"ยาล้างไต" ถูกจุดประเด็นขึ้นอีกครั้งในสังคมไทย เมื่อเพจ Drama-addict ยกขึ้นมานำเสนอถึงความเข้าใจผิด คิดว่ากินแล้วปัสสาวะเปลี่ยนสีคือการล้างไต แต่จริงๆ แล้วถูกหลอกเต็มๆ ด้านคุณหมอ และอย. เคยออกมาเตือนอย่าตกเป็นเหยื่อ เพราะอาจส่งผลให้ไตวายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
ทันทีที่เพจ Drama-addict หยิบยกข้อความจากผู้ใช้โซเชียลฯ รายหนึ่ง ซึ่งติดต่อมาถามถึง "ยาล้างไต" ที่ขายตามตลาดนัด ทำให้ "ยาล้างไต" กลับมาเป็นที่สนใจของสังคมอีกครั้ง แม้จะเป็นเรื่องเดิมๆ แต่ก็เป็นเรื่องเก่าที่ใครหลายคนยังมีความเข้าใจผิดๆ อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ที่มักจะตกเป็นเหยื่อของยาดังกล่าว
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เภสัชกร สุรศักดิ์ วิชัยโย ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เคยเขียนบทความไว้ในเว็บไซต์ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยทีมข่าวผู้จัดการ Live ขออนุญาตคัดลอกเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านในการเข้าใจที่ถูกต้อง
สำหรับ "ยาล้างไต" มีผู้ป่วยมาขอซื้อยาล้างไตที่ร้านยาด้วยวัตถุประสงค์แตกต่างกัน เช่น บางรายมีอาการปวดบริเวณเอวด้านหลังและกลัวว่าจะเป็นโรคไต จึงอยากได้ยาล้างไตเพื่อล้างทำความสะอาดและขับสารพิษออกจากไต หรือบางรายมีอาการปัสสาวะแสบขัดหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน จึงอยากได้ยาล้างไตโดยเข้าใจว่าจะสามารถล้างภายในอวัยวะเพศและทางเดินปัสสาวะให้สะอาดได้
ทว่าในความจริงแล้ว ไม่ได้มีสรรพคุณช่วยล้างไตอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ เป็นเพียงยาที่มีข้อบ่งใช้สำหรับขับปัสสาวะและบรรเทาอาการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากในตำรับยา ประกอบด้วยสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ และขับปัสสาวะ นอกจากนี้ ยังมีการเติมสีเข้าไป เช่น เมทิลีนบลู ซึ่งเป็นสารสีน้ำเงิน เมื่อรับประทานยา ปัสสาวะจะมีสีน้ำเงินหรือเขียว ขึ้นกับสีพื้นเดิมของปัสสาวะว่าใส หรือเหลือง จึงอาจทำให้ผู้ป่วยบางรายเข้าใจว่ายาไปขับสารพิษหรือสิ่งสกปรกภายในไตและทางเดินปัสสาวะออกมา
ความน่ากลัวคือ หากใช้ยานี้อย่างไม่เหมาะสม อาจทำให้ไม่ได้ผลในการรักษาโรค เช่น หากอาการปวดเอว หรืออาการปัสสาวะขัดนั้นมีสาเหตุจากนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ยานี้คงไม่สามารถรักษาให้หายได้ หรืออาจได้รับผลเสียจากยา เช่น สารเมทิลีนบลู ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่ไตบกพร่องรุนแรง และไม่ควรใช้ในผู้ที่มีภาวะพร่องเอ็นไซม์จีซิกพีดี (G6PD deficiency) เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้ง่าย อีกทั้งสารดังกล่าวอาจตีกับยาบางชนิด เช่น หากใช้ร่วมกับยาต้านอาการซึมเศร้า อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากยาต้านอาการซึมเศร้าได้
ทางที่ดี เมื่อเจ็บป่วย และมีความประสงค์ที่จะใช้บริการร้านยา ผู้ป่วยควรแจ้งอาการเจ็บป่วยที่เป็น ให้เภสัชกรทราบ เพื่อให้ได้รับคำแนะนำในการรักษาและการใช้ยาอย่างถูกต้องเหมาะสม หรือควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการหรือโรคนั้นๆ
ด้านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก็เคยออกมาเตือนเรื่อง "ยาเม็ดล้างไต" หลังตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่ อย.อนุญาต ปรากฏว่า ไม่มียารูปแบบยาเม็ดที่มีสรรพคุณล้างไตแต่อย่างใด และไม่พบการขออนุญาตโฆษณาขายยาที่แสดงสรรพคุณว่าสามารถล้างไตได้ ซึ่งยาล้างไตจะมีลักษณะเป็นยาน้ำ และต้องเข้ารับการล้างไต โดยใช้อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่สถานพยาบาล และได้รับการดูแลรักษา จากแพทย์อย่างใกล้ชิด
เพราะฉะนั้น อย่าหลงเชื่อโฆษณาอวดอ้างเด็ดขาด เพราะการกินยาที่มีสรรพคุณบรรเทาอาการอักเสบในกระเพาะปัสสาวะ และระบบทางเดินปัสสาวะไม่สามารถล้างไตได้ แต่อาจจะส่งผลให้ไตวายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงขอเตือนผู้ที่โฆษณาผลิตภัณฑ์ยาโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.หรือโฆษณา โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หากตรวจพบจะดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยต้องระวางโทษปรับสูงสุดถึง 100,000 บาท
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754