“ชาวแฟตทุกคนโปรดทราบ เรามีเรื่องสำคัญจะแจ้งให้ทราบ โปรดติดตามตั้งแต่ 20:30 เป็นต้นไป”
สเตตัสนี้ปรากฏขึ้นบนเฟซบุ๊ก Fat Radio ซึ่งมีสมาชิกกด Like เพื่อติดตามกว่า 3 แสนคน ทำเอาหลายคนถึงกับตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น และที่ตกใจยิ่งกว่าเมื่อได้ทราบว่า ตั้งแต่ 10 โมงเช้าของวันที่ 25 ตุลาคม จะยุติการออกอากาศทางวิทยุที่จัดมาอย่างต่อเนื่องถึง 13 ปี นับตั้งแต่คลื่น 104.5 มาถึงคลื่น 98.5 โดยหันมาออกอากาศผ่านทางเว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่นบนมือถือสมาร์ทโฟนแทน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ได้นานแค่ไหน
หลายคนเคยรู้จักกันดีว่า แฟต เรดิโอ คือคลื่นวิทยุที่เปิดเพลงนอกกระแส หรือเพลงอินดี้ ซึ่งก่อตั้งโดย “ป๋าเต็ด” ยุทธนา บุญอ้อม มีจุดขายแตกต่างจากคลื่นวิทยุในบ้านเราที่เปิดแต่เพลงตลาด จนได้ชื่อว่าเป็น “คลื่นเด็กแนว” มีกิจกรรม “แฟต เฟสติวัล” จัดขึ้นทุกปี กระทั่งปีสุดท้ายเมื่อปีที่แล้ว และยังเป็นแหล่งสร้างนักดนตรีและวงดนตรีหน้าใหม่ ที่ไม่ได้ขายหน้าตา แต่ขายฝีมือออกสู่วงการบันเทิงอีกมากมาย แทบจะเรียกได้ว่าทลายการผูกขาดของเพลงสองค่ายยักษ์
แต่ที่ผ่านมาการเดินทางของ แฟต เรดิโอ ไม่ได้สวยหรูนัก เพราะสปอตโฆษณาบางช่วงมักจะบ่นกันว่า “เป็นคลื่นวิทยุที่ไม่ค่อยมีคนฟัง” ที่ผ่านมาต้นทุนการผลิตรายการวิทยุของแฟตเรดิโอในเดือนๆ หนึ่งอยู่ราวประมาณ 10 ล้านบาท แต่ค่าโฆษณาที่ได้รับ ซึ่งคิดเป็นแพ็คเกจประมาณเดือนละ 180,000-280,000 บาท ขึ้นอยู่กับเอเจนซี่โฆษณาว่าจะแบ่งมาทางนี้หรือไม่ ซึ่งปัจจัยทางเศรษฐกิจทำให้รายได้จากเม็ดเงินโฆษณาที่เคยได้รับลดลง แต่ต้นทุนก็ยังไม่ลดลง
ผู้บริหารแฟต เรดิโอ อย่าง “พงศ์นรินทร์ อุลิศ” หรือ “เฮนรื่ จ๋อง” ปีที่แล้วก็เคยออกมาเปิดเผยว่า เหตุที่ย้ายคลื่นจากเอฟเอ็ม 104.5 ของกองพลปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (พล. ป.ต.อ.) มาที่คลื่น 98.0 ของกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล. 1 รอ.) เพื่อต้องการประหยัดต้นทุนในการผลิต เพราะอยากอยู่รอดต่อไปเรื่อยๆ ในฐานะของคลื่นวิทยุที่ค่อนข้างจะเป็นทางเลือกให้ผู้ฟัง และนี่คือหนทางหนึ่งที่เป็นผลดีกับทุกฝ่ายและสามารถรักษาเอกลักษณ์ของคลื่นแฟตเรดิโอเอาไว้ได้
แต่ล่าสุด เฮนรี่ จ๋อง เปิดเผยว่า เนื่องจากปัญหาทางธุรกิจ จึงได้ปรับตัวเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายทางธุรกิจออก เช่น การลดเงินเดือนพนักงาน การปรับลดจำนวนดีเจ การยกเลิกการจัดงานแฟตเฟสติวัล และล่าสุดคือการปิดตัวคลื่น เหลือแค่ฟังออนไลน์แทน สอดคล้องกับคำบอกเล่าของ วรพจน์ นิ่มวิจิตร ผู้บริหารวิทยุออนไลน์ bandonradio.com ให้สัมภาษณ์ในกรุงเทพธุรกิจว่า แม้การย้ายคลื่นจะประหยัดค่าแอร์ไทม์มาได้เดือนละ 1 ล้านบาท แต่รายได้ไม่เพิ่มขึ้นตาม
นอกจากนี้ ธุรกิจวิทยุยังแย่ลง เพราะถูกคลื่นวิทยุชุมชนรบกวน จนคนจำนวนไม่น้อย เลิกฟังวิทยุไปเลย อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของคลื่นเอฟเอ็มบนหน้าปัดในวันนี้ ส่งผลให้ฐานคนฟังต่อคลื่นลดลง ซึ่งในระยะยาว เป็นเรื่องคนที่ทำธุรกิจวิทยุต้องรวมตัวคุยกันเพื่อหาทางออกของปัญหา จะมัวรอแต่ กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ไม่ได้
อีกด้านหนึ่ง “น้าโด๋ว-มรกต โกมลบุตร” ดีเจที่จัดรายการคลื่นแฟต เรดิโอ นับตั้งแต่วันแรกที่เปิดสถานี เปิดเผยว่า ที่ประชุมของทีมงานแฟต เรดิโอ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้อสรุปที่บอกกล่าวแก่ทุกคนว่า “31 ตุลาคม จัดรายการวันสุดท้าย แล้วหยุด” นั้น ยังไม่มีใครยืนยันได้เต็มร้อยว่า หลังจากนั้นจะเป็นเช่นใด เพราะมีคนไม่เชื่อเรื่องนี้ เข้าใจว่าเป็นการเล่นมุกตลก ที่เล่นแบบนี้หลายครั้งแล้ว
น้าโด๋วกล่าวว่า มันมีสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ เพราะเรารู้ว่ามีสัญญาณมาแล้ว เช่น เรื่องการขาย เรื่องของธุรกิจ เราไม่ประสบความสำเร็จด้านนี้มากี่เดือนกี่เดือน เราเห็นตัวเลขอยู่ อันนี้เข้าใจได้ แม้จะยืนยันว่าแฟต เรดิโอ มีคนฟัง แต่ไม่มีเงินสนับสนุนมากกว่า ซึ่งเม็ดเงินโฆษณาของลูกค้านั้น โดยความเป็นจริง ต้องเคลื่อนย้ายผ่านมาจากบริษัทเอเจนซีที่เกือบทั้งหมดล้วนมีความเชื่้อต่อระบบเรตติ้ง ว่าคลื่นนี้อยู่อันดับเท่าไหร่ มากกว่าจะพิจารณาถึงคุณค่าของเนื้อหา
จากคำพูดของน้าโด๋ว เป็นที่ทราบกันดีว่า งบโฆษณาตัดสินกันที่ “เอซี นีลสัน” ที่ผูกขาดเรตติ้งเจ้าเดียว
อย่างไรก็ตาม ข้อความในทวิตเตอร์ @ted6104 ของป๋าเต็ด-ยุทธนา ก็น่าจะเป็นคำตอบที่สะท้อนความรู้สึกอะไรหลายอย่างต่อการยุติการออกอากาศของแฟต เรดิโอได้มากที่สุด คือ
“ของบางอย่าง กว่าเราจะเห็นความสำคัญ ก็ต้องรอให้มันจากไป คำถามเดียวของผมก็คือ ทำไมเพิ่งจะมากระตือรือร้นฟังกันวันนี้...”
คนฟังที่ไม่ได้เป็นขาประจำอย่างเช่นผม อาจจะรู้สึกผิดไปบ้างที่ทุกวันนี้ไม่ได้ฟังคลื่นแฟต เรดิโออย่างต่อเนื่อง เพราะมีความรู้สึกว่าเพลงใหม่ๆ ศิลปินหน้าใหม่ๆ มันแตกต่างไปจากเมื่อ 7-8 ปีก่อนที่ผมเสพติดในยุคแรกๆ แต่ก็ต้องยอมรับความจริงถึงการยุติบทบาทตรงนี้ และเชื่อว่าจากที่คนฟังส่วนมากรู้สึกเสียดาย ยิ่งเชื่อว่าในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ
ย้อนกลับไปสมัยก่อน แฟต เรดิโอ เป็นของบริษัท คลิก เรดิโอ ก่อนที่จะตั้งบริษัทเองชื่อว่า แฟต ดีกรี แล้วแตกไลน์ธุรกิจนิตยสารดนตรีที่มีชื่อว่า ดีดีที ช่วงหนึ่งบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ซื้อกิจการเพื่อรองรับการลงทุนเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 3G แต่ภายหลังธุรกิจประสบปัญหา ปิดตัวนิตยสารดีดีทีหลังออกตีพิมพ์มาได้ประมาณ 4 ปี หรือกว่า 50 ฉบับ ลดเงินเดือนพนักงานและนักจัดรายการตั้งแต่ 5-25% และตัดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นออกไป
แฟต เรดิโอ กลายเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท วีอาร์วัน เรดิโอ ซึ่งยังมีคลื่นข่าว 101 เรดิโอ รีพอร์ต วัน (อาร์อาร์วัน), คลื่นเพลงสากล 102.5 เก็ต เรดิโอ และคลื่นเพลงไทยแนวอีซี่ลิสซึนนิ่ง 103.5 เอฟเอ็ม วัน แต่เมื่อเดือนเมษายน 2556 วาสนพงศ์ วิชัยยะ กรรมการผู้จัดการวีอาร์วัน ตัดสินใจแยกบริหารงาน โดยดึงคลื่นแฟต เรดิโอ กับคลื่นอาร์อาร์วันมาบริหารเอง เพราะต้องการรุกและต่อยอดคลื่นวิทยุสู่มีเดียช่องทางอื่นๆ แต่ผู้บริหารคนอื่นต้องการคงไว้ซึ่งคอนเทนท์เดิม
ขณะที่อีกกระแสข่าวหนึ่ง ชเยนทร์ คำนวณ แยกตัวออกมาเพราะแฟต เรดิโอ ไม่ทำรายได้ และเกิดปัญหากันรุนแรง เลยย้ายคลื่นที่ตนเองถือสัมปทานออกไป เปิ้ล-หัทยา วงศ์กระจ่าง หนึ่งในผู้บริหารที่แยกตัวออกมาก็ปฏิเสธ กล่าวว่า ชเยนทร์ ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานคลื่นวิทยุ 3 คลื่น คือ 102.5, 103.5 และ 104.5 อยากจะแยกมาทำสตูดิโอส่วนตัว หารือกันว่า คลื่น 104.5 จะทำเป็นคลื่นอะไร ด้วยความถนัดจึงได้ก่อตั้งคลื่นเพลงสากลที่เป็นเพลงเพราะ ชื่อว่า เลิฟ เรดิโอ
ปัจจุบัน ชเยนทร์ กับหัทยา ก่อตั้งบริษัท อินดิเพ็นเดนท์ คอมมิวนิเคชั่น เน็ทเวอร์ค ย้ายสตูดิโอไปที่ซอยลาดพร้าว 18 แยก 12 ย่านห้าแยกลาดพร้าว เมื่อเดือนเมษายน 2556 ได้เปิดตัวคลื่นเพลงสากล 104.5 เลิฟ เรดิโอ (ซึ่งคลื่น 104.5 แฟต เรดิโอ ใช้ออกอากาศเดิม) โดยได้ดึงดีเจเอื้อง-สาลินี ปัญยารชุน เป็นแม่เหล็ก ล่าสุดจะเปิดตัวคลื่นเพลงไทย-สากล 98.5 คลิก เอฟเอ็ม เต็มรูปแบบวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เท่ากับว่าในตอนนี้มีคลื่นวิทยุในมือแล้ว 4 คลื่น
ส่วนวีอาร์วัน เรดิโอ เปลี่ยนชื่อเป็นวีอาร์วัน มีเดีย กรุ๊ป มีคลื่นวิทยุอยู่ในมือ 2 คลื่น เปิดตัวช่องแอปเปิ้ล วัน ผ่านดาวเทียมไทยคม 5 และทรูวิชั่นส์ ตั้งธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์ป้อนฟรีทีวี แม้คลื่นข่าวยังพอไปได้ จะมีเรื่องการเมืองแทรกแซงนักจัดรายการบางคนบ้าง แต่นอกจากแฟต เรดิโอที่ขาดทุนแล้ว ช่องแอปเปิ้ลวัน ก็มีปัญหา กระทั่งกลุ่มปราสาททองโอสถตั้งบริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บอร์ดคาสติ้ง ได้ดึงคอนเทนต์มาที่ช่อง พีพีทีวี และเตรียมประมูลทีวีดิจิตอล
ธุรกิจสื่อวิทยุในบ้านเรา ถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากคลื่นวิทยุส่วนใหญ่ในบ้านเราไม่มีจุดขายนอกจากคำว่า “เพลงฮิต” โดยที่ไม่รู้ว่าฮิตจริงหรือถูกว่าจ้างประโคมให้ฮิตกันแน่ อีกส่วนหนึ่งคือกลยุทธ์ทางการตลาดนั้นไม่มีอะไรใหม่ นอกจากโฟนอินเล่นเกมส์ทุกช่วงดีเจ จัดมินิคอนเสิร์ต และทริปเมืองนอกยั่วใจนักล่ารางวัลวนเวียนอยู่กับที่มานานแล้ว และคลื่นวิทยุเหล่านั้นก็ผูกขาดเรตติ้งอยู่ไม่ไปไหน
ขณะเดียวกัน การเกิดขึ้นของวิทยุออนไลน์ หากไม่ได้อาศัยคลื่นวิทยุกระแสหลักในการออกอากาศควบคู่กันไปนั้น ถือว่าเป็นสื่อใหม่ที่อยู่เหนือการควบคุมของคณะกรรมการ กสทช. แต่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี 2550 ซึ่งขึ้นอยู่กับกระทรวงไอซีที ข้อดีอย่างหนึ่งคือไม่มีข้อกำหนดและมีความยืดหยุ่นในเรื่องตารางการออกอากาศ เพราะไม่ต้องเข้าข่าวต้นชั่วโมง ถ่ายทอดข่าวจากกรมประชาสัมพันธ์ช่วง 7 โมงเช้าและ 1 ทุ่ม หรือไม่ต้องเปิดเพลงเคารพธงชาติก็ยังได้
แต่ที่ผ่านมา ในบรรดาวิทยุออนไลน์ที่เกิดขึ้นแบบเวียนว่ายตายจาก มีน้อยรายที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ติดตลาด เพราะข้อจำกัดในการเข้าถึงที่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลา แตกต่างจากคลื่นวิทยุแค่เปิดเครื่องรับ ปรับเสาอากาศก็ฟังได้เลย และบางออฟฟิศถือเป็นข้อห้ามเพราะจะแย่งแบนด์วิธอินเทอร์เน็ตภายในองค์กร ซึ่งออฟฟิศหลายแห่งห้ามเปิดเฟซบุ๊กและยูทิวบ์ในเวลางาน บางออฟฟิศที่พบเห็นใช้วิธีเปิดวิทยุให้ฟังในแผนก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคลื่นยอดนิยม
ปัจจุบันวิทยุออนไลน์ส่วนใหญ่มาจากคลื่นวิทยุที่มีอยู่เดิม นำมาต่อยอดช่องทางการรับฟังทั้งผ่านเว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น หรือจานดาวเทียมโดยผูกอยู่กับโทรทัศน์บอกรับสมาชิกอย่างทรูวิชั่นส์ ส่วนวิทยุออนไลน์ที่ลงทุนอย่างชัดเจน ที่ผมเห็นมีเพียงเวอร์จิ้น เรดิโอ ของบีอีซี เทโร (ช่อง 3) ที่เปิด 3 คลื่น ได้แก่ แรดเรดิโอ ร็อคออนเรดิโอ และโตฟู ป๊อบ เรดิโอ อีกด้านหนึ่ง ไทยพีบีเอสก็ทำวิทยุออนไลน์เพื่อรองรับการจัดสรรคลื่นของ กสทช.
ส่วนการฟังมือถือผ่านสมาร์ทโฟน หากไม่ได้เชื่อมต่อไว-ไฟ หรือคนที่ต้องการฟังนอกสถานที่ ก็มีข้อจำกัดเรื่องอินเทอร์เน็ต 3 จีที่ยังจำกัดการใช้งาน เรียกว่า Fair Usage Policy หรือ FUP มีการคำนวณว่า การฟังวิทยุออนไลน์ที่ส่งสัญญาณเสียงคุณภาพระดับ 128 กิโลบิตต่อวินาที (Kbps.) ผ่านระบบ 3G เป็นเวลา 1 ชั่วโมงจะใช้ปริมาณรับส่งข้อมูลไป 56.25 เมกะไบท์ (MB) หากแพ็คเกจมีอยู่ 1 กิ๊กกะไบต์ (GB) จะสามารถฟังได้เพียงแค่ประมาณ 18 ชั่วโมง
ซึ่งในบ้านเรามีการจำกัดการใช้งาน 3G ด้วยความเร็วสูงสุดเพียง 5 กิกกะไบต์ หากใช้แพ็คเกจไม่จำกัดถูกปรับลดความเร็วระหว่าง 64-384 กิโลไบต์ต่อวินาที ตรงนี้อาจกลายเป็นปัญหาสำหรับคนที่ต้องการฟังวิทยุในรถยนต์ ซึ่งผมเคยลองฟังวิทยุออนไลน์ระหว่างนั่งรถไปทำงานด้วยตัวเองพบว่า การส่งสัญญาณ 3G ในบ้านเราไม่ได้มีความเสถียรมากนัก เมื่อรถแล่นด้วยความเร็ว สัญญาณเสียงที่เข้ามาจะฟังได้แค่ไม่กี่วินาทีแล้วหยุด จากนั้นก็เกิดการดีเลย์แล้วตัดช่วงออกไป
นอกจากนี้ การบุกตลาดสื่อใหม่ยังเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลากว่าเม็ดเงินโฆษณาจะไหลมาตรงนั้น เพราะขนาดทีวีดาวเทียมที่แย่งชิงส่วนแบ่งผู้ชมจากฟรีทีวีอยู่นั้น กว่าเอเจนซี่โฆษณาจะยอมรับก็เลือดตาแทบกระเด็น เพราะส่วนใหญ่หันไปทุ่มกับสื่อกระแสหลักที่พบว่าไปหล่นอยู่กับฟรีทีวีและนิตยสารที่วางขายตามท้องตลาดมากที่สุด ส่วนธุรกิจวิทยุมีอยู่น้อยมาก แม้สื่อออนไลน์โฆษณาจะเติบโตขึ้น แต่ก็ต้องอาศัยเนื้อหาเป็นแม่เหล็ก และเจ้าตลาดมีอยู่เพียงไม่ถึง 10 ราย
อีกด้านหนึ่ง ช่องทางการฟังเพลงใหม่ๆ รสนิยมการฟังเพลงในยุคที่สมาร์ทโฟนครองเมืองนั้น แทบไม่ได้อาศัยคลื่นวิทยุเลย การรับรู้ซิงเกิ้ลใหม่มาจากการส่งต่อผ่านทางเฟซบุ๊ก และยูทิวบ์ การดาวน์โหลดเพลงในแบบถูกกฎหมายและละเมิดลิขสิทธิ์ เจ้าของค่ายเพลงรายหนึ่งมองว่า วิทยุแบบ Apple Radio, Spotify หรือ Deezer ที่จะรู้ทันทีที่เรากดข้ามเพลงนั้นไป เพลงแบบไหนเราชอบ ไม่ชอบ แล้วสร้างสถานีที่มีแต่เพลงที่เราชอบดั่งสถานีวิทยุส่วนตัว จะเข้ามาในอนาคต
การตัดสินใจยุติการออกอากาศทางวิทยุของคลื่นแฟต เรดิโอ แล้วเปลี่ยนแพลตฟอร์มออกอากาศทางอินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชั่นแทนนั้น ด้านหนึ่งอาจเป็นการหยุดยั้งการขาดทุนสะสม ของคลื่นวิทยุที่มีคนฟัง แต่ไม่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ แน่นอนว่าจะประหยัดเงินไปได้มหาศาล แต่ต้องแลกกับผู้ฟังทางวิทยุที่ต้องเสียไป อีกด้านหนึ่งการลองผิดลองถูกครั้งใหม่ ซึ่งอาจมีต้นทุนที่ดีกว่าผู้เล่นหน้าใหม่คนอื่นๆ ตรงที่เป็นอดีตคลื่นวิทยุซึ่งเป็นที่รู้จักในระดับหนึ่ง
ผู้ฟังทางวิทยุที่มีอยู่เดิมอาจจะรู้สึกตื่นเต้นกับการเปลี่ยนผ่านแพลตฟอร์มในครั้งนี้ แต่กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ผลที่สุดวิทยุออนไลน์ที่ลงมาโดยผู้เล่นที่มาจากคลื่นวิทยุเดิมนั้น จะครองใจคนฟังมากเท่าไหร่ และต่อเนื่องแค่ไหน หากสามารถทลายข้อจำกัดและอุปสรรคในการฟังลงได้ แฟต เรดิโอ จะเป็นหนึ่งในหัวหอกที่ผลักดันวิทยุออนไลน์ให้กลายเป็นที่ยอมรับทั้งในด้านผู้ฟังและเอเจนซี่โฆษณา เหมือนเช่นทีวีดาวเทียมที่แย่งเม็ดเงินโฆษณาในฟรีทีวีมหาศาล
ถือเป็นการพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า คลื่นวิทยุที่ดีต้องอยู่ที่คอนเทนต์ หรือผลที่สุดต้องเป็นคลื่นที่เข้าไปอยู่ในวังวนของระบบเรตติ้ง ที่ผูกขาดโดยเอซี นีลสันมาอย่างยาวนาน เช่นเดียวกับสื่อโทรทัศน์หรือนิตยสาร หากสามารถทลายกำแพงระบบเรตติ้ง และมีผู้ฟังยอมรับในเรื่องเนื้อหามากขึ้น ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า คลื่นวิทยุที่เปิดฟังทั่วบ้านทั่วเมือง อาจจะไม่ใช่คลื่นวิทยุที่ดีที่สุดสำหรับผู้ฟังอีกกลุ่มหนึ่งเสมอไป