xs
xsm
sm
md
lg

"สมศักดิ์"ยกคดี"เดอะริปเปอร์ สมคิด" ใช้ขั้นตอนทางการแพทย์ ก่อนปล่อยตัวนักโทษคดีอุกฉกรรจ์

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



รมว.ยุติธรรม แจงมาตรการคัดกรองผู้ต้องขังก่อนปล่อยจากเรือนจำ ยกตัวอย่างคดี นายสมคิด พุ่มพวง ก่อคดีซ้ำซาก ถือเป็นฆาตรกรต่อเนื่อง ต้องมีการตรวจพิสูจน์ขั้นตอนทางการแพทย์

วันนี้ (27 ธ.ค.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) กล่าวถึงมาตรการคัดกรองผู้ต้องขังก่อนปล่อยจากเรือนจำ ว่า ปัจจุบันนักโทษในเรือนจำทั่วประเทศมีจำนวน 3.7 แสนคน แบ่งข้อมูลนักโทษเป็น 9 ประเภท พบว่ามีผู้ต้องขังกระทำความผิดซ้ำซากมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป จำนวน 23,000 คดี เป็นคดีหลัก เช่น ข่มขืนต่อเนื่อง ฆาตรกรต่อเนื่อง และ โรคจิต ประมาณ 3,000 ราย มีโทษตั้งแต่ 1 ปี ถึงตลอดชีวิต นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มนักโทษในคดีข่มขืนแล้วฆ่าอีกไม่เกิน 100 คน ยกตัวอย่างคดี นายสมคิด พุ่มพวง หลังพ้นโทษออกมาก่อเหตุซ้ำนั้นได้มีมาตรการเร่งด่วนภายใน 7 วันจนสามารถจับกุมได้ โดยกระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์จะมีมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวในการปล่อยตัวผู้กระทำผิดซ้ำในคดีอุกฉกรรจ์ต้องแยกจากนักโทษทั่วไป เช่น ระยะสั้นเมื่อผู้ต้องขังได้รับการพ้นโทษออกไปจะต้องมีการตรวจพิสูจน์ขั้นตอนทางการแพทย์ป้องกันไม่ให้กระทำผิดซ้ำ โดยขอให้อัยการและศาลมีคำสั่งในเรื่องนี้ ส่วนในระยะยาวจะต้องมีการออกกฎหมายบังคับใช้ โดยให้กรมราชทัณฑ์กำกับดูแลเพิ่มคาดว่าต้องใช้เวลาแต่กรมราชทัณฑ์ได้ทำบัญชีรายชื่อนักโทษออกมาแล้ว

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณี ส.ส. ได้เสนอให้มีการเอาผิดนักโทษคดีฆ่าข่มขืนหรือทำผิดทางเพศให้ตัดอวัยวะเพศ หรือทำการฉีดยาอัณฑะฝ่อนั้นเป็นเรื่องส่วนรวม สังคมมีแนวคิดหลากหลาย ถ้า ส.ส. ส่วนใหญ่เอาด้วยก็สามารถดำเนินการออกกฎหมายได้ ตัวอย่างเช่น กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้ใช้กฎหมายประหารชีวิตมานานแต่การข่มขืนเด็กอายุ 7 ขวบ ก็มีการสั่งประหาร แม้ว่ากลุ่มสิทธิมนุษยชนจะคัดค้านทั่วประเทศ แต่ ส.ส.ของอเมริกา เอาด้วยก็มีการสั่งประหารชีวิตและมีการออกกฎหมาย ที่ระบุว่าถ้าฆาตกรชั่วร้ายคนนั้นอยู่ที่ไหน สังคมควรรับรู้และจะทำให้ไม่มีคนตาย แต่ในประเทศไทยไม่มีใครรู้ว่าคนร้ายเหล่านั้นอยู่ที่ไหนก็ควรมีกฎหมายในลักษณะนี้ออกมา ตนเชื่อว่าทุกคนเห็นด้วยแม้ว่าจะขัดหลักสิทธิมนุษยชนก็ตาม เพราะเป็นเรื่องของส่วนรวม ถ้าสังคมรับได้ก็เป็นเรื่องง่ายที่จะออกกฎหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น