เพราะความสวยความงาม และรูปร่างที่ดีเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ต้องการ แต่หากต้องการมากเกินไป ก็อาจเป็นโทษได้เช่นกัน หลายครั้งกับปัญหา ‘ยาลดความอ้วน’ ที่ทำลายชีวิตคนมานักต่อนัก เพราะกลัวไม่สวย และอยากมีรูปร่างที่ดี ผู้หญิงหลายต่อหลายคนจึงยอมเสี่ยงด้วยวิธีทางลัด และต่อไปนี้คืออุทาหรณ์ล่าสุดเกิดขึ้นกับพริตตี้สาวที่เกือบต้องสังเวยชีวิตเพราะ ‘ยาลดความอ้วน’ !!
หวิดตายเพราะ ‘ยาลดความอ้วน’
ความอยากสวยอยากงามกลับเป็นข่าวปรากฏตามหน้าสื่ออีกครั้ง “พริตตี้สาวนั่งขอบหน้าต่างชั้น 16 คอนโดฯหรู ก่อนดิ่งตึก” กลายเป็นข่าวสะเทือนใจ เหตุเนื่องมาจากผลข้างเคียงจากการกินยาลดความอ้วนทำให้เกิดอาการทางประสาท หลัง “แต้ว” หรือ นางสาวรังสิมา สิริชัยบริบูรณ์ อายุ 28 ปี สวมชุดนอนสายเดี่ยวสีชมพู นั่งแกว่งขาอยู่บนระเบียง และมีอาการเหม่อลอย ออกมานั่งอยู่ขอบหน้าต่าง คอนโดลุมพินี วิลล์ ถ.อ่อนนุช ซ.7 ท่ามกลางความหวาดเสียวของใครหลายคนที่พบเห็น ก่อนที่ตัดสินใจกระโดดลงมาจากริมระเบียงชั้นที่ 16
ทว่า เคราะห์ดีที่ร่างของหญิงคนดังกล่าวไม่ได้รับอุบัติเหตุมากนัก เพราะร่างของเธอตกลงกลางเบาะลมที่เจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเตรียมกางรอไว้ เมื่อร่างของหญิงสาวดิ่งลงสู่เบาะลมเจ้าหน้าที่จึงรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 1 ทันที ซึ่งก็พบว่าอาการของเธอปลอดภัยดีและไม่ได้รับอันตรายมากนัก
จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญนี้ มารดาของนางสาวรังสิมาให้การว่า เมื่อช่วงเช้าตนกับลูกสาวมีปากเสียงทะเลาะกัน ก่อนที่ตนจะออกไปซื้อข้าวที่ตลาด เมื่อกลับมาพบว่าลูกสาวกำลังนอนอยู่บนเตียง และลุกขึ้นมาทำร้ายร่างกายของตนด้วยความคลุ้มคลั่ง โดยกัดบริเวณจมูกและแขนทั้ง 2 ข้าง จากนั้นลูกสาวได้เปิดหน้าต่างภายในห้องนอนออกมานั่งห้อยขา ตนกลัวว่าลูกสาวจะกระโดดลงไป จึงแจ้งกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ช่วยเหลือ
โดยคิดว่าเหตุการณ์นี้ มาจากการที่ลูกสาวของตนกินยาลดความอ้วนต่อเนื่องเป็นเวลานาน จึงเกิดผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการทางประสาท โดยลูกสาวไม่ได้รับประทานยารักษาอาการทางประสาทมากว่า 5 ปีแล้ว ประกอบกับลูกสาวเพิ่งจะออกจากงานสถานบันเทิงแห่งหนึ่งย่านสุขุมวิทจึงเกิดความเครียดดังกล่าว
เมื่อประเด็นการกินยาลดความอ้วนทำให้เกิดโรคประสาทแพร่สะพัดออกไป ได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก โดยคนที่เคยตกอยู่ในสภาวะดังกล่าวนี้ ก็ได้ออกมาให้ความเห็นต่างๆ นานา โดยให้ข้อคิดเตือนใจกับคนที่กำลังคิดจะลดน้ำหนักด้วยวิธีทางลัดอย่างการกินยาลดความอ้วนว่าเคยผ่านช่วงเลวร้ายนี้มาแล้ว ทรมานเป็นอย่างมากและถือว่าเป็นบทเรียนราคาแพง ซึ่งถ้าย้อนกลับไปได้คงไม่กินยาอันตรายพวกนี้แน่นอน
“เคยกินยาแบบนี้ หลอนเหมือนเป็นบ้ามาเหมือนกัน ช็อก ชักเข้าโรงพยาบาลนอนไอซียูอาทิตย์หนึ่ง ต้องล้างท้อง เจาะเลือดทุกวัน ให้น้ำเกลือ ให้ยา ให้ออกซิเจนตลอดเวลา ทรมานมาก ตอนนี้อ้วนท้วนสมบูรณ์ดีแล้ว แต่ถ้าถามว่าหายแล้วร่างกายกลับมา 100% เหมือนเดิมไหม ตอบเลยว่า ไม่ เพราะจะมีอาการหัวใจเต้นเร็วและมือสั่นเป็นพักๆ ที่เล่ามาเป็นเรื่องจริงอยากบอกว่ามันทรมานมาก อย่ากินเลยยาพวกนี้”
“สมัยสาวๆ เคยกินหมอดังแถวหน้าราม กินไปได้ 2 อาทิตย์ น้ำหนักลดลงมาก แต่อาการข้างเคียงคือ นอนไม่หลับ รู้สึกกระสับกระส่าย เหมือนดีดๆ หงุดหงิดๆ เวลาจะนอนหลับตาแล้วทุกอย่างหมุนๆๆๆ คอแห้งมาก เลิกเลยค่ะ กลัวตายมากกว่ากลัวอ้วน”
“เพื่อนช็อกมาแล้ว สลบไป 2 วัน ตื่นมาพูดไม่รู้เรื่อง มีอาการทางจิตต้องบำบัดอยู่หลายเดือนกว่าจะกลับมาเป็นปกติ ส่วนเรากระเพาะและลำไส้เป็นแผลปวดท้องแทบตายเพราะกินยาและไม่หิวข้าวเลยไม่กินอะไรเลย ค่ายาลดความอ้วนหลักร้อย นอนโรงพยาบาลคืนเดียวครึ่งหมื่นไม่คุ้มเลย ถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะไม่กินเด็ดขาดเป็นบทเรียนราคาแพง จำจนตาย!”
ตายไม่กลัว...กลัวไม่สวย
ถึงข่าวครึกโครมในเรื่องความเสี่ยงของการกินยาลดความอ้วนโดยไม่ได้รับมาตรฐานจะออกมาให้เห็นเป็นระยะๆ ทว่า ผู้หญิงหลายต่อหลายคนก็ไม่หวั่น และยังอยากสวยด้วยวิธีทางลัด ประเด็นข้างต้นได้รับความสนใจ และถูกแชร์สะพัดทั่วโลกออนไลน์ ไม่เว้นแม้แต่เพจชื่อดัง ‘Drama-addict’ ซึ่งก็ได้ออกมาพูดถึงประเด็นดังกล่าวนี้ด้วย
โดยกล่าวว่าการกินยาลดความอ้วนทำให้มีอาการทางจิตประสาท และส่วนประกอบเป็นสารต้องห้าม ที่ประกาศเลิกใช้มานานแล้ว แต่ก็มียังมีผู้ประกอบการบางรายลักลอบนำสารตัวนี้มาเป็นส่วนประกอบ และหลอกขายประชาชนอยู่เรื่อยไป
“การกินยาลดความอ้วนทำให้มีอาการทางจิตได้จริง ส่วนมากพวกนี้มักเป็นกลุ่มที่ใช้ ไซบูทรามีน ซึ่งปัจจุบันเป็นสารต้องห้าม ห้ามใส่ในอาหารและยาไปแล้ว กลไกการทำงานของมันคือ ไปออกฤทธิ์ที่สมองเกี่ยวกับสารสื่อประสาท ทำให้รู้สึกเบื่ออาหาร ไม่อยากกินข้าว สมัยก่อนเคยใช้เป็นยาลดความอ้วน แต่ภายหลังพบว่าผลข้างเคียงมากมายมหาศาลมาก จึงประกาศให้เลิกใช้
แต่ในบ้านเรายังคงมีพ่อค้าแม่ค้าเอาสารตัวนี้มาผสมในอาหารเสริมมั่ง ในกาแฟมั่ง แล้วหลอกขายประชาชนอยู่เนืองๆ ผลข้างเคียงเกี่ยวกับจิตประสาทที่อาจพบได้ในคนที่ใช้ยากลุ่มนี้คืออาการซึมเศร้า หูแว่ว หวาดระแวง ทุกวันนี้พวกผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างว่าลดความอ้วนได้ ส่วนมากมีสารตัวนี้ผสมทั้งนั้น ถ้าไม่อยากป่วยทางจิต แนะนำอย่าพึ่งของพรรค์นี้ คุมอาหาร และออกกำลังกายจะดีกว่า”
และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของประเด็นข่าวผลข้างเคียงจากการกินยาลดความอ้วน ทั้งที่ตกเป็นข่าวและสาวๆ อีกหลายคนที่อาการไม่รุนแรงนัก หลากหลายคำวิจารณ์ถึงความประมาทของเหล่าพริตตี้หรือแม้แต่หญิงสาวทั่วไปที่อยากมีหุ่นสวยสมใจ แต่สุดท้ายก็เกิดอันตรายอย่างไม่ทันได้คาดคิด จนบางคนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ทางด้านเพจ ‘สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย’ เองก็เคยกล่าวเอาไว้ถึงฤทธิ์อันร้ายแรงของยาลดความอ้วนเช่นกัน โดยกล่าวให้ข้อมูลถึงยาที่เป็นอันตราย ไม่ควรรับประทาน และยาที่มีผลข้างเคียงน้อยต่อร่างกายที่สุดความว่า ปัจจุบันจะพบเห็นคลินิกลดความอ้วนได้เต็มไปหมด ทั้งที่เปิดโต้งๆ และเปิดแบบแอบๆ รวมทั้งร้านขายยา และคลินิกเถื่อนที่ตั้งโดยไม่ถูกกฎหมายอีกจำนวนมาก
จากข้อมูลเก่าในปี 2547 พบว่าคลินิกลดความอ้วนที่ถูกต้องตามกฎหมายในกรุงเทพฯ มีมากกว่า 1,800 แห่ง มีการจ่ายยาลดความอ้วน (นับเฉพาะที่ถูกกฎหมาย) โดยองค์การอาหารและยาไปปีเดียวมากกว่า 15 ล้านเม็ด ซึ่งไม่ต้องนึกเลยว่า ปัจจุบันนี้คาดกันว่าตัวเลขจะสูงกว่านี้อีกหลายเท่า ยิ่งหากนับยาที่จ่ายไปโดยร้านขายยาเถื่อน คลินิกเถื่อน และยาเถื่อนไปด้วยคาดว่าคงมีจำนวนหลายสิบล้านเม็ด
โดยจะมียาที่ออกฤทธิ์ผ่านระบบประสาทส่วนกลางหรือในส่วนของสมอง โดยยาในกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดในทางกฎหมายแล้วจัดว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท แปลว่าห้ามจำหน่ายเองโดยร้านขายยาหรือในสถานลดน้ำหนักที่ไม่ใช่สถานพยาบาล แต่ในชีวิตจริงก็พบว่าสามารถหาซื้อได้ทั่วไป
โดยตัวอย่างยายอดนิยมในกลุ่มนี้ได้แก่ ยาไซบูทรามีน (Sibutramine เป็นชื่อสามัญ แต่หลายคนอาจรู้จักในชื่อการค้ามากกว่าคือ Reductil) และยาเฟนเทอมีน (Phentermine) ซึ่งยาในกลุ่มนี้จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลควบคุมของแพทย์อย่างใกล้ชิด และห้ามใช้ติดต่อกันนานเกินกว่า 2-3 สัปดาห์โดยเด็ดขาด และยังมีผลโยโย่เอฟเฟกต์ (Yoyo effect) ซึ่งหมายความว่าจะลดได้ชั่วคราวเท่านั้น แต่กลับมาอ้วนกว่าเดิมและเป็นไขมันล้วนๆ
อีกตัวหนึ่งก็คือยาที่ออกฤทธิ์ขัดขวางการดูดซึมไขมันที่ลำไส้ ในปัจจุบันมีอยู่ตัวเดียวที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริการับรองให้ใช้ได้ รวมถึงในไทยด้วยคือยาโอลิสแตต (Orlistat หรือชื่อการค้าคือ Xenical) ยาตัวนี้ออกฤทธิ์โดยทำการยับยั้งการย่อยสลายไขมันในอาหาร ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมได้ และทำให้ปริมาณไขมันที่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายน้อยลง
หากเทียบกับยาในกลุ่มก่อนหน้านี้ ยาตัวนี้ถือว่ามีผลข้างเคียงที่น้อยกว่าเยอะ และค่อนข้างปลอดภัยกว่า รวมทั้งไม่มีผลข้างเคียงในเรื่องอาการทางจิต แต่ที่ทำให้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไหร่คือยามีผลข้างเคียงทำให้ถ่ายออกมาเป็นไขมัน เป็นมูก ๆ บางทีอาจมีไขมันซึมออกมาจนเปื้อนกางเกงในได้
คิดใหม่! ผอมได้ ไม่ต้องพึ่งยา
ผู้มีสิทธิ์จ่ายยาจะต้องเป็นแพทย์เท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงและอันตรายตามมา จากคำสัมภาษณ์ของ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่เคยกล่าวเอาไว้ด้วยความเป็นห่วง สำหรับสาวๆ ที่คิดจะผอมด้วยวิธีทางลัดอย่างการกินยาลดความอ้วนที่อ้างสรรพคุณว่า เห็นผลเร็ว ไม่เกิดอันตรายแถมยังมีราคาถูก
“โดยหลักการแล้ว ผู้มีสิทธิ์จ่ายยาจะต้องเป็นแพทย์ ภายใต้การควบคุมการเบิกจ่ายยาลดความอ้วนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งขณะนี้พบว่ามีปริมาณการใช้ยาลดความอ้วนลดลง และตามทฤษฎี แพทย์จะจ่ายยาให้รับประทานติดต่อกันได้เพียง 3 เดือน หากไม่ได้ผลแพทย์จะเปลี่ยนวิธีการรักษา เพื่อไม่ให้เกิดอาการข้างเคียงอันตราย เช่น อาการประสาทหลอนจากการกินติดต่อกันนานเป็นปี”
อีกทั้ง ในปัจจุบันยาลดความอ้วนยังมาในรูปแบบของอาหารเสริม เพื่อเลี่ยงการใช้ยาลดความอ้วนโดยตรง หากฟังแบบนี้แล้วอาจจะดูดี แต่หากล้วงลึกไปถึงส่วนผสม และพบว่ามีตัวยาที่ไม่ได้รับการรับรองจากแพทย์แล้ว ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย อันตรายต่อร่างกายและไม่ควรรับประทานอยู่ดี
“ในปัจจุบันพบว่าวัยรุ่นไทยจำนวนมากโดยเฉพาะสตรี นิยมใช้ยาลดความอ้วนในการลดน้ำหนัก และมีค่านิยมที่จะต้องมีรูปร่างผอมมากจึงจะเรียกว่ามีรูปร่างดี ทำให้ผู้ที่ไม่นิยมออกกำลังกาย เพื่อลดน้ำหนัก หันมาเข้าคลินิกลดความอ้วนซึ่งเปิดบริการเพิ่มขึ้นมากในขณะนี้แทน
จากการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่า ขณะนี้การจ่ายยาลดความอ้วนต่างๆ มักจัดไว้เป็นชุด ให้รับประทานเหมือนกันในแต่ละวัน มีตัวยาประมาณ 1-6 รายการ เช่น ยาลดอาการความอยากอาหาร ยาเพิ่มการเผาผลาญอาหาร ยานอนหลับ ยาขับปัสสาวะ ยาระบาย และวิตามิน และยาลดความอ้วนเหล่านี้ยังขายในรูปของอาหารเสริมเพื่อเลี่ยงการใช้ยาลดความอ้วนโดยตรงแทน ฟังแล้วดูดี ไม่น่ามีอันตราย”
อุทาหรณ์ครั้งนี้ไม่ได้จบลงตรงที่การเลิกกินยาลดความอ้วนโดยที่ไม่ได้รับมาตรฐานเท่านั้น แต่อีกสิ่งที่น่ากังวลคือยาลดความอ้วนบางชนิดมาในรูปแบบของอาหารเสริม ลักลอบนำสารอันตรายเข้ามาเป็นส่วนประกอบและนำมาโฆษณาขายในราคาถูก ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
เพราะฉะนั้น จะดีกว่าหรือไม่หากหันมาดูแลสุขภาพร่างกายด้วยการออกกำลังกายเพื่อการลดน้ำหนัก รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ทานจำพวกแป้งและอาหารที่มีน้ำตาลสูง แต่หันมาทานผัก ผลไม้ เพื่อให้กากใยต่อร่างกายเพื่อให้มีระบบขับถ่ายที่ดีแทน ไม่กินยาลดความอ้วนที่นอกจากจะส่งผลให้เกิดโยโย่เอฟเฟกต์แล้ว ร่างกายยังเกิดความเสี่ยงและอาจจะเกิดอันตรายเฉกเช่นกรณีข้างต้นนี้ก็เป็นได้
ข่าวโดยASTV ผู้จัดการLive
ขอบคุณข้อมูลบางส่วน: เฟซบุ๊ก สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และ Drama-addict
มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...
Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754