xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมเด็กยุคดิจิทัลยิ่งต้องอ่านหนังสือ?/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เสียงตามสายของลูกชายคนโตจากแดนมังกรโทรหาดิฉันในค่ำคืนหนึ่ง เพื่อฝากซื้อหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 29 มีนาคม 2561 - 8 เมษายน 2561 หลังจากตกปากรับคำแล้ว ทำให้นึกถึงคำพูดของเขาเมื่อตอนปิดเทอมต้นปีที่ผ่านมาในร้านหนังสือแห่งหนึ่งใกล้บ้านขึ้นมา

"หนังสือเล่มนึงมันให้อะไรเราเยอะมาก ต้นน้ำได้อะไรจากการอ่านหนังสือเยอะมากจริง ๆ ครับ"

จากนั้นเราก็พูดคุยถึงสิ่งที่เขาได้จากหนังสือต่าง ๆ ที่อ่าน ประเภทของหนังสือที่เขาชอบ นักเขียนที่เขาชอบ สไตล์ที่เขาชอบ ฯลฯ และจบลงตรงที่แม่ขอแนะนำหนังสือที่แม่ชอบให้เขาได้อ่านบ้าง ประหนึ่งแลกเปลี่ยนหนังสือของแต่ละยุคสมัยกัน โดยที่ดิฉันก็หันไปอ่านหนังสือที่เขาชอบเหมือนกัน

หลังจากที่ต่างคนต่างอ่านหนังสือที่แนะนำกันไปมา ก็ทำให้มีการต่อยอดหนังสือที่เขาใคร่สนใจเพิ่มมากขึ้น และครั้งนี้เขาก็ฝากซื้อหนังสืออีกหลายเล่ม ก่อนตบท้ายด้วยประโยคว่าคุณแม่ช่วยเลือกหนังสือดี ๆ ที่คิดว่าเขาน่าจะอ่านมาให้ด้วยนะครับ

ดิฉันยอมรับว่าดีใจที่ลูกให้แม่ช่วยเลือกหนังสือดี ๆ ที่คิดว่าเขาจะสนใจ !

ที่เขียนมานี่มิได้มาป้อยอเรื่องการอ่านหนังสือของลูกหรอกค่ะ เพราะเขาก็เหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่ติดสมาร์ทโฟนชนิดที่ขาดไม่ได้ ใช้ทั้งดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม หาข้อมูล ซื้อของ ฯลฯ เรียกว่ามีมือถือเป็นตัวช่วยแทบจะในทุกเรื่อง

เพียงแต่เขายังโหยหาการอ่านหนังสือและจัดสรรเวลาเพื่ออ่าน !

และนี่คือสิ่งที่อยากจะสะท้อนและยืนยันว่าการอ่านหนังสือมันให้อะไรมากกว่าที่คิด และการที่จะให้ลูกรักการอ่านต้องปลูกฝังและบ่มเพาะตั้งแต่เด็ก แล้วมันจะส่งผลถึงตอนโตได้จริง ๆ

จำได้ว่าเคยมีคำถามประมาณว่าหากเลือกได้อยากให้ลูกมีนิสัยอะไรสักอย่างติดตัวไปตลอดชีวิต ดิฉันตอบไปว่าอยากให้ลูกมีนิสัยรักการอ่านหนังสือ

ดิฉันเป็นแม่คนหนึ่งที่บ้าเห่อและอยากทดลองหลายสิ่งอย่างที่คิดว่าดีให้กับลูกตั้งแต่เขาอยู่ในท้อง

การอ่านหนังสือก็เป็นสิ่งที่เชื่อว่าดี จึงทำให้อ่านให้ลูกฟังตั้งแต่ในครรภ์เพราะเชื่อเต็มหัวใจว่าลูกได้ยินเสียงแม่แน่นอน จำได้ว่าอ่านหนังสือทุกวัน อ่านหลากหลายประเภท แต่เน้นที่อ่านแล้วสบายใจ ซึ่งเปลี่ยนแค่จากการอ่านหนังสือในใจเป็นอ่านออกเสียงดัง ๆ อ่านไป เพลินไป และมีความสุขไปด้วย

จนเมื่อเขาออกมาลืมตาดูโลก เจ้าคนโตได้ฟังนิทานก่อนนอนตลอดระยะเวลา 8 ปีเต็ม

แทบจะไม่มีวันไหนที่เขาไม่ได้ฟังนิทานเลย จะมีก็เพียงถ้าแม่ไม่ได้จริง ๆ ก็จะมีมือแทนเป็นพ่อ ซึ่งช่วยได้มาก โดยเฉพาะการอ่านเรื่อง “รามเกียรติ์” พ่อจะออกอรรถรสได้ดีกว่าแม่

หรือแม้แต่วันไหนที่พ่อแม่ติดจริง ๆ ก็มีอาม่ามาช่วยชีวิตไว้

เรียกว่าเจ้าลูกชายคนโตได้ฟังนิทานทุกวัน ทั้งช่วงเวลาก่อนนอน และช่วงเวลาที่อยากฟัง จนเมื่อเขามีน้องชายก็ทำให้การเล่านิทานมีสีสันเพิ่มเติม เพราะเล่าให้ฟังทั้ง 2 คนในคราวเดียว

แม้กระทั่งอยู่ในรถระหว่างเดินทาง ไม่ว่าระยะสั้นหรือระยะยาว จะต้องมีเทปหรือซีดีนิทานไว้ประจำ โดยในช่วงนั้นคุณจันทนีย์ (อูนากุล) พงษ์ประยูร ได้จัดทำซีดีเล่าเรื่องรามเกียรติ์ออกจำหน่าย เธอใช้เสียงอ่านเอง ทั้ง 2 คน พอขึ้นรถก็ร่ำร้องจะฟังรามเกียรติ์ ระบุตอนที่ชอบเป็นพิเศษเสียด้วย เป็นอย่างนี้ต่อเนื่องเป็นปี ๆ จนโตขึ้น

นั่นเพราะดิฉันเชื่อว่าการอ่านหนังสือ ฟังนิทาน มันให้อะไรมากกว่าแค่เรื่องราวในหนังสือ !

แต่พฤติกรรมการรักการอ่านหนังสือของเด็กในยุคนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เพราะมีเจ้าเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาเป็นตัวขวางกั้นการรักการอ่านหนังสือของเด็กไปอย่างน่าเสียดาย

เด็กยุคนี้จำเป็นต้องอาศัยการปลูกฝัง กระตุ้น และส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง โดยต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก ยิ่งเล็กยิ่งดี และพ่อแม่จะต้องเป็นผู้เพาะเมล็ดพันธุ์การอ่านให้ค่อย ๆ เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ในตัวลูกเอง

ผลของมันไม่ได้ออกดอกทันที แต่ต้องใช้เวลาในการฟูมฟัก

เหตุผลอะไรที่เราควรให้ลูกอ่านหนังสือน่ะหรือ ?

การอ่านหนังสือไม่ใช่เพื่อช่วยพัฒนาสมองหรือพัฒนาสติปัญญาเท่านั้น และการอ่านไม่ได้หมายถึงการอ่านออกเสียงได้ หรือรู้ตามเนื้อหาเท่านั้น แต่ต้องหมายถึงการอ่านที่นำไปสู่การพัฒนาความสามารถในการคิดแบบต่าง ๆ ของผู้อ่าน เช่น จินตนาการ การคิดวิเคราะห์ ตีความ เป็นต้น

และ...การอ่านหนังสือจะนำไปสู่การพัฒนาทักษะชีวิตได้ด้วย

อะไรบ้างล่ะ?

หนึ่ง - มีรสนิยมของตัวเอง

ทำให้เด็กมีรสนิยมของตัวเอง เพราะเขาจะมีหนังสือในแนวที่ชอบและไม่ชอบ ผู้ใหญ่ควรมีส่วนร่วมต่อการแนะนำ หรือแนะแนวหนังสือที่น่าสนใจ และเหมาะกับวัย ความชอบของเด็กในช่วงต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกหนังสือ ทำให้การอ่านมีประสิทธิภาพมากขึ้น ควรให้อิสระในการเลือกอ่านหนังสือที่ชอบ เลือกเวลาที่ต้องการอ่าน อยากอ่านที่ไหน อ่านมุมไหน อ่านท่าไหน ก็สุดแท้แต่เขา เพื่อให้เขารู้สึกเพลิดเพลินกับช่วงเวลาอ่าน โดยผู้ใหญ่ไม่ควรไปขัดจังหวะขณะเขาอ่าน

สอง - มีความคิดลึกซึ้ง

การอ่านหนังสือจะทำให้ลูกมีความคิดในเชิงซับซ้อนได้มาก มีความคิดต่อเรื่องต่าง ๆ ได้ลึกซึ้งกว่าเด็กที่ไม่ชอบการอ่านหนังสือ พ่อแม่อาจมีส่วนต่อการช่วยเลือกหนังสือด้วยการค่อย ๆ เขยิบความยากและซับซ้อนขึ้นตามวัยของลูก หรือโน้มน้าวให้เขานำหนังสือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน

สาม - มีงานอดิเรก

ต้องยอมรับว่าเด็กยุคนี้ติดกับจอมือถือเป็นส่วนใหญ่ เรียกว่าแทบจะไม่มีงานอดิเรกอื่น ๆ เหมือนเด็กในอดีต ฉะนั้น ถ้าลูกมีงานอดิเรกและมีความชอบของตัวเอง เขาจะไม่มุ่งที่จะออกไปเที่ยวนอกบ้าน หรือไปเดินอยู่ในห้างสรรพสินค้าเท่านั้น แต่เขาจะมีช่วงเวลาสบายๆ ที่อยากอ่านหนังสือในที่ๆ เขาชอบ

สี่ - มีการค้นคว้า

เมื่อเข้าสู่โลกของการอ่าน การตั้งคำถามจะเกิดขึ้นตามมาติดๆ และเมื่อเกิดคำถามก็อยากหาคำตอบ และกลายมาสู่การค้นคว้า อย่าพลาดที่จะช่วยลูกค้นคว้าสิ่งต่าง ๆ จากหนังสือเพื่อให้ลูกเห็นความสำคัญและความมหัศจรรย์ของการอ่านหนังสือ แล้วเขาจะพบว่าสามารถเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ผ่านหนังสือได้มากมาย

ห้า - มีสมาธิดี

เป็นการฝึกสมาธิอย่างดี ทำให้เขาจดจ่อกับสิ่งที่เขาสนใจและใช้เวลากับมันได้ตราบเท่าที่สนใจ และถ้าทำอย่างสม่ำเสมอ จะเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านได้เป็นอย่างดี อาจเริ่มด้วยการกำหนดเวลาอ่านในบ้าน เท่ากับเป็นการสร้างวินัยเรื่องการอ่านให้กับเขาด้วย

หก - มีแรงบันดาลใจ

หนังสือดี ๆ สร้างแรงบันดาลใจได้มากมาย เป็นหน้าที่ของพ่อแม่และคนใกล้ชิดที่จะสังเกตลูกว่าสนใจเรื่องใด และพยายามนำหนังสือประเภทที่ลูกชอบมาให้ลูกได้รู้จักและสัมผัสอย่างสม่ำเสมอ เป็นการเปิดโลกหนังสือให้กับลูก หนังสือบางเล่มสามารถปรับพฤติกรรม หรือสร้างกำลังใจได้มากมาย มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ค้นพบตัวเองหรือได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือที่กระทบใจเขาในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งทีเดียว

เจ็ด - มีสัมพันธภาพที่ดี

หนังสือหนึ่งเล่มสามารถนำมาเป็นประเด็นสนทนาร่วมกันในครอบครัว หรือในกลุ่มเพื่อนที่อ่านหนังสือเรื่องเดียวกันได้เป็นอย่างดี ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น หรือแลกเปลี่ยนมุมมองกันอีกต่างหาก เป็นการสร้างสัมพันธภาพ หรือมิตรภาพได้เป็นอย่างดีทีเดียวเชียว

ยิ่งนับวันเด็กยุคใหม่ยิ่งเติบโตขึ้นมาในโลกยุคดิจิทัล โลกที่ทุกอย่างเน้นความเร็ว และเร่งรีบไปซะหมด ทำให้เราขาดความละเมียดในชีวิต ขาดทักษะชีวิตที่จำเป็นไปอย่างน่าเสียดาย การอ่านหนังสือจึงยิ่งต้องเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่มีความจำเป็นในโลกยุคนี้ แม้เด็กจะเป็นเติบโตมาในยุคดิจิทัล แต่รากฐานจากการอ่านหนังสือเป็นการสร้างพื้นฐานชีวิตที่สำคัญ

เริ่มหว่านเมล็ดพันธุ์การอ่านหนังสือให้ลูกตั้งแต่เล็กกันเถอะค่ะ


กำลังโหลดความคิดเห็น