ปีใหม่ๆ เพื่อให้เข้าสมัย ต้องว่ากันด้วยเรื่องเทรนด์ใหม่ๆ อย่างเรื่อง “เทรนด์การบริโภค” ที่หลายต่อหลายคนอาจจะมองข้ามไป เทรนด์ที่จะทำให้เหล่าผู้บริโภคทั้งหลายตาสว่างจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ เทรนด์ที่เราต้องเฝ้าระวังร่วมกัน ถ้าไม่อยากตกเป็น “เหยื่อ” ซ้ำแล้วซ้ำอีก!!
เปลี่ยนใหม่! รื้อเส้นทาง “รถทัวร์สองชั้น”
“จริงๆ แล้ว ถ้าดูจากสถิติเรื่องราวร้องเรียนที่เข้ามาตลอดปี 58 และปีที่ผ่านมา เราไม่ค่อยห่วงเรื่องการตระหนักรู้ของผู้บริโภคเท่าไหร่แล้วค่ะ เพราะเห็นแล้วว่าเขารู้จักใช้สิทธิของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ที่น่าห่วงคือเรื่องกลไกการรองรับเรื่องสิทธิของเขามากกว่า จะทำยังไงให้ระบบมันดีขึ้นได้บ้าง โดยเฉพาะการชดเชยความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน”
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วยวิเคราะห์ปัญหาที่น่าหนักใจที่สุดเกี่ยวกับผู้บริโภคเอาไว้ พร้อมด้วยสถิติความสูญเสียที่แนบมาด้วย บอกเลยว่าจะตรวจสอบกันแบบขอไปทีไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ถึงเวลารื้อระบบขนส่งสาธารณะของประเทศกันอย่างจริงจังเสียที!!
[สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค]
“ที่น่าตกใจคือประเทศเราเกิดอุบัติเหตุเป็นอันดับ 2 ของโลก และติดอันดับ 1 ของอาเซียน แต่ตัวเลขนี้มันก็เป็นได้แค่สถิติ ความจริงคือเราเรียนรู้จากอุบัติเหตุน้อยมาก จะทำยังไงไม่ให้เกิดเหตุซ้ำๆ อีก เดี๋ยวรถคว่ำอีกแล้ว คนตายอีกแล้ว เราต้องกลับมาดูกันอย่างจริงจังสักทีว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องนี้ยังไงทั้งระบบ ถามว่าควรจะจัดให้รถทัวร์สองชั้นวิ่งไปภาคเหนือไหม ทั้งๆ ที่ตัวรถมันเก่าและทรงตัวยากอยู่แล้ว
ความคืบหน้าล่าสุดของทางรัฐบาล มีแต่ออกมาบอกว่าจะจัดการแค่เรื่องให้มีรถใหม่เพิ่มในปี 59 แล้วรถเก่าๆ ที่ผิดมาตั้งแต่ปี 56, 57, 58 ที่โทรมๆ ทรงตัวไม่ดีอยู่แล้วล่ะ คุณปล่อยไปได้ยังไง พวกนี้ต่างหากที่เราต้องมากวดขัน จะทำยังไงให้มีรถโดยสารสาธารณะตรวจสภาพก่อนใช้งานอย่างมีระบบ ไม่ใช่ว่ามาเบรกแตกหลังตรวจสภาพแล้วแค่ 7 วัน อย่างที่เพิ่งเกิดขึ้น แสดงว่าคุณไม่ได้ตรวจสภาพกันจริงจัง แสดงว่าคุณปล่อยปละละเลย มีคอร์รัปชันหรือเปล่า
ตอนนี้คนใช้สิทธิเป็น คนรู้ว่าถ้าประสบอุบัติเหตุ เขาต้องได้เงิน 2 แสนภายใน 7 วัน ถ้าเขาตาย โดยที่ไม่มีข้อโต้แย้งต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะทำยังไงให้ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิได้จริง ใช้แล้วหน่วยงานประกันต่างๆ ไม่อิดออด หรือแค่เรื่องการตรวจรถทัวร์ก็ได้ และจะทำยังไงให้บริษัทต้องรับผิดชอบมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ออกมาปรับปรุงคุณภาพรถของตัวเองเสียที”
อาจกำหนดไปเลยว่า ต่อไปนี้ต้องมีการสุ่มตรวจสภาพ “รถทัวร์” กันทุกๆ 3 เดือน หรือถ้าฝั่งภาครัฐคิดว่าถี่เกินไป ทำไม่ไหว กำลังไม่พอ ก็ต้องสร้างเครือข่าย ให้ภาคประชาชนเข้ามาช่วยตรวจสอบได้แล้ว ส่วน “รถตู้” กำหนดเลยว่าห้ามวิ่งเกิน 300 กม.ต่อวัน เพื่อป้องกันไม่ให้คิวรถนั้น มีคนขับเวียนกันทำรอบแข่งกับเวลาอยู่แค่ไม่กี่คน “นี่คือสิ่งที่ต้องทำ ไม่อย่างนั้น เราก็จะต้องอยู่กับวงจรสถิติอุบติเหตุ-การตายแบบนี้ไปตลอด”
ฟ้องยกกลุ่ม! เอาคืนสินค้าลวง
ยากินแล้วผอม ทาแล้วขาว ฟื้นสมรรถภาพให้ยืนยาวไปอีกหลายพันปี ฯลฯ กลุ่มยาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง โฆษณาลวงโลก ผิดกฎหมายแบบนี้ ผู้ประกอบการทั้งหลายเตรียมตัวรับกรรมเอาไว้ได้เลย!!
“แน่นอนว่าปัญหามันคงไม่ได้หมดไป แต่อย่างน้อย เราได้ไปจัดการกันที่ต้นตอ ไปควบคุมให้มีโฆษณาที่ถูกกฎหมายมากขึ้น ทาง กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) เองเขาก็พยายามมากที่จะทำให้เกิดการจัดการที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืน อาจจะดำเนินการถึงขั้นยึดใบอนุญาตได้เลย ก็ถือเป็นการเดินหน้าสร้างการจัดการที่เป็นรูปธรรมการร่วมมือกันจากหลายๆ หน่วยงาน
วางแผนกันเอาไว้แล้วค่ะว่า จะมีการจัดการเกี่ยวกับเรื่อง “ฐานข้อมูล” ที่จะใช้ร่วมกันให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการตามไปตรวจสอบใน IG ของพวกดารา, ของคนที่ทำโฆษณา หรือแม้กระทั่งรายการโทรทัศน์ที่ไม่มีเนื้อหาอะไรเลย เอาแต่เน้นขายของอย่างเดียว แบบนี้ไม่ควรถูกคิดรวมว่าเป็นรูปแบบรายการ ฯลฯ เรื่องเหล่านี้จะได้รับการจัดการมากขึ้น
ฝั่งผู้บริโภคทุกคนก็ช่วยกันจับตาดูค่ะ โซเชียลมีเดียน่าจะเข้ามามีบทบาทได้มากขึ้นอีกเยอะ โดยเฉพาะปี 59 นี้ น่าจะได้เห็นรูปแบบใหม่ๆ ของการขับเคลื่อนร้องเรียนโดยผู้บริโภคมากขึ้นจากกลไก “การฟ้องคดีแบบกลุ่ม” ซึ่งเพิ่งผ่านร่างกฎหมายและบังคับใช้เมื่อตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค.58
จากเดิมคนที่เคยเดือดร้อนจากการถูกหลอกในมูลค่าน้อยๆ อาจจะไม่อยากติดใจฟ้องร้องเอาความเพราะกลัวเสียเวลาดำเนินการทางคดี แต่พอมีกฎหมายตัวนี้ออกมา พอมีคนเดือดร้อนมากๆ เข้าจากกลุ่มธุรกิจเดียวกัน เขาสามารถรวมตัวกันมาฟ้องผ่านกระบวนการที่ง่ายขึ้น ทำให้หลายๆ คดีที่มีคนเดือดร้อนจากมูลค่าน้อยๆ แต่มีคนเสียหายในปริมาณมาก ได้โอกาสที่จะรวมตัวกันอาจจะเริ่มจากบนโลกออนไลน์ก่อน เพื่อตั้งกลุ่มฟ้องคดีให้ได้รับความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น”
ยืนหยัดเสียงแข็ง “ไม่เอา GMO!!”
อีกหนึ่งประเด็นที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือเรื่องการอนุญาตให้ปลูกพืชตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ตามร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ (พระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ) ซึ่งเป็นประเด็นร้อนส่งท้ายปีที่แล้วให้เหล่าผู้บริโภคได้ลุกขึ้นมาคัดค้านกันยกใหญ่ กระทั่งนายกฯ ยอมปัดตกไปก่อน แต่ก็ยังไม่วายทิ้งท้ายไว้ว่า พืช GMO เหล่านี้ใช้น้ำน้อย ต้านทานโรค มีผลผลิตสูง นิยมใช้ตอนสงครามโลก “แต่ขณะนี้ยังไม่เกิด และขออย่าเกิดสงคราม แต่ก็ต้องเตรียมตัวไว้”
ดูจากแนวโน้มแล้ว เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอบอกเลยว่าอย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ เพราะ พ.ร.บ.จีเอ็มโอ ซึ่งเป็นพันธสัญญาที่คุยกันมาตั้งแต่ปี 2540 แต่กลับถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงอีกในรัฐบาลนี้ แสดงว่าต้องมีนัยสำคัญอะไรบางอย่าง
“ต้องบอกว่าไม่มีผู้บริโภคที่ไหนในโลกนี้หรอกค่ะที่สนับสนุนพืช GMO มันไม่น่าจะใช่ทิศทางของประเทศเรา ทิศทางของเราน่าจะไปสู่พืชอินทรีย์หรือเกษตรธรรมชาติมากกว่า มันชัดเจนอยู่แล้วว่าคนที่จะประโยชน์คือมอนซานโต (Monsanto หนึ่งในบริษัทที่มีภาพลักษณ์แย่ที่สุดในอเมริกา เจ้าของผลิตภัณฑ์สารเคมีกำจัดศัตรูพืช, สารเร่งการเจริญเติบโตในสัตว์, ทั้งยังเป็นผู้ผลักดันพืชจีเอ็มโอ และต่อต้านการติดฉลากบนสินค้า) ขณะที่เมืองไทยเราไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย แถมยังจะมีแต่ปัญหา
เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากนะ มันเกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศเลย คุณลองคิดดูว่าอาหารของเรา เรามีข้าวโพดข้าวเหนียว ข้าวโพดข้าวก่ำ ข้าวโพดแปดแถว มีพันธุ์ข้าวโพดมากมายมหาศาล แล้วถ้าเรายอมให้ปลูก ข้าวโพด GMO เนี่ย ข้าวโพดมันจะข้ามสายพันธุ์ คุณต้องมีแปลงที่ห่างกันตั้ง 4.5 กม. เกสรมันถึงจะไม่ไปถึงกัน ซึ่งไม่มีวันเพราะแปลงเรามันไม่ได้ห่างกันขนาดนั้น แถมไม่มีใครตรวจสอบและจัดการเรื่องนี้ด้วย สุดท้าย เราก็จะไม่มีข้าวโพดแบบเดิมๆ กิน ซึ่งเราอยากเป็นแบบนั้นเหรอ ข้าวโพดข้าวเหนียวอร่อยจะตาย
สู้เราเอาจุดแข็งเรื่องพันธุ์พืชที่มีมากมายของเราออกมาจัดการดีกว่า ดีกว่าจะมารับเอาพันธุ์พืช GMO มาปลูกแล้วเราก็ไม่ได้ประโยชน์ ประเทศต้องมาถูกผูกขาดอยู่กับเมล็ดพันธุ์ ไม่มีความปลอดภัย ไม่มีใครสนับสนุน แล้วเราจะไปสู่ทิศทางนั้นทำไม?
ที่ต้องแก้ไขกันอย่างจริงจัง คือเราต้องหันมาจัดระบบเรื่อง “ฉลาก” กันใหม่ด้วยค่ะ เพราะอาหาร GMO ทุกวันนี้มันไม่ได้มีแค่ถั่วเหลืองและข้าวโพด อย่างสมัยปี 2545 ที่เพิ่งมีฉลากออกมาครั้งแรกนะ จากการสำรวจฉลากล่าสุด พบว่าแป้งมันสำปะหลังก็มี GMO, แป้งสาลีก็มี, มะละกอ, แครอท, มะเขือเทศ, ปลาแซลมอน ฯลฯ เพราะฉะนั้น ก็ควรจะทำให้มีฉลากและแยกประเภทให้ชัดเจนไปเลย
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราไม่ควรสนับสนุนการปลูกพืช GMO ท่ามกลางการปนเปื้อนที่คุณยังจัดการไม่ได้ ท่ามกลางความปลอดภัยของอาหาร GMO ที่ยังเป็นคำถามทั่วโลก เพราะฉะนั้น ไม่ว่ากระแสการบริโภคจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน ผู้บริโภคอย่างพวกเราควรยึดหลักเอาไว้ก่อน ท่อนเอาไว้เลยว่า “เราจะไม่สนับสนุนอาหาร GMO”
ถ้าผู้บริโภคร่วมกันสร้างเทรนด์การบริโภคใหม่ๆ แบบนี้ได้ สังคมการบริโภคของเราก็จะมีความเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องรู้จักใช้สิทธิของตัวเองในการลุกขึ้นมายืนหยัดต่อสู้ค่ะ เราเชื่อว่าการใช้สิทธิของคุณจะสร้างการเปลี่ยนแปลง ส่วนทางรัฐและฝั่งธุรกิจก็อย่าไปคิดว่าการคุ้มครองผู้บริโภคที่มากขึ้น จะทำให้ธุรกิจเสียหาย เพราะการคุ้มครองที่มากขึ้นจะช่วยให้เกิดการแข่งขันในตลาดที่ดีขึ้น ยิ่งผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองมากขึ้นเท่าไหร่ ประเทศเรายิ่งพัฒนาไปได้มากขึ้นเท่านั้น”
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ข้อมูลเพิ่มเติม: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754