กาฬสินธุ์ - ผู้ว่าฯ เมืองน้ำดำนำข้าราชการ และประชาชนร่วมพิธีบวงสรวงพระเมรุมาศจำลอง เพื่อเตรียมนำพสกนิกรร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ 26 ต.ค.นี้ พร้อมจำลองโครงการพระราชดำริ รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พ่อหลวง ร.๙ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก จากถนนดิสโก้ และทรงมุดรั้วลวดหนามเพื่อหาแหล่งน้ำให้ราษฎร จนสู่เกษตรทฤษฎีใหม่
วันนี้ (23 ต.ค.) นายไกสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายสถาบัน บุญเติม ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จ.กาฬสินธุ์ นายเธียรชัย อัจฉริยพันธ์ รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ พล.ต.ต.มนตรี จรัลพงศ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ร่วมกันประกอบพิธีบวงสรวงพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ประดิษฐาน ณ พระเมรุมาศจำลอง และพิธีบวงสรวงพระเมรุมาศจำลอง
นายไกสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ประธานในพิธีได้วางพานพุ่มเงิน พานพุ่มทอง จุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยเบื้องพระบรมฉายาลักษณ์ จากนั้นได้มีการจุดธูปเทียนบวงสรวง โปรยข้าวตอกดอกไม้ ประพรมน้ำอบน้ำหอม กล่าวบูชาพระฤกษ์บอกกล่าวเทพเทวดามาเป็นสักขีพยานดูแลปกปักรักษาภายในงานพระราชพิธี
ก่อนที่จะนำข้าราชการและประชาชนทุกหมู่เหล่าเข้าร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และวางดอกไม้จันทน์เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระเมรุมาศจำลอง สนามหน้าศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ ในวันที่ 26 ตุลาคม 2560
สำหรับการก่อสร้างพระเมรุมาศจำลองที่บริเวณสนามหน้าศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยเกือบ 100% แล้ว รวมทั้งการจัดเตรียมสถานที่ไว้พร้อมหมดแล้ว ยังคงเหลือเพียงการตกแต่งบริเวณรอบมณฑลพระราชพิธีอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และทุกภาคส่วนจะมีการซักซ้อมใหญ่ในวันที่ 24 ตุลาคม 2560 นี้
นายไกสรกล่าวว่า เพื่อเป็นการรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชสมบัติ ๗๐ ปี โดยเฉพาะพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวกาฬสินธุ์ ซึ่งพระองค์เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง รวมทั้งพระราชทานโครงการพระราชดำริต่างๆ จนทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีจนถึงปัจจุบัน
ดังนั้น จ.กาฬสินธุ์จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการจำลองโครงการพระราชดำริขึ้นบริเวณด้านหลังพระเมรุมาศจำลอง เพื่อให้ประชาชนได้เยี่ยมชมและได้ศึกษาน้อมนำไปเป็นหลักในการดำรงชีวิต
การจำลองเริ่มจากเมื่อครั้งวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมราษฎรบ้านกุดสิม ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ และเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสภาพภูมิประเทศลำพะยัง
โดยเสด็จฯ ผ่านทางเกวียนที่มีสภาพขรุขระ รถยนต์พระที่นั่งแกว่งไปมา จนพระองค์ทรงเรียกถนนเส้นนั้นว่า “ถนนดิสโก้”
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระดำเนินท่ามกลางความมืดไปในทุ่งนาตะปุ่มตะป่ำ มีเพียงไฟฉายส่องทาง ทรงมุดรั้วลวดหนามเพื่อหาน้ำให้ราษฎร ซึ่งพอมาถึงตรงนี้ราษฎรเขากั้นลวดหนามไว้ คณะผู้ติดตามจะตัดลวดหนาม พระองค์รับสั่งว่าไม่ต้องตัด ทรงง้างลวดหนามแล้วพระองค์ก็ทรงมุดเข้าไป เลยเป็นที่มาของมุดลวดหนาม ซึ่งรั้วลวดหนามปัจจุบันเป็นของเดิม และเป็นพื้นที่ศึกษาเส้นทางการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่แสดงให้เห็นว่าไม่มีพื้นที่ใดในประเทศที่พระองค์ทรงไปไม่ถึง
จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานพระราชดำริให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำพะยัง และขยายระบบส่งน้ำของอ่างเก็บน้ำลำพะยัง พร้อมทั้งให้พิจารณาขุดสระน้ำประจำไร่นาตามแนวทฤษฎีใหม่ และเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 ได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ ซึ่งอยู่ทางฟาก จ.มุกดาหารมาเติมให้แก่อ่างเก็บน้ำลำพะยัง เพื่อขยายพื้นที่รับน้ำชลประทานได้มากขึ้น
มีการเจาะอุโมงค์ผันน้ำลอดใต้เขาภู แล้วทำท่อ (เหล็ก) ลอดใต้อุโมงค์ ขนาดกว้าง 3 เมตร สูง 3 เมตร ยาว 740 เมตร ส่งน้ำจาก จ.มุกดาหารเข้ามายัง จ.กาฬสินธุ์ โดยมีการทำถังพักน้ำ ทำระบบท่อชลประทาน ที่ยังประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่มากถึงประมาณ 12,000 ไร่ และทำให้การปลูกข้าวของชาวนาเพิ่มผลผลิตมากขึ้นถึง 2-3 เท่า
ปัจจุบันได้พระราชทานชื่อเป็น “อุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์” ซึ่งนับเป็นความสำเร็จจากอุโมงค์ผันน้ำหนึ่งเดียวในเมืองไทยใต้พระบารมี ที่มาจากพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในด้านบริหารจัดการน้ำ อันสอดรับกับคำว่า “ลำพะยังภูมิพัฒน์”
ซึ่งหมายถึง “อุโมงค์ผันน้ำที่นำความเจริญมาสู่แผ่นดินลุ่มน้ำลำพะยัง” ทำให้เกิดโครงการขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ จากพื้นที่แห้งแล้ง ทำนาไม่ได้ผล กลายเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ข้าวเขาวงคุณภาพดีโด่งดังทั่วประเทศ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพ่อหลวงของปวงไทย
นอกจากนี้ยังได้มีการจำลองโครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ อ.ร่องคำ และ อ.กมลาไสย ซึ่งด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการขุดลอกหนองเลิงเปือยและซ่อมแซมฝายเป็นโครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ปัจจุบันทำให้พื้นที่ที่เคยถูกน้ำท่วมในช่วงหน้าฝน และขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง และมีการจำลองฝายมีชีวิตแห่งที่ 90 โดยการน้อมนำศาสตร์พระราชามาปฏิบัติ ทั้งการนำวัสดุธรรมชาติมาสร้างฝาย อันมีลักษณ์และประโยชน์คล้ายกับแก้มลิงที่ช่วยชะลอน้ำในช่วงน้ำหลากและกักเก็บน้ำในช่วงหน้าแล้ว ปัจจุบันมีการขยายผลสร้างฝายมีชีวิตครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัด