เทคโนโลยีใหม่ๆ นวัตกรรมดีๆ ถ้าไปอยู่ในมือของคนแย่ๆ ก็มีแต่จะเกิดหายนะ... ไม่ต่างไปจากฟีเจอร์ “Facebook Live” ที่กำลังใช้กันสนั่นโลกออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊กส่วนบุคคล ทั้งแอดมินเพจ ต่างใช้ฟังก์ชันนี้ “อัดคลิปถ่ายทอดสด” เพื่อดึงดูดความสนใจผู้ติดตาม ล่าสุด ถึงขั้น Live หนังดังจากในโรงให้ดูกันสดๆ เพื่อเรียกเรตติ้ง!! โดยไม่สนเรื่องผิดกฎหมายลิขสิทธิ์
บางรายนึกสนุก กด Live “หนังสด” ถ่ายฉากโจ๋งครึ่มให้ดูเป็นตัวอย่าง หรือแม้แต่การ Live “ยิงตัวตาย” ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว!! ไม่รู้ว่าต่อไปจะมี “Live สายมืด” แบบไหนเกิดขึ้นอีกบ้าง? เพื่อสังเวยสังคมแห่งการคลั่งยอดวิว เสพติดยอดไลค์ สนใจแต่ยอดแชร์ จนหน้ามืดตามัวกันไปหมดแล้ว!!
ไม่น่ารักเลย! “Live สายมืด”!!
[ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "Drama-addict"]
“ประเทศนี้ พลเมืองมันเป็นอะไรของมัน ช่องแชตใน youtube live ที่เขาเอาไว้ให้เมนต์ถามคำถาม แสดงความเห็น เวลามีอีเวนต์สำคัญๆ ที่เขาถ่ายทอดสดให้ดู แบบตอนดาวพลูโต คนไทยก็เอามาฟลัดอวดศักดาง่าวๆ กันรัวๆ
หรืออย่างฟังก์ชั่น live video ของเฟซบุ๊ก ที่เอาไว้ถ่ายคลิปออนแอร์กันสดๆ แม่งก็เอาไปเปิดหนังซูม live หรือเข้าไปแอบถ่ายจากในโรงมา live กันซะงั้น เทคโนโลยีดีๆ มาอยู่ในมือไอ้พวกนี้ทีไร แม่งบรรลัยทุกที”
แอดมินเพจ "Drama-addict" ผู้ตามติดประเด็นร้อนสะท้อนสังคม โพสต์ภาพหลักฐานแฉ “เพจปลิง” ที่ใช้ Facebook Live แบบผิดๆ เอาไว้ ด้วยการถ่ายทอดสดหนังดังเรื่อง “Captain America: Civil War” แบบชนโรงจังๆ เพื่อกระตุ้นยอดวิวบนแฟนเพจโดยไม่สนเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์แต่อย่างใด
ทั้งยังทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยว่า ไม่ใช่แค่เพจดังกล่าวเพียงเพจเดียวที่ทำ ยังมีอีกหลายเพจใช้วิธีผิดๆ แบบเดียวกัน เพื่อดึงความสนใจผู้ติดตาม ลองพิจารณาจากยอดวิวที่เข้าไปเสพหนังชนโรงผ่านโปรแกรม live ครั้งนี้แล้ว ก็ถือว่าไม่ใช่น้อยๆ คือมีผู้สนับสนุน “การ live สายมืด” สูงถึง 5,000 กว่าราย จึงขอฝากให้พลเมืองเน็ตทั้งหลายช่วยเป็นหูเป็นตา เอาผิดกลุ่มคนที่หยิบเอาเทคโนโลยีดีๆ มาใช้ในทางที่ผิดๆ กันด้วย
“ใครพบเห็นคนถ่ายคลิปในโรงหนัง ไปแจ้งเจ้าหน้าที่หน้าโรงให้มารวบตัวไปได้เลยครับ ส่วนใครที่เล่นเฟซฯ แล้วเจอเพจไหนทำแบบนั้น จงชูมือขึ้นฟ้าแล้วเรียก กรมทรัพย์สินทางปัญญา ไปจัดการมัน!!”
เผื่อใครยังไม่รู้ การ Live ผิดลิขสิทธิ์แบบนี้ ผู้ละเมิดต้องได้รับโทษหนักเอาการอยู่เหมือนกัน... ตามกฎหมายพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ระบุเอาไว้ในมาตรา 28/1 อย่างชัดเจนว่า การทำซ้ำโดยการบันทึกเสียงหรือภาพ หรือทั้งเสียงและภาพ จากภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ในโรงภาพยนตร์ตามกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วน โดยไม่ได้รับอนุญาตในระหว่างการฉายในโรงภาพยนตร์ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ “ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
[ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "กรมทรัพย์สินทางปัญญา"]
นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ “Live สะเทือนสามัญสำนึก” ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ย้อนกลับไปมองรอยอดีต ยังมี “Live สายมืด” อีกหลากหลายรูปแบบเคยเกิดขึ้นมาแล้ว และที่เป็น talk of the town ถูกวิพากษ์วิจารณ์เละที่สุด คงหนีไม่พ้นการยิงตัวตายผ่านโปรแกรมถ่ายทอดสดบนเฟซบุ๊กของ “เน วัดดาว”
["เน วัดดาว" ผู้ทำให้ปรากฏการณ์ "Live สายมืด" สะเทือนสังคม!!]
จากประเด็นดังกล่าว ส่งให้หลายฝ่ายที่เคยมอบคำว่า “เน็ตไอดอล” ให้แก่เขา ต้องหันมาพิจารณาเสียใหม่ว่า ควรจะเรียกกลุ่มคนที่มียอดผู้ติดตามเยอะๆ บนโลกออนไลน์ว่าอย่างไร ถ้าพวกเขามีพฤติกรรมไม่น่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ถกเถียงขยายวงกว้างกันไปถึงประเด็นที่ว่า สังคมไทยจะรับมือกับ “โซเชียลมีเดียในมือคนดัง” อย่างไร ในยุคที่ทุกคนมีสื่ออยู่ในมือและใช้มันได้อย่างอิสระ จนยากต่อการเซ็นเซอร์พฤติกรรมเกินขอบ ขายเซ็กซ์-เน้นความรุนแรง อย่างที่เกิดขึ้นทุกวันนี้
แม้แต่ การถ่ายทอดคลิป “Live Sex Scene” ยังเคยเกิดขึ้นมาแล้ว!! จากคู่รัก “ชายรักชาย” คู่หนึ่งที่ทดลอง live สาธิตให้ดู “หนังสด” ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมานี้เอง แม้ภายหลังคลิปจะถูกลบออกไปหลังเรื่องแดงจนกลายเป็นประเด็น แต่ก็ยังมีคน capture ภาพหน้าจอเอาไว้ได้ เรื่องราวดังกล่าวจึงถูกบอกเล่าต่อไปเรื่อยๆ จนมีหลายฝ่ายแนะให้แจ้งเรื่องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้เข้ามาตรวจจับผู้เผยแพร่ภาพอนาจารผ่านสื่อออนไลน์...
[คู่รัก สาธิตคลิป Live Sex Scene ให้เพื่อนดูจนกลายเป็นประเด็น/ ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก "Cruizio Ziah"]
แต่ไม่ทันได้มีเจ้าทุกข์โร่เข้าแจ้งความอะไร เจ้าของคลิปก็ได้ออกมาแก้ต่างแล้วว่า คลิปดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงเท่านั้น ไม่ได้มีการเสพสมอารมณ์หมายผ่าน Facebook Live กันจริงๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ หลังจากนั้น ประเด็นดังกล่าวก็เงียบไป แต่หลายเสียงก็อดติงทิ้งท้ายเอาไว้ไม่ได้ว่า ถึงแม้จะเป็นเพียงคลิปการแสดงอย่างที่กล่าวอ้าง ก็ถือเป็นการเผยแพร่คลิปที่ไม่เหมาะสมออกมาสู่สาธารณชนอยู่ดี
“Next station!!! #Liveสดรุมโทรมข่มขืน #Liveสดฆ่ากันตาย #Liveสดปล้นขโมยของเพื่อความสะใจ #Liveสดรุมทำร้ายร่างกาย อะไรอีกน้าาาาาา???? คิดๆๆ” เจ้าของภาพ capture คลิปหนังสดสาธิต โพสต์เสียดสี ฝากเอาไว้ให้คิดผ่านเฟซบุ๊ก “Cruizio Ziah”
เตรียมรับมือ! “ความเสี่ยง” ของ “ความสด”!!
[เจ้าพ่อเฟซบุ๊ก ช่วยกระตุ้น Live/ ขอบคุณภาพ: www.adweek.com]
รู้ไหมว่า ทำไมเฟซบุ๊กจึงสร้างฟีเจอร์ Facebook Live ขึ้นมา? เป็นเพราะ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Elliot Zuckerberg) เจ้าของสื่อออนไลน์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดขณะนี้ ต้องการกระตุ้นให้เกิดการสร้าง original content หรือเนื้อหาที่เกิดจากการอัปโหลดเองโดยผู้ใช้จากทั่วโลกให้ได้มากขึ้น เพื่อให้ผู้คนหันมาแชร์เรื่องราวของตัวเองมากขึ้นๆ เรื่อยๆ จากสถิติเมื่อกลางปี 58 ชี้ให้เห็นว่าเนื้อหาส่วนนี้ลดลงไปถึง 21 เปอร์เซ็นต์
ต้องบอกว่าเจ้าพ่อเฟซบุ๊กอ่านเกมออกอย่างทะลุปรุโปร่งจริงๆ เพราะหลังจาก Facebook Live เปิดตัวให้ทดลองใช้ออกไป ผู้คนก็สนุกกับการอัดคลิปสดๆ ออกมาแชร์กันใหญ่ ถ้ามองในแง่การตลาดแล้ว ฟีเจอร์ดังกล่าวถือเป็นคุณอนันต์ต่อการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย แต่สำหรับกลุ่มคนที่หยิบมันมาใช้ในด้านมืด ก็ถือเป็นโทษมหันต์ด้วยเช่นกัน
และนี่คืออีกหนึ่งมุมคิดที่น่าสนใจ จากเน็ตไอดอลสายฮา ผู้มีคนติดตามอยู่ 2 ล้าน 3 แสนคนในนาม “บี้ เดอะสกา” หรือ กฤษณ์ บุญญะรัง ที่ได้ฝากเอาไว้ผ่านเวทีเสวนา “เน็ตไอดอล วัฒนธรรมป๊อป ตัวตนในสื่อใหม่” จัดโดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
[“บี้ เดอะสกา” เน็ตไอดอลผู้มีคนติดตามอยู่ 2 ล้านกว่าราย ช่วยวิเคราะห์ปรากฏการณ์ Live]
“โปรแกรม Live ถ่ายทอดสดบนเฟซบุ๊กนี่ ผมว่าอันตรายมาก อย่างการที่ 'เน วัดดาว' ออกมายิงตัวตาย ก็ไม่มีใครห้ามได้เลยว่าคอนเทนต์นี้ห้ามเผยแพร่ออกมา เพราะมันคือการถ่ายทอดสด เขาสามารถทำอะไรก็ได้ หรือใครจะถ่ายคลิปมีอะไรกันสดๆ ให้คนดูก็ได้ เฟซบุ๊กไม่สามารถเข้าไปบล็อกอะไรตอนนั้นได้ เพราะการบล็อกต้องอาศัยจำนวนคน report ที่มากเพียงพอ และต้องอาศัยระยะเวลาการตรวจสอบ ซึ่งมันก็ไม่ทันกับคลิปที่เขาเผยแพร่ออกมาแล้ว
ที่หนักกว่านั้นคือมันไม่ได้จบอยู่แค่ในเฟซบุ๊ก Live อย่างเดียวแล้วด้วย คิดดูว่าถ้ามีคนดูดคลิปไปอัปลง youtube ต่อ คนก็จะยิ่งแชร์กันไปยาวแบบไม่จบไม่สิ้น อันนี้แหละคือความน่ากลัวของการ Live จากคนที่มีคนติดตามเยอะๆ หรือแม้แต่คนที่ขายครีม ขายสบู่แก้ผ้าถ่ายคลิป พอเกิดประเด็น สื่อหลักไปทำข่าว ก็กลายเป็นตกหลุมพราง ไปโปรโมตให้เขาอีก”
มันยากตรงที่ทุกวันนี้ “ทุกคนเป็นสื่อได้” นี่แหละ! รศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ รองวิชาการฝ่ายวิชาการ คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์ ช่วยวิเคราะห์เอาไว้
[“รศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ” ช่วยฝากทางออกเล็กๆ ไว้ให้ช่วยกันระวัง]
“มันเลยทำให้เป็นปรากฏการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะแม้กระทั่งสื่อทีวีทุกวันนี้ กสทช.ก็ยังไม่สามารถควบคุมได้หมดเลย หรือแม้แต่การกำกับดูแลกันเองระหว่างสื่อก็ยังลำบาก เนื่องจากสื่ออยู่กับทุน แต่ถ้าพูดถึงการตรวจสอบจากกระทรวง ICT อาจจะยังมีหวังอยู่ เพราะเขาสามารถเอาผิดจาก address บนโลกออนไลน์ได้ และที่สำคัญคือ พลังของ 'P-Power' ผู้บริโภคอย่างพวกเราทุกคน เราต้องสร้างบรรยากาศเชิงบวกให้คนยอมรับว่า สังคมเราทุกวันนี้ มันไม่ใช่สังคมออฟไลน์อีกต่อไป มันคือสังคมออฟไลน์และออนไลน์ที่ควบคู่ไปด้วยกัน”
“การมี Facebook Live ที่อนุญาตให้คนธรรมดา ใครก็ได้ที่ใช้เฟซบุ๊กและมีสมาร์ทโฟน สามารถถ่ายทอดสดเหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้าได้ด้วยตัวเอง ถามว่าเป็นเรื่องดีไหม มุมหนึ่งก็ดีที่ทุกคนมีพื้นที่ในการแสดงออกมากขึ้น มีเนื้อหาให้เลือกเสพหลากหลายมากขึ้น มุมมองของเฟื่องคือ นี่เป็นโอกาสที่คนรุ่นใหม่ ไฟแรง มีของ จะสามารถแจ้งเกิดได้ หากขยันและทุ่มเทมากพอ” นางฟ้าไอทีคนล่าสุด เฟื่องลดา-สรานี สงวนเรือง ช่วยฝากบทวิเคราะห์เกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้เอาไว้ ผ่านปลายปากกาของเธอ
[อีกหนึ่งมุมคิดที่น่าสนจาก "เฟื่องลดา" นางฟ้าไอที]
“แต่ถ้าสังคมมีสื่อที่ไม่ได้รับการกลั่นกรองแบบนี้มากขึ้น ทั้งเรื่องเพศและความรุนแรง ย่อมส่งผลกระทบในทางลบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และ ณ ปัจจุบัน เฟซบุ๊กเองก็ยังไม่มีนโยบายอะไรที่แน่ชัดว่า จะมีมาตรการควบคุมความสุ่มเสี่ยงของ 'ความสด' นี้อย่างไร อย่างมากที่ทำได้ก็แค่มีกฎหมายมาเอาผิดทีหลังกับผู้ปล่อยเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ในขณะที่ภาพนั้นๆ ได้ถูกเสพโดยคนหมู่มากจำนวนหนึ่งไปแล้ว
ที่พอทำได้ ณ ตอนนี้คือ ต้องฝากไปยังทุกๆ คนให้คิดถึงตัวเอง ครอบครัว และสังคมเยอะๆ พยายามสร้างสรรค์เนื้อหาที่ดี มีประโยชน์ และฝากไปยังเฟซบุ๊ก ให้รีบสร้างอัลกอริธึ่ม หรือเทคโนโลยีที่จะมาช่วยตรวจจับและเซนเซอร์ภาพที่ไม่เหมาะสมขณะการออกอากาศสดได้แบบ Real Time ให้เร็วที่สุด ก่อนที่ Facebook Live จะเป็นดาบสองคม ที่ส่งผลกระทบกับสังคมในด้านลบมากกว่าด้านบวก...”
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพและข้อมูลบางส่วน: แฟนเพจ "Drama-addict" และ "กรมทรัพย์สินทางปัญญา"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754