xs
xsm
sm
md
lg

รวบรวม แอพฯ ตัวช่วยที่เกษตรกรยุค4.0 ต้องโหลดติดเครื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ชาวเกษตร แอพฯ ตัวช่วยเกษตรกรวางแผนแก้ปัญหาเพาะปลูก จนถึงการตลาด ครบวงจร ..

การทำเกษตรกรรมในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นการเพาะปลูกที่ถูกปฏิบัติตามกันมาจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก ซึ่งแผนการเพาะปลูกพืชแต่ละชนิด/ประเภท มีกระบวนการเพาะปลูกและวิธีบริหารจัดการแปลงเพาะปลูกก็มีความแตกต่างกันไป

แนวทางการเพาะปลูกที่นักวิชาการส่งเสริมหรือหน่วยงานภาครัฐได้แนะนำให้กับเกษตรกรกับแนวทางนำไปปฏิบัติก็อาจไม่ครอบคลุมหรือส่งเสริมได้ไม่ครบถ้วน ถึงแม้มีการถ่ายทอดผ่านทางการอบรมหรือสื่อสิ่งพิมพ์ก็อาจมีความผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนได้เวลานำไปเพาะปลูกจริง

ด้วยเหตุนี้เอง หน่วยวิจัยวิทยาการสื่อสารของมนุษย์ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและถ่ายทอดเทคโนโลยี(ฺBTT) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC พันธกิจในการดำเนินการวิจัย พัฒนา ออกแบบ วิศวกรรม และถ่ายเทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น ที่มีชื่อว่า ชาวเกษตร (Chaokaset) ขึ้นมา เพื่อเป็นตัวช่วยให้กับเกษตรกร ในการก้าวเข้าสู่เกษตรกรรมยุค 4.0
นายพรชัย  ธรรมรัตนนนท์  นักวิจัย แอพชาวเกษตร
นายพรชัย ธรรมรัตนนนท์ วิศวกรอาวุโส เนคเทค หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวถึง ชาวเกษตรว่า เป็น “โมบายแอพพลิเคชั่น” ที่ช่วยแนะนำเกษตรกรถึงวิธีการเพาะปลูกที่ถูกต้องตามกรอบเวลา (crop calendar) และวิธีปฎิบัติงานในแปลงอย่างถูกต้องและเหมาะสม เช่น การบริหารจัดการน้ำ ปุ๋ยหรือยารักษาโรคพืช โดยแอปพลิชั่น ดังกล่าว จะเข้ามาเป็นตัวเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร อย่างครบวงจร เช่น ข้อมูลปฏิบัติ คลิปวิดีโอความรู้ มานำเสนอตามชนิดพืชที่ถูกกำหนด ร่วมกับ นักวิชาการเกษตรที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน อย่าง สมาร์ทโฟน มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย การดึงความสามารถจากเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการแปลงก็เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกได้อีกแนวทางหนึ่ง อาทิ เช่น การแจ้งเตือน การเตือนภัย การจดบันทึกบัญชีฟาร์ม การบันทึกพิกัดแปลง เป็นต้น

สำหรับแอพพลิชั่น ชาวเกษตร เริ่มทดลองใช้มาได้ประมาณ 1 ปี มีทีมงานร่วมทำจำนวน 3 คน ส่วนข้อมูลข้อความรู้ต่างๆ มีผู้เชี่ยวชาญ จากทางสวทช. และกรมวิชาการเกษตร มาให้ความรู้ ซึ่งดูว่า เกษตรกรไทยมีการปลูกอะไรกันมาก ก็จะเข้าไปทำตรงนั้นก่อน เช่น ตอนนี้ทำเรื่อง ข้าว และในอนาคต ถ้าเกษตรกรมาเข้าร่วมในแอปพลิเคชั่น กันมากๆ ก็จะขยายไปยัง พืชการเกษตร อื่นๆ ที่มีการเพาะปลูกกันมากในพื้นที่นั้น ๆ

ทั้งนี้ การเราเลือกทำแอปพลิชั่น ชาวเกษตร ในครั้งนี้ แทนที่จะทำแค่เว็บไซต์ เพราะปัจจุบัน เกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้มือถือกันทุกคน ดังนั้น การที่จะเข้าถึงแอปพลิเคชั่น จะง่ายกว่า การเข้าช่องทางออนไลน์อื่นๆ ซึ่งตอนนี้ผู้ใช้ยังไม่มาก เพราะเราเพิ่งเปิดตัว และแนะนำเกษตรกรในกลุ่มที่เข้าร่วมเวทีเสวนา ในเวทีต่างๆ ที่ เราจัด และเวทีที่กรมวิชาการเกษตรจัดเท่านั้น

โดยประโยชน์ที่เกษตรกร จะได้รับ สำหรับแอปพลิชั่น ชาวเกษตร ในครั้งนี้
1. เกษตรกรมีระบบช่วยให้คำแนะนำและวิธีปฏิบัติในแปลงเพาะปลูกที่ถูกต้องและเหมาะสม
2. เกษตรกรมีระบบช่วยจดบันทึกกิจกรรมการเพาะปลูกแปลง
3. เกษตรกรมีระบบที่ให้ความช่วยเหลือหรือแนะนำเมื่อพบปัญหาระหว่างการเพาะปลูก
4. เกษตรกรมีระบบช่วยจัดทำบัญชีฟาร์ม ซึ่งเกษตรกร สามารถนำบัญชีฟาร์มที่จดบันทึกไปใช้ สำหรับการขอกู้เงินกับทาง ธกส.ได้
5. เกษตรกรสามารถออก QR Code เพื่อใช้ในการตลาดและการลงทุน ซึ่งปัจจุบันกลุ่มลูกค้าที่ต้องการสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย ดังนั้น QR Code จะตัวบ่งชี้ว่า ผลผลิตการเกษตรที่เขาซื้อมาจากฟาร์มไหน และสามารถย้อนกลับไปดูการทำงานของแหล่งที่มาของ สินค้าเกษตรตัวนั้นได้
6. เจ้าหน้าที่สามารถติดตามและสรุปข้อมูลแปลงเกษตรกรรมเชิงสถิติได้

                                   ------------------------------------

รวบรวม แอพพลิเคชั่น ที่เกษตรกร ควรจะมีติดเครื่องเอาไว้

ปัจจุบันยังมีแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับการเกษตร ที่จะมาเป็นตัวช่วยให้กับเกษตรกร รองรับการเป็นเกษตรกรยุค 4.0 โดย ทางทีมงาน Bangkok Bank SME ได้รวบรวมแอพฯ ซึ่งเกษตรกรควรมีติดโทรศัพท์มือถือเอาไว้ ช่วยให้การทำเกษตรกรรมกลายเป็นเรื่อง่ายขึ้น

1. ProtectPlants

แอพฯ ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคพืชและศัตรูพืช มีฟังก์ชั่นที่หลากหลาย ทั้งในด้านขององค์ความรู้อารักขาพืช การวินิจฉัยศัตรูพืชเบื้องต้น การวินิจฉัยชนิดพืช พยากรณ์เตือนสภาพอากาศ พยากรณ์เตือนการระบาดของศัตรูพืช ที่อาจมีผลกระทบต่อการทำเกษตร

2. WMSC

แหล่งข้อมูลและนำเสนอข้อมูลข่าวสารในการบริหารจัดการน้ำ มีทั้งข้อมูลปริมาณน้ำฝน ข้อมูลปริมาณน้ำท่า ข้อมูลปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ข้อมูลอัตราการไหลของน้ำในแม่น้ำ และคลองชลประทานต่าง ๆ ช่วยเตรียมการรับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นกะทันหันได้ ลดความสูญเสีย

3. Rice Pest Monitoring

แอพฯที่มีระบบสนับสนุนการพยากรณ์และเตือนภัยของกรมการข้าว เพื่อแจ้งใช้ในการติดตาม เฝ้าระวัง และเตือนภัยล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดการระบาด (Rice Pest Monitoring) ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคไหม้ และเป็นเครื่องมือและนำไปประยุกต์ใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานให้กับเกษตรกรในการติดตามเฝ้าระวังในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ ได้แก่ เจ้าหน้าที่กรมการข้าว นักวิจัย นักวิชาการ กลุ่ม Smart farmer และกลุ่ม Smart officer

4. Ag-Info

แหล่งรวมข้อมูลสารสนเทศและข่าวสารเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนทำการเกษตรและการตัดสินใจ อาทิ ราคาสินค้าเกษตร ณ ตลาดกลาง เป็นรายวัน ราคาสินค้าเกษตร ณ ไร่นา ปฏิทินสินค้าเกษตร การติดตามสถานการณ์การผลิตการตลาด การเตือนภัยและข่าวสารการประชาสัมพันธ์ ตลอดจนนโยบายของรัฐ

5. AC AGRI VOCAB ศัพท์เกษตร 5 ภาษาอาเซียน

AC AGRI VOCAB แอพพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนรู้คำศัพท์พื้นฐานด้านการเกษตร เช่น ผัก สมุนไพร เครื่องเทศ ผลไม้ พืชไร่ ไม้ยืนต้น สัตว์ทางการเกษตร และคำศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมี 5 ภาษาให้เลือกฝึกและทำความคุ้นเคย ได้แก่ ภาษาไทย เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา และภาษาบาฮาซา นั่นเองครับ

6. Ldd Soil Guide รู้ไว้ใช้ดินเป็น

ระบบสารสนเทศดินและข้อมูลการใช้ปุ๋ย เป็นระบบที่แสดงข้อมูลกลุ่มชุดดิน และข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งประเทศ สามารถสืบค้นข้อมูลแผนที่จาก Google Map ได้เลย เมื่อคลิกเลือกพื้นที่ที่ต้องการ ระบบจะแสดงข้อมูลสถานที่ ตำบล อำเภอ จังหวัด และจุดพิกัด ณ ตำแหน่งที่เลือก พร้อมทั้งแสดงข้อมูลกลุ่มชุดดิน ประกอบด้วย ลักษณะเด่นของกลุ่มชุดดินนั้น ๆ คุณสมบัติดิน ความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ ปริมาณน้ำที่พืชใช้ประโยชน์ได้ (AWC) แสดงข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน แนวทางการจัดการดินเพื่อการปลูกพืช แสดงข้อมูลความเหมาะสมของดินในการปลูกพืช ครบเครื่องเรื่องดิน

7. กระดานเศรษฐี: เกษตรกรมีโอกาส

แอพฯกระดานเศรษฐี: เกษตรกรมีโอกาส ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการคำนวณต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร และเปรียบเทียบต้นทุนจากการคำนวณกับต้นทุนเฉลี่ยของทางสำนักงานฯ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุน โดยยังมีข้อมูลตลาด และความเหมาะสมของสินค้าในพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลือกลงทุนกับสินค้าที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตนมากที่สุด

8. OAE OIC

แอพฯ ข้อมูลปฏิทินการผลิตสินค้าเกษตร แหล่งรับซื้อ ราคาสินค้าเกษตร รวมทั้งข่าวประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้อง เกษตรกรสามารถเข้าไปดูข้อมูลปฏิทินสินค้าเกษตรที่สำคัญรายเดือน เข้าถึงข่าวสารได้ง่าย รวดเร็ว มีข้อมูลปฏิทินการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญรายเดือน (Crop Calendar) เชื่อมโยงแหล่งผลิต แหล่งรับซื้อ และ ราคา สำหรับประชาชน เพื่อให้สามารถวางแผนการผลิต และการตลาด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

9 .MOAC App Center

สำหรับใครที่ไม่รู้จะโหลดแอพพลิเคชั่นไหนดี เพราะ MOAC App Center ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและเผยแพร่ Mobile Application ของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับเกษตรกรและผู้ที่สนใจ โดยเปิดให้เกษตรกรสามารถขอรับบริการและค้นหาความรู้ด้านการเกษตร ผ่านอุปกรณ์ Smart Device ได้เลยทันที มีครบทุกแอพที่จำเป็นรวมอยู่ในแอพนี้แอพเดียว

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *

SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น