ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ผมได้รับเชิญจากสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ให้ไปบรรยายในหัวข้อ การใช้ข้อมูลใหญ่ในการทำนาย/ป้องกัน/ควบคุม การกระทำความผิดซ้ำ เลยได้ศึกษาค้นคว้าและอ่านงานวิจัยที่น่าสนใจมากชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับทฤษฎีที่ใช้เปรียบเทียบฆาตกรต่อเนื่องหญิงและชาย ซึ่งมีทฤษฎีแตกต่างกันมาก หมายถึงมีแรงจูงใจในการฆ่าแตกต่างกัน ผลงานวิจัยนี้ชื่อว่าความแตกต่างทางเพศของฆาตกรต่อเนื่อง (Sex Differences in Serial Killers) โดยมี Marissa A. Harrison, Susan M. Hughes, และ Adam Jordan Gott เป็นนักวิจัย และตีพิมพ์ในปี 2019 ในวารสารพฤติกรรมศาสตร์วิวัฒนาการ (Evolutionary Behavioral Sciences) อันเป็นวารสารของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน มีข้อค้นพบที่น่าสนใจ ซึ่งจะนำมาเล่าให้ฟัง
เรามักจะนึกถึง Jack the ripper ว่าเป็นฆาตกรต่อเนื่อง (Serial killer) มีชื่อมากก่อเหตุในลอนดอน และทำเป็นภาพยนตร์มาหลายครั้ง แน่นอนว่าเป็นฆาตกรชาย สำหรับในประเทศไทยฆาตกรต่อเนื่องหญิง ยังไม่เคยมี มีแต่ฆาตกรต่อเนื่องชาย ไม่ว่าจะเป็น บุญเพ็ง หีบเหล็ก ไอ้หื่นซิกซ์แพ็คฆ่าข่มขืนยายนับสิบราย ในเขตภาคกลาง หรือล่าสุด สมคิด พุ่มพวง ที่กระทำความผิดจากการฆ่าเหยื่อหลายรายส่วนใหญ่เป็นโสเภณี แล้วได้รับโทษจนปล่อยออกมาและมาก่อเหตุซ้ำอีกและเพิ่งถูกจับกุม
มีฆาตกรหญิงต่อเนื่องรายหนึ่งเป็นคุณยายชาวญี่ปุ่นอายุ 70 ปีชื่อนางชิซาโกะ คาเคฮิ และเคยมีประวัติสามีหรือคู่เดตมีอันเป็นไปเกือบสิบราย โดยที่รายล่าสุดทำให้เธอได้รับเงินประกันชีวิตของสามีเป็นจำนวนมหาศาล จนได้รับฉายาแม่หม้ายดำแห่งโตเกียว (อ่านได้เพิ่มเติมจาก https://www.nationtv.tv/main/content/378556386/) การฆ่าใช้การวางยาพิษด้วยสารไซยาไนด์
แต่จะว่าไปสามีวางยาฆ่าเมียตายก็เป็นวิธีที่เคยได้ยินมาก่อนว่ามีคุณหญิงท่านหนึ่งถูกสามีวางยาให้ตายโดยใส่ในกาแฟ ส่วนเรยาในมงกุฎดอกส้ม/ดอกส้มสีทอง/เรยา โดยคุณป้าถ่ายเถา สุจริตกุล ก็ถูกสามีวางยาให้ตายโดยใช้ยาพิษจากใบ/ดอกยี่โถ ให้ค่อย ๆ ตายไปในที่สุด
ย้อนกลับมาที่งานวิจัยที่เปรียบเทียบความแตกต่างทางเพศของฆาตกรต่อเนื่อง โดยศึกษาจากฆาตกรต่อเนื่องชายและหญิงในสหรัฐอเมริกา จากสื่อโดยวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลในอดีต (Archival data) โดยเลือกฆาตกรต่อเนื่องหญิงและชายที่มีอายุไล่เลี่ยกันมา 55 คู่ แล้ววิเคราะห์เปรียบเทียบโปรไฟล์ความแตกต่างระหว่างฆาตกรต่อเนื่องหญิงและชาย
ทฤษฎีที่ใช้อธิบายความแตกต่างระหว่างฆาตกรต่อเนื่องหญิงและชายคือ ทฤษฎีนักล่า-ผู้เก็บเกี่ยว (Hunter vs. Gatherer theory) โดยอธิบายว่าโดยวิวัฒนาการของมนุษย์ ชายจะเป็นผู้ออกนอกบ้านไปล่าสัตว์เพื่อให้อยู่รอด และหาอาหารมาให้ครอบครัว ในขณะที่หญิงจะอยู่บ้าน ปลูกพืชพรรณธัญญาหาร ทำหน้าที่เก็บเกี่ยวมากกว่าการล่า
ฆาตกรต่อเนื่องชายในฐานะนักล่าจะแสวงสุข (Hedonism) จากการได้ค้นหาและแอบมองเหยื่อที่เป็นคนแปลกหน้า เพื่อความสำเริงอารมณ์ทางเพศ การได้แสดงอำนาจ และการได้ทำให้เหยื่อเกิดความหวาดกลัว หลายครั้งฆาตกรต่อเนื่องชายจะป้วนเปี้ยนไปมา แอบมอง แล้วจึงย้อนมาข่มขืนหรือฆ่าเหยื่อ หรือไม่ก็ขืนใจบีบบังคับเหยื่อเป็นเวลานานก่อนลงมือฆ่า การแสวงหาความสุขของฆาตกรชายคือการได้บังคับ ขืนใจ ได้แสดงอำนาจ และได้ลงมือทำร้าย ตลอดจนความสุขในเรื่องเพศสัมพันธ์ ได้เห็นการตายของเหยื่ออย่างทุกข์ทรมาน อันเป็นสัญชาตญาณของผู้ล่าตามธรรมชาติ การเร่ร่อนออกไปหาเหยื่อไกลๆ ก็เป็นความสำราญของฆาตกรต่อเนื่องชาย ความกำยำล่ำสันก็ทำให้เกิดแรงขับทางเพศ และเป็นเหตุสำคัญในการลงมือฆาตกรรมของฆาตกรต่อเนื่องชายในฐานะนักล่า
ฆาตกรต่อเนื่องหญิงนั้นพบได้ยากกว่าฆาตกรต่อเนื่องชายซึ่งพบได้เพียงหนึ่งในหกของฆาตกรต่อเนื่องชาย ในขณะที่เราจะพบฆาตกรต่อเนื่องเพียงร้อยละหนึ่งของจำนวนฆาตกรทั้งหมด (ข้อมูลสถิติจาก FBI) ฆาตกรต่อเนื่องหญิงแตกต่างจากฆาตกรต่อเนื่องชายมาก ในขณะที่ฆาตกรต่อเนื่องชายสำเริงในการฆ่าคนแปลกหน้า แต่ฆาตกรหญิงในฐานะผู้เก็บเกี่ยว (ทรัพย์สิน) มีแนวโน้มจะฆ่าคนใกล้ชิดตนเองและรู้จักเป็นอันดี โดยเฉพาะคนในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรัก (ถึงได้กล่าวกันว่ายิ่งรักยิ่งแค้น-ผู้เขียน) ฆาตกรหญิงจะฆ่าคนที่ไม่อาจจะสู้ได้มากกว่าฆาตกรชาย เช่น คนฆ่า ผู้ป่วย และเด็ก ซึ่งมักต่อสู้กลับไม่ได้ วิธีการที่ฆาตกรหญิงนิยมใช้มากกว่าเพราะไม่ต้องใช้ความรุนแรงและความสามารถในการล่าและการฆ่าคือการวางยาพิษ ฆาตกรต่อเนื่องหญิง จะไม่สนใจแอบมองเหยื่อแบบฆาตกรต่อเนื่องชาย แต่จะฆ่าคนใกล้ชิด ฆาตกรต่อเนื่องหญิงมักจะอยู่ในชุมชนต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ไม่ค่อยไปไหน อันแตกต่างจากฆาตกรต่อเนื่องชายอย่างสิ้นเชิง แรงจูงใจของฆาตกรต่อเนื่องหญิงมักเกิดจากผลประโยชน์เช่น มรดก และเงินประกันชีวิต เป็นต้น ฆาตกรต่อเนื่องหญิงมักเป็นแม่หม้ายที่แต่งงานหลายครั้ง และฆ่าสามีเพื่อมรดกหรือผลประโยชน์อื่นๆ มากกว่าการฆ่าเพราะแรงจูงใจทางเพศ เช่น ฆาตกรต่อเนื่องหญิงที่จะข่มขืนเหยื่อเพศชายแล้วฆ่า คงแทบไม่มี ในขณะที่ฆาตกรต่อเนื่องชายมักข่มขืนเหยื่อเพศหญิงแล้วฆ่าตามสัญชาตญาณของนักล่า
ผลการวิเคราะห์สถิติ พบว่า
ฆาตกรต่อเนื่องชายร้อยละ 85 ฆ่าคนแปลกหน้า ในขณะที่ฆาตกรต่อเนื่องหญิงฆ่าคนคุ้นเคย
ฆาตกรต่อเนื่องหญิงร้อยละ 58 ฆ่าคนที่เป็นญาติหรือมีความสัมพันธ์ในครอบครัว ในขณะที่ฆาตกรต่อเนื่องชายฆ่าคนที่เป็นญาติหรือคนในครอบครัวเพียงร้อยละ 9
ฆาตกรต่อเนื่องหญิงที่ฆ่าเด็กมีอยู่ร้อยละ 28 ส่วนฆาตกรต่อเนื่องชายที่ฆ่าเด็กมีเพียงร้อยละ 3
ฆาตกรต่อเนื่องชายร้อยละ 75 และ 65 ฆ่าเหยื่อเพราะความต้องการทางเพศและแอบลอบมองเหยื่อก่อนลงมือฆ่า ในขณะที่ฆาตกรต่อเนื่องหญิงร้อยละ 52 ฆ่าเหยื่อเพราะได้ผลประโยชน์ทางการเงิน
ฆาตกรต่อเนื่องชายร้อยละ 73 จบมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่ฆาตกรต่อเนื่องหญิงร้อยละ 53 จบปริญญาตรี
ฆาตกรต่อเนื่องชายใช้วิธีการทำให้ขาดอากาศหายใจร้อยละ 47 ในขณะที่ฆาตกรต่อเนื่องหญิงใช้วิธีการวางยาพิษร้อยละ 47 จะสังเกตว่าวิธีการที่นิยมใช้ในการฆาตกรรมระหว่างฆาตกรต่อเนื่องหญิงและชายมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะผู้หญิงไม่มีแรงมากพอที่จะบีบคอผู้ชายตายได้ จึงต้องใช้วิธีการวางยาพิษ
ที่น่าสนใจมากคือฆาตกรต่อเนื่องชายร้อยละ 54 ถูกตัดสินประหารชีวิต ในขณะที่ฆาตกรต่อเนื่องหญิงร้อยละ 63 ถูกตัดสินพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต อันแสดงให้เห็นว่าผู้พิพากษามีแนวโน้มจะเห็นใจฆาตกรต่อเนื่องหญิงมากกว่าฆาตกรต่อเนื่องชาย เพราะเหตุผลหรือแรงจูงใจของฆาตกรต่อเนื่องชายมักเป็นไปเพื่อความสำเริงกามารมณ์และมีแนวโน้มจะเป็นภัยต่อสังคมมากกว่าฆาตกรต่อเนื่องหญิง ซึ่งมักลงมือกับคนในครอบครัวมากกว่าคนแปลกหน้า
ท้ายสุดนี้หวังว่ากรมราชทัณฑ์น่าจะพัฒนาตัวแบบทำนายการกระทำความผิดซ้ำ โดยสร้างฐานข้อมูลติดตามนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัว หรือแม้กระทั่งข้อมูลการกลับเข้ามาติดคุกซ้ำ และพยายามหาตัวแปรจำแนกหรือพยากรณ์การกระทำผิดซ้ำ ก่อนพิจารณาปล่อยตัวนักโทษอย่างรอบคอบ นอกจากนี้การปรับพฤติกรรมและการบำบัดไม่ให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำอีก เพื่อคืนคนดีสู่สังคม น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญสุด