xs
xsm
sm
md
lg

“คะ ค่ะ ล่ะ จ้ะ จ๊ะ” ผิดยกเล่ม!! นี่หรือ “หนังสือวิชาการ” ระดับชาติ!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
นี่หรือ ภาษาไทยยุค 4.0 !? หนังสือวิชาการหน่วยงานระดับชาติ ใช้ 'คะ-ค่ะ' ผิดยกเล่ม!! สังคมปวดใจใช้ภาษาไทยวิบัติระดับประเทศ โพสต์ประจานโซเชียลฯ พบคำผิดมีทุกหน้า..ปล่อยตีพิมพ์มาได้อย่างไร? ล่าสุด ทีมข่าวติดต่อผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย เผยวิกฤตการเรียนภาษาในสังคมไทย 'เด็ก-ครู-ผู้ใหญ่' ภาษาวิบัติไม่แพ้กัน!

หน่วยงานของชาติ “ค่ะ คะ ล่ะ จ๊ะ” ภาษาวิบัติยกเล่ม!

“เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร นี่คือหนังสือของหน่วยงานทางวิชาการระดับชาติ ซึ่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งได้นำมาให้นักศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อ่าน ทั้งเล่มเขียนคำว่า "ค่ะ คะ ล่ะ จ๊ะ จ้ะ" ผิดทุกหน้า”

น่าขายหน้าเสียจริง! เพจดังแฉหนังสือหน่วยงานราชการ ใช้ 'คะ ค่ะ' ผิดทั้งเล่ม!! สร้างความสับสนให้อาจารย์-นักศึกษา เอือมระอากับการใช้ภาษาไทยผิดๆ ถูกๆ ไม่ตรวจสอบก่อนการตีพิมพ์ แถมยังนำมาเผยแพร่ให้ใช้งานจริงอีกด้วย

“การเขียนผิดนั้นเป็นปัญหาทางด้านภาษาและพบเห็นได้ทั่วไป แต่ที่น่าเศร้าใจยิ่งกว่าคือแม้แต่ในตำราและเอกสารของหน่วยงานทางวิชาการ ก็ยังเขียนสะกดคำพื้นๆ ผิด ขาดการตรวจทานและปล่อยให้นำออกมาเผยแพร่และใช้งานจริง”

ข้อความจากเพจดัง 'มานะ มานี ปิติ ชูใจ' ได้มีการโพสต์ภาพเนื้อหาของหนังสือที่ถูกส่งมาจากอาจารย์ท่านหนึ่งในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง หลังนำหนังสือจากหน่วยงานทางวิชาการระดับชาติให้นักศึกษาใช้ประกอบการเรียน ทว่า พบการใช้คำผิดทุกหน้า จนไม่น่าเชื่อว่าเป็นหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์จากหน่วยงานวิชาการ



 
โดยหนังสือมีชื่อว่า “หนูทดลอง สำคัญจริงๆ นะ” จากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการแห่งชาติ เพื่อพัฒนางานเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (สลช.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ยกตัวอย่างประโยคที่มีการใช้คำอย่างผิดมหันต์ในหนังสือวิชาการเล่มดังกล่าวที่ได้ถูกเผยแพร่ออกไปสู่โลกออนไลน์ จนสร้างกระแสวิจารณ์อย่างหนัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้ 'ค่ะ คะ' ไม่ถูกรูปประโยค เช่น ใช้ 'ค่ะ' ในประโยคคำถาม และใช้ 'คะ' ในประโยคตอบรับ

“ลูกเคยได้ยินเกี่ยวกับปลารูปร่างคล้ายซิการ์ (Cigar) ไหมค่ะ”
“แล้วพวกมันได้ค่าจ้างในการทำงานเท่าไหร่ค่ะ” หรือ “วิจัยคืออะไรค่ะ”
“มันเป็นงานศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาสิ่งใหม่ๆ จ๊ะ”

ทันทีที่ภาพเนื้อหาในหนังสือเล่มดังกล่าวปรากฏสู่สาธารณะได้ถูกส่งต่ออย่างรวดเร็ว รวมถึงมีการวิจารณ์ความผิดพลาดอย่างหนักของหน่วยงานวิชาการที่ไม่มีการตรวจสอบหรือตรวจทานตัวอักษรและคำสะกดให้ดีเสียก่อน

ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงที่สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของการใช้ภาษาไทยของบุคลากรไทย โดยเฉพาะกับหน่วยงานวิชาการระดับประเทศเช่นนี้!

“เป็นปัญหาใหญ่ลุกลามไปแล้วค่ะ หน่วยงานวิชาการระดับชาติก็ยังผิดพลาด ที่ปล่อยให้ตำราแบบนี้ออกมาเผยแพร่และใช้งานจริง น่าอนาถใจและน่าเสียใจ ก่อนจะไปว่าไปเตือนและแก้ไขเด็กรุ่นใหม่ใช้ภาษาไม่ถูกต้อง หน่วยงานราชการก็ควรจะตรวจสอบคนของท่าน เจ้าหน้าที่ของท่าน เอกสารตำราต่าง ๆ ของท่านว่า ใช้คำได้ถูกต้องแล้วหรือยัง นี่คือความวิบัติทางภาษาระดับชาติไปแล้วหรือ!?”

“สองวันก่อน ครูแก้แบบฝึกหัดเด็กจากถูกเป็นผิด แก้จากขี้เกียจเป็นขี้เกลียด เจอหนังสือเล่มนี้หนักเข้าไปอีกค่ะ”

“เพราะนี่คือตำรา เอกสารทางวิชาการ โดยหน่วยงานราชการ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ชื่อก็บอกเป็นระดับชาติ ไม่ควรผิด ตำราวิชาการควรมุ่งเน้นความถูกต้องเป็นสำคัญ ภาษาพูดที่พิมพ์ก็ผิดเสียงผิดวรรณยุกต์ทั้งหมด”

“เอาง่ายๆ เอกสารราชการ วิทยานิพนธ์ ตำราเรียน หากผิดก็ต้องแก้ไขจนกว่าจะถูกต้องแล้วค่อยเผยแพร่ ซึ่งเป็นแบบนี้อย่างที่เราท่านทราบ ที่อ้างว่าเพื่อแจกจ่ายเผยแพร่ให้มองที่สาระนั้น เป็นคนละประเด็น นี่คือตำราวิชาการเลยนะคะ ยกตัวอย่าง วิทยานิพนธ์เล่มไหนมีคำผิด วิทยานิพนธ์เล่มนั้นก็ถือว่าใช้ไม่ได้ ต่อให้เนื้อหาดีแค่ไหนก็ตาม”
ภาพจาก FB : คุณคะ “นะคะ” ไม่ต้องมีไม้เอกค่ะ
ผลิตหนังสือไร้คุณภาพ = ไม่ให้ความสำคัญกับหลักภาษา!

หลังจากที่มีประเด็นดรามาการใช้ภาษาไทยผิดหลักเกิดขึ้นในสังคมออนไลน์ ทางทีมข่าว ผู้จัดการ Live ติดต่อโดยตรงไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย "จักรกฤต โยมพยอม" หรือ "ครูทอม คำไทย" ครูภาษาไทยและพิธีกรชื่อดัง เจ้าของรางวัลสุดยอดแฟนพันธุ์แท้สุนทรภู่ ได้วิเคราะห์และเปิดมุมมองเกี่ยวกับวิกฤตการใช้ภาษาไทยในสังคมไทยท่ามกลางกระแสดรามาดังกล่าว

“ผมว่าข้อผิดพลาดที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ย้ำให้เห็นเลยว่ากระบวนการผลิตสื่อนี้ไม่มีคุณภาพเลย ผู้เขียนหนังสืออาจจะมีความรู้เรื่องเนื้อหาที่แม่นยำ แต่เขาไม่เชี่ยวชาญเรื่องการผันวรรณยุกต์ ประเด็นนี้พอยอมรับได้อยู่ครับ เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะเชี่ยวชาญไปเสียทุกเรื่อง

แต่โดยปกติแล้วการผลิตหนังสือสักเล่มจะต้องมีบรรณาธิการ มีเจ้าหน้าที่พิสูจน์อักษรที่ต้องตรวจตราความเรียบร้อยก่อนจะจัดพิมพ์ออกมา พอมีข้อผิดพลาดแบบนี้จำนวนมาก ก็แสดงให้เห็นชัดเลยว่ากระบวนการผลิตมีปัญหาจริง ๆ อาจจะไม่มีขั้นตอนการพิสูจน์อักษร หรือผู้พิสูจน์อักษรไม่เชี่ยวชาญมากพอ ซึ่งประเด็นนี้เป็นส่วนที่รับไม่ได้ครับ

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็ยังแสดงให้เห็นด้วยว่าหน่วยงานที่ผลิตหนังสือนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้ภาษาที่ถูกต้องเลย ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับอีกหลายหน่วยงานที่ไม่มีการพิสูจน์อักษรก่อนปล่อยบทความสู่สาธารณะ เช่น บทความออนไลน์หลาย ๆ เว็บไซต์หรือแฟนเพจต่าง ๆ”
ภาพจาก FB : Contrast

 
นอกจากนี้ ยังมีการหยิบยกประเด็นดรามาครูตรวจการบ้านเด็กจากคำที่ถูกต้องอยู่แล้วให้กลายเป็นคำผิด จากที่เห็นในกระทู้ประจานครูประถม “แก้คำจาก ขี้เกียจ เป็น ขี้เกลียด” ในสื่อออนไลน์ ครูทอม ยังบอกอีกว่าอาชีพครูมีความสำคัญอย่างมาก หากให้ความรู้แก่เด็กแบบผิดๆ เด็กก็จะจดจำไปใช้ในแบบผิดๆ

“คุณครูมีส่วนอย่างมากต่อการใช้ภาษาไทยของเด็ก ๆ ครับ เพราะชีวิตส่วนใหญ่ของเด็กไทยอยู่ที่โรงเรียน ครูคือผู้อบรมทักษะแทบทุกด้านให้เด็ก ถ้าครูไม่เชี่ยวชาญแล้วป้อนข้อมูลที่ผิดให้กับเด็ก เด็กก็จะจำแบบที่ผิด ๆ ไปด้วย

อย่างกรณีที่ครูแก้คำผิดนี้ โดยส่วนตัวมองว่าผู้ปกครองควรแจ้งให้คุณครูทราบว่าที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ผมเชื่อว่าคุณครูที่ดีย่อมพร้อมจะน้อมรับความเห็นและปรับปรุงข้อผิดพลาดของตนเองเพื่อให้ตนเองเป็นแม่พิมพ์ที่สมบูรณ์ที่สุดครับ”

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย ครูทอม ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงประเด็นการสื่อสารและใช้ภาษาไทยแบบผิดๆ ในสังคมออนไลน์อีกด้วยว่า ไม่เพียงแต่เด็กรุ่นใหม่เท่านั้นที่มีข้อผิดพลาดด้านการใช้ภาษา แต่ยังรวมไปถึงครู อาจารย์ หรือผู้ใหญ่บางคนด้วยเช่นกัน
ภาพจาก FB : คุณคะ “นะคะ” ไม่ต้องมีไม้เอกค่ะ

 
ทั้งนี้ สาเหตุทั้งหมดอาจไม่ได้เกิดจากการใช้โซเชียลมีเดียของคนยุคใหม่ที่มากเกินพอดีเสมอไป แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการรับสื่อในกระแสหลักทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ซึ่งส่งผลให้ผู้เสพสื่อเกิดความเข้าใจผิดพลาดได้ไม่น้อย

“ก่อนอื่น ผมไม่อยากให้พุ่งเป้าไปที่ "คนรุ่นใหม่" เลยครับ เพราะจากที่ผมเห็น ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนก็ใช้ภาษาไทยผิด ๆ กันไม่น้อย ขนาดครูภาษาไทยรุ่นใหญ่บางท่านยังเขียน "คะ-ค่ะ" ไม่ถูก ผมก็เคยเห็นเหมือนกันครับ แต่ที่หลายคนมักพูดว่า "เด็กรุ่นใหม่ใช้ภาษาไทยผิดกันเยอะเพราะใช้สื่อโซเชียลมากเกินไป" นั้น

ผมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะว่าเด็กรุ่นใหม่ใช้สื่อโซเชียลมากกว่าผู้ใหญ่ เราเลยเห็นข้อผิดพลาดจากเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ครับ ถ้าผู้ใหญ่ใช้สื่อโซเชียลมากพอกับเด็ก ๆ อาจจะเห็นข้อผิดพลาดจำนวนไม่ต่างกันมากก็ได้ครับ

อย่างไรก็ตามผมว่าสื่อโซเชียลก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยใช้ภาษาไทยผิดมากขึ้นครับ เพราะโดยปกติแล้วการเรียนรู้ภาษานั้นเกิดจากการเลียนแบบ ถ้าเราคุ้นเคยกับลักษณะการใช้ภาษาแบบไหน เราก็จะใช้ภาษาแบบนั้นตามไปด้วย

ทิ้งท้ายถึงวิธีที่จะแก้ไขและรณรงค์ให้คนไทยใช้ภาษาถูกต้อง ก็ต้องเริ่มที่การปลูกฝังทัศนคติให้ผู้ใช้ภาษาเห็นความสำคัญที่แท้จริงของการสื่อสารและเข้าใจผลเสียของการสื่อสารที่ผิดพลาดด้วย ผมว่าถ้าทุกคนเข้าใจประเด็นนี้ ก็จะทำให้ทุกคนใส่ใจเรื่องการใช้ภาษาให้ถูกต้องมากขึ้นครับ

รวมถึงผู้ใช้ภาษาทุกคนก็ต้องรู้กาลเทศะด้วยนะครับ ต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ควรใช้หรือไม่ควรใช้ภาษาแบบไหน ถ้าเราใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม การสื่อสารของเราก็จะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดครับ”



ข่าวโดยทีมข่าวผู้จัดการ Live


กำลังโหลดความคิดเห็น