หลังเกิดเหตุสยองคนกรุง เมื่อพบชายนิรนามถูกไฟฟ้าดูดจนมือทั้ง 2 ข้างไหม้เกรียมตายคาโคนเสาติดตั้งกล้องซีซีทีวี (CCTV) รั่วช็อตที่ปากซอยพหลโยธิน 47 เขตจตุจักร กทม. รีบรุดส่งเจ้าหน้าที่ลุยตรวจเสากล้อง CCTV ทดสอบไฟรั่วด้วยวิธีการไม่สวมใส่รองเท้า ใช้เท้าแตะพื้นดิน แล้วเอามือจับที่เสาไฟ และใช้มือแตะเสากล้อง CCTV หลายคนอึ้ง และเงิบกับวิธีทดสอบไฟรั่วของ กทม.แบบบ้านๆเพราะการตรวจสอบไฟรั่วด้วยวิธีและเครื่องมือที่เป็นมืออาชีพและมาตรฐานอย่างปลอดภัยมันมีไม่ใช่หรือ
วิธีเอ๋อๆ แก้ปัญหา กทม.
สโลแกนที่ว่า “ทั้งชีวิต..เราดูแล"ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มันช่างสวนทางกับวิธีการตรวจสอบไฟรั่วด้วยวิธีบ้านๆ โดยให้เจ้าหน้าที่ผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ถอดรองเท้าแตะเสาไฟทดสอบไฟรั่วยิ่งนักนอกจากนี้ ท่านยังมุ่งมั่นอยากให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่ยิ่งใหญ่ ติดอันดับโลก แต่วิธีทดสอบหลายคนบอกว่า ราวกับประเทศด้อยพัฒนา!
เพราะล่าสุด (12 มกราคม) นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กล่าวว่า ภายหลังที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงของเรื่องที่เกิดขึ้น ทาง สจส. ก็ได้ประสานงานไปยังบริษัทที่รับจ้างติดตั้งกล้อง CCTV ให้ กทม. เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบพร้อมกัน ว่ามีกระแสไฟฟ้ารั่วหรือไม่นั้น ซึ่งขณะนี้ได้มีเจ้าหน้าที่กระจายกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว โดยใช้วิธีทดสอบด้วยการไม่สวมใส่รองเท้า ใช้เท้าแตะพื้นดิน แล้วเอามือจับที่เสาไฟ เบื้องต้น ยังไม่พบเสาไฟฟ้าใดที่มีกระแสไฟรั่ว
ประเด็นนี้ได้จุดชนวนดรามาให้ลุกพรึ่บ!ถึงวิธีการเช็กไฟรั่วสไตล์ กทม.อย่างมากมาย
“เรามาถึงจุดนี้ได้ไง จุดที่ผู้ว่าให้คนเอามือไปแตะทดสอบไฟรั่วเนี่ยนะ นี่ท่านเอาหัวอะไรคิด !!!!” ความคิดเห็นจาก บุรุษ นิรนาม
"วิธีแก้ปัญหาแต่ละอย่างแปลกๆดีๆทั้งนั้น น้ำท่วมก็ไปอยู่บนดอยงี้ จับเสาไฟทดสอบไฟรั่วงี้..."
“คนสั่งให้ทดสอบวิธีนี้ก็รั่วเหมือนกันนะเผลอๆรั่วกว่าไฟฟ้ารั่วอีก” ความคิดเห็นจาก Samanosuke Akechi
โบ้ย จนท.กอดเสาไฟแชะภาพเอง
ทว่า หลังจากโดนชาวโซเชียลถล่มเละเทะกับวิธีการทดสอบไฟรั่ว ล่าสุด (13ม.ค.) นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.)ได้ออกมายืนยันว่า การตรวจสอบของกทม.ใช้วิธีการใช้อุปกรณ์ตรวจสอบรูปแบบมาตรฐาน คือการวัดกระแสไฟฟ้าด้วยเครื่องโอห์มมิเตอร์ในการวัดเท่านั้น
พร้อมย้ำว่า กทม.ไม่ได้มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่วัดกระแสไฟฟ้า ด้วยการถอดรองเท้า และกอดเสาไฟเพื่อวัดความปลอดภัยใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งการทำงานของกทม.ยึดหลักความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และประชาชนเป็นหลักอยู่แล้ว กรณีที่มีภาพปรากฎในโซเชียลมีเดีย ว่ามีเจ้าหน้าที่กอดเสาไฟกล้องซีซีทีวีนั้น เป็นเพียงการถ่ายภาพของเจ้าหน้าที่เอง
จับเสาไฟประชด! เอาชีวิตคนไปเสี่ยง
ทว่า จากประเด็นทดสอบไฟรั่วของ กทม.นี้มีกระแสมาว่า ทาง กทม.อาจให้เจ้าหน้าที่ไปจับเสาไฟเพื่อประชดมากกว่าจะทดสอบอย่างจริงจังจึงทำให้สังคมในโลกโซเชียลออกมาแสดงความคิดเห็นกันมากมาย ล้วนแล้วแต่ไม่พอใจในการตรวจสอบไฟรั่วของ กทม.ที่ดูจะไม่เป็นมืออาชีพเอาซะเลย ไร้ซึ่งความปลอดภัย คิดวิธีเหล่านี้ออกมาได้อย่างไร เพราะหากพลาดโดนไฟช็อตขึ้นมา นั่นหมายถึงชีวิตของเจ้าหน้าที่ทั้งชีวิตเลยนะ
“เจ้าหน้าที่เขาก็มีลูกมีเต้ามีครอบครัวนะคุณ"
ไร้สาระมาก อุปกรณ์มีไม่ใช่ ทำไมไม่เอาลิ้นเลียประชดไปเลยครับ มีของเหลวนำไฟฟ้าดีกว่าแน่ๆ” ความคิดเห็นจาก Koravik Meesilpavikkai
"ประชด แบบไหน เอาชีวิตคนไปเสี่ยงกับไฟฟ้า บ้าแล้วครับ อุปกรณ์การตรวจเช็คก็มีไม่ใช้"Tik Suwan
นอกจากนี้ นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เคยกล่าวถึงอาการของคนที่โดนกระแสไฟฟ้าดูดไว้ว่า กระแสไฟจะไหลผ่านหัวใจทำให้หัวใจหยุดทำงาน และอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะอื่นๆ ที่เป็นทางผ่านของกระแสไฟฟ้า เช่น กล้ามเนื้อ กระดูก อวัยวะในช่องท้อง และระบบประสาท ซึ่งหากกระแสไฟฟ้ามีแรงสูงมากๆ จะส่งผลให้เนื้อเยื่อที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านถูกทำลายอย่างรุนแรง และจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บของอวัยวะในช่องท้องได้ บางคนอาจมีอาหารชักเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย หายใจเร็วและหมดสติ”
ผู้ใช้แรงงานไฟดูดตายมากสุด
จากข้อมูลการบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกไฟฟ้าดูดของโรงพยาบาลเครือข่ายเฝ้าระวัง การบาดเจ็บระดับชาติ 33 แห่งทั่วประเทศ ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในรอบ 4 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2550-2554 พบว่าจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกไฟฟ้าดูดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในปี 2554 มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากไฟฟ้าดูด 1,173 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 120 คน อัตราป่วยตายร้อยละ 10 ประมาณร้อยละ 80 เป็นชาย ผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกไฟฟ้าดูดมีตั้งแต่อายุ 1 ขวบถึง 90 ปี กลุ่มอายุที่มีการบาดเจ็บสูงสุดคือต่ำกว่า 25 ปีคิดเป็นร้อยละ 12 รองลงมาคืออายุ 25-29 ปีร้อยละ 11
อาชีพที่ได้รับบาดเจ็บสูงสุดคือผู้ใช้แรงงานร้อยละ 49 รองลงมาคือกลุ่มนักเรียนนักศึกษาร้อยละ 10 สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างพบว่า ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากไฟฟ้าดูดร้อยละ 4 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย ผู้ที่บาดเจ็บจากการถูกไฟฟ้าดูด ส่วนใหญ่จะมีอาการช็อก หมดสติ คิดเป็นร้อยละ 45 อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บมากที่สุดคือมือและข้อมือร้อยละ 35 รองลงมาคือศีรษะและคอร้อยละ 16
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754