xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยประมงแปดริ้วเตรียมรับมือ หลังพบกระเบนใหญ่ 3 เมตร ลอยตายที่อ่าวบางปะกง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา - ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งแปดริ้ว เตรียมพร้อมรับมือ หลังพบกระเบนใหญ่ถึงเกือบ 3 เมตร ลอยอืดใกล้บริเวณปากอ่าวของลุ่มแม่น้ำบางปะกง เผยสภาวะบ่งชี้จากกระเบนลอยตายเกิดขึ้นจากแหล่งน้ำในลุ่มน้ำมีปัญหาขาดออกซิเจนก่อนไหลลงสู่ท้องทะเล ทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเตรียมพร้อม และเฝ้าระวังใกล้ชิด

วันนี้ (27 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่เลขที่ 36/2 ม.8 ต.ท่าสะอ้าน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ได้มีการแชร์ภาพกระเบนยักษ์ หรือปลากระเบนเจ้าพระยา ขนาดใหญ่เกือบ 3 เมตร ลอยเข้ามาเกยตื้นตายที่บริเวณชายฝั่งแถบปากอ่าวของลุ่มน้ำบางปะกง เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาผ่านทางโลกโซเชียล

โดยได้พบว่า ภายในศูนย์วิจัยฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมในการรอรับมือต่อปัญหาสัตว์น้ำที่จะลอยเข้ามาเกยตื้นตายในพื้นที่บริเวณตามแนวชายฝั่งของลุ่มน้ำบางปะกงไว้แล้ว หลังจากได้มีชาวบ้านพบกระเบนยักษ์ ขนาดลำตัวกว้างถึง 2.94 เมตร ลอยขึ้นมาเกยตื้นตายที่บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลในแถบ ต.อ่างศิลา อ.เมือง จ.ชลบุรี ก่อนที่ชาวบ้านจะแจ้งให้ทางเจ้าหน้าที่ทราบในเวลา 08.00 น. และเข้าไปทำการช่วยเหลือใช้รถเครนยก แต่สุดท้ายกระเบนดังกล่าวไม่สามารถที่จะมีชีวิตอยู่รอดต่อไปได้ และตายลงในที่สุดนั้น

นายกฤษณ์ธนสรรค์ อินทร์บำรุง นักวิชาการประมงปฏิบัติการ ประจำศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งฉะเชิงเทรา กล่าวว่า หลังมีการพบกระเบนขนาดใหญ่ หรือปลากระเบนเจ้าพระยาลอยเข้ามาเกยตื้นตายในพื้นที่ของลุ่มน้ำปากอ่าวบางปะกง ทางผู้บังคับบัญชาได้มีการสั่งให้ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งฉะเชิงเทรา มีการเตรียมความพร้อมไว้ในการรับมือ ทั้งอุปกรณ์ และรถยนต์ในการขนย้าย ทั้งการจัดเตรียมสถานที่ให้พร้อมไว้สำหรับพักฟื้นสัตว์น้ำที่อาจมีลอยเข้ามาเกยตื้นตายในแถบบริเวณชายฝั่งของลุ่มน้ำบางปะกงอีก

เนื่องจากที่ผ่านมา มีการตรวจพบว่า คุณภาพของน้ำที่ไหลผ่านแม่น้ำบางปะกง ก่อนออกลงสู่ทะเลได้มีการไหลผ่านพื้นที่ต่างๆ มาอย่างมากมาย ทั้งภาคอุตสาหกรรม ทั้งนาข้าว ที่อาจมีการใช้สารเคมีเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดสภาวะน้ำเสีย หรือน้ำขาดออกซิเจนไหลลงไปปนกับน้ำทะเลที่บริเวณชายฝั่งปากอ่าวของแม่น้ำบางปะกง และเมื่อถึงช่วงภาวะน้ำขึ้นน้ำเสียเหล่านี้ก็จะตีกลับเข้ามาสู่ฝั่งอีกครั้ง จึงอาจจะส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ใกล้กับบริเวณแนวชายฝั่งได้

สำหรับการเตรียมความพร้อมในวันนี้ ได้มีการเตรียมบ่อสำหรับพักฟื้นสัตว์น้ำเอาไว้แล้ว จำนวน 1 บ่อ และเตรียมบ่อสำรองไว้เพิ่มเติมอีก 2 บ่อ โดยได้มีการปรับสภาพน้ำให้เป็นน้ำกร่อย หรือมีค่าความเค็มประมาณ 5-7 ต่อหนึ่งพันส่วน พร้อมด้วยระบบเติมอากาศลงไปในน้ำ เพื่อใช้เป็นสถานที่พักฟื้น เลี้ยงสัตว์น้ำที่อ่อนเพลียมาจากภาวะน้ำเสียที่เกิดขึ้นดังกล่าว จนกว่าจะแข็งแรงดีแล้ว จึงจะนำกลับไปปล่อยคืนสู่ท้องทะเลตามธรรมชาติที่บริเวณชายฝั่งต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น