ทุกครั้งที่ได้ยิน ได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับ "ในหลวงรัชกาลที่ ๙" แม้จะฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ไม่เคยเบื่อ เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่บางเรื่องบางตอนอาจเคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว แต่เชื่อว่าอีกหลายเรื่องหลายคนอาจไม่เคยรู้ หรือเคยเห็นมาก่อน
"คิดถึงพ่อสุดหัวใจ"
คือความรู้สึกของคนไทยในเวลานี้ เช่นเดียวกับ "ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล" เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ข้าราชบริพารที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิดมานาน 35 ปี
13 ต.ค.59 ห้วงเวลาที่เศร้าที่สุดในชีวิต
"วันนั้นมาถึงโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว" ดร.สุเมธ เริ่มเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือในงานแสดงปาฐกถาที่ห้องประชุมราชปนัดดาสิรินธร อาคารศรีสวรินทิรา ชั้น 1 โรงพยาบาลศิริราช เมื่อเร็วๆ นี้ "ตอนนั้นผมตั้งใจไปกราบถวายพระพรที่ศาลาสหทัยสมาคม แต่พอรู้ข่าวผมก็บอกมหาดเล็กว่า ไม่เป็นไร ขอเข้าไปที่พระบรมรูป เพราะมีสิทธิ์ทำได้แค่นั้น ผมเข้าไปกราบลาแทนที่จะเข้าไปกราบถวายพระพรเหมือนอย่างเคย
ความรู้สึกมันบอกไม่ถูก มีความว่างเปล่าอยู่ในจิตใจ ขนาดท้องฟ้ายังไว้ทุกข์ เศร้า ครึ้มไปหมด มีภาวะเหมือนหนักท่ามกลางความว่างเปล่า หลังจากนั้น 4-5 วัน ผมนั่งทำใจอยู่คนเดียว ผมเป็นลูกศิษย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ไม่ค่อยดีเท่าไร เพราะไม่ได้ทำตามที่พระองค์ท่านสอนไว้ คือต้องเป็นคนเข้มแข็ง พระองค์เคยสอนผมในวันที่หมดกำลังใจ 'คนเรานั้นจะทำงานใหญ่บนแผ่นดินได้ต้องทำตัวเสมือนเป็นแท่งเหล็ก' ก่อนที่จะนำมาตีเป็นมีดดาบ ต้องถูกเผา ถูกทุบครั้งแล้วครั้งเล่า แต่สุดท้ายเหล็กที่ไม่มีค่าก็กลายเป็นมีดดาบขึ้นมา
ใครก็ตามที่ไม่เคยถูกทุบ ถูกเผา ทำงานใหญ่ให้แก่แผ่นดินไม่ได้" คำสอนยังก้องอยู่ในหู แต่ความอ่อนแอของมนุษย์ก็ยังมีอยู่ หลังจากตั้งสติ และคิดทบทวนดีๆ แม้วันนี้พระองค์ท่านไม่อยู่แล้ว แต่พระสุรเสียงยังก้องอยู่ในหู โดยเฉพาะประโยคที่ฝังอยู่ในใจ และยึดมั่นในการทำงานมาโดยตลอด
"ขอขอบใจนะ ที่มาช่วยฉันทำงาน แต่ฉันขอบอกก่อนนะว่า มาช่วยฉันทำงาน ฉันไม่มีอะไรจะให้นอกจากความสุขที่จะมีร่วมกันในการทำประโยชน์ให้ผู้อื่น"
เป็นเวลา 35 ปีเต็ม นับแต่ปี 2524 จนถึง 2559 ที่ได้มีโอกาสถวายงาน "ในหลวงรัชกาลที่ ๙" 3 ประโยคคำสอนที่นั่งตกผลึกหลังจากพระองค์ได้จากไป คือ มองทุกอย่างที่ฉันทำ, จดทุกอย่างที่ฉันพูด และสรุปทุกอย่างที่ฉันคิด โดยตลอดเวลา 70 ปีพระองค์ทรงอุทิศพระวรกาย ทรงงานหนักมาโดยตลอด เพื่อรักษาแผ่นดิน น้ำ ลม และไฟ ไม่ใช่เพื่อพระองค์ แต่เพื่อคนไทยทุกคน
"1 ปี พระองค์ประทับอยู่ในกรุงเทพฯ 4 เดือน ที่เหลือประทับอยู่ต่างจังหวัด" ดร.สุเมธเล่า ก่อนจะเผยต่อไปว่า "8 เดือนที่อยู่นอกเมือง เป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยยากมากที่สุด เสด็จฯไปจังหวัดเชียงใหม่ สกลนคร ไกลกังวล และนราธิวาสแห่งละ 2 เดือน และการเสด็จฯ ไปในแต่ละครั้ง ส่วนมากจะเข้าไปในพื้นที่ที่คนอื่นไม่ไปกัน เพราะเป็นถิ่นทุรกันดาร ลำบากสุดๆ"
ส่วนการประทับที่กรุงเทพฯ พระองค์ทรงงานอย่างหนักจนเกิดเป็นโครงการแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชนมากมาย โดยในปี พ.ศ.2495 ได้เสด็จฯ ไปที่ห้วยมงคล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเกิดโครงการพระราชดำริโครงการแรกขึ้น ณ พื้นที่แห่งนั้น ตลอดระยะเวลา 70 ปีของการครองราชย์ มีโครงการพระราชดำริทั้งหมด 4,685 โครงการ เฉลี่ยปีละ 50 โครงการ
ถึงวันนี้ เมื่อรวบรวมระยะทางเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรจากตัวเลขจริง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2512-2528 มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 384,400 กิโลเมตร ระยะทางที่ดวงจันทร์ห่างจากโลกประมาณ 363,000 กิโลเมตร รวมสถิติแค่เพียง 17 ปีเท่านั้น ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ก็เสด็จฯ เยี่ยมราษฏรของพระองค์มากกว่าระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์แล้วหรือเฉลี่ย 25,000 กิโลเมตรต่อปี (ข้อมูล : นิทรรศการ "ดิน น้ำ ป่า ฟ้า" แรงบันดาลใจจากพ่อ จัดให้ประชาชนเข้าชมที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ)
70 ปี จากนภา ภูผา สู่มหานที สรุปงานพ่อหลวงในเผ่นเดียว
"บางแห่งไม่มีคนเข้าไปกัน ถนนก็ไม่ได้เหมือนมอเตอร์เวย์ หรือราชดำเนิน แต่พระองค์ท่านก็ยังมีพระอารมณ์ขัน อย่างที่เขาวง กาฬสินธุ์ รถวิ่งไปบนทางที่ไม่น่าจะใช่ทาง วิ่งไปบนหิน แทนที่จะทุกข์ร้อนอะไร พระองค์ท่านบอกว่า วันนี้แล่นไปในทางดิสโก้ เพราะทุกคนนั่งในรถเหมือนเต้นดิสโก้กันเลย ลองคิดดูสิครับ ปีละ 8 เดือน ไม่มีร่างกายมนุษย์คนไหนจะทนได้หรอกครับ แต่พระองค์ทำเพื่อประชาชนคนไทยทุกคน
กระทั่งทรงพระประชวรก็ยังทรงห่วงประชาชนของพระองค์ "ช่วงเย็นวันหนึ่งที่ต้องถวายเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ ก็มีรับสั่งให้ผมที่ถวายงานด้านน้ำและไอที นำจอคอมพิวเตอร์มาติดตั้งข้างเตียงด้วยเพื่อทอดพระเนตรก่อนถวายการผ่าตัด ซึ่งพระองค์ไม่คิดถึงเรื่องการผ่าตัดเลย รับสั่งแต่ว่ามีพายุกำลังต่อตัวอยู่ที่มหาสมุทรแปซิฟิกเคลื่อนเข้าชายฝั่งเวียดนาม และอาจเข้ามาที่ไทยด้วย ดูสิครับ พระองค์ท่านไม่เคยห่วงพระองค์เองเลย ฉะนั้นตลอด 70 ปี พระองค์ไม่ใช่แค่พระราชทานงาน พระราชทานโครงการ แต่พระราชทานพระวรกายเพื่อคนไทยทุกคน"
2 ภาพ ที่ไม่เคยเปิดให้ใครดูมาก่อน
ภาพแรก เป็นภาพเมื่อ 19 ปีก่อน ดร.สุเมธเล่าว่า เป็นภาพคลานเข้าไปกราบพระบาท "ในหลวงรัชกาลที่ ๙" และขอพระราชทานพรเนื่องในวันเกิดครบ 60 ปีครั้งนั้นในหลวง ร.๙ พระราชทานน้ำสังข์และใบมะตูม ทัดที่ใบหู พร้อมรับสั่งว่า "เกษียณไม่ได้"
อีกภาพ เป็นภาพเมื่อ 6 ปีที่แล้ว คลานเข้าไปกราบพระบาทและขอพระราชทานพรเนื่องในวันเกิดครบ 72 ปี แต่ไม่คิดว่าจะเป็นพรพระราชทานสุดท้ายจากพระองค์ท่าน
"ผมไม่รู้หรอกว่าวันนั้นจะเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้เข้าเฝ้าฯ และคำที่พระราชทานในวันนั้นเป็นคำสั่งเสียสุดท้ายที่ผมได้รับ เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ผมคลานเข้าไปกราบพระบาทขอพระราชทานพรเนื่องในวันเกิดครบ 72 ปี พระองค์ทรงเงียบเฉย ผมก็เงยหน้าขึ้นมา พระหัตถ์ยื่นมาวางที่ไหล่ซ้ายแล้วเขย่าๆ พร้อมกับรับสั่งด้วยความอ่อนแรงว่า 'สุเมธงานยังไม่เสร็จนะ งานยังไม่เสร็จสุเมธ' ผมตอบไปเพียงว่ารับใส่เกล้า"
ดร.สุเมธ เล่าด้วยน้ำเสียง และใบหน้าหม่นเศร้า ก่อนจะเผยว่า ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ก็จะขอทำงานต่อไป ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นตามที่พระองค์ทรงได้กำชับเอาไว้
"วันนี้เกษียณไม่มี และตราบใดที่งานยังไม่เสร็จ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไร ไม่เป็นไร ทำตัวเหมือนที่พระองค์ท่านสอน เรื่องพระมหาชนก ฝั่งทะเลอยู่ข้างหน้า ว่ายถึงหรือเปล่าไม่รู้ แต่ต้องว่าย ถ้าไม่ว่ายก็จมน้ำตาย วันหนึ่งก็ต้องถึง
ผมอยากให้คนไทยฝังใจไว้ทุกคนว่า ตราบใดที่เรามีชีวิตอยู่ ยังมีเรี่ยวแรงอยู่ งานไม่มีวันเสร็จ แพทย์ทำหน้าที่ไป พยาบาลทำหน้าที่ไป ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเอง วันนี้พระองค์ท่านไม่ได้อยู่คอยสอนพวกเราแล้ว เหนือสิ่งที่อื่นใด พระองค์ท่านมองพวกเราลงมาจากข้างบน" ดร.สุเมธทิ้งท้าย
ภาพ : วรวิทย์ พานิชนันท์