xs
xsm
sm
md
lg

บทพัง ตรรกะพินาศ! หญิงร่าน = ข่มขืน ละครไทยในยุคเดนมนุษย์!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กลายเป็นประเด็นร้อนจนได้ แม้ละคร “เพื่อนรักเพื่อนร้าย” จะลาจอลงไปแล้ว แต่งานนี้ดรามากลับระอุเพิ่มขึ้นทวีคูณ เมื่อ กสทช. ชง กสท.ลงทัณฑ์รายการ Club Friday ทางช่อง GMM 25 กรณีเผยแพร่ฉากรุนแรงทั้งกายและใจ แถมยังนำมารีรันฉายซ้ำ โดยจัดประเภท “ท” แต่บางฉากกลับไม่เหมาะสมต่อเด็ก ท่ามกลางกระแสรณรงค์แก้กฎหมายเพิ่มโทษ ข่มขืน = ประหาร เพราะคดีฆ่าข่มขืนอย่างเหี้ยมโหดเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน แต่ละครเรื่องนี้กลับยัดเยียดฉากเหล่านี้อย่างสะใจ หลายคนตั้งคำถาม ก่อนแก้ กม.เราควรคลายปมค่านิยม”ข่มขืน” วัฒนธรรมการ “ขืนใจ” ที่แฝงอยู่ในละครน้ำเน่าก่อนหรือเปล่า!?

สาดฉากความรุนแรง...ข่มขืนคาจอ!

"ละครเรื่องนี้ไม่เหมาะกับคนโลกสวย" เป็นประโยคโฆษณาที่เน้นย้ำของละครเรื่องนี้ ที่กลายมาเป็นซีรีส์ที่มีคนติดตามดูกันอย่างงอมแงมทั้งบ้านทั้งเมืองกับละคร "เพื่อนรักเพื่อนร้าย" เพราะมีฉากรุนแรงตบตีลอบกัดกันแทบทั้งเรื่อง หนำซ้ำยังมีฉากจิกหัวเอาหน้าต้วร้าย(เชอรี่) รับบทโดย สายป่าน-อภิญญา สกุลเจริญสุข แนบท่อรถจักรยานยนต์จนเสียโฉม แถมตอนจบยังมีการปล่อยทีเซอร์ โปรยหัวเรื่อง “เชื่อว่าหลายคนจะต้องสะใจสุดๆกับจุดจบของเชอรี่ โดนจัดหนัก พีคสุดๆ” นอกจากนี้ ทางช่องต้นสังกัด เพจ GMM25Thailand ยังได้โพสต์ข้อความพร้อมคลิปตอนจบสั้นๆ และแฮชแท็กสุดอึ้ง! “จุดจบของคนที่คิดร้ายกับคนอื่น #เวรกรรมมีจริง #เตือนสติ #ดูละครแล้วย้อนดูตัวเราจะได้ไม่โง่เขลาเบาปัญญา”

จุดจบที่ว่า...คือเชอรี่โดนข่มขืนยับ! พร้อมกับตัวละครที่เกาเหลากันยืนดูและถ่ายคลิปด้วยอารมณ์สะใจสุดๆ ทว่า เรื่องนี้ กสทช.ไม่ได้นิ่งนอนใจ เตรียมเสนอบทลงโทษให้หลาบจำ! และเพื่อเป็นบรรทัดฐานให้กับละครเรื่องอื่น

กรณีนี้ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งที่ 23/2559 วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม นี้ มีวาระการประชุมน่าจับตา ได้แก่ กรณีการออกอากาศละคร Club Friday To Be Continued ตอน เพื่อนรักเพื่อนร้าย ทางช่องรายการ GMM 25 มีเนื้อหาไม่เหมาะสม

ละครเรื่องนี้เริ่มออกอากาศ และจบไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ออกอากาศทุกวันจันทร์ - อังคาร เวลาประมาณ 20.00 - 21.15 น. และมีการนำมาออนแอร์ซ้ำ (Rerun) ในเวลาอื่น ๆ ซึ่งบางฉากของเรื่องนี้ได้มีประชาชนรณรงค์ เนื่องจาก มีฉากที่แสดงถึงความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจ นำเสนอภาพลักษณ์ที่ขัดต่อศีลธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการเสนอฉากข่มขืน ซึ่งช่วงที่ผ่านมา ประชาชนได้มีการพยายามรณรงค์เรื่องการข่มขืนในสื่อและลดการใช้ความรุนแรง ละครเรื่องนี้ได้มีการจัดประเภทรายการเป็น 'ท' ที่สามารถรับชมได้ทุกวัยอีกด้วย

คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหาได้เสนอให้ กสท. พิจารณาโทษทางปกครองในฉากที่มีการข่มขืนล่วงละเมิดทางเพศต่อสตรี และฉากที่นำใบหน้าของผู้หญิงไปแนบท่อรถจักรยานยนต์จนทำให้หน้าเสียโฉม อันอาจเข้าข่ายการกระทำผิดตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 รวมทั้ง เห็นว่า บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด ในฐานะผู้รับใบอนุญาตช่องดิจิตอลทีวี ช่อง GMM 25 ปรับเปลี่ยนการจัดระดับความเหมาะสมของละครจาก 'ท' (รายการที่เหมาะสำหรับผู้ชมทุกวัย) เป็นระดับ 'น18+' (รายการที่เหมาะกับผู้ชมที่มีอายุ 18 ปี ผู้ชมที่อายุน้อยกว่า 18 ปีควรได้รับคำแนะนำ) และหากจะนำละครมารีรันซ้ำให้ตัดฉากที่ไม่เหมาะสมออกด้วย

คนดูไม่ฟิน ผิดหวัง หดหู่!



ทว่า ผลลัพธ์คือคนดูถึงกับทนไม่ไหวและผิดหวังกับฉากข่มขืนตอนอวสานของละครเรื่องนี้ เพราะหลายคนคาดหวังจะได้เห็นตอนจบที่ให้ข้อคิดเตือนใจอย่างมีชั้นเชิง และหลายคอมเมนต์ไม่เห็นด้วยกับการข่มขืนในฉากละครทุกกรณี

“เพิ่งดูจบผิดหวังกับละครเรื่องนี้มาซักพัก ตั้งแต่ขึ้นว่า เป็นละครทั่วไปสามารถรับชมได้ทุกวัย ไม่ใช่ละ ดูไปดูมาทำไมตัวร้ายต้องจบแบบนี้หรอ แล้วอย่างแมน นัท พี่เอ เอาจริงๆทั้งสามคนก็เคยได้และเกือบได้ตัวร้ายอย่างเชอรี่มาแล้วทั้งนั้น ทำไมถึงเป็นเชอรี่ที่ถูกประณามและถูกลดทอนความเป็นคนได้ขนาดนี้ ทางผู้จัดอยากจะสื่อว่า "เป็นผู้หญิงอย่าร่าน" แค่นี้รึเปล่า สาระจริงๆมีแค่นี้ใช่มั้ย นอกนั้นตัดทิ้งเพื่อความมัน”

เช่นเดียวกับผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อว่า Wannakarn Opassatien เธอโพสต์ข้อความวิจารณ์ความไม่เหมาะสมของฉาก “ข่มขืน” ในซีรีส์เรื่องนี้ ว่าการข่มขืนไม่ใช่เครื่องมือในการลงโทษใครทั้งสิ้น

“หยุดนำเสนอตัวร้ายในละครที่โดนลงโทษโดยการถูกข่มขืนเพื่อความสะใจของคนดูเถอะ (วิจารณ์ในส่วนเนื้อหา ไม่พูดถึงการแสดงหรือนักแสดง)

เมื่อวานนี้ทางช่อง GMM25 ได้โพสต์คลิปตอนจบสั้น ๆ ของเพื่อนรักเพื่อนร้ายในเพจพร้อมเขียนแฮชแท็กว่า“จุดจบของคนที่คิดร้ายกับคนอื่น เวรกรรมมีจริง เตือนสติ” ทางช่องเขียนเหมือนชี้นำคนดูว่าการที่เชอรี่(ตัวละครที่ถูกข่มขืนในภาพ)เคยกลั่นแกล้งการ์ตูนและพิ้งค์(แย่งแฟน ทำให้ถูกไล่ออกจากงาน และอื่น ๆ) จึงสมควรแล้วที่เชอรี่จะถูกข่มขืนโดยพิ้งค์ได้จ้างวานให้ผู้ชายมาข่มขืนเชอรี่ถึงคอนโดของเชอรี่เอง

การถูกข่มขืนเป็นการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นคนของคนอื่นเป็นการทำร้ายทั้งทางกายและใจ มันไม่ใช่เครื่องมือในการลงโทษใคร แต่ในคลิปนี้พิ้งค์ยืนดูเชอรี่ถูกข่มขืนพร้อมกับเพื่อนอีกสองคนที่ยืนอัดคลิปท่ามกลางเสียงกรีดร้องของเชอรี่

ที่ร้ายที่สุดคือ sexual double standardคือพิ้งค์ไม่ได้สำนึก ไม่สำนึกเลยที่จ้างผู้ชายไปข่มขืนเชอรี่แต่กลับไปบอกเจ้านาย(ซึ่งเป็นชู้กันกับพิ้งค์และเป็นคนที่เชอรี่นอนด้วย)ว่าขอกลับไปทำงานด้วยได้ไหมคะแล้วผู้ชายพูดว่าคุณมันเลวมาก ถ้ายังไม่ไปผมจะแจ้งตำรวจคือผู้ชายไม่แม้แต่กระทั่งโดนด่าผู้หญิงก็อวยผู้ชายจนโทษแต่ผู้หญิงด้วยกัน

ทำไมเรายังต้องเห็นละครที่มีการนำเสนอการข่มขืนเป็นเครื่องมือในการทำร้ายคนอื่น? ทางช่องแฮชแท็กจบคำบรรยายคลิปว่า”ดูละครแล้วย้อนมองตัวเองจะได้ไม่โง่เขลาเบาปัญญา”

ย้อนมองตัวเองคืออะไร? คือถ้ามีคนกลั่นแกล้งแย่งแฟนทำชีวิตคนอื่นพังแล้วถูกข่มขืนเป็นบทลงโทษจึงจะหายกันอย่างนี้หรือคือสิ่งที่ต้องการสื่อให้คนดูได้รับชม?”

ทว่า ยังมีชาวโซเชียลฯ อีกหลายคนที่ไม่โอเค กับฉากข่มขืนนี้ ไม่ได้รู้สึกสะใจอย่างที่ผู้เขียนบทยัดเยียดให้แต่อย่างใด หากแต่ดูแล้วหดหู่ใจ ที่คนเขียนบทใน พ.ศ.นี้ มีตรรกะที่ป่วยเอามาก

“ต่อไปทะเลาะกับใคร ก็พาผู้ชายไปข่มขืนถ่ายคลิป เพราะละครเขาแนะนำแล้ว ว่า "ท" ทำได้ เพราะถูกปลูกฝังไว้ตั้งแต่เด็ก

บทกะเทยควาย N'JOY มีหรือ เพิ่งจะได้บรรจุเป็นพนักงานประจำ ลุกขึ้นมาหือกับ CEO กลางห้องประชุม ในขณะที่คนเก่าๆยังหงอกันอยู่เลย”

“คือเราดูมาตั้งแต่ต้นจนจบ เราคาดหวังจะได้เห็นตอนจบที่ให้ข้อคิดอะไรเตือนใจอย่างมีชั้นเชิง แต่ที่เราเห็นคือการผลิตซ้ำของละครหลังข่าวแบบสมบูรณ์แบบในเรื่องเดียวเลย บอกตรงๆว่าที่เห็นแต่ละคนร้าย ลอบกัด จิก ตบ กันมาทั้งเรื่อง ว่าแย่มากแล้ว ยังไม่แย่เท่าฉากข่มขืน คือดูจบแล้วเราไม่รู้เราได้อะไรจากเรื่องเรื่องนี้ ยกเว้นความรู้สึกเฟลกับบทอย่างจริงจัง”

เป็นไปได้ไหม...ว่าผู้เกี่ยวข้องในซีรีส์นี้ต้องการใช้กลยุทธ์สร้างความสะใจในฉากนี้นี้ในการช่วงชิงเรตติ้งมาครอง โดยไม่ได้คำนึงถึงอะไรทั้งสิ้น!

สื่อละคร ชี้นำสังคม

อย่างไรก็ดี ถ้าเปรียบเทียบค่านิยม “การข่มขืน” ในละครของไทยกับญี่ปุ่น จะพบว่ามีความแตกต่าง เช่นเดียวกับคดีข่มขืน จะพบว่า ญี่ปุ่นจัดว่าเป็นประเทศที่มีคดีข่มขืนน้อย ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งการปลูกจิตสำนึก มาตรการความปลอดภัยทำให้ผู้หญิงญี่ปุ่นค่อนข้างปลอดภัยจากเรื่องพวกนี้ ทว่า อีกหนึ่งสิ่งที่มีส่วนช่วยควบคุมเหตุพวกนี้ก็คือ “ละคร” บทความของ ChaMaNow ในเว็บไซต์ marumura.com เขียนไว้ได้อย่างน่าสนใจถึงค่านิยม “การข่มขืน” ที่เขาปลูกฝังและใส่ไว้ในละครได้อย่างแยบยล

“ฉากปลุกปล้ำในละครญี่ปุ่นเขาจะสื่อออกมาว่า เป็นอะไรที่น่ากลัวมาก ถ้าได้ดูแล้วจะรู้ได้ถึงพิษภัย ความโหดร้ายเลยก็ว่าได้ มาดูกันว่า ฉากปลุกปล้ำในละครญี่ปุ่นจะมีลักษณะอย่างไร เป็นฉากที่สะท้อนและชี้นำอะไรให้สังคมได้เห็นบ้าง”

1.ฉากปลุกปล้ำถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบอาชญากรรมอย่างหนึ่ง แน่นอนว่าฉากปลุกปล้ำมันต้องเกิดจากความไม่สมยอมของฝ่ายหญิง แต่เวลาที่เราดูฉากแบบนี้ในละครไทยจะเป็นบทที่นำพาให้ความรักของพระ-นางมา ลงเอยกันในท้ายที่สุด แต่ในละครญี่ปุ่นจะไม่ใช่แบบนั้น ฉากนี้ในละครญี่ปุ่นจะถูกนำเสนอก็ต่อเมื่อต้องการจะสื่อว่า การขืนใจ การข่มขืนกันเป็นการกระทำที่โหดร้าย ทารุณ และเป็น “อาชญากรรม” อย่างหนึ่ง

2.ฉากและโทนสีของภาพสุดจะน่ากลัวและหดหู่ ถ้าสังเกตฉากพวกนี้ในละครญี่ปุ่นจะพบว่าโทนสีจะออกทึมๆ มืดๆ และสถานที่เกิดเหตุก็มักจะไม่เป็นบนเตียงนอนนุ่มในห้องกว้างสุดหรู แต่จะเป็นข้างทาง ห้องมืดๆ เตียงรกๆ ส่วนฉากก็จะเป็นตอนกลางคืน ปิดฉากโดยที่กล้องฉายไปที่พระจันทร์สีแดง แสดงให้เห็นถึงค่ำคืนที่เจ็บปวด และโหดร้าย

3.นำเสนอให้เห็นถึงผลกระทบที่โหดร้าย หลังจากฉากปลุกปล้ำ ละครมักจะสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตที่เหลืออยู่ของฝ่ายหญิง ที่ไม่ใช่แค่ว่าร้องไห้ เสียใจ ตั้งท้อง และเดินหนีไปจากพระเอก แต่มันมีอะไรที่มากกว่านั้น ชีวิตผู้หญิงที่ถูกกระทำชำเรามาจะไม่มีชีวิตที่เหมือนเดิมอีกต่อไป

4.พบได้น้อยในละครญี่ปุ่น ฉากปลุกปล้ำที่ว่านี้เเป็นฉากที่ไม่ค่อยเจอในละครญี่ปุ่น ถึงแม้จะเป็นละครรักก็ตาม พระ-นางจะไม่แสดงความรักโดยการขืนใจกัน แต่จะเป็นการแสดงความรักอย่างอื่นที่ทำให้รู้สึกได้ว่ารักกันจริงๆ บางเรื่องก็อาจจะมีฉากจูบกันบ้าง แต่ก็เกิดจากการสมยอมกัน บางเรื่องก็จะเป็นการกระทำอย่างอ้อมๆ เพื่อให้รู้ว่ารัก

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเป็นฉากข่มขืนจะค่อนข้างมีความน่ากลัว ที่ญี่ปุ่นใช่ว่าจะไม่มีผู้หญิงที่แต่งตัววับๆ แวมๆ แถมยังมีสื่อทางเพศ ทั้งหนัง AV หนังสือโป๊ หรือแม้แต่การถ่ายแฟชั่น การแต่งตัวของดาราในบางครั้งก็มีความหวือหวา แต่พอมามองที่ละครบ้านเขา ฉากที่ว่ากลับนำเสนออกมาในรูปแบบที่ว่าไม่ใช่ค่านิยมที่ควรปฏิบัติตาม เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ และเป็นอาชญากรรมที่น่ากลัว สื่อละครมันอาจจะเป็นจุดเล็กๆ แต่อย่างน้อยก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยชี้นำสังคมให้เป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็นได้...



มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น