ดนตรีกลายเป็นของฟังฟรี ส่งให้นักดนตรี-นักแต่งเพลงต่างไส้กิ่ว ศิลปินหลายรายได้เงินจากงานอีเวนต์ งานละคร หรือการเป็นพรีเซ็นเตอร์มากกว่างานเพลงของตัวเอง นิตยสารเพลงหลายหัวต่างทยอยหายไปจากแผง ส่วนค่ายเพลงน้อยใหญ่ก็ระส่ำระสายไม่แพ้กัน
“ทางรอด” บนทางลูกรังสายนี้ อาจเหลือเพียงไม่กี่เลนที่จะช่วยต่อลมหายใจให้เหล่าตัวโน้ตโลดแล่นต่อไปได้ นั่นคือทางรอดจากการทำให้ดนตรีกลับมามี “มูลค่า” และได้รับ “อิสระ” อย่างแท้จริง อย่างที่ “ฟังใจ” อาณาจักรดนตรีแห่งใหม่ของไทยเลือกที่จะร่วมทำลายกำแพงค่าย และบุกเบิกให้เกิด “ประชาธิปไตยทางดนตรี” อย่างยั่งยืน!
บังเอิญ... “ครบวงจร”
(อาณาจักรดนตรีแห่งใหม่ของไทย สร้างขึ้นเพื่อประกาศประชาธิปไตยทางดนตรี!)
อยู่รอดมาได้ 1 ปี แถมยังโตเร็วจนเป็นที่รู้จักในหมู่คนดนตรีขนาดนี้ จึงทำให้ “ฟังใจ” ซึ่งให้คำจำกัดความตัวเองไว้ว่า “อาณาจักรเพลงไทย ฟังได้ไม่จำกัด” ถูกจับตามองว่าเป็นธุรกิจดนตรีที่ประสบความสำเร็จที่สุดโมเดลหนึ่งในยุคนี้ ถึงแม้ผู้ก่อตั้งอย่าง “ท้อป-ศรัณย์ ภิญญรัตน์” และหุ้นส่วนอย่าง “พาย-ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี” จะไม่ยอมรับคำยกย่องชมเชยทั้งหมดเลยก็ตาม แต่พวกเขาก็ถือเป็นบริษัท Startup ผู้ใช้เทคโนโลยีมาบุกเบิกให้เกิดชุมชนคนดนตรีที่เป็นรูปเป็นร่างได้อย่างไม่ธรรมดา บอกได้เลยว่านี่คือก้าวเล็กๆ แต่สำคัญของวงการเพลงในบ้านเรา
“ฟังใจ คือแพลตฟอร์มที่ให้ศิลปินทั้งหมดมีโอกาสถูกฟังเท่ากัน ผู้ฟังมีสิทธิ์เลือกฟังตามความต้องการอย่างไร้ขีดจำกัด เราสร้างโอกาสและสร้างประสบการณ์การฟังและทำเพลงให้ดีกว่าและเข้าถึงได้ง่ายกว่าที่เคยผ่านมา”
พวกเขาประกาศจุดยืนเอาไว้อย่างชัดเจน บอกเลยว่า “อิสระทางการฟังเพลงได้เกิดขึ้นแล้ว!” ผ่านรูปแบบอันหลากหลายที่แตกแขนงเอาไว้ โดยเริ่มจากการทำ “Music Streaming” หรือซอฟต์แวร์การฟังเพลงที่เน้นคุณภาพการเสพผ่านทางโสตประสาทโดยเฉพาะ ซึ่งแตกต่างจาก Youtube ตรงที่เสียงคมชัดและระดับความดังเบาคงที่กว่า และอิสระกว่าคลื่นวิทยุตรงที่คนฟังสามารถเลือกเพลย์ลิสต์ได้เองตามใจชอบ จึงทำให้ชื่อเสียงของเว็บไซต์ “ฟังใจ (www.fungjai.com)” โดดเด่นขึ้นมา
(ท้อป ผู้บุกเบิกพื้นที่ให้คนดนตรียุคใหม่)
ใช้เวลาสร้างฐานคนฟัง พร้อมช่วยหนุนหลังศิลปินไร้ค่ายที่มาวางเพลงไว้บนเว็บไซต์ ให้มีรายได้จากยอดคลิก รวมถึงเปิดพื้นที่เสรีให้เหล่าคนดนตรีได้เข้ามาทำความรู้จักกัน จนแตกแขนงออกมาเป็นนิตยสารดนตรีออนไลน์ที่ชื่อ “ฟังใจซีน” (www.fungjaizine.com) เดินสายให้ความรู้ทางดนตรีไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในนาม “เห็ด Young” ทั้งยังจัดคอนเสิร์ต “เห็ดสด” สร้างพื้นที่ให้ศิลปินทางเลือกที่เคยไร้ที่ยืนได้ขึ้นเวทีใหญ่อย่างสมศักดิ์ศรีเพื่อประกาศมูลค่าของดนตรี
แตกยอดอ่อน ขยายรากออกไปหลากทิศหลายทางจนเรียกได้ว่า “ครบวงจร” ได้ขนาดนี้ เป็นไปเพื่อความอยู่รอดใช่หรือไม่? ท้อป ผู้ก่อตั้งได้แต่ส่ายหน้ารับคำถามแบบยิ้มๆ แล้วบอกว่าทั้งหมดคือความบังเอิญ
“ไม่เคยคิดเลยครับว่าต้องทำให้ครบวงจรอะไร พอเราเริ่มเข้ามาคลุกคลีในอุตสาหกรรมดนตรี เราเริ่มเห็นช่องว่างว่ามันมีพื้นที่ตรงนี้ที่ยังไม่มีใครทำ อย่างงานสัมมนานี่ชัดเจนเลยว่าไม่มีใครอยากแตะ หรืออย่างฟังใจซีน เราเห็นว่าสื่อเกี่ยวกับดนตรีเริ่มหายไปเยอะมาก เลยคิดว่าทำไมเราไม่ทำล่ะ ในเมื่อเราน่าจะทำได้ มันเป็นความบังเอิญมากกว่าครับที่เราได้ไปเจอคนที่มีความสนใจทางด้านเพลงที่หลากหลาย เราได้เจอ “น้องกันต์” ที่เขาอยากทำ Magazine ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวงการดนตรีจริงๆ ได้เจอ “พี่อ้น” ที่เขามีความถนัดเรื่องการทำอีเวนต์ ที่เห็นว่าเราค่อยๆ แตกแขนงออกไปเรื่อยๆ เป็นเพราะคนที่มาร่วมทีมเรามากกว่า”
(นิตยสารเพลงออนไลน์ "ฟังใจซีน" www.fungjaizine.com)
(คอนเสิร์ต "เห็ดสด" เพื่อประกาศมูลค่าของดนตรี/ ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "DuckUnit")
ถามว่าทุกวันนี้ที่ทำอยู่ถือว่า “ครบวงจร” มากน้อยแค่ไหนแล้ว? หุ้นส่วนหน้าตี๋อย่างพายจึงช่วยเสริมความคิดเห็น “นึกถึงภูเขาน้ำแข็งน่ะครับ มีแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่เหนือน้ำ ที่เหลือ 90 เปอร์เซ็นต์อยู่ใต้น้ำหมดเลย ตอนนี้เราเพิ่งทำให้เห็นไปได้ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง”
ส่วนอีก 90 เปอร์เซ็นต์ที่วาดเอาไว้นั้น ยังมีอีกหลายโมเดลที่คิดไว้ ทั้งการเป็นตัวกลางระหว่างโปรโมเตอร์ผู้จัดคอนเสิร์ตกับตัวศิลปินให้ได้มาเจอกัน เพื่อให้ศิลปินไร้สังกัดสามารถจัดคอนเสิร์ตของตัวเองได้ ขอแค่มีฐานคนที่อยากดูมากพอ หรือแม้แต่งาน “เห็ดสด” ที่จัดในกรุงเทพฯ เป็นประจำอยู่แล้ว ก็อาจจะแวะเวียนไปตามจังหวัดต่างๆ บ้าง บอกเลยว่ายังมีโปรเจกต์อีกเยอะแยะในใจที่ครีเอทีฟแห่งฟังใจอยากทำ และนี่คือคำยืนยันจากผู้ก่อตั้งสุดแนว
“มันยังไปได้อีกเยอะจริงๆ ครับ ยิ่งเราทำทุกวันๆ เรายิ่งเห็น จากสิ่งที่ศิลปินแนะนำเรามาด้วย ปัญหาที่เขาพบเจอ ได้คุยกับผู้ฟังด้วย เรารู้สึกว่ายังมีช่องทางสนุกๆ อีกหลายอย่างที่เรายังไม่ได้ทำ ด้วยข้อจำกัดของเงินทุนและทีมงานด้วย เราก็ค่อยๆ ทำไป แต่อย่างน้อยๆ 4 อย่างที่เรากำลังทำ เราพยายามจะสร้างให้มันแข็งแรงก่อน ผมยกตัวอย่างง่ายๆ Video Content น่าทำจะตาย แต่เราก็ยังทำไม่ได้ ผมเลยรู้สึกว่าคำพูดว่าเราเพิ่งทำไปได้ 10 เปอร์เซ็นต์เอง มันไม่ได้ถ่อมตัวเลย มันยังมีอีกเยอะมากๆ จริงๆ”
(บรรยากาศงานแถลงการณ์นโยบาย "ฟังใจ")
ที่ทุ่มใจทุ่มพลังกันขนาดนี้ ไม่ใช่เพราะคำว่า “ธุรกิจ” เพียงคำเดียวอย่างแน่นอน พายบอกเลยว่าถ้ารักจะคลุกคลีอยู่กับ “ธุรกิจดนตรี” จริงๆ เรื่อง “ใจ” สำคัญที่สุด ส่วนทำแล้วจะรอดหรือไม่รอดก็ค่อยว่ากัน
“จง “รัก” มันก่อน ก็แล้วแต่ว่าจะรักแบบไหน ถ้ารักศิลปินก็อาจจะให้เงินศิลปินเพื่อให้เงินเขาไปกินข้าว รักเพลง ฟังแล้วก็อย่าลืมซื้อ ไม่ใช่ฟังฟรี หรือเลือกอุดหนุนจากช่องทางที่ถูกต้องที่จะสร้างรายได้กลับไปยังต้นทาง กลับไปให้คนผลิตจริงๆ ถ้ารักการดูดนตรีสด ก็ไปดูซะ จ่ายเงินซะ ส่วนศิลปิน ถ้ารักการทำเพลง ก็จงขวนขวายหาความรู้และไปหาเครื่องมือต่างๆ เพื่อทำเพลงออกมาและหัดฟังเพลงของคนอื่นเขาด้วย แล้วก็อาจจะต้องรักวงการด้วย เพราะวงการดนตรีจะไม่ยั่งยืน ไม่แข็งแรงเลย ถ้าไม่มีคนที่รักดนตรีมาทำมันด้วยกัน”
เพราะ “ความเสี้ยน” จึงบังเกิด “อุดมการณ์”!!
(4 อุดมการณ์ที่ยึดไว้เพื่อศิลปินและวงการเพลง)
“สิ่งที่พวกเราทำ ผมว่ามันอยู่บนแนวคิดของคำว่า “ประชาธิปไตยทางดนตรี” นะ คือเรามอบอำนาจให้กับผู้ฟังเป็นผู้เลือกว่าเขาอยากจะฟังอะไร มันต่างจากสื่อวิทยุหรือสื่ออื่นๆ ซึ่งคนที่เป็นเจ้าของสื่อหรือดีเจ จะเป็นคนช่วยคัดเลือกให้ผู้ฟังมากกว่า แต่ของเรา เรามอบอำนาจให้คนฟัง ให้ศิลปินได้อยู่บนพื้นที่เดียวกันในระดับที่เท่าๆ กัน ให้คนฟังก็ไปเลือกฟังกันเอาเอง
เราแค่อยากให้กำแพงมันทำลายลงไป ให้หลอมรวมกัน ให้ทุกคนได้มีโอกาสถูกรับฟังเหมือนกัน มันอาจจะฟังดูบ้าๆ บอๆ แต่สิ่งที่เราพยายามอยากจะทำก็คือ “ปฏิวัติวงการดนตรี” ครับ ซึ่งเรากำลังทำอยู่ โดยเริ่มจากรากหญ้า เริ่มจากคนทำและคนฟังเพลงนี่แหละ”
นี่คือจุดยืนที่พวกเขาเคยประกาศเอาไว้กับทางเรา เมื่อครั้งก่อตั้งอาณาจักรดนตรีที่ชื่อ “ฟังใจ” ใหม่ๆ มาจนถึงตอนนี้ ดูเหมือนว่าความคิดของพวกเขาก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนแปลง จึงลองถามย้ำในความหมายของคำว่า “อุดมการณ์” อีกที พร้อมกับให้สรุปอีกครั้งว่าคนที่จะมาลงเล่นบนเส้นทางแสนโหดสายนี้ จำเป็นต้องขยายให้ครบวงจรอย่างที่ฟังใจเป็นหรือเปล่า ท้อปจึงให้คำตอบว่า...
“ผมเริ่มต้นแค่จากที่ผมอยากทำ และตอนที่ผมทำแรกๆ ผมก็ต้องทำงานอย่างอื่นเลี้ยงชีพเหมือนกัน ถามว่ามันใช้คำว่า “อุดมการณ์” ได้ไหม ผมว่าทำเพราะ “เสี้ยน” น่ะครับ (ยิ้ม) ทำเพราะอยากให้มีที่ฟังเพลงของเรา ในเมื่อมันไม่มีคนอื่นสร้าง เราก็สร้าง ตอนนี้มันกลายเป็นเหมือนลูกบอลหิมะที่ไหลลงมาเรื่อยๆ แล้วก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ของมันเอง ส่วนเรื่องต้องทำให้ครบวงจรไหมถึงจะอยู่รอด ผมมองว่ามันคือความบังเอิญอย่างต่อเนื่องมากกว่าที่กลายมาเป็นรูปแบบปัจจุบัน
ยกตัวอย่าง บริษัท Startup ประเทศเกาหลีที่หนึ่ง เขาบอกว่าเขาสร้าง Demand ของการเล่นคอนเสิร์ตโดยการให้คนเข้าไปกดว่าอยากดูวงอะไร พอมีคนอยากดูเยอะพอก็จัดให้มีคอนเสิร์ตวงนั้นแหละมาเล่น และเขาทำอย่างเดียว เขาก็อยู่รอดได้ คล้ายๆ เวลามีคนตั้งเพจขึ้นมาถามว่า “มั่นใจว่ามีคนไทยมากกว่า 1,000 คน อยากดูคอนเสิร์ต...” บนเฟซบุ๊กนั่นแหละครับ และการที่เขาทำแบบนี้ มันก็ทำให้เขาได้พาวงเกาหลีวงนี้ไปเล่นที่ยุโรป เล่นที่อเมริกาได้สำเร็จมาแล้ว”
“มันเหมือนการทำอาหารนั่นแหละครับ” ว่าแล้วพายก็ช่วยเสริมอีกมุมมองหนึ่งขึ้นมา “ผมมองว่าธุรกิจจะทำแบบแคบหรือกว้างก็ได้ อยากจะทำแบบเฉพาะเจาะจง แก้ปัญหาอย่างเดียวให้ดีที่สุดไปเลย มันก็ได้ ยกตัวอย่าง ถ้าทำกับข้าวไข่เจียวขายอย่างเดียวแล้วอร่อยโคตรๆ แบบนี้ก็รอดได้แล้ว หรือจะทำใครครบวงจร เปิดเป็นร้านอาหารตามสั่ง ทำได้หมดทุกอย่าง มันก็ได้เหมือนกัน”
(ทีมงานมืออาชีพของ "ฟังใจ")
ส่วนความหมายของคำว่า “อุดมการณ์” นั้น พายมองว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับวงการดนตรี ธุรกิจดนตรี และอุตสาหกรรมดนตรี มีอยู่แค่ 2 อย่างคือ “ศิลปิน” กับ “แฟนเพลง” ที่เหลือเป็นส่วนเกินทั้งนั้น เราก็เป็นส่วนเกินครับ เราเป็นเพียงตัวเชื่อม เราต้องการให้สองฝ่ายนี้ได้อยู่ใกล้ชิดกันมากขึ้น ได้สนับสนุนซึ่งกันและกันมากขึ้น ที่ผ่านมานั้น ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ทั้งหลายพยายามที่จะควบคุมธุรกิจ พยายามจะหาวิธีปิดกั้นและให้คนจ่ายค่าผ่านทางเพื่อที่จะได้ไปหาวงดนตรีหรือนักดนตรีที่ตัวเองชื่นชอบ”
“แต่ทุกวันนี้เทคโนโลยีทำให้ทั้งสองฝ่ายเข้ามาใกล้ชิดกันมากขึ้น เราก็เป็นแฟนเพลง เราอยากดูศิลปินเล่น อยากสนับสนุนเขา และวิธีการสนับสนุนเขาอย่างหนึ่งก็คือการสร้างแพลตฟอร์มให้เขาสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น ดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้น
การที่แฟนเพลงคนหนึ่งจะสนับสนุนงานของศิลปิน มันต้องผ่านขั้นตอน 4 สเต็ปก่อนก็คือ “ค้นพบเพลง” จากนั้นก็เริ่ม “ฟัง” ฟังไปเรื่อยๆ จนเกิด “ความรัก” จากนั้นก็ตัดสินใจ “ซื้อ” เพื่ออุดหนุนศิลปิน ฟังใจก็พยายามจะทำให้เกิดสิ่งนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เราอยากจะบอกทุกคนว่า “ดนตรีมีมูลค่า” นะ และในเมื่อมันมีมูลค่า แล้วทำไมคุณจะไม่ยอมจ่ายเงินเพื่อให้ศิลปินคุณอยู่รอดกันล่ะ” ท้อปพยักหน้าหงึกหงักให้กับทัศนะของเพื่อน จากนั้นจึงขอสรุปทิ้งท้าย
(ความรู้ที่ได้จากกิจกรรม "เห็ด Young" ในรั้วมหาวิทยาลัย)
“อยากให้เขาเข้าใจจริงๆ ว่า ดนตรีมันมีมูลค่าและกว่าจะออกมาได้แต่ละหนึ่งเพลง มันใช้เงินเยอะจริงๆ มันมีขั้นตอนเยอะมาก ไหนจะหยาดเหงื่อแรงกายและทุนทรัพย์อีก บางทีเราอยู่ในยุคที่อะไรๆ มันแพร่ไปเร็วบนอินเทอร์เน็ต จนทำให้กลายเป็นดาบสองคมไป คนรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้กลายเป็นของฟรี กลายเป็นพฤติกรรมที่เคยชินไปแล้ว ดูหนังฟรี โหลดอะไรๆ ฟรีไปหมด จนเขาลืมคิดไปว่าคนที่ทำงานเบื้องหลัง เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง
ผมว่าที่ยังไม่เห็นธุรกิจดนตรีในลักษณะเดียวกับฟังใจเกิดขึ้นมาเยอะมากนักเนี่ย อาจจะเป็นเพราะว่าพฤติกรรมของผู้เสพด้วยแหละ เราถึงต้องเปลี่ยนวิธีคิดเขาให้ได้ก่อน ต้องให้เขารู้สึกว่า “ดนตรีมีมูลค่า” พอคิดแบบนั้น อุตสาหกรรมนี้ก็จะมีเม็ดเงินไหลเวียนได้มากขึ้น แต่ทุกวันนี้ เอาจริงๆ นะ แม้แต่ค่ายใหญ่ๆ เขายังแขยงๆ กันเลย เราเลยต้องมาลองดูว่าจะสามารถเปลี่ยนทัศนคติได้ยังไงบ้าง เราอยู่ในจุดที่พอจะมีทุนทรัพย์และมีแรงทำได้ เราก็ลองทำดู แล้วมาดูกันว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น?”
คำพี่สอน “สิ่งใหม่จะต้องโดนต่อต้านเสมอ” ("เมื่อย" วง Scrubb กับมุมมองของคนเบื้องหน้าและเบื้องหลังวงการเพลง) “เราไม่มีทางรู้เลยว่าต้องทำครบวงจรไหมแล้วจะรอด แต่ที่รู้คือคนที่มองเห็นว่ามันดีจริงๆ ก็น่าจะพร้อมสนับสนุนเต็มที่ แต่ถ้าใครมองว่าอยากจะทำธุรกิจกับเพลง มันคงผิดทาง เราอาจจะต้องทำเพราะใจรักก่อน ไม่ต้องพยายามไปหาศิลปินที่ดี หรือไม่พยายามจะไปเค้นอะไรจากใคร เพราะวงที่มันดีของมันอยู่แล้ว ไปอยู่ค่ายไหนก็ไม่เกี่ยว และถ้ามันมีวงอย่างนี้เยอะๆ มันก็ดี แต่ผมก็ไม่รู้ว่าคนเขาพร้อมสนับสนุนกันหรือเปล่า เพราะทุกวันนี้เวลาจัดงาน รายได้ที่เข้ามา มันก็ทำได้แค่ไม่ขาดทุน” เมื่อย-ธวัชพนธ์ วงศ์บุญศิริ ศิลปินวง “Scrubb” ขวัญใจคออินดี้ พูดจากประสบการณ์ตรงในฐานะคนเบื้องหน้าและเบื้องหลังการทำเพลง ล่าสุด เขาได้สร้างพื้นที่ดนตรีให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมา โดยใช้ชื่อโปรเจกต์ว่า “Dood” (www.facebook.com/doodsound) จัดคอนเสิร์ตเล็กๆ ให้ศิลปินไร้ชื่อเสียงไร้สังกัด แต่มีความสามารถในการผลิตงานเพลงเอง ได้มีพื้นที่ปลดปล่อยความสามารถ โดยจัดเดือนละครั้งตามรายสะดวก จึงทำให้เขายิ่งเข้าใจว่าการสร้างพื้นที่ใหม่ๆ ให้ศิลปินในวงการนี้มันอยู่รอดยากขนาดไหน... “ที่ทำอยู่ไม่ใช่ธุรกิจเลยครับ เพราะแค่คิดจะทำก็เจ๊งแล้ว (ยิ้ม) แต่เราทำเพราะอยากเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่น มันคนละจุดประสงค์เลย เราทำแค่ว่าเราเท่าทุน ไม่เดือดร้อน เด็กได้เล่น มีที่ให้เล่นฟรี เครื่องเสียงดี ว่างก็จัด มีทีมมาทำ Visual ยิงภาพระหว่างที่วงเล่น มีเพื่อนจาก DuckUnit มาจัดแสงให้ ทุกคนมาฟรีหมด ไม่ซีเรียสด้วยว่าจะต้องมีคนมาเยอะ เพราะผมต้องการแค่ 30 คน ซึ่งมันทำได้อยู่แล้ว มันทำได้ทุกครั้ง เราทำไปเรื่อยๆ ไม่ได้หวังว่ามันจะเป็นยังไง แต่คิดว่ามันเป็นทางเลือกอีกแบบหนึ่งนะสำหรับการฟังดนตรี จริงๆ แล้ว อาจจะไม่ต้องรู้จักเพลงเขาก็ได้ มาฟังวงใหม่ๆ มาดูเขาเล่นสด อาจจะรู้สึกกว่าฟังในวิทยุก็ได้ บางวงที่เขายังไม่มีแผ่นออกมาเลย ผมก็ให้เขามาเล่น แต่ต้องเป็นเพลงที่แต่งเอง เพราะเราคิดว่าเรื่องทำเพลงมันพัฒนาได้ ผมก็จะเป็นฝั่งแก๊งทำเอง แต่งเพลงเอง ร้องกันเอง คิดดนตรีกันเอง ก็มาเล่นกับปาร์ตี้แบบนี้ ส่วนฟังใจก็เป็นพื้นที่ใหญ่ที่ทุกคนรู้ว่ามีที่ให้ปล่อยเพลง มีอีเวนต์ให้วงที่ไม่น่าจะได้เล่นเวทีใหญ่ๆ ได้มีโอกาสเล่น เป็นอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเราก็อยากให้เขาอยู่รอดได้ครับ เพราะเขามีความหลากหลาย ความเป็นกลางเขาก็มี คนฟังจะไม่โดนเอาเปรียบเพราะเขาไม่ได้ลงเพลงเพราะอยากให้วงไหนดัง เขาเป็นพื้นที่ให้ศิลปิน ทุกคนวัดกันที่ผลงาน วงไหนได้รับความนิยมก็ได้มาจัดคอนเสิร์ต ผมว่ามันต้องเป็นอย่างนี้แหละ ("ฟังใจ" ชุมชนคนดนตรีที่มาแรงที่สุดในขณะนี้) ฟังใจอาจจะต้องทำไปเรื่อยๆ สร้างวัฒนธรรมให้คนชอบฟังดนตรีสด คนชอบฟังนักดนตรีที่แต่งเอง มันคงจะมีวันหนึ่งที่คนจะรู้ว่าอันนี้คือเฟก อันนี้คือไม่เฟก ซึ่งผมพูดไม่ได้ไง มันคงต้องใช้เวลาที่คนจะเห็นกันเอง ส่วนน้องๆ ศิลปินที่อยากจะรอดก็ต้องหัดสร้างเองด้วย ไม่ใช่จะมารอเพลงได้ออกวิทยุแล้วดัง ถึงจะมีงานเข้ามา คุณต้องหาที่เล่นเอง ค่ายเพลงอาจจะไม่ได้เป็นตัวช่วยอะไรด้วยซ้ำถ้าศิลปินทำเพลงเอง อาจจะแค่ช่วยอำนวยความสะดวก ช่วยขายให้ทั่วถึง ผมอยากเห็นเด็กๆ รุ่นใหม่เปลี่ยนทัศนคติว่า ไม่เห็นต้องไปรอให้ค่ายมาชอบเพลงเราเลย มีเพลงตัวเองแล้วก็หาที่เล่นสิ ที่จัดปาร์ตี้มีอีกเยอะแยะไป จะไปยอมให้ใครก็ไม่รู้จะเลือกเพลงเราทำไม เราก็ต้องมารออีกว่าเพลงไหนเพราะ เขาจะโปรโมตเพลงไหน ก็ต้องรอให้เขาทำ MV อีก แล้วก็ต้องรอลุ้นว่าเพลงขึ้นชาร์ตหรือเปล่า ทั้งที่พวกเขาไปเล่นได้เลย แต่ไม่ทำกัน เลือกวิธีที่จะรอแล้วก็มาบ่นว่าเขาไม่ชอบเพลงเลย เขาไม่เข้าใจ มันไม่มีใครเข้าใจสิ่งใหม่หรอก ทุกสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ต้องโดนต่อต้านเสมอ อันไหนที่ไม่โดนต่อต้านคือสิ่งเก่า เพราะฉะนั้น ถ้าจะทำสิ่งใหม่ต้องทะลุตรงนี้ไปให้ได้ ตอนพวกผม (วง Scrubb) ทำก็โดนด่าเหมือนกัน ผมก็แค่เชื่อว่าเราไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน แค่ทำเพลงและคิดว่าคนน่าจะชอบ เพราะพวกผมยังชอบเลย ผมคิดง่ายๆ แค่นี้ แล้วหลังจากนั้น 15 ปี มันก็เห็นผล สุดท้าย คนก็ไม่ได้ต้องการเพลงเพราะจากพวกผมแล้วด้วยซ้ำ แค่ต้องการให้พวกผมยังเล่นอยู่เท่านั้นเอง” |
ฟังใจ - Fungjai... "ครบวงจร” ทางรอดของ “ธุรกิจดนตรี” ในยุคนี้!!?“ทางรอด” บนทางลูกรังสายนี้ อาจเหลือเพียงไม่กี่เลนที่จะช...
Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Monday, August 31, 2015
" เราอาจจะเคยรู้จักกันมาบ้าง แต่อาจจะยังไม่รู้จักกันดีพอ "เราอยากขอชวนทุกคนให้มารู้จักเรามากกว่านี้พบกันที่ https://www.facebook.com/events/103443686677493/
Posted by ฟังใจ - Fungjai on Sunday, August 16, 2015
บทความโดย ASTV ผู้จัดการ Live
เรื่องและภาพ: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ข้อมูลเพิ่มเติม: fungjai.com, แฟนเพจ "ฟังใจ - Fungjai" และ www.fungjaizine.com
ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- “ฟังใจ” อาณาจักรดนตรีแห่งใหม่ของไทย!! เหมาะกว่า Youtube อิสระกว่าวิทยุ?
มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...
Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754