ปรี๊ดแตก! “รอมแพง” ผู้แต่งนิยาย “บุพเพสันนิวาส” ละครที่ชาวสยามทุกคนต้องดู แม้จะฟีเวอร์ไปทั่วพระนครดังถล่มถลาย แต่ก็เกิดดรามาขึ้นจนได้! เมื่อมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าพล็อตเรื่องคล้ายกับคำสาปฟาโรห์ มิหนำซ้ำ รอมแพง ยังถูกผู้ใหญ่คนหนึ่งชี้หน้าด่า “หน้าด้าน” กลางงานสัปดาห์หนังสือฯ บ้างก็ว่ามั่วประวัติศาสตร์จนโลกโซเชียลฯ กำเนิดแฮชแท็ก #รอมแพงไม่แพงแล้ว เจ้าตัวยันไม่เคยก๊อบใคร
ออเจ้าปรี๊ดแตก!
สร้างปรากฏการณ์ถนนโล่งทั่วพระนคร เพราะผู้คนต่างติดหนึบนั่งดูละคร รวมทั้งทุกคนหันมาให้ความสนใจประเด็นประวัติศาสตร์ และการแต่งกายด้วยชุดไทย ส่งผลให้ อุ้ย-จันทร์ยวีร์ สมปรีดา เจ้าของบทประพันธ์นิยายบุพเพสันนิวาส ในนามปากกา รอมแพง โด่งดังสุดปัง
แต่เป็นธรรมดาของโลก เมื่อมีคน “ชื่นชอบ” ก็ต้องมีคน “เกลียด” จ้องจับผิดมากขึ้น จนทำให้เธอเริ่มระบายความรู้สึกอัดอั้นผ่านโลกโซเชียลฯ ชี้โดนด่าตั้งแต่ที่ละครออนแอร์ แต่ก็ข่มใจอดทนมาตลอด แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ปรี๊ดแตก คือ การโดนชี้หน้าด่าแบบตรงๆ ที่งานสัปดาห์หนังสือฯ
“ตั้งแต่บุพเพสันนิวาสออนแอร์ คนด่าเยอะมากก ทั้งแบบมีเหตุผลและไม่มีเหตุผล นี่ก็อดทนมาตลอดๆ เพราะเตรียมใจไว้แล้ว มีมาชี้หน้าด่าในงานสัปดาห์หนังสือด้วย แต่พวกเขาล้วนด่าอ้อมๆ เพิ่งโดนด่าว่าหน้าด้านตรงๆ ก็คราวนี้เอง เลยหัวร้อนไปหน่อย ขอโทษทุกคนด้วยนะคะ ต่อไปข้าน้อยจะอดทนให้มากกว่านี้”
นอกจากนี้ยังมีแฟนหนังสือคนหนึ่งโพสต์ทวิตเตอร์อยากให้รอมแพงชี้แจง 2 ประเด็นที่โลกโซเชียลฯ ตั้งข้อสงสัยว่าจริงหรือมั่ว คือเรื่องบางส่วนของบุพเพสันนิวาส ทำไมคล้ายคำสาปฟาโรห์ และเรื่องชี้หน้าด่ากลางงานหนังสือ โดยขอคำตอบอย่างชัดเจน
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และเธอก๊อบฯ เนื้อเรื่องของหนังสือต่างประเทศมาจริงมั้ย ทีมผู้จัดการ Live ได้สัมภาษณ์ประเด็นดังกล่าวกับ รอมแพง โดยเธอยืนยันว่าโดนชี้หน้าด่าจริง แต่ไม่ขอเอ่ยถึง เพราะบุคคลผู้นั้นเป็นผู้ใหญ่ที่อาวุโส
“เขาก็มีส่วนทำให้เราอดทนไม่ได้ รู้สึกไม่ดี เพราะแม้ว่าเราจะพยายามอธิบายอย่างไร เขาก็ไม่ฟังเลยเรื่องเหล่านี้สะสมมาหลายครั้งแล้ว คือมีเสียงวิจารณ์มากในโลกออนไลน์
ยอมรับได้หากวิจารณ์แบบให้ปรับปรุง แต่หากด่าว่า “มั่ว” - “หน้าด้าน” เราก็เกิดความรู้สึกโมโหบ้าง เพราะไม่ใช่ลักษณะในการวิจารณ์งาน เราเลยรู้สึก ไม่ไหวแล้ว ทำไมเราจะต้องมานั่งข่มใจตัวเองไม่ให้ตอบโต้ พอระบายไปแล้วก็รู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ไม่น่าจะไปตอบโต้ เขาด่าเพราะอยากด่า ไม่ใช่อยากให้เราปรับปรุงตัว เราต้องการคำวิจารณ์เพื่อให้มีการปรับปรุงงานมากกว่า
“มีคนว่าเยอะนะคะ แต่ดีใจในส่วนที่เขาวิจารณ์แล้วมาบอกข้อมูลที่แท้จริง ทำให้มีการสงสัย สืบค้น ตามหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์”
สำหรับประเด็นที่โลกโซเชียลฯ ตั้งคำถามว่า พล็อตบางตอนของบุพเพสันนิวาส ทำไมคล้ายคำสาปฟาโรห์ในตอนเครื่องกรองน้ำนั้น รอมแพงยืนยันไม่เคยคิดลอกใคร เพราะมีการสืบค้นข้อมูลตามประวัติศาสตร์ ตอนที่แต่งไม่ได้นึกถึงเรื่องคำสาปฟาโรห์แม้แต่น้อย แต่เกิดจากตอนที่ตนได้มีโอกาสไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.พระนครศรีอยุธยา เจอเครื่องกรองน้ำในสมัยนั้นจึงนำมาใส่ในเนื้อเรื่อง
“ตอนที่เราแต่งไม่ได้นึกถึงแม้สักนิดเดียว ถ้าจะบอกว่าแรงบันดาลใจที่ทำให้เขียนเรื่องย้อนยุคก็ต้องเป็นนิยายด้วยกัน อย่างทวิภพ สายโลหิต ตอนแต่งเรื่องนี้เราก็คิดไปด้วยว่า คล้ายเขาไปหรือเปล่า พยายามแต่งให้ไม่เหมือนเขา เรามีแต่คิดว่าจะแต่งยังไงให้ไม่เหมือนเขา ไม่เคยคิดจะลอกใครเลย เราประทับใจ เราอ่าน เคยดูละคร แต่ไม่มีการ์ตูนคำสาปฟาโรห์อยู่ในหัวเลยแม้แต่น้อย
สำหรับเรื่องเครื่องกรองน้ำนั้นมีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของ จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่แล้วหลายปีแต่ไม่มีใครสนใจ เราเดินไปเจอไปเห็น เลยคิดขึ้นมาได้ว่าอยากให้อยู่ในเรื่องบุพเพสันนิวาส ไม่เกี่ยวอะไรกับคำสาปฟาโรห์เลยแม้แต่นิดเดียว บางคนเขาไม่ทราบอ่านแต่การ์ตูน ไม่เคยไปดูพิพิธภัณฑ์ จึงคิดไปตามประสบการณ์ที่เขาได้พบเห็น”
แยกให้เป็น! นิยาย-ประวัติศาสตร์
นอกจากนี้ ยังมีกระแสแฮชแท็ก #รอมแพงไม่แพงแล้ว ผุดขึ้นมาในทวิตเตอร์ โดยมีผู้วิจารณ์ทั้งชื่นชมและตำหนิว่าเธอ “มั่ว” ในเรื่องประวัติศาสตร์ วิพากษ์วิจารณ์ความไม่สมจริงของละครอิงประวัติศาสตร์ ประเด็นนี้เจ้าตัว ยอมรับในความผิดพลาด
“เราบอกเสมอว่า เราก็แค่คนเขียนนิยาย ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ สิ่งที่เราพลาดในนิยายก็มีบ้าง เป็นธรรมดาของการทำงานที่จะต้องมีความผิดพลาดบ้าง”
ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เคยให้สัมภาษณ์กับทีมผู้จัดการ Live ว่า ต้องแยกระหว่างความเป็นนิยายและการอิงประวัติศาสตร์ออกจากกัน โดยเฉพาะในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยังมีการถกเถียงกันอยู่ในหลายจุด ซึ่งเป็นไปได้ว่ายังไม่ใช่เรื่องจริงทางประวัติศาสตร์ทั้งหมด แต่มีการใส่สีสันและการตีความเข้าไปผ่านความอิสระในรูปแบบนิยาย
“เท่าที่ดูละครบุพเพสันนิวาสเกือบครบทุกตอนแล้ว ผมคิดว่าเราต้องแยกกันระหว่างซีกหนึ่งที่เป็นนิยาย และอีกซีกหนึ่งที่อิงประวัติศาสตร์ ตัวละครมีหลายตัวที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ ซึ่งทำให้คนดูอินกับเรื่องราวที่นำเสนอออกมา ในขณะเดียวกันก็มีตัวละครที่ไม่มีตัวตนจริงๆ เช่น การะเกดเอง หรือคนใช้ทั้งหลาย ผมว่ามันอาจจะเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของละครอิงประวัติศาสตร์ว่ามีบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง ก็ทำให้เราอินกับละครมากขึ้น ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน”
อย่างไรก็ตาม ยังมีหลากหลายคนที่ชื่นชมเธอเพราะเป็นผู้ปลุกกระแสให้คนรุ่นใหม่สนใจกลับมาศึกษารากเหง้าประวัติศาสตร์เรื่องราวในอดีต
“ขอให้เชื่อมั่นเถอะค่ะว่ายังมีคนอื่นมากมายเหลือเกินที่ชื่นชม ทั้งที่แสดงออกและไม่แสดงออก ชื่นชมในความกล้าคิดกล้าเขียน และนำเสนอ “เกร็ดประวัติศาสตร์” ไปพร้อมกับความบันเทิง อรรถรสของวรรณกรรม “ขอบคุณ” ที่เขียนนิยายดีๆ มาให้เกิดละคร ที่กระตุ้นให้คนไทยที่กำลังหลงลืมประวัติศาสตร์ ละทิ้งรากเหง้าของตัวเอง
“คนไทยที่ใส่แบรนด์เนม แต่มองชุดไทยผ้าไทยด้วยหางตา และคนที่กล้าๆ กลัวๆ จะเรียนประวัติศาสตร์กล้าๆ กลัวๆ ที่จะใส่ผ้าไทยชุดไทย วันนี้คุณอุ้ย รอมแพง เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยหันมาสนใจประวัติศาสตร์ สนใจโบราณสถานโบราณวัตถุ ที่เป็นหลักฐานสำคัญของความเป็นมาในอดีตของประเทศ หันมาใส่ชุดไทย ชื่นชอบและภูมิใจที่ได้ใส่ชุดไทย ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจเสื้อผ้าไทย อาหารไทย การท่องเที่ยว และอีกหลายอย่าง ไม่ว่ากระแสนี้จะอยู่ยาวนานแค่ไหน ก็เกิดกระแสที่ดีเหล่านี้ขึ้น ก็มากมายและยิ่งใหญ่แล้วที่ผู้หญิงนักเขียนนิยายคนหนึ่งได้มีส่วนทำให้เกิดสิ่งดีๆ เหล่านี้”
กระแสความดังของละคร “บุพเพสันนิวาส” ส่งผลให้กำลังจะกลายเป็นละครเวที ภาพยนตร์ และซีรีส์ นอกจากนี้ ความแรงของบุพเพสันนิวาสยังทำให้ “รอมแพง” ต้องเร่งหาข้อมูลเฉพาะเจาะลึกอ้างอิงทางประวัติศาสตร์เพื่อเขียนเรื่อง “พรหมลิขิต” ซึ่งเป็นภาค 2 ของบุพเพสันนิวาส โดยเจ้าตัวเผยว่า เป็นยุคพระเจ้าท้ายสระ เป็นโรแมนติกคอมเมดีและอิงประวัติศาสตร์เช่นเดิม