มีปลากระเบนตายหมู่ 50 ตัว แต่รายงานว่าตายแค่ 20, มีปลาชนิดอื่นลอยอืดเกือบหมดกระชัง แต่รายงานว่าพบแค่ซากศพกระเบนยักษ์, มีน้ำเสียจากโรงงาน ไหลทิ้งลงคูคลองซึ่งเชื่อมสู่แม่กลองติดๆ กันหลายวันจนชาวบ้านเห็น แต่กลับไม่มีรายงานความผิดปกติจากหน่วยงาน และมีอัตราปนเปื้อนในระดับที่น่าตกใจจากการวินิจฉัยโดยผู้เชี่ยวชาญ แต่ผู้ดูแลระดับจังหวัดกลับรายงานว่าไม่พบความผิดปกติ เพราะตักเพียงน้ำผิวบนไปตรวจสอบ ซึ่งบอกค่าอะไรแทบไม่ได้เลย...
เมื่อทนเห็นวาระปิดบังซ่อนเร้นบางอย่างต่อไปไม่ไหว ล่าสุด “คนรักแม่กลอง” จึงประกาศจับมือภาคี 16 เครือข่ายอย่างเป็นทางการ รณรงค์ลงชื่อร้องเรียนให้กรณีปลากระเบนถูกสังหารหมู่ครั้งนี้ได้เป็นวาระแห่งชาติ!! เรียกร้องให้จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะดูแลแหล่งน้ำ 5 จังหวัดอย่างจริงจัง ก่อนที่ “กระเบนราหู” สัตว์ใหญ่ใกล้สูญพันธุ์และสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ จะไม่เหลือให้มาลอยตายเล่นๆ กันอีกต่อไป!!
ปลง...ตายเป็นเบือ ยังบอกไม่ผิดปกติ!!
[ซากปลากระเบน ลอยกระจัดกระจายเต็มผืนน้ำแม่กลอง]
“ท่านรองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ได้มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตายของปลากระเบนเป็นจำนวนมากว่า มาจากสาเหตุที่ปลากระเบนได้รับสารเคมีบางอย่างที่เป็นอันตรายต่อกระเบนที่ใต้ท้องน้ำ เพราะพฤติกรรมของสัตว์ หากป่วยตายจะไม่กินอาหาร จะไม่มีเศษอาหารในกระเพาะ แต่ซากปลากระเบนที่พบ ได้ผ่าดูก็พบเศษอาหารอยู่ในกระเพาะปกติ
ประกอบกับเมื่อเจอกระเบนที่รอดชีวิตแต่อาการหนัก ดร.นันทริกาได้วินิจฉัยอาการและได้ให้ยาปฏิชีวนะเพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบร่างกายและการไหลเวียนของเลือดให้ทำงานเป็นปกติ ช่วยให้อาการของกระเบนดีขึ้นมากอย่างรวดเร็ว ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สาเหตุที่กระเบนเหล่านี้ตาย และลอยหัวหนีท้องน้ำขึ้นมาบนผิวน้ำนั้น เกิดขึ้นจากสารเคมีบางอย่างที่เป็นอันตรายต่อกระเบน ซึ่งสารเคมีเหล่านี้ไหลมาอยู่ที่ท้องน้ำในแม่น้ำแม่กลองที่กระเบนอาศัยอยู่
แต่ในทางกลับกัน หน่วยงานของรัฐในจังหวัดสมุทรสงคราม ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ แจ้งว่าสภาพน้ำปกติไม่มีปัญหา แต่ผลเชิงประจักษ์ที่กระเบนตายเป็นเบือ แสดงให้เห็นแล้วว่ามิได้เป็นอย่างที่หน่วยงานได้ชี้แจง และไม่มีกระบวนการพิสูจน์ทราบสาเหตุในด้านต่างๆ อย่างครบถ้วน ซึ่งเราคงไม่โทษใคร
จากกรณีดังกล่าว แสดงให้เห็นแล้วว่าหน่วยงานระดับจังหวัดมีศักยภาพไม่เพียงพอ ที่จะจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ได้ เพราะเหตุการณ์นี้มีความเกี่ยวโยงในพื้นที่ถึง 5 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร เพชรบุรี และสมุทรสงคราม ซึ่งสมุทรสงครามเป็นเมืองปลายน้ำ
เรื่องนี้ทางเครือข่ายเห็นร่วมกันว่า เรื่องนี้ต้องให้ระดับนโยบาย คือรัฐบาลลงมาร่วมแก้ไขโดยตรง โดยทางเครือข่ายจะทำการรวบรวมรายชื่อชาวสมุทรสงคราม เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดกระบวนการแก้ไขแบบบูรณาการร่วมกันในพื้นที่อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
จึงขอเชิญชวนชาวสมุทรสงคราม ร่วมกันลงชื่อในการร้องเรียนต่อสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขปัญหานี้ตามแบบฟอร์มที่แนบมาด้วยครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน จึงขอดำเนินการให้เสร็จภายในวันอังคารที่ 11 ตุลาคม 2559 แต่รายชื่อยังรวบรวมไปได้เรื่อยๆ ครับ เพราะจะส่งเพิ่มเติมให้สำนักนายกรัฐมนตรีในภายหลัง ฉะนั้น ในวันอังคารได้รายชื่อเท่าใด จะจัดส่งไปเท่านั้นก่อน จึงเรียนมาเพื่อทราบและช่วยกันลงชื่อเพื่อสายน้ำแม่กลองบ้านเรากันนะครับ”
ข้อความข้างต้น คือคำประกาศเข้าชื่ออย่างเป็นทางการจากกลุ่ม "สมุทรสงครามจัดการตนเอง" บนเฟซบุ๊ก หลังเกิดปรากฏการณ์กระเบนราหูลอยว่อนเป็นซากศพเต็มผิวน้ำแม่กลอง เช่นเดียวกับปลาในกระชังชนิดอื่นๆ ที่หมดลมหายใจโดยยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ว่าเกิดจากความมักง่ายของใคร แม้จะมีคลิปหลักฐานการปล่อยน้ำเสียจากโรงงาน ลงสู่คูคลองซึ่งเชื่อมกับแม่น้ำแม่กลอง โดยเชื่อกันว่าเป็นฝีมือของโรงงานในบ้านโป่ง จ.ราชบุรี ก็ตามที
ส่วนผู้ที่ถูกพาดพิงอย่างหน่วยงานรัฐ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ หลังเรื่องราวดังกล่าวกลายเป็นประเด็นร้อน จึงออกมาชี้แจงว่า “ไม่ได้นิ่งนอนใจ” และยอมออกมาเผยตัวเลขการตายของกระบานราหูแล้วว่าอยู่ที่ “40 ตัว” จากเคยให้ระบุไว้ว่าพบซากศพเพียง “20 ตัว”
อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าเป็นจำนวนศพกระเบนยักษ์ที่คลาดเคลื่อนไปจากอาสาสมัครสัตวแพทย์น้ำ เครือข่ายอนุรักษ์ ระบุเอาไว้ถึง 10 ตัว จนทำให้ผู้เชี่ยวชาญผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในกรณีนี้ ถึงกับต้องออกมาแก้ข่าวกันให้จ้าละหวั่นว่า... “จำนวนกระเบนที่ตายตามข่าว มีแค่ประมาณ 20 ตัว แต่จากการประชุมเครือข่ายอนุรักษ์ พบว่ามีมากถึง 50 ตัว โดยตัดตัวที่อาจนับซ้ำออกไปแล้ว”
[เหลือไม่กี่ตัวที่ยังมีชีวิต ลอยอยู่บนผืนน้ำอาการร่อแร่ ต้องจับส่งสัตวแพทย์ช่วยรักษา]
ล่าสุด ผู้รับผิดชอบระดับจังหวัดรายงานว่า ได้กำลังส่งหน่วยงานเข้าไปเร่งหาสาเหตุการตายของปลากระเบนราหูและปลาอื่นๆ อยู่เช่นกัน โดยได้ให้คณะทำงานลงพื้นที่ไปตักน้ำ เก็บตะกอนดินบริเวณดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อนำมาตรวจสอบกันแบบจริงๆ จังๆ หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า การเก็บตัวอย่างไปตรวจสอบในรอบแรกนั้น ไม่น่าจะช่วยให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด เพราะเป็นการตักตัวอย่างน้ำจากระดับผิวไป ซึ่งถือว่าไม่มีความหมายใดๆ ตามหลักทางพิษวิทยาในการตรวจน้ำแม้แต่นิดเดียว...
[น้ำเสียที่เกิดจากการปล่อยของเสีย จากโรงงานอุตสาหกรรม]
“คันฉัตร ตันเสถียร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ขอให้ทางคณะเก็บน้ำ ดินตะกอน ไปตรวจอีกครั้ง เพื่อเร่งหาสาเหตุการตายของปลากระเบนและปลาชนิดต่างๆ ซึ่งวันนี้ได้มีการจัดเก็บน้ำที่จังหวัดสมุทรสงคราม จำนวน 4 จุด ที่หน้าวัดเพชรสมุทรวรวิหาร, สะพานพระราม 2, สะพานอัมพวา, สะพานบางนกแขวก รวมถึงการจัดเก็บตะกอนดินอีก 3 จุด และที่จังหวัดราชบุรี อีก 5 จุด จะเป็นที่บริเวณโรงงาน จังหวัดราชบุรี และจะทราบผลอย่างเป็นทางการภายใน 7 วัน”
ลงชื่อยุติ “สุสานแม่กลอง”
[ชาวบ้านกำลังร่วมออกแบบลายเส้นเพื่อล่าชื่อ รณรงค์ปรากฏการณ์ความสูญเสียครั้งนี้]
“ถ้าปลากระเบนตายเพราะออกซิเจนในน้ำต่ำ ถ้าต่ำมาก น่าจะเห็นปลาเกือบทุกชนิดขึ้นมาลอยหัวหุบอากาศที่ผิวน้ำมากมาย เหมือนตามบ่อปลาตอนเช้ามืด แต่นี่ไม่เห็น และปกติกระเบนจะอาศัยอยู่ที่พื้นน้ำลึกมาก อาจถึง 20 เมตร ซึ่งมีออกซิเจนต่ำอยู่แล้ว ถ้าขาดออกซิเจน กระเบนสามารถว่ายย้ายไปที่อื่นได้
และเมื่อวัดออกซิเจนด้วย D.O. Meter ก็ไม่พบความผิดปกติ เมื่อเราวัดเองก็ไม่พบว่าแตกต่างจากเวลาที่ไม่มีกระเบนตายแต่อย่างใด ลักษณะการตายของซากที่พบเป็นแบบเฉียบพลัน จึงเห็นได้ว่า สัตว์มีสภาพภายนอกที่สมบูรณ์ดีไม่ได้เป็นโรคเรื้อรัง สมบูรณ์ดี มีอาหารอยู่ภายในกระเพาะ
จากการรายงานของทางการว่า ไม่มีสารเคมีและผิดปกติของสารพิษในน้ำและตะกอนดิน แต่ชาวบ้านรายงานงานว่า มีน้ำเสียไหลมาตั้งแต่วันที่ 27-28 ก.ย. ที่คลองโคนเป็นต้นมา และจากบ้านโป่ง ถ้ามีการเฝ้าระวังของกรมกองต่างๆ ก็ควรจะเห็นความผิดปกติเช่นกันกับชาวบ้าน
[แม่กระเบนยักษ์แสนโชคดี รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา และทีมสัตวแพทย์ ช่วยไว้ได้ทัน]
ส่วนวิธีในการตรวจตัวอย่างน้ำที่เห็นในข่าว เป็นการตักน้ำผิวบนขึ้นมาตรวจ ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักทางพิษวิทยาในการตรวจน้ำ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ามีค่า pH และความเค็ม กลายเป็นน้ำจืดเกือบทั้งหมด ซึ่งไม่อยู่ในระดับน้ำลึกที่กระเบนอยู่ สิ่งที่น่าสนใจคือ น้ำที่มากับปลากระเบนที่นำเข้ามารักษา มีความเค็มถึง 24 ppt ขณะที่รายงานของทางการ มีค่าความเค็ม 5-10 ppt
เอาเป็นว่ามาทำงานกันเป็นทีมให้มีทิศทางเดียวกัน ก็อาจจะช่วยเหลือประชาชน และอนุรักษ์ทันค่ะ #งงค่ะ #เอาไงดี”
[ตัวเลขจริงๆ แบบไม่ถูกใครบิดเบือน ความสูญเสีย "กระเบนราหู" สัตว์ใหญ่ใกล้สูญพันธุ์]
หมอหนิ่ง หรือ รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ชี้แจงข้อสงสัยเอาไว้อย่างละเอียดยิบผ่านเฟซบุ๊ก “Nantarika Chansue”
สัตวแพทย์หญิงระดับแถวหน้าของเมืองไทยรายนี้ คือผู้ได้ลงพื้นที่สังเกตการณ์และได้คลุกคลีอยู่กับชาวบ้านจริงๆ เมื่อพบเห็นข้อมูลที่ถูกบิดเบือนไปอย่างน่าตกใจ โดยไม่ทราบว่าเป็นเพราะวัตถุประสงค์ใด เธอจึงพยายามไขความกระจ่างออกไปให้ได้มากที่สุด โดยย้ำชัดว่า “มิบังอาจ สรุปว่าใครผิดใครถูก แต่แค่อยากให้แชร์ข้อมูลในแง่ของเราในฐานะอาสาสมัคร คนรักแม่กลอง และสัตวแพทย์สัตว์น้ำคนหนึ่ง” เท่านั้นเอง
“วันนี้แม่น้ำแม่กลองที่สมุทรสงคราม กลายเป็นสุสานกระเบนที่ลอยตายขึ้นมาหลายสิบตัว ไม่รู้อีกกี่สิบตัวที่ตายจมอยู่ ปลากะพงตัวเป็นสิบกิโล ลอยตายกลาดเกลื่อนในกระชัง ชาวบ้านเดือดร้อนเพราะปลากด ปลาเค้า ที่เคยตกได้ตายไปมากมาย จับมือใครดมก็ไม่ได้ ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีทั้งน้ำขึ้น น้ำลง น้ำเจ ฝนตก และความคดเคี้ยวของแม่น้ำ ทำให้ไม่มั่นใจว่ามลพิษมาจากทิศไหน
[ไม่ใช่แค่กระเบน แต่ปลาชนิดอื่นก็แทบไม่เหลือหรอ]
รู้แต่ว่า มีคนไม่รับผิดชอบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม จนเกิดเหตุแสนเศร้าขึ้น สัตว์น้ำเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพให้มนุษย์ได้รู้ว่า ภัยจะมาถึง เพราะในที่สุดเราก็ต้องกินสัตว์ที่ได้รับสารเหล่านี้เอง ต้องใช้น้ำที่มาจากแหล่งมลพิษเหล่านี้ และในที่สุด ก็ต้องรับกรรมเอง ปัญหาเหล่านี้มีคำตอบง่ายๆ... จะทำจริงหรือเปล่าเท่านั้นค่ะ”
ในระหว่างที่เครือข่ายภาคประชาชนกำลังพยายามผลักดัน “ความรับผิดชอบ” ให้เกิดขึ้นกับหน่วยงานภาครัฐอย่างจริงจังและจริงใจกันจริงๆ สักที ด้านสัตวแพทย์และอาสาสมัครเครือข่ายอนุรักษ์เอง ก็กำลังพยายามค้นหาสาเหตุและเยียวยาอีกหลายๆ ชีวิตในน้ำที่ยังพอช่วยไว้ได้ทัน
ท่ามกลางการส่งแรงใจ ผ่านลายเส้นจากปลายดินสอ ปลายปากกา หรือแม้แต่ปลายลูกศรบนเมาส์ เพื่อสร้างรูปภาพไว้อาลัยให้แก่เจ้ากระเบนราหูกว่าครึ่งร้อยชีวิต ที่ต้องถวายให้แก่ “ความมักง่าย” ของคนบางพวก จนก่อให้เกิดปรากฏการณ์ความสูญเสียครั้งใหญ่ใน “สุสานแม่กลอง”
[ลายเส้นจาก "คนรักแม่กลอง" รวมตัวเพื่อเรียกร้องให้แก่ธรรมชาติและเพื่อนร่วมโลก]
[คลิปการปล่อยน้ำเสียวันสุดท้ายของเดือน ก.ย. ซึ่งคาดกันว่าน่าจะเป็นสาเหตุของปรากฏการณ์อันน่าเศร้าในครั้งนี้]
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพและข้อมูล: กลุ่ม "สมุทรสงครามจัดการตนเอง", เฟซบุ๊ก "Nantarika Chansue" และแฟนเพจ "สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสงคราม"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754