xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ "วงตาวัน" หันมาโซโล่ออร์เคสตร้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


"ดึงเชือกสิ แล้วฉันจะยิ้มให้คุณ...ดึงอีกครั้งฉันอาจร้องไห้ แต่ไม่เป็นไร หากถูกใจของคุณ ดึงเชือกสิ ฉันอาจยิ้มให้อีกครั้ง แต่อย่าเพิ่งหวัง ครั้งนี้ฉันอาจร้องไห้ เพราะเชือกอาจขาด ฉันอาจหลุดลอยไป ไปทั้งที่ใจไม่อยากจะจากคุณเลย"

ท่วงทำนองเหงาเศร้าจากบทเพลง "หุ่นกระบอก" ดังแว่วออกมาจากห้องนั้น สิ้นเสียงบทเพลง ทั้งห้องซ้อมเงียบเสียงลง ทั้งวงกล่าวทักทายอย่างเป็นกันเองเมื่อเราเปิดประตูเข้าไป พร้อมกับเรื่องราวจากอดีตของ "วงตาวัน" ที่หวนกลับคืนมาอีกครั้ง แน่นอนว่า "วงตาวัน" เป็นวงดนตรีที่ไม่เหมือนใคร และมีฝีมืออย่างแท้จริง

ล่าสุด วงตาวัน กำลังจะมีคอนเสิร์ตให้แฟนๆ ได้หายคิดถึง พร้อมออร์เคสตร้าเต็มวง ในวันที่ 31 ต.ค. นี้ และในวันนี้เราได้มีโอกาสคุยกับพี่ต้นและพี่หมู สองคู่หูที่เคยร่วมวงกันมาตั้งแต่วงแมคอินทอช พร้อมบุกไปถึงห้องซ้อม ดูการซักซ้อมของพวกเขา ที่เรายังสามารถพูดได้เต็มปากว่า วงดนตรีระดับตำนานวงนี้ ฝีมือทางดนตรียังไม่มีตก ไม่ต่างไปจากวันก่อนๆ เลยสักนิด


"หลายคนไม่รู้นะว่าจริงๆ แล้วนี่ชื่อวงของเราคือวงตาวัน ไม่ใช่วงตะวัน" พี่หมูย้อนความถึงที่มาของชื่อวงชื่อ "วงตาวัน" ตั้งโดยคุณสันติ เศวตวิมล หรือ "กรวิก" ที่เป็นนามปากกาในการแต่งเพลง อันมีความหมายว่า "โค้งตะวัน" ส่วน "วง" ในที่นี้ หมายถึง "วงโค้ง" (ไม่ใช่วงดนตรี) ส่วนคำว่า "ตาวัน" นั้นเขียนแบบโบราณ หมายถึง "ดวงตาของวัน" ซึ่งก็คือดวงอาทิตย์นั่นเอง

ก่อนหน้าคอนเสิร์ตครั้งนี้ทั้งพี่หมูและพี่ต้นต่างมีชีวิตที่ค่อนข้างแตกต่างกัน เริ่มจากพี่หมูที่เล่าว่าไปทำเกษตรที่เชียงใหม่ พร้อมกับเป็นครูอาสาสอนดนตรีให้กับเด็กๆ "ผมก็ไปสอนให้บ้านพระเมตตา เป็นของคาทอลิก เป็นสถานที่บำบัดเด็กติดยาเสพย์ติด แล้วก็เป็นครูอาสา สอนดนตรีมาสามสี่ปีแล้ว เพราะดนตรีทำให้สมองคนเราพัฒนาขึ้น ละเอียดอ่อนขึ้น"

ส่วนพี่ต้นเล่าว่า ก่อนหน้านี้ไปทำวงนักดนตรีกับนักร้องคนอื่นๆ ในยุคเดียวกัน ในชื่อวง "the palace" (เหมือนชื่อไนต์คลับสมัยก่อน) "ตั้งวงตอนแรกจะเล่นสนุกๆ พอมีคนรู้ มีคนคิดถึง ก็มีคนมาจ้างไปเล่นตามงานทั่วไปไม่ได้จะจริงจังอะไรมาก ทำเพราะมีความสุขที่ได้เล่นดนตรีมากกว่า” (ในระหว่างเล่าพี่ต้นหยิบไม้กลองออกมาตีกับอากาศเป็นจังหวะ)

แฟนของวงตาวัน คงทราบกันดีว่าทางวงมีสมาชิกจากวงแมคอินทอช 3 คน ที่ออกมาแสวงหาแนวทางของตัวเอง โดยพี่ต้นเล่าว่าเป็นเพราะเมื่อตอนอยู่วงแมคอินทอช อันถือเป็นวงดนตรีที่มีความเป็นดาราอยู่ในตัว เพราะทางวงต้องไปแสดงหนังตลอดเวลา แล้วกว่าจะกลับมาเล่นดนตรีที่ไนต์คลับ พี่ต้นใช้คำว่า "ก็เหมือนกับเป็นศพกลับมาแล้ว"

ด้วยความเบื่อในการแสดงและอยากเล่นดนตรีอย่างจริงจังจึงออกจากวงมาพร้อมกับเพื่อนจากวงแมคอินทอชอีกสองคน

"วงแมคอินทอช มันไม่ตอบโจทย์เราหลายๆ อย่าง มันไม่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ เราตั้งวงแมคอินทอช เพราะอยากเล่นดนตรี แต่หัวหน้าวงเขามองอีกแบบ ตอนหลังรู้สึกมันไม่สนุกแล้ว ก็เลยออกมาเพราะอยากเล่นดนตรีจริงๆ จังๆ"

แม้ว่าในช่วงเวลาแรกพวกเขาจะเป็นนักดนตรีไร้สังกัด เล่นดนตรีตามห้องอาหารและที่โรงแรมเอเชีย เพื่อไล่ตามความฝันก็ตาม หากก็นับเป็นช่วงเวลาแห่งการบ่มเพราะประสบการณ์อย่างแท้จริง ปัจจุบันสมาชิกทั้งหมดประกอบด้วย วงศกร รัศมิทัต (ต้น) กิตติพันธ์ ปุณกะบุตร (หมู) มุรธา รัตนสัมพันธ์ (ปริ๊นส์) และอีกสองคน คือ พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (ปุ้ม) และชัยวัฒน์ จุฬาพันธุ์ (ขุน)

เมื่อถามถึงวงการเพลงตอนนี้ พี่ต้นทำหน้าครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนตอบด้วยน้ำเสียงเรียบเฉย "วงการเพลงตอนนี้จะว่าไป ผมว่าก็มีทั้งสิ่งที่ดีกว่าและไม่ดีไปกว่าในยุคก่อน แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือการสนับสนุนของพ่อแม่ผู้ปกครอง สมัยก่อนพวกเราต้องแอบแม่ไปเล่น เพราะสมัยก่อนยังมองว่าการเล่นดนตรีมันไม่เกิดประโยชน์ มันดูมั่วสุม ไร้สาระในสายตาผู้ใหญ่สมัยก่อน ซึ่งต่างจากสมัยนี้"

"ใช่" พี่หมูพูดเสริมขึ้น "ผู้ใหญ่สมัยก่อนเขาอยากให้เรียนไม่มีใครสนับสนุนให้มาเล่นดนตรีกันสักเท่าไหร่"

"ต่างจากสมัยนี้ที่ผู้ปกครองสนับสนุน บังคับเสียด้วยซ้ำให้ไปเรียนเปียโน ให้ไปเรียนโน่นนี่ ซึ่งสมัยก่อนเนี่ยพวกผมต้องแอบไปเล่น ฝึกกันเอาเองทั้งนั้น เพราะอะไร ก็เพราะสมัยนี้พ่อแม่มองอีกแบบ สมัยก่อนเล่นดนตรีจะถูกประณามหยามเหยียด เป็นชนชั้นอีกระดับหนึ่งที่ต่ำกว่าคนรับเงินเดือน แบบรถไฟ เรือเมล์ ลิเก ตำรวจ มีลูกสาวเขาไม่ให้จีบ บอกเล่นดนตรี โอ้โห ไม่ไหว กุ๊ย" หลังคำว่ากุ๊ย พี่หมูสบถออกมาเป็นภาษาอังกฤษพร้อมเสียงหัวเราะ "ฟักยูว!"

"ศิลปินสมัยนี้ บางทีอยากเป็นนักร้องคือบางทีเหมือนหวังแบบซื้อลอตเตอรี่ หวังรวย ซึ่งสุดท้ายจริงๆ แล้วก็เพราะว่าถ้าหากดังขึ้นมา ก็หวังในเรื่องของผลตอบแทน หรือพูดจริงๆ สุดท้ายคำตอบของการสนับสนุนนั้นก็อยู่ที่เงิน ส่วนน้อยจริงๆ ที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะสนับสนุนเพราะใจรักดนตรี ซึ่งก็มีแต่น้อยไง" พี่ต้นบอกเช่นนั้น

"ศิลปินสมัยนี้ บางทีอยากเป็นนักร้องเหมือนซื้อลอตเตอรี่ ยอดขายรายรับเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนอยากเล่นดนตรี พ่อแม่สมัยนี้สนับสนุน เป้าหมายกลายเป็นว่า อาจไม่ได้มีความสุขที่ได้เล่นได้ร้อง แต่มันก็มีวงเก่งๆ นะ อย่างบอดี้แสลม นี่ผมก็ว่าเขาเก่งนะวงใหม่มันก็มีดีในแบบของเขา บางทีมันก็เปรียบเทียบกันยาก คือถามว่าถ้าจะเป็นศิลปินสมัยนี้ลำบากกว่าสมัยก่อนไหม คือมันมีทั้งที่ลำบากกว่าและสบายกว่า เหมือนสมัยศิลปินรุ่นผม ก็มีแผ่นเสียง แต่ไม่มีเปอร์เซ็นต์ ได้แค่ค่าจ้างร้อง เป็นการขายขาด ต่อมาที่ยุคเทปพวกผมก็เป็นหัวหอกที่ทำให้คนรุ่นหลังได้ส่วนแบ่งตรงนี้"

ก่อนที่พี่หมูจะพูดเสริม "คือตั้งแต่สมัยวงแมคอินทอช สมัยนั้นยังไม่มีค่ายเพลงจริงจัง สมัยนั้นอยู่กับบัตเตอร์ฟลาย เป็นยุคที่แกรมมี่เพิ่งเริ่มวางระบบการแบ่งเปอร์เซ็นต์"

กล่าวได้ว่า วงตาวัน เป็นหัวหอกในการเรียกร้องส่วนแบ่งที่เป็นธรรม ทั้งเป็นวงดนตรีที่มักเรียกตัวเองว่า "ขบถ" เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่ทนไม่ได้กับความไม่เป็นธรรมจากนายทุน ที่ให้ส่วนแบ่งการออกอัลบั้มตามความพอใจ เพราะแม้ว่าเพลงจะเกิดจากมันสมองของศิลปิน แต่กลับถูกซื้อขาดจากนายทุนในราคาที่ค่อนข้างต่ำกว่าฝีมือและกำลังสมองที่ลงทุนไป ศิลปินยุคนั้นจึงยากจนอในขณะที่เจ้าของค่ายเพลงกลับร่ำรวย ทำให้พวกเขาต้องการนำเสนองานโดยมีลิขสิทธิ์เป็นของตัวเอง และสมาชิกแต่ละคนจะได้ส่วนแบ่งในการผลิตเพลงที่เป็นธรรมที่สุด และผลพวงจากการเรียกร้องนี้ก็ส่งผลให้เกิดระบบแบ่งเปอร์เซ็นต์จากยอดขายในยุคหลัง ก่อนที่ปัจจุบันจะถูกแทนที่ด้วยยอดดาวน์โหลดยูทูป

"แต่ศิลปินสมัยนี้ก็จะสูญเสียรายได้จากการขายแผ่นเสียง มันก็เป็นวัฏจักรของมัน แต่ผมก็ยังเชื่อว่า ศิลปินสมัยนี้หากมีฝีมือจริงๆ ยังไงก็อยู่รอดได้แน่นอน"

เมื่อกลับมาคุยกันถึงเหตุผลในการจัดคอนเสิร์ตครั้งนี้ พี่ต้นเล่าว่า เกิดจากการชักชวนของ วินิจ เลิศรัตนชัย

ที่ปกติทำงานอยู่กับพี่ปุ้มอยู่แล้ว "เขาอยากจะเห็นวงตาวันเล่นกับวงออร์เครสต้าสักครั้งหนึ่ง เลยบอกผ่านมาทางปุ้ม เราเริ่มซ้อมกันมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนแล้ว แต่ไม่ได้ซ้อมทุกวัน เพราะแต่ละคนก็มีภาระหน้าที่ แรกๆ ซ้อมกัน 2 วัน แต่ตอนนี้ใกล้คอนเสิร์ตแล้วก็เพิ่มเป็น 3 วันต่อสัปดาห์"


"เดอะ ซิมโฟนิค ออฟ วงตาวัน (The Symphonic of WongTawan) จะเป็นคอนเสิร์ตใหญ่เต็มรูปแบบที่มาพร้อมกับวงออเคสตร้า "มหานครฟิลฮาร์โมนิกออร์เคสตร้า" และคอรัส กว่า100 ชีวิต ควบคุมวงโดย คุณแจ็ค-อภิสิทธิ์ วงโชติ คอนดักเตอร์ฝีมือเยี่ยมของเมืองไทย โดยจะมาบรรเลงเพลงฮิตจาก 4 อัลบั้มที่อยู่ในความทรงจำ อาทิ หุ่นกระบอก มีเธอ ดูดาว สู่แสงแห่งตะวัน ร้องเพลงเถิด เสียงกระซิบจากสายฝน ใจหิน Sweetness ฯลฯ

โดยมีสุทัศน์ ก่อเกียรติ หรือ ป๊อก Mr.Team จาก Mr.Team Productions ผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงดนตรีมาอย่างยาวนานและมีผลงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็น งานคอนเสิร์ต "H.M. Blues ร้องบรรเลงเพลงของพ่อ" งาน "พระมหาชนก เดอะ ฟีโนมีนอน ไลฟ์ โชว์" ฯลฯ มาช่วยดูแลในเรื่องของระบบเสียงเพื่อให้คอนเสิร์ตมีความสมบูรณ์แบบที่สุด"


สำหรับคอนเสิร์ต "เดอะ ซิมโฟนิค ออฟ วงตาวัน (The Symphonic of WongTawan) จะมีขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม นี้ ณ มหิดลสิทธาคาร (Prince Mahidol Hall) หอประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งถือเป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตที่มีระบบแสงเสียงระดับ “ท็อป” ของโลก โดยผู้เข้าชม 2,000 คน จะได้รับอรรถรสทางดนตรีที่เหมือนกันไม่ว่าจะนั่งชมคอนเสิร์ตจากมุมไหนของมหิดลสิธาคารก็ตาม

"วงดนตรีร็อคแทบทุกวง มีความฝันคือวันหนึ่งอยากจะเล่นกับวงออร์เคสตร้า ในแบบซาวด์ของเรา เป็นความฝันที่สุดยอดที่สุดในชีวิตนักดนตรีแล้ว" พี่หมูพูดทิ้งท้ายในวันที่ความฝันของวงกำลังจะเป็นจริง

บทสนทนาจบลง-เสียงกลองดังขึ้น ก่อนที่จะตามมาด้วยไลน์เบสและกีตาร์ ประสานไปกับซาวด์อลังการจากพี่ปุ้ม พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา สุดยอดsound engineer ของเมืองไทยที่เพิ่งตามมาสมทบ บทเพลงหนึ่งจากอัลบั้มThe Promise ถูกบรรเลงขึ้นในซาวด์แบบโอเปราร็อค ครู่หนึ่งเรานึกถึงซาวด์อลังการของอัลบัม tommy (คณะThe who) ที่ได้รับการยกย่องไปทั่วโลก

"วงตาวัน" เดินนำหน้าวงการเพลงไทยไปไกลมากจริงๆ

เรื่อง - ดาม่อน
ภาพ - พลภัทร วรรณดี
(ขอบคุณภาพบางส่วนจาก Facebook-WongTawan)



มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...

Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015

รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"



มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น