ต้องทำให้แล้วเสร็จภายในปี 2560!! ทันทีที่นายกฯ ลั่นนโยบาย “บัตรประชาชนระบุอาชีพและรายได้” ผ่านในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกไป กระแสต้านการช่วยเหลือ “ผู้มีรายได้น้อย” ด้วยวิธีนี้ก็ระเบิดขึ้นมาทันที! บอกเลยไม่ได้ตั้งแง่ แต่พิจารณาอย่างถ้วนถี่แล้ว แทบมองไม่เห็นข้อดี เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซ้ำยังตอกย้ำให้เห็นถึงระบบ “บัตรประชาชน Smart Card” ที่ไม่เคยถูกใช้อย่างเต็มศักยภาพของตัวเองอีกด้วย!
รายได้น้อยไม่ต้องอาย อีกเดี๋ยวสบาย แค่แปะเลขลงบัตร!
“ปี 2560 บัตรประชาชนน่าจะมีการระบุ อาชีพและรายได้ เพื่อแยกแยะให้ได้ว่ารัฐบาลจะได้ใช้งบประมาณอย่างไรให้เหมาะสม” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงนโยบายใหม่ด้วยน้ำเสียงอันหนักแน่นผ่านรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ”
เพื่อขจัดต้นตอของปัญหาเรื่อง “การจัดทำข้อมูล” เกี่ยวกับประชาชน รัฐบาลจึงมุ่งหวังว่าบัตรประชาชนที่ระบุ “อาชีพ” และ “รายได้” ลงไปอย่างเปิดเผยตามนโยบายใหม่นี้ จะช่วยให้สามารถแยกแยะได้ว่าจะใช้งบประมาณในการช่วยเหลือ “ผู้มีรายได้น้อย” ได้อย่างไรให้เหมาะสม เชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะช่วยให้คนไทยเข้าสู่ “ระบบภาษีกันมากขึ้น” เนื่องจากปัจจุบันมีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ยอมเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย ที่เหลือก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีรายได้น้อยทั้งสิ้น
“เราต้องยอมรับว่ามาตรการช่วยเหลือประชาชนในการลดภาระค่าครองชีพยังลงไปไม่ถูกกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง” พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ช่วยเสริมรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นร้อนนี้เอาไว้ ที่เห็นได้ชัดคือปัญหาเรื่อง “รถเมล์-รถไฟฟรี” ที่ปัจจุบันใครก็สามารถใช้บริการได้ ตรวจสอบยาก การทำฐานข้อมูลที่มีการระบุรายได้และอาชีพบนบัตรแบบใหม่นี้ จึงน่าจะเป็นการแสดงตัวช่วยให้นโยบายการลดภาระค่าครองชีพลงไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้ตรงกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง
“นายกรัฐมนตรีอยากให้ทุกคนเข้าสู่ระบบภาษี ไม่ใช่การรีดภาษี แต่อยากให้ประชาชนอยู่ในระบบภาษีที่เหมาะสมตามลำดับรายได้ของแต่ละบุคคล เพื่อนำเงินมาใช้ในการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ ยังช่วยเอื้อประโยชน์ในมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรด้วย เพราะที่ผ่านมา มีปัญหาการตรวจสอบที่ยากเพราะต้องผ่านหลายหน่วยงาน ทำให้มีความผิดพลาด เงินช่วยเหลือที่จ่ายไปไม่ตรงตัวบุคคล”
[ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "Mao-Investor"]
ส่วนการที่มีบางฝ่ายกังวลว่านโยบายบัตรประชาชนแบบระบุอาชีพ และรายได้จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น ขอยืนยันว่าการแสดงข้อมูลมีจุดประสงค์ที่ชัดเจน ที่จะนำไปช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และอยากถามผู้ที่ตั้งข้อสังเกตว่า มีวิธีแก้ปัญหาแบบอื่นหรือไม่ อย่าเพียงตั้งข้อสังเกต แต่ต้องมีข้อเสนอแนะด้วย เพื่อไม่ให้ประเทศเกิดความสับสน และขอให้มองที่เจตนารมณ์ของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศ
“จะมีการเก็บเป็นฐานข้อมูลเพื่อดูแลด้านสวัสดิการให้แก่ประชาชน เช่น สิทธิเบี้ยคนชรา โดยเป้าหมายคือ คนไทยทุกคนเบื้องต้นอาจอายุ 15 ปีขึ้นไป ให้เข้ามายื่นแบบแสดงรายได้ และให้สิทธิประโยชน์จูงใจ เช่น ถ้ารายได้ไม่ถึงเกณฑ์ จะได้ขึ้นรถเมล์ รถไฟฟรี ใช้น้ำฟรี ไฟฟรี 50 หน่วย ซึ่งรายละเอียดพวกนี้ ต้องเคาะอีกทีเพราะต้องคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”
อะไรคือ “สิ่งที่ควรระบุในบัตรประชาชน”?
[#สิ่งที่ควรระบุในบัตรประชาชน ล้อเลียนกันให้ว่อนโลกออนไลน์]
ไม่ได้ตั้งแง่จริงๆ แต่ “ผู้มีบัตรประชาชน” ต่างพร้อมใจกันสงสัยว่า การระบุอาชีพและรายได้ลงไปในบัตรสี่เหลี่ยมเล็กๆ ใบหนึ่ง จะช่วยให้คนทั้งประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้สักแค่ไหนกันเชียว? เมื่อความคลางแคลงใจมารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนความคิด แฮชแท็ก #สิ่งที่ควรระบุในบัตรประชาชน จึงถูกนำมาใช้โพสต์แสดงความคิดเห็นกันให้ว่อนโลกออนไลน์
มีทั้งภาพแนวล้อเลียนหยิกแกมหยอกนโยบายใหม่ มีทั้งการแสดงความเห็นแย้ง เสนอทางเลือกว่าถ้าจำเป็นต้องเพิ่มข้อมูลอะไรสักอย่างลงไปในบัตร การระบุ “โรคประจำตัว” และข้อมูลทางการแพทย์บางอย่าง อาจเป็นประโยชน์เสียมากกว่า เพราะไม่ว่าจะมองมุมไหนก็แทบไม่เห็นข้อดีของการระบุข้อมูลส่วนตัวเอาไว้บนบัตรให้ผู้คนเข้าถึงได้ง่ายๆ เช่นนี้เลยแม้แต่นิดเดียว
ดีไม่ดี แทนที่จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้รู้สึกดีขึ้น อาจกลายเป็นการซ้ำเติมและแบ่งแยกจากสถานะทางการเงินให้หนักเข้าไปอีก หรือมองในมุมมืดกว่านั้น นอกจากนี้ หลายคนยังกังวลว่าตัวเลขรายได้หลายหลักที่ต้องระบุเอาไว้บนบัตร จะยิ่งทำให้พวกเขาต้องสุ่มเสี่ยงต่อการตกเป็นเป้าหมายของอาชญากรได้มากขึ้นอีกต่างหาก
[ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "ฮิปสเตอร์ไปฆ่าพ่อมึงเหรอ"]
[ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "แต่เพื่อเงินฉันทำได้"]
[ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "กาย เบ็ญจ์"]
[ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "Talks Comics & Movie Thai"]
"ว่าด้วยเรื่องบัตรประชาชน ที่ต้องระบุอาชีพและรายได้” คืออีกโพสต์หนึ่งที่มีเนื้อหาน่าสนใจ เป็นโพสต์ของ “สุหฤท สยามวาลา” หนึ่งในผู้ได้รับการยกย่องว่ามีอิทธิพลบนโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กมากที่สุดคนหนึ่งของยุคนี้ ได้ช่วยวิเคราะห์นโยบายใหม่ล่าสุดจากฟากรัฐบาลเอาไว้ด้วยเหตุและผล ตามคำร้องขอว่า “อย่าเอาแต่ตั้งข้อสังเกต แต่ให้เสนอความคิดเห็นด้วย” จึงเป็นที่มาของความคิดเห็นที่ว่า ถ้าจะให้ใส่ “อาชีพ” ลงไปยังพอเข้าใจได้ แต่ถ้าให้ระบุรายได้ มันไม่น่าใช่ เพราะปกติไม่ใช่เรื่องที่ต้องเอามาเปิดเผยกัน และนี่คือปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาเป็นหางว่าว ถ้าระบุรายได้ลงไปในบัตรประชาชน
“1 รายได้แต่ละคนไม่แน่นอนเปลี่ยนทุกปี ยิ่งพนักงานที่ได้คอมมิชชัน ขึ้นกับผลงานเช่นพนักงานขาย จะลงรายได้อย่างไร มันก็ต้องลงเฉลี่ยไปแล้ว มันจะเชื่อถือได้แค่ไหนบนบัตรประชาชน มิต้องทำบัตรกันทุกปีรึ หรือให้ทำทุกเดือน
2 ถ้าบอกว่าจะได้รู้ว่าใครจนใครรวย จะได้ช่วยเหลือถูก ท่านก็ run ฐานข้อมูลบัตรประชาชนเทียบกับการเสียภาษี ผู้ที่ไม่ได้เสียภาษีก็คือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเพราะรายได้น้อย ก่อนจะช่วยท่านก็ตรวจสอบเอาว่าจริงหรือไม่ งานไม่น้อยกว่าหรือครับ
3 ข้อมูลที่อยู่บนบัตรประชาชน เป็นข้อมูลแท้ที่ต้องผ่านการตรวจสอบ การลงรายได้นั้นท่านจะมีวิธีตรวจสอบอย่างไรว่าทุกคนลงตัวเลขจริง ก็ต้องถามกรมสรรพากรแล้วเอาตัวเลขเดียวกันมาลง ในเมื่อมีอยู่แล้วก็จัดการให้ดีตรงนั้นดีกว่าไหมครับ หรือถ้าท่านคิดว่าการลงตัวเลขบนบัตรประชาชนจะถูกต้องกว่ากรมสรรพากร อย่างแรกที่ท่านต้องทำคือยกเครื่องกรมสรรพกรใหม่หมดก่อน
4 ถ้าจะต้องทำจริงๆ ผมก็ท้วงอะไรท่านไม่ได้ แต่เสนอให้ทำสามระยะครับ ระยะที่ 1 ให้ทำบัตรประชาชนใหม่แก่คณะรัฐมนตรี นายพลทั้งทหารและตำรวจ อธิบดี และ นักการเมืองทุกคน ระยะที่สอง ให้ทำกับข้าราชการทุกคน เมื่อทำทั้งสองระยะเสร็จ ให้เปิดเผยต่อสาธารณะชนเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบว่ามีระบบการกรองข้อมูลที่ถูกต้อง เมื่อได้ทั้งหมดแล้วมาระยะสามคือให้ประชาชนทุกคนทำ อย่างนี้ก็น่าจะโอมั้งครับ แต่ท่านต้องแน่ใจข้อมูลในบัตรประชาชนของระยะที่ 1 กับ 2 นะครับ เพราะมิเช่นนั้น คนที่จะไม่ได้รับความเป็นธรรมเลยก็คือประชาชนเองนั่นแล
5 งานนี้สงสัยท่านจะใช้กลยุทธ์สร้างความปรองดองแน่ๆ เลยครับ รับรองประชาชนจะรักกัน ไม่มีความเชื่อเรื่องการเมืองมาแบ่งแยก สร้างความสามัคคีดีเยี่ยม แต่ผมว่ามันมีอะไรให้สะสางอีกเยอะที่ยังคาใจประชาชนนะครับ ท่านทำตรงนั้นก่อนไหมครับ
6 ถ้าท่านอยากจะให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยโชว์บัตรประชาชนก็ได้สิทธิทันที ท่านก็ต้องมีฐานข้อมูลก่อนว่าใครได้รับสิทธินั้น ผมก็ยังไม่เห็นว่าจะต้องไปใส่รายได้อะไรในบัตรประชาชน เราสามารถเอา data มา mapping กันได้เลยครับ
ผมอาจจะเป็นผู้ที่มีความรู้น้อยนะครับ ใครทราบเหตุผลหรือว่าผมพูดผิดเข้าใจผิดตรงไหนก็บอกได้นะครับ เราจะได้เรียนรู้ร่วมกันด้วยการโต้แย้งที่มีเหตุผลมากกว่าด่ากันไปมา... สุหฤท สยามคุยกันดีๆ ด้วยเหตุผล"
ว่าด้วยเรื่องบัตรประชาชน ที่ต้องระบุอาชีพและรายได้เรื่องระบุอาชีพผมเฉย ๆ ใส่ได้เพราะจะไปไหนทำอะไรเขาก็ถามอาชีพ แต่เรื่...
Posted by DJ Suharit Siamwalla on Sunday, December 13, 2015
ที่ตลกร้ายยิ่งกว่านั้นคือ “นโยบายใหม่” ที่กำลังเป็นกระแสร้อนให้ได้ถกเถียงอยู่ในขณะนี้ กลับจุดชนวนให้หลายๆ คนหวนกลับไปนึกถึง “นโยบายเก่า” เมื่อครั้งยกเครื่องเปลี่ยนบัตรประชาชนเป็นแบบ “Smart Card” กันล็อตใหญ่ ไหนๆ ถ้าอยากแก้ปัญหาเรื่องฐานข้อมูลและการเสียภาษีของประชาชน หันไปใช้ศักยภาพบนบัตรที่มีอยู่ไม่ดีกว่าหรือ และนี่คืออีกหนึ่งเสียงโดนๆ จากแฟนเพจ "Drama-addict"
“สมาร์ทการ์ดหนึ่งใบ สามารถจุข้อมูลได้ 8K - 128K bit (8 bit = 1 byte 1K bit = 1000 bit บันทึกตัวเลขตัวอักษรได้ 128 ตัว สมาร์ทการ์ดหนึ่งใบสามารถบันทึกข้อมูลได้ถึง 1024-16384 ตัวอักษร)
กล่าวคือนอกจากจะบันทึกข้อมูลส่วนตัวของผู้ถือบัตร เช่น เลขที่บัตรประชาชน อายุ อาชีพ รายได้ วันเดือนปีเกิด กรุ๊ปเลือด เลขผู้เสียภาษีอากร ฯลฯ แล้วยังมีเนื้อที่เหลือให้บันทึกข้อมูลของ อากง อาม่า อาอี๊ อาแปะ เหล่าม่า เหล่ากง เหล่าโจ๋ม่า เหล่าโจ๋กง ย้อนสาแหรกตระกูลไปอีกเจ็ดชั่วโคตร
ก่อนจะคิดเรื่องเอาข้อมูลส่วนตัวที่ควรบันทึกในความทรงจำของสมาร์ทการ์ดมาแปะไว้เด่นหราบนบัตร ช่วยกันคิดหาวิธีใช้สมาร์ทการ์ดให้มันสมกับศักยภาพของมันก่อนเถิดครับ”
smartcard เป็นเทคโนโลยีที่มีมานานสามสิบกว่าปีแล้ว โดยสามารถบันทึกข้อมูลไว้ในสมาร์ทการ์ดได้นานถึงสิบปี โดยไม่ต้องมีแหล่งพ...
Posted by Drama-addict on Sunday, December 13, 2015
ล่าสุด นายกฯ ออกมาแก้ข่าว ให้รายละเอียดเพิ่มเติมแล้วว่า ข้อมูลบนบัตรที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงนั้น "ไม่ได้หมายความว่าจะใส่ในบัตรประชาชน" เพราะมันใส่ไม่ได้ มีแต่คนที่คิดโง่ๆ เท่านั้นถึงจะทำแบบนี้ได้
"จะบ้าหรือเปล่าคนที่คิดแบบนี้ เขาเพียงแค่ใส่ชิปเพิ่มเข้าอีกตัวเท่านั้นเอง ถึงเวลาก็เสียบการ์ดเข้าไปก็อ่านออกมาหมดว่าคนนี้ทำอะไร มันเสียหน้าตรงไหน กลัวเขาจะหาว่าเราจนหรือยังไง แค่ต้องการจะแยกแยะให้หมด แต่ไม่ต้องการไปแบ่งชนชั้น และต้องการจะให้สามารถเชื่อมโยงไปถึงการเสียภาษี ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถเมล์ ค่าเครื่องบิน ในการ์ดใบเดียวหรือสองใบ ซึ่งคนจนก็ใช้ได้" แค่นั้นเอง
[ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "SquidMan.ExE"]
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "Mao-Investor", "ฮิปสเตอร์ไปฆ่าพ่อมึงเหรอ", "Talks Comics & Movie Thai", "กาย เบ็ญจ์" และแฮชแท็ก #สิ่งที่ควรระบุในบัตรประชาชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- “บิ๊กตู่” บอกบ้าหรือเปล่าเขียนอาชีพบนบัตร ปชช. ยันใส่ในชิป ชูกองทัพเหนียวแน่น
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754