาม ก็อาจจะต้องบอกผู้รับบริการว่าให้สวมหน้ากากอนามัย และทำความสะอาดเลยทันที แต่จริงๆ แล้วสิ่งสำคัญคือคนที่มีอาการป่วย ก็ควรงดการออกมาในที่สาธารณะอยู่แล้ว

ดังนั้น ช่วงนี้ที่หลายสถานที่เริ่มมีการวัดไข้ หากคนไม่สบายมีไข้ ก็ขอความกรุณางดเข้ามาใช้บริการ พญ.พรรณพิมล จึงบอกว่า เป็นสิทธิของแต่ละพื้นที่ที่จะเลือกให้ใครใช้บริการหรือไม่ให้ใช้ หากมีไข้แล้วขอไม่ให้เข้าพื้นที่ก็เป็นสิ่งที่เจ้าของพื้นที่ทำได้ แต่ไม่ได้หมายควาว่าคัดกรองว่าคนไม่มีไข้แล้ว สถานที่นั้นจะสะอาดไม่มีเชื้อแล้วไม่ทำความสะอาด หลักสำคัญก็ยังเป็นเรื่องการทำความสะอาดบ่อยๆ เพื่อลดการสัมผัสเชื้ออยู่ดี


แล้วสำหรับประชาชนทั่วไปที่ออกมาที่สาธารณะต้องล้างมือบ่อยแค่ไหน พญ.พรรณพิมล ตอบเลยว่า ควรล้างมือทันทีหลังออกมาจากพื้นที่หรือหลังจากสัมผัสจุดที่มีความเสี่ยง เช่น ออกจากรถไฟฟ้าที่มีการจับห่วง ราว ก็ใช้เจลแอลกอฮอล์ 70% ล้างมือทันที หรืออย่างกรณีของธนบัตรหรือแบงก์ที่กังวลกันก่อนหน้านี้ ความจริงแล้วก็มีโอกาสที่มีจะมีเชื้อต่างๆ บนธนบัตร แต่ก็คงไม่ได้มีใครตั้งใจที่จะไอจามรดธนบัตรจนมีจำนวนมาก ที่สำคัญหากเป็นเชื้อไวรัสที่เกาะตามธนบัตรก็ตายได้ในสิ่งแวดล้อม 7-9 ชั่วโมง ไม่ได้เจริญเติบโตต่ออย่างแบคทีเรียที่อุณหภูมิเหมาะสมแล้วจะโต ดังนั้น หากกังวลหลังสัมผัสเงินต่างๆ เก็บเข้ากระเป๋าแล้ว ก็อาจล้างมือเลยก็ได้ นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือการล้างมือก่อนรับประทานอาหาร เพราะเป็นช่วงเวลาที่มือจะมาใกล้ชิดใบหน้าและปากที่สุดแล้ว และต้องอย่าเผลอเอามือสัมผัสใบหน้าหลังสัมผัสสิ่งต่างๆ มา เพราะเชื้อที่มือไม่ได้เข้าจากมือ แต่ติดจากที่เอามือไปสัมผัสใบหน้า แล้วติดทางเยื่อบุต่างๆ

“ขณะนี้ก็ใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่หากไปสัมผัสกับจุดเสี่ยงหรือจุดสัมผัสร่วม ก็ให้ล้างมือ ส่วนคนที่มีหน้าที่ก็อาจต้องทำความสะอาดบ่อยๆ ร่วมกับคนป่วยงดออกมาที่สาธารณะ ก็น่าจะช่วยลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อได้” พญ.พรรณพิมล กล่าว




















กำลังโหลดความคิดเห็น