ลุงตู่จัดไป!! นโยบายเร่งด่วน กรณี “กระเบนราหู” กว่า 50 ตัว ตายเกลื่อนแม่กลอง ประกาศชัด “ถ้ารัฐบาลนี้ไม่ทำ แล้วมันจะเกิดอะไรที่ดีขึ้นกว่าในอดีต!!” ส่งให้ความหวัง “คนรักแม่กลอง” มีแสงริบหรี่ที่ปลายอุโมงค์ หลังพบความสูญเสียครั้งใหญ่ เมื่อ “แหล่งปลากระเบนที่ใหญ่ที่สุดในโลก” เกลื่อนไปด้วยวิญญาณ...
สั่งให้ไปดูทั้งหมดแล้ว ทั้งเรื่องปลาลอยตายในกระชัง การทำการประมง การตรวจสอบดูแลของเจ้าหน้าที่ “นี่คือระบบที่มีปัญหาเรื่องมาตรฐาน การตรวจสอบ การรักษาคุณภาพที่มีมาตลอด เพราะทุกคนมุ่งหวังแต่เพียงว่าให้มีเงินให้มากที่สุด ถ้ารัฐบาลนี้ทำแบบนั้น ก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากที่ผ่านมา แล้วมันจะเกิดอะไรที่ดีขึ้นกว่าในอดีต!!"
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศชัดหลังปรากฏการณ์ “ปลากระเบนยักษ์” ลอยตายเกลื่อนแม่น้ำแม่กลอง จนกลายเป็นประเด็นร้อนที่สุดอยู่ในขณะนี้ ระบุชัด ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ “โรงงาน” ที่ต้องสงสัยอย่างจริงจัง ว่าเป็นแหล่งปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองแฉลบ ซึ่งเชื่อมกับแม่น้ำหลายใหญ่ อย่างที่ปรากฏในคลิปร้องเรียนหรือไม่
[คลิปการปล่อยน้ำเสียวันสุดท้ายของเดือน ก.ย. ซึ่งคาดกันว่าน่าจะเป็นสาเหตุของปรากฏการณ์อันน่าเศร้าในครั้งนี้]
ด้าน “เครือข่ายอนุรักษ์” กลุ่มคนรักแม่กลอง จากทั้งหมด 16 ภาคี ต่างยิ้มรับด้วยความยินดี เพราะยังไม่ทันที่จะยื่นรายชื่อเพื่อร้องเรียนต่อสำนักนายกรัฐมนตรี ก็มีความคืบหน้าจากภาครัฐออกมาเสียก่อน
ส่วนความคืบหน้าความสูญเสียด้านทรัพยากรสัตว์น้ำครั้งใหญ่ครั้งนี้นั้น หมอหนิ่ง หรือ รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยให้รายละเอียดกับทีมข่าวผู้จัดการ Live ว่า อัตราการตายของสัตว์น้ำในจุดเกิดเหตุ หยุดขยายตัวเรียบร้อยแล้ว
[แม่กระเบน 1 ใน 2 ตัว ที่เหลือรอดมาได้จากวิกฤตทางน้ำครั้งใหญ่ในครั้งนี้ เพราะหมอหนิ่งและทีมสัตวแพทย์ ช่วยไว้ได้ทัน]
ที่เหลือก็แค่ “รอผลการตรวจน้ำเสีย” เพื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกับสภาพการพิการและล้มตายของทั้งสัตว์เล็กและใหญ่ หลังสูญเสีย “ปลากระเบนราหู” สัตว์คุ้มครองไปถึง 54 ตัว บาดเจ็บและกำลังอยู่ในการดูแลอีก 2 ตัว นอกนั้นที่มีร่างอยู่ใต้น้ำ ยังไม่ทราบชะตากรรม เพราะปกติแล้ว กระเบนราหูจะอยู่ใต้น้ำ ถ้าตายก็จะจมอยู่ด้านล่าง อาจถูกโคลนกลบ หรือจะกลายเป็นซากให้ปลาเล็กปลาน้อยมากินไป
ภายใต้เงื่อนเวลาที่บีบคั้น ถึงแม้จะทำเต็มที่สุดความสามารถแล้วก็ตาม แต่สัตว์แพทย์หญิงระดับแถวหน้าของเมืองไทยรายนี้ ซึ่งปฏิบัติงานพร้อมทีมสัตวแพทย์หัวใจอาสา หอบทั้งยาและอุปกรณ์การแพทย์ไปช่วยเพื่อนร่วมโลกด้วยตนเองโดยไม่มีทุนจากใครช่วยเหลือ ก็ยังอดตัดพ้อผ่านเฟซบุ๊ก “Nantarika Chansue” ไม่ได้ว่า “เราละอายใจเหลือเกิน...ที่ทำได้แค่นี้” ก่อนช่วยบอกเล่าความในใจ ขยายความเพิ่มเติมให้แก่ทีมข่าวได้รับรู้ความเคลื่อนไหวล่าสุด
“ปกติแล้ว หลังสัตว์ตายวันเดียว ควรจะเห็นผลการตรวจสอบหลายๆ อย่างแล้วว่า แหล่งน้ำเสียมาจากไหน จะได้หยุดการปนเปื้อนได้ทัน แต่ในขณะที่ลงพื้นที่ เราเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลอยู่แล้ว ก็เลยไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายตรงนั้น เลยดูแลเฉพาะด้านการเป็นสัตวแพทย์ ต้องเร่งช่วยชีวิตสัตว์น้ำไว้ก่อน
คิดว่าตัวเองประมาทไปนิดหนึ่งค่ะ ถ้าทำได้อีกครั้ง เราจะเก็บตัวอย่างน้ำส่งตรวจเอกชนด้วย ก็เสียดายที่ไม่ได้ทำตรงนั้น ถึงตอนนี้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็เข้ามาตรวจสอบตรงนี้กันแล้ว แต่มันก็ช้าไปมากแล้ว ช้าจนไม่แน่ใจว่าลงไปตรวจตอนนี้จะเจออะไรอีกหรือเปล่า
เพราะถ้าเป็นโลหะหนักที่ปนเปื้อนมากับน้ำ จะตรวจช้าหน่อยก็ยังจะเจอสาเหตุอยู่ แต่ถ้าเกิดจากโลหะหนัก มันจะไม่ให้ผลเฉียบพลันเหมือนกรณีนี้ จึงต้องเร่งตรวจให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงจะให้ค่าที่ใกล้เคียงที่สุด การสอบสวนคดีแบบนี้ ต้องดูเรื่องพยานแวดล้อมด้วย สุดท้าย ก็คงต้องให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในส่วนนี้ ช่วยกันเข้ามาตรวจสอบค่ะ
สังเกตได้ว่า จากเหตุการณ์นี้ ปลานิลไม่เป็นอะไรเลย แต่ปลากระเบนตายเยอะมาก หมายความว่าสารพิษชนิดนี้ เป็นพิษต่อปลาบางชนิดเท่านั้นค่ะ เช่น ปลาที่ไม่มีเกล็ด แล้วก็ปลากะพง ซึ่งปลากะพง ก็ยังรับพิษน้อยกว่าปลาที่ไม่มีเกล็ดอยู่ดี ทำให้เหลือรอดมากกว่า แต่ก็พิการไปเยอะเหมือนกัน เพราะปลาแต่ละชนิดจะไวต่อพิษไม่เท่ากัน
ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้เราไม่ควรจะไปปรักปรำใคร แต่บังเอิญมีชาวบ้านถ่ายคลิปเอาไว้ได้เยอะมาก เลยทำให้คนสงสัยกัน แต่ถ้าให้ยุติธรรม ต้องสำรวจใหม่ ส่วนเรื่องโทษทางกฎหมาย ถ้าจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องไม่กำหนดโทษเฉพาะแค่เจ้าของโรงงาน แต่ต้องกำหนดบทลงโทษสำหรับเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปดูแลด้วย ถ้าทำหน้าที่ไม่ครบถ้วน ต้องมีมาตรการควบคุมที่ชัดเจน และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ 'จิตสำนึกของคน' ค่ะ
เราเป็นแค่คนที่รักแม่กลองคนหนึ่ง และอยู่ดูแลเขามานาน แค่ไม่อยากให้เขาตายเพิ่มจนหมดแม่น้ำ ก็เลยอาสาเข้าไปช่วย ไม่ได้มีหน้าที่ ไม่ได้มีเงินทุนสนับสนุนใดๆ ยาที่ให้ก็ได้มาจากสัตวแพทย์ช่วยกันให้มา ยังไม่มีกองทุนอะไรเฉพาะ แต่ถ้าใครอยากช่วยเหลือก็สามารถเข้าไปได้ที่ “ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ” (www.facebook.com/VMARC.CHULA)
ตอนนี้ที่อยากให้ช่วยก็คือ เรื่องการจัดหาวิตามิน หาสารเสริมที่ช่วยให้สัตว์น้ำที่ยังเหลือรอดมีชีวิตอยู่ได้แข็งแรงขึ้น วางไว้ว่าภายในวันอาทิตย์นี้ (16 ต.ค.59) จะเอาไปมอบให้ชาวบ้านที่เลี้ยงปลาในกระชัง อย่างน้อยๆ ช่วยพยาบาลเขาให้พ้นจาก 2 อาทิตย์นี้ไป ก็น่าจะวางใจได้บ้างค่ะ แต่สภาพตอนนี้ก็ยังถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤตอยู่
[แฟนเพจอย่างเป็นทางการของ “ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ” สามารถส่งความช่วยเหลือร่วมสมทบแรงใจอาสาได้]
[อีกหนึ่งช่องทาง สำหรับสนับสนุนโครงการ "โรงพยาบาลสัตว์น้ำเคลื่อนที่"]
จริงๆ แล้ว ปัญหามลพิษทางน้ำเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน เพียงแต่ครั้งนี้มีสัตว์ตายเยอะมาก แถมยังเป็นสัตว์ที่สำคัญที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง ถือได้ว่าที่เมืองไทยเป็น 'แหล่งกระเบนราหูที่ใหญ่ที่สุดในโลก' คนเขายังเสียดายกันทั้งโลกเลยจากรณีนี้
ได้แต่หวังว่าบทเรียนครั้งนี้จะทำให้หลายๆ องค์กรเข้ามาประสานมือกันทำงาน และทำให้เกิดการปฏิวัติอย่างที่ท่านนายกฯ ต้องการ จะได้เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ไม่ใช่แค่เฉพาะลุ่มน้ำแม่กลองเท่านั้น แต่ทำให้เป็นโมเดลตัวอย่างที่นำไปใช้ในทุกลุ่มน้ำด้วย”
[ความโศกสลด ถูกหยิบมาเตือนใจไว้เป็นลายเสื้อ ผลงานจากเครือข่ายอนุรักษ์]
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก "Nantarika Chansue" และ กลุ่ม "สมุทรสงครามจัดการตนเอง"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ซับน้ำตาแม่กลอง... ประชาชนลุกสู้!! อุทิศ “สุสานปลากระเบน”
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754