xs
xsm
sm
md
lg

ถึงบางอ้อ! รู้แล้วบอกต่อ "โบกี้ ไม่ใช่ตู้รถไฟ" นะเธอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อพูดถึง "โบกี้" เชื่อว่าภาพแรกที่ปรากฎขึ้นมาในหัวสมองคือ "ตู้รถไฟ" แต่จริงๆ แล้วโบกี้ที่เราๆ ท่านๆ เรียกกัน มันไม่ใช่ตู้รถไฟอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เฟซบุ๊กแฟนเพจ "ทีมนั่งรถไฟ กับนายแฮมมึน" ได้โพสต์ "ภาพเล่าเรื่องสุดเปลือง 3G" โดยตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อเป็นความรู้ในแบบฉบับเข้าใจง่ายเกี่ยวกับการเรียกชื่อตู้รถไฟอย่างถูกต้อง โดยมีชาวสังคมออนไลน์ต่างพากันแชร์รูปภาพดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

สำหรับภาพเล่าเรื่องดังกล่าว บอกเล่าด้วยภาพ และข้อความ โดยให้ความสำคัญในประเด็น "โบกี้ ไม่ใช่ตู้รถไฟ" และ "ไม่ใช่คำที่ใช้เรียกรถไฟ" แต่มันคือ "อุปกรณ์หนึ่งของตู้รถไฟ" เท่านั้น ซึ่งมีคำเรียก "โบกี้" ในภาษารถไฟว่า "แคร่" หรืออุปกรณ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของล้อรถไฟ และรับน้ำหนักตู้รถไฟทั้งตู้เอาไว้นั่นเอง


หลายคนเคยชินกับคำว่า โบกี้ แล้วจะเห็นภาพว่าตู้รถไฟนั่นแหละ ที่เรียกว่าโบกี้กันอย่างดาษดื่น แต่จริงๆ แล้วทราบไหมว่า "โบกี...

Posted by ทีมนั่งรถไฟ กับนายแฮมมึน on Tuesday, December 8, 2015


ก่อนหน้านี้ ทางเพจได้ให้ความรู้ว่า เมื่อก่อนตู้โดยสาร หรือตู้สินค้านั้นจะมีขนาดไม่ใหญ่มาก และจะมีล้อด้วยกัน 4 ล้อ (2 เพลา) ตัวล้อนั้นเมื่อเวลาวิ่งจะมีการส่ายตัวสร้างความสมดุล จึงเกิดแรงสั่นสะเทือนกับตู้รถไฟ ซึ่งอุปกรณ์รับน้ำหนักและลดการสั่นสะเทือนก็จะเป็นแค่แหนบธรรมดา และเพลา/ล้อ ก็จะเป็นตัวกระจายแรงกดของตู้รถไฟนั้นๆ เช่น รถหนัก 10 ตัน เพลาแรกก็จะรับแรงกด 5 ตัน เพลาหลังก็จะรับแรงกด 5 ตัน เป็นต้น

เมื่อรถไฟมีการพัฒนาขึ้นให้ใหญ่ ยาว ขนของได้เยอะ แถมมีน้ำหนักมากขึ้น การใช้แหนบและมีล้อ 4 ล้อ จึงไม่สามารถทำได้อีก เพราะเพลาเพียง 2 เพลา จะต้องรับน้ำหนักมากขึ้น (เช่น รถหนัก 40 ตัน แต่ละเพลาจะต้องกดลงไปถึง 20 ตันเลยทีเดียว ซึ่งมีผลกับรางที่จะเกิดการโก่งงอ และหักได้) จึงต้องเพิ่มเพลาเข้ามาอีก 2 เพลา จนรถไฟต้องมี 8 ล้อ แต่การใช้แหนบนั้นจะไม่สามารถทำให้รถไฟใช้ความเร็วมากๆ ได้ ทำให้เกิดการคิดวิธีรับน้ำหนัก และทำให้รถไฟวิ่งได้เร็ว


ดังนั้น จึงแยกส่วนตู้รถไฟ กับล้อ ออกจากกัน โดยล้อ และเพลานั้น จะประกอบรวมกับอุปกรณ์ที่รับน้ำหนัก ประกอบด้วย สปริง โช้ค ถุงลม ฯลฯ เรียกว่า "โบกี้" ซึ่งตรงกลางของโบกี้จะมีรูตรงกลางให้ตู้รถไฟที่มีเดือย เสียบ และจิ้มลงมา เพื่อให้แยกอิสระจากตัวตู้รถ และเกิดการส่ายตัว หรือเข้าโค้งได้อย่างสมดุล เมื่อเป็นเช่นนี้โบกี้จึงไม่ใช่ตู้รถไฟ และการเรียกชื่อตู้รถไฟจะต้องใช้คำว่า "คัน" หรือ "ตู้" ถ้าเป็นรถไฟหลายๆ ตู้พ่วงเข้าด้วยกันเรียกว่า "ขบวน"

สอดรับกับหนังสือ ช่างรถไฟ ความรู้ทั่วไปด้านวิศวกรรมรถไฟ แต่งโดย นคร จันทศร อดีตรองผู้ว่าการรถไฟ และที่ปรึกษา สวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ที่ได้พูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ โดยยืนยันลักษณนามที่เรียกตู้รถไฟในภาษาไทย ซึ่งจะใช้คำว่า "คัน" หรือ "ตู้" ไม่ใช่ "โบกี้" อย่างที่ใครหลายคนเรียกกัน





มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น