xs
xsm
sm
md
lg

ตกปลาเพื่อช่วยชีวิตปลา!! “ทัพพ์ มีทรัพย์วัฒนา” นักตกปลาเชิงอนุรักษ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบบนี้ก็มีหรือ? "การตกปลาเชิงอนุรักษ์" สนทนากับคนหนุ่มนักตกปลาที่เรียกขานตนเองว่านักตกปลาเชิงอนุรักษ์ “ทัพพ์ มีทรัพย์วัฒนา” ที่ตลอดระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา ชีวิตทั้งชีวิตคล้ายอุทิศให้หมู่ปลาและบรรดาสัตว์อนุรักษ์

จากพื้นฐานครอบครัวที่คลุกคลีอยู่กับสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล ก่อนหันเหเส้นทางการศึกษาสู่วิชาการผจญภัยในประเทศนิวซีแลนด์ เป็นคนไทยคนแรกที่ไปเรียนสาขาวิชาท่องเที่ยวผจญภัย (adventure Tourism) และได้ประสบพบเจอกับประสบการณ์แปลกใหม่ที่นั่น ซึ่งนำไปสู่จิตวิญญาณด้านการอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นปลาหรือเต่า

“ทัพพ์ มีทรัพย์วัฒนา” เป็นนักตกปลาและนักผจญภัยที่ใช้จ่ายคืนวันไปกับการเดินทาง ท่องเที่ยวผจญภัยตามสถานต่างๆ ทั่วโลกเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นโครเอเชีย, ฟิจิ, เบลีซ, บราซิล, นิวซีแลนด์ และแคนาดา หรือแม้กระทั่งดินแดนแอฟฟริกาและผืนป่าอะเมซอน เขาก็เคยซอกซอนไปศึกษามาแล้วทั้งนั้น และทั้งหมดทั้งมวลนั้น เขาก็นำมันมาถ่ายทอดผ่านรายการสารคดีที่เขาทำด้วยความรัก

ปัจจุบัน นอกเหนือไปจากการเป็นเจ้าของบริษัท มาฮ์เซียร์ แท็คเกิ้ล ที่นำเข้าอุปกรณ์ตกปลา เรือคายัค ตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบกิจกรรมเอาต์ดอร์ ทุกคนที่รู้จักเขาก็ดูจะเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า แนวคิดเชิงอนุรักษ์ของเขานั้น น่ารับฟังอย่างยิ่ง...

• คุณเริ่มต้นชอบการตกปลามาตั้งแต่ตอนไหนอย่างไร

ผมคลุกคลีอยู่กับปลามาตั้งแต่เด็กครับ ย้อนกลับไปเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ที่บ้านทำธุรกิจเรือประมงส่งออกไปประเทศอินโดนีเซีย กัมพูชา พม่าครับ ตอนนั้น ผมได้เห็นปลาฉลามขนาดสี่เมตรนี่ถือว่าเป็นเรื่องปกติ และเห็นปลาโรนัน (มีรูปร่างคล้ายปลาฉลาม แต่มีส่วนหัวแบนแหลมเหมือนปลากระเบน) ซึ่งเป็นปลาที่หาได้ยากมาก แต่สมัยนี้ การที่จะได้เจอปลาฉลามสักตัวเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะคนไทยใช้ทรัพยากรเยอะเกินไป เกินกว่าที่ธรรมชาติจะให้ได้แล้ว โดยเฉพาะอ่าวไทย

ผมเริ่มจากการตกปลาในบ่อ คือตอนเด็กๆ ทำอะไรก็สนุกไปหมด แต่ความประทับใจครั้งแรกจริงๆ ในชีวิตของผมคือการได้นั่งเจ็ทสกีกับคุณพ่อ ได้ไปเห็นฝูงปลาเต็มเลย คุณพ่อยื่นเบ็ดตกปลาให้ผม ผมหย่อนเบ็ดลงพร้อมกับทุ่น ตลกมากเลยครับ ปลาไม่ได้มากินหรอกครับ แต่ผมได้เห็นปลามาตอดเบ็ดผม นั่นคือความประทับใจของผมครั้งแรกๆ เกี่ยวกับปลา

อย่างไรก็ดี จุดสำคัญที่นำพาให้มาสนใจในการอนุรักษ์ก็ตอนที่ผมไปเรียนต่างประเทศ เพราะเดิมที ผมเกเรตั้งแต่เด็ก ชอบตกปลาเล่น ตกกับเพื่อน เพื่อนชวนไปตกเล่นตั้งแต่สมัยเรียน ป.4 ป.5 แต่พอได้ไปอยู่ต่างประเทศ ผมถึงได้ซึมซับเรื่องการอนุรักษ์ เราก็นำมาวิเคราะห์ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรจะเป็น

• คือจากตกปลาเล่นๆ ตอนเด็ก กลายมาเป็นจริงจังไปเลย

พูดตามตรง เราเริ่มต้นมาจากการทำลายก่อน ผมและครอบครัวทำลายมาก่อน เพราะทำประมงเชิงพาณิชย์ทางทะเล ลากอวนเพื่อการค้า และผมก็มาตกปลาเล่นๆ ตามบ่อ เสร็จแล้วผมก็ได้ไปเรียนที่แคนาดา ทำให้ผมได้ซึมซับวัฒนธรรมของเขา รู้ว่าเขาปฏิบัติอย่างไร ได้ไปสัมผัสจริงๆ ว่าต้องอนุรักษ์ไว้แล้วนะ นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการตกปลาเชิงอนุรักษ์ ตอนนั้น ผมทำงานช่วงซัมเมอร์ ทำงานแล้วได้เงิน ก็รวบรวมเป็นค่าเดินทางไปยังป่าอะเมซอน และตอนที่ไปอะเมซอน ผมได้ไปสอนหนังสือให้ชนเผ่าในนั้น และไปตกปลา ผมได้เห็นปลาพีค็อก แบส (peacock bass) ปลาช่อนอะเมซอน คือผมเคยเห็นในภาพมาตั้งแต่เด็ก ก็อยากจะรู้ว่าจุดเริ่มต้นมันมาจากไหน นั่นเป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้เราบินไปผจญภัยค้นหา

• คุณพูดคำว่า “การตกปลาเชิงอนุรักษ์” อยากให้อธิบายหน่อยค่ะว่ามันเป็นอย่างไร

การตกปลาเชิงอนุรักษ์คือกิจกรรมตกปลาที่ส่งเสริมการตกปลาแล้วปล่อย (Catch and Release) เพื่อสร้างกระแสการอนุรักษ์ปลาและแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อให้ปลาท้องถิ่นที่เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มีโอกาสขยายพันธุ์และเติมเต็มระบบนิเวศต่อไป คือต้องแยกก่อนว่า ถ้าผมไปพูดให้ใครฟัง พูดเป็นกลางๆ ก็จะบอกว่าการตกปลาคือกีฬา แต่ถ้าผมมาพูดในเมืองพุทธหรือให้คนไทยฟัง เขาจะไม่มองว่าเป็นกีฬา แม้ว่าการตกปลาจะมีการตราไว้ในพระราชบัญญัติถูกต้องตามกฎหมายไทยแล้วว่าคือกีฬา แต่คนจะไม่ยอมรับกัน เพราะเอาความรู้สึกกับวัฒนธรรมเข้ามาเบียด

ผมคิดว่าเราต้องเป็นกลางก่อนและมองเหตุผลกับความจริงว่าทุกวันนี้ เราทานเนื้อปลาและเนื้อสัตว์เป็นอาหารกันอยู่ กีฬาคือกิจกรรม เป็นสันทนาการ แต่ถ้ามองการตกปลาเป็นเชิงอนุรักษ์ มันเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ กีฬาตกปลายังสามารถเพิ่มความรู้เกี่ยวกับปลาและทักษะในการตกปลาแล้วปล่อย เพราะผู้ตกจะมีความเชี่ยวชาญมากขึ้น

• ในเบื้องต้น ถามว่า สำหรับเมืองไทย มีปลาอะไรที่คุณเห็นควรอย่างยิ่งว่าน่าอนุรักษ์

เล่าให้ฟังนิดหนึ่งก่อนครับว่า มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมจับได้ปลาฉลามหัวบาตร (Bull Shark) ตัวยาวเป็นเมตร ฉลามหัวบาตรเป็นฉลามที่สามารถเข้าน้ำจืดได้เลยจริงๆ ผมตกได้ที่แม่น้ำบางปะกง แถวฉะเชิงเทรา เราก็แปลกใจว่าปลามาติดเบ็ดแบบแปลกๆ พอหงายมาแล้วเป็นฉลามทุกคนตกใจกันหมดเลย เป็นปลาฉลามหัวบาตร ชาวบ้านที่อาศัยหาปลาอยู่ริมน้ำบอกว่าไม่เจอมาสามสิบปีแล้ว แสดงว่ามันมาหากินและเติบโตในแม่น้ำช่วงหน้าหนาว ไม่ได้มาเพาะพันธุ์หรือขยายพันธุ์ ตอนนั้นก็มีนักข่าวมาทำข่าว แต่เขาไม่ได้นำออกอากาศ เพราะคิดว่าเขาอาจจะกลัวเป็นประเด็น เกรงว่าจะมีคนกลัวและตื่นตระหนก อันนี้ผมสันนิษฐานเอานะครับ

จากนั้น มีหน่วยงานและนักวิชาการประมงมาขอข้อมูลและรูปจากผมเพื่อทำหนังสือและต่อยอดงานวิจัย แต่ผมมองว่าทำไมถึงไม่ให้ทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องฉลาม อย่างในบราซิลหรืออเมริกา เขาก็มีปลาฉลามเข้ามา แต่เขาไม่มีการไล่ล่าฉลาม และควรจะเป็นเรื่องน่าดีใจมากกว่าที่เราได้เจอฉลาม เพราะฉลามคือเครื่องบ่งชี้ความอุดมสมบรูณ์ของธรรมชาติ แต่การสื่อสารหรือการให้ความรู้ ควรเป็นหน่วยงานครับที่จะต้องออกมาพูดให้เกิดมีการอนุรักษ์รักษาไว้

เรื่องนี้สำหรับผม เป็นเรื่องที่น่าตีประทับเลยนะครับว่าคือความมหัศจรรย์สุดยอดที่สุดแล้ว และช่วงนี้แหละครับที่ทำให้ผมต้องกลับไปทำความเข้าใจในระบบแม่น้ำว่าฉลามเข้ามาได้อย่างไร ผมจึงได้รู้สาเหตุที่แท้จริงว่ามันเกิดจากความแห้งแล้งมากเกินไป ไม่มีฝนตก ทำให้น้ำเค็มดันขึ้นมา ส่งผลให้ปลาฉลามเข้ามาได้เยอะ

สำหรับบ้านเรา ผมคิดว่าความรู้ขาดไปเยอะ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความเชื่อและความแตกตื่น สื่อส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะขายอะไรที่ง่ายและเร็ว ขายความเชื่อ ขายความเป็นอยู่จริงๆ กับคนหมู่มาก อย่างปลากระเบนที่จับได้ที่นครพนมล่าสุด จะพาดหัวข่าวและเขียนเหมือนกันเลยว่า สามปีสามตัว ชาวบ้านฮือฮา แตกตื่นกระเบนยักษ์ แม่น้ำอุดมสมบูรณ์ จับปลากระเบนได้ตัวขนาดใหญ่เอามาขายได้กิโลละพันกว่าบาท นำมาเลี้ยงชาวบ้านได้ แกงอ่อมสุดยอด อะไรแบบนั้นไป ถามว่าถ้าอุดมสมบูรณ์ ทำไมมีปีละกี่ตัวล่ะ และมันเข้ามาอยู่ตรงได้อย่างไร ไหนข้อมูลครับ ทุกวันนี้ที่ผมพูดอะไรไม่ได้ เพราะว่าไม่มีงานวิจัยเข้าเกี่ยวข้อง และถามว่าเงินวิจัยไปอยู่ตรงไหนหมด ไปอยู่กับปลาทับทิมและปลาเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อคนหมู่มากจะได้ไม่ว่าองค์กรที่รับผิดชอบ เพราะว่าเขาต้องทำเพื่อปากเพื่อท้องของคนหมู่มาก

แต่กับปลานิลนะ ผมคิดว่ามันเป็นสุดยอดของโลกเลยก็ว่าได้ เพราะอยู่หลายที่ในประเทศเขตร้อน คือคนเอามันไปปล่อยเพื่อบริโภคและมันก็สามารถปรับตัวให้อยู่ทุกที่ได้ มันสุดยอดมากๆ แต่มันเป็น Invasive Species ที่ทำลายระบบนิเวศและปลาท้องถิ่น ผมเดินทางไปหลายประเทศในเขตร้อน แม้แต่ในอเมริกากลาง ผมก็ยังเจอปลานิลในแหล่งน้ำลึก หรือเจอในหุบเขาของประเทศเบลีซ (Belize) มันสุดยอดมาก แต่มันน่าเศร้ามากครับ คุณอยากให้ลูกหลานในอีกสิบปีได้เติบโตมาแล้วได้เห็นสิ่งที่ควรจะได้เห็นไหม ทั้งธรรมชาติ แหล่งน้ำ และปลาท้องถิ่น ผมตกปลาเชิงอนุรักษ์ คนก็ไม่ได้จะชอบผมกันนะครับ เพราะวัฒนธรรมความเชื่อ ความหมั่นไส้ แต่ผมไม่หยุดหรอกครับ ผมจะทำแบบนี้ต่อไป แม้จะดูเหมือนว่าผมเอาหัวชนกำแพง แต่ผมก็จะทำต่อไป

• เห็นว่าคุณทัพพ์เคยได้ไปตกปลากระเบน ที่แม่น้ำเจ้าพระยา และเจอสิ่งที่น่าเศร้าใจอีกครั้งหนึ่ง

ใช่ครับ เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางปะกงครับ ตอนนั้นไปตกและถ่ายทำสารคดีด้วย ใช้เวลาถ่ายทำเกือบสองปีเลย เพราะผมต้องไปกลับระหว่างเมืองนอกกับเมืองไทย ผมได้กลับมาเมืองไทยในช่วงหน้าฝนของเมืองไทย ซึ่งพอฝนมา น้ำจืดมา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าหน้าน้ำเน่า น้ำไม่ได้เน่าอย่างเดียว แต่มีขยะมาด้วย เยอะมาก เยอะเป็นตัน เพราะเขาปล่อยน้ำเสียกันออกมาเยอะ และข้างบนของจังหวัดปราจีนบุรี เขาจะมีโรงงานอยู่ ปลาก็เริ่มตาย หน้าฝนมันจะทำให้ตกปลากระเบนไม่ได้ เนื่องจากขยะลอยตามน้ำมาเยอะทำให้มีอุปสรรคมาก นั่นก็คือสาเหตุที่ทำให้ใช้ระยะเวลานานมากในการจับกระเบนตัวใหญ่นี้ขึ้นมา

ในแม่น้ำเจ้าพระยา ผมอยากบอกว่ามีสิ่งมีชีวิตเยอะแยะเลยนะครับ ยกตัวอย่างเช่น ปลาเทพา ปลากระโห้ ไม่ค่อยมีแล้วนะ ส่วนใหญ่สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว เหลือแต่ปลาดุกกับปลาเทศบาล ผมเคยนำเอาปลาตัวหนึ่งไปให้เด็กดู เป็นปลาสวาย ผมถามเด็กๆ ว่าปลาสวายกินอะไร เด็กก็จะตอบว่าปลาสวายกินขนมปัง ซึ่งมันเป็นเรื่องที่แบบว่าน่าอัปยศของสังคมมากเลยครับที่จะต้องบอกว่าปลาธรรมชาติกินขนมปัง หรือปลากินอาหารเม็ด เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจมาก ตรงที่ว่าแม้กระทั่งพ่อกับแม่ก็ไม่รู้ว่าปลาสวายที่จริงแล้วมันกินอะไร การให้อาหารสัตว์คือการทำร้ายสัตว์ เดี๋ยวนี้ แหล่งที่อยู่ธรรมชาติ ปลาไม่อยู่แล้ว แต่กลับไปอยู่ตรงใต้เสาวัดกันหมด

ทุกวันนี้ที่ปลาไทยอยู่ได้ เพราะมีวัดครับ แต่วัดก็ไม่ได้ช่วยสิ่งที่ควรจะอนุรักษ์ไว้ในบางที ผมคิดว่าทุกวันนี้ถ้าไม่มีวัด ก็ไม่มีปลาเหมือนกันครับ ผมไม่ได้อยากจะต่อว่าประเทศไทยเรา แต่ผมคิดว่าอะไรที่มันอยู่ได้ แต่กลับอยู่ไม่ได้ มันน่าเศร้า เราจะเห็นว่าโรงงานที่เมืองนอกตั้งห่างออกมาจากแม่น้ำมาก คุณสร้างบ้านริมแม่น้ำได้ แต่ห้ามติดน้ำ ที่พูดแบบนี้เพราะว่าอยากให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้ใช้ทรัพยากรบ้าง เมื่อคุณเสียชีวิตไปแล้ว แต่ทุกวันนี้เหมือนกินแค่วันนี้ให้หมดไป

• มีคนเคยถามไหมว่ากลัวบาปหรือเปล่ากับการที่เราตกปลา

มีนะครับ แล้วก็มีหลายคนไม่ชอบผมด้วย กลุ่มที่หนึ่งคือสายวัฒนธรรม...เราพยายามไปปรับเปลี่ยนสิ่งที่เขาเป็นและเขายอมรับเหตุผลของเราไม่ได้ กลุ่มที่สองคือคนที่ไม่ตกปลา กลุ่มที่สามคือคนที่รับประทานมังสวิรัติ คนสามกลุ่มนี้จะไม่ชอบครับ แต่ผมชอบตกปลาแล้วปล่อย ผมไม่ได้กลัวบาปเพราะว่าผมไม่ได้เชื่อเรื่องบาปบุญ แต่ผมเชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วมากกว่า ไม่ได้เชื่อว่ามันจะบาปบุญและต้องมาหยุดการกระทำของผม ผมเลือกที่จะทำแล้วผมชอบ ผมคิดว่าผมกำลังทำสิ่งดีๆ ให้คนอื่นได้รู้ คิดว่าสิ่งที่ทำนั้นดีแล้ว ถึงผมจะไม่ใช่นักวิชาการ ไม่ได้เรียนจบชีววิทยามา แต่ผมเป็นนักธรรมชาติวิทยา ผมสามารถพูดได้ว่าสิ่งที่ผมทำคือสิ่งที่ถูกต้อง บางคนอาจจะบอกว่าผมไปจับปลากระเบนมาทำไม และทำไมไม่ปล่อยให้อยู่กับธรรมชาติ และการอนุรักษ์คืออะไร ในเมื่อทุกวันนี้ยังทิ้งขยะลงแม่น้ำกันอยู่เลย

จะว่าไป การตกปลาเชิงอนุรักษ์ มันก็มีวิธีที่ทำให้ปลามีความเจ็บให้น้อยที่สุด คำถามก็คือว่า ถ้าผมไม่ตกปลาขึ้นมา ทุกวันนี้ เราจะรู้ไหมว่ามีปลาบางชนิดมีอยู่จริง คนทั่วไปและหน่วยงานวิชาการก็ได้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับปลาจากผม มีหลายคนที่หาว่าผมอ้างการอนุรักษ์ ผมไม่ได้อ้างการอนุรักษ์ครับ และผมก็ไม่ได้สนุกสนานกับการทรมานมัน แต่จะให้ใครมาเข้าใจผมหมด ก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว บางอย่างมันต้องศึกษาและมองลึกเข้าไปมากกว่านั้น ถ้าใครจะเกลียดผมก็แล้วแต่

อยากให้นึกภาพว่า ตอนที่ผมไปจับปลากับตอนที่งานออกมาเป็นสารคดีจริงๆ เขาตัดคันเบ็ดที่ใช้ตกปลาออกไป แล้วนำเสนอในภาพสวยๆ คุณต้องเข้าใจด้วยว่าบนโลกใบนี้ไม่ได้สวยงามอย่างที่คิดนะครับ แต่ผมก็ได้ดูแลมันอย่างดีที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้ เพื่อจะเอามานำเสนอ สุดท้าย ผมอาจจะทำให้มันเจ็บ แต่สิ่งที่ผมได้ทำมาแล้ว ได้ลงอยู่บนยูทิวป์ จะเป็นแหล่งข้อมูลให้คนรุ่นต่อไปได้เห็น และผมก็คิดว่าผมได้ทำดีแล้ว ใครจะว่าผม ผมก็ยอมรับ ใช่ ผมทำมันเจ็บ แต่บางครั้งต้องเข้าใจให้มากกว่านั้นว่าถ้าผมไม่ทำแบบนี้ ทุกคนก็จะไม่รู้เลยว่ามันมีอยู่จริง

ปกติ ผมก็ทานปลานะครับ และก็ทานบ่อยด้วย (หัวเราะ) เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า เดี๋ยวนี้ ผมก็มีการตกปลาแบบเป็นบุฟเฟ่ต์นะครับ ก็จะมีคนพูดประชดว่าทำไมผมถึงไม่ปล่อย ผมบอกเลยครับว่าผมไม่ปล่อย เพราะปลาที่โดนพันธุกรรมปรับแต่งขึ้นมา ถ้าไปผสมกับปลาธรรมชาติแล้วจะทำให้พันธุกรรมด้อยลง ผมเลยเลือกที่จะไม่ปล่อยปลาที่เขาเลี้ยงไว้ในบ่อ ที่ผมได้ไปตกมาครับ

• รู้มาว่า นอกจากตกปลาเชิงอนุรักษ์แล้ว คุณยังอนุรักษ์สัตว์ชนิดอื่นๆ ด้วย

ใช่ครับ และที่ทำอยู่บ่อยๆ ก็คือช่วยเต่า ผมช่วยเต่าจากที่วัด ใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูประมาณสามเดือน ก่อนจะนำไปปล่อยตามอุทยาน เพราะเดี๋ยวนี้ เต่าจะอยู่ไม่ค่อยได้แล้ว เมื่อก่อน คลองจะมีดินซึ่งเต่าสามารถขึ้นได้ แต่เดี๋ยวนี้เป็นทางเดินริมคลอง จักรยานสามารถปั่นได้ริมคลอง และก็จะมีกำแพงสูงๆ กั้นขึ้นมา ซึ่งเต่าจะไม่สามารถขึ้นมาได้ เพราะว่าเต่าไม่ได้อยู่ในน้ำร้อยเปอร์เซ็นต์ เต่าก็จะหาที่อยู่ใหม่ จะเห็นเต่าเดินข้ามถนนบ้าง และก็จะโดนรถชน จากนั้นก็พาส่งโรงพยาบาล คนส่วนใหญ่จะช่วยเต่าโดยการพาไปวัด เพราะคิดว่าวัดน่าจะปลอดภัยสำหรับเต่ามากที่สุด แต่ที่จริงแล้วคือโรงเชือดดีๆ นี่เอง จากที่ผมได้ไปเห็นมา เต่าตายเป็นจำนวนมากจากในวัด ส่วนมากเต่าที่ตายจะมีกระดองเน่า และเต่าตัวอื่นๆ ก็จะติดเชื้อไปด้วย สุดท้ายก็ตายตามกันไป ผมก็จะไปช่วยเต่าออกมาจากวัด นั่นคือสิ่งที่ผมพอที่จะทำได้ ผมก็จะช่วยจะทำครับ

• ทั้งหมดนี้ที่ทำก็คือควักทุนตัวเองใช่ไหมคะ

ใช่ครับ แทบไม่เหลืออะไรเลยจริงๆ ถามว่าทำไมผมถึงอยู่ได้ บางทีผมก็ไปอยู่กับชาวบ้านในป่า เสี่ยงไหม ก็เสี่ยงมากครับ ผมคิดว่าผมจะต้องทำยังไงให้เขายอมรับ ทุกวันนี้คือคุณไปที่ไหน คุณต้องเข้าตาเมืองหลิ่วแล้วต้องหลิ่วตาตาม เขาทานอะไรกัน คุณต้องทานได้ เขาอยู่อย่างนี้ คุณก็ต้องอยู่อย่างนี้ ผมได้เข้าไปอยู่ในเผ่าของอะเมชอน เราก็ต้องแสดงให้เขารู้ว่าเราสามารถอยู่กับเขาได้ อย่าเอาตัวเราเป็นที่ตั้งและเราก็จะอยู่ได้ เราเพิ่งมามีรายได้จากตอนที่เราทำงาน และพอจบฤดูกาล เราก็จะเอาเงินมาทุ่มเทตรงนี้แล้วก็กลับไป และก็มาใหม่อีก ทำแบบนี้ครับ ผมใช้ทุนของตัวเอง แต่ก็มีทางบ้านช่วยบ้างครับ

• ตอนนี้ได้เรียกว่าตัวเองเป็นนักอนุรักษ์เต็มตัวแล้วหรือยังคะ

ผมเรียกตัวเองว่าเป็นนักธรรมชาติวิทยาเชิงอนุรักษ์มากกว่าครับ ผมไม่ได้โฆษณาว่าผมอนุรักษ์ เพราะอีกด้านหนึ่ง ผมก็ยังตกปลาอยู่ ผมได้สื่อสารให้คนรู้ว่า สิ่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้คืออะไร ฒอยากให้ทุกคนเข้าใจถึงธรรมชาติให้มากขึ้น มีความสุขกับชีวิต กับสิ่งที่เราได้ทำ อย่าไปจดจ่ออยู่กับสิ่งๆ เดียว อย่างที่ผมไปประเทศลาวครั้งล่าสุด ผมไปหาปลาสากน้ำจืด หรือที่ สปป.ลาวเรียกว่าปลากั้ง ซึ่งสูญพันธ์ไปแล้วจากยูนาน ประเทศจีน และยังขึ้นบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (Iucn Redlist) ปลาสากน้ำจืด เป็นปลาที่ซ่อนอยู่ตามชายแดนเวียดนามกับชายแดนลาว (ในลาว) มันแปลกมาก เพราะไม่คิดว่าจะซ่อนอยู่ในแหล่งน้ำแคบๆ ที่มีน้ำไหลแรงๆ แล้วปลาใหญ่ขนาดนี้มันอยู่ได้อย่างไรจนถึงทุกวันนี้

การไปอย่างนั้น มันทำให้ผมได้เข้าใจว่าธรรมชาติมันเปราะบางมาก ผมเข้าใจนะว่าทำไมเขาถึงไม่เปิดเผยข้อมูล เพราะมันเปราะบางมากจริงๆ เขาไม่อยากไปสู้กับโลกภายนอก เลยต้องมีนักตกปลาอย่างผมมาสนองความต้องการของตัวเองด้วยการผจญภัย ผมก็ได้เขียนเป็นหน้ากระดาษเลยว่า ความเสียใจ ความสำเร็จ ความหวังของผม ผมพยายามสร้างโปรแกรมการตกปลาเชิงอนุรักษ์ให้ทางรัฐบาลลาว ให้กับหน่วยงานท้องถิ่นและชาวบ้านที่อยู่ตรงนั้น ให้เขาอนุรักษ์ ถ้าผมไม่ได้เข้าไป ชาวบ้านก็ต้องกินเป็นอาหารหมด เพราะชาวบ้านเขาเห็นเป็นปลาที่มีเนื้อเยอะ ผมเลยมองว่าต้องมีองค์กรอะไรเข้าไปแล้ว และสร้างแนวตกปลาอนุรักษ์ขึ้นมา

ถามว่าทำไมต้องเอาการตกปลาอนุรักษ์มาอ้าง ผมไม่ได้เอาการตกปลาอนุรักษ์มาอ้าง แต่ผมมองว่าเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้มันอยู่ต่อไปได้ ด้วยการใช้กีฬาตกปลาเข้ามาช่วย อย่างที่ประเทศมองโกเลีย แคนาดา อเมริกา และอีกหลายๆ ประเทศ การกีฬาตกปลาเป็นธุรกิจที่ใหญ่มาก เขามีการจัดการตกปลาแข่งขันเชิงอนุรักษ์ขึ้นมา มีเงินหมุนเวียนตลอดเพื่อสนับสนุนกีฬาตกปลาและนำปลาขึ้นมาอนุรักษ์ไว้ต่อไป

• คิดว่าสิ่งที่เราทำทั้งหมดนี้ เกิดประโยชน์ในแง่ไหนอย่างไรบ้าง

ตอบอย่างไม่อายเลยนะครับ ผมทำเพื่อตัวเองนะ และผมเชื่อว่าทุกคนก็ต้องทำเพื่อตัวเองกันทั้งนั้น ดูเหมือนเห็นแก่ตัว เพราะผมมีความสุขที่ได้ทำตรงนี้ ผมมีความสุขที่ผมจะแชร์ประสบการณ์ ผมมีความสุข ผมจึงทำ ผมทำเพื่อความสุขของตัวเอง เพื่อสนองความต้องการของตัวเองเป็นอย่างแรก และพอตอบสนองตัวเองแล้วเราก็ทำเพื่อแบ่งปันให้คนอื่นได้รับรู้ไปพร้อมๆ กัน เพราะความสุขอีกอย่างหนึ่งของผมคือได้แบ่งปันประโยชน์ให้ทุกคน

ที่ผมอยากทำ เพราะคิดว่าถ้าผมเสียชีวิตไป สิ่งที่ผมได้ทำ ก็ยังอยู่ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก งานเขียนที่ผมได้เขียนไปในหนังสือตกปลาหรือในเฟซบุ๊ก มันก็คือข้อมูลและหลักฐาน ... มีหลายคนเข้ามาขอบคุณในสิ่งที่ผมทำเยอะมากครับ จนบางที อดคิดไม่ได้ว่าเราเป็นตัวประหลาดหรือเปล่า (ยิ้ม) มีเด็กคนหนึ่งอายุ 16 อยู่อเมริกา บอกกับผมว่า “พี่ครับ ผมมีพี่เป็นไอดอลครับ ผมชอบพี่มากเลยครับ พี่มีจุดเริ่มต้นจากไหน ผมอยากจะเป็นเหมือนพี่ครับ แต่ที่บ้านไม่เข้าใจว่าทำไมต้องไปตกปลา และทำไมต้องไปตกปลาเชิงอนุรักษ์ด้วย อยากเป็นนักวิจัยเหรอ อะไรประมาณนี้

แต่ก่อน คุณพ่อผมบอกว่าให้เลิกปั้นและสร้างแบรนด์ได้แล้วนะ มันได้ไม่รวยอย่างที่คิด และก็เลิกตกปลาได้แล้วนะ ให้ผมไปทำอย่างอื่น คำเหล่านี้ ผมได้ยินมาทั้งชีวิต ผมก็บอกน้องเขาไปว่าถ้าเราแน่จริง เราก็ต้องพิสูจน์ให้เขาเห็น ให้คนยอมรับเรา แต่ถ้าไม่แน่จริงก็ไปหาอะไรใหม่ๆ ทำ ผมบอกได้เลยว่าเส้นทางสายนี้มันไม่ได้ง่าย เรื่องที่เด็กเห็นผมเป็นไอดอลอะไรอย่างนี้ ผมไม่ค่อยแนะนำให้มาทำอย่างผมครับ ถ้าไม่ได้ไปอยู่และเจอประสบการณ์แบบผมมา

ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ตอนอายุยี่สิบกว่าๆ ผมก็ไม่ได้คิดว่าผมจะได้ทำประโยชน์หรือทำอะไร คิดแค่ว่าผมสอนให้ตัวเองได้รู้จักการผจญภัย ผมมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้พิเศษอะไร และไม่ได้คิดว่าจะต้องมาดัง มีคนเข้ามาชม ส่วนตัวผมชอบความท้าทาย ผมต้องไปให้สุดและไปให้ถึง ทุกอย่างคือเส้นทาง ความตื่นเต้น ความท้าทาย ประสบการณ์ทั้งหมดได้ทำให้ผมก้าวมาจนมาถึงทุกวันนี้ ทำให้ผมรู้ว่าอะไรคืออะไร โดยพื้นฐานที่ว่าผมเป็นไกด์ผจญภัย ผมอยากแชร์ทุกอย่างที่ผมได้เจอมาจากประสบการณ์ที่ดีๆ ผมก็เลยอยากจะทำอีก ไม่ได้อยากให้เขาชมนะ แต่อยากให้เขารู้ว่าผมดีใจและมีความสุขแค่นั้นเองครับ (ยิ้ม)

• ถ้าเป็นไปได้ อยากให้คนไทยหันมาอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างไรบ้างคะ

ผมจะบอกว่าการอนุรักษ์ธรรมชาติ ทุกคนสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน ทุกคนทำได้หมด อยากให้เริ่มอนุรักษ์ในวันนี้เลยครับ เริ่มจากการพัฒนาไปด้วยและแก้ไขไปด้วยพร้อมกัน ปลูกฝังกันตั้งแต่วันนี้ กับสังคมที่เราเป็น อยากให้คนไทยเข้าใจธรรมชาติให้มากขึ้นว่าทุกอย่างขึ้นอยู่ที่คุณ อยากให้คุณบอกลูกหลาน คนที่คุณรัก คุณต้องพาเขาไปสัมผัสอย่างถูกต้องและให้เข้าใจธรรมชาติว่าเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร อย่าให้เขาเข้าใจแบบผิดๆ ยกตัวอย่างเช่น เด็กๆ จะจำว่าปลาสวายกินขนมปัง อย่าให้เขาเข้าใจอย่างนั้นครับ เพราะปลาสวายตามธรรมชาติจริงๆ นั้นไม่ได้กินขนมปัง หรือไปเที่ยวธรรมชาติ คุณอย่าไปนอนห้องแอร์ ลองนอนเต๊นท์ดู แล้วคุณจะรู้ว่าธรรมชาติมันเป็นอย่างไร ให้ได้สัมผัสและรับรู้จริงๆ ซึมซับเข้าไป มันจะสร้างออกมาใต้จิตสำนึกของเราเองครับ (ยิ้ม)

และสุดท้าย ผมอยากจะบอกกับนักตกปลาทุกคนว่าทุกคนสามารถตกปลาเชิงอนุรักษ์ได้ คนประมงก็มีความประมงอย่างพอเพียงได้ คุณเริ่ม ผมเริ่ม ทุกคนเริ่ม คนที่เป็นนักวิชาการเขาไม่ได้ไปที่ตรงนั้น แต่เป็นนักตกปลาที่ได้ไปที่ตรงนั้นจริงๆ เพราะนักวิชาการไม่ได้เข้าไปหาปลาบ่อยๆ แบบนักตกปลา ผมเลยบอกว่ามันมีจุดเปลี่ยนที่นักตกปลาจะเริ่มทำได้ สามารถสร้างกระแสอนุรักษ์ ช่วยสอดส่องดูแลและหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กับทางการ แต่ถามว่าคุณจะทำหรือเปล่า บางคนอาจจะพูดว่าปล่อยปลาไป เดี๋ยวคนอื่นก็เอาอวนมาดักอีกอยู่ดี คุณก็คิดได้แค่นั้น คิดแต่ตรงนี้


ปลากระเบน ที่แม่น้ำเจ้าพระยา ประเทศไทย
ปลากระเบน ที่แม่น้ำเจ้าพระยา ประเทศไทย
ปลาสเตอร์เจียน ประเทศแคนาดา
ปลาฉลาม แม่น้ำบางประกง ประเทศไทย
ถ่ายทำสารคดี ประเทศแคนาดา
เรื่อง : วรัญญา งามขำ, สุนิสา ศรีสุข
ภาพ : พลภัทร วรรณดี และwww.facebook.com/mahseer.tackle , www.facebook.com/TupAdventura

กำลังโหลดความคิดเห็น