xs
xsm
sm
md
lg

สังคมไทยเรียนรู้อะไร? กรณีผอ.โรงเรียนดังยกมือไหว้ขอโทษเด็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ นักเกรียน เทพศิรินทร์
"ผอ.เทพศิรินทร์ก้มกราบขอโทษนักเรียนม.6" เป็นหัวข้อข่าวที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลกออนไลน์ แม้ผอ.โรงเรียนดังจะออกมาเปิดใจยอมก้มกราบเองโดยไม่ได้ถูกเด็กบังคับ เพราะอยากให้เด็กสำนึกหลังโดนทักท้วงพูดเกิน 5 นาทีระหว่างกำลังอบรมนักเรียน แต่ก็สะท้อนระบบการศึกษาไทยได้เป็นอย่างดี ทั้งวิธีการสอนของผู้อำนวยการโรงเรียน และการกระทำของนักเรียนที่ขาดสัมมาคารวะ

ตกเป็นประเด็นอื้อฉาวสะเทือนระบบการศึกษาไทย เมื่อปรากฏภาพข่าวผู้อำนวยการโรงเรียนเทพศิรินทร์ "นายอนันต์ ทรัพย์วารี" ยกมือไหว้เด็กนักเรียนเพราะต้องการสอนให้เด็กรู้สำนึก และรู้จักให้อภัยหลังมีเด็กนักเรียนชั้น ม.6 คนหนึ่ง ยกมือกลางกลุ่มนักเรียนระหว่างกำลังอบรม และชี้แจงในประเด็นทำสนาม และการตัดต้นไม้ ซึ่งเด็กตะโกนบอกว่า "ผอ.พูดเกินไป 5 นาทีแล้ว" จึงเรียกเด็กมาพูดคุย และยกมือไหว้ขอโทษ

ผอ.โรงเรียนเทพศิรินทร์ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลในการยกมือไหว้ขอโทษ และเตรียมจะก้มกราบเด็กในรายการเก็บตกจากเนชั่น ทางเนชั่น ทีวีว่า ในเมื่อเด็กไม่ยอมรับคำขอโทษ จึงสอนให้เด็กสำนึกด้วยการยกมือไหว้ขอโทษ และเตรียมจะก้มกราบ แต่เด็กเข้ามารับเอาไว้ก่อน ซึ่งไม่ได้ถูกเด็กบังคับอย่างที่เป็นข่าว ก่อนจะเผยด้วยว่า แม้ครูจะศักดิ์สูงกว่านักเรียน แต่ไม่ใช่จะไหว้หรือขอโทษใครไม่ได้ หากสิ่งไหนทำให้เด็กเป็นคนดีได้มากกว่าการไหว้หรือกราบตนก็ยอม


อย่างไรก็ดี แม้จะดูไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรในสายตาผู้อำนวยการ แต่การกระทำดังกล่าวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตามมา โดยคนส่วนใหญ่มองว่า "นี่คือการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดของผู้บริหารแล้วใช่หรือไม่" เช่นเดียวกับตัวเด็กที่แม้ผู้อำนวยการจะออกมายืนยันว่า เด็กไม่ได้สั่งให้ก้มลงกราบ และได้เข้ามาพบเพื่อขอขมาแล้ว แต่ก็แสดงให้เห็นถึงกาลเทศะของเด็กนักเรียนที่จำเป็นต้องกลับมาจริงจังกับเรื่องนี้ ก่อนจะลุกลามบานปลายจนกลายเป็นปัญหาที่เกินจะแก้ไข



นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งหลังจากการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ได้หลบหนีหมายจับอยู่ในต่างประเทศ เข้ามาแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวผ่านแฟนเพจ Drama-addict

เขียนถึงเรื่องนี้ก็ชวนให้นึกถึงบทสัมภาษณ์ ผศ.ดร.พรทิพย์ เย็นจะบก อาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เคยให้สัมภาษณ์ผ่านทีมข่าวในประเด็นความขัดแย้งระหว่างนักศึกษาและอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อหลายปีก่อน แต่สามารถนำมาเชื่อมโยงกับประเด็นนี้ได้เป็นอย่างดี โดยอาจารย์แสดงทัศนะถึงความอดทนต่อสิ่งต่างๆ และสัมมาคารวะในตัวเด็กยุคนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

ผศ.ดร.พรทิพย์ มองว่า เด็กปัจจุบันต่างกับเด็กสมัยก่อน โดยเด็กยุคใหม่อยู่กับวัตถุมากเกินไป ในขณะที่เด็กสมัยก่อนอยู่กับคน เขาจึงเคารพบุคคลมากกว่า


"เด็กปัจจุบันอยู่กับวัตถุเยอะ โตขึ้นมานิดหนึ่งก็มีไอที มีโซเชียลเน็ตเวิร์กของเขาแล้ว มีพลังของเขาบนโลกออนไลน์แล้ว เทียบกับสมัยก่อนไม่ได้แล้วค่ะ เพราะเด็กสมัยก่อน อยู่กับคนมากกว่าก็เลยเคารพบุคคล พ่อแม่สอนให้เคารพครูบาอาจารย์ พอตอนหลังๆ อาจจะมีข่าวคราวออกมาว่ามีอาจารย์ทำผิดอย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้ส่วนหนึ่งเด็กๆ ไม่ให้ความเคารพ เหมือนกับที่บางส่วนไม่อยากจะไหว้พระเท่าไร เพราะพระบางรูปก็ผิดศีล ทำให้เด็กสมัยนี้จะชอบใช้เครื่องไม้เครื่องมือในมือของตัวเองตอบโต้


อีกอย่าง สังคมสมัยก่อน เป็นสังคมที่เอื้ออาทร ให้อภัย และเข้าใจกันได้ง่าย แต่สังคมปัจจุบันนี้ ไม่เข้าใจ และเด็กสมัยนี้ถือตัวเองเป็นใหญ่ คิดว่าตัวเองมีสิทธิทำ สมัยก่อนอาจจะมีคำพูดบ่อยๆ ว่า "อย่าทำๆ" ต้องเคารพนะ แต่เด็กสมัยนี้ ไม่ทราบว่าเขาเชื่อใคร ดูเหมือนว่าเขาจะเชื่อสื่อมากกว่าคน เขาเชื่อสิ่งที่อยู่ในสื่อ เพราะสิ่งที่อยู่ในนั้นก็จะมีทั้งดีและไม่ดี และเขาก็มีเพื่อนที่เป็นพลังของเขา เขาก็คุยกันเอง เชื่อกันเอง คิดกันเอง"


ทางที่ดี ถ้าคิดจะสอนเด็ก ผศ.ดร.พรทิพย์ แนะนำจากประสบการณ์ตรงว่า ต้องตั้งสติก่อน จากนั้นใช้วุฒิภาวะความเป็นผู้ใหญ่เข้ามาจัดการ โดยเรียกต้นเรื่องเข้ามาคุย


"เราต้องตอบโต้ด้วยการสอนเขา ให้เขาหยุดและเข้าใจ แต่จะไม่เลือกวิธีใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กกระพือต่อและทำให้เขาไม่มีที่ยืนในสังคม ครูเป็นผู้ใหญ่พอที่จะให้อภัย เราจะใช้การสอน และตักเตือนค่ะ อารมณ์โมโหมีกันทุกคนแหละค่ะ แต่อย่างที่บอก เราเป็นผู้ใหญ่ เรารังแกเด็กไม่ได้ เราต้องเข้าใจความคะนองของเขา ความคิดของเขา"


เช่นเดียวกับตัวเด็ก หลายคนใช้สื่อออนไลน์โดยขาดความยั้งคิด บางอย่างขาดการกลั่นกรอง ขาดการเข้าใจเรื่อง "บทบาททางสังคม" ของบุคคลรอบตัว แต่กลับลืมคิดไปว่า สิ่งต่างๆ ที่พูด หรือแสดงพฤติกรรมออกไปนั้นมันอาจจะตีกลับมาหาตัวเอง ทั้งชีวิตส่วนตัว และหน้าที่การงาน


นับเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องช่วยกันทั้งพ่อแม่ ครู และอาจารย์ โดยเฉพาะสถาบันหลักอย่างครอบครัว การสอนให้เด็กรู้จักเคารพ ให้เกียรติคุณครู และผู้ใหญ่ตั้งแต่เด็กๆ จะทำให้ชีวิตของเด็กปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ง่ายขึ้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ถือเป็นคุณธรรมที่มีค่าและมีความสำคัญสำหรับชีวิตของเด็กมาก


ขอบคุณภาพประกอบจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ "นักเกรียน เทพศิรินทร์"





มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น