งานก๊อบฯ ล้นตลาด นักเรียนออกแบบผลิตผลงานได้ต่ำกว่ามาตรฐาน เพราะขาดทักษะเฉพาะทางที่จะช่วยสร้างสไตล์ให้ลูกค้ายอมรับ เมื่อมองเห็นช่องโหว่รูใหญ่ขนาดนี้ มีหรือเหล่า “ตัวพ่อแห่งวงการครีเอทีฟ” จะปล่อยให้ผ่านไป
พวกเขาจึงปิ๊งไอเดียสร้างโรงเรียนสอนออกแบบขึ้นมาในทันที หวังให้ “BEAR Visual Specialist School” โรงเรียนนอกระบบแห่งนี้ช่วยกระตุ้นศักยภาพของคนรุ่นใหม่ออกมา พร้อมประกาศจุดยืนเอาไว้เลยว่า จะให้ความรู้แบบไม่มีกั๊ก ไม่ยอมให้มีการก๊อบฯ และจะไม่ปล่อยผ่านจนกว่านักเรียนของพวกเขาจะได้รู้จักกับคำว่า “มาตรฐาน” ที่ตลาดต้องการอย่างแท้จริง!!
“BEAR” ความรู้ให้ แบบไม่มีกั๊ก!
[หลากสาขาวิชาเฉพาะทาง จากโรงเรียนสอนออกแบบขั้นเทพ "BEAR Visual Specialist School">>> www.beartheschool.com]
ต้น(เล็ก)-ยศศิริ ใบศรี ผู้ก่อตั้งบริษัท Huaglom ผู้กำกับมิวสิกวิดีโอมือรางวัล ผลงานของเขาโดดเด่นสะดุดตา จนล่าสุดเว็บไซต์ Vimeo แหล่งรวมวิดีโอระดับโลก ต้องยกให้เป็นผลงานชิ้นโบแดงห้ามพลาดชม, ต้น(ใหญ่)-เรืองฤทธิ์ สันติสุข นักออกแบบแสงและเวทีคอนเสิร์ตฝีมือฉกาจจาก DuckUnit ผู้อยู่เบื้องหลังคอนเสิร์ตสุดฮิปขนาดกะทัดรัด ไปจนถึงสเกลใหญ่ระดับประเทศอย่าง Big Mountain Music Festival, อ๊อด-สุพิชาน โรจน์วณิชย์ นักออกแบบปกอัลบั้มมือฉมัง ผลงานของศิลปินระดับแถวหน้าของเมืองไทยล้วนเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของเขาทั้งนั้น
ณพ-ภาณพ คุณวัฒน์ นักออกแบบ Motion Graphic สร้างภาพเคลื่อนไหวมีสไตล์ จนคว้ารางวัล Jury Award Metro CAF 2014 ระดับโลกมาแล้ว, ท้อป-ศรัณย์ ภิญญรัตน์ นักออกแบบผู้พลิกหน้าประวัติศาสตร์ตัวโน้ต สร้างแอปฯ Fungjai.com สำหรับการฟังเพลง จนเกิดอาณาจักรเพลงฟรีแห่งใหม่ของไทยที่น่าจับตามอง และ ไปป์-ณัฎฐ์ชยกร พุฒิเมธปรีดิพา นักเรียนออกแบบมือรางวัล ผู้ส่งคลิปโฆษณาเข้าประกวดจนคว้าตำแหน่งชนะเลิศมาครองได้ตั้งแต่สมัยเรียน ท่ามกลางผลงานกว่า 10,000 ชิ้น
ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่เหล่าคนระดับเทพแห่งวงการออกแบบจะมารวมตัวกันได้ในที่เดียว แต่ก็เกิดขึ้นแล้วในนาม “BEAR Visual Specialist School” และที่ใช้คำว่า BEAR ก็เพราะพวกเขาต้องการเป็นเหมือน “พี่(หมี)ใหญ่ใจดี” ที่พร้อมมา “แบ” ความรู้ให้รุ่นน้องได้เก็บไปใช้ในเส้นทางสายอาชีพของตัวเอง ด้วยความตั้งใจเริ่มแรกที่มาจาก ต้น(เล็ก) ที่ไม่ต้องการให้วงการนี้เต็มไปด้วยอาการ “กั๊กความรู้” หวงประสบการณ์ทั้งหลายแหล่อย่างที่กำลังเป็นอยู่
[ต้น-ยศศิริ ผู้ก่อตั้งโรงเรียน “BEAR Visual Specialist School”]
“ผมว่ามันถึงเวลาที่เราจะต้องมาถ่ายทอดความรู้ให้คนอื่นได้แล้ว เพราะวงการนี้มันแคบนะและมันกั๊กกันเยอะ เลยรู้สึกว่าไม่รู้จะกั๊กกันไปถึงเมื่อไหร่ เราทุกคนก็อายุ 30 อัปกันหมดแล้วด้วย เลยอยากจะสร้างคนที่ชอบในอาชีพเฉพาะทางแบบนี้ขึ้นมาใหม่ในสาขาต่างๆ เพื่อให้เขามาทำงานแทนเราในอนาคต แต่เราชัดเจนว่าเราจะสอนวิชาที่มันไม่มีในมหาวิทยาลัยนะครับ จากปกติผมเป็นอาจารย์พิเศษสอนออกแบบอยู่ที่ ม.รังสิตอยู่แล้ว ต้องคิดหลักสูตรเอง สอนเอง ก็เลยคิดว่าแล้วทำไมไม่มาเปิดโรงเรียนเองซะเลยล่ะ แต่เป็นวิชาที่สอนเฉพาะทางจริงๆ”
ชื่อเสียงของต้น(เล็ก) สุดยอดผู้กำกับมือรางวัลแห่งบริษัทหัวกลม (Huaglom) คือเอกลักษณ์ในการปรับโทนสีภาพในทุกผลงานให้ออกมาได้ไม่เหมือนใคร เขาจึงเลือกใช้จุดแข็งตรงนี้แหละมาตั้งเป็นรายวิชา “Color Grading” สอนเทคนิคมืออาชีพในการปรับสีงานโฆษณาและมิวสิกวิดีโอ เพื่อสอดรับกับความต้องการของตลาดที่เห็นความสำคัญของเทคนิคการปรับสีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะยอมรับว่ามันช่วยสร้าง Mood and Tone ของงานให้เพิ่มขึ้นได้จริงๆ ซึ่งต้นก็พร้อมจะถ่ายทอดความรู้ในส่วนนี้ให้แบบจัดเต็ม โดยไม่กังวลใจแม้แต่น้อยว่าถ้าคนอื่นทำได้อย่างที่เขาแล้ว จะถูกเลียนแบบหรือถูกแย่งงานในอนาคตหรือเปล่า
“ในการสอน เราจะปล่อยทักษะบางอย่างออกไป แล้วให้คนที่มาเรียนเขาได้สร้างตัวตนของตัวเองขึ้นมาใหม่จากความรู้อันนั้น ผมเลยคิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องไปกั๊กอะไร ในเมื่อมันไม่มีทางที่จะเกิดใครขึ้นมาอีกคนที่สร้างงานได้เหมือนเราเป๊ะๆ แน่นอนครับ เราทุกคนมีเอกลักษณ์ส่วนตัวกันหมดอยู่แล้ว”
Slot Machine : จันทร์เจ้า (Goodbye) from HUAGLOM on Vimeo.
["จันทร์เจ้า" เอ็มวีที่กวาดรางวัลจากงาน "ปรับสี" จนทำให้ชื่อของ "ต้น-ยศศิริ" ลือลั่นในวงการ]
HUGO - Hailstorms Music Video from HUAGLOM on Vimeo.
["Hailstorms" สุดยอด MV บ้าพลังจน Vimeo ขอเอาไปขึ้นหิ้งแนะนำ]
Singular - เบา เบา from HUAGLOM on Vimeo.
[เพลง "เบาเบา" อีกหนึ่งงานที่ผ่านการปรับสีตามสไตล์ของต้นมาเรียบร้อยแล้ว]
“และจริงๆ แล้ว มันก็เหงาๆ เหมือนกันนะครับ ถ้าเราทำเป็นกันเองอยู่ในวงแค่นี้ และไม่มีคนทำด้วยกับเราเลย” ต้น-เรืองฤทธิ์ ซึ่งตัวสูงใหญ่กว่าเพื่อนชื่อเดียวกันอีกคน ช่วยเสริมความคิดของเขาขึ้นมา “คือถ้าพูดในแง่ธุรกิจแล้ว มันอาจจะดีก็ได้นะ ที่เราทำได้เองแบบนี้เจ้าเดียว แต่ถ้าพูดถึงในแง่ความสร้างสรรค์แล้ว มันก็ไม่สนุก” นักออกแบบคอนเสิร์ตแห่ง DuckUnit ยื่นคำตอบให้ในแววตาซุกซน ก่อนปล่อยเพื่อนร่วมวงสนทนาอีกคน วาดลวดลายความคิด และนี่คือทัศนะของ ท้อป ผู้ก่อตั้งอาณาจักรดนตรี “ฟังใจ”
[ท้อป-ศรัณย์ นักออกแบบอาณาจักรเพลง Fungjai.com]
“ผมมองว่าการที่มีคนทำอะไรได้เหมือนกันเยอะๆ มันจะทำให้วงการนี้พัฒนาขึ้นนะ เพราะเราต้องถีบตัวเองเสมอ พอเห็นว่าเริ่มมีคนทำได้เหมือนเราละ เราก็ต้องไปหาอะไรทำให้ได้ดีกว่า เราจะไม่หยุดอยู่กับที่ เราจะวิ่งหาความรู้ใหม่ๆ เทคนิคใหม่ๆ เพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆ ถ้ามองไปที่ปลายทางว่าทำให้วงการออกแบบมันดีขึ้น ผมว่ามันก็เป็นหนทางที่ดีครับ”
คนรุ่นใหม่อ่อนประสบการณ์ รู้กว้างแต่ไม่ลึก!
[ต้น-เรืองฤทธิ์ นักออกแบบแสงและเวทีคอนเสิร์ตฝีมือฉกาจจาก DuckUnit]
ทำไมต้องสอนเฉพาะทาง จำเป็นแค่ไหนที่ต้องมีโรงเรียนสำหรับ Specialist? เมื่อถามกันตรงๆ อย่างนี้ ครูผู้สอนในรายวิชา “Projection Mapping” อย่างต้น(ใหญ่) ผู้ถนัดการฉายภาพจากโปรเจกเตอร์ลงไปบนวัตถุ สร้างให้เกิดภาพ-แสง-สี ในรูปแบบแปลกใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ จึงขออธิบายอย่างตรงไปตรงมาว่านี่แหละคือปัญหาข้อสำคัญที่จุดประกายให้พวกเขาลุกขึ้นมารวมตัวกันตั้งโรงเรียนแห่งนี้ ปัญหาที่ว่านักออกแบบรุ่นใหม่ทุกวันนี้ มีทักษะในสายอาชีพต่ำกว่ามาตรฐานที่จะใช้งานได้ หมายความว่าความรู้จากรั้วมหาวิทยาลัยไม่เพียงพอต่อสิ่งที่ตลาดต้องการนั่นเอง
“เทียบกับสมัยผมเรียน คนที่เรียนจบดีไซน์มามีจำนวนน้อยกว่านี้เยอะมาก เพิ่งไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่แหละที่คนจบดีไซน์กลายเป็นหลักร้อย ซึ่งถือว่าเยอะมากนะ เยอะกว่าความต้องการของตลาดด้วยซ้ำ ที่ต้องรู้ก็คืออาชีพดีไซเนอร์เนี่ย มันไม่ใช่อาชีพที่ทุกคนเรียนจบมาแล้วจะสามารถทำงานได้เหมือนๆ กัน เพราะอาชีพนี้ต้องมีความสร้างสรรค์ ดังนั้น คนที่จะโดดเด่นขึ้นมาได้ก็คือต้องเป็น Specialist อะไรสักอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในภาวะที่ดีไซเนอร์ล้นตลาดขนาดนี้
DuckUnit-Handmade / 3D Projection Mapping on Head Sculpture-BlackHead Concert from DuckUnit on Vimeo.
[ศิลปะบนเวที ที่เกิดจากการฉายภาพลงบนวัตถุ หรือที่เรียก "3D Projection Mapping" จากนักออกแบบแสงและเวที "ต้น(ใหญ่)"]
Bear stage @ Big Mountain Music Festival6 from DuckUnit on Vimeo.
[ฝีมือการจัดแสงขั้นเทพของ ต้นแห่ง DuckUnit]
Stamp : ชายกลาง from HUAGLOM on Vimeo.
[นำเอาความถนัด Projection Mapping มาใช้ในเอ็มวีเพลง "ชายกลาง"]
คือไม่ได้จะบอกว่าการศึกษาไทยมันไม่ดีนะ มันดี แต่ตอนนี้สื่อหลายๆ อย่างมันมาเร็ว ทุกอย่างมันวูบวาบไปหมด ถ้าเทียบกับสมัยก่อน กว่าเราจะได้ดูเอ็มวีดีๆ หนึ่งตัวเนี่ย นานๆ ที และมันจะกระจายไปในวงใหญ่มากด้วย แต่ทุกวันนี้ เอ็มวีมีใหม่แทบทุกวัน ฐานสื่อมันก็กว้าง คนที่จบมาจากมหาวิทยาลัยปกติก็เพียงพอแล้วที่จะทำแบบนั้น ซึ่งมันมีจำนวนเยอะอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ตลาดอาจจะต้องการอะไรที่พุ่งขึ้นไปกว่าปกติอีกสเต็ปหนึ่ง หรือจริงๆ แล้ว อาจจะเป็นเพราะว่าความคาดหวังเราสูงด้วยแหละ (ยิ้ม) จะบอกว่ามาตรฐานสูงก็คงใช่นะ”
ณพ-ภาณพ เพื่อนผู้ร่วมอุดมการณ์อีกคนพยักหน้ารับหงึกหงัก แล้วช่วยเสริมในฐานะนักแอนิเมชันมือรางวัล และครูผู้สอนประจำโรงเรียน “BEAR Visual Specialist School” ในรายวิชา “3D Motion Graphic” ต่อว่า...
[ณพ-ภาณพ นักออกแบบ Motion Graphic ที่คว้ารางวัล Jury Award Metro CAF 2014 มาแล้ว]
“เรามาตรฐานสูงสำหรับการทำงานครับ คือเราดูจากว่างานมันดีพอที่จะขายงานลูกค้าได้ไหม พอที่จะเอาไปโชว์ลูกค้าแล้วเขาไม่ด่ากลับมาว่า นี่มันงานเด็กปีหนึ่งหรือเปล่าวะ ผมว่ามาตรฐานมันอยู่ตรงนี้แหละ ซึ่งเด็กจบใหม่ทุกคนก็ต้องใช้เวลาในการสั่งสม ต้องเรียนรู้ว่าจุดไหนถึงจะเลยมาตรฐานที่จะขายงานลูกค้าผ่าน ซึ่งโรงเรียนของเราก็พยายามเอามาตรฐานจากความจริงตรงนั้นแหละมาสอน เพื่อให้จบไป ออกมาใช้งานได้จริงเลย
Cupidiculous from Panop Koonwat on Vimeo.
[คลิปแอนิเมชันของณพ ตัวที่ได้รางวัล Jury Award Metro CAF 2014 ในเวทีโลก]
12 Rules of animation from Panop Koonwat on Vimeo.
[กฎการทำแอนิเมชันที่จะได้เรียนแบบละเอียดๆ จากคุณครูณพแน่นอน]
ถามว่าความเป็น Specialist มันดีตรงไหน ผมว่ามันทำให้คนเด่นขึ้นมาได้ครับ แต่จริงๆ แล้ว ผมมองว่า Generalist ก็สำคัญเหมือนกันนะ การรู้อย่างใดอย่างหนึ่งโดยที่ไม่รู้อย่างอื่นเลย มันก็จะทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้ยาก แต่การที่รู้ทุกอย่างแต่ไม่ลึกสักอย่าง มันก็จะทำให้งานของเราไม่โดดเด่น เพราะฉะนั้น รู้ทุกอย่างและเลือกจะลึกสักหนึ่งอย่าง ก็น่าจะดีกว่า”
“ต้องรู้แบบตัว T ครับ” ไปป์-ณัฎฐ์ชยกร หนุ่มหน้าตี๋ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนเฉพาะทางแห่งนี้ช่วยเสริมสั้นๆ ตามประสาคนพูดน้อย “ผมเพิ่งไปฟังบรรยายของดิสนีย์มา เขาจะมีทฤษฎีสอนพนักงานของเขาเลยว่า ทุกคนจะต้องมีความรู้ในรูปแบบตัว T คือต้องมีความรู้แนวกว้าง (เส้นขีดด้านบนแนวขวาง) แล้วก็มีความรู้ในแนวลึกด้วย (เส้นขีดด้านล่างแนวดิ่ง) คือจะต้องรู้ทุกอย่าง แต่จะต้องรู้แบบ Specialist ด้วย หมายถึงให้รู้ลึกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ก็สามารถพูดคุยรู้เรื่องได้กับทุกสายงานด้วยครับ”
“ถ้าให้พูดถึงปัญหาของน้องๆ รุ่นใหม่ๆ ผมก็เคยเจอเหมือนกันครับ ตอนมีโอกาสทำงานด้วยกัน” อ๊อด-สุพิชาน ครูผู้เปิดสอนรายวิชา “Art Direction & Graphic Design” ขอเปิดอกพูดจากประสบการณ์ตรงบ้าง ในฐานะดีไซเนอร์ฟรีแลนซ์ที่เคยทำงานให้บริษัทใหญ่ๆ หลายๆ ที่ ในฐานะผู้ออกแบบปกอัลบั้มให้ศิลปินดังๆ มาแล้วหลายคน ทั้ง Slot Machine, 25 Hours, แสตมป์-อภิวัชร์ ฯลฯ
[อ๊อด-สุพิชาน นักออกแบบปกอัลบั้มให้ศิลปินระดับแถวหน้าของเมืองไทย]
“ปัญหาแรกคือ เขาไม่มีประสบการณ์ในการทำงานเลย เขาจะไม่รู้ระบบในการทำงานจริง ซึ่งมันไม่เหมือนการทำ Thesis ของมหาวิทยาลัยนะ ปัญหาที่สองที่เจอบ่อยๆ คือ เด็กมักจะทำได้แต่คิดไม่ได้ ส่วนเด็กที่คิดได้มักจะทำไม่ได้ มันเป็นไปตามหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัยด้วย เพราะฉะนั้น เราก็จะมาให้ความรู้กันตามแบบชีวิตการทำงานจริงๆ เลย อย่างคอร์สของผม จะมีผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขามาช่วยสอนจริง แล้วก็มีการเอาตัวงานที่ทำในคอร์สเสร็จแล้ว เอาไปใช้ในงานจริงๆ ด้วย เขาจะไม่ได้มาเจอแค่อาจารย์ แต่จะมาเจอคนที่สอนถ่ายภาพ มาเจอศิลปิน มาเจอว่าเขาคิดยังไง พูดยังไง มันคือโลกจริงๆ เลย”
[ผลงานของ "อ๊อด" นักออกแบบปกอัลบั้ม]
“ใช่ครับ เพราะผมคุยกับอ๊อดไว้ว่าจะเอาปกซีดี ซิงเกิลจริงๆ ของค่ายเพลงมาทำเป็นโจทย์เลย” ต้น(เล็ก) ตัวตั้งตัวตีในการตั้งโรงเรียนทางเลือกแห่งนี้ขานรับทันที จากนั้นจึงช่วยเสริมรายละเอียดให้มองเห็นภาพได้ชัดขึ้น “อันนี้คุยกับหลายค่ายเพลงแล้วครับ ค่ายเขาก็เห็นด้วย บอกว่าชอบ ตั้งใจไว้ว่าครั้งสุดท้าย คอร์สจบแล้ว อยากให้ศิลปินคนนั้นน่ะมาเลือกเลย แล้วถ้าชอบหรือคิดว่างานนี้เอาไปต่อยอดได้ ก็เลือกเอาไปใช้จริง”
“ถ้าเราสอนเด็กให้ทำออกมาจนถึงขั้นผลงานของเขาเอาไปใช้จริงได้ แสดงว่างานของเขาก็เข้าสู่ระบบตลาดได้จริงๆ แล้วล่ะ” น้ำเสียงสบายๆ จากต้นอีกคน ส่งมาช่วยเพื่อนปิดประเด็น
ฟรีแลนซ์หรือประจำ อยู่ที่ “ออกแบบชีวิต”
“ชีวิตอิสระ” คือโจทย์ข้อสำคัญที่ผลักให้คนรุ่นใหม่หันมาเป็น “ฟรีแลนซ์” กันมากขึ้นเรื่อยๆ อาชีพนักออกแบบก็เป็นอีกสายงานหนึ่งที่หลายคนมองว่าน่าจะเหมาะกับวิถีชีวิตเช่นนี้ แต่ในฐานะรุ่นพี่ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน อ๊อด นักออกแบบอัลบั้มให้ศิลปิน ผู้เป็นฟรีแลนซ์มาทั้งชีวิตขอฝากเอาไว้ว่า “อย่าไปเป็นมันเลยฟรีแลนซ์ จบมาแนะนำให้เข้าองค์กรก่อนดีที่สุด”
“จบมาแล้วเป็นฟรีแลนซ์เลย มันเหมือนงมเข็มมากๆ เลยครับ ต้องทำทุกอย่างให้เป็นเองทั้งหมดตั้งแต่คุยงาน ทำงาน ส่งบิล เรียกเก็บตังค์ ทำบัญชี รับเช็ค โดนโกง โดนมาหมดทุกอย่างแล้ว แต่ถ้าไปอยู่ในบริษัทก่อน ตอนแรกเราอาจจะแค่ต้องทำงานดีไซน์ให้เป็น จากนั้นเราก็จะได้ไปเจอคนขายงาน เจอพีอาร์ เจอคนที่หลากหลายมากกว่าคนแบบเดียวกัน มากกว่าคนที่พูดภาษาดีไซน์เหมือนกัน และมันทำให้ได้คอนเนกชัน ซึ่งมันดีสำหรับอนาคต อีกหน่อยพอออกมาเป็นฟรีแลนซ์ จะติดต่ออะไรก็จะง่ายขึ้น
ที่สำคัญ อาชีพฟรีแลนซ์มันสบายและได้เงินเยอะก็จริง แต่ถ้าทำอะไรไม่ดีกับเขาไว้ งานไม่ส่งตามเวลาปุ๊บ เสียครั้งเดียว มันเสียหายไปหมดเลยนะ และเสียหนักมากด้วย เพราะวงการมันมีอยู่แค่นี้ และมันเป็นวงการของการบอกต่อ ถ้าทำเสียแค่ครั้งเดียว คุณจะไม่ได้งานจากคนนี้และคนที่รู้จักคนนี้ต่อๆ ไปอีกเลย เพราะฉะนั้น มันก็เป็นดาบสองคม สบายก็จริงครับแต่ต้องมีวินัย”
“ผมเห็นเยอะนะ จบใหม่มาแล้วไม่อยากจะไปเข้าระบบ คิดว่าทำงานวันละ 8 ชั่วโมง กินเงินเดือน มันไม่เท่เลยว่ะ แต่เอาเข้าจริงๆ ผมว่ามันโคตรสำคัญเลยนะ มันทำให้เราได้เรียนรู้ มันคือการทำงานจริงๆ แล้วพอเราก้าวมาทำธุรกิจของตัวเอง ประสบการณ์ที่เคยเป็นพนักงานประจำตรงนั้นแหละที่จะช่วยให้เราสามารถรันสิ่งต่างๆ ไปได้ดียิ่งขึ้น” ท้อป ผู้ก่อตั้งอาณาจักรดนตรี “ฟังใจ” พูดจากประสบการณ์ของคนที่เคยผ่านงานมาแล้วทั้งแบบ “ประจำ” และ “ฟรีแลนซ์”
["ฟังใจ" อาณาจักรดนตรีแห่งใหม่ของไทยที่เกิดจากการออกแบบของท้อป>>> www.fungjai.com]
“การเป็นลูกน้องมาก่อน จะทำให้เข้าใจหัวจิตหัวใจของลูกจ้าง คุณรู้ว่าไอ้ชีวิตที่รอวันที่ 30-31 แล้วมีเงินเดือน 15,000 เข้ามาในบัญชี ชีวิตแบบนั้นมันเป็นยังไง และการที่ต้องทำงานวันละ 8 ชั่วโมง บางทีโดนเจ้านายบอกขอให้อยู่ดึกแต่ไม่มีเงินเพิ่มให้ ถ้าเคยผ่านอะไรแบบนี้มา มันจะทำให้คุณปฏิบัติต่อคนอื่นๆ ได้ดีขึ้น จะทำให้คนที่ทำงานกับคุณ เขารักคุณมากขึ้น ไม่ใช่มองว่าเป็นแค่บอส มีอะไรก็ชี้นิ้วสั่งๆ อย่างเดียว เราจะรู้จักใจเขาใจเรามากขึ้น”
[บทวิเคราะห์ระหว่างนักออกแบบ ต้น(ใหญ่)/อ๊อด]
“ผมว่ามันไม่มีผิดไม่มีถูกทั้งสองอย่างนะ” ต้น นักออกแบบเทคนิคแสงสีแห่ง DuckUnit ขอแชร์ความคิดเห็นบ้าง ในฐานะที่เคยฝึกงานประจำเป็นเวลา 3 เดือน และในที่สุดก็เลือกทางเดินสายฟรีแลนซ์ เขามองว่าชีวิตทั้งสองรูปแบบต่างก็ยากพอๆ กัน อยู่ที่ว่าจะรักษาสมดุลกับมันให้ดีที่สุดได้มากน้อยแค่ไหน
“พอเป็นฟรีแลนซ์ ความห่วยของมันคือผมต้องค่อยๆ ฝึกตัวเองให้เหมือนทำงานประจำอยู่ คือต้องฝึกให้มีความรับผิดชอบเท่าคนทำงานประจำให้ได้ ในฐานะคนทำงานฟรีแลนซ์ที่ทำงานอิสระ กลายเป็นว่าตอนนี้วันเสาร์อาทิตย์ ผมต้องพยายายมทำให้ได้หยุดงานเหมือนคนที่ทำงานประจำ ทำยังไงจะได้ไม่ต้องนั่งทำงานทั้งวันทั้งคืน หรือถ้าคนที่ทำงานประจำอยู่ ก็อาจจะต้องคิดว่าจะทำงานยังไงต่อไปให้มี Passion กับมัน หรือให้มีเวลาอิสระไปทำอะไรอย่างอื่นบ้าง ไม่ใช่อยู่ไปวันๆ รู้สึกตัวอีกทีก็ไปทำอาชีพอื่นแล้ว
ผมเคยเจอคนที่ทำงานประจำตอนกลางวัน แล้วกลางคืนไปทำสิ่งที่ตัวเองชอบ ผมว่ามันสุดยอดมากเลยนะ แล้วก็เคยเจอคนที่เป็นฟรีแลนซ์ที่ทำงานรับผิดชอบเหมือนคนทำงานประจำเป๊ะ ผมว่าคนประเภทนี้ไม่ต้องรู้เลยว่าเขาทำงานประจำหรือรับฟรีแลนซ์ คือไม่ว่าจะทำรูปแบบไหน งานทั้งสองเส้นทางมันก็วิ่งไปหาคนที่ตั้งใจทำงานและรับผิดชอบที่สุดเอง”
ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตขึ้นอยู่กับ “การออกแบบ” เทพแห่งการดีไซน์ทั้ง 6 คนพูดเป็นเสียงเดียวกันเอาไว้อย่างนั้น โดยเฉพาะ “การออกแบบชีวิต” ที่ยังต้องปรับแก้กันไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด เพื่อให้ชีวิตนี้กลายเป็นโปรดักต์ชิ้นที่ดีที่สุดสำหรับผู้ว่าจ้าง และคนคนนั้นก็คือตัวของเราเอง
[ณพ Motion Graphic มือรางวัล/ อ๊อด นักออกแบบปกอัลบั้มมือฉมัง/ ต้น(ใหญ่) นักออกแบบเทคนิคแสงสีฝีมือฉกาจ/ ไปป์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง/ ต้น(เล็ก) ผู้กำกับมือรางวัล ผู้ก่อตั้งโรงเรียน และ ท้อป ผู้บุกเบิกอาณาจักรเพลงแห่งใหม่ของไทย]
“ผมมองว่าเราสามารถดีไซน์ชีวิตได้ในระดับหนึ่ง เราควบคุมมันได้ในระดับหนึ่ง สามารถเลือกได้ว่าเราจะทำหรือจะไม่ทำอะไร แต่ทุกการตัดสินใจที่ผ่านมา ผมไม่คิดว่ามันจะมีผิดหรือถูกนะครับ มันแค่เป็นสิ่งที่เราเลือกแล้ว และเราก็ต้องอยู่กับมันไปเรื่อยๆ ให้ได้” ณพ หนุ่มแว่นนักออกแบบมือรางวัล อธิบายวิธีการออกแบบชีวิตตัวเองไว้ด้วยน้ำเสียงสบายๆ
“การออกแบบชีวิตของผม คือการวางเป้าหมายในชีวิตเอาไว้ว่า อยากจะทำอะไรก็ทำอย่างนั้น และทำมันออกมาให้ดีที่สุด ทำแค่ไม่เกิน 10 ปี พอถึง 10 ปีปุ๊บ ไปถึงจุดๆ หนึ่งที่คิดว่าเป็นยอดของภูเขาแล้ว ผมก็จะหยุดและไปหาอะไรใหม่ๆ อย่างอื่นทำต่อ” อ๊อด หนุ่มนักออกแบบร่างบางพูดด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น
“การเรียนดีไซน์มันคือการเรียนการวางแผน ดูโจทย์ว่าคืออะไร และค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละขั้นตอน ซึ่งผมก็ได้สกิลตรงนี้แหละครับมาใช้กับการดีไซน์ชีวิตจริงๆ คือการจัดลำดับความสำคัญ ถ้ามีงาน 1-8 เราจะทำอะไรก่อน และมันจะทำให้ชีวิตเราสามารถรันไปได้อย่างราบรื่น” ไปป์ หนุ่มนักออกแบบหน้าตี๋ ยังคงพูดน้อยแต่เฉียบคมอย่างที่เป็นมาตลอดบทสนทนา
[ไปป์-ณัฎฐ์ชยกร นักเรียนออกแบบมือรางวัล คว้าตำแหน่งชนะเลิศประกวดคลิปโฆษณาได้ตั้งแต่สมัยเรียน]
“มันมีอย่างหนึ่งที่ผมใช้กับการออกแบบและชีวิตด้วยก็คือ เราต้องทำออกมาให้มันดีที่สุดในข้อจำกัดที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินหรือเวลา ในเรื่องชีวิต ผมก็พยายามจะทำเหมือนกัน พยายามให้เต็มที่ภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ สิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีคือ เรามีปัจจุบันเท่ากัน เพราะฉะนั้น เราก็ควรจะทำมันให้ดีที่สุด” ท้อป ปิดท้ายประโยคด้วยแววตาสดใส ก่อนปล่อยให้นักออกแบบแสงอย่าง ต้น(ใหญ่) ทำลายความเงียบเป็นรายต่อไป
“ผมว่าข้อสำคัญของดีไซเนอร์คือต้องเลือกเป็น เวลาชีวิตเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาและคิดไม่ออก ผมจะชอบมองมันเป็นภาพ Zoom Out ขึ้นไปบนฟ้า แล้วดูว่าเราไปทางไหนได้บ้าง ไปทางนี้จะตันหรือเปล่า แล้ววิ่งอ้อมกลับมาตรงนี้ล่ะได้ไหม การออกแบบคือการเลือกแบบที่มันตอบโจทย์ที่สุดแล้ว อาจจะไม่ใช่ทางที่ดีที่สุดก็ได้ แต่เราอยากไป และมันเหมาะที่สุดแล้วกับเรา”
“ผมใช้วิธีออกแบบชีวิต จากการดูแบบของคนที่ทำอาชีพเดียวกันที่เป็นรุ่นพี่ครับ ผมเห็นบางคนที่ทำงานหนัก ไม่ค่อยหลับไม่นอน พอถึงวันที่แต่งงาน มีลูกไม่ได้เพราะร่างกายพัง ผมก็ถามตัวเองว่าผมอยากเป็นแบบนั้นไหม ถ้าไม่อยากต้องแก้ปัญหายังไง ผมเคยมีงานอยู่ในมือ 7 งาน อาหารเป็นพิษ สุดท้ายงานล้มหมดเลย เลยคิดว่าเราต้องแก้ด้วยการกระจายความเสี่ยงให้คนอื่น แก้ด้วยการสร้างคนขึ้นมาทำงานแทนเรา ความคิดพัฒนามาจนได้สร้างโรงเรียน และโรงเรียนนี้แหละครับคือการออกแบบที่ผมเลือกแล้ว” ต้น ผู้ก่อตั้งโรงเรียน “BEAR Visual Specialist School” ยิ้มเย็นๆ ปิดท้าย
BEAR Visual Specialist School คือโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนทางด้าน Visual Arts ที่เน้นทักษะคิดสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ...
Posted by BEAR Visual Specialist School on Wednesday, September 9, 2015
ก๊อบปี้ VS แรงบันดาลใจ ก๊อบฯ ไหม? งานที่ต้องเกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ เมื่อผลิตผลงานออกมาแล้วดูคลับคล้ายคลับคลากับสิ่งที่เคยเห็น มักจะถูกถามด้วยคำนี้เสมอ โดยเฉพาะผลงานช่วงหลังๆ จากวงการเพลงไทย และคงไม่มีใครตอบเรื่องนี้ได้ดีไปกว่าพวกเขาอีกแล้ว ครีเอทีฟ ผู้มีหน้าที่คลุกคลีอยู่กับการสร้างไอเดียและผลงานใหม่ๆ และนี่คือมุมมองที่เหล่าเทพแห่งวงการออกแบบผลัดกันวิเคราะห์อย่างดุเดือด! ต้น(ใหญ่): ถ้าถามว่าก๊อบฯ งานมันเกิดจากอะไร ผมว่ามันเกิดจากการไม่มีแก่นความคิดเป็นของตัวเอง บางทีเป็นเพราะดู Reference ไม่ละเอียดด้วย ดูแล้วไม่ได้วิเคราะห์ แล้วเอามาใช้แบบทื่อๆ ท้อป: จริงๆ แล้วReference มันมีประโยชน์มากนะครับ ไม่งั้น เวลาทำงานงานหนึ่ง เวลาไปคุยกับลูกค้าทีหนึ่ง บอกจะเอาภาพตรงนี้แบบ Slow Motion ถ้าพูดอธิบายด้วยปาก เขาไม่เห็นภาพไปกับเราหรอก แต่พอมี Reference แล้วมันทำให้เราเห็นภาพร่วมกัน การมีตรงนี้เป็นจุดยึดไว้มันทำให้คุยงานง่าย ประเมินราคาง่ายขึ้น วางแผนอะไรๆ ได้ง่ายขึ้น ณพ: เวลาผมทำงาน ผมก็หา Reference มาอ้างอิงเหมือนกัน ซึ่งในตัว Reference ถ้าเอามาวิเคราะห์ดู หลักๆ แล้วมันจะแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วน “ไอเดีย” (What to say) กับอีกส่วนคือ “สไตล์” (How to say) เมื่อไหร่ก็ตามที่หยิบทั้งคู่มาใช้เลย เขาจะเรียกว่าการก๊อบปี้ แต่ถ้าเลือกหยิบอย่างใดอย่างหนึ่งมา เพื่อเอามาต่อยอด เช่น หนังเรื่อง “กังฟูแพนด้า” ถ้าดูจากตัวไอเดีย มันก็คือหนังจีนดีๆ เรื่องหนึ่ง แต่เปลือกของมัน มันนำเสนอผ่านหมีตัวนี้ ทำให้ภาพที่ออกมามันมีความแปลกใหม่มากขึ้น ถึงแม้จะเป็นไอเดียเดิมก็ตาม แบบนี้แหละครับที่เรียกว่าการต่อยอด คือเขาไม่ได้ไปขโมยคาแร็กเตอร์จากหนังจีนเรื่องไหนเรื่องหนึ่งมา แล้วมาวาดให้เหมือนจอมยุทธ์คนนั้นเป๊ะๆ ผมว่าดีไซเนอร์ทุกคนจะรู้ตัวแหละว่า อันนี้มันเหมือนไปแล้วหรือเปล่า หรือใกล้เคียง Reference มากไปแล้วหรือยัง อ๊อด: Reference มันไม่ผิดหรอกครับ ผมก็ใช้ แต่ต้องใช้ให้มันถูกต้อง เพราะทุกวันนี้ โลกนี้ไม่มีอะไรใหม่แล้ว หรืออย่างดนตรี ทุกวันนี้ก็คือการเอาของเก่ามาเล่าใหม่ในจังหวะที่ถูกต้อง ในจังหวะที่ไม่มีใครพูดถึงมัน มันอยู่ที่เราจะหยิบเอาอะไรมาผสมกับอะไรแล้วให้มันเกิดสิ่งใหม่ในจังหวะที่ถูกต้อง ต้น(ใหญ่): ผมว่าแค่ใส่มันสมองของเราเพิ่มเข้าไปในสิ่งที่เราเสพ ให้สิ่งที่เราเห็นมันวิ่งผ่านสมองของเราก่อน แล้วงานของเรามันก็จะไม่ออกมาเป็นงานก๊อบฯ เองแหละครับ มันจะออกมาเป็นอีกอย่าง แต่ถ้าปล่อยให้มันวิ่งเข้ามาแบบไม่ผ่านสมอง ลงไปที่มือแล้วสั่งให้ทำตามเลย มันก็จะกลายเป็นงานก๊อบฯ ทันที พูดง่ายๆ คือถ้าใส่ความฉลาดเข้าไปอีกหน่อย ก็จะไม่เป็นการก๊อบฯ แล้ว |
สัมภาษณ์โดย ASTV ผู้จัดการ Lite
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: ศิวกร เสนสอน
ขอบคุณภาพและข้อมูล: www.beartheschool.com, แฟนเพจ “BEAR Visual Specialist School”
มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...
Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754
บทสัมภาษณ์-บทความที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- สุดยอดผู้กำกับบ้าพลังแห่งยุค เจ๋งจนเอ็มวีไทยได้ขึ้นแท่น!! [ชมคลิป]
- เขาคือ “พระเจ้า” แห่งโลกคอนเสิร์ต!!
- “Hailstorms” สุดยอด MV บ้าพลังของไทย! เล่นใหญ่จนฝรั่งให้ขึ้นหิ้ง!!
- “ฟังใจ” อาณาจักรดนตรีแห่งใหม่ของไทย!! เหมาะกว่า Youtube อิสระกว่าวิทยุ?
- "ฮิวโก้" ถูกละเลงเละ! แฟนเพลง 100 ชีวิต รุมสร้างสุดยอด MV บ้าพลัง!! [ชมคลิป]
- “ครบวงจร” ทางรอดของ “ธุรกิจดนตรี” ในยุคนี้!!? [ชมคลิป]