จากเด็กยากจน-พ่อแม่แยกทาง ต้องเป็นเด็กวัด สู้ชีวิตจนเป็นนักกฎหมายชื่อดัง เจ้าของเพจ “ทนายคู่ใจ” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 3 แสนคน! ไขคดีดังมาแล้วมากมาย - ช่วยเหลือคนเดือดร้อน - ให้คำปรึกษาแบบไม่คิดเงิน เจ้าตัวขอบคุณความลำบาก เชื่อว่าคำสอนของ “หลวงพ่อ” ทำให้มีทุกวันนี้!
ทุกอย่างเริ่มจากความ “ไม่มี”
“ผมเป็นคนปากเกร็ด ตอนผมเด็กๆ พ่อแม่แยกทางกัน เราก็ไปอยู่กับตายายที่บ้านนอก ได้ซึมซับความลำบากแต่เด็ก ไม่มีเงินซื้อรองเท้า ต้องหาบน้ำมาใช้เอง ตอนนั้นยังไม่ได้คิดเรื่องทนายความ แต่แค่มีความสงสัยตั้ว่าทำไมคนในหมู่บ้านยากจนจังเลย แต่ก็ยังไม่มีใครตอบคำถามเราได้”
“รณรงค์ แก้วเพ็ชร์” เล่าย้อนชีวิตวัยเด็กหลังจากที่พ่อแม่แยกทางกันอยู่ทำให้ตนต้องไปอยู่กับตายายที่ จ.บุรีรัมย์ แต่ด้วยความที่ย้ายจาก จ.นนทบุรีไป จึงได้เห็นชีวิตในเมืองที่ดีกว่าชีวิตในชนบท มีคำถามเกิดขึ้นเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างช่วงของการเติบโต
“ตอนเด็กๆ ไปอยู่ที่ชนบท ผมก็ได้ซึมซับความลำบาก ผมไปอยู่ตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมต้น ผมไม่มีเงินซื้อรองเท้าใส่ เราต้องหาบน้ำมาอาบมาใช้ เป็นพื้นที่กันดารครับตรงนั้น แต่ตอนนั้นผมยังไม่คิดเรื่องทนายความนะ แค่สงสัยว่าอะไรทำให้คนในหมู่บ้านยากจน
ตอนผมอยู่ ป.4 - ป.5 เราเห็นว่าทำไมคนจนจังเลยตอนนั้น และทำไมในกรุงเทพฯ ที่เราย้ายมาดูมีฐานะ และสามารถเข้าถึงอะไรได้หลายอย่าง มาที่นี่มันไม่มีอะไรเลย แต่ก็ไม่มีใครตอบคำถามเราได้นะ
ตอนนั้นผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือ หนังสือในโรงเรียนผมอ่านทุกเล่มเลย ถามว่าเรียนเก่งไหมก็ถือว่าใช้ได้ สอบผ่าน (หัวเราะ) ผมไม่ได้เรียนเก่งสุด แต่ชอบคิดอะไรไม่เหมือนชาวบ้าน เราชอบอ่านหนังสือมากๆ ตำราอะไรเราอ่านหมดเลย ฉะนั้น เราเป็นคนที่ชอบเข้าห้องสมุดตั้งแต่เด็ก”
ชีวิตวัยเด็กดำเนินต่อไปอย่างที่ควรเป็น จนเข้าสู่ชีวิตมหา'ลัย สิ่งที่เขาเคยตั้งคำถามไว้ก็ดูเหมือนว่าถึงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการได้คำตอบ
“ผมมาได้คำตอบตอนชีวิตมหา'ลัย ตอนที่ผมทำกิจกรรมนักศึกษาส่วนกลาง เราได้ไปเจอเพื่อนๆ จากมหาวิทยาลัยหลายๆ ที่ ทั้งมหาวิทยาลัยเอกชนและรัฐฯ ทั้งมหาวิทยาลัยแบบเปิดและปิด ได้แลกเปลี่ยนกัน มีการคุยและตั้งกลุ่มพูดคุยถึงระบบการปกครองว่าเกิดอะไรขึ้น การจัดสรรผลประโยชน์เป็นยังไงบ้าง
เราถึงเข้าใจว่าเราลำบากเพราะไม่มีถนน พอไม่มีถนน ความเจริญก็เลยไม่มา การกระจายรายได้ การกระจายเงินภาษีมาบริหารกระจุกแค่ในกรุงเทพฯ แต่ในพื้นที่ห่างไกลไม่มีเลย ซึ่งการไปร้องเรียนจะต้องนั่งรถไปประมาณ 1 วัน ถึงจะไปร้องได้
รวมถึงระบบการเอาเปรียบที่มีการปล่อยเงินกู้ ถ้าคุณไม่มีเงินมาจ่ายคืน ที่นาของพ่อแม่คุณก็จะถูกยึด ถ้าคุณกู้เงินเขา คุณจะเอาที่นาให้ทำนาไปเลย ถ้าไม่เอาเงินต้นมาคืน คุณก็จะไม่ได้ทำนา ผมก็ตั้งคำถามว่าถ้าไม่ได้ทำนาแล้วจะเอาเงินที่ไหนมาคืนเขา
จนสุดท้ายทุกคนก็ค่อยๆ ขายที่นา ที่ดินก็จะมาอยู่ที่คนไม่กี่กลุ่ม แต่พอเราดูไปเรื่อยๆ มันก็มีกฎหมายดูแลหนิ แต่ทำไมกฎหมายไปไม่ถึงตรงนั้น มันเป็นคำตอบที่ครบวงจรเลยคือว่ามันมีปัญหาในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย การเลือกปฏิบัติ คนไม่รู้ว่าการถูกเอาเปรียบมันไม่ยุติธรรม”
จากเด็กเกเร สู่นักเรียนกฎหมาย
“ตอนมหา'ลัย ผมเป็นคนเกเร ผมไปเรียนแค่ 2 สัปดาห์ก็ไม่ไปอีกเลย จนต้องดรอปไป 1 ปี จากนั้นว่าจะไปหางานทำ แต่หลวงพ่อเรียกสติบอกว่าเรียนมาแค่นี้จะไปเลือกงานอะไรได้ ผมก็รู้เลยว่าเราต้องเรียนหนังสือต่อ”
หลังเรียนจบระดับมัธยมต้นที่ จ.บุรีรัมย์ เขาได้เดินทางกลับมาเรียนมัธยมปลายที่ปากเกร็ด จ.นนทบุรี แต่การเริ่มต้นชีวิตมหา'ลัยก็มีอุปสรรค เขาตัดสินใจดรอปเรียนเป็นเวลา 1 ปีเพื่อหางานทำ แต่แล้วก็เกิดแรงกระตุ้นบางอย่างจากคำสอนของหลวงพ่อ
“ผมกลับมาเรียน ม.ปลายที่ปากเกร็ด มาเป็นเด็กวัดให้หลวงพ่อ เดินข้างหลวงพ่อบิณฑบาตตอนเช้าทุกวัน พอสายหน่อยก็ไปโรงเรียน เราก็ใช้ชีวิตอยู่แบบนี้ ตั้งแต่ ม.ปลาย จนจบมหาวิทยาลัยก็เป็นเด็กวัดมาตลอด
พอเรียนจบ ม.ปลายมา ผมก็ไปสมัครเรียน ผมเป็นคนเกเรไปเรียนแค่ 2 สัปดาห์ก็ไม่ไปเรียนอีกเลยก็เลยดรอปไป 1 ปี ตอนนั้นไปเรียนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ พอดรอปไป 1 ปี เราก็ว่าจะไปหางานทำ หลวงพ่อบอกกับผมว่าเรียนมาแค่นี้จะไปเลือกงานอะไรได้ หลังจากนั้นผมก็รู้เลยว่าเราต้องเรียนหนังสือต่อ
จนสุดท้ายมาเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต คือพ่อผมเขาเรียนกฎหมายที่ ม.ธรรมศาสตร์ ผมก็อยากเป็นทนายความ ตอนนั้นพอผมเข้าไปเรียนก็พบว่ามันใช่อย่างที่เราคิด ได้ทำกิจกรรมนักศึกษาหลากหลาย ผมชอบที่นั่นนะ มันเหมาะกับตัวเรา
ซึ่งตอนนั้นที่ผมไปเรียนค่าเทอมค่อนข้างแพง เราไม่มีเงินแม้แต่ซื้อใบสมัคร เพื่อนก็จ่ายค่าใบสมัครให้ ผมก็ไปทำเรื่องกู้ กยศ. จึงได้เรียนหนังสือต่อ
ผมไปเรียนผมมีเงินแค่วันละ 50 บาท หรือ 100 บาทเอง ขอจากหลวงพ่อ นั่งรถไป นั่งรถกลับ กินข้าวเที่ยงก็หมดแล้ว ผมเลยจะอดข้าวเย็น หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย ผมสอบใบว่าความ จากนั้นฝึกการว่าความอยู่ 2 ปี”
แน่นอนว่าประสบการณ์การว่าความเป็นไปด้วยความมืออาชีพ จนอดสงสัยไม่ได้ว่าในฐานะอาชีพทนายความ เขาเคยเจอกรณีของผู้ที่กระทำผิดมาขอให้ช่วยเหลือบ้างหรือไม่ และเขาตัดสินใจอย่างไร
“ต้องบอกก่อนว่าทางรัฐธรรมนูญ จำเลยทุกคนมีสิทธิ์มีทนายความ เพราะฉะนั้นคนที่ทำผิดกฎหมายก็มีสิทธิ์มีทนายความให้คำปรึกษาและแนะนำ ส่วนจะแนะนำด้วยขั้นตอนยังไงก็อีกเรื่อง ตามแต่วิธีสำนักกฎหมายจะใช้กัน บางคนก็ให้สู้ตามขั้นตอน บางคนดูหลักฐานแล้วอาจให้รับสารภาพ
ถ้ามีคนมาหาผม ต้องดูว่าเป็นข้อหาอะไร ถ้าคุณไปข่มขืนเด็กมา ผมไม่รับ ส่วนใหญ่ไม่รับถ้าเป็นเรื่องคดีทางเพศ หรือถ้าโกงมา มันจะมีหลายแบบ เช่น ผิดสัญญาทางแพ่ง กับตั้งใจโกงโดยทุจริตอาญา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแค่ผิดสัญญาทางแพ่ง
อย่างเช่น รับเหมาก่อสร้าง เป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง แต่จะมาฟ้องเป็นคดีอาณาเรื่องฉ้อโกงไม่ได้ เราจะบอกเขานะว่าคดีนี้ ถ้าดูทางข้อกฎหมายแล้วจะเป็นยังไงบ้าง
ตัวเขาจะต้องทราบทั้งหมดก่อน เพราะเวลาศาลตัดสินขึ้นมา ทนายไม่ได้ติดคุกด้วย หรือสมมุตคดีฉ้อโกง ถ้าคุณจ้างผม 5 แสนบาท ผมก็จะแนะนำว่าคุณเอา 5 แสนบาทไปจ่ายคู่กรณีดีกว่า และคุณก็รับสารภาพไป”
“ฮีโร่” ขวัญใจประชาชน
ด้วยความที่ทนายรณณรงค์ เป็นเจ้าของเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ทนายคู่ใจ” จึงทำให้มีประชาชนมากมายหลั่งไหลกันเข้าไปปรึกษาปัญหาแต่ละวัน ซึ่งเขาเปิดใจว่าแต่ละปีมีคนโทร.เข้ามาขอความช่วยเหลือเกินกว่า 2 หมื่นเคส และแน่นอนว่าทั้งหมดนั้นเป็นการให้คำปรึกษาแบบไม่เสียเงินสักบาท
“ปีหนึ่งมีคนโทรมาปรึกษา 25,000 เคส ผมตอบฟรีนะ ทั้งทักมาในไลน์ เฟซบุ๊ก อีเมล์ก็มี ล่าสุดเริ่มมีทางจดหมายแล้ว เราฟังนาทีเดียวก็รู้แล้ว อย่างพอถามไปว่าเรื่องอะไร แค่ 30 วินาทีแรกเรารู้แล้วว่าเรื่องอะไร ส่วนใหญ่จะมีทั้งสองฝ่าย เราฟังแล้วจะรู้ว่าเขาเดือดร้อนเรื่องอะไร
ด้วยความคุยบ่อย คุยทุกวัน มีบางครั้งผมเคยตอบเอง ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นยันพระอาทิตย์ตกยังตอบไม่เสร็จเลย บางครั้งมันเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างใบไม้หล่นมาใส่บ้าน ถ้าเราสนุกเราจะทำได้นาน
แต่ถ้าเรารู้สึกว่ามันเครียด มันไม่ใช่ตัวเราก็จะทำได้ไม่นาน เท่านั้นเอง มันสนุกนะ ผมมีบริษัทของผมอยู่แล้ว ผมไม่เดือดร้อนเลย ถึงผมไม่ทำ ผมก็อยู่ได้ ผมนำรายได้จากตรงนี้และส่วนที่เหลือไปช่วยประชาชน บางทีเราอยู่กรุงเทพฯ แล้วเบื่อก็อยากไปไกลๆ ไปดูเรื่องที่มันไม่ค่อยมีใครไปกัน
อย่างเวลาไปช่วย ก็เอาเงินเราเองนี่แหละ ไม่รับบริจาค เดี๋ยวมีปัญหา ใช้เงินตัวเองง่ายกว่า ถ้าอยากบริจาคก็ไปบริจาคให้กับเหยื่อที่ถูกกระทำดีกว่า
ทุกวันนี้ผมนอนวันละ 5 ชั่วโมง ผมกินข้างกล่อง อยู่บ้านก็กินข้าวไข่เจียว ไม่มีเวลาไปกินข้างนอกเลย ปีที่แล้วผมไม่ได้ไปเที่ยวเลยจนเพื่อนต้องบอกว่าควรไปบ้างนะ ต้องหยุดบ้างนะ ผมก็เริ่มมีที่ไปเที่ยวบ้าง
ทุกครั้งที่เห็นผมไปอยู่ตรงไหนก็ตาม ผมไม่ได้ไปมั่ว ตรงนั้นมีความไม่ถูกต้องเกิดขึ้น และเป็นยุทธศาสตร์ที่เราต้องไปตรงนั้น ไปเพื่อขอให้มีการตรวจสอบ เพื่อให้กลไกของรัฐทำงาน จริงๆ ถ้ากลไกของรัฐทำงาน คนที่เดือดร้อนเดินเข้าไปเอง มันก็ต้องจบแล้ว”
สุดท้าย ทนายรณณรงค์ได้กล่าวขอบคุณผู้ที่เป็นแรงผลักดัน และกำลังใจสำคัญของชีวิต นั่นคือหลวงพ่อที่ตนเคยได้ไปอาศัยอยู่ด้วยตลอดชีวิตวัยเด็ก ทั้งยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่าตนจะช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนต่อไป
“ต้องขอบคุณหลวงพ่อของผมที่สร้างแรงบันดาลใจ เป็นคนที่พาผมเดินบิณฑบาตตามหลัง เป็นคนที่ทำให้เราไม่มีอัตตา เรากินข้าวก้นบาตร ใครมาถวายยังไงก็กินอย่างนั้น
ผมเคยไปบวชอยู่วัดป่า 4 เดือนไม่ติดต่อใครเลย ยิ่งทำให้ผมสัมถะมากขึ้น ทุกวันนี้เลยไม่ค่อยอยากคุยกับใคร นอกจากที่เห็นในทีวี ถ้าเจอตัวจริงจะรู้ว่าผมเป็นคนเงียบๆ เราทำที่เราทำ และช่วยที่เขาเดือดร้อนมาเท่านั้น เราไม่เคยไปแตะเรื่องส่วนตัวใครนอกจากปัญหาที่เดือดร้อนกัน”
สัมภาษณ์ รายการ “พระอาทิตย์ Live”
เรียบเรียง MGR Live
เรื่อง พิมพรรณ มีชัยศรี
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **