xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ลุก-ไม่แมน? สตรีมีสิทธิแค่ไหน ทวงคืน “ที่นั่งสาธารณะ”!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“โปรดเอื้อเฟื้อที่นั่งแก่เด็ก สตรีมีครรภ์ คนชรา และคนพิการ ด้วยครับ” มันคงไม่เป็นเรื่องเป็นราวอะไรกัน ถ้าผู้โดยสารทุกคนช่วยๆ กันทำตามคำร้องขอของ “หนูด่วน” มาสคอตประจำบีทีเอสบอกเอาไว้ แต่มันดันกลายเป็นดรามาครั้งใหญ่ เมื่อ “สตรี” รายหนึ่งซึ่งไม่ได้มีครรภ์ ไม่ใช่คนชรา และไม่ได้พิการ เกิดเมื่อยตุ้มและโพสต์ทวงถาม “ที่นั่ง” พร้อมแนบภาพประจานเหล่าเพศตรงข้ามที่ไม่มีใครยอมลุกให้ด้วยถ้อยคำดุเดือด
แต่แทนที่จะได้รับความเห็นใจจากสังคม กลับถูกซ้ำเติมว่าโลกแคบและละเมิดสิทธิส่วนบุคคลจนเกินไป! กลายเป็นประเด็นถกเถียงแทงใจว่า สรุปแล้วสังคมไทยต้องการอะไร ระหว่าง ความเสียสละ กับ ความเท่าเทียม?



“สิทธิสตรี” ใช้ไม่ได้ผลเสมอไป!

[โพสต์ต้นเรื่อง ประจาน ทวงคืนที่นั่ง จนกลายเป็นดรามา]
"โปรดเอื้อเฟื้อที่นั่งให้เด็ก สตรี สตรีมีครรภ์ และคนพิการ OK... คงเป็นฝีดัน มันเลยหนักหน่วงมาก... เข้าใจ #นั่งให้สบายเลยเพื่อน #ยืนแค่ 15 สถานีเอง #แมน ที่นี่รถไฟฟ้าหรือป่ารกชัฏ เห็นมีแต่ชะนียืนโหนราว"

ด้วยโพสต์ประจานด้วยรูปภาพแนบตัวอักษร จากสตรีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสโพสต์นี้เอง ที่เป็นที่มาของดรามาครั้งใหญ่ให้วิจารณ์สนั่นเน็ต ถูกรุมตอกกลับเละ เคยเห็นแต่ป้าย “โปรดเอื้อเฟื้อที่นั่งแก่เด็ก สตรีมีครรภ์ คนชรา และคนพิการ” ส่วนสตรีธรรมดาที่ไม่ได้ตั้งท้อง ขอให้ทำความเข้าใจเรื่องสิทธิการทวงคืน “ที่นั่งสาธารณะ” ใหม่เสียด้วย

[บุคคลที่ป้ายระบุว่า สมควรเอื้อเฟื้อที่นั่งให้บนรถไฟฟ้าบีทีเอส]

หลายเสียงแนะให้ทำความเข้าใจคำว่า “น้ำใจ” เสียใหม่ ว่าเป็นเรื่องของความสมัครใจ ไม่ใช่หน้าที่ที่ต้องมานั่งสำนึกหรือต้องยินยอมให้โพสต์ประจานกันแบบนี้ ซ้ำร้ายกว่านั้น มีอีกหลายเสียงยุให้เหล่าเพศชายทั้งหลายที่มีหน้าปรากฏในภาพครั้งนี้ เอาเรื่องด้วยการฟ้องกลับเสียให้เข็ด จะได้เลิกใช้โซเชียลมีเดียบีบให้คนอื่นรู้สึกผิดแบบผิดๆ แบบนี้เสียที

"โดยส่วนตัวเวลาขึ้น BTS ถ้าเจอคนชรา สตรีมีครรภ์ เด็กเล็ก คนพิการ จ่าลุกให้หมด แต่สำหรับสุภาพสตรีทั่วไปที่ร่างกายปกติแข็งแรงดี มีตีนก็ยืนๆ กันไปสิคุณ มี...ไม่ได้แปลว่าคุณเป็นผู้พิการนะเออ” แฟนเพจ “Drama-addict” โพสต์ตอกกลับด้วยถ้อยคำรุนแรงไม่แพ้กัน จนจุดให้ประเด็นนี้ร้อนแรงกว่าเดิมเข้าไปอีก และย่อหน้าถัดไปจากนี้คือความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ที่ออกมาร่วมต้านการร้องขอ “สิทธิสตรี” แบบแปลกๆ ครั้งนี้กันอย่างล้นทะลัก!

"ขอโทษนะครับ ขอพูดจาแบบด่าหน่อยนะครับ คุณมีสิทธิอะไรไปเรียกร้องให้เขาลุกให้นั่งครับ 15 สถานีแล้วไงครับ ถ้าได้เข้ามาอ่าน รบกวนใช้สมองมากกว่าอารมณ์นะครับ ถ้าคุณอยากนั่ง คุณต้องนั่งตั้งแต่ต้นสายครับ คุณเป็นผู้หญิงก็ไม่มีสิทธิเรื่องนี้ครับ รบกวนจำใส่สมองน้อยๆ ของคุณด้วยนะครับ เรื่องนี้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ที่คุณถ่ายรูปเขามาประจาน อันนี้ผิดกฏหมายเต็มๆ ครับ #ไข่จะใหญ่จะหนักแค่ไหนเขาก็ไม่ได้ไปหนักบนหัวคุณนะครับ"

"พวกนี้ชอบเรียกร้องสิทธิเท่าเทียม แต่พอถึงเวลา ชอบกระแดะทำตัวอ่อนแอขึ้นมาเชียว"

น่าสงสารเขานะคนุบ...

Posted by Pixel Crazy 8bit สมาคมคนรัก8บิท on Friday, December 18, 2015

[ภาพการ์ตูนล้อเลียนประเด็นร้อน!]

"ลูกเรา 2 ขวบ 4 เดือน เราพาเข้ามุมเลย ให้นั่งกระเป๋าเป้เอา ไม่ก็นั่งไปกับพื้นเลย ไม่เคยคิดนะว่าจะต้องมีคนลุกให้ตลอด บอกลูกว่าให้ยืนเอา เพราะคนอื่นเขาก็จ่ายตังค์เท่าเรา เขามีสิทธิจะนั่ง ลูกชายเราก็ดีว่าง่าย ยืนเอา ถ้าลูกเมื่อยขาก็นั่งกระเป๋าเป้แม่เอา สบายใจกว่า แต่ถ้ามีคนลุกให้ก็ขอบคุณเขาค่ะ บางวันพาน้องยืนจากอุดมสุขถึงอนุสาวรีย์เลยด้วยซ้ำ ใจเขาใจเราเนาะ ถ้าเราพิการก็ว่าไปอย่าง นี่ครบ 32 อันไหนทนได้ก็ทนสิ เกิดเป็นคนแล้ว"

"เคยขึ้นรถเมล์สายหนึ่ง ผมยืนอยู่ตรงหน้าแถวๆ คนขับ มีผู้หญิงท้องขึ้นมา คือที่นั่งเต็มหมด มีแต่ผู้หญิงนั่งกดๆ โทรศัพท์กัน ไม่มีใครลุก-ใครสนใจ จนกระเป๋าบอกว่าคน "ท้องลุกด้วยค่ะ" ก็ยังไม่มีคนลุก จนรอบสอง "ถ้าไม่มีคนลุก จะให้คนท้องนั่งที่คนขับนะคะ" นศ.สาวคนหนึ่งลุกทันที ผมล่ะแอบขำ กระเป๋าฮาสุด"


[ข้อแนะนำขณะโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส]
ลองย้อนกลับไปดู “ข้อแนะนำขณะโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส” ซึ่งประกาศเอาไว้บนเว็บไซต์ www.bts.co.th มีเพียงรายละเอียดระบุเกี่ยวกับการใช้ที่นั่งเอาไว้หลักๆ เพียง 2 ข้อคือ “โปรดเอื้อเฟื้อที่นั่งแก่เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้พิการ” กับ “โปรดคืนที่นั่งสำรองแด่ภิกษุ สามเณร” ส่วนสตรีธรรมดาทั่วๆ ไป ไม่ได้อยู่ในลิสต์ที่จำเป็นต้องลุกให้

จริงๆ แล้ว ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของประเด็นดรามาอันเกิดมาจากกรณีการโพสต์ประจาน “ทวงถามที่นั่งของสตรี” บนรถโดยสารสาธารณะจากเหล่าบุรุษทั้งหลาย แต่เกิดขึ้นมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว อย่างเมื่อปีที่แล้ว ก็มีประเด็นร้อนให้ถกเถียงไม่ต่างไปจากครั้งนี้เท่าใดนัก

[โพสต์ประจานในอดีต ที่เคยเกิดดรามาทำนองเดียวกันมาแล้ว]
เหตุดรามาเกิดเมื่อหญิงสาวรายหนึ่ง ถ่ายรูปประจานผู้ชายที่ไม่ลุกให้เธอนั่ง พร้อมแนบคำบรรยายภาพหยาบๆ คายๆ เอาไว้ว่า “ไอ้...นี่ หน้าส้น...มาก” เมื่อภาพนี้ถูกแชร์ต่อๆ กันไป จึงถูกคนส่วนใหญ่ต้านรุมประจานเจ้าของโพสต์ พร้อมช่วยแนะเจ็บๆ กลับมาประมาณว่า ก่อนจะเรียกร้องความเป็น “สุภาพบุรุษ” จากใคร คงต้องช่วยพิจารณาให้ดีด้วยว่า คุณมีความเป็น “สุภาพสตรี” อยู่ในคำพูดและการแสดงออกมาน้อยแค่ไหนกัน?

[ผลโพลสำรวจความคิดเห็นบนเว็บบอร์ดพันทิป เกี่ยวกับการลุกให้นั่งของเพศชาย]




เสียสละ VS เท่าเทียม... ต่างวัฒนธรรม ต่างมุมมอง

“สุภาพบุรุษ” พบเห็นได้บ่อยที่สุดแล้วในบ้านเรา... หลายความคิดเห็นบนโลกออนไลน์บอกเอาไว้ในทำนองเดียวกัน คือถ้าจะวัดมาตรฐานความเป็นสุภาพบุรุษจากการเสียสละที่นั่งให้เด็ก สตรี คนชรา และผู้พิการ ก็ถือว่าผู้หญิงไทยโชคดีมากแล้วที่ได้เกิดบนผืนแผ่นดินนี้ เพราะถ้าเคยไปอยู่บ้านอื่นเมืองอื่น จะรู้เลยว่าแทบไม่มีภาพการสละที่นั่ง หยิบยื่นน้ำใจให้แก่กันอย่างที่เห็นในบ้านเราบ่อยๆ อย่างแน่นอน

“เหตุการณ์บนรถไฟสิงคโปร์ที่สามารถพบได้ทุกวันเป็นเรื่องปกติคือ คนหนุ่มสาวสิงคโปร์มักจะนั่งที่สำรองสำหรับเด็ก สตรี คนชรา ที่นั่งนี้คนนิยมเพราะอยู่ติดประตูใกล้ทางเข้าออก เมื่อคนสิงคโปร์หนุ่มสาวนั่งตรงนี้ จะขึ้นมาใส่หูฟังฟังเพลงจากมือถือทันที หรือทำแกล้งหลับหรือแกล้งใช้งานมือถือ เล่นเกม


ถ้ามา 2 คนมักแกล้งหลับเอาหัวชนกัน เมื่อมองไม่เห็นเพราะใช้มือถือหรือหลับอยู่ ก็หมายความว่าไม่ต้องลุกให้คนอื่นนั่ง เหตุการณ์แบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นบนรถเมล์ที่สิงคโปร์เป็นเรื่องธรรมดาทุกวันเช่นกัน ที่ต้องมาเสนอข้อเท็จจริงเพราะไม่อยากให้คนไทยว่าคนไทยด้วยกัน โดยที่ต้องเอาไปเปรียบเทียบกับคนต่างชาติ ที่เคยไปเห็นมาแค่ผิวเผินโดยที่ยังไม่รู้ข้อเท็จจริง

เจ้าของกระทู้คงโชคไม่ดี ปกติแล้ว เวลานั่งรถไฟฟ้า รถใต้ดิน จะลุกให้คนชรา คนท้องนั่งเสมอ คนไทยอื่นๆ ก็เห็นเขาทำกัน สุภาพบุรุษและสุภาพสตรีไทยในสังคมไทยยังมีอยู่มาก” สมาชิกหมายเลข 700857 เคยตั้งกระทู้เปรียบเทียบพฤติกรรมบนรถไฟฟ้าต่างชาติต่างวัฒนธรรมเอาไว้ในเว็บบอร์ดพันทิป เมื่อครั้งมีกรณีผู้หญิงท้องคนหนึ่งใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสแล้วพบว่าไม่มีใครลุกให้เธอนั่งเลยทั้งๆ ที่ปวดท้องมาก จึงตั้งกระทู้ “เดี๋ยวนี้คนไทยบนรถไฟฟ้าแล้งน้ำใจกันมากเลย” ขึ้นมาและกลายเป็นประเด็นร้อนในช่วงนั้นอยู่พักหนึ่ง

"ยูเซนเซกิ" ที่นั่งพิเศษสำหรับคนพิเศษบนรถไฟที่ญี่ปุ่นที่ญี่ปุ่น จะมีป้ายสติ๊กเกอร์ติดไว้ว่าบริเวณไหนเป็นเบาะที่นั่งสำห...

Posted by Japantown.info on Thursday, October 16, 2014

แม้แต่ประเทศญี่ปุ่นเองก็ไม่มีวัฒนธรรมลุกให้นั่ง! แต่เขาจะมีตำแหน่งที่นั่งพิเศษสำหรับ “สตรีมีครรภ์ คนชรา คนพิการ และคนที่มาพร้อมเด็กอ่อน” ที่เรียกว่า "ยูเซนเซกิ" ระบุเอาไว้อย่างชัดเจน แยกโซนและเขียนเอาไว้เด่นชัดว่า “Priority Seat” หรือ “Courtesy Seat” มีแบบนี้อยู่ทุกหัวและท้ายขบวนในทุกตู้ของรถไฟฟ้า พร้อมข้อปฏิบัติเข้มที่ประกาศเอาไว้ว่าต้องปิดเสียงมือถือ เปิดเป็นระบบสั่น และงดคุยโทรศัพท์ตลอดการเดินทางอีกด้วย และบรรทัดต่อจากนี้คืออีกมุมมองหนึ่งเกี่ยวกับ “การลุกให้นั่ง” บนรถไฟฟ้าประเทศญี่ปุ่นที่ผู้เขียนบทความ “Culture Shock Japan : ที่นั่งในรถไฟ” บน redlovetree.com บอกเล่าเอาไว้

“อดถามความเห็นคนญี่ปุ่นไม่ได้ว่า ถ้าไม่ใช่ที่ Priority Seat หรือ Courtesy Seat คุณจะลุกให้ผู้หญิงท้อง คนแก่ และเด็กไหม? เกือบร้อยละ 90 ตอบว่า “ทำไมเขาไม่ไปที่ที่นั่งพิเศษล่ะ” (ที่นั่งธรรมดาไม่จำเป็นต้องลุกให้นั่งก็ได้นะ) เรื่องการแยกที่นั่งเป็นสัดส่วนก็ถูกของเขา (สำหรับคนคิดแบบนี้ก็ไม่ผิด แต่อยู่ที่ความมีน้ำใจ)

คำถามที่สอง “ถ้าผู้หญิงเดินขึ้นรถไฟมา คุณจะลุกให้นั่งไหม?" ได้คำตอบว่า “ถ้าผู้หญิงธรรมดา ไม่ลุกให้นั่ง (นอกจากดูแล้วเห็นว่าป่วย จะเป็นลม หมดแรง ไม่ไหว ก็จะลุกให้นั่ง)" นอกนั้น ฉันก็จะนั่งต่อไป ไม่สนใจผู้หญิงที่ยืนอยู่ตรงหน้า

ยังมีเหตุผลเหล่านี้อีก เช่น ผู้ชายทำงานมาเหนื่อยมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตอนเลิกงาน นั่งรถไฟกลับบ้านก็อยากนั่งบ้าง ได้พักบนรถไฟ สมัยนี้ผู้หญิงเข้มแข็งขึ้น ดูแลตัวเองได้แล้วก็ไม่ต่างจากผู้ชาย (หมายถึงแค่ยืนบนรถไฟก็น่าจะทำได้) หรือเหตุผลที่ว่า พอลุกให้นั่งผู้หญิงหรือคนแก่ก็ไม่นั่ง ทำให้เขารู้สึกอาย ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะลุกให้นั่งดีหรือเปล่า คนแก่บางคนก็หาว่าไปดูถูกเขาว่าแก่อีก (เป็นงั้นไป)”


[“ตู้รถไฟสำหรับผู้หญิง” อาจช่วยแก้ประเด็นดรามาเรื่องนี้ได้]
เพิ่มให้มี “ตู้รถไฟสำหรับผู้หญิง” หรือ “ตู้ Women Only” อย่างที่ทางญี่ปุ่นจัดเอาไว้เพื่อป้องกันปัญหาการลวนลามขณะเดินทาง ก็อาจจะถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ สำหรับการขจัดดรามาเรื่องแบ่งแยกว่าเพศที่แข็งแรงกว่าต้องลุกให้นั่งได้ในบ้านเรา มีบางเสียงเสนอความคิดเห็นเอาไว้แบบขำๆ เพราะดูจะเบื่อเต็มทนกับการตราหน้ากันด้วยคำว่า “ไม่แมน” จากกรณีเหล่านี้

ส่วน “สตรีมีครรภ์” ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการใช้บริการขนส่งสาธารณะแล้วไม่มีใครลุกให้นั่งก็มีเหมือนกัน เธอโพสต์เล่าเหตุการณ์เอาไว้ว่าเคยต้องยืนอยู่ในรถไฟฟ้าจนเกือบเป็นลม ที่ต้องเลือกขึ้นบีทีเอสก็เพราะจำเป็น อยู่ในชั่วโมงเร่งด่วน บวกกับลองโบกแท็กซี่แถวสยามฯ แล้วไม่มีใครรับ จึงอยากเสนอให้เปลี่ยนคำว่า “โปรดเอื้อเฟื้อที่นั่งให้แก่สตรีมีครรภ์...” เป็น “ที่นั่งสำรอง...” หรือ “ที่นั่งสำหรับสตรีมีครรภ์ คนชรา และคนพิการ” แทน เผื่อวันหนึ่งคำว่า “น้ำใจ” เกิดหายากในสังคมไทยขึ้นมาแล้ว คนที่สมควรได้รับความเอื้อเฟื้อจริงๆ จะได้ไม่ถูกละทิ้งจากสังคม


[ทำเหมือนต่างประเทศ เปลี่ยนจากคำว่า "โปรดเอื้อเฟื้อให้แก่..." เป็น "ที่นั่งสำหรับ..." อาจดีกว่า]
“เคยอ่านกระทู้สาวๆ ที่ท้องแล้วมีปัญหาเช่นดียวกันนี้ ถึงท้องไม่ใหญ่คนจะไม่ค่อยลุกให้ แต่ก็ทรมานไม่น้อย เราเคยยืนจนเป็นลมในรถไฟฟ้ามาแล้วค่ะ อยากให้ทุกคนมีจิตสำนึก ลองละสายตาจากมือถือสักนิด แล้วลองมองดูรอบข้าง มองดูโลก บางทีสิ่งเล็กๆ ที่คุณสามารถช่วยเหลือได้ มันมีค่ามากเลยนะคะ... แค่นี้คุณก็ช่วยคนที่ลำบากและมีความต้องการจริงๆ ได้อีกเยอะเลยค่ะ

ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ “Pixel Crazy 8bit สมาคมคนรัก8บิท”, “Drama-addict” และ redlovetree.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- เกือบฉลาด! รวมมหกรรมประจานตัวเองออนไลน์...กระแสโซเชียลตีกลับดับทั้งเป็น






มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น