“I like to play penis” อาจารย์จ้างพิมพ์สื่อการสอนผิดนิดเดียว เล่นเอาชีวิตเปลี่ยน! เมื่อคลิปสอนหลักสูตรผ่านดาวเทียมถูกตัดจุดผิดมาเผยแพร่ จนกลายเป็นประเด็นเหยียดเรื่องความสามารถของผู้สอนสนั่นโลกออนไลน์ ล่าสุด อาจารย์ผู้ถูกเย้ยหยันยอมเปิดใจเป็นพิเศษกับ “ทีมข่าวผู้จัดการ Live” บอกเลยว่ารู้สึกท้อแท้ที่สังคมตัดสินจากข้อผิดพลาดเพียงเสี้ยวเดียว รู้ไหมว่าคลิปที่แชร์ๆ กันอยู่ ทำให้สถาบันเสื่อมเสีย แถมยังตัดหนทางคนด้อยโอกาสให้เหลือแคบลงไปอีก...
พิมพ์ผิด ชีวิตเปลี่ยน!!
“มันเป็นเพราะเขาพิมพ์ผิดค่ะ ปัญหามันมีเท่านั้นเอง” อาจารย์มหาวิทยาลัย เจ้าของรายการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งออกอากาศทางช่อง “DLTV 15” ไปทั่วประเทศ ภายใต้หลักสูตรการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ยอมเปิดใจกับ “ทีมข่าวผู้จัดการ Live” เป็นกรณีพิเศษผ่านปลายสาย หลังมีคลิปรายการที่เคยสอน ถูกตัดให้เหลือเพียงช่วงที่มีเนื้อหาผิดหลักไวยากรณ์ และแปลความหมายผิดเพี้ยนไปอย่างมากออกมานำเสนอ จนกลายเป็นประเด็นล้อเลียนหนักมากอยู่ในขณะนี้
“มีบางประโยคที่ผิด จนทำให้เกิดกลายเป็นคำลามก กลายเป็นมาล้อเลียนว่า ทำไมอาจารย์ถึงยกตัวอย่างคำสกปรก เป็นคำว่า "penis" (แปลว่าองคชาติ) ทำไมเอามาไว้ในสไลด์ด้วย
สาเหตุที่เป็นอย่างนั้น เป็นเพราะวัตถุประสงค์ของอาจารย์ที่อยากสอนผู้เรียนว่า ถ้าจะพูดคำว่า "I like to play tennis (ฉันชอบเล่นเทนนิส)" ก็ให้ออกเสียงดีๆ ไม่อย่างนั้นเสียงมันจะผิดเพี้ยนไป อาจจะกลายเป็นประโยคที่ใกล้เคียงกัน โดยตั้งใจจะยกตัวอย่างประโยคที่ว่า "I like to play piss (ฉันชอบเล่นปัสสาวะ)" มาจากอาการของคนแก่หลงๆ ลืมๆ แล้วชอบเล่นปัสสาวะโดยไม่รู้ตัว
เจตนาของอาจารย์คือ ต้องการให้ออกเสียงให้ถูกต้อง ไม่อย่างนั้น เรื่องที่เราจะพูด จะกลายเป็นเรื่องปัสสาวะไป แต่มันกลับดูแย่ลงไปอีก เพราะคนพิมพ์ข้อมูล พิมพ์ผิดค่ะ แทนที่จะพิมพ์ตัวอย่างประโยคที่ผิดว่า "I like to play piss” เขากลับไปพิมพ์ว่า "I like to play penis (ฉันชอบเล่นองคชาติ)"
มันเลยทำให้การเนื้อหาที่สอนผิดเพี้ยนไปหมด พอคลิปตรงนั้นถูกเผยแพร่ออกไป ก็กลายเป็นคนอื่นๆ เหมาไปว่าอาจารย์หมายถึงเรื่องนั้น ตีความกันไปว่าทำไมอาจารย์ถึงได้สื่อไปในเรื่องลามกแบบนั้น ทั้งที่ความจริงแล้ว มันคือเรื่องผิดพลาดทั้งหมดเลย”
แม้กระทั่งตัวอย่างประโยคที่ต้องการสื่อความหมายว่า “ฉันพูดภาษาอังกฤษได้ไม่ค่อยดี” ซึ่งอาจารย์เจ้าของรายการนี้เลือกใช้ประโยค "I cannot speak good English" ยังไม่อาจหลุดรอกจากดรามาไปได้ เนื่องจากมีผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาหลายรายออกมาร่วมกันหาจุดบกพร่อง
โดยหนึ่งในนั้นคือ อ.อดัม แบรดชอว์ ครูสอนภาษาอังกฤษชื่อดัง ผู้พูดได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ที่ช่วยออกมาแก้ไขประโยคที่ถูกต้องให้ว่า ควรจะเขียนว่า “My English isn't very good” หรือ “I don't speak English very well” มากกว่า ซึ่งเป็นคนละประโยคกับที่อาจารย์เจ้าของรายการเลือกหยิบมาเป็นตัวอย่างการเขียนและพูดที่ถูกต้อง
เกี่ยวกับความผิดพลาดในประเด็นนี้ อาจารย์ได้เปิดใจอธิบายกับ “ทีมข่าวผู้จัดการ Live” เอาไว้ว่า ความผิดพลาดที่ถูกหยิบไปวิจารณ์ผ่านตัวอย่างประโยคดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นจากความตั้งใจในการเลือกประโยคให้ง่ายต่อผู้เรียน ซึ่งอาจไม่มีพื้นความรู้ภาษาอังกฤษมากนัก เนื่องจากเลือกคำนึงถึงผู้รับสารซึ่งเป็นผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาเป็นสำคัญ
“ที่อาจารย์เลือกใช้ประโยค "I cannot speak good English" แทนที่จะเลือก "I cannot speak English well" หรือ “I do not speak English well” เป็นเพราะต้องการให้ผู้เรียนได้เห็นตัวอย่างที่ชัดเจนขึ้นค่ะ อาจารย์ตั้งใจเลือกประโยคนั้นเป็นตัวอย่างประโยคที่ใช้ถูก แล้วเลือกประโยค "I cannot speak English good" มาเป็นตัวอย่างที่ใช้ผิด เลือกใช้ประโยคไม่ต่างกันมาก เพื่อให้ผู้เรียนเห็นชัดๆ ว่า แค่สลับที่ เอาคำว่า "good" ไปวางไว้หลังคำว่า "English" มันก็ผิดหลักภาษาอังกฤษแล้ว
เพราะถ้าเกิดอาจารย์ไปยกตัวอย่างประโยคที่ถูกเป็น "I cannot speak English well" มาเป็นตัวอย่างที่ถูก คนดูที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษอยู่แล้ว เขาก็จะยิ่งงงว่า คำว่า "well" มาจากไหน อาจารย์ก็เลยเลือกใช้ประโยคแบบนั้น แต่กลายเป็นว่าจากประโยคที่สอนไปตรงนั้น คนเขากลับเอาไปวิจารณ์กันเละตุ้มเป๊ะไปหมดเลย
ความผิดแสนสั้น ตัดสิทธิผู้ด้อยโอกาสระยะยาว
จากความหมายภาษาไทยที่ว่า “ขึ้นรถ” จะต้องเลือกใช้ภาษาอังกฤษตามประโยคที่ว่า “Get in the car” แต่ในรายการของอาจารย์ใช้คำว่า “Get on the car” ซึ่งแปลว่านั่งบนหลังคารถ
หรือจากความหมายภาษาไทยที่ว่า “คุณเป็นคนอังกฤษหรือเปล่า” จะสามารถเลือกใช้ประโยคภาษาอังกฤษได้ว่า “Are you English?” แต่ในรายการ อาจารย์กลับอธิบายว่าต้องใช้ “Are you an English?” ทั้งที่ความจริงแล้วต้องไม่มี “an” จึงจะถูกต้องตามหลักไวยากรณ์จริงๆ
แต่ถึงแม้ความผิดพลาดจากรายการดังกล่าว จะถูกแชร์ต่อออกไปในวงกว้างด้วยถ้อยคำเย้ยหยันสักเพียงใด อาจารย์เจ้าของรายการและเจ้าของเนื้อหาบทเรียนทั้งหมด ก็ขอยืนยันเอาไว้ว่าทั้งหมดทำไปด้วยความปรารถนาดี และยินดีที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดทั้งหมด ถ้าทางสถาบันเห็นชอบและพอมีหนทางให้แก้ไข เพื่อไม่ให้ความผิดพลาดเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งจากกรณีนี้ กลายเป็นการตัดโอกาสคนยากคนจนและผู้คนที่ด้อยโอกาสในสังคมในระยะยาว
“อาจารย์อยากจะบอกว่า ที่คนเขาเอาไปพูดไปตำหนิกัน มันมาจากส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของทั้งหมด เหมือนมีประโยคผิดนิดๆ หน่อยๆ ก็เอามาเล่นเป็นกระแสกันแล้ว ทั้งๆ ที่รายการที่สอนทั้งหมดมี 20 กว่าตอน ฉายทั้งหมดยาว 7-8 เดือน เพราะฉะนั้น ส่วนที่ผิดพลาดไปและถูกดึงมาเป็นประเด็น มันแค่ 1 ใน 100 จากทั้งหมดเท่านั้นเอง
พอเกิดเรื่องแบบนี้ก็เลยมานั่งคิดว่า เราทำข้อมูลทุกอย่างคนเดียว เราออกตังค์ทุกอย่างเพื่อคนด้อยโอกาส แต่กลับมาเจอแบบนี้ก็หมดกำลังใจ ไม่อยากจะทำแล้ว ซึ่งคนสอนก็ไม่ได้อะไร ได้ค่าสอนแค่ 400 บาท จากค่าทำ PowerPoint ที่จ่ายเองหมดไปเป็นหมื่น แต่ก็มานั่งคิดว่าเราทำเพื่อคนด้อยโอกาส แล้วจู่ๆ มาบอกว่าเราจะเลิกทำแล้วอาจจะไม่เป็นผลดี
ตอนนี้ ทางสถาบันก็ติดต่อมาให้อาจารย์เข้าไปอธิบายเหตุผลว่าเกิดอะไรขึ้น และได้สั่งให้ระงับการออกอากาศรายการเอาไว้แล้ว ซึ่งในอนาคตอาจขอยกเลิกรายการทั้งหมดถ้าเรื่องนี้ยังถูกยกให้กลายเป็นเรื่องล้อเลียนใหญ่โต ซึ่งอาจารย์ก็รู้สึกเสียใจและเสียดายอยู่เหมือนกัน
คนที่เขาดูรายการนี้อยู่ คือคนที่เขาไม่มีตังค์ เป็นคนด้อยโอกาส เคยมีคนตาบอดโทร.เข้ามาบ่อยมาก บอกว่าเขาติดรายการก็เยอะ อย่างครูที่อุบลฯ ยังเคยโทร.มาบอกอาจารย์ว่า เขาไม่ได้จบภาษาอังกฤษมา แต่ต้องมาสอนเด็กมหาวิทยาลัย พอดูรายการของอาจารย์แล้ว เป็นประโยชน์มาก แบบนี้ก็มี ซึ่งมันก็น่าเสียดายตรงที่ เรื่องที่เขาเอามาเมาท์กัน มันเป็นแค่ 1 ใน 100 ของเนื้อหาทั้งหมดที่เราสอนไป และตอนที่เจ้าหน้าที่เขาพิมพ์ผิดไป มันก็มีแค่นิดเดียว”
[ถูกดึงไปเปรียบเทียบกับ คลิปรายการล้อเลียนการสอนภาษาอังกฤษแบบผิดๆ ในซิตคอม "ตลกหกฉาก"]
[แฟนเพจ "Drama-addict" เผยแพร่คลิปการสอนซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนไว้บนแฟนเพจ: https://www.facebook.com/DramaAdd/videos/10154894294073291]
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754