xs
xsm
sm
md
lg

ตบหน้า-ชกท้อง-กระชากผม โอกาสรอดแสนริบหรี่บนรถเมล์!!? [ชมคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นี่รถเมล์หรือเวทีมวย? สะบักสะบอมภายในเวลาไม่ถึง 1 นาที ตบหัว, ตบหน้า, ชกท้อง, กระชากผม ฯลฯ ความเจ็บปวดทั้งหมดรวมอยู่บนร่างกายของหญิงสาวร่างเล็ก ซึ่งถูกชายหนุ่มร่างใหญ่ประเคนความรุนแรงระบายอารมณ์แบบไม่ยั้ง โดยไม่สนสายตาของผู้โดยสารสาธารณะรายอื่นๆ โชคยังดี มีผู้ร่วมเหตุการณ์รายหนึ่งกล้าตะโกนไล่ บอกให้ไปทะเลาะกันข้างล่าง นอกนั้นเงียบฉี่ เงียบจนน่าสลดใจ ชวนให้ตั้งคำถามใน “น้ำใจ” ของคนไทย และ “มาตรการความปลอดภัย” จาก ขสมก.
 




"บนรถเมล์สาย 107 อู่บางเขน-คลองเตย" คือคำบรรยายของคลิปเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าว ซึ่งถูกอัปโหลดลงเฟซบุ๊ก Suparidee Khamvichain จนขณะนี้กลายเป็นคลิปแชร์สนั่น พร้อมตั้งคำถามกับสังคมว่าแท้จริงแล้ว ผู้อยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมดนั้นควรจะรับมือสถานการณ์เช่นนี้อย่างไรดี

“ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำ ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ช่วยเหลือเมื่อพบเห็น ร่วมยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว โทร.1300 หรือ ติดต่อสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด”

ย่อหน้าที่แล้วคือคำตอบในภาคทฤษฎี ซึ่งทางภาครัฐให้ไว้ผ่านเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ ศูนย์ข้อมูลความรุงแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว (www.violence.in.th) แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาคปฏิบัติกลับทำได้ยากยิ่ง โดยเฉพาะสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างฉุกละหุกบนรถเมล์เช่นนี้ และนี่คือทัศนะจากเจ้าหน้าที่เฉพาะทาง ศูนย์ปฏิบัติการคุ้มครองบุคคลในครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว

[กระบวนการรับเรื่องร้องเรียน ของ "ศูนย์ปฏิบัติการคุ้มครองบุคคลในครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว"]

“กรณีเหตุที่เกิดขึ้นซึ่งหน้า เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ค่อนข้างกะทันหัน ถ้าจะแจ้ง 1300 ร้องเรียนเรื่องความรุนแรง อาจไม่สามารถลงไปช่วยเหลือได้ทันที เพราะหน่วยงานส่วนนี้รองรับด้านความรุนแรงในระยะยาวเสียเป็นส่วนใหญ่ เป็นการเฝ้าระวังความรุนแรงในครัวเรือน แต่ในกรณีอย่างคลิปนี้ ตัวหลักที่ควรจะต้องลุกขึ้นมารับผิดชอบ ก็คือ ขสมก. คือ พนักงานขับรถกับกระเป๋ารถเมล์ ที่จะช่วยแก้ไขปัญหา ณ จุดเกิดเหตุได้อย่างทันท่วงที

ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ต้องไม่เพิกเฉย ต้องบอกคนขับหรือกระเป๋ารถเมล์ ให้เขาเข้ามาช่วยเหลือหรือหยุดรถเพื่อดำเนินการจัดการ หรือถ้าเหตุการณ์ร้ายแรงกว่านั้น อาจจะต้องแจ้ง 191 หรือขอความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณใกล้เคียงให้เข้ามาจัดการแทน

ไม่ใช่แค่เรื่อง “น้ำใจ” แต่มันคือ “ความรับผิดชอบ” ที่รถโดยสารสาธารณะต้องมี เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและแนวปฏิบัติเรื่อง “การป้องปรามและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในการทำงาน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ" ซึ่งเคยประกาศใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว
 
มาจนถึงวันนี้ กลับดูเหมือนว่าองค์ความรู้ภาคทฤษฎีเหล่านั้น ไม่ได้ถูกนำมาใช้จริงในภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะเมื่อเจอเหตุการณ์ซึ่งหน้าอย่างกรณีนี้ จึงอยากถามเรื่องการสานต่อความรับผิดชอบในส่วนนี้ว่า หมดอายุไปพร้อมตัวโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่เคยประกาศเป็นนโยบายเอาไว้แล้วหรือยัง?

[นโยบายที่ทาง ขสมก.เคยมี แต่ตอนนี้หายไปไหน!!?]

“การจัดอบรมเสริมศักยภาพสำหรับคณะกรรมการป้องปรามฯ และเครือข่ายผู้สอดส่องและป้องกันปัญหาคุกคามทางเพศในระดับสายการเดินรถ (ตาสับปะรด), การผลิตสื่อ, การจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างความตระหนักเรื่องปัญหาการคุกคามทางเพศ และประชาสัมพันธ์กลไกการแก้ไขปัญหาให้พนักงานรับทราบอย่างกว้างขวางในทุกเขตการเดินรถ ฯลฯ”

“ทำได้ไง มึงทำได้ไง!!” เสียงตบฉาดๆ จากคลิปสะเทือนอารมณ์คลิปนี้ ยังคงดังกึกก้องโลกออนไลน์ ภายใต้สถานการณ์ความเป็นจริงที่แทบไม่มีแม้เสียงเล็ดลอดเพื่อแสดงความช่วยเหลือ...

“สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ความรุนแรงยังดำรงอยู่ คือการที่สังคมยอมรับว่าความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะความรุนแรงของสามีต่อภรรยา ถือเป็นเรื่องปกติภายในครอบครัว บุคคลภายนอกไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว”

บทสรุปจากงานวิจัยเรื่อง “ความรุนแรงในครอบครัว: สาเหตุ ผลกระทบและแนวทางการช่วยเหลือ” จัดทำโดย อังคณา ช่วยค้ำชู คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยข้อมูลที่ช่างเหมาะเจาะกับสถานการณ์อันน่าสลดครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง สอดคล้องกับความคิดเห็นจากศูนย์ปฏิบัติการคุ้มครองบุคคลในครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ที่ช่วยเสนอทางสว่างที่แสนริบหรี่อยู่ปลายอุโมงค์เอาไว้


[ขอบคุณภาพ: www.violence.in.th/publicweb]
“ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นบนรถเมล์ สามารถเกิดขึ้นได้ 2 สถานการณ์หลักๆ ด้วยกัน คือ สถานการณ์แรกคือการล่วงละเมิดทางเพศในที่สาธารณะ และอีกสถานการณ์คือเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ถ้าเป็นประการหลัง ก็ต้องมาดูเรื่องของความสัมพันธ์ของ ผู้ถูกกระ-ผู้กระทำ อีกว่ามีความเกี่ยวโยงกันยังไง ซึ่งถึงแม้จะเป็นความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเกิดในสถานที่ไหน เกิดเมื่อไหร่ ก็ถือเป็นความรุนแรงในครอบครัวอยู่ดี

จะต้องรณรงค์ให้บุคคลทั่วๆ ไปเห็นว่า เรื่องของความรุนแรงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเพิกเฉยได้ เป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม แต่โดยทัศนคติของคนไทยแล้ว ส่วนใหญ่ชอบคิดว่าเรื่องของคนอื่น ฉันไม่ยุ่ง มองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งทางหน่วยงานต้องเปลี่ยนทัศนคติในจุดนี้ให้ได้!!”

ข่าวโดย ผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น