xs
xsm
sm
md
lg

“ฟังใจ” อาณาจักรดนตรีแห่งใหม่ของไทย!! เหมาะกว่า Youtube อิสระกว่าวิทยุ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ท้อป ผู้ก่อตั้ง ฟังใจ อาณาจักรเพลงแห่งใหม่ของไทย (ซ้าย) และ พาย คู่ซี้ผู้ร่วมอุดมการณ์ (ขวา)
ทำไมต้องฟังเพลงด้วยวิธีเดิมๆ ทั้งๆ ที่มีวิถีใหม่ๆ ที่เห็นชัดๆ ว่าเหมาะกว่า เดิร์นกว่า และสะดวกมากกว่า?
คือคำถามที่ทำให้หนุ่มนักเรียนนอกคนหนึ่งลุกขึ้นมาตอบตัวเอง ด้วยการหยิบเอากล่องประสบการณ์ทั้งหมดที่มี มาปั่นรวมเป็น “อาณาจักรดนตรี” แห่งใหม่ของไทย ประดิษฐ์รูปแบบการฟังเพลงบนโลกออนไลน์ที่มีคุณสมบัติ เหมาะกับโลกดนตรีมากกว่า Youtube, อิสระต่อคอเพลงมากกว่าคลื่นวิทยุ และสะดวกต่อพฤติกรรมการเสพตัวโน้ตออนไลน์มากกว่าแบบไหนๆ เพราะ “ฟังใจ” คือซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมาเพื่อผู้ต้องการเสพความบันเทิงผ่านโสตประสาทโดยเฉพาะ!!



ชุมชนคนดนตรีที่เหมาะกว่า Youtube?

(กว่า 400 ศิลปิน กับอีก 2,000 เพลง รวมอยู่ใน Fungjai.com)
“Music Streaming” คือผลลัพธ์ที่โดนใจที่สุดแล้วเท่าที่หนุ่มนักเรียนนอกหัวก้าวหน้าอย่าง “ท้อป-ศรัณย์ ภิญญรัตน์” จะคิดออก หลังข้ามน้ำข้ามทะเลไปร่ำเรียนและประลองสนามออกแบบในฐานะกราฟิกดีไซเนอร์อยู่หลายปีที่อเมริกา เขาจึงหอบไอเดีย “ซอฟต์แวร์การฟังเพลง” แบบนี้กลับมาทำที่ไทย ด้วยฝันเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ในใจที่อยากทำให้เพลงดีๆ ซึ่งไม่ได้ถูกโอบอุ้มด้วยค่ายใหญ่ๆ มีแผงดีๆ ให้วาง

ถ้าเปรียบอัลบั้มเพลงที่เรียงรายอยู่เป็นตั้งๆ บนเว็บไซต์ “ฟังใจ (www.fungjai.com)” เป็นเหมือนหนังสือหลากเล่มหลายสไตล์ ท้อปคงไม่ต่างไปจาก “บรรณารักษ์ห้องสมุดเพลงออนไลน์” ที่มีความคิดแหวกแนวที่สุดในตอนนี้


“ตอนไปอเมริกาได้มีโอกาสใช้ “Spotify” ทำให้รู้สึกว่าซอฟต์แวร์การฟังเพลงที่ถูกออกแบบมาดีๆ มันดีกว่าการฟังบน Youtube มาก (ลากเสียง) ผมรู้สึกว่า Youtube มันไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับการฟังเพลงโดยเฉพาะ ก็เลยอยากทำตรงนี้ บวกกับความที่ผมโตมากับเพลงนอกกระแสด้วย ก็เลยหยิบเอาจุดนี้มาผสมกันจนได้ไอเดียของ “ฟังใจ” ขึ้นมาครับ


ที่มาทำตรงนี้เพราะแค่อยากให้ในอนาคต พอย้อนกลับมาดูอีก 10-20 ปีข้างหน้าจะได้รู้ว่า ตอนนั้นคนเขาฟังเพลงอะไรกัน และดนตรีมีการพัฒนาไปยังไงบ้าง เหมือนกับว่าก่อนหน้านี้มันมีหนังสือที่กระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ เต็มไปหมด ผมแค่ทำหน้าที่ไปรวบรวมมันมาไว้ที่เดียวกัน ปัญหามันเริ่มมาจากตัวผมเอง ผมกลับมาแล้วอยากฟังเพลงแนวนี้ต่อจากที่เคยฟังใน Fat Radio (104.5 FM คลื่นดนตรีอินดี้ยุคบุกเบิกในสมัยนั้น) แต่รู้สึกว่าทำไมไม่มีใครมารวมไว้ให้ พอไม่มี เลยคิดว่ากูนี่แหละวะทำเองซะเลย” ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ฟังใจ หัวเราะเบาๆ ตบท้าย


(ท้อป หนุ่มนักเรียนนอกหัวก้าวหน้า ผู้ก่อตั้ง "ฟังใจ")

ถ้าให้เทียบกับการฟังเพลงผ่านยูทิวบ์ (www.youtube.com)แล้ว พูดได้เต็มปากว่าคอเพลงจะได้รับคุณภาพเสียงที่คงที่กว่าหากฟังผ่านเว็บไซต์ฟังใจ (www.fungjai.com) เพราะคลิปเสียงบน Youtube เกิดจากการอัปโหลดของผู้ใช้ทั่วโลกทำให้ไม่สามารถควบคุมระดับคุณภาพเสียงให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ แต่ฟังใจใส่ใจกับรายละเอียดตรงนี้มาก ถึงกับต้องแปลงไฟล์เสียงจากต้นทางในระดับที่เท่ากันมาอัปโหลด เพื่อให้เวลาเปิดฟังต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่มีเพลงไหนที่มีเสียงดัง-เบาโดดเด้งขึ้นมาให้คอเพลงต้องเสียอารมณ์ ส่วนการเรียงเพลงก็ตั้งใจเรียงตามลำดับอัลบั้มในซีดีนั้นๆ เพราะเชื่อว่าแบบที่ศิลปินคิดมาให้คือลำดับการฟังเพลงทั้งอัลบั้มที่ลงตัวที่สุดแล้ว

แต่ถึงจะมีข้อดีอีกมากมายแค่ไหน ถ้าไม่มีจุดขายที่ทำให้ “ฟังใจ” แตกต่างจาก Music Streaming หรือซอฟต์แวร์การฟังเพลงตัวอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วอย่าง “KKbox” “Deezer” หรือแม้แต่ “Spotify” ที่อาจจะเข้ามาให้ใช้บริการในไทยในอนาคต ก็อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ความฝันนี้อยู่รอดได้ และดูเหมือนท้อปเองจะยังคิดไม่ออกเช่นกันว่าต้องทำอย่างไร กระทั่งโชคชะตาได้ช่วยไขปัญหานี้ออกมา ให้เขาได้พบกับ “พาย-ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี” หุ้นส่วนคู่ซี้หน้าตี๋ ผู้เป็นเจ้าของความคิดการสร้าง “ชุมชนคนดนตรีแบบ Offline” ขึ้นมาเสริมพลัง


(พาย ส่วนเติมเต็ม "ฟังใจ" ให้เดินหน้าไปอย่างเข้าใจ จากมุมมองศิลปิน)

“ต่อให้เราบอกว่าเรามีแต่เพลงนอกกระแส แต่ก็ไม่ใช่ว่าเพลงแบบนี้บน “Deezer” หรือ “KKbox” ไม่มีนะ ตอนแรกๆ เลยเกิดคำถามตลอดว่ามันจะต่างพอเหรอ แต่พอมีไอเดียของพี่พายเพิ่มเข้ามา ผมเลยเริ่มรู้สึกว่ามันต่างละ เพราะมันมีเรื่องการรวมกลุ่มสร้าง Community รวมตัวกันแบบ Offline ด้วย เราจัดสัมมนา ลงพื้นที่ไปคุยกับศิลปินตามจังหวัดต่างๆ เชียงใหม่, เชียงราย, ขอนแก่น, โคราช ฯลฯ มันทำให้เราดูมีตัวตนในฐานะคนคนนึงจริงๆ ในสายตาศิลปิน ฟังใจเป็นกลุ่มคนที่ตัวเล็กๆ มากๆ ที่เริ่มทำกันเองจนศิลปินเริ่มรู้จัก สามารถมาหา-โทร.หากันได้ ทำให้ฟังใจแข็งแรงและมีจุดขายที่ต่างจาก Music Streaming ตัวอื่นๆ”

ท้อปปิดประโยคด้วยยิ้มเย็นๆ ก่อนปล่อยให้พาย อดีตศิลปินวงอินดี้ “Cigarette Launcher” และกูรูผู้เขียนบล็อกให้ความรู้นักดนตรี บอกเล่าผ่านมุมมองของตัวเองบ้าง


(รวมกลุ่มแบบออฟไลน์กับเหล่าคนดนตรี)
เรา 2 คนเหมือนเป็น 2 ส่วนของลูกบอลกลมๆ ลูกนึง คือทางท้อป เขาอยากจะสร้างประสบการณ์การฟังเพลงผ่านเครื่องมือขึ้นมาตัวนึง ส่วนผม อยากจะให้มีพื้นที่ที่เอากลุ่มศิลปินและคนฟังเพลงมารวมตัวกันได้ เพื่อขับเคลื่อนอะไรบางอย่างในอนาคตไปในทางที่ดีขึ้น คราวนี้ พอฝั่ง Online (การฟังเพลงบนเว็บไซต์) กับ Offline (การรวมตัวของคนดนตรี) มาเจอกัน มันก็เหมือนสองส่วนที่เข้ามาผสมกัน ทำให้กลายเป็นลูกบอลกลมๆ ที่วิ่งไปได้จริงๆ



ขอเรียกร้อง “ประชาธิปไตยทางดนตรี”!!

“ถ้าฟังวิทยุ ใน 1 วินาที เราสามารถฟังเพลงได้อยู่เพลงเดียว แต่ถ้าฟังผ่าน Music Streaming คือคนฟังจะสามารถเข้าไปเลือกฟังเพลงไหนก็ได้ สมมติคนฟังมี 1 ล้านคน คนอาจจะเลือกฟังคนละเพลง กลายเป็นว่าทำให้มีเพลง 1 ล้านเพลงถูกเปิดใน 1 วินาที

สิ่งที่พวกเราทำ ผมว่ามันอยู่บนแนวคิดของคำว่า “ประชาธิปไตยทางดนตรี” นะ คือเรามอบอำนาจให้กับผู้ฟังเป็นผู้เลือกว่าเขาอยากจะฟังอะไร มันต่างจากสื่อวิทยุหรือสื่ออื่นๆ ซึ่งคนที่เป็นเจ้าของสื่อหรือดีเจ จะเป็นคนช่วยคัดเลือกให้ผู้ฟังมากกว่า แต่ของเรา เรามอบอำนาจให้คนฟัง ให้ศิลปินได้อยู่บนพื้นที่เดียวกันในระดับที่เท่าๆ กัน ให้คนฟังก็ไปเลือกฟังกันเอาเองครับ


(ลองฟังดู แล้วจะรู้ว่า Music Streaming ถูกสร้างมาเพื่อการฟังเพลงโดยเฉพาะ)

จากแนวความคิดนี้ของพาย บวกกับโมเดลธุรกิจที่ท้อปอธิบายไว้ว่า สามารถผันยอดคนฟังแต่ละเพลงเป็นเม็ดเงิน ส่งคืนแทนกำลังใจให้ศิลปินทางเลือกได้ คิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์จากสปอนเซอร์ที่เข้ามา ถ้าบอกว่านี่น่าจะเป็น “ทางรอด” ใหม่ของศิลปิน “ทางเลือก” ก็คงไม่ผิดนัก เพียงแต่คงช่วยให้รอดได้บางส่วนเท่านั้น เพราะวัตถุประสงค์ที่แท้จริงที่พวกเขาต้องการคือการทำให้ดนตรีกลับมามี “มูลค่า” ตอบแทนศิลปินได้อีกครั้ง ในยุคที่คนนิยมเสพดนตรีฟรีจนลืมคิดถึงหัวอกของศิลปินไปแล้วต่างหาก

"อย่าไปมองว่า Streaming จะเป็นรายได้หลักเลยครับ ขนาดศิลปินเบอร์ใหญ่ๆ ถ้าจะให้ยึดรายได้จากตรงนี้อย่างเดียวยังยากเลยที่จะได้เดือนละ15,000-20,000 บาท แล้วจะทำให้อยู่ได้โดยไม่ต้องประกอบวิชาชีพหรือไม่แสดงสด แต่มันน่าจะเป็นโอกาสที่จะทำให้ศิลปินที่อยู่กับเราถูกค้นพบได้มากกว่า

เพราะตอนนี้เรามีศิลปินประมาณ 400 ราย เพลงกว่า 2,000 เพลง ซึ่งถือว่าไม่เยอะเท่า Streaming ตัวอื่น ทำให้มีโอกาสจะขยายฐานแฟนเพลงไปได้ ให้คนหันมาสนับสนุนงานคุณ ตามไปดูไปอุดหนุน ตรงนี้มากกว่าที่เรามองว่าพอจะเป็นทางอยู่รอดได้

เคยเห็นศิลปินบางคน เพลงเขาดีมากเลยนะ แต่ไปดูยอดวิวใน Youtube แล้วมีคนเข้าไปดูแค่ 50 วิวก็มี เราเลยรู้สึกว่าทำไมไม่มีใครรู้จักพวกเขาเลย การที่เขามาอยู่กับฟังใจอาจจะทำให้เขาถูกค้นพบเพิ่มขึ้นมาอีกช่องทางนึงก็ได้ ส่วนทางรอดทางอื่นที่เราพอจะช่วยได้ก็คือการให้ความรู้ผ่านงานสัมมนาครับซึ่งจัดไป 4 ครั้งแล้วเกี่ยวกับการทำยังไงให้เขาอยู่ด้วยตัวเองได้ในงบประมาณที่จำกัด ทำ Marketing ผ่านโซเชียลมีเดียยังไงให้คนหันมาชอบวงของคุณ” ว่าแล้วหนุ่มแว่นในเชิ้ตสีฟ้าก็หันไปหาเพื่อนซี้ หนุ่มตี๋ในเสื้อสีดำจึงรับช่วงต่อทันที


“ในมุมมองสมรภูมิของดนตรี เพลงกระแสหลักหรือบริษัทค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ เขาจะมีกำแพงที่มองไม่เห็นอยู่ และกำแพงตรงนี้มันทำให้วงดนตรีเล็กๆ เข้าไปในสมรภูมินั้นไม่ได้ เหมือนถูกปิดกั้น ฟังใจพยายามที่จะช่วยทลายกำแพงโอกาสให้ศิลปินตัวเล็กๆ เหล่านั้นครับ ให้ทุกคนมีสิทธิได้ไปอยู่บนพื้นที่ที่คนจะได้ค้นพบพวกเขา เราอยากจะมอบเครื่องมือให้ศิลปินเหล่านี้ไปใช้ประทังความอยู่รอดด้วย เพราะถ้าแค่ทลายกำแพงให้ แต่ปล่อยให้เขาไปเผชิญเองก็อาจจะถูกกัดกินจนตายไปในที่สุด

คือเราไม่ได้เกลียดกระแสหลักนะ เราแค่อยากให้กำแพงมันทำลายลงไป ให้หลอมรวมกัน ให้ทุกคนได้มีโอกาสถูกรับฟังเหมือนกัน มันอาจจะฟังดูบ้าๆ บอๆ แต่สิ่งที่เราพยายามอยากจะทำก็คือ “ปฏิวัติวงการดนตรี” ครับ ซึ่งเรากำลังทำอยู่ โดยเริ่มจากรากหญ้า เริ่มจากคนทำและคนฟังเพลงนี่แหละ”


(‘ฟังใจ’ เป็นคำล้อเสียงจากภาษาอังกฤษว่า ‘Fungi’ ซึ่งประกอบไปด้วยเห็ด รา และยีสต์ เติบโตอยู่ในซอกหลืบที่คนทั่วไปไม่เห็น มีความหลากหลายทางสายพันธุ์ ไม่ต่างจากดนตรีทางเลือก)

เห็นจุดยืนความเป็น “ฟังใจ” แล้วทำให้อดนึกถึง “Fat Radio” ในสมัยที่ยังเป็นคลื่นเด็กแนวประจำอยู่ที่ความถี่ 104.5 MHz ไม่ได้ เพราะดูๆ แล้วฐานคนฟังไม่น่าจะต่างกันสักเท่าไหร่ น่าจะกลุ่มเดียวๆ กันด้วยซ้ำ จึงเกิดคำถามว่าพวกเขาจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะต่อสู้ให้อยู่รอดได้ในสมรภูมิอันดุเดือดนี้ เพราะแม้แต่คลื่นเพลงอินดี้รุ่นบุกเบิกยังต้องเปลี่ยนเป็น “Cat Radio” เปิดเพลงเคล้าเสียงดีเจผ่านหน้าเว็บเป็นหลักไปแล้ว ที่สำคัญ มันจะยิ่งเป็นการแย่งพื้นที่คนฟังเพลงจากกลุ่มเดียวกันเองที่มีน้อยอยู่แล้วให้น้อยลงไปอีกหรือเปล่า? ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อาณาจักรดนตรีแห่งใหม่หัวเราะตอบรับให้กับคำถามโดนใจแล้วให้คำตอบว่า

“คนอาจจะมองว่าตลาดดนตรีนอกกระแสมันเล็ก เพราะฉะนั้น ควรจะมีสื่อเดียวสิ แต่ผมกลับไม่มองอย่างนั้นครับ ผมกลับมองว่ายิ่งมีสื่อเยอะยิ่งดีสิ คนยิ่งมีโอกาสได้ค้นพบเพลงลักษณะนี้เยอะขึ้น และการมี Cat และ Fungjai พร้อมๆ กัน ผมว่ามันมีข้อดีมากกว่าข้อเสียนะ เพราะยิ่งเปิดช่องทางตรงนี้ให้กว้างมากขึ้นเท่าไหร่ ดนตรีตรงนี้ก็จะยิ่งโตขึ้น ต่อไปอาจจะมีสื่อที่ 3 สื่อที่ 4 ไปอีก ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะมีอยู่แล้วเยอะแยะที่ผมไม่รู้ก็ได้

ต่อให้วันนี้ไม่มีฟังใจ ผมว่าตลาดตรงนี้มันก็โตขึ้นโดยอัตโนมัติอยู่แล้วนะ ผมไปอยู่ต่างประเทศมา กลับมาทีแรกผมตกใจมาก เรามีค่ายเพลงเล็กๆ ผุดขึ้นมาเยอะมากนะ จากเมื่อก่อนพอนึกถึงคำว่า “อินดี้” จะนึกถึงแค่ “Smallroom” แต่ตอนนี้เยอะแยะเต็มไปหมด มี “SO::ON Dry Flower” ด้วย ซึ่งตอนแรกทำแค่จัดอีเวนต์คอนเสิร์ต แต่ตอนนี้ก็ตั้งค่ายได้จริงๆ แล้ว ไหนจะ “Rat Records” อีก เกิดขึ้นเยอะมาก ผมรู้สึกตื่นเต้นมาก และพอตลาดมันโตขึ้น ผมก็เชื่อว่ามันไม่จำเป็นต้องมีสื่อผูกขาดเจ้าเดียวขนาดนั้น อย่างเพลงกระแสหลักยังมีตั้งหลายเจ้า ผมว่ายังไงเราก็อยู่ด้วยกันได้อย่างสันติแน่นอน



คนภายนอกมองอาจจะคิดว่า เอ๊ะ! ไอ้กลุ่มเด็กพวกนี้นี่มันตั้งมาตี “Cat Radio” หรือเปล่า? แต่อยู่ข้างในจะรู้เลยครับว่าไม่ใช่ พวกเราเคารพคนของทาง Cat มากเพราะเขาอยู่กันมานานมาก พวกผมอยู่กันยังไม่ถึงปีเลย ยังเป็นเด็กแบเบาะในวงการนี้กันอยู่เลย ที่สำคัญ มันไม่ใช่ว่าอันใดอันหนึ่งต้องชนะหรือแพ้ ผมว่ามันขึ้นอยู่กับอารมณ์ในตอนนั้นของคนฟังเพลงมากกว่านะ ถ้าเขาอยากฟังแบบมีดีเจจัดให้ฟัง เหมือนได้พูดคุยและรับความบันเทิงแบบนั้น ก็เลือกฟัง Cat แต่ถ้าเขาอยากฟังแบบที่เลือกฟังเอง ค้นหาเอง ตั้ง Playlist เองได้ ก็เลือกฟัง Fungjai ซึ่งผมก็เชื่อว่าคนคนนึงสามารถฟังได้ทั้งสองอย่างสลับกันไปมา

“เดี๋ยวตลาดมันจะขยายไปตามหูคนฟังเพลงเองครับ” พายขอแชร์ความคิดจากมุมมองของเขาบ้าง “คนเรามีหู 2 ข้างเหมือนกัน สามารถเลือกฟังยังไงก็ได้ ฟังเพลงดี ไม่ว่าจะฟังจากตรงไหน ค่ายไหน สุดท้ายเพลงดีมันก็คือเพลงดี แล้วพอคนเริ่มคุ้นว่า เอ้อ... ไม่จำเป็นต้องรอฟังเพลงจากแกรมมี่หรืออาร์เอสอย่างเดียวก็ได้ เราก็จะเริ่มเห็นว่ายังมีอะไรอย่างอื่นอีกที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดเต็มไปหมด



เปลี่ยนความเคยชิน! “ดนตรี ≠ ของแกล้มเหล้า”

(ความยิ่งใหญ่ของงาน "เห็ดสด" งานเปิดตัวเว็บไซต์ฟังใจอย่างเป็นทางการ เพื่อประกาศ "มูลค่า" ของดนตรี)
“คาเฟ่ดนตรี (Live House)” คือตัวแปรผลักดันชั้นดีที่ทำให้ดนตรีทางเลือกเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งเป็นต้นกำเนิดวัฒนธรรมการเสพดนตรีแบบนี้ คือเปิดให้มีพื้นที่เล็กๆ แสดงดนตรี ไม่ใช่ร้านเหล้าหรือผับที่เปิดทุกคืนแล้วมีวงมาเล่นประดับ แต่จะเปิดเฉพาะคืนที่มีศิลปินมาเล่นและมีการเก็บค่าเข้าด้วย

แต่น่าเสียดายที่สิ่งเหล่านี้ไม่อาจเกิดขึ้นในไทย หรือมี Live House ไม่กี่แห่งที่ทำได้เพียงชั่วครู่ชั่วยาม สุดท้ายก็ต้องปิดกิจการไป เพียงเพราะไม่อาจต้านทานทัศนคติการเสพดนตรีของคนไทยได้ ที่ส่วนใหญ่มองอย่างเคยชินไปแล้วว่า “ดนตรีก็แค่กับแกล้มเหล้าเคล้านารีและการสังสรรค์กับมิตรสหาย” ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? คู่ซี้จากฟังใจทั้งสองมองหน้ากัน แล้วจึงเริ่มผลัดกันแลกทัศนะอย่างเป็นกันเอง



“จากที่ไปอยู่ที่นู่นมา รู้สึกว่าคนอเมริกันต่างจากคนไทยชัดเจนเลย เหมือนกับว่าคนที่ไป เขาไปฟังเพลงกันจริงๆ แล้วเหล้าเป็นองค์ประกอบรอง แต่ของคนไทยไปเพื่อพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงเป็นหลัก ดนตรีเป็นองค์ประกอบรอง” ท้อปเริ่มก่อน พายจึงเข้ามาเสริม

“ผับบาร์ต่างๆ ในเมืองไทยมันเล่นดนตรีสดกันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เล่นอยู่ในนั้นก็คือเพลงคัฟเวอร์ ยิ่งวงไหนคัฟเวอร์เพลงเก่งๆ วงเหล้ายิ่งชอบ เลยทำให้ไม่ได้เล่นเพลงตัวเอง

“หรือต่อให้เป็นวงที่มีเพลงของตัวเอง แต่พอไปเล่นบางร้าน เจ้าของร้านเขาจะบอกเลยว่าไม่ให้เล่น เพราะเพลงมันไม่เป็นที่รู้จัก กลัวไม่เอนเตอร์เทนลูกค้า มันจะเป็นในลักษณะนั้น” เมื่อเห็นปัญหาที่ท้อปช่วยชี้ชัดๆ ทิ้งท้าย พายจึงขอเสนอทางแก้ในแบบของเขา



“ถ้าอยากจะให้ Live House ในเมืองไทยเกิด ก็ต้องหาวัฒนธรรมอะไรที่มันมีอยู่แล้วในประเทศเรา แล้วต่อยอดขึ้นไปให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครับ อาจจะค่อยๆ ตะล่อมจากในผับในบาร์ เช่น วันธรรมดาก็เปิดโอกาสให้วงที่มีเพลงของตัวเองมาเล่นบ้าง แล้วก็ขายบัตรให้คนที่มากินเหล้าปกติเริ่มเห็น ซึ่งหลายๆ ปีที่ผ่านมาก็เริ่มมีหลายๆ ค่ายที่ทำนะครับ ทำให้คนเริ่มโอเคกับการซื้อบัตรเข้างาน

จากสมัยก่อน พอจะขายบัตรคนก็จะถามว่า “ทำไมต้องจ่าย?” ปกติแค่มากินเหล้าก็ได้ฟังเพลงฟรีๆ แต่เราต้องค่อยๆ เปลี่ยนครับ ทำให้คนเห็นว่ามาที่ร้านยังได้กินเหล้าและได้ฟังเพลงเหมือนเดิม แค่เปลี่ยนเพลงเป็นแบบใหม่ๆ บ้าง หรือจากเดิมอาจจะแค่มาซื้อเหล้ากินแล้วแถมเพลงฟัง ต่อไปก็อาจจะเปลี่ยนเป็นซื้อบัตรเข้าไปฟังเพลงแล้วแถมเหล้าแทน


งานเปิดตัวฟังใจอย่างเป็นทางการที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ก็ใช้วิธีเดียวกัน คือขายบัตรให้คนเข้าไปเสพดนตรีเพื่อให้คอเพลงสัมผัสได้ว่าตัวโน้ตที่เคยได้ยินแบบผ่านๆ ตามสถานที่ต่างๆ มีมูลค่าและสะกดอารมณ์ได้มากกว่าที่คิด และนี่คือรากความคิดจากท้อป


“อย่างงาน “เห็ดสด” ที่เราจัดไป ผมว่ามันก็เป็นการสื่อสารอะไรบางอย่างถึงคนดูเหมือนกันนะ เราเก็บค่าบัตร 500 บาท ซึ่งผมว่าราคาก็ไม่ได้ถูกแต่ก็ไม่แพงเกินไป พอคนเข้ามาแล้วได้มาเห็นว่าวงดนตรีนอกกระแสหรือที่คนเรียกเขาว่า “อินดี้” เนี่ย พอมาอยู่ในพื้นที่ที่มีคนดูระดับ 2,000 คน มีแสง-สี-เสียงจัดเต็ม จะเห็นเลยว่า Performance ของพวกเขาก็ไม่ได้ต่างจากวงกระแสหลักเลย และการที่เราค่อยๆ สื่อสารผ่านงานโชว์เหล่านี้แหละ มันจะทำให้คนฟังค่อยๆ เห็นมูลค่าของงานดนตรีพวกนี้มากขึ้น อาจจะไม่มองว่าดนตรีเป็นแค่ของแกล้มเหล้า หรือคิดว่าวงเล็กๆ พวกนี้ มึงต้องเล่นฟรีหรือกูต้องดูฟรีอีกต่อไป


แม้ “ความเคยชิน” จะเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ยากมาก แต่พวกเขาเชื่อว่าคงไม่ยากเกินไปแค่เพียง “เปิดใจฟัง” โดยไม่ต้องไปสนคำว่า “ทางเลือก” “นอกกระแส” “อินดี้” “กระแสหลัก” หรือคำจำกัดความใดๆ ทั้งนั้น


“ถ้าคุณอยู่แต่ในประเทศไทย คุณกินข้าวผัดกะเพราทุกวัน แล้วมีคนบอกว่าลองกินสปาเกตตี้ดูสิ อร่อยนะ คุณบอกไม่เอา เลยไม่รู้ว่ามันอร่อยมั้ย แต่วันนึงลองไปกินแล้วพบว่าสปาเกตตี้ก็อร่อยเหมือนกันนี่หว่า แล้วก็จะรู้ครับ การฟังเพลงก็เหมือนกัน ถ้าคนเปิดใจเปิดหูลองฟังดู ก็อาจจะพบว่าเพลงแบบนี้ก็เพราะเหมือนกันนี่หว่า แล้วอีกหน่อยเขาก็อาจจะชินแล้วก็ค่อยๆ เขยิบไปฟังความเพราะแบบอื่นๆ อีก

ผมเชื่อว่าพอคนทำแบบนี้กับดนตรีได้ เขาก็จะทำกับอย่างอื่นได้ด้วย กับหนัง งานศิลปะประเภทอื่น แม้กระทั่งกับคนด้วยกันเอง เราจะอยู่กันได้ด้วยความหลากหลาย มันไม่จำเป็นว่าคุณต้องเป็นมนุษย์แบบนี้เท่านั้นถึงจะเป็นคนที่ถูกต้อง มันยังมีความดีงามอีกหลายแบบบนโลกนี้ แค่เปิดใจลองฟัง ลองดู ลองอ่าน มันน่าจะทำให้เราอยู่บนความแตกต่างได้ดีขึ้น


ทุกอย่างต้องใช้เวลาครับ อย่างวันนี้ฟังใจก็ยังเด็กมาก ยังไม่ถึงขวบนึงด้วยซ้ำ จะบอกว่าทุกคนมาเปลี่ยนพฤติกรรมกันเถอะมันคงยาก แค่ต้องทำให้มีคนเห็น มีคนบอกต่อใช้ไปทีละน้อยๆ เชื่อมจุดเล็กๆ ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวพอตอนเปลี่ยนทีนึง อาจจะเปลี่ยนแบบยกกระดานเลยก็ได้ เราก็ต้องรอให้ถึงวันนั้นครับ แล้วก็ต้องภาวนาว่ามันจะมีวันนั้น

“และเราก็ต้องอยู่รอดไปให้ถึงวันนั้นด้วย!” พายตบท้ายด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น ซึ่งดูเหมือนจะเป็นความมุ่งมั่นชนิดเดียวกับที่กำลังลุกโชนอยู่ในดวงตาของเพื่อนซี้ผู้ก่อตั้ง “ฟังใจ” ส่วนจะอยู่รอดไปได้อีกนานแค่ไหน คงต้องรอให้คนรักเสียงเพลงเปิดใจลองให้คำตอบ

ลองเข้าไปลิ้มรสอาณาจักรดนตรีแห่งใหม่ได้ที่นี่!! (คลิก)>>> www.fungjai.com


สัมภาษณ์โดย ASTVผู้จัดการ Lite
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
ขอบคุณภาพบางส่วน: แฟนเพจ “ฟังใจ - Fungjai”, เว็บไซต์ www.fungjai.com
 




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น