“ระบบที่เอามาใช้ มันทำให้เด็กๆ กลายเป็น..หนูทดลองโดยสมบูรณ์แบบ..” กูรูด้านการศึกษา คนที่ถูกขนานนามว่า “รัฐมนตรีของเด็กๆ” ขอส่งเสียงแทน “เหยื่อระบบการศึกษา” แลกเปลี่ยนบทสนทนาอย่างตรงไปตรงมา เจาะช่องโหว่จากระบบใหม่ “TCAS” เทียบ “มหากาพย์ระบบเก่า” แฉคะแนนพิศวาสที่อาจซุกซ่อนอยู่ในรอบคัดเลือกสีเทาๆ สะกิดเตือนผู้ใหญ่ในกระทรวงให้เร่งอุดรอยรั่วรูใหญ่ ถ้ายังอยากสลัดตัวเองให้พ้นจากสมญานาม “เต่าล้านปี!!”
หลังขัดเกลามุมคิด พิชิตใจวัยขาสั้นคอซอง ผ่านตำแหน่งบรรณาธิการข่าวการศึกษา เว็บเด็กดี (dek-d.com) มานานถึง 10 ปี ชื่อของ ลาเต้-มนัส อ่อนสังข์ ก็กลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญอันดับต้นๆ ที่ผู้คนให้ความสนใจในทัศนะ และน่าจะเป็นอีกหนึ่งแสงสว่างสำคัญ ที่ช่วยส่องช่องโหว่ให้ส่งถึงคนที่มีอำนาจจะอุดมันได้ เช่นเดียวกับรูรั่วจำนวนมากมายที่เขาช่วยชี้ฝากเอาไว้ให้ผ่านบทสัมภาษณ์นี้...
“TCAS” ทฤษฎีดี-การจัดการป่วย
[“TCAS” ระบบใหม่ แบ่งคัดเลือกเป็น 5 รอบ]
ตอนนี้สังคมกำลังเวียนหัวกับ “TCAS” ที่สร้างขึ้นมาเพื่ออุดช่องโหว่ แต่กลายเป็นช่องโหว่เสียเอง เรามองยังไงบ้าง?
ถามว่าระบบ TCAS (Thai University Center Admission System) มันดีไหม มันก็ดีนะครับ แต่พอมันมาใช้จริง มันดันเกิดปัญหาที่ทั้งตัวน้องๆ และตัวคนคิดระบบ ไม่คาดคิดว่ามันจะเกิด
เทียบกับระบบก่อนหน้านี้ เด็กจะต้องวิ่งรอกสอบเยอะแยะไปหมด คือถ้าอยากเรียนที่ ม.แม่ฟ้าหลวง ก็ต้องนั่งรถไปสอบตรงที่นั่น กลายเป็นว่าต้องเสีย ค่าเครื่องบิน-ค่าที่พัก กันเยอะมาก ก็เลยเกิดเป็นระบบ TCAS ตัวนี้ขึ้นมา เขาระบุเอาไว้ชัดเจนเลยว่า ต่อไปนี้ทุกมหาวิทยาลัยห้ามจัดสอบกันเอง แต่ทาง ทปอ. (ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย) จะมีข้อสอบกลางมาวัดให้ ทั้งคะแนน GAT, PAT, วิชาสามัญ ฯลฯ ให้สอบจากแหล่งเดียว ยื่นได้ทุกมหาวิทยาลัย
อยากให้ช่วยอธิบายความซับซ้อนของปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบครั้งล่าสุด เรื่อง “การกั๊กที่” ของคนที่สอบติด
เนื่องจากกฎของ TCAS กำหนดเอาไว้ว่า เด็กทุกคนสามารถสมัครเอาไว้ได้ 4 ที่ 4 สาขา โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าคะแนนถึงหมดทั้ง 4 ที่ ก็จะติดหมดเลย ทำให้มีเด็กหลายคนที่สมัครทั้ง 4 ที่ และคะแนนก็ถึงหมดเลย พอประกาศผลออกมาก็กลายเป็นว่า ชื่อ “นายลาเต้” ติดหมดเลยทั้ง 4 คณะ แต่ระบบจะให้เลือกได้แค่คณะเดียว ทำให้อีก 3 คณะที่มีชื่อติด กลายเป็นที่นั่งว่าง
ประเด็นก็คือตอนแรกทาง ทปอ. ไม่ได้แก้ปัญหาโดยการเรียกตัวสำรองมา แต่แก้โดยการปล่อยให้มันว่างไว้แบบนั้นครับ แล้วกะจะเอาจำนวนที่นั่งว่างเหล่านั้น ไปทบกับการสอบรอบที่ 4 (จากการคัดเลือกทั้งหมด 5 รอบ) ซึ่งน้องๆ เขาก็มองกันว่า มันไม่แฟร์ เพราะเขาต้องเสียค่าสมัครใหม่ สอบใหม่ ลุ้นกันใหม่ ทั้งๆ ที่คะแนนเขาถึงเกณฑ์ของคณะนั้นแล้ว แต่กลับไม่ได้เรียน
ที่สำคัญคือ การสอบครั้งที่ 4 ใช้คนละเกณฑ์กับการสอบครั้งที่ 3 เทียบง่ายๆ เหมือนตอนแรกเด็กเก็งเอาไว้ว่า ถ้าจะเข้าคณะนี้ ต้อง “วิ่ง” ให้ผ่านเกณฑ์ เขาก็อุตส่าห์ไปซ้อมวิ่งมา แต่พอกำลังจะถึงเส้นชัย ก็ถูกตัดสิทธิตรงนั้น แล้วบอกให้ไปเริ่มจุดสตาร์ทใหม่ โดยเปลี่ยนเป็น “การว่ายน้ำ” แทน
[ความเครียดจากระบบ ที่เด็กไทยต้องแบกรับ]
หมายความว่า การสอบ “รอบที่ 4” มันวัดด้วยคะแนน GAT, PAT เป็นหลัก ต่างจาก “รอบที่ 3” เลยใช่ไหม?
(พยักหน้ารับ) ครั้งที่ 4 จะวัดจาก GAT, PAT, O-Net และเกรดเฉลี่ย ซึ่งมันจะต่างจากสอบครั้งที่ 3 มากครับ มีน้องหลายๆ คนบ่นว่า โรงเรียนตัวเองกดเกรดมาก เขาเลยวางแผนเอาไว้แล้วว่า จะไม่ไปยุ่งกับการสอบรอบที่ 4 เลย เพราะจะทำให้ตัวเองเสียเปรียบมาก ต้องวัดจากเกรดถึง 6,000 คะแนน
คือการที่ระบบออกแบบมาให้แบ่งการสอบเป็น 5 ครั้ง เด็กๆ เขาไม่ว่าหรอกครับ หรือถึงเพื่อนๆ จะกั๊กที่เพราะได้คะแนนสูง เขาก็ไม่ว่า แต่ควรจะต้องหาทางออกให้โอเค ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีทางออกแล้ว ล่าสุดมีเปิด “รอบ 3/2” กันแล้ว คือปล่อยให้แต่ละมหาวิทยาลัยเรียก “ตัวสำรอง” ไปถมที่ว่างที่คนสละสิทธิ์แล้วครับ
ปัญหาที่เกิดขึ้น สะท้อนการวางระบบที่ไม่รัดกุมพอหรือเปล่า ทำไมไม่คิดจะเรียก “ตัวสำรอง” เอาไว้ตั้งแต่แรก?
อย่างระบบก่อน แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีการเรียกตัวสำรองของตัวเอง ก็เลยไม่มีปัญหาครับ แต่ครั้งนี้เขาพยายามเข้ามาจัดระบบทุกอย่างมากขึ้น เปรียบตัวเองได้ว่าเหมือนเป็นเว็บขายของออนไลน์ ให้แม่ค้า (มหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง) มารวมกันที่เว็บเดียว แล้วให้น้องๆ เข้าไปเลือกว่าจะซื้อสินค้านี้จากแหล่งไหน
เหมือนทาง ทปอ.ไม่เคยทำ พอมาจัดการทุกอย่างเองแบบนี้ เลยไม่รู้ว่าควรจะอุดช่องโหว่ตรงไหนดี?
ใช่ครับ ตอนตัวทฤษฎีของ TCAS ออกมา เข้าไปนั่งอ่าน ผมยังคิดเลยว่ามันเป็นระบบที่ดีนะ แก้ปัญหาเรื่องการกั๊กที่, ลดเรื่องค่าใช้จ่ายในการสอบแต่ละสนาม, ทำให้เด็กสนใจการเรียน ม.6 ได้อย่างเต็มที่ ฯลฯ แต่พอเอามาใช้จริง ผมไม่รู้จะใช้คำว่าอะไร ระหว่าง “ทฤษฎีสวย แต่ปฏิบัติไม่โอเค” กับ “ทฤษฎีดี แต่บริหารจัดการไม่ดี” แต่คิดว่าน่าจะเป็นอย่างหลังมากกว่า เพราะถ้าตัดสินใจเรียกตัวสำรอง ก็จะไม่มีปัญหาแบบนี้
แต่ก็มีหลายฝ่ายเหมือนกันครับที่บอกว่า ทำไมต้องให้สิทธิเด็กติดมากกว่า 1 ที่ แต่ก็เข้าใจทาง ทปอ.นะครับว่า ระบบของประเทศไทยเราเป็นแบบนี้มาหลายปีแล้ว ถ้าเทียบกับจีน, เกาหลีใต้ แล้ว จะเห็นว่าการศึกษาเขาเครียดมาก ระบบการเข้ามหาวิทยาลัยคือ เป็นตายวัดกันครั้งเดียว ถ้าสมัครเข้าไป ติดก็คือติด ไม่ติดก็ต้องม้วนเสื่อกลับ รอปีหน้า แต่ของไทยจะค่อนข้างให้สิทธิเด็ก ถ้าคะแนนเยอะจะเลือกได้
จากเดิม ทาง ทปอ.คาดหวังว่า ระบบ TCAS จะลด “ความเหลื่อมล้ำทางการเงิน” คือ คนที่มีเงินเยอะ สมัครสอบได้เยอะ คนที่มีเงินน้อย สมัครได้น้อยกว่า แต่กลับกลายเป็น “ความเหลื่อมล้ำทางคะแนน” แทน คือคะแนนเยอะก็ติดเยอะ คนคะแนนน้อยก็ไม่ติด
และกลายเป็นว่า TCAS ที่สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่ 1, 2, 3 กลับทำให้เกิดปัญหาที่ 4, 5, 6 ตามมา แถมยังเป็นปัญหาที่สาหัสกว่าที่เคยพยายามจะแก้อีก
เกิดอะไรขึ้นกับระบบนี้ ทำไมเด็กที่ได้คะแนนสอบดีๆ หลายรายสอบไม่ติด?
ด้วยความที่ระบบมันกำหนดไว้ว่า เด็กคนนึงสามารถเลือกได้ 4 ที่ และถ้าคะแนนสูงก็จะมีชื่อติดอยู่ได้ทั้งหมด 4 ที่ เด็กที่เลือกแพทย์ก็ต้องยอมรับว่า เป็นเด็กที่คะแนนสูง ซึ่งเขาก็จะเลือกเรียนแพทย์เป็นอันดับ 1 ส่วนลำดับถัดๆ มา เขาเลือกแพทย์ไม่ได้แล้ว เขาก็ต้องเลือกคณะอื่น จริงๆ แล้วจะไม่เลือกก็ได้ เว้นว่างไปก็ได้ แต่มองในมุมเด็กก็ไม่มีใครอยากเสี่ยง ดังนั้น ในเมื่อระบบให้โอกาสเลือก 4 ที่ เขาก็เลือกตามนั้น
กลายเป็นว่า พอถึงวันรายงานตัว เด็กที่ติดแพทย์แล้ว ก็ไม่มีใครไปรายงานตัวกับ คณะเภสัชศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์ ที่เลือกไว้เลย เพราะน้องต้องไปเอาแพทย์อยู่แล้ว ทำให้เด็กที่อยากเข้าคณะเหล่านั้นจริงๆ ถูกแย่งที่เรียน แถมตอนแรกระบบเขาตั้งไว้ว่าจะไม่เรียกตัวสำรองอีก มันเลยยิ่งไปกันใหญ่
ทุกวันนี้ เด็กที่สอบได้คะแนนสูงถึง 26,000 กลับกลายเป็นเด็กสอบไม่ติด ทั้งที่ถ้าวัดจากคะแนนของเกณฑ์คณะทั้ง 4 ที่ที่เลือกไว้ เขาสามารถติดได้สบายๆ หรือสอบเข้าไปได้กลายเป็นท็อปของคณะด้วยซ้ำ แต่ด้วยระบบมันทำให้ผลออกมาแบบนี้ ผู้ปกครองก็ไม่เข้าใจ เถียงกันว่าถ้าลูกได้คะแนนสูงจริง ก็ต้องสอบติดสิ ก็เลยกลายเป็นปัญหาความไม่เข้าใจ เพราะต่างฝ่ายต่างตามระบบกันไม่ทัน
มหากาพย์เปลี่ยนระบบ “ผู้ใหญ่ยิ่งแก้-เด็กๆ ยิ่งวุ่น”
[ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)]
ถือเป็นมหากาพย์ของระบบการศึกษาไทยเลยไหม เปลี่ยนตลอด แล้วก็มีปัญหาตลอด?
ผมว่าครั้งนี้เป็นครั้งที่รุนแรงสุด อาจจะเป็นเพราะเด็กมีปากมีเสียงมากขึ้น รู้ว่าจะทำยังไงเพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง ถึงขนาดตั้งแคมเปญรณรงค์ใน change.org ให้คนมาช่วยกันลงชื่อกดดันด้วยยอด แล้วก็ผลักให้เกิดแฮชแท็ก #dek61 ที่ออกมาระบายเรื่องระบบ TCAS กันจนกลายเป็นเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์ไปเลย
ถามว่าปีไหนที่ระบบถูกวิจารณ์เดือดสุด ก็ปีนี้แหละ และปีไหนที่เด็กเครียดที่สุด ก็ปีนี้แหละครับ เพราะเป็นปีที่ระบบมันซ้ำซ้อนมาก ก่อนที่เด็กจะระเบิด มันไม่ใช่ครั้งแรก มันมีตั้งแต่ปัญหารอบเลือกจากพอร์ตฯ (Portfolio) มาเว็บล่ม จนถึงการไม่เรียกตัวสำรอง มันหลายครั้งจนเด็กต้องระเบิดออกมา
แต่เราก็ต้องเข้าใจว่า ทาง ทปอ.ปีนี้ เขาก็โกยการคัดทั้ง 5 รอบมาไว้กับตัวเอง คือถ้าจะออกแบบคัดให้เสร็จรอบเดียวจบ เขาก็สามารถทำได้เลย แต่เขาเลือกที่จะไม่ให้เด็กเสียสิทธิไงครับ ทำให้เขาต้องรับผิดชอบหมดทั้ง 5 รอบ เด็กก็จะได้ยินชื่อ ทปอ.ตลอด เวลาเกิดข้อผิดพลาดอะไรขึ้นมา
ทาง ทปอ.เองเขาก็น้อยใจนะครับเรื่องการกั๊กที่ เขาบอกว่าทีปีก่อนๆ ก็มีการกั๊กที่แบบนี้เหมือนกัน แต่ไม่เห็นมีใครไปด่า อันนั้นก็เป็นเพราะระบบเดิมแต่ละมหาวิทยาลัยเขาคัดเด็กกันเอง และเรียกตัวสำรองกันเอง คือเขาหาทางออกได้ดีกว่าที่ทาง ทปอ.ทำไงครับ มันเลยไม่เกิดปัญหาแบบนี้ อันนี้พูดกันตรงๆ เลยนะ
คิดว่าอะไรทำให้มุมมอง-ความต้องการเรื่องการศึกษา ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ มันสวนทางกันตลอดแบบนี้?
ผมว่าคนออกแบบคือผู้ใหญ่คุยกันเอง แล้วก็ไม่เคยมีการซาวเสียงเด็ก ไม่เคยเรียกผู้ปกครองหรือครูแนะแนวไปร่วมถกว่าอยากให้เป็นแบบไหน ตั้งแต่ผมทำงานที่เด็กดีมา ก็ยังไม่มีผู้ใหญ่ฝั่งออกแบบนโยบายมาถามความคิดเห็นเด็กๆ มีแต่พี่ๆ สื่อมวลชนมาถามหาน้องๆ ที่อยากสะท้อนปัญหาของระบบ
แต่ก็ต้องเข้าใจว่าการที่จะทำให้ระบบหนึ่งระบบ ตอบโจทย์เด็กทั้ง 3-4 แสนคนทั่วประเทศ มันคงยาก ยังไงก็ตามก็ต้องยอมรับนะครับว่า ทาง ทปอ.เซตนี้ค่อนข้างกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา ถ้าเทียบกับหน่วยงานทางการศึกษารุ่นอื่นๆ ที่ผมเห็นมาตลอดแล้ว
ถ้าเป็นเมื่อก่อน เวลาเด็กออกมาเรียกร้องอะไร ถึงจะรู้ว่าผิด แต่จะอาศัยวิธีเงียบ ไม่ให้สัมภาษณ์สื่อ ไม่แถลงข่าว แค่ส่งหนังสือออกแถลงการณ์มาแล้วก็จบ ข้อสอบผิดก็เลือกที่จะไม่เฉลย เลือกที่จะเงียบให้มันหยุด แต่ทาง ทปอ.เขาก็ออกมาพูด ออกมาแก้ ก็ต้องยอมรับในความใส่ใจเด็ก
ยิ่งช่วงหลังๆ ทาง ทปอ.ก็เริ่มมาเล่นกับแฟนเพจมากขึ้น เริ่มมาโพสต์ถาม-ตอบ สังเกตเวลาผมโพสต์ถามอะไรอาจารย์ไป ไม่เกิน 1 ชั่วโมง เขาจะไปขึ้นในเพจเพื่อตอบคำถาม ยิ่งหลังจากเกิดดรามาไป เห็นเลยว่าเขาพยายามอัพเดตข้อมูลเยอะมาก จนกระทั่งน้องไปแซวในแฟนเพจว่า “เย่! แอดมินทำงานแล้ว” (ยิ้ม) ทำให้กระแสต่อต้าน-กระแสด่าก่อนหน้านี้ ลดลงไปด้วย จากก่อนหน้านี้เด็กไม่รู้ว่าจะไปถามหรือติดต่อใครดี
ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของไทย เปลี่ยนผ่านมาหลายระบบมาก มันสะท้อนอะไรบ้าง?
ถ้าวัดจากที่ผมเข้ามาทำงานที่เด็กดี นับรวมแล้วก็เปลี่ยนระบบมา 3 ครั้งแล้วครับ คือ 1.O-Net, A-Net 2.GAT, PAT และ 3.TCAS ระยะเวลา 10 ปี เปลี่ยนมา 3 ระบบ ก็แปลว่าตก 3 ปีต่อระบบ ถ้ามองในแง่ปฏิบัติ มองจากมุมผู้ใหญ่ เขาอาจจะมองว่าไม่ต้องคิดอะไรมาก เราเปลี่ยนเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง เขาไม่ได้อยากโดนด่า แต่ในเมื่อเขาเห็นปัญหา เขาก็คิดว่าจะต้องเปลี่ยน
แต่ในมุมของเด็ก การเปลี่ยนระบบ 3 ปีครั้ง มันยากนะ เพราะเวลาเด็กจะวางแผนการเข้ามหาวิทยาลัย เขาไม่ได้วางแผนกันตอน ม.6 นะ เขาวางกันตั้งแต่ ม.4 แล้วถ้านับไปถึงปีที่ 3 ก็มาเปลี่ยนระบบพอดี เท่ากับเด็กวางแผนไว้ก่อนไม่ได้ใช่ไหม ยิ่งระบบล่าสุด TCAS ทำปีแรกถูกสังคมสวดเละขนาดนี้ เด็ก ม.4-ม.5 ตอนนี้ก็เริ่มเสียวสันหลังแล้วว่า ยังจะยึดระบบตัวนี้กันไปได้อีกนานแค่ไหน
เปลี่ยนมากี่ระบบ ก็มีปัญหาทุกระบบ จะเป็นไปได้ไหมที่ระบบการศึกษาไทยจะมีจุดที่ลงตัวเสียที?
(หัวเราะรับ) นี่ก็เปลี่ยนมา 3-4 ครั้งแล้ว แล้วมันไม่ถูกใจเขาสักครั้งเลยเหรอ แต่ทุกครั้งที่เปลี่ยน ผู้ใหญ่เขาก็จะมีวัตถุประสงค์ตลอดว่าเปลี่ยนเพราะอะไร
อย่างการเปลี่ยนระบบ “Entrance” เพราะการสอบครั้งเดียวแล้วตัดสินทุกอย่างเลย มันทำให้เด็กเครียด แล้วก็แก้ปัญหาข้อสอบที่ออกแบบท่องจำ จนเด็กต้องไปติวที่โรงเรียนกวดวิชา ก็เลยมาเป็นระบบ “O-Net” แล้วก็ “GAT, PAT” ข้อสอบช่วงหลังๆ จะเห็นเลยว่า จะออกมาแบบไม่ต้องท่องจำ แต่จะเน้นทักษะการคิดวิเคราะห์
แต่ปัญหาก็คือ การที่เราเปลี่ยนจากระบบเดิม มาเป็นระบบใหม่ เพื่อที่จะ “แก้ปัญหาเดิม” มันกลับกลายเป็นทำให้ “เกิดปัญหาใหม่” และที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้น มันไม่เคยทับปัญหาเดิมเลยนะ (หัวเราะเบาๆ)
อย่างระบบ “Entrance” มาเป็น “O-Net, A-Net” เพื่อแก้ปัญหาเด็กเครียด แต่ก็กลายเป็นปัญหาการสอบซ้ำซ้อนอีก ถูกวิจารณ์ว่า O-Net กับ A-Net ชื่อวิชาเหมือนกันเลย จะแยกกันทำไม จากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นระบบ “GAT, PAT” เพื่อแก้ปัญหาเรื่องข้อสอบท่องจำให้หมดไป แต่กลายเป็นว่าข้อสอบที่เอามาวัดมันไม่ตอบโจทย์
ยกตัวอย่างช่องโหว่ที่เกิดกับคณะวิศวฯ คนจะเรียนได้ต้องเก่งคณิตกับฟิสิกส์ แต่ชุดข้อสอบที่เอามาใช้วัด กลับเป็น ฟิสิกส์, เคมี, ชีวฯ ทำให้คนที่ได้คะแนนวิชาเคมีสูงๆ เข้าวิศวฯ ได้ แต่พอเข้าไปเรียนจริงก็เรียนไม่ไหว เพราะอ่อนฟิสิกส์ ทำให้ปีแรกที่ใช้ GAT, PAT คณะเสียศูนย์ไปเลย เพราะเด็กซิ่วกันเยอะมาก ทางคณะเขาก็เลยขอคัดจากสอบตรงเอง
จนกลายเป็นปัญหาเด็กต้องวิ่งรอกสอบ และเพื่อยุติปัญหาสอบหลายที่ของเด็ก มันเลยกลายมาเป็น “TCAS” ที่ใช้กันอยู่ตอนนี้ แล้วก็กำลังเป็นปัญหาอยู่ตอนนี้ด้วย
คนจัดการระบบ เขาพยายามอุดปัญหาที่ 1, 2, 3 แต่ดันเกิดปัญหาที่ 4, 5, 6 ตามมา แล้วพอไปอุดปัญหาใหม่ เปลี่ยนระบบใหม่ กลับไปทำให้เกิดปัญหาที่ 7, 8, 9 ตามมาอีก
ตอนนี้เกิดปัญหาที่ 10, 11, 12 ตามมาแล้ว คิดว่าเขาจะเปลี่ยนระบบอีกไหม?
ผมว่า TCAS เหมือนเอาระบบ Entrance, O-Net และ GAT, PAT มาไว้รวมกันเลยนะครับ แค่บริหารจัดการให้ดี ก็น่าจะเป็นระบบที่ไปได้สวย แต่ที่ตอนนี้เด็กโวยๆ กันอยู่ เพราะบริหารจัดการไม่ดี เรื่องการติดมากกว่า 1 ที่
ถามว่าระบบแบบนี้ผิดไหม ก็ไม่ผิดครับ แต่คุณต้องหาวิธีจัดการที่ดีขึ้น เรียกตัวสำรองขึ้นมาเลย ไม่ใช่ไปปัดจำนวนที่นั่งว่างไปชดเชยรอบอื่นแทน... ต้องบอกว่าเขาเห็นปัญหากันอยู่แล้ว แล้วก็รู้ว่ามันจะเกิดอะไรแบบนี้ขึ้น แต่ก็ยังเลือกที่จะใช้ทางออกแบบนี้
“กระทรวงเต่าล้านปี” กับ “นักเรียนหนูทดลอง”
หลายครั้งที่สังคมตำหนิหนักมากว่า “กระทรวงศึกษาเต่าล้านปี” แก้ปัญหาไม่ได้เสียที คิดเห็นกับคำนี้ยังไงบ้าง?
(ถอนหายใจ นิ่งคิดครู่ใหญ่) ผมมองว่าคนที่ดูแลระบบ เขาทำการบ้านมาดีนะ แต่ฝั่งรัฐมนตรีมากกว่า ที่ไม่ได้ทำการบ้านมาเลย อย่างเวลาในที่ประชุม ฟังดูแล้วเหมือนรัฐมนตรีเขาไม่รู้ว่าทำไมถึงได้เกิดปัญหาขึ้นมา บางทีคำถามที่รัฐมนตรีตั้งออกมา เด็กเขารู้กันหมดแล้ว แต่รัฐมนตรีเห็นปัญหาจากข่าวต่างๆ เท่านั้นเอง ก็เลยรู้สึกว่าเขาก็คงมาเพื่อเยี่ยมชม มาเพื่อให้กำลังใจมั้งครับ (หัวเราะเบาๆ)
ผมเคยนั่งประชุมร่วมกัน ผมเห็นเลยว่าทาง ทปอ.ต้องมานั่งอธิบายเรื่องระบบและปัญหาให้ทางรัฐมนตรีฟัง เป็นเวลาถึงครึ่งชั่วโมง แล้วการประชุมมันก็ยังไม่ไปไหน ซึ่งมันเป็นปัญหาที่คนอื่นเขารู้กันหมดทั้งประเทศแล้ว อันนี้ก็เลยไม่รู้ว่าคำว่า “เต่าล้านปี” มันเป็นยังไงเหมือนกัน
คือผมเข้าใจนะว่า งานในระบบการศึกษาไทย มันไม่ได้มีแค่การสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ยังต้องมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกเยอะแยะ จะทำยังไงให้เด็กได้มีที่เรียนอย่างเท่าเทียม ต้องดูแลเรื่องหลักสูตรขั้นพื้นฐาน ฯลฯ แต่ยังไงก็ตาม ผมก็ยังมองว่า “การสอบเข้ามหาวิทยาลัย” เป็นปัญหาที่ถูกทอดทิ้ง หน่วยงานที่ทำเหมือนคิดแล้วก็ไปนำเสนอ ผู้ใหญ่เองก็เห็นว่าน่าจะดี ก็เลยลงนาม จนออกมาเป็นแบบนี้มั้งครับ
แต่ผมให้กำลังใจคนที่ทำระบบ TCAS นะครับ เพราะทฤษฎีมันโอเคแล้ว เหลือแค่การบริหารจัดการให้ดี อาจจะต้องให้เวลาเขาอีกหน่อย และเท่าที่ดูแนวทางในปีหน้า ที่เขาพูดในที่ประชุม ผมก็รู้สึกว่าเขาก็พยายามจะแก้ปัญหาสิ่งที่เด็กต้องการอยู่นะ อย่างปัญหาเรื่องการกั๊กที่ เด็กแพทย์สอบติดในคณะอื่นๆ แล้วไม่เอา ก็มีแนวโน้มว่าเขาจะคัดเด็กแพทย์แยกจากเด็กคณะอื่นๆ จะได้ไม่ต้องมาตัดเกณฑ์พร้อมกัน
จากผลของระบบตอนนี้ กลายเป็นว่าเด็กแพทย์กลายเป็นจำเลยของสังคมไปเลย เหมือนคนรุมประณามว่าทำไมต้องไปเลือกคณะอื่นแล้วก็ไม่เอา ทั้งที่จริงๆ แล้ว เขาไม่รู้หรอกครับว่าเขาจะติดแพทย์จากอันดับแรกๆ ที่เลือกไหม แต่เด็กก็ต้องเลือกเพื่อกันความเสี่ยงของตัวเอง คือไม่อยากให้โทษเด็กครับ ในเมื่อระบบมันออกมาให้เด็กต้องทำแบบนี้
มองว่าระบบทำให้เด็กเป็น “เหยื่อของการศึกษา” หรือเป็น “หนูทดลองระบบ” ไหม?
(พยักหน้ารับ) คำว่า “หนูทดลอง” นี่ใช่เลยครับ แต่ผมก็พยายามทำความเข้าใจน้องๆ นะ เทียบให้เขาเห็นว่า อย่างเวลาเราเราอัปเดตระบบปฏิบัติการในมือถือ มันก็ไม่ใช่ว่าจะอัปเดตครั้งเดียวแล้วจะจบ อย่างเครื่องแอปเปิลก็จะต้องอัปเดตตลอด เมื่อ 3 วันก่อนเพิ่งอัป iOS 11.0 ไป วันนี้ต้องมาอัปใหม่เป็นเวอร์ชัน 11.1, 11.2 อีกแล้ว เพราะระบบมันยังมีปัญหา ยังไม่เสถียรไงครับ คงต้องรออีกสักพักกว่ามันจะนิ่ง
แต่จริงๆ แล้ว ผู้ใหญ่เขาก็ไม่ได้ตั้งใจให้เด็กต้องมาเป็น “หนูทดลอง” หรอกครับ คงอยากให้ระบบที่เอามาใช้ มันได้ผลจริง แต่พอเอามาใช้จริง มันดันไม่ได้ผล ก็เลยต้องแก้ปัญหา เด็กๆ ก็เลยกลายมาเป็น “หนูทดลองโดยสมบูรณ์แบบ”
ถ้าลองให้ช่วยคิดวิธีอุดช่องโหว่ระบบ TCAS ตอนนี้ จะพอมีแนวทางไหนหลงเหลือบ้าง?
ตอนนี้ระบบ TCAS มันมีการคัดจากทั้งหมด 5 รอบ ซึ่งจะมีรายละเอียดการรับแต่ละรอบแตกต่างกันไป ผมมองว่าเขาสามารถสลับลำดับการเรียกได้ คือเราต้องเข้าใจมุมของเด็กด้วยว่า รอบที่ 3 ที่เป็นปัญหาเรื่องกั๊กที่นั่งตอนนี้ มันเป็นรอบที่อยู่ในช่วง มิ.ย.
ลองนึกภาพตัวเองเป็นเด็ก ม.6 คนนึง เรียนจบตั้งแต่เดือน ก.พ. ผ่านไป4 เดือน ยังไม่มีมหาวิทยาลัยรองรับเป็นหลักเป็นแหล่งเลย ป้าข้างบ้านก็ถามเช้าเย็นว่า ติดที่ไหนหรือยังลูก ครูแนะแนวก็มาเร่งว่าติดที่ไหนส่งข้อมูลให้ครูด้วย เดี๋ยวครูทำสถิติส่งฝ่ายวิชาการ หลายคนที่ตามระบบไม่ทันก็จะมาถามเด็ก มันเลยทำให้เด็กยิ่งเครียด
ผมว่าถ้าเขาย้ายกลไกการคัดเด็กจากคะแนนสอบ และให้ติดได้ 4 ที่ จากการคัดรอบที่ 3 ตรงนี้ เลื่อนไปอยู่ในรอบต้นๆ ได้ มันก็จะช่วยเด็กได้ในระดับนึง จะได้ประกาศกันไปตั้งแต่ต้นว่า รอบที่ 1 มีใครติดบ้าง ให้เห็นกันชัดๆ ไปเลยว่า พอมีคนสละสิทธิ์แล้ว มีที่นั่งว่างเหลือเท่าไหร่ ต้องเรียกตัวสำรองเพิ่มแค่ไหน เด็กจะได้ใจไม่ฝ่อนานมากนัก
คือทุกระบบมันมีข้อดีนะผมว่า แต่แค่จะจัดการยังไงให้ถูกช่วงเวลา จัดวางยังไงให้เหมาะสม
ในต่างประเทศ เขาต้องมานั่งเครียดกับตัวระบบอย่างบ้านเราบ้างไหม?
เครียดนะ แต่เขาไม่เคยมีปัญหาอะไรแบบบ้านเราเลยครับ ยกตัวอย่างง่ายๆ ใกล้บ้านเราอย่าง “จีน” ด้วยความที่เขาอาจจะเข้มงวด และระบบเขาก็ไม่ได้เปลี่ยนบ่อย คือเป็นแบบไหนมาก็ใช้แบบนั้น เด็กก็เลยรู้ว่าต้องเตรียมตัวยังไง หรือถึงแม้จะมีปัญหาอะไรก็ตาม เขาจะมองออกอยู่แล้วว่า อ๋อ..เดี๋ยวมันจะเกิดปัญหานี้ขึ้นมานะ และเขาก็เคารพในกฎกติกาตรงนั้นกัน
หรืออย่าง “เกาหลีใต้” เด็กเขาเครียดเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยกันมาก แล้วก็ฆ่าตัวตายกันเยอะมากนะ และทางการก็สนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง พอถึงวันสอบ เขาจะประกาศให้ราชการหยุดงานเลย เพื่อให้เด็กไปสนามสอบได้แบบการจราจรไม่ติดขัด แม้แต่เครื่องบินก็ห้ามบินผ่านน่านฟ้าสนามสอบ รถตำรวจก็มีหน้าที่วิ่งรับส่งนักเรียน แล้วก็ให้สอบได้ครั้งเดียว ติดได้แค่ที่เดียว
ถ้าถามว่าผมมี “ระบบในดวงใจ” ไหม ผมมองว่าการที่จะคิดระบบให้ถูกใจทุกคนในประเทศ มันเป็นไปไม่ได้แน่นอน สำหรับผมมองเป็นภาพรวมว่า ระบบที่ดี เราคงไปลดสิทธิการสอบของเด็กที่เคยมีไม่ได้ ถ้าเขาเคยสอบได้มากกว่า 1 ครั้ง หรือติดได้มากกว่า 1 ที่ ก็ควรจะเป็นแบบนั้นต่อไป ที่สำคัญก็คือระบบต้องมีความเป็นธรรม ถ้าจำเป็นที่จะต้องตัดบางสิ่งบางอย่างทิ้ง แต่สร้างผลดีต่อเด็กส่วนมาก มันก็จำเป็นต้องทำ
อย่างเรื่องการกั๊กที่ ระบบบอกว่าเด็กเก่งสามารถติดได้มากกว่า 1 ที่ มันคือสิทธิของเด็กที่เก่ง แต่เด็กที่ได้คะแนนน้อย แล้วถูกกั๊กที่ก็มองว่า มันก็คือสิทธิที่จะได้เข้าเรียนในคณะที่เขาอยากเรียนเหมือนกัน ซึ่งมันก็คือ “สิทธิของเด็ก” ทั้งคู่ ถามว่าสิทธิฝั่งไหนมีจำนวนมากกว่ากัน เราก็ต้องตอบโจทย์ฝั่งนั้น
คำแนะนำสำคัญจาก “รัฐมนตรีของเด็กๆ”
ทุกวันนี้เห็นเด็กๆ ยกให้ “พี่ลาเต้” เป็น “รัฐมนตรีของเด็กๆ” กันเยอะแยะ พอจะรู้บ้างไหม?
(ยิ้มรับเขินๆ) เคยเห็นแต่ในทวิตเตอร์ครับ ที่เขาจะโหวตกันว่า อยากจะให้ผมไปเป็นประธานดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องระบบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย แล้วคือทุกวันนี้ ผมเป็นตัวกลางระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ (ทปอ.ผู้ดูแลระบบอยู่ตอนนี้) มันทำให้ผมรู้สึกเกรงใจผู้ใหญ่เขามาก เพราะเรารู้ว่าผู้ใหญ่เขาเหนื่อย เรารู้ว่า ทปอ. หรือคนที่ดูแลเรื่องระบบการศึกษาอย่าง สทศ. เขาก็เหนื่อย เที่ยงคืน-ตี 1 เขายังส่งไลน์ข้อมูลมาให้เราอยู่เลย ทั้งๆ ที่ผมหลับไปแล้ว
จริงๆ แล้ว ผู้ใหญ่ที่ดูแลระบบอยู่ตอนนี้ เขาก็อยากให้ผลมันออกมาเป็นที่ถูกใจของเด็กแหละครับ แต่บริบทของเขามันอาจจะเข้าถึงยากไปบ้าง อาจจะเป็นภาษาที่ผู้ใหญ่คุยกัน พอแปลออกมาก็เป็นภาษาทางการ เด็กอ่านไม่เข้าใจ แต่พอพี่ลาเต้หยิบมาเล่า เราเล่าด้วยภาษาวัยรุ่น เด็กก็เลยเข้าใจ น้องก็เลยชอบพี่ลาเต้ แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่บอกเล่ามันก็คือใจความเดียวกันเลยครับ
เด็กๆ แซวกันหนักถึงขั้นที่ว่า ในเมื่อเราเข้าใจมุมมองของพวกเขาได้ขนาดนี้ ไปอยู่ประจำกระทรวงศึกษาเลยดีกว่าไหม?
ถ้าผมไปจริงๆ ผมคงความสามารถไม่ถึงครับ เพราะผมก็ตอบได้แค่เรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่หน้าที่ของกระทรวงศึกษามันต้องทำมากกว่านั้นอีกเยอะครับ ทั้งเรื่องการศึกษาขั้นพื้นฐาน, การดูแลงบประมาณให้โรงเรียนในชนบทอย่างเท่าเทียม ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมไม่รู้เรื่องเลย
คิดว่าอะไรทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าเราเข้าใจ จนยกให้เป็น “รัฐมนตรี” ในใจเขา
(ยิ้ม) ผมก็ไม่รู้เหมือนกันนะ ผมแค่รู้สึกว่าเราช่วยน้องได้ เราติดต่อผู้ใหญ่ได้ เราเอาเรื่องที่เด็กๆ เป็นเดือดเป็นร้อนไปเสนอผู้ใหญ่ได้ อาจจะต้องไปถามน้องๆ ว่า ที่บอกว่าพี่ลาเต้เข้าใจเขา หมายถึงเข้าใจในแง่ไหน
ถ้าเข้าใจน้องๆ ในแง่ชี้จุดดี-จุดบกพร่องได้ ก็อาจจะใช่ครับ เพราะในแง่การสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผมจะมองตลอดว่าเด็กคือผู้เข้าแข่งขัน ผู้ใหญ่ออกแบบระบบ มากสุดก็คือโดนเด็กด่า แต่พอเด็กไปเข้าแข่งขัน เขาก็ต้องไปเจอกับแรงกดดันอีกรอบทิศ และเด็กทุกคนไม่ใช่แค่มีปัญหาเรื่องการเข้ามหาวิทยาลัยนะครับ ช่วงนั้นแฟนอาจจะไม่ตอบไลน์ พ่อแม่มีปัญหาทะเลาะกัน หรืออะไรก็ตาม
ผมเคยพูดกับน้องๆ ว่า พี่เข้าใจน้องๆ นะว่า ทุกคนไม่ได้มีแค่เรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยอยู่ในหัว ทุกคนมีหลายๆ เรื่องให้คิด เคยสอนน้องแม้กระทั่งว่า เวลาจะทิ้งใคร อย่าไปทิ้งช่วงเข้ามหาวิทยาลัยนะ (ยิ้ม) อาจจะเพราะตรงนี้หรือเปล่า ที่ทำให้น้องๆ มองว่า พี่ลาเต้เข้าใจเราตั้งแต่เรื่องระบบ ไปจนถึงเรื่องหัวใจเลย แต่ในมุม ทปอ.เขาอาจจะมองแค่เรื่องระบบแค่มุมเดียว
อีกหนึ่งเรื่องที่เด็กๆ ชื่นชม คือความใส่ใจในการตอบคำถามน้องๆ ขยันตอบแทบจะทุกคำถาม
(ยิ้มเย็นๆ) อันนี้ไม่รู้ว่าเป็นข้อเสียด้วยหรือเปล่านะ นี่ผมก็ปวดหลังมา 3 วันแล้วครับ เหมือนพอได้เข้าเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ทีไร จะวางไม่ได้เลย จะดูอยู่อย่างนั้นเป็นชั่วโมง เพราะปัญหาที่น้องๆ ถามเข้ามา มันไม่ได้จบแค่น้องๆ ตอบกลับมาว่า ได้ครับ-ได้ค่ะ แต่น้องเขาจะถามต่อไป เราก็ต้องไปสืบสาวราวเรื่องให้น้องๆ อีก
พี่ผู้บริหารเด็กดีเคยถามผมว่า ทำไมลาเต้ต้องไปนั่งตอบคำถามทุกทวีต ทั้งๆ ที่บางอันเป็นคำถามซ้ำๆ เราตอบทีเดียวในทวีตของเราก็ได้แล้ว แต่ผมมองว่าน้องๆ หลายคนเขายอมสมัครทวิตเตอร์เพื่อถามผมโดยเฉพาะ บางคนเล่นทวิตเตอร์ไม่เป็น แต่ยอมสมัครมาเพื่อคุยกับเรา
หน้าโปรไฟล์น้องบางคนยังเป็นรูปไข่อยู่เลย บางคนเล่นทวิตเตอร์ไม่เป็น จะหาคำตอบไม่เจอเลยว่าคำตอบของพี่ลาเต้อยู่ตรงไหน ก็เลยคิดว่าถ้าเราตอบได้ เราก็ตอบ แต่ถ้าอันไหนที่ไม่ตอบ อาจจะเพราะหน้าไทม์ไลน์มันไหลไปเร็ว หรือบางอันไม่ชัวร์ก็จะไม่ตอบ
ในฐานะ “ครูแนะแนว” คนนึงของน้องๆ เรามองคำว่า “แนะแนว” สำคัญมากน้อยแค่ไหนต่อชีวิตพวกเขา?
ผมว่าการแนะแนวสำคัญมากนะครับ ยิ่งทุกวันนี้ ผมว่าระบบเปลี่ยนเยอะ เลยยิ่งสำคัญมาก ไม่ใช่แค่แนะว่าระบบคืออะไร แต่ต้องแนะไปถึงขั้นว่าตัวของน้องๆ เหมาะกับอะไร เข้าไปเรียนแล้วจะออกมาเป็นอะไร เทียบกับศาสตร์อื่นๆ แล้ว จะสอนให้รู้ในเชิงวิชาการ แต่ศาสตร์ของการแนะแนว จะสอนให้น้องๆ รู้จักตัวเอง ซึ่งทั้งสองอย่างนี้จะต้องไปด้วยกัน เพื่อผลักให้เราเดินไปในทางที่ถูก
แต่เหมือนระบบบ้านเราไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่อง “ค้นหาตัวตน” ของเด็ก เท่ากับเรื่อง “สอบติด-ไม่ติด”
ใช่ครับ ถ้ามองในแง่เด็กไม่มีความรู้เรื่องคณะที่อยากเข้านะครับ เพราะเด็กส่วนใหญ่เรียน ม.ปลาย เพื่อให้คะแนนสูงๆ ให้สอบติดในคณะที่ตัวเองรู้จัก
เด็กหลายๆ คนทุกวันนี้ ยอมที่จะติดคณะที่ไม่ใช่-ไม่ตรงกับตัวเอง เพื่อแลกกับคำว่า “สอบติด” เหมือนเขารู้สึกว่าวันประกาศผล เขาก็อยากสอบติดเหมือนเพื่อนๆ แต่พอไปเรียนแล้วไม่รอด ก็กลายเป็นซิ่วออกเยอะแยะมากครับ
บางคนคิดว่าเลือกๆ ไปก่อนไม่เป็นไร ค่อยไปเริ่มนับ 1 ใหม่ในมหาวิทยาลัยเอาก็ได้ แต่สำหรับผม ผมไม่ได้มองแบบนั้นนะ ผมมองว่าเราเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อเพิ่มพูน อย่างผมที่เลือกเรียนนิเทศ เพราะผมชอบ พอได้เข้ามหาวิทยาลัย เหมือนเราแค่เอาความชอบของเรา ไปอยู่ให้ถูกที่ ไปจับเข้ากับศาสตร์ที่เขาสอน ไปเก็บเกี่ยวเรื่องที่สอนมาใส่ในความชอบของเรา ไม่ใช่เข้าไปเพื่อเริ่มค้นหาเพื่อนับ 1 ใหม่ เพราะตอนจบออกไป เราก็ต้องทำงานแล้ว
คิดยังไงกับการที่ประเทศไทย “เรียนเพื่อสอบ” เป็นหลัก ไม่ใช่ “เรียนเพื่อรู้”
อันนี้คือจริงเลยครับ เด็กหลายคนเรียนมาตั้งแต่ ป.1 จบ ม.6 ออกมากินเวลา 12 ปี เขายังไม่รู้เลยว่าเขาอยากเรียนคณะอะไร เด็กส่วนใหญ่เข้าไปเรียนเพราะอยากได้คะแนนดีๆ เพื่อไปสอบ แต่ไม่ได้รู้ว่าตัวเองเหมาะจะไปต่อในอาชีพไหน และเด็กหลายคนที่เจอมาก็มีปัญหาเรื่องการค้นหาตัวตนมาก บอกว่า “หนูไม่มีคณะที่ชอบค่ะ มีแต่คณะที่ไม่ชอบ กับคณะกลางๆ” ถามว่าอะไรคือคำว่ากลางๆ ของน้อง (ยิ้มปลงๆ)
พอเป็นแบบนี้ มันเลยทำให้ “ครูแนะแนว” ต้องทำงานหนักมาก แถมครูสายนี้ยังแทบจะเรียกได้ว่าเป็น “ครูลูกเมียน้อย” ในโรงเรียนเลย ผมเคยไปแนะแนวน้องๆ ตามโรงเรียนต่างๆ ถามหาครูแนะแนว ทั้งโรงเรียนมีครูอยู่ท่านเดียว แต่เด็กระดับนึงมีอยู่ 10 กว่าห้อง แถมยังต้องดูแลเด็กเรื่องทุนเรียนต่างๆ ด้วย ถามว่าคุณครูดูไหวได้ยังไง เขาบอกว่ามีนิสิตมาช่วยสอน ถ้าระดับไหนครูไม่พอ ก็จะให้ครูภาควิชาอื่นที่มีคาบว่างอยู่ มาช่วยสอน
สุดท้าย “ศาสตร์ในการแนะแนว” มันก็หายไป ถามเด็กว่าครูที่มาช่วยสอน เขาสอนเรื่องอะไร เด็กๆ ก็บอกว่าไม่ได้สอนเลยค่ะ บางทีก็ให้เด็กเอาวิชาที่ตัวเองสอนขึ้นมาทำ “คาบแนะแนว” ทุกวันนี้เลยกลายเป็นคาบทำการบ้านไป
ส่วนหลักสูตรครุศาสตร์เองที่เปิดสอนในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีเอกจิตวิทยาการแนะแนวด้วยครับ เพราะถูกมองว่าครูคนอื่นก็สามารถสอนได้ ครูสายแนะแนวตามโรงเรียนก็ไม่ใช่ครูบรรจุ เป็นครูอัตราจ้างที่จะออกวันไหนก็ได้
คิดว่าบ้านเมืองเราจะอุดช่องโหว่เรื่องเด็ก “หาตัวเองไม่เจอ” ได้ยังไง?
ผมฝากไว้ 3 อย่างครับ อย่างแรกคือเรื่อง “ครูแนะแนว” ที่เราควรจะต้องให้ความสำคัญ เพราะการศึกษาไม่ค่อยให้พื้นที่ตรงนี้ เพราะการจะให้เด็กมานั่งค้นหาตัวเองจากแบบสอบถามกันเอาเอง ยังไงมันก็ไม่เวิร์กอยู่ดี
อย่างที่สองคือเรื่อง “ข้อมูลการศึกษา” ผมว่าข้อมูลด้านนี้ของประเทศไทยมีน้อยมาก และบางอันก็เป็นข้อมูลเก่าๆ ผมเคยลองไปทำแบบทดสอบค้นหาตัวเองทุกวันนี้ ก็ยังเป็นข้อมูลตั้งแต่ 5-6 ปีก่อนอยู่เลย แค่ผมติ๊กถูกช่อง “ชอบเลี้ยงปลาทอง” ผลประเมินก็ออกมาบอกว่าผมเหมาะกับ “คณะเกษตรศาสตร์” แถมยังไม่ได้จำแนกสาขาให้ดูด้วยว่า มีสาขาอะไรบ้างที่เหมาะกับเรา
หรือเรื่องข้อมูลคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเองก็ยังไม่อัปเดตเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ทุกวันนี้มีคณะใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเยอะ แต่ข้อมูลที่ออกมาก็ยังเป็นของเก่า ทำให้เด็กๆ พลาดโอกาสดีๆ ที่จะได้รู้จักกับเส้นทางนั้นไป
แม้แต่หน้าเว็บของทางการทุกวันนี้ที่ให้เด็กเข้าไปกรอกข้อมูล ยังดูผ่านแอปฯ มือถือไม่ได้เลยครับ ต้องบอกให้เด็กเข้าใช้ผ่านคอมพิวเตอร์เท่านั้น แล้วคิดดูว่าเด็กๆ สมัยนี้เขาใช้งานเทคโนโลยีกันบนมือถือกันหมดแล้ว ตรงนี้ก็สะท้อนว่าระบบหลายๆ อย่างของการศึกษาไทย มันไม่ช่วยเอื้อให้เขาสามารถค้นหาตัวเองได้เลย
อย่างที่สามคือเรื่อง “ค่านิยมอาชีพ” ที่ยึดถือกัน บางสังคมโดยเฉพาะภาคอีสาน เขาจะนิยมให้ลูกหลานเป็นครูกัน เพราะมองว่าจบออกมาจะได้มีคนไหว้ มีคนนับหน้าถือตา หรือน้องบางคนก็เรียนตามเพื่อน โดยที่ไม่ถามใจตัวเองก่อนเลยว่า อยากจบออกมาทำอาชีพนั้นจริงๆ ไหม
เด็กบางคน เข้าไปเรียนในคณะที่สังคมให้ค่านิยม เพื่อให้คนชื่นชม โดยที่ไม่ได้คิดให้ดีว่า แก่นของการเรียนจริงๆ คือการเข้าไปเรียนคณะที่มันใช่กับเรา เราต้องเข้าไปเก็บเกี่ยวมาเพื่อเพิ่มพูนให้ตัวเราเอง
แฉ!! พอร์ตฯ เส้น-พอร์ตฯ เงินอุด การคัดเลือกรอบที่ 1 ของระบบ TCAS ตอนนี้ เขาจะให้เด็กใช้พอร์ตฯ (Portfolio) ยื่นมาให้พิจารณาแทน ซึ่งเป็นรอบการคัดเลือกที่ดีนะผมว่า ทำให้เด็กกิจกรรมทุกประเภท ใช้ความสามารถพิเศษของตัวเองเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่มันก็ผุดปัญหาขึ้นมาใหม่เหมือนกัน คือทำให้เด็กเสียค่าพอร์ตฯ ไปเยอะมาก เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยเขาจะกำหนดพอร์ตฯ แตกต่างกัน เลยต้องทำส่งให้ที่ละพอร์ต และที่เขากำหนดไว้ว่า ในรอบพอร์ตทุกมหาวิทยาลัยห้ามจัดสอบ มันก็ทำให้เกิดปัญหาเสียเงินเสียทองเพิ่มขึ้นมาอีก เพราะมีบางคณะยื่นพอร์ตฯ อย่างเดียวไม่ได้ เช่น คณะแพทย์ ลองนึกภาพตามว่ารับเด็กไปเรียนแพทย์ แค่เคยมีผลงานช่วยหน่วยกู้ภัย แล้วจะให้รับเป็นแพทย์ได้เลยเหรอ มันก็ไม่ได้ใช่ไหมครับ ทางมหาวิทยาลัยก็งง แต่ในเมื่อนโยบายผู้ใหญ่ออกมาแบบนี้ก็ต้องทำตาม แต่เขาก็ต้องเซฟตัวเองด้วยคะแนนสอบ ในเมื่อห้ามจัดสอบเด็กเอง เขาก็ไม่สอบ แต่ให้เด็กใช้คะแนนที่หน่วยงานเอกชนจัดสอบ ซึ่งค่าจัดสอบแพงมาก อย่างแพทย์ต้องใช้คะแนน “BMAT” เป็นข้อสอบเข้าแพทย์จากต่างประเทศ ค่าสมัคร 7,000 เทียบกับข้อสอบเข้าแพทย์ของไทยเองราคา 700 ตรงจุดนี้ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วก็ยังมีอีกช่องโหว่หนึ่งที่หนักมากเลย มีน้องคนนึงส่งพอร์ตฯ ไปพร้อมกับเพื่อนสนิท ประกาศผลออกมา ปรากฏว่าเพื่อนติด แต่เขาไม่ติด ทั้งๆ ที่เขาผลงานเยอะกว่าเพื่อน ตรงกับคณะมากกว่า แถมเกรดก็เยอะกว่าด้วย น้องคนนี้ก็เลยงงว่าทำไมเขาไม่ได้รับการคัดเลือก พอโทร.ไปถามทางคณะ จนหลุดคำตอบออกมาว่า ด้วยความที่เด็กส่งพอร์ตฯ มาเยอะ คัดไม่ได้ ก็เลยขอใช้คะแนน O-Net ของรุ่นพี่มากรองพอร์ตฯ ด่านแรกก่อน หมายความว่าพอร์ตฯ ที่จะเข้ารอบแรกได้ ต้องเป็นพอร์ตฯ ของนักเรียนในโรงเรียนที่ คะแนน O-Net ต้องติดท็อป 300 โรงจากทั่วประเทศเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้เขียนเอาไว้ในระเบียบการ น้องคนนี้ก็เลยเฟลมาก เลยเกิดคำถามว่าการที่เด็กจะติดหรือไม่ติด ทำไมต้องวัดคะแนนจากเกณฑ์โรงเรียนปีก่อน ติดหรือไม่ติด ทำไมไม่วัดจากคะแนนของตัวเด็กเอง และทำไมไม่มีการแจ้งระเบียบการว่าจะใช้ O-Net เป็นตัววัด แต่ทางมหาวิทยาลัยก็ให้เหตุผลว่า ไม่คาดคิดว่าเด็กจะส่งพอร์ตฯ กันมาเยอะขนาดนี้ ก็เลยตัดสินใจเฉพาะหน้าไปเลย นอกจากนี้ พอร์ตฯ แต่ละมหาวิทยาลัย ก็ไม่มีการชี้แจงออกมาให้ชัดเจนว่า คะแนนแต่ละส่วนคิดจากตรงไหนบ้าง ดังนั้น มันก็มีความเสี่ยงว่าพอร์ตฯ เหล่านั้นจะเกิดจาก “คะแนนพิศวาส” หรือเปล่า คือยื่นพอร์ตฯ มา แล้วฝากให้ลูกติดหน่อย ในเมื่อแต่ละเล่มตรวจสอบไม่ได้ว่า เล่มไหนได้กี่คะแนน ตรงตามเกณฑ์การคัดมากน้อยแค่ไหน อย่าง มหาวิทยาลัยที่กำลังเป็นปัญหา เขาก็ยังชี้แจงไม่ได้ว่า ทำไมพอร์ตฯ ของน้องอีกคนถึงได้เข้ารอบ และพอร์ตฯ แต่ละเล่มได้กี่คะแนน |
สานฝัน(ทางอ้อม) “คุณครูแนะแนว” ตอนผมจบ ม.6 ผมอยากเป็น “ครูแนะแนว” มาก เห็นว่าครูแนะแนวที่โรงเรียนเขาดี จนเราอยากเป็นเหมือนเขา วาดฝันมาตลอดตั้งแต่ ม.4-ม.5 พอตอน ม.6 มาดูอีกที ฝันสลายเลยครับ เขาไม่เปิดสอนเอกแนะแนวกันแล้ว พอไม่ได้เป็นครูในสายที่อยากเป็น สายนิเทศก็เลยเป็นความหวังต่อมา (เรียนจบคณะนิเทศศาสตร์ ม.สวนดุสิต) อันนี้เล่าให้ฟังขำๆ นะครับ ช่วงเรียนจบใหม่ๆ ผมเคยไปดูดวงกับเพื่อนๆ ลากกันไปเกือบทั้งห้อง หมอดูบอกว่าพอเรียนจบ เราจะได้ทำงาน 2 อาชีพ และเป็นอาชีพที่มีชื่อเสียง ตอนนั้นก็ยังนึกไม่ค่อยออกนะครับว่าคืออะไร จะได้เป็นผู้ประกาศข่าวหรือเปล่า แต่พอมามองตอนนี้ ตำแหน่งผมคือ “นักข่าว” แต่หน้าที่แนะนำน้องๆ ของผมก็เหมือนแฝงไปด้วยอาชีพ “ครูแนะแนว” ไปในตัว กลายเป็นว่าผมได้กลับมาทำอาชีพในฝันที่เคยอยากทำอีกครั้งด้วยครับ |
เครียดเพราะระบบ ต้องวิ่งแก้กลุ้ม!! ถือว่าช่วง TCAS ที่ผ่านมา ชีวิตผมรวนเหมือนกันนะ เพราะต้องตอบคำถามน้องๆ ที่ส่งมาตลอด จากปกติผมเป็นคนชอบออกกำลังกาย ชอบวิ่งมาราธอน แต่นี่ผมไม่ได้วิ่งมาเดือนนึงแล้วครับ เพราะว่าไม่มีแรงไปวิ่ง (ยิ้ม) แต่ก็คิดว่าช่วงที่จะต้องตอบคำถามน้องๆ หนักๆ มันไม่ได้มาแบบนี้บ่อยๆ หรอก ก็เลยมองว่าไม่เป็นไรครับ ปกติผมเป็นคนชอบฟิตเนส ชอบออกกำลังกายครับ อย่างช่วงเว็บ TCAS ล่มบ่อยๆ ผมตั้งปณิธานเอาไว้เลยว่า ยังไงก็ต้องเข้าฟิตเนสให้ได้ เพราะมันเป็นการเยียวยา ช่วยให้ผ่อนคลายได้นะครับ คือผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมต้องไปเครียดแทนน้องๆ เรื่องระบบ เหมือนเราไปเห็นช่องโหว่ของระบบจากการตอบคำถามเยอะๆ เข้า สุดท้ายก็เลยต้องไปฟิตเนสปลดปล่อยครับ วันไหนเหนื่อยๆ เครียดๆ แค่ลากตัวเองไปฟิตเนสก็จะหาย แล้วก็จะชอบวิ่งมาราธอนด้วย วิ่งมาได้ 3-4 ปีแล้วครับ ตอนนี้ก็วิ่งไกลสุดได้ 24 กม.แล้วครับ แต่ก็ถือว่ายังไม่ไกลเท่าไหร่สำหรับการวิ่งมาราธอน เป้าหมายตอนนี้ที่ผมตั้งไว้ก็คือ อยากวิ่งให้ได้เวลาที่ดี ในระยะทาง 21 กม.ที่เคยวิ่งเอาไว้ |
ชีวิตลูกชาวนา สมถะ-ติดดิน ครอบครัวผมมีพี่น้อง 3 คน ผมเป็นคนเล็กสุด ส่วนที่บ้านก็เป็นคนบ้านนอกเลยครับ พ่อแม่เป็นชาวนา เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เรื่องการเข้ามหาวิทยาลัยพ่อแม่ไม่ยุ่งเลย ผมอยากเรียนรามฯ ด้วยซ้ำ เพราะช่วงเรียนจบ ม.6 ผมเห็นพนักงานเอ็มเค เขาเรียนรามฯ แล้วก็ทำงานไปด้วย และผมรู้สึกว่ามันเท่ดี แต่คุณแม่ไม่อนุญาต คุณแม่บอกว่าถ้าเต้เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย เต้เรียนไม่จบแน่นอน แล้วก็แนะนำให้เราไปลองเรียนที่ ม.สวนดุสิต ก่อน ไหนๆ ก็อุตส่าห์เอนฯ ติดแล้ว และยังติดในคณะที่ใช่และอยากเรียนด้วย ไว้ถ้าไม่ชอบค่อยไปเรียนรามฯ ผมก็เชื่อแม่ และพอไปเรียนก็รู้สึกว่าชอบมาก เป็นมหาวิทยาลัยที่ตอบโจทย์เด็กกิจกรรมจริงๆ ทุกวันนี้ เขาก็รู้นะครับว่า ผมทำงานเกี่ยวกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนคุณแม่ผมก็ขายของอยู่แถวโรงเรียน ก็จะมีคุณครูมาถามเรื่องระบบการเข้ามหาวิทยาลัย เพราะเขาเห็นลูกมาออกทีวี (ยิ้ม) [ลาเต้ และครอบครัว] ส่วนใหญ่สิ่งที่คุณแม่ปลูกฝังก็จะมี 2 อย่างหลักๆ คือ “ขยัน” กับ “ประหยัด” ครับ เพราะแม่ผมเป็นคนประหยัดมาก แล้วก็มีระเบียบวินัยมากด้วย ส่วนเรื่องประหยัดอาจจะด้วยความที่เขาเป็นคนจน ทุกวันนี้ที่บ้านก็นอนกันแบบไม่มีแอร์ แล้วก็ไม่ได้รู้สึกร้อนนะครับ เปิดพัดลมก็สบายดี อีกอย่างที่ไม่รู้จะภูมิใจดีไหมนะ (ยิ้ม) ก็คือพ่อแม่ไม่เคยจัดงานวันเกิดให้ผมเลยนะครับ ไม่เคยซื้อเค้กมาเป่า จะได้เป่าก็ต่อเมื่อมีคนอื่นซื้อมาให้เป่า ปกติแม่จะพาไปทำบุญ แค่นั้นจบ |
เรื่องเล่าล่อหลอกของ “พี่ลาเต้” เวลาผมไปแนะนำน้องช่วงแนะแนวตามโรงเรียน ผมจะชอบหยิบเรื่องสนุกๆ มาดึงเขาให้สนใจก่อนครับ จะไม่เข้าเรื่องที่มันซีเรียสเลย คืออาจจะเปิดรูปรุ่นพี่นิสิตนักศึกษาหล่อๆ สวยๆ ให้เขาดู ล่อให้น้องสนใจก่อน (ยิ้ม) แล้วค่อยอธิบายดึงเข้าเรื่องระบบ TCAS น้องหลายคนก็เลยอาจจะคิดว่า ฟังจากพี่ลาเต้แล้วมันเก็ตดีนะ บางทีผมก็เปิดด้วยการเล่าเรื่อง “การบน” ให้ฟังก่อน ใครอยากเข้า ม.นี้บ้าง เขาเล่ากันว่าจะต้องไปบนยังไงกันบ้าง แล้วเราก็ค่อยไปปูเข้าระบบ TCAS (ยิ้ม) อย่างใครอยากเข้า ม.เกษตร เขาเล่ากันว่าถ้าเด็ก ม.6 คนไหน เข้าไปใน ม.เกษตรฯ ในตอนที่ยังเรียน ม.6 อยู่ แล้วเห็นกระรอก ครึ่งตัวของเด็กคนนั้นเป็นนิสิต ม.เกษตร แล้วนะ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีคนเข้ามาคอนเฟิร์มกันเยอะมาก เล่ากันต่อๆ ไป จนเรื่องเพี้ยน กลายเป็นถ้าใครอยากเข้า ม.เกษตร ต้องไปปล่อยกระรอก (ยิ้ม) ทุกวันนี้ ม.เกษตร มีแต่กระรอกเต็มไปหมด แทบจะมากกว่าจำนวนนิสิตแล้วครับ หรืออย่างเรื่องผี คนก็ชอบฟัง ก็มีเรื่องเล่ากันว่า มีน้องไปบนที่ ม.นึงเอาไว้ว่า “ถ้าสอบติด จะเอาพวงมาลัยมาถวายกับมือ” ปรากฏว่าผลออกมาว่าสอบติด ก็เลยเอาพวงมาลัยไปถวาย แล้วคืนนั้นเขาก็ฝันว่าอนุสาวรีย์ที่เขาไปถวาย มีคนร่างดำๆ มาเข้าฝัน บอกว่า “พวงมาลัยได้แล้วนะ ไหนล่ะมือ” (หัวเราะ) ทุกวันนี้เวลาไปแนะแนวน้องที่ไหน ก็จะเอาเรื่องนี้ไปเล่าติดตลกให้เขาฟังครับว่า เวลาไปบนที่ไหน ให้คิดคำพูดให้รอบคอบก่อน |
สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Live
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพ: ทวิตเตอร์ @lataedekd และอินสตาแกรม @lataedekd