xs
xsm
sm
md
lg

“เกิบรักษ์โลก” ทั้งขายและแจก! ดีต่อโลก 2 เด้ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




เปิดเทอมแล้ว เด็กๆ โรงเรียนบ้านแม่หาด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ได้รับรองเท้าแตะ จากผู้ที่มีจิตเมตตาแล้วมีใจรักษ์โลก ครบหมดทุกคนแล้ว
"คู่ใหญ่ลดขยะ คู่เล็กแบ่งปันน้ำใจ” สโลแกนบอกไว้ให้เข้าใจถึงโครงการนี้
นอกจากเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลได้มี “เกิบ” (รองเท้าแตะ) ไว้สวมใส่ เด็กและคุณครูในโรงเรียน รวมถึงคนในชุมชนที่โครงการเข้าไปบริจาค ยังได้รู้และเข้าใจถึงความเป็นมาของเกิบ ว่าผลิตจากส่วนที่เหลือจากการทำรองเท้าผู้ใหญ่
กรรมวิธีทำนองนี้ คนในชุมชนนำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตแบบตระหนักรักษ์โลกอื่นๆ ได้ เพราะเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า และยังช่วยลดสร้างขยะสู่สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ปลายทางอาจจะไปตกสู่ท้องทะเลซึ่งก่ออันตรายแก่สัตว์น้ำ และสิ่งแวดล้อมของทุกคนในที่สุด
ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา “ดร.เป้า” ผศ.ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เปิดโครงการขยะแลกบุญ 3 โดยบอกไว้ชัดเจนว่าต้องการแจกรองเท้าแตะฟรีแก่เด็กด้อยโอกาส โดยรองเท้าแตะที่ผลิตขึ้นมาได้จากวัสดุเหลือจากการทำรองเท้าผู้ใหญ่มาทำเป็นรองเท้าเด็ก
โดยทาง GREEN ROAD จะนำรองเท้าดังกล่าวไปแจกเด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาสในโรงเรียนที่ขาดแคลน และอยู่ในพื้นที่ห่างไกลในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยทางโรงเรียนสามารถแจ้งชื่อ และที่อยู่ของโรงเรียน จำนวนนักเรียนที่ต้องการพร้อมถ่ายรูปเด็กนักเรียนที่ต้องการรองเท้าแตะ แต่สำหรับคนอื่นๆ ที่สนใจ “เกิบรักษ์โลก” สามารถสั่งซื้อได้ในราคา 199 บาท (ซื้อ1 แถม 1) โดยผู้สนใจอาจจะนำไปใช้เพียงคู่เดียว อีกคู่หนึ่งบริจาคแก่เด็กๆ ก็ได้
วัตถุประสงค์หลักของ “โครงการขยะแลกบุญ 3 เกิบรักษ์โลก” มีอยู่ด้วยกัน 2 ข้อ คือ 1) แจกรองเท้าแตะให้กับเด็กนักเรียนที่ขาดแคลน ในพื้นที่ห่างไกล และ 2) ผลิตรองเท้าแตะที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิล 22% จำหน่ายให้ผู้ที่มีจิตเมตตาและมีใจรักษ์โลก ทั้งนี้ทาง GREEN ROAD ขอสงวนสิทธิ์บริจาคให้กับโรงเรียน หรือชุมชนที่ขาดแคลน และมีความต้องการจริงๆ โดยเรียงลำดับตามความสำคัญ

ต้นปี 63 #โครงการขยะแลกบุญ3 จะทยอยนำรองเท้าแตะไปแจกเด็กในโรงเรียนที่ขาดแคลนและอยู่ห่างไกล
ผศ.ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ กล่าวว่า “ปัญหาขยะพลาสติก ถือเป็นหนึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ ซึ่งขยะพลาสติกเหล่านี้ไม่ใช่แค่ส่งผลต่อมนุษย์เท่านั้น แต่มันยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสัตว์และระบบนิเวศในท้องทะเลอย่างรุนแรง ในแต่ละวันมีสัตว์ทะเลจำนวนไม่น้อยที่ได้รับบาดเจ็บหรือตายจากผลกระทบจากขยะพลาสติกและไมโครพลาสติกที่ลอยไปทั่วท้องทะเล”
สิ่งเหล่านี้ทำให้กลุ่มนักสิ่งแวดล้อมและกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล รณรงค์และสร้างกิจกรรมในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกและฟื้นฟูระบบนิเวศทั้งบนบกและทางทะเล ซึ่งหนึ่งในกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่มีบทบาทมาอย่างสม่ำเสมอ คือ GREEN ROAD ที่นำโดย “ดร.เป้า” หนึ่งในผลงานที่ได้รับความสนใจเป็นวงกว้างคือโครงการรับบริจาคถุงพลาสติกใช้แล้วไปทำบล็อกปูถนนโดยบล็อกปูถนนรีไซเคิล (1 ตารางเมตร ใช้ขยะถุงพลาสติก ประมาณ 4,000 ใบ) ซึ่งในขณะนี้ก็ยังรับบริจาคถุงพลาสติกใช้แล้วแบบไม่จำกัด
ข้อมูลอ้างอิง เพจเฟซบุ๊ก Green Road


กำลังโหลดความคิดเห็น