ช่อง 7 ส่งหนังสือถึง กสทช. ขอยุติระบบอนาล็อกก่อนหมดสัมปทานในปี 2566 หวังลดต้นทุนการออกอากาศรายการทั้ง 2 ระบบ ขณะที่เงื่อนไขในสัญญาสัมปทานยังคงดำเนินการต่อจนหมดสัญญา เร่งเจรจากับช่อง 9 และ ช่อง 3 หวังยุติอนาล็อกก่อนกำหนดในปี 2563
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช.ได้รับหนังสือจากกองทัพบก แจ้งแนวทางเบื้องต้นในการจัดทำแผนยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบอนาล็อกของกองทัพบก กับสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
โดยกองทัพบก เห็นชอบในหลักการเบื้องต้นที่จะพยายามยุติการออกอากาศระบบอนาล็อกก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือน พ.ค.2566 ทั้งนี้ กองทัพบก และช่อง 7 คาดว่าจะทยอยยุติการออกอากาศระบบอนาล็อกตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.2560 จากนั้น จะปิดทั้งหมดก่อนเดือน มี.ค. 2563 ซึ่งหลังจากนี้ ช่อง 7 ต้องส่งแผนการยุติอนาล็อกมาให้พิจารณาต่อไป
“การที่ช่อง 7 ขอเริ่มทยอยยุติอนาล็อกก่อนกำหนดสัญญาสัมปทานหมด คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องต้องการลดต้นทุนที่ไม่ต้องออกอากาศทั้ง 2 ระบบ เพราะตอนนี้คนดูกว่า 95% ดูทีวีผ่านระบบดิจิตอล และดาวเทียม ส่วนเรื่องพันธสัญญาในสัญญาสัมปทานนั้น ช่อง 7 ก็ยังคงต้องดำเนินการตามสัญญาต่อไป” พ.อ.นที กล่าว
นอกจากนี้ กสท.กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และ สถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 3 เพื่อหาแนวทางในการยุติการออกอากาศในระบบอนาล็อกได้เร็วกว่ากำหนดเดิม หรือไม่ โดยช่อง 3 สัญญาสัมปทานจะหมดลงในเดือน มี.ค. 2563 ซึ่งหากทำได้จะทำให้การยุติการออกอากาศระบบอนาล็อกทำได้เร็วกว่ากำหนด
ขณะที่สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจะยุติวันที่ 31 ธ.ค. 60 ไทยพีบีเอส จะยุติ 16 มิ.ย. 61 ช่องโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 จะยุติ 16 มิ.ย. 61 และช่อง 9 ยุติ 16 ก.ค. 61 การที่ช่อง 7 และกองทัพบก พิจารณาที่จะยุติการออกอากาศระบบอนาล็อกเร็วกว่ากำหนด ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อส่วนรวม เพราะจะได้นำคลื่นความถี่กลับไปใช้ประโยชน์ โดย กสทช.จะได้คลื่น 400 MHz และ 700 MHz มาใช้ในกิจการโทรคมนาคมได้
***เผยช่องรัฐไม่ขอเงินหนุนมัสแครี่
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 76/2559 เรื่อง มาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ขณะนี้เหลือเพียงช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ และช่องทีวีรัฐสภาเท่านั้น ที่ยังไม่มายื่นขอสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิตอลที่ให้บริการเป็นการทั่วไปผ่านดาวเทียม (Must Carry) งวดวันที่ 20 ธ.ค. 2559 ถึงเดือน ก.พ. 2560 ซึ่งขอให้ทั้ง 2 ช่องดังกล่าวรีบมายื่นขอรับการสนับสนุน
สำหรับการยื่นขอรับการสนับสนุนของเดือน มี.ค., เม.ย. และเดือนต่อไป ในระหว่างที่สำนักงาน กสทช.ยังมีการพิจารณาค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสนับสนุนยังไม่แล้วเสร็จ ให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลนำใบเสร็จตัวจริง หรือใบแจ้งหนี้ตัวจริงมายื่นขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้เลย
ส่วนกรณีการยื่นขอขยายระยะเวลาจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ ซึ่งจะครบกำหนดชำระในวันที่ 23 พ.ค. 2560 ขณะนี้มีผู้มายื่นขอขยายระยะเวลาจ่ายฯ ออกไปแล้ว 13 ราย ได้แก่ 1.บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด 2.บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์วิชั่น จำกัด 3.บริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด 4.บริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด 5.บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (2 ช่อง)
6.บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด 7.บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด 8.บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด 9.บริษัท บางกอกมีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด 10.บริษัท อาร์.เอส. เทเลวิชั่น จำกัด 11.บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด 12.บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด และ 13.บริษัท จีเอ็มเอ็ม วัน ทีวี จำกัด
ส่วนผู้ประกอบการที่ยังไม่มายื่น ยังสามารถยื่นหนังสือแจ้งความจำนงมาที่สำนักงาน กสทช.ได้จนถึงวันที่ 22 พ.ค. 2560 ไม่เช่นนั้น จะไม่สามารถใช้สิทธิดังกล่าวตาม ม.44 ได้