“พลาสติกใบเดียว คน 60 ล้านคน ก็เท่ากับ 60ล้านใบ!!” เพราะเห็นภาพสัตว์ป่า-สัตว์ทะเลต้องตายเพราะพลาสติก จึงเกิดเป็นไอเดียช่วยโลก “หิ้วปิ่นโต-ใช้ถุงผ้า-หลอดพกพา” ทำมานานกว่า 1 ปี หวังสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนทำตาม คุณครูเปิดใจ ไม่ต้องรอให้รัฐบาลหรือโรงงานเลิกผลิต ทุกอย่างเริ่มที่ตัวเองก่อน!!
“ทุกอย่างต้องเริ่มที่ตัวเรา”
“พี่แอนเปลี่ยนมาใช้ปิ่นโตก่อนต้นปี รวมแล้วเป็นเวลากว่า 8 เดือน หรือ 240 วัน เลิกใช้ถุงพลาสติกได้วันละ 6 ใบ พี่แอนคนเดียวประหยัดการใช้ถุงพลาสติกไปได้ 1440 ใบ ลองคิดดูว่าหากพวกเราเริ่มหันมาช่วยกัน มีคนที่หันมาใช้ปิ่นโตเพิ่มอีกแค่ 1,000 คน ภายในเวลา 8 เดือน
คนแค่ 1,000 คน ประหยัดการใช้ถุงพลาสติกไปได้ถึง 1,440,000 ใบ แล้วถ้าเกิน 1,000 คนล่ะ ถ้า 10,000 คน จะเท่ากับการประหยัดถุงพลาสติกไป 14,400,000 ใบ”
นี่คือเรื่องราวที่ถูกพูดถึงและได้รับเสียงชื่นชมทั่วสังคมออนไลน์ สำหรับ “วรินธร เอื้อวศินธร” หรือ “ครูแอน” เจ้าของแฟนเพจ “Perfect English กับครูพี่แอน” ที่มีผู้ติดตามกว่า 8 แสนคน
ซึ่งได้ออกมาแชร์สิ่งที่ได้กำลังทำอยู่ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กนักเรียน หรือคนทั่วไปเรื่องการลดใช้ถุงพลาสติกในชีวิตประจำวัน
ครูแอน เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live ถึงไอเดียเริ่มต้นว่าเคยเห็นภาพของสัตว์ที่ต้องกินพลาสติก จึงเกิดความรู้สึกผิดว่าพลาสติกที่มนุษย์ใช้แล้วทิ้ง สุดท้ายไปตกอยู่กับสัตว์ นี่จึงเกิดเป็นแรงผลักดันเล็กๆ ที่ทำให้หันมาใช้ปิ่นโตไปที่ทำงาน แทนการใส่กับข้าวด้วยถุงพลาสติก
“เรารู้สึกว่าทุกครั้งที่เวลาไปซื้ออาหารแล้วใช้ถุงพลาสติกทุกวัน ใช้แล้วก็ทิ้ง มันรู้สึกผิดกับตัวเองนิดหนึ่ง เพราะหนึ่งอาจจะเคยเห็นรูปนกที่เขาต้องมากัดถุงพลาสติก เรารู้สึกแย่ว่าสิ่งที่เราใช้ สุดท้ายมันไปตกที่สัตว์ที่เขาไม่รู้อิโหน่อิเหน่เลยรู้สึกแย่ ถ้างั้นเราเลิกใช้ขยะพวกนี้ดีกว่า
แม้ขยะพวกนี้มันไม่ได้มาตกที่เราโดยตรง แต่มาตกที่สัตว์ นอกจากจะตกที่สัตว์แล้วยังมาตกที่เราอีกทีหนึ่ง เขากินเข้าไป เรามาทานเขาอีกทีหนึ่ง มันก็มาโดนเราเหมือนเดิม ตรงนี้เรามีส่วนที่ต้องรับผิดชอบเยอะมาก ดังนั้น เราอาจจะไม่ได้ไปประกาศทุกคนต้องหยุดใช้ แอนรู้สึกว่ามันยาก เริ่มจากตัวเองก่อนดีกว่า
เริ่มจากการหิ้วปิ่นโตไปซื้อกับข้าวทุกวัน จริงๆ นอกจากหิ้วปิ่นโตก็ชอบพกถุงผ้า เวลาไปห้างหรือร้านสะดวกซื้อ เรากำลังลดอะไรก็ตามที่ใช้ไปแล้วมันจะเสียเปล่า พวกถุงพลาสติก หรือไม่ก็หลอดจะพกหลอดที่พกไปไหนมาไหนได้
หลายๆ คนชอบพูดว่าแค่ถุงไม่กี่ใบ ใช้ไปเถอะ วันเดียวใช้แค่ 2-3 ใบเอง แอนว่าถ้าคิดแบบนี้สัก 3 ล้านคน วันหนึ่งกี่ล้านใบแล้ว
ครูแอนมองแบบนี้ว่าต้องเริ่มที่ตัวเราสิ อย่าไปมองว่ามันจะต้องเริ่มจากรัฐบาลนะ จากฝ่ายผลิต โรงงานต่างๆ ต้องเลิกใช้ถุงพลาสติก มันไม่ใช่ ถ้าเราหยุดใช้ เขาก็ต้องหยุดผลิตเหมือนกัน ฉะนั้น ทุกอย่างต้องเริ่มที่ตัวเรา”
แม้ว่าเรื่องราวของครูแอนเพิ่งถูกพูดถึงในช่วงไม่นาน แต่ความจริงแล้วเธอลดการใช้ถุงพลาสติกมานานแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวลงในโซเชียลฯ มากกว่า ซึ่งเหตุผลที่เธอตัดสินใจเล่าเรื่องดังกล่าวเพราะเห็นว่ามีเด็กนักเรียน และผู้ติดตามแฟนเพจจำนวนเยอะ จึงคิดว่าน่าจะทำให้เกิดประโยชน์ได้
“จริงๆ ทำมา 6 เดือน พอสัก 6 เดือนก็เริ่มแชร์แล้ว ด้วยความที่มีนักเรียนหลายๆ คนดูเราเป็นแบบอย่างด้วย ผู้ติดตามเราก็ชอบในคาเร็กเตอร์ของเรา เราก็รู้สึกว่าควรจะเอาตรงนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ก็เลยเริ่มโพสต์เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็มีน้องๆ เริ่มทำตาม
จริงๆ เรื่องปิ่นโตตอนครูแอนเริ่มหิ้วก็มีคนหัวเราะเหมือนกันเวลาไปเดินซื้อของ เขาจะขำกัน ทำไมเหมือนพระเลย หิ้วปิ่นโตด้วย แม่ค้าก็จะทักแต่เราก็รู้สึกว่าหิ้วแบบนี้ไปเรื่อยๆ แหละ เดี๋ยวคนอื่นหิ้วตามเขาก็จะไม่โดนหัวเราะแล้ว เพราะเราโดนก่อน
ถามว่ารู้สึกยังไงตอนที่มีคนหัวเราะก็รู้สึกเฉยๆ ค่ะ เพราะด้วยความที่ครูแอนค่อนข้างมั่นใจว่า สิ่งที่ครูแอนทำอยู่เป็นสิ่งที่ดี ดีต่อตัวเราเอง ดีต่อสิ่งแวดล้อม ดีต่อคนอื่น แต่มันอาจจะแปลกตรงที่ว่ายังไม่มีคนทำ ทุกคนก็หิ้วถุงพลาสติกหมดเป็นเรื่องปกติไปแล้ว”
เด็กๆ ยกให้เป็น “ไอดอล” รักษ์โลก!
“หลังๆ เห็นมีน้องๆ ถ่ายรูปมาให้ดู พี่แอนวันนี้หนูหิ้วปิ่นโตเหมือนพี่แอนเลยนะ ส่วนมากจะชอบส่งรูปมาให้ดู เหมือนเขามีเราเป็นต้นแบบแล้ว เขาทำอะไรตามเรา หรือถ้าเห็นนักเรียนทำตาม ครูแอนจะชอบแชร์ เพราะเวลาเราแชร์ก็เหมือนกับเราสนับสนุนเขาว่า ทำแบบนี้คือสิ่งที่ดีนะ”
แม้จะเป็นจุดเปลี่ยนเล็กๆ แต่หากทำอย่างสม่ำเสมอก็ถือเป็นการช่วยสิ่งแวดล้อมได้อย่างระยะยาว เธอสะท้อนถึงความตื่นตัวในสังคมไทยต่อเรื่องการใช้พลาสติกด้วยว่า ค่อนข้างตื่นตัวในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น
“คนตื่นตัวมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น ต้องบอกว่าเด็กวัยรุ่นจะตื่นตัวกับเรื่องนี้มาก ครูแอนจะมองว่าผู้ใหญ่วัยสัก 30 อัพ ด้วยความที่ใช้ชีวิตอยู่กับถุงพลาสติก หรือสิ่งพวกนี้มานานมากแล้วก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลง แต่เด็กวัยรุ่นเขาค่อนข้างสนใจในเรื่องนี้มากๆ
จริงๆ มันไม่ง่ายเลย เพราะความเคยชินของคนมันเปลี่ยนยากนะ แต่ครูแอนคิดว่าการที่เราเป็นแบบอย่างที่ดีให้เขาดู มันจะช่วยทำให้เขามีแรงจูงใจนะ เราพูดอย่างเดียวมันไม่พอหรอก แต่เขาจะทำตามเราก็ต่อเมื่อเราทำให้เขาดูก่อน และต้องสม่ำเสมอด้วย
ส่วนเรื่องสุขภาพถามว่าเห็นความเปลี่ยนแปลงไหมก็ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของเราเองด้วยนะว่า เรารับอะไรจากพลาสติกมาน้อยลงมาก ครูแอนว่าสุขภาพอาจจะไม่ได้เห็นชัดขนาดนั้น
เพราะถ้าเราทานจริงๆ อาจจะค่อยๆ สะสม ใช้เวลาหลายปี มันระยะยาว แต่ส่งผลกับสุขภาพจิตค่อนข้างเยอะ เพราะเรารู้สึกว่าทุกๆ วัน เราตื่นมาได้ทำสิ่งดีๆ ให้กับสิ่งแวดล้อมแล้ว มันส่งผลต่อสุขภาพจิตมากกว่า”
อย่างไรก็ดี ครูแอน ยังทิ้งท้ายเกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยว่า ตนตั้งใจจะทำต่อไปและเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่นักเรียน รวมถึงอยากให้คนในสังคมตระหนักถึงเรื่องนี้ว่าไม่ใช่สิ่งไกลตัวอีกต่อไปแล้ว ที่สำคัญคืออย่ารอให้รัฐบาล หรือองค์กรใหญ่ๆ เป็นผู้เริ่มเปลี่ยนแปลงก่อน แต่ควรเริ่มจากตัวเราเอง
“ตอนนี้นอกจากทำไปเรื่อยๆ แล้ว ยังพยายามปรับอีกหลายด้วย เริ่มจากตัวเรา หลังจากนั้นเริ่มที่คนข้างๆ พอเขาเห็นเราทำ เขารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดี เขาก็จะทำตาม แต่เราต้องทำอย่างสม่ำเสมอด้วยนะ อย่างถ้าครูแอนทำอาทิตย์เดียว ก็คงไม่มีใครทำตามหรอก
เราทำให้เป็นไลฟ์สไตล์ค่ะ อย่างเมื่อก่อนช่วงแรกที่เริ่มหันมาใช้แก้วเหล็ก ตอนแรกก็ลืมพกไป เพราะมันเพิ่งเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ แต่ตอนหลังพกติดตัวตลอด ก่อนออกจากบ้านต้องพกไป
จริงๆ อยากให้ทุกคนตระหนักค่ะว่าเรื่องนี้มันเป็นสิ่งใกล้ตัวที่เราทุกคนแก้ไขได้ เราทุกคนช่วยกันได้ ไม่ต้องรอให้รัฐบาลหรือโรงงานเลิกผลิตก็ได้ อย่างประเทศนิวซีแลนด์ มีการลดปริมาณการผลิตถุงพลาสติกเยอะมาก ซึ่งจริงๆ มันเกิดขึ้นได้เพราะประชาชนเลิกอุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลาสติก
พอผลิตภัณฑ์ไหนใช้พลาสติก เขาเลิกซื้อแบรนด์นั้นเลย พอเลิกซื้อ แบรนด์เหล่านั้นก็จะกังวัลแล้วว่าจะขายไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องเปลี่ยนมาใช้เป็นกระดาษแทน หรืออะไรก็ตามที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แอนคิดว่าต้องเริ่มจากตัวเองค่ะ อย่าไปรอให้ใครทำอะไรให้เรา”
ข่าวโดย MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **