5 ธันวาคม 2559 เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เป็น วันพ่อแห่งชาติ แม้วันนี้ “พ่อ” จะไม่อยู่แล้ว แต่ "คำสอนพ่อ" จะยังก้องอยู่ในใจลูกชาวไทยตลอดไป พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัส ของพ่อ ที่พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เปรียบเสมือนแผนที่ชีวิต เป็นแสงเทียนส่องสว่างนำทางในยามชีวิตมืดมน คำสอนพ่อ จะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจพวกเราชาวไทยในยามที่ความทุกข์ทับถม ให้ทุกย่างก้าวของชีวิตเต็มไปด้วยสติ ไม่หวั่นไหวต่อความทุกข์
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นตัวอย่าง เพราะพระองค์ทรงอ่านหนังสือเยอะมาก ก่อนที่พระองค์จะพระราชทานคำแนะนำให้แก่รัฐบาลหรือประชาชน ทรงศึกษาจนกระจ่างก่อน”
นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวถึงพระบรมราโชวาทใน 3 โอกาสสำคัญของในหลวง ร.๙ ที่พระราชทานแก่เราชาวไทย โอกาสแรก เป็นพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ที่พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิต ซึ่งมักเป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองและเหตุการณ์สำคัญในโลก
โอกาสที่ 2 พระราชดำรัสในวันที่ 4 ธันวาคม และช่วงวันขึ้นปีใหม่ เป็นกระแสพระราชดำรัสที่ถ่ายทอดไปสู่ประชาชน เช่นเมื่อครั้งเมืองไทยประสบวิกฤตทางการเงิน พระองค์จึงมีพระราชดำรัส เรื่อง ความพอเพียง
โอกาสที่ 3 พระราชดำรัส หรือพระบรมราโชวาท ที่พระราชทานให้กับกลุ่มบุคคลเฉพาะในวาระ
ในโอกาส 5 ธันวาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพ “พ่อแห่งแผ่นดิน ในหลวงรัชกาลที่ ๙” ทีมผู้จัดการ Live ขออัญเชิญพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสของพ่อ ที่พ่อจะสอนพวกเราทุกปีในวันนี้ มาให้ลูกหลานชาวไทยได้อ่านยาม “คิดถึงพ่อ” สุดหัวใจ
“...ต้องขอร้องทุกคนที่เข้าเฝ้าฯถวายพระพร “ทรงพระเจริญ” ทำหน้าที่ เพราะถ้าพูดหรือคิดขึ้นมาว่า ขอให้ทรงพระเจริญ เป็นคำลอยๆ เก๋ๆตามสมัย โดยเฉพาะในวันเฉลิมพระชนมพรรษายิ่งต้องพูด อย่างนั้นแล้วก็จะไม่ได้ผล แต่ถ้านึกว่าทรงพระเจริญ หมายความว่าประเทศของเราจงเจริญ ก็เกิดหน้าที่ขึ้นมา แต่ละคนเกิดหน้าที่ต่อประเทศชาติ...” พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะครูและนักเรียน ที่เข้าเฝ้าฯถวายพระพร ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2511
“....ถ้าเรามาดูในตัวเราเอง ร่างกายของเรา เรามีแขน มีขา มีหัว มีลำตัว มีอวัยวะต่างๆทั้งภายนอก ภายใน ถ้าส่วนใดไม่สอดคล้องกันเราก็บอกว่าไม่สบาย ป่วย แล้วคนเราที่จะมีความสบายจริงๆก็หาเวลาน้อย ต้องนึกถึงว่าทุกส่วนของร่างกายของเราจะต้องทำงานให้พร้อมกัน ให้มีความสามัคคีกัน ถ้าไม่มีความสามัคคีกัน ร่างกายของเราต่างคนต่างทำ หรือต่างส่วนต่างทำงานของตัวเอง ก็ไม่สามารถที่จะทำงานได้ ถ้าดูเฉพาะกายแต่ว่าอีกส่วนก็มีใจ คือจิตใจของเรา ซึ่งจะต้องทำงานเหมือนกันเพื่อที่จะให้สอดคล้องกับร่างกาย” พระราชดำรัส วันที่ 5 ธันวาคม 2523 ณ ศาลาดุสิดาลัย
“ทุกวันนี้ ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญ เราต้องรู้จักใช้ทรัพยากรนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้เปลืองไปโดยไร้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หากแต่การระมัดระวังใช้ด้วยความประหยัดรอบคอบ ประกอบด้วยความคิดพิจารณาตามหลักวิชา เหตุผล และความถูกต้องเหมาะสม โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยืนยาว” พระราชดำรัส 5 ธันวาคม 2529
“ต่างคนต่างมีหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำเฉพาะหน้าที่นั้น เพราะว่าถ้าคนใดทำหน้าที่เฉพาะของตัว โดยไม่มองไม่แลคนอื่น งานก็ดำเนินไปไม่ได้ เพราะเหตุว่างานทุกงานจะต้องพาดพิงกันจะต้องเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นแต่ละคนจะต้องมีความรู้ถึงงานของผู้อื่นแล้วช่วยกันทำ” พระราชดำรัส วันที่ 4 ธันวาคม 2533
“สามัคคี หรือการปรองดองกัน ไม่ได้หมายความว่าคนหนึ่งพูดอย่างหนึ่ง คนอื่นต้องพูดเหมือนกันหมด ลงท้ายชีวิตก็ไม่มีความหมาย ต้องมีความแตกต่างกัน แต่ต้องทำงานให้สอดคล้องกัน แม้จะขัดกันบ้างก็ต้องสอดคล้องกัน” พระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2536
“…ความพอเพียงนี้ ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันมากเกินไป แต่ในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้แต่ในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก…มีเงินเดือนเท่าไหร่ จะต้องใช้ภายในเงินเดือน ส่วนการกู้เงินนั้น เงินจะต้องให้เกิดประโยชน์มิใช่กู้สำหรับไปเล่น ไปทำอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์…” พระราชดำรัส วันที่ 4 ธันวาคม 2540
สำหรับพระราชดำรัสของในหลวง ร.๙ ในวัน 4 ธันวาคม 2541 พระองค์ทรงอธิบายเรื่อง"เศรษฐกิจพอเพียง" ย้ำอีกครั้งในปีนี้ เพื่อความเข้าใจอย่างถ่องแท้จากครั้งแรกในปี 2540
“…เศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ สองอย่าง จะทำความเจริญให้แก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกัน ถ้าทำโดยเข้าใจกัน เชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้ คำว่า พอเพียง มีความหมายว่า พอมีกิน เศรษฐกิจพอเพียง หมายความว่า ผลิตอะไร มีพอที่จะใช้ ไม่ต้องขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง คำว่าพอ คนเราถ้าพอในความต้องการ มันก็มีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย พอเพียงอาจมีมาก อาจมีของหรูหราก็ได้ แต่ต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น…”
สำหรับพระราชดำรัสในวันที่ 5 ธันวาคม 2555 นั้น นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของเราชาวไทย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา 5 ธันวาคม 2555 เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็เต็มไปด้วยคลื่นมหาชนสวมใส่เสื้อสีเหลืองมาเฝ้าฯรอรับเสด็จ เป็นภาพแห่งความประทับใจ หลายคนหลั่งน้ำตาออกมาด้วยความปลื้มปีติ ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้เกิดมาเป็นพสกนิกรของพระองค์ พระราชดำรัส ความว่า
“คำอวยพรและคำปฏิญาณสัญญา ที่ทุกท่านได้กล่าวนั้น เป็นที่ประทับใจมาก ขอขอบพระทัยและขอบใจท่านทั้งหลาย ตลอดจนประชาชนชาวไทยทุกคน ที่พรั่งพร้อมกันมาด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต ความปรารถนาดีและความพร้อมเพรียงกันของทุกท่าน อย่างที่ได้เห็นในวันนี้ ทำให้ข้าพเจ้าปลื้มใจ มีกำลังใจมากขึ้น
ด้วยมีความเชื่อเสมอมาว่า ความเมตตาปรารถนาดีต่อกันนี้ เป็นปัจจัยอย่างสำคัญ ที่จะยังความพร้อมเพรียงให้เกิดมีขึ้น ทั้งในหมู่คณะและในชาติบ้านเมือง และถ้าคนไทยเรา ยังมีคุณธรรมข้อนี้ประจำอยู่ในจิตใจ ก็มีความหวังได้ว่า บ้านเมืองไทย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดๆ ก็จะอยู่รอดปลอดภัยและดำรงความมั่นคงต่อไปได้ตลอดรอดฝั่งอย่างแน่นอน...”
...และแล้วก็มาถึงพระราชดำรัสสุดท้ายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2556 ณ ท้องพระโรง ศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีพระราชดำรัสแก่ปวงชนชาวไทยในการเสด็จออกมหาสมาคมครั้งสุดท้ายในพระชนม์ชีพ
“บ้านเมืองของเราเป็นสุขสืบมาช้านาน เพราะเรามีความปึกแผ่นในชาติ และต่างบำเพ็ญกรณียกิจตามหน้าที่ให้สอดคล้องเกื้อกูลกัน เพื่อประโยชน์ของชาติ คนไทยทุกคนจึงควรจะตระหนักในข้อนี้ให้มาก และตั้งใจประพฤติตัวปฏิบัติงานให้สมฐานะและหน้าที่ เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ส่วนรวม คือ ความมั่นคงปลอดภัยของชาติบ้านเมืองไทย”
นอกจากนี้พระราชดำรัสข้างต้นที่เราชาวไทยควรจะน้อมนำมาปฏิบัติแล้ว “๙ ย่างตามรอยเท้าพ่อ” พระราชจริยวัตรของพระองค์ท่านทั้ง 9 ประการ ไม่ว่าจะเป็น ความกตัญญู ประหยัด ซื่อสัตย์ เสียสละ อ่อนน้อม สามัคคี ความพากเพียร ความรักของพ่อ ความริเริ่มสร้างสรรค์ เราชาวไทยสามารถนำมายึดถือได้ตลอดชีวิต
พ่อของเราเปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาร่มเย็นผลิใบออกผลให้ลูกเด็ดกินได้ตลอดเวลา ที่สำคัญ พ่อคือครูผู้ยิ่งใหญ่ เป็น “พระผู้ให้” ที่สอนลูกชาวไทยด้วยชีวิตและการกระทำ พ่อของเรา คือ พระราชาผู้อยู่ง่าย กินง่าย จงยึดพระองค์ท่านเป็นแบบอย่าง ปฏิบัติตนในทางที่ชอบตามรอยพ่อ รับมือกับปัญหาด้วยสติปัญญา และจง “เป็นคนดี” ให้พ่อภูมิใจกันเถิด
*รวมคลิปพระราชดำรัสในวันคล้ายวันพระราชสมภพ
ปี 2535
ปี 2536
ปี 2537
ปี 2538
ปี 2539
ปี 2541
ปี 2544
ปี 2548
ปี 2549
ปี 2550
ปี 2552
ปี 2553
ปี 2554
ปี 2555
ปี 2556 พระราชดำรัสสุดท้าย
นอกจากนี้ ยังมี ไฟล์ PDF รวบรวมพระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2511-2550 จากเพจ "สานต่อที่พ่อทำ" *หมายเหตุ* ทรงไม่มีพระราชดำรัสในปี 2515, 2521, 2522, 2530 และมีบางปีที่พระองค์ท่านมีพระราชดำรัสไม่ตรงวันที่ 4 ธ.ค.
โดยผู้จัดการ Live
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754